การใช้อสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกันในคดีอาญา ตอนที่ 2

หลังจากที่เมื่อสัปดาห์ก่อนเราพูดถึงการนำอสังหาริมทรัพย์ของคุณมาเป็นหลักทรัพย์แทนเงินสดในกรณีที่คุณเกิดจับพลัดจับผลูไปต้องโทษในคดีอาญาแล้วมีเงินสดไม่พอสำหรับประกันตัว วันนี้เราจะมาพูดถึงภาคต่อของบทความฉบับไตรภาคชุดนี้กัน
 
เมื่อคุณนำหลักทรัพย์ไปทำสัญญาประกันตัวต่อศาล ศาลก็จะกำหนดราคาค่าปรับสำหรับหลักประกันนั้น ซึ่งราคาค่าปรับ (ค่าประกันตัว) กับราคาประเมินนั้นเป็นคนละเรื่องเดียวกัน เพราะราคาประเมินคือราคาทรัพย์ในปัจจุบัน ส่วนราคาค่าปรับเป็นราคาที่คุณจะต้องจ่ายเมื่อมีการผิดสัญญาประกันเกิดขึ้น
 
โดยราคาค่าปรับนี้จะคำนวณจากฐานความผิด ตัวอย่างเช่น หากคุณถูกฟ้องคดีอาญาฐานออกเช็คโดยไม่มีเจตนาจะชำระหนี้ตามเช็ค หรือว่า “เช็คเด้ง” เช่น หากถูกฟ้องคดีเช็คมูลค่า 1 ล้านบาท ศาลคิดค่าประกันตัว 1 ใน 5 ของมูลค่าเช็ค เท่ากับ 2 แสนบาท ศาลก็จะบังคับแค่ 2 แสนบาท แต่ปัญหาคือว่าการบังคับของศาลจะดำเนินการโดยการนำหลักทรัพย์นั้นขายทอดตลาด ซึ่งหมายความว่าที่ดินหลักประกันดังกล่าวของคุณจะถูกขายทอดตลาดทั้งแปลง และเมื่อหักค่าปรับออกแล้ว เหลือเป็นเงินจำนวนเท่าใดก็จะส่งคืนให้เจ้าของทรัพย์ต่อไป
 
ปัญหาต่อมาก็คือ ในการขายทอดตลาดนั้น หลักทรัพย์ที่ขึ้นบัญชีขายจะถูกตั้งราคาขายในอัตราร้อยละ 80 จากราคาประเมินในการขายทอดตลาดครั้งที่ 1 หากครั้งนั้นไม่อาจขายได้  ในการขายทอดตลาดครั้งที่ 2 กรมบังคับคดีก็จะลดราคาตั้งขายลงมาเหลือร้อยละ 50 จากราคาประเมินเช่นกัน ซึ่งหมายความว่า หากคุณใช้ที่ดินหรือคอนโดมิเนียมราคาประเมิน 2 ล้านบาทในการประกันตัว แม้ว่าราคาตลาดจริงๆ อาจจะซื้อขายกันอยู่ที่ 4 ล้านบาท ที่ดินหรือคอนโดฯ ของคุณก็จะถูกขายทอดตลาดโดยคำนวณจากราคาประเมิน ซึ่งในการขายทอดตลาดครั้งที่ 1 ราคาขายจะถูกตั้งไว้ 1.6 ล้านบาท หากไม่มีผู้ซื้อในครั้งแรก ราคาที่จะตั้งขายในครั้งที่ 2 ก็คือ 1 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งหากเปรียบกับการซื้อขายปกติ คุณอาจขายได้ในราคา 2 ล้านบาทขึ้นไปเลยทีเดียว
 
ดังนั้นหากคุณผู้อ่านเป็นผู้ซื้อ ก็ต้องขอแสดงความยินดีด้วยที่จะซื้อบ้านและที่ดิน หรือคอนโดฯ ในราคาถูก แต่อย่าลืมนะคะว่าของถูกและดีไม่ได้มีเสมอไป เพราะการขายทอดตลาดอาจจะมีตัวละครอื่นๆ เข้ามาร่วมด้วย โดยตัวละครที่เป็นตัวแปรสำคัญก็คือสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้จำนอง ซึ่งบทบาทจะเป็นเช่นไรนั้น ขอยกยอดการอธิบายไว้ในตอนหน้าค่ะ 
 
อย่างไรก็ดี ในการใช้อสังหาริมทรัพย์มาเป็นหลักประกันในคดีอาญา มีข้อควรระวังในเรื่องดังต่อไปนี้
 
ในกรณีประกันตัวผู้อื่น หากไม่สามารถปฏิเสธได้ คุณควรต้องรู้จักจำเลยและที่อยู่จริงๆ เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะตามมาในภายหลัง เพราะเมื่อจำเลยไม่มาศาลตามกำหนดนัดโดยไม่ได้รับอนุญาตให้เลื่อนคดีและไม่มีเหตุที่เหมาะสม ซึ่งเป็นเหตุเดียวตามกฎหมายที่จะทำให้ศาลจะมีคำสั่งปรับนายประกันได้ ดังนั้น ในฐานะนายประกัน คุณจำเป็นต้องรู้จักตัวจำเลยที่คุณประกันและที่สำคัญต้องรู้วันนัดของจำเลย เพราะการทำสัญญาประกันตัวต่อศาลคือการสัญญาต่อศาลว่าคุณจะนำตัวจำเลยมาศาลทุกนัด เว้นแต่มีเหตุจำเป็น เช่น เจ็บป่วย ติดธุระที่สำคัญอื่นๆ เป็นต้น อย่างไรก็ดี ในฐานนะนายประกัน คุณไม่จำเป็นต้องไปศาลทุกนัด แต่ต้องคอยเตือนและตรวจสอบเพื่อให้มั่นใจว่าจำเลยจะไม่ขาดนัดศาล
 
คุณผู้อ่านต้องทำความเข้าใจว่า เรื่องคดีความเป็นเรื่องระหว่างตัวความคือโจทก์กับจำเลย แต่เรื่องประกันเป็นเรื่องระหว่างนายประกันกับศาล ดังนั้น ในบางครั้งแม้ว่าจำเลยจะถูกพิพากษาว่าไม่มีความผิด แต่คุณในฐานะนายประกันยังคงต้องรับผิดจ่ายค่าปรับอยู่หากศาลมีคำสั่งปรับนายประกันเพราะจำเลยมีพฤติกรรมหลบหนี   
 
บางครั้งในวันนัดฟังคำพิพากษาซึ่งเป็นนัดสุดท้ายและนัดสำคัญว่าจำเลยจะมีความผิดหรือไม่ จำเลยมักจะไม่ยอมไปศาล ไม่ใช่ว่าจำเลยต้องการจะหนี แต่จำเลยต้องการรอฟังผลคำพิพากษาว่าศาลจะพิพากษาลงโทษจำคุก ปรับเงิน หรือว่ารอลงอาญาหรือไม่ ซึ่งในคดีอาญาทั่วไปที่มีพฤติกรรมไม่ร้ายแรง ไม่มีผลกระทบต่อส่วนรวม ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกและปรับจำเลย แต่ให้รองลงอาญาไว้ก่อน สรุปก็คือจ่ายแต่ค่าปรับแล้วกลับบ้านได้โดยมีเงื่อนไขว่า ภายในระยะเวลารอลงอาญา หากจะเลยถูกฟ้องเป็นคดีอาญาและถูกพิพากษาว่ามีความผิดในคดีนั้น ศาลในคดีหลังจะนำโทษจำคุกที่รอไว้ในคดีก่อนมานับรวมด้วย ด้วยเหตุนี้ จำเลยมักจึงมักจะไม่ไปฟังคำพิพากษาเพราะไม่รู้ว่าศาลจะพิพากษาให้รอลงอาญาหรือไม่ ถ้ารอลงอาญาก็ชำระค่าปรับแล้วกลับบ้านได้ แต่หากศาลพิพากษาจำคุกโดยไม่มีเหตุรอการลงโทษ จำเลยต้องถูกหมายขังทันทีหลังอ่านคำพิพากษาเสร็จ
 
แต่สำหรับคุณที่เป็นนายประกันแล้ว ในวันที่จำเลยไม่ไปฟังคำพิพากษา ศาลจะถือว่าคุณทำผิดสัญญาประกันตัว ไม่นำตัวจำเลยมาศาล ศาลก็จะออกคำสั่งว่า “จำเลยมีพฤติการณ์หลบหนีให้ออกหมายจับจำเลยและปรับนายประกันเต็มสัญญา” ส่วนเรื่องหมายจับจำเลย เมื่อจำเลยมามอบตัวในวันต่อมาศาลก็จะถอนหมายจับ แต่สำหรับคุณจะถือว่าผิดสัญญาแล้ว หากไม่ชำระค่าปรับต้องถูกบังคับคดี โดยกฎหมายถือว่าคุณเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาและนำทรัพย์สินที่นำมาประกันออกขายทอดตลาดในราคาต่ำกว่าราคาประเมิน เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ เนื่องจากนายประกันส่วนมากมักเข้าใจว่าหากคดีจบแล้ว คุณก็ไม่เกี่ยวข้องอีก สุดท้ายก็ต้องถูกยึดบ้านยึดที่ดินไป

ในตอนหน้า ห้ามพลาดนะคะ สำหรับผู้ที่นิยมซื้อทรัพย์ที่ขายทอดตลาด ของถูกและดีมีจริงๆ หรือ หาคำตอบได้ในในตอนต่อไปค่ะ
 




Create Date : 15 มกราคม 2556
Last Update : 15 มกราคม 2556 15:31:58 น.
Counter : 589 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Bloomingme
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



มกราคม 2556

 
 
1
5
6
12
13
19
20
26
27
 
 
All Blog