เรื่องย่อ(จากปกหลัง)
เป็นเพราะลุงผู้หัวรั้นได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติต่อพินัยกรรมของพ่อผู้ล่วงลับอย่างเถรตรงที่สุด ทายาทสาวอารมณ์ร้ายจึงว่าจ้างให้ยอดทนายเพร์รี่ เมสันเปลี่ยนใจเขาให้ได้ ทว่าเมื่อจู่ๆลุงของหล่อนถูกฆ่า เมสันจะแน่ใจได้อย่างไรว่าหล่อนไม่ใช่ฆาตกร
เคยอ่านนิยายสืบสวนชุดนี้ตั้งแต่ตอนเป็นปกสีดำๆที่สำนักพิมพ์ Spy พิมพ์ออกมา(ตอนอยู่ม.ต้นแน่ะ ) เป็นชุดที่ชอบมากๆ ชอบพอๆกับนิยายของ Agatha Christie เลยล่ะค่ะ เป็นเรื่องสืบสวนที่ตัวเอก(Perry Mason)เป็นทนาย และมักจะถูกว่าจ้างโดยผู้ต้องสงสัยคดีฆาตกรรมให้แก้ต่างให้ ก็เลยชอบไปสืบหาฆาตกรที่แท้จริง(แถม)ให้ด้วยซะเลย โดยมีตัวละครสำคัญอีก 2 คนคือ Della Street เลขาสาวที่กุ๊กกิ๊กกันอยู่ และ Paul Drake เพื่อนสนิทและนักสืบเอกชนที่คอยทำงานให้(ซึ่ง Drake ในเรื่องนี้จะทำงานเหมือนนักสืบจริงๆ คือคอยสะกดรอย ดักฟังโทรศัพท์ หาข้อมูลทางการเงินอะไรพวกนี้ ไม่ได้เท่ๆเหมือนนักสืบในเรื่องอื่น เพราะคุณพี่ทนายแย่งบทเท่ๆไปแล้วน่ะค่ะ)
ถ้าจะแบ่งประเภท ก็น่าจะจัดเป็น Classical Whodunit (คล้ายๆกับ Agatha) ได้นะคะ เพราะเรื่องก็จะมีเหตุการณ์ฆาตกรรมเกิดขึ้น แล้วก็มีเรื่องราวของผู้เกี่ยวข้องซึ่งก็คือผู้ต้องสงสัยทั้งหมด และตามมาด้วยการเฉลยตัวฆาตกรซึ่งก็จะเป็นหนึ่งในนั้นนั่นแหละ ไม่ได้เป็นใครที่ไม่รู้จัก ไม่ได้เป็นฆาตกรโรคจิตที่ไม่มีแรงจูงใจ และโดยรวมเท่าที่เคยอ่านมา เราว่าจัดเป็นเรื่องสืบสวนที่เขียนพล็อตหรือทริกได้ดีนะคะ เดาค่อนข้างยากและก็สมเหตุสมผลทีเดียว
แต่นอกจากจะเป็นแนว whodunit แล้ว เรื่องชุดนี้ยังจัดเป็นแนว Legal Thriller หรือ Courtroom Thriller อีกด้วยค่ะ แน่นอนว่าเพราะตัวเอก(รวมไปถึงผู้แต่ง)เป็นทนาย และแทบทุกเล่มก็จะมีฉากการนำสืบพยานหลักฐานในศาล เราจะได้เห็นเทคนิคการซักค้าน การถ่วงเวลา การจูงใจบรรดาลูกขุน ซึ่งเป็นฉากที่อ่านสนุกมากๆค่ะ และจุดเด่นจริงๆของเรื่องก็คือคุณพี่พระเอกก็จะชอบโชว์คลี่คลายคดีเอาในศาลนี่แหละค่ะ
เท่าที่เคยตามหาและรวบรวมฉบับของสำนักพิมพ์ Spy ไว้(คิดว่าน่าจะครบ)มีอยู่ 22 เล่มค่ะ ตอนนั้นชอบมากถึงขั้นโทรไปถามเค้าว่าพี่จะพิมพ์มาอีกมั้ยคะ เค้าบอกว่า คงเลิกพิมพ์แล้วล่ะน้อง ขายไม่ดี
The case of the amorus aunt (อุ้มไปฆ่า)
The case of the angry mourned (วิหคเพชฌฆาต)
The case of the bigamous spouse (พิศวาศสยอง)
The case of the blonde bonanza (ล่าปมพิศวง)
The case of the borrowed brunette (สาวรอยแค้น)
The case of the buried clock (นาฬิกามรณะ)
The case of the calendar girl (ภาพสังหาร)
The case of the crooked candle (มิติมรณะ)
The case of the demure defendant (พิษรักไซยาไนด์)
The case of the empty tin (ปมปริศนามฤตยู)
The case of the fugitive nurse (ร้อยเล่ห์แสนกล)
The case of the hesistant hostess (จอมบงการ)
The case of the lucky legs (มัจจุราชน่องทอง)
The case of the lucky losers (ฆ่าซ้อนแผน)
The case of the moth-eaten mink (เหยื่อ...อำมหิต)
The case of the nervous accomplice (หุ้นพิฆาต)
The case of the reluctant model (ชนวนโหด)
The case of the runaway corpse (ศพล่องหน)
The case of the stuttering bishop (ทูตมรณะ)
The case of the substitute face (วันวิกฤต)
The case of the terrified typist (พลิกเกมล่า)
The case of the waylaid wolf (ดับเครื่องเจ้าพ่อ)
ส่วนใหญ่ในนี้เป็นสำนวนแปลคุณศักดิ์ บวรค่ะ แปลได้สนุกมาก มีอยู่ 3 เล่มที่เป็นคุณวราภรณ์แปล (ซึ่งหลายคนเห็นตรงกันว่าไม่ค่อยสนุกเท่าไหร่) เล่มนี่จขบ.แนะนำคือ The case of the borrowed brunette (สาวรอยแค้น) และ The case of the calendar girl (ภาพสังหาร) ค่ะ คงจะหาซื้อยากซักหน่อย แต่ยังพอเห็นตามบู๊ทหนังสือเก่าในงานหนังสืออยู่บ้างค่ะ
สำหรับเล่มล่าสุด คดีสาวเจ้าอารมณ์ของรหัสคดี โดยรวมๆแปลได้ดีค่ะ แต่มีศัพท์บางคำที่ออกจะวัยรุ่นไปหน่อยจนอ่านแล้วสะดุ้งนิดๆ (เช่น"งานเข้า" ) แต่ไม่ได้เยอะอะไรค่ะ ไม่ถึงกับเสียอารมณ์ ส่วนพล็อตเล่มนี้เราชอบมากค่ะ ดูเหมือนง่ายๆ เห็นต่อหน้าต่อตา แต่กลับทายไม่ถูกแฮะ ไม่ได้รู้สึกเซอร์ไพรซ์แบบนี้กับนิยายสืบสวนมานานแล้วค่ะ
สรุปว่าเป็นเล่มที่แนะนำสำหรับคอนิยายสืบสวนค่ะ โดยเฉพาะคนที่ชอบสไตล์ Agatha หรือใครที่ชอบดูหนังที่มีฉากขึ้นโรงขึ้นศาลก็น่าลองอ่านดูค่ะ เป็นนิยายสืบสวนที่เดินเรื่องเร็ว เน้นบทสนทนา ไม่ค่อยมีบรรยายบรรยากาศในเรื่องหรือบุคลิกตัวละครซักเท่าไหร่ เหมาะสำหรับคนที่เบื่อตัวละครที่มีปูมหลังเยอะๆ มีปมในใจมากๆจนน่ารำคาญ
(แต่จริงๆแล้วจขบ.ชอบตัวละครที่มีปมนะคะ)
งานนี้เห็นหนังสือแนวสืบสวนจำนวนนึงก็ยังคิดว่า เอ๊ เล่มนี้จะมีรีวิวในบ้านนี้หรือยัง อิอิ