โลกนี้มีเรื่องราวดีๆ ไว้ให้แบ่งปันกันมากมาย

น้ำหนักตัว...ปัจจัยเสี่ยงข้อเข่าเสื่อม



เนื่องในวันโรคข้อสากล ชมรมศัลยแพทย์ข้อเข่าข้อสะโพกประเทศไทย จับมือภาคเอกชนจัดงาน "ข้อเสื่อมบรรเทา ข้อเข่าแข็งแรง" ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก เพื่อรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคข้อเสื่อม รวมถึงแนวทางในการป้องกันและรักษาโรคข้อเสื่อมที่ถูกต้องให้แก่ประชาชน โซนบีคอน ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ โดยมี รศ.นพ.ธไนนิธย์ โชตนภูติ ประธานชมรมศัลยแพทย์ข้อเข่าข้อสะโพกประเทศไทย เป็นประธานเปิดงาน

ในโอกาสนี้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคข้อเข่าเปิดเผยว่า โรคข้อเข่าเสื่อมเกิดขึ้นจากการที่กระดูกอ่อนผิวข้อถูกทำลาย บางลง อาจมีการแตกและเปื่อยยุ่ย หรือมีอาการสูญเสียน้ำเลี้ยงในข้อต่อ จนในที่สุดจะมีการสูญเสียกระดูกอ่อนผิวข้อไป ผู้ป่วยมักมีอาการปวดเวลาเคลื่อนไหวข้อมากๆ บางครั้งมีเสียงดังที่ข้อขณะเคลื่อนไหว เจ็บแปลบตามแนวบริเวณข้อเข่า โดยความเจ็บปวดมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเมื่อผิวข้อถูกทำลายมากขึ้น รวมถึงอาจมีการอักเสบของเยื่อบุข้อทำให้มีน้ำในข้อมากขึ้น จนมีการบวมของข้อเข่าให้สังเกตได้ และจะมีกระดูกงอกตามขอบผิวข้อเดิมร่วมกับจะมีการโก่งผิดรูปของข้อเข่าในระยะท้ายของโรค

รศ.นพ. พัชรพล อุดมเกียรติ ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ ภาควิชาศัลยศาตร์ออร์โธปิดิกส์ คณะแพทย์ศาสาตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า โรคข้อเข่าเสื่อมมักพบในผู้สูงอายุ และอุบัติการณ์ของโรคจะเกิดในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ซึ่งอาจเป็นผลเนื่องจากวัยทองหรือช่วงวัยหมดประจำเดือน ที่มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนทางเพศ

โดยผลการศึกษาล่าสุดจากวารสาร New England Journal of Medicine พบว่าผู้หญิงมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคข้อเสื่อม และต้องทนทุกข์ทรมานกับอาการปวดเข่ามากกว่าผู้ชายถึง 3 เท่า และยังพบมากขึ้นในกลุ่มที่มีน้ำหนักตัวมากกว่าเกณฑ์มาตรฐาน นอกจากนี้ กิจกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่ใช้ข้อเข่ามาก การนั่งยองๆ นั่งพับเพียบ หรือการนั่งขัดสมาธิ ก็ถือเป็นความเสี่ยงเช่นกัน โดยสาเหตุของโรคข้อเข่าเสื่อมที่พบบ่อยคือ มีประวัติการเกิดอุบัติเหตุที่บริเวณข้อเข่า การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา โรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรคเกาต์ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือมีประวัติการติดเชื้อในข้อเข่า โดยปัจจุบันคาดว่ามีผู้สูงอายุทั้งหญิงและชายในประเทศไทยเป็นโรคข้อเสื่อมประมาณหกล้านคน ดังนั้น หากคนไทยมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคดังกล่าว และรู้ถึงแนวทางป้องกันตนเองให้พ้นจากโรค ก็จะสามารถลดปัจจัยเสี่ยงที่อาจนำไปสู่การเกิดข้อผิดรูปหรือพิการ ตลอดจนช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลได้

รศ.นพ. ธไนนิธย์ โชตนภูติ ประธานชมรมศัลยแพทย์ข้อเข่าข้อสะโพกประเทศไทย กล่าวว่า การควบคุมน้ำหนักตัวเป็นปัจจัยที่สำคัญ เพราะแรงกดที่ข้อเข่าจะต้องแบกรับถึง 6 เท่าของน้ำหนักตัวเพียง 1 กิโลกรัม ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความล้าและเป็นปัจจัยที่ทำให้ข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้น โรคนี้หากปล่อยทิ้งไว้โดยปราศจากการดูแลที่ถูกต้อง อาจทำให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวได้ยากลำบากและถึงขั้นที่ไม่สามารถลุกขึ้นยืนหรือเดินได้ด้วยตนเอง นอกจากนี้ โรคไขข้ออักเสบรูมาตอยด์ หากปล่อยทิ้งไว้อาจส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อกระดูกและนำไปสู่โรคข้อเสื่อมได้ อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมรักษาด้วยวิธีการรับประทานยา ออกกำลังกาย ทำกายภาพบำบัด และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญอาจแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมที่มีความคงทนสูง ซึ่งเป็นการรักษาด้วยวิธีเปลี่ยนผิวข้อเข่าทั้งหมด (Total Knee Replacement) ที่สามารถหมุนและเคลื่อนไหวได้ใกล้เคียงกับข้อเข่าจริง ซึ่งมีการพัฒนาทั้งในด้านการออกแบบให้มีความสึกหรอต่ำโดยให้ชิ้นส่วนรับน้ำหนักที่เป็นพลาสติกสังเคราะห์ มีการเคลื่อนไหวได้ และด้านเทคนิคการผ่าตัดเพื่อให้ได้ข้อเข่าเทียมที่มีอายุการใช้งานสูงสุดถึงกว่าสิบปี จึงสามารถช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยได้

นพ. พฤกษ์ ไชยกิจ ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ และผู้เชี่ยวชาญด้านระบบคอมพิวเตอร์เนวิเกเตอร์การผ่าตัดข้อเข่า วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล กล่าวว่า การวางตำแหน่งของข้อเข่าเทียมให้ถูกต้อง แม่นยำ เป็นกุญแจสำคัญในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ซึ่งปัจจุบันมีคอมพิวเตอร์เนวิเกเตอร์ ที่ใช้ในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม จึงช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการวางตำแหน่งของข้อเข่าเทียม ซึ่งจะส่งผลให้ข้อเข่าเทียมสามารถใช้งานได้ยาวนานโดยปราศจากปัญหาใดๆ

"การใช้คอมพิวเตอร์เนวิเกเตอร์ช่วยในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่านั้นมีข้อได้เปรียบ และนำไปสู่การพัฒนาเกี่ยวกับเรื่องซอฟต์แวร์ ที่จะสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการติดตามการวางตำแหน่งของข้อเข่าเทียมในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดไปแล้ว และจะสามารถให้ข้อมูลความแน่นอนของการใช้งานข้อเข่าเทียมให้ดีและยาวนานขึ้น อย่างไรก็ตาม การรักษาผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมนั้นขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคในผู้ป่วยแต่ละราย นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาถึงอายุ น้ำหนัก ความหนาแน่นของมวลกระดูก สภาพร่างกายและจิตใจ ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ หากมีอาการเพียงเล็กน้อย ก็ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีป้องกันและรักษาที่ถูกต้องตั้งแต่เนิ่นๆ" นพ. พฤกษ์กล่าวเสริม

เพื่อป้องกันการสึกหรอของกระดูกข้อไม่ให้เพิ่มมากขึ้น ควรควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วนเกิน หลีกเลี่ยงการคุกเข่า หรือนั่งยองๆ รวมทั้งการขึ้นลงบันไดบ่อยๆ โดยไม่จำเป็น ผู้ที่มีการบริหารกล้ามเนื้อเข่าให้แข็งแรงจะช่วยให้การใช้งานข้อได้ดีขึ้น และออกกำลังกายให้เหมาะสม เช่น การเดิน การปั่นจักรยาน หรือการออกกำลังกายในน้ำ ก็จะสามารถยืดอายุการใช้งานและรักษาข้อเข่าให้อยู่คู่ร่างกายได้เป็นอย่างดี

//www.thaihealth.or.th/healthcontent/article/11787



เรื่องราวดีๆ มีไว้แบ่งปันมากมาย ที่ 

https://www.Facebook.com/Boonthis

ขอบคุณสำหรับทุก Like ค่ะ :-)










Create Date : 04 กันยายน 2555
Last Update : 30 มิถุนายน 2559 16:13:56 น. 0 comments
Counter : 1290 Pageviews.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sriphat
Location :
ภูเก็ต Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 17 คน [?]




โลกนี้มีเรื่องราวดีๆ ไว้ให้แบ่งปันกันมากมาย
New Comments
[Add sriphat's blog to your web]