โลกนี้มีเรื่องราวดีๆ ไว้ให้แบ่งปันกันมากมาย

ค้นหา 5 ต้นเหตุแห่ง “ภูมิแพ้”

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 24 พฤศจิกายน 2548 10:04 น.

“เป็นหวัดมานานรักษาไม่หายสักที ดิฉันเป็นโรคภูมิแพ้หรือเปล่าคะ”

“กินอาหารทะเลไม่ได้เลยครับคุณหมอ ต้องเป็นผื่นลมพิษขึ้นทุกที ผมคงเป็นโรคภูมิแพ้ใช่ไหมครับ”

และ “โรคหอบหืดคือโรคภูมิแพ้ใช่ไหม”

...เหล่านี้เป็นคำถามที่แพทย์โรคภูมิแพ้ได้ยินเป็นประจำในการทำการตรวจรักษา ปัจจุบันสถิติผู้ป่วยด้วยโรคภูมิแพ้เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ นักวิจัยในหลายๆประเทศพยายามหาสาเหตุว่าอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้จำนวนผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ในประเทศนั้นๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างชัดเจนทั้งๆที่วิทยาการความรู้ต่างๆ ทางการแพทย์ก้าวหน้าไปมาก

ภาวะภูมิแพ้หรืออัลเลอจี (Allergy) คือ ปฏิกิริยาผิดปกติหรือภาวะที่ร่างกายไวต่อสารบางอย่างมากผิดปกติ สารที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยานี้เรียกว่า อัลเลอเจน (Allergens) คนที่มีภูมิแพ้ก็จะเกิดอาการเวลาสัมผัสสารที่ตนแพ้ ในขณะที่คนไม่แพ้จะสัมผัสได้อย่างสบาย โชคดีที่ว่าคนส่วนใหญ่ไม่มีภูมิแพ้ แต่บางคนกลับโชคร้ายคือ แพ้มากขนาดคุกคามชีวิตเลยเวลาสัมผัสสารที่แพ้ เช่น ยาแอสไพรินหรือถูกผึ้งต่อย

เนื่องจากภาวะภูมิแพ้บางชนิดมีลักษณะของอาการคล้ายหวัด แต่สาเหตุกลับต่างกัน กล่าวคือ คนเป็นหวัดเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ในขณะที่หวัดภูมิแพ้เกิดจากการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ของคนๆ นั้น อาการที่พบคล้ายกัน อาทิ มีน้ำมูกไหล คันจมูก จาม น้ำตาไหลและคันตา

ศ.พญ.ฉวีวรรณ บุนนาค นายกสมาคมโรคภูมิแพ้และอิมมูโนวิทยาแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า มีสมมุติฐานหลายข้อที่นักวิจัยคิดว่าน่าจะมีผลต่อการเพิ่มจำนวนผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ ได้แก่

1. ชีวิตในเมืองที่เปลี่ยนไป การย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ในเมืองใหญ่ บ้านที่ปิดทึบในเมืองหลวงมีการปูพรมทั้งบ้านใช้วัสดุบางอย่าง เช่น หมอนขนเป็ด ทำให้เด็กได้รับสารก่อภูมิแพ้พวกไรฝุ่นตั้งแต่อายุน้อย

2. มลพิษในอากาศ ซึ่งเกิดจากมลพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ และมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ

3. บุหรี่ ในควันบุหรี่ประกอบด้วยสารพิษหลายชนิด ซึ่งมีทั้งสารก่อมะเร็ง และสารก่อความระคายเคืองต่อเยื่อบุทางเดินหายใจ ควันบุหรี่ที่ออกมาจากผู้สูบบุหรี่ที่เรียกว่า การสูบบุหรี่มือสอง ทั้งนี้ พบว่ามีปริมาณสารพิษในควันบุหรี่มากกว่า ควันที่ถูกสูดเข้าไปในตัวผู้สูบโดยตรงถึง 3-40 เท่า เด็กที่มีผู้ปกครองสูบบุหรี่ในบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมารดาเป็นผู้สูบจะมีโอกาสเป็นโรคหอบหืดมากกว่าเด็กปกติถึง 2 เท่า

4. นมแม่ เด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยนมแม่อย่างเดียวจะมีโอกาสเป็นโรคหลอดลมหดตัวในวัยเด็กน้อยกว่าเด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยนมผสม แต่ปัจจุบันด้วยความจำเป็นทางเศรษฐกิจหรือการขาดความรู้ความเข้าใจและความอดทน ทำให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมตนเองลดลง

และ 5.อาหารที่ผ่านกระบวนการต่างๆ เช่น การแช่แข็ง การปรุงแต่งสี กลิ่น รส การบริโภคอาหารจำพวกแป้ง ไขมันมากกว่าที่จะบริโภคพืช ผัก ผลไม้ ซึ่งจะทำให้ร่างกาย ได้รับปริมาณสารต่อต้านอนุมูลอิสระหรือแอนตี้ออกซิแดนซ์ลดลง

ซึ่งนักวิจัยกำลังพยายามพิสูจน์ว่าเกี่ยวข้องกับการเพิ่มจำนวนของผู้ป่วยโรคภูมิแพ้หรือไม่

“โรคภูมิแพ้ที่พบบ่อย ได้แก่โรคจมูกอักเสบจากการแพ้หรือโรคแพ้อากาศ มักพบในเด็กโตจนกระทั่งผู้ใหญ่ โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ที่ผิวหนัง ซึ่งมักจะมีอาการตั้งแต่เด็ก ลมพิษ ซึ่งเกิดได้ทุกอายุ การแพ้ยา เป็นต้น”ศ.พญ.ฉวีวรรณกล่าว

ด้าน ศ.พญ.รูบี้ ปาวันการ์ หัวหน้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกขององค์การอนามัยโลก กล่าวถึงแนวทางใหม่ในการรักษาผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ว่า ปัจจุบันมีประชากรทั่วโลกประมาณ 300 ล้านคนป่วยด้วยโรคหอบหืดและมากกว่า 80 % ของผู้ป่วยโรคหอบหืดมีอาการร่วมของเยื่อจมูกอักเสบจากโรคภูมิแพ้ อีกทั้งยังพบว่าพันธุกรรมมีบทบาทสำคัญในการก่อให้เกิดโรคดังกล่าว โดยโรคนี้มักพบร่วมกับโรคหืดและไซนัสอักเสบ และจากการศึกษายังพบว่า เด็กที่ป่วยด้วยโรคภูมิแพ้มีโอกาสเป็นโรคหอบหืดถึง 3 เท่า อีกทั้ง เด็กที่เป็นโรคหืดจำนวน 80% มักเริ่มมีอาการก่อนอายุ 5 ปี

สำหรับสถิติโรคภูมิแพ้ในเด็กไทยนั้น พญ.ฉวีวรรณ ให้ข้อมูลว่า ความชุกของโรคภูมิแพ้ในเด็กไทยสูงถึง 38 % หรือเท่ากับประมาณ 7 ล้านคนของประชากรเด็กทั่วประเทศ ส่วนผู้ใหญ่พบว่าเป็นโรคดังกล่าวประมาณ 20 % อีกทั้งยังพบว่า เด็กที่ป่วยเป็นโรคหืดมีถึง 15 %มากกว่าผู้ใหญ่ที่มีเพียง 7 % ทั้งนี้ ปัจจุบันผู้ป่วยโรคภูมิแพ้มีมากขึ้นถึง 3-4 เท่า และจากการศึกษายังพบว่า 80 %ของผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ทางจมูกมีอาการร่วมของโรคหืด และ 40%ของผู้ป่วยโรคหืดก็มีอาการร่วมของโรคภูมิแพ้ทางจมูกเช่นกัน

สำหรับอัตราการเสียชีวิตของโรคหืดในประเทศไทยมีประมาณ 3 ล้านคนต่อปี สำหรับโรคภูมิแพ้ แม้จะไม่ถึงขั้นเสียชีวิตแต่ก็มีผลต่อการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน สำหรับสาเหตุของโรคภูมิแพ้มาจากพันธุกรรมและสภาพแวดล้อม อาทิ ควันบุหรี่ มลภาวะทางอากาศ รวมถึงภาวะเครียด

“การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ที่ได้ผลดี คงต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างแพทย์ผู้ดูแลตัวผู้ป่วยและผู้ปกครอง โดยแพทย์มีหน้าที่ให้ความรู้ ความเข้าใจเรื่องโรคว่า ต้องใช้เวลาในการดูแลรักษานานให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องยาที่ใช้ เรื่องการป้องกัน โดยดูแลสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้ปราศจากสารก่อภูมิแพ้”

“ส่วนผู้ป่วยก็ต้องเข้าใจเรื่องโรค ยาที่จำเป็นต้องใช้ พยายามหลีกเลี่ยงจากสารก่อภูมิแพ้สำหรับผู้ป่วยที่เป็นเด็ก ผู้ปกครองก็ต้องเข้าใจเรื่องโรคและโรคแทรกซ้อน คอยดูแลเรื่องการใช้ยา ในอนาคตนักวิจัยอาจจะค้นพบวิธีที่จะทำให้เซลล์ที่เกี่ยวข้องกับโรคภูมิแพ้ ไม่มีปฏิกิริยากับสารก่อภูมิแพ้ก็จะทำให้โรคภูมิแพ้ค่อยๆ ลดลงและหมดไปได้”

ในเรื่องของค่ารักษาพยาบาลนั้น ศ.พญ.ฉวีวรรณ ให้รายละเอียดว่า มีจำนวนประมาณ 990 ล้านบาท และ 1,087 ล้านบาท ในปี 2546 และ 2547 ตามลำดับ นอกจากนี้ จากการสำรวจยังพบว่า ในประชากรทั่วประเทศ 65 ล้านคน มีผู้ป่วยที่เป็นโรคแพ้อากาศประมาณ 25 % หรือ16 ล้านคน ดังนั้น จะเสียค่าใช้จ่ายทางอ้อมเป็นการหยุดงานหรือหยุดเรียนมากกว่า 2.7 ล้านบาทต่อคนต่อเดือน

“สิ่งที่อยากจะย้ำคือ โรคภูมิแพ้ทางจมูก นอกจากจะมีโรคหืดร่วมด้วย ยังมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะเป็นไซนัสอักเสบ และโรคหู ดังนั้น สิ่งสำคัญควรป้องกันไม่ให้เกิดโรค โดยการหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ อาทิ ไรฝุ่น ซากแมลงสาบ ขนและรังแคของสัตว์เลี้ยง และเชื้อรา”



Create Date : 24 พฤศจิกายน 2548
Last Update : 24 พฤศจิกายน 2548 11:08:18 น. 0 comments
Counter : 824 Pageviews.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sriphat
Location :
ภูเก็ต Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 17 คน [?]




โลกนี้มีเรื่องราวดีๆ ไว้ให้แบ่งปันกันมากมาย
New Comments
[Add sriphat's blog to your web]