โลกนี้มีเรื่องราวดีๆ ไว้ให้แบ่งปันกันมากมาย

เมื่อสมองเสื่อม...หลงๆ ลืมๆ ต้องไปคลินิกความจำศิริราช

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 20 ตุลาคม 2548 09:28 น.


ยังมีคนรุ่นหนุ่มสาวตลอดจนกลางคนที่มีผู้สูงอายุเป็นสมาชิกร่วมอยู่ในครอบครัวอีกเป็นจำนวนมาก ที่เข้าใจว่าอาการหลงๆ ลืมๆ ของคุณย่า คุณยายนั้น เป็นอาการปกติของคนที่ดำเนินชีวิตล่วงเข้าสู่วัยชรา แต่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะพฤติกรรมการหลงลืมแบบนี้เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงสัญญาณที่ส่งมาว่าผู้สูงอายุของครอบครัวเรากำลังมีปัญหาในเรื่องของความจำ

อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจจะไม่รู้ว่า เมื่อเรามีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพสมอง ไม่ใช่ไม่มีทางรักษา ไม่ใช่ไม่มีทางแก้ เพราะที่โรงพยาบาลศิริราชเขาเปิดให้บริการเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเฉพาะ นั่นก็คือ คลินิกความจำ

รศ.พ.ญ.วรพรรณ เสนาณรงค์ อาจารย์ภาควิชาประสาทวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ให้ข้อมูลว่า สมองเสื่อม เป็นภาวะที่สมองมีระดับความสามารถในการจัดการวางแผนการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ลดลง ทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาไม่สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ คิดสิ่งต่างๆ ไม่ออก แยกของต่างๆ ที่มีลักษณะใกล้เคียงกันไม่ได้ จำทางไม่ได้ บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง วิตกกังวล ซึมเศร้า ซึ่งจะทำให้เกิดความบกพร่องในการประกอบกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งกิจวัตรประจำวัน สมองเสื่อมอาจเกิดจากสาเหตุต่างๆ ได้หลายอย่างเช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคหลอดเลือดในสมอง ดาวน์ซินโดรม การดื่มแอลกอฮอล์ การติดเชื้อบางอย่าง โรคพาร์กินสัน ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ เป็นต้น
สมองเสื่อมสามารถแบ่งอาการออกเป็นระยะต่างๆ ซึ่งแต่ละระยะก็จะมีลักษณะปัญหาที่แตกต่างกันออกไป โดยระยะแรกสังเกตง่ายๆ ว่าจะมีปัญหาเรื่องความจำ การตัดสินใจแก้ไขปัญหา หลงทาง ทรัพย์สินสูญหาย ระยะที่สองจะมีปัญหาเรื่องหกล้ม บาดเจ็บ และได้รับภยันตรายต่างๆ และระยะสุดท้ายจะมีปัญหาสภาพร่างกายและจิตใจค่อนข้างมาก ต้องมีผู้ช่วยเหลือดูแลอย่างใกล้ชิด

สำหรับ “คลินิกความจำ”ซึ่งเป็นคลินิกพิเศษเพื่อผู้ป่วยที่มีปัญหาทางสมองในรูปของความจำเสื่อมหรือความจำบกพร่องโดยเฉพาะ ตั้งขึ้นเป็นที่แรกในประเทศไทยเมื่อปีพ.ศ. 2541 โดยเปิดเป็นประจำทุกวันพฤหัสบดีในช่วงบ่าย มีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญทั้งทางด้านจิตเวชผู้สูงอายุ ผู้เชี่ยวชาญประสาทวิทยา และผู้เชี่ยวชาญด้านความจำอยู่พร้อมกันเพื่อรอให้คำปรึกษาและให้การรักษาแก่ผู้ป่วย

“คลินิกความจำของเราเริ่มมานานเกือบสิบปีเห็นจะได้ เปิดเป็นแห่งแรกของประเทศ ด้วยความร่วมมือและความปรารถนาดีของหัวหน้าภาคหลายๆ ฝ่าย เราจะใช้ผู้เชี่ยวชาญทั้งทางด้านจิตวิทยาผู้สูงอายุ ประสาทวิทยา และความจำลงคลินิกพร้อมกัน ซึ่งสามคนนี้จะดูได้ทั้งหมด ครอบคลุมเพราะคนไข้บางคนเป็นได้หลายอาการ จิตวิทยาผู้สูงอายุมีหลายแขนง ในโรคผู้สูงอายุก็ไม่ได้มีเรื่องความจำอย่างเดียว มีเรื่องสมองด้วย ในเรื่องโรคสมองก็ไม่ได้มีเรื่องของสมองอย่างเดียว ความจำเป็นส่วนหนึ่งของโครงสมอง นอกจากนี้ยังสามารถตรวจโรคอายุรกรรมได้ด้วย ที่เราพยายามให้จิตเวชผู้สูงอายุ คลินิกผู้สูงอายุ และคลินิกความจำอยู่ด้วยกันก็เพราะทุกคนหากพบปัญหาก็สามารถโทรศัพท์ติดต่อกันได้ง่าย”

รศ.พ.ญ.วรพรรณให้ข้อมูลด้วยว่า โรคสมองเสื่อมติดอันดับโรคเรื้อรัง 1 ใน 20 โรคขององค์การอนามัยโลก สามารถเป็นได้ทุกเพศทุกวัย ไม่ใช่เฉพาะในคนสูงอายุอย่างที่เข้าใจกัน แต่จากเท่าที่เปิดคลินิกมาเกือบสิบปีนี้ พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ มีวัยทำงานบ้างแต่ไม่มากนัก อายุที่น้อยที่สุดที่มาเข้ารับการรักษาอยู่ที่ประมาณ 30 ปี ส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุมากกว่า พบทั้งอาการความจำเสื่อมและความจำบกพร่อง

ทั้งนี้ ในช่วงประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา คนไทยตื่นตัวกับความผิดปกติที่เกี่ยวกับความจำมากกว่าแต่ก่อน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องดีที่ผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยเอาใจใส่สังเกตอาการผิดปกติเหล่านี้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการรักษา เพราะหากพบอาการผิดปกติเร็ว อาการยังไม่ร้ายแรง ก็จะสามารถรักษาได้ผลมากกว่าปล่อยทิ้งไว้นาน

รศ.พ.ญ.วรพรรณกล่าวต่อถึงที่มาก่อนจะมาเป็นคลินิกความจำว่า เริ่มแรกนั้นเป็นการเริ่มงานโดยการวิจัยหาองค์ความรู้ก่อน จากนั้นจะเป็นการถ่ายทอดความรู้ ส่งเสริมความรู้ให้แก่บุคลากรภายในคลินิก จัดสรรเงินทุนที่เหลือจากงานวิจัยส่งพยาบาลในคลินิกไปดูงานต่างประเทศ จากนั้นจึงระดมสมอง จนเมื่อพร้อมแล้วจึงเปิดให้บริการเป็นคลินิกความจำ

“ที่ในตอนแรกเราจำเป็นจะต้องเริ่มจากงานวิจัยก่อนก็เพราะต้องสร้างองค์ความรู้ให้แน่น ตลอดจนต้องปูพื้นฐานและต่อยอดความรู้ให้แก่บุคลากรของเราทุกคน เพราะนอกจากจะเพื่อพัฒนาศักยภาพในการตรวจ ให้คำปรึกษา และวินิจฉัย รักษาอาการของคนไข้แล้ว ยังเป็นการเพิ่มศักดิ์ศรีให้แก่บุคลากรของเราเอง เพื่อเขาจะได้มีกำลังใจในการทำงานบริการสังคม ก็จะกลายเป็นการทำงานด้วยใจรัก พี่โชคดีที่พี่ได้ทีมงานน่ารักทุกคน มีน้ำใจ และมีใจที่จะช่วยเหลือคนไข้และบริการสังคมอย่างแท้จริง”

สำหรับข้อมูลที่หลายคนอยากทราบ เกี่ยวกับอาการหรือสัญญาณบ่งบอกว่ามีแนวโน้มการมีภาวะความจำบกพร่อง อันจะทำไปสู่โรคความจำเสื่อมนั้น รศ.พ.ญ.วรพรรณอธิบายว่าแต่ละคนจะมีอาการแตกต่างกันออกไป แต่โดยหลักแล้วให้สังเกตความถดถอยของตัวเอง หากเคยทำอะไรได้ เมื่อเกิดภาวะความจำถดถอยหรือบกพร่องจะทำสิ่งนั้นๆ ไม่ได้ เช่น จากเคยขับรถได้ ก็ขับไม่ได้ จากที่เคยจำเส้นทางได้ ก็หลงทาง เคยเขียนหนังสือได้ ก็กลับจำวิธีการเขียนไม่ได้ เป็นต้น

แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับสภาพอารมณ์ความรู้สึกในเวลานั้นๆ ด้วย บางคนอยู่ในภาวะเครียด สับสน หรือไม่มีสมาธิในการกระทำสิ่งนั้นๆ ก็อาจคิดว่าตัวเองอยู่ในภาวะสมองบกพร่อง ก็ต้องสัมภาษณ์เป็นกรณีไป

“บางทีมันต้องใช้เทคนิคเหมือนกันนะ ที่จะทำให้คนไข้ไว้ใจจนเล่าประวัติโดยละเอียด ที่จำเป็นต้องถามละเอียดเพราะว่า อาการโรคความจำบกพร่องหรือความจำเสื่อมนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ ส่วนหนึ่งคือการดื่มเหล้าและเสพยาเสพติด ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องถามที่มาที่ไปของคนไข้ เพื่อหาทางรักษาได้อย่างถูกจุด”

หลังจากสัมภาษณ์ประวัติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แพทย์ผู้ตรวจจะทำการตรวจสอบอาการความผิดปกติทางสมองด้วยแบบทดสอบแบบต่างๆ แต่แบบทดสอบที่ได้รับการยอมรับแบบหนึ่งซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายคือแบบทดสอบการวาดรูปนาฬิกา เนื่องจากการวาดรูปนาฬิกาจะต้องใช้สมองหลายส่วน และเมื่อทำแบบทดสอบเรียบร้อยแล้วก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการวินิจฉัยและให้การรักษา โดยการรักษานั้นจำเป็นจะต้องอาศัยทั้งยาและความเอาใจใส่ของญาติและแพทย์ผู้ตรวจ สำหรับเรื่องของยารักษาโรคความจำนี้ ข้าราชการสามารถเบิกได้ แต่นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคยังไม่ครอบคลุม ส่งผลให้ยังพบปัญหาคนไข้ฐานะยากจนยังไม่สามารถซื้อยาได้

รศ.พ.ญ.วรพรรณได้ให้คำแนะนำทิ้งท้ายเอาไว้ว่า อย่างที่ทราบกันว่าโรคความจำบกพร่องหรือความจำเสื่อมเป็นโรคเรื้อรัง อาจจะต้องใช้เวลานานอาการจึงจะดีขึ้น จำเป็นที่ตัวผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยจะต้องอดทนและยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นให้ได้

ที่สำคัญคือ อยากฝากไปถึงญาติผู้ป่วยที่มีคนในบ้านว่าหากเป็นผู้สูงอายุแล้ว ไม่อยากให้มองว่าการถดถอยที่เกิดจากความจำบกพร่องหรือความจำเสื่อมทำให้ผู้สูงอายุในบ้านกลายเป็นเด็ก คลินิกความจำอยากให้ผู้สูงอายุอยู่อย่างชราแต่สง่างาม เพราะวัยชราเป็นวัยที่มากด้วยประสบการณ์ในสิ่งที่ผ่านมา เป็นสมาชิกที่มีคุณค่าของครอบครัว แม้ว่าโรคหรือภาวะบกพร่องจะทำให้พฤติกรรมเปลี่ยนไป ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่สมาชิกทุกคนในบ้านต้องเปิดใจและเข้าใจ รวมทั้งช่วยกันดูแลเอาใจใส่ผู้ป่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี



Create Date : 24 พฤศจิกายน 2548
Last Update : 24 พฤศจิกายน 2548 11:42:29 น. 0 comments
Counter : 4390 Pageviews.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sriphat
Location :
ภูเก็ต Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 17 คน [?]




โลกนี้มีเรื่องราวดีๆ ไว้ให้แบ่งปันกันมากมาย
New Comments
[Add sriphat's blog to your web]