Group Blog
 
All blogs
 
Minamoto no Yoshisune : โศกนาฏกรรมของนักรบผู้อาภัพ


Statue of Yoshitsune at Dannoura


เพราะรู้จุดจบของเรื่องนี้ เลยเกิดความสงสัยเต็มแก่ว่า “ทำไม” มันเป็นเกียรติยศศักดิ์ศรีของเหล่านักรบซามูไรกันอย่างไร ในญี่ปุ่นถึงมีพิธีคว้านท้องที่เรียกว่าเซ็บปุกุ สงสัยมาตั้งแต่เด็กเลยเชียวนะเรื่องนี้
เป็นการเริ่มต้น spoil อย่างโจ่งแจ้งมาก ขออภัย หากทำให้...ไม่อยากดู!

เรื่องย่อชีวิตของนักรบผู้อาภัพ
ในยุคนั้น ในหมู่นักรบที่คอยป้องกันราชสำนัก ตระกูลไทระ กับตระกูลมินาโมโตะ เริ่มมีกองกำลังที่มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งสองตระกูลค่อยๆ แผ่ขยายอำนาจออกไปและใช้ความสัมพันธ์อันดีกับผู้สำเร็จราชการและขุนนางผู้ใหญ่ในราชสำนักแบ่งประเทศออกเป็น 2 ฝ่าย ในที่สุด ทั้ง 2 ฝ่ายก็มาประจันหน้ากันที่เมืองหลวง ตอนนั้นเป็นสมัยเฮจิปีที่ 1 และกลายเป็นสงครามช่วงชิงอำนาจระหว่าง ไทระ โนะ คิโยโมริ (ผู้นำของตระกูลไทระ) กับ มินาโมโตะ โนะ โยชิโทโมะ (ผู้นำของตระกูลมินาโมโตะ) ในขณะนั้น แต่ว่าเมื่อเจอกับกองทัพยิ่งใหญ่ของตระกูลไทระ กองทัพมินาโมโตะก็ยากที่จะรับมือได้ จึงเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ไป ตระกูลไทระจึงครองอำนาจในหมู่นักรบและใช้อิทธิพลควบคุมราชสำนักตั้งแต่นั้นมา (สงครามครั้งนั้นจึงได้ชื่อว่าสงครามเฮจิ)

นั่นคือการเปิดฉากละครเพื่อเล่าถึงต้นกำเนิดความบาดหมางของสองตระกูลนักรบ ไทระ และ มินาโมโตะ

เมื่อสิ้นหัวหน้าตระกูลโยชิโทโมะ ตระกูลมินาโมโตะจึงแตกกระสานซ่านเซ็น ถ้าไม่ถูกจับไปประหาร ก็ต้องหลบลี้ซ่อนตัวไม่ให้ใครรู้ว่าเป็นเชื้อสายมินาโมโตะ

โยริโทโมะ หนึ่งในลูกชายของผู้นำตระกูลมินาโมโตะ ผู้สืบทอดสายเลือดโดยตรง (ลูกที่เกิดจากภรรยาที่แต่งงานอย่างถูกต้องตามประเพณี) ซึ่งตามธรรมเนียมนักรบลูกชายของศัตรูจะต้องถูกประหาร แต่คิโยโมริผู้นำตระกูลไทระ ก็ได้รับการขอร้องจากแม่ชีผู้เป็นแม่ให้ละเว้นโทษตายแก่โยริโทโมะ และในส่วนลึกของตัวคิโยโมริเองก็มีความเมตตาต่อเด็กชายที่องอาจกล้าหาญในท่ามกลางศัตรูอย่างน่าชื่นชม จึงสั่งเนรเทศโยริโทโมะไปอยู่เกาะอิสึในฐานะนักโทษเชลย

โทคิวะ หญิงคนรักของหัวหน้าตระกูลมินาโมโตะ แม้จะพาลูกชายทั้งสามคนหลบหนีไป แต่ก็ถูกคนของตระกูลไทระตามตัวจนพบ ตามธรรมเนียมแล้วโทคิวะที่เป็นหญิงอาจได้รับการละเว้นชีวิตได้ แต่เด็กชายทั้งหมดต้องถูกประหาร แต่อีกเช่นกันที่ความเมตตาของคิโยโมริ ทำให้กระทำสิ่งผิดพลาดอีกครั้ง ซึ่งส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อตระกูลไทระในเวลาต่อมา นั่นก็คือการละเว้นชีวิตให้แก่โทคิวะและลูกชายทั้งสามหลังจากที่ได้ไว้ชีวิตโยริโทโมะมาแล้วครั้งนึง ลูกชายสองคนในวัยที่รู้ความของโทคิวะถูกบังคับให้บวช เหลือเพียงอุชิวากะ เด็กทารกในอ้อมอกที่ได้รับอนุญาตให้อยู่กับโทคิวะผู้เป็นแม่

และต่อไปนี้คือเรื่องราวของนักรบผู้อาภัพ Minamoto Kuro Yoshisune



เพื่อรักษาชีวิตรอดโดยเฉพาะชีวิตของลูกชาย โทคิวะต้องยอมตกเป็นนางคณิกาของคิโยโมริ และ อุชิวากะ (โยชิสึเนะ พระเอกของเรื่อง แสดงโดย ทักกี้) ต้องเติบโตมาภายใต้ร่มเงาของศัตรูผู้ฆ่าพ่อและทำลายล้างตระกูลของตัวเอง โทคิวะ เป็นหญิงสาวเลอโฉมผู้มีนามอันเลื่องลือ ประกอบกับความสงบเสงี่ยมยอมรับชะตากรรมของตัวเองแต่โดยดี ทำให้คิโยโมริเมตตาต่อโทคิวะอย่างมาก และรวมไปถึงเมตตาอุชิวากะด้วย

ในวัยเยาว์อุชิวากะจึงหลงคิดว่าคิโยโมริแห่งตระกูลไทระคือพ่อ และคิดว่า
โทโมโมริ และ คิเงฮิระ ลูกชายตระกูลไทระที่ชอบมาเล่นด้วยกันบ่อยๆ คือพี่ชายของตัวเอง ความเมตตาของคิโยโมริที่มีต่ออุชิวากะ ทำให้ มิเนโมริ ลูกชายคนรองของคิโยโมริ เกิดความริษยาเพราะความเมตตาเหล่านั้นเขารู้สึกว่าตัวเองไม่เคยได้รับจากพ่อมาก่อน

เมื่อคนอื่นๆ เติบโตขึ้นในวัยหนุ่ม โยชิสึเนะก็เติบโตเป็นเด็กที่รู้ความ และตามธรรมเนียมอีกเช่นเคย ที่เชื้อสายของศัตรูควรถูกกำจัดหรือจัดการให้แน่ใจว่าจะไม่เป็นปัญหาต่อไปในอนาคต แม้คิโยโมริจะพยายามยื้อเวลาให้อุชิวากะได้อยู่กับแม่นานเพียงใด สุดท้ายก็ต้องออกคำสั่งกับโทคิวะให้ส่งอุชิวากะไปอยู่ที่วัดบนเขาและสั่งห้ามไม่ให้กลับเข้ามาในเมืองหลวงอีกต่อไป โทคิวะไปส่งลูกชายที่ วัดคุรามะ ด้วยความระทมทุกข์ที่เก็บกดไว้ภายใต้จิตใจอันเข็มแข็ง และได้มอบขลุ่ยให้แก่ลูกชายไว้เป็นตัวแทนต่างหน้า

อุชิวากะ ซึ่งได้รับชื่อใหม่ว่า ชานะโอ ถูกบังคับให้บวชอยู่เนืองๆ แต่จนแล้วจนรอด ชานะโอก็ไม่พร้อมยอมบวชแต่กลับสนใจเรียนรู้วิชาการต่อสู้ และตั้งแต่เด็กจนโตก็แอบเข้าเมืองหลวงบ่อยๆ จนเป็นที่รู้จักและมีมิตรแท้อยู่กลุ่มหนึ่งที่คอยให้การช่วยเหลือดูแลชานะโอเสมอมา

ต่อมาชานะโอก็ได้รู้ความจริงว่าแท้จริงแล้วตัวเองคือสายเลือดมินาโมโตะ และคิโยโมริที่เคยหลงคิดว่าเป็นพ่อ ก็คือศัตรูที่ทำให้พ่อของตัวเองต้องจบชีวิตลง เป็นความจริงที่ไม่อยากยอมรับแต่ก็ต้องยอมรับ

เมื่อถูกกดดันจนถึงที่สุดเรื่องการบวช และสุดท้ายถึงขั้นตามล่าหมายชีวิตชานะโอจึงหลบหนีจากเมืองหลวงไปอยู่อิราอิสึมิ ก่อนไปได้แอบลักลอบไปอำลาโทคิวะผู้เป็นแม่ที่เคยถูกสั่งห้ามไม่ให้พบกันมาโดยตลอด และด้วยความช่วยเหลือของ
ท่านยายโอโตกุ หญิงชราที่หัวหน้าตระกูลไทระให้ความนับถือ ชานะโอจึงมีโอกาสได้พบกับคิโยโมริตามลำพัง

ความเมตตาที่คิโยโมริมีให้กับเด็กน้อยอุชิวากะไม่เคยถูกลืมเลือน การได้พบเด็กชายอีกครั้งในวัยหนุ่มคงยากจะบรรยายความรู้สึก
นอกจากคำพูดที่เหมือนเป็นการสั่งเสียครั้งสุดท้ายของคิโยโมริต่อชานะโอ เพราะจากเหตุการณ์ครั้งนี้ทั้งสองคนก็ไม่เคยมีโอกาสได้พบกันอีก
“จงจำไว้ว่าเจ้าเป็นมินาโมโตะ และข้าเป็นไทระ”

ในระหว่างที่เดินทางไปยังอิราอิสึมิและผ่านไปยังสถานที่ที่พ่อของตัวเองเสียชีวิต ชานะโอ ได้ตัดสินใจทำพิธีเกะโบคุด้วยตัวเอง) ซึ่งตามปกติพิธีนี้จะต้องกระทำโดยบุคคลสำคัญ เช่น พ่อ หรือผู้ใหญ่ที่สมควร (ขออภัยถ้าจำชื่อไม่ถูก เป็นพิธีตัดผม สวมหมวก คล้ายๆ กับโกนจุกของไทยมังคะ คือเพื่อแสดงความหมายว่าได้ล่วงพ้นวัยเด็กเข้าสู่การเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว) ซึ่งหลังจากทำพิธีแล้ว ตามธรรมเนียมจะต้องทำการเปลี่ยนชื่อ ชานะโอจึงตั้งชื่อให้ตัวเองเป็น “คุโร โยชิสึเนะ” แปลว่า ลูกชายคนที่เก้าของตระกูลมินาโมโตะผู้เคยอาศัยอยู่วัดคุรามะ ( แปลประมาณนี้ล่ะค่ะ ถ้าจำไม่ผิด) โยชิสึเนะจึงถูกเรียกว่า “ท่านคุโร” ตั้งแต่นั้นมา

ทั้งตอนอยู่วัดคุรามะและแอบหนีลงเขามาเมืองหลวงบ่อยๆ ตั้งแต่เด็กจนโต หรือตอนหนีจากเมืองหลวงเพื่อเดินทางไปยังอิราอิสึมิ ท่านคุโร ก็ทยอย ได้พบกับมิตรแท้แต่ละคน ที่เปรียบเสมือนเป็นญาติผู้ใหญ่ เพื่อนแท้ และข้ารับใช้ผู้ซื่อสัตย์ ผู้ซึ่งคอยให้ความช่วยเหลือ คอยยืนหยัดต่อสู้เคียงข้างท่านมินาโมโตะ โยชิสึเนะจวบจนลมหายใจสุดท้ายของชีวิต

เท่าที่เล่ามายาวเหยียดจนถึงตอนนี้ คงจะเป็นเพียง 10% ของเรื่องเองมั้งคะ การเดินทางไปยังอิราอิสึมึของท่านคุโร เพิ่งจะเป็นเพียงการเริ่มต้นไปสู่เส้นทางชีวิตที่ผกผัน บนชนวนความบาดหมางของสองตระกูลที่ลุกฮือขึ้นเป็นไฟสงครามครั้งใหญ่อีกครั้ง และนำไปสู่เรื่องราวของโศกนาฏกรรมในที่สุด


*****
ความเห็น ส่วนตัวล้วนๆ ต่อซีรีย์เรื่องนี้ :- ( spoil ! )ถ้านึกถึงละครพีเรียดเกาหลี ที่ตั้งชื่อให้ฟังดูยิ่ง ยิ่งใหญ่อย่างเช่น ลีซาน-จอมบัลลังค์พลิกแผ่นดิน / มูยุล-มหาบุรุษพิชิตแผ่นดิน / จูมง-จอมกษัตริย์กู้แผ่นดิน
อยากจะใช้คำว่า เกียรติศักดิ์แห่งตระกูล เกียรติภูมิแห่งชาติกำเนิด....เเป็นสโลแกนสำหรับอธิบายถึงละครเรื่องนี้ซะจริงๆ บางครั้งการเลือกความตายเป็นหนทาง นอกจากจะไม่คิดว่าเป็นการกระทำที่โง่เง่าแล้ว ยังทำให้รู้สึกถึงเกียรติยศศักดิ์ศรีที่ความตายจะคงไว้ไม่ให้ใครมาย่ำยีได้ กลายเป็นเท่ห์ซะงั้น

แต่เสียดาย..ที่เรื่องนี้ ยังสู้ละครพีเรียดของเกาหลีไม่ได้ ความเข้มข้นต่างกันเยอะ แถมยังดูพากษ์ไทยด้วย ทำให้เสียอรรถรสไปมากพอสมควรเพราะจะเคยชินกับการฟังเสียงต้นฉบับและอ่านซับมากกว่า บางครั้งก็รู้สึกรำคาญว่าเสียงมันไม่เข้ากันกับสิ่งที่ตัวละครกำลังแสดงอยู่ โดยเฉพาะเสียงท่านยายโอโตกุ ที่คอยเล่าเรื่อง แหบๆ เครือๆ ฟังแล้วหงุดหงิดหัวใจชะมัด!

ในการดูซีรีย์เรื่องนี้ แม้จะรู้สึกได้ถึงอารมณ์ยิ่งใหญ่ที่กล่าวมาข้างต้น แต่ว่า..ก็เป็นการเข้าใจตามเนื้อหาเรื่องราว ที่ไม่ได้ ‘จับใจ’ เท่าที่ควรจะเป็น .... อืม...อธิบายยากเหมือนกันนะคะ คือว่า..เรื่องราวมัน “โศกนาฏกรรม” ชัดๆ เลยล่ะ แต่อารมณ์มันไม่สลดหดหู่ตามตัวละคร
เพราะวิธีการดำเนินเรื่องมันดูแข็งๆ ทื่อๆ คงเป็นเพราะความยาวที่ยาวมากๆ ด้วย ละครจึงไม่ได้เล่าเรื่องด้วยความเป็นไปของตัวละครทั้งหมด แต่จะคล้ายๆ กับละครเวที คือมีเสียงกล่าวเล่าเรื่องราว(จากเสียงท่านยายโอโตกุ) เสร็จปุ๊บตัวละครก็ออกมาในฉากนั้นๆ แป๊บๆ ก็เปลี่ยนไปอีกฉาก โดยมีเสียงเล่าเพื่อเชื่อมเหตุการณ์ เช่นว่า เสียงเล่าเรื่องบอกว่า เกิดการรบที่.......... แล้วก็เป็นฉากตัวละครฟันดาบต่อสู้กันสี่ห้าเชะ! (ลงทุนน้อยนะนั่น) จากนั้นก็เปลี่ยนไปยังเหตุการณ์อื่นโดยมีเสียงเล่าเพื่อเชื่อมเหตุการณ์ในการเปลี่ยนฉาก....คือเป็นอย่างนี้ไปตลอด ไม่ใช่ว่าจะขนม้าขนทหารออกมารบกันเอาจริงเอาจังแบบละครเกาหลีหรือจีน และฉากแอคชั่นก็ยังไม่ค่อยแข็งแรงแข็งขันให้สมจริงเท่าไรนัก

และนี่ก็คงเป็นสาเหตุให้ความสัมพันธ์ของตัวละครไม่ลึกซึ้งต่ออารมณ์ของคนดู (หมายถึงอารมณ์ส่วนตัวของเจ้าของบล็อกนะคะ คนอื่นอาจจะไม่รู้สึกอย่างเดียวกัน) ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ดีใจของโยชิสึเนะที่ได้พบกับโยริโทโมะ พี่ชายที่รอคอยมานานเพื่อหวังให้เป็นหลักยึดเหนี่ยวของชีวิต หวังจะคอยติดตามรับใช้และกอบกู้ตระกูลขึ้นมาอีกครั้ง ปะทะกับอารมณ์ห่างเหินเย็นชาของโยริโทโมะที่ในฐานะลูกชายเชื้อสายตรงจึงถือตัวว่าอยู่ในชนชั้นที่สูงกว่า และไม่เคยให้ความไว้วางใจน้องชายต่างมารดา / อารมณ์รักใคร่เสน่ห์หาระหว่างโยชิสึเนะและชิสึกะ (นางเอก ) ที่สุดแสนจะน้อยนิดและจืดชืด

โดยเฉพาะในส่วนสำคัญของเรื่องอย่างเช่น อารมณ์เจ็บปวดของโยชิสึเนะที่ต้องคอยติดตามไล่ต้อนตระกูลไทระที่เคยอาศัยร่มเงาเติบโตมาในระยะหนึ่ง การต้องสู้รบกับลูกชายตระกูลไทระที่เคยเล่นหัวกันมาในวัยเด็ก ความพะวักพะวนห่วงใยต่อน้องสาวที่เกิดจากโทคิวะและคิโยโมริ สายเลือดร่วมกันของตระกูลไทระและมินาโมโตะที่ต้องระหกระเหินไปกับตระกูลไทระในท่ามกลางไฟสงครามโดยที่โยชิสึเนะเองเป็นฝ่ายไล่ต้อน / อารมณ์ภายใต้เปลือกอำนาจและความเลือดเย็นของโยริโทโมะที่ยังคงโหยหาความรักความผูกพันฉันท์พี่น้องที่ตัวเองไม่เคยได้สัมผัส แต่ในฐานะผู้นำตระกูลก็มีเหตุผลให้ตัวเองใจแข็งพอที่จะเมินเฉยต่อความรักความจริงใจที่โยชิสึเนะน้องชายเต็มใจจะมอบให้ โยงมาถึงอารมณ์เจ็บช้ำน้ำใจของโยชิสึเนะที่ถูกบีบคั้นจนกระทั่งต้องยอมหันหลังให้กับความตั้งใจที่จะภักดีต่อพี่ชายไปชั่วชีวิต มันคงจะเป็นความรู้สึกเจ็บปวดมากๆ และเหตุการณ์ที่โยชิสึเนะทำการตัดขาดความเป็นพี่น้องกับโยริโทโมะนั้น อารมณ์น่าจะได้ประมาณการหลั่งน้ำทักษิโณทกของสมเด็จพระนเรศวรลงผืนแผ่นดินเพื่อประกาศอิสรภาพกันเลยทีเดียว แต่คนดูอย่างเรากลับไม่อินซักเท่าไร (หรือว่าอยู่ในช่วงอารมณ์ตายด้านกันนะ)

Yoshitsune by Kikuchi Yōsai


ไหนๆ ก็วิจารณ์แล้ว ขออีกสักนิดสักหน่อยเถิดนะ ... อีกสิ่งหนึ่งที่คิดว่าค่อนข้างจะแสดงรายละเอียดออกมาน้อยไปหน่อย ก็คือ ความเป็นสุภาพบุรุษลูกผู้ชายของโยชิสึเนะ ปกติดูหนังพีเรียดพวกนี้ ความเป็นลูกผู้ชายตัวจริงกระทิงแดงของพระเอกจะต้องปรากฏออกมาเพื่อแสดงโฉมหน้าวีรบุรุษเนื้อทอง มิตรแท้และข้ารับใช้ผู้ซื่อสัตย์จะได้รับตอบแทนมาจากการเป็นผู้ให้ก่อน เช่นเดียวกับที่คนดูอย่างเราจะเทใจให้เมื่อได้เห็นน้ำใจท่าน แต่สำหรับโยชิสึเนะ การเป็นสายเลือดตระกูลนักรบอันยิ่งยงอย่างมินาโมโตะมักจะดูเป็นใบเบิกทางไปสู่การพบปะผู้คนให้ได้รับการยกย่องนับถือและการให้ความช่วยเหลือซะก่อนที่จะทำอะไรๆ ให้คนเหล่านั้น คือแค่รู้ว่าเป็นมินาโมโตะก็ก้มหัวให้แล้ว จึงค่อนข้างจะเห็นการเป็นผู้รับมากกว่าผู้ให้ เลยพาลไม่ค่อยรู้สึกว่าพระเอกทำอะไรๆ ให้สมควรได้รับน้ำใสใจจริงจากผู้คนในแบบที่ยอมตายถวายชีวิตให้ได้

เมื่อหยิบละครที่เกี่ยวข้องกับคำว่า ศึกสงคราม , กบฏ, จักรพรรดิ, เชื้อพระวงศ์, ราชสำนัก, เขตปกครอง, เล่ห์เหลี่ยมการแย่งชิงอำนาจ, ความทะเยอทะยาน และ การทรยศ หักหลัง ฯลฯ ก็ช่วยไม่ได้จริง ๆ ที่จะคาดหวังสูง ว่าน่าจะเข้มข้น เร้าใจ ติดหนึบ และประทับใจกับเรื่องราวของชายชาตินักรบอย่าง มินาโมโตะ โนะ โยชิสึเนะ มากกว่านี้

แต่ในฐานะคนที่รักซีรีย์ญี่ปุ่นหัวปักหัวปำ ก็เลยคิดเข้าข้างว่า... คงเพราะเรื่องราวของนักรบผู้อาภัพคนนี้...มีเหตุการณ์ความเป็นไปที่ยาวมาก จึงไม่อาจลงรายละเอียดตัวตนของพระเอกให้เห็นถึงสติปัญญาที่เฉียบแหลม หรือวาจาที่เฉียบคมให้สมกับเป็นยอดนักรบในตำนานที่เลื่องลือออกมาได้มากเท่าที่ควร ถ้าต้องการเยี่ยงนั้น อาจจะต้องทุ่มทุนสร้างในการเพิ่มความยาวอีกเท่าตัวเช่นที่ จูมงของเกาหลี ทำออกมาแปดสิบตอน (ดูกันให้แก่ไปข้างนึง)

และถ้าถามว่า .. บ่นจังเลย แล้วจะนั่งดูอยู่ทำไมตั้งสี่ซ้าห้าสิบตอน....ก็แหม... ดันชอบละครพีเรียดซะมากมายนี่นา แค่ได้ดูฉากชีวิต บ้านเมือง ผู้คน การแต่งกาย...ที่ย้อนยุคไปโบร่ำโบราณ ก็มีความสุขกับละครในระดับนึง โดยมิต้องเรียกร้องอะไรมากมายแล้ว แค่ขอบ่นนิ๊ดนึง...



"Yoshitsune and Benkei Viewing Cherry Blossoms", by Yoshitoshi Tsukioka



น่าแปลกที่ละครเรื่องนี้เป็นเรื่องของชายชาตรีซะส่วนใหญ่ แต่ที่ทำให้ประทับใจกลับเป็นบรรดาผู้หญิงๆ ที่ยุคนั้นถ้าเทียบกับผู้ชายแล้วช่างดูต่ำต้อยด้อยค่าเหลือเกิน ต้องให้ความเคารพยกย่องเหล่าผู้ชายๆ กันชนิดที่เรียกว่าหมอบราบคาบแก้วกันเลยทีเดียว แต่ว่าผู้หญิงเหล่านั้นก็ไม่ได้อ่อนแอ หรือเอาแต่จะพึ่งพาผู้ชาย ตรงกันข้ามกลับเต็มไปด้วยความเข้มแข็งและมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบดูแลในฐานะฝ่ายสนับสนุนที่ผู้ชายจะขาดไปไม่ได้ ความเข้มแข็งที่ว่านี้ก็จะเห็นได้จากหลายๆ ตัวละคร อย่างเช่นโทคิวะ แม่ที่ต้องเข้มแข็งเพื่อรักษาชีวิตของลูกชายสายเลือดมินาโมโตะ แม่ที่ต้องสละลูกสาวให้ตระกูลไทระไปเลี้ยงดู / เพื่อค้ำชูอำนาจของตระกูล ลูกสาวของตระกูลไทระต้องยอมไปเป็นพระชายาเพื่อหวังให้กำเนิดจักรพรรดิองค์ต่อไป /ผู้นำฝ่ายหญิงของตระกูลไทระที่ต้องยืนหยัดเป็นศูนย์รวมจิตใจของลูกๆ ทั้งหญิงชาย/ โยชิโกะ ที่สายเลือดมินาโมโตะในตัวครึ่งหนึ่งทำให้เป็นเหมือนแกะดำในตระกูลไทระแต่ก็มีจิตใจมั่นคงต่อการเลือกทางเดินของตัวเอง รวมถึงบทบาทของบรรดาผู้หญิงๆ ที่เป็นภรรยาของนักรบอื่นๆ ด้วย

ฉากที่ชอบ คือ


- ฉากที่โยชิโกะ เป็นตัวแทนของตระกูลไทระยืนถือเป้าธนูเสี่ยงทายบนเรือลำเล็กลอยลำอยู่กลางทะเลเพื่อท้าทายกองทัพมินาโมโตะ โยชิสึโนะแม่ทัพบนฝั่งรับคำท้าด้วยการสั่งให้นักรบยิงธนูออกไป โดยไม่รู้เลยว่าหญิงสาวผู้กล้าหาญจากตระกูลไทระคนนั้นคือน้องสาวของตัวเอง
- ฉากที่โยชิโกะอ่านจดหมายลับที่ส่งมาจากโยชิสึเนะแล้วร้องไห้ เพราะไม่เคยพบกันมาก่อนนอกจากตอนแรกเกิด จึงไม่คาดคิดว่าจะได้รับความรักความห่วงใยจากพี่ชาย ที่เขียนมาขอร้องให้ทำตามแผนที่โยชิสึเนะต้องการจะดึงตัวโยชิโกะออกมาจากสนามรบ คำจากพี่ถึงน้องบอกว่า ...พี่จะเป็นคนดูแลเจ้าเอง ...นี่มันวี๊ดมากค่า อารมณ์อยากมีพี่ชายประทุ
- การแสดงความกล้าหาญและหยิ่งทะนงในศักดิ์ศรีของสตรีตระกูลไทระท่ามกลางสนามรบอันวุ่นวายบนท้องทะเล

หญิงสาวในตระกูลผู้ดีญี่ปุ่นผมยาวเกือบระพื้นในชุดกิโมโนโบราณสีหวานนี่ช่างให้ความรู้สึกงามสง่าจริงๆ นะคะ และตัวละครที่โปรดปรานที่สุดในเรื่องก็คือ โยชิโกะ กับ โทโมโมริ (แสดงโดยอาเบะ) แม่ทัพของตระกูลไทระ ที่เป็นลูกชายคนรองของตระกูลนั่นเอง



รูปภาพจาก :-

//en.wikipedia.org/wiki/Minamoto_no_Yoshitsune


เกร็ดความรู้เพิ่มเติม : การพบกันของ คุโร โยชิสึเนะ กับ เบ็งเค

//diary.yenta4.com/diary.php?Oo_Nat_oO:1:1:2005:10778


Ushiwaka maru



Saito Musashibo Benkei


ฉากสู้กัน ตอนที่เบ็งเคย์เปิดผ้าคลุมหน้าอุชิวากะ





Create Date : 27 กันยายน 2552
Last Update : 30 พฤศจิกายน 2553 0:42:36 น. 5 comments
Counter : 9950 Pageviews.

 
ฮ๊ะฮิ๊ววววว ช่างกล้ามากค่ะคุณขาเขียนพรีวิวเรื่องนี้บอกตามตรงว่าด้วยความที่มันยาวมากข้าน้อยยังมิกล้า แถมเล่าซะละเอียกยิบๆด้วย ปรบมือให้

เราชอบทั๊กกี้ไงก็ดูไป 50 ตอนแบบชิวๆ และแฮ๊ปปี แต่เราดูเสียงญี่ปุ่นได้อารมณ์เพิ่งไปกว่าเท่าตัวเพราะเสียงไทยเปิดดูแล้วไม่อินเลยที่รัก

ชอบตอนชิซูกะรำให้ฝ่ายศัตรูดูมันดูเศร้าดีสงสาร
ชอบฉากที่อุชิกาวะดวลดาบกับแบ็งเค แสงสวยรับกับกลีบซากุระที่ร่วงโรย และที่สำคัญมันมีใน Tackey Enbujou ด้วย กร๊ากกก

เรื่องนี้มันค่อนข้างจะเก่าสังเกตุได้ว่าทั๊กกี้หน่าละอ่อนอยู่ ฉะนั้นทำใจเถอะนะมันไม่อลัง เท่าจูมงหรอก...ถ้าชอบจุมง ไปดู ซาดองโย ดิหนุกอ่ะเรายังชอบเลย


โดย: MamLHC วันที่: 28 กันยายน 2552 เวลา:22:47:52 น.  

 
ตอนนี้ก็มีที่บ้านเราเอามาฉายอยู่นะ Atsuhime เป็นละครโบราณแต่ว่าไม่ใช่สมัยเฮอัน เหมือนใน Yoshitsune นะช่วงเฮอันเป็นอะไรที่ชุดสวยอลังที่สุดแล้วหล่ะ เอาแบบนินจา นิน นิน นินไหมเรื่องนี้เลย
Satomi Hakenden ทักกี้หล่อเลิศมากเคอะ สนุกดีด้วยแฟนตาซีหน่อยๆ

อ้อมีอีกเรื่องของพีจังสุดรัก Bakkotai เป็นเรื่องจริงที่สร้างอ้างอิงจากยุวชนทหารในเมืองไอสุ พีจังใส่ชุดซามูไร กร๊ากกก แถมซึ้งน้ำตาแตกเลยหนังดีมากเรื่องนี้

PS.ซอดองโย ช่วงนั้นเราก็คลั้งไคล้โจวฮุนแจไปหลายวัน เกริ๊กกกกก


โดย: MamLHC วันที่: 29 กันยายน 2552 เวลา:12:53:13 น.  

 
แค่สิบเปอร์เซ็นต์ แต่ก็ถือว่าเอาการ

แต่ด้วยปริมาณที่เกินธรรมเนียมปฎิบัติ

ที่ ๙ ถึง ๑๑ ตอน

งานนี้จึงขอบ๊าย....แต่ปรบมือกับความกล้า
รีวิว ซึ่งถือว่างานนี้ไม่ง่ายเลย


โดย: Mr.Chanpanakrit วันที่: 29 กันยายน 2552 เวลา:22:52:54 น.  

 
ทำไมจอหน้าคอมพ์ผมมันมืด ๆนะ แต่ท่าทางสร้างเป็นละครจะสนุกนะครับ ทำให้นึกถึงภาพยนตร์ซามูไรขาวดำในทศวรรษที่ห้าสิบถึงหกสิบที่ผมชอบ


โดย: Johann sebastian Bach วันที่: 1 ตุลาคม 2552 เวลา:14:39:26 น.  

 
คงเพราะเราเป็นแฟนทักกี้เลยรู้สึกว่าสิ่งเราอินมันทั้งเรื่องน่ะค่ะ ร้องไห้ด้วย แหม่...น้ำตาใสๆของคุณชายช่างบีบคั้น โปรดักชั่นอลังการหรือเปล่าเราไม่สนเท่าบทบาทที่ได้ใจ
(ตามมาด้วยหายนะนี่ดิฉันต้องตามไปดูเอนบุโจของนางถึงที่ด้วยนีสิ 555 ท่านคุโร...)


โดย: ปลา IP: 49.231.100.232 วันที่: 5 สิงหาคม 2556 เวลา:0:11:36 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

prysang
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 98 คน [?]




จำนวนผู้ชม คน : Users Online
New Comments
Friends' blogs
[Add prysang's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.