Group Blog
 
All blogs
 
14 Sai no HaHa - คุณแม่วัย 14 กับความจริงที่จะปกป้องทุกคน



 14 Sai no Haha


"คุณแม่วัย 14"



เจอใครเอ่ยถึงซีรีย์เรื่องนี้ที่ไหน ล้วนแต่เป็นการให้คำชื่นชม เสียแต่ไม่ได้มีให้เห็นมากนัก เพราะพล็อตเรื่องแนวไม่สุขแต่ทุกข์ถนัดแบบนี้คงไม่เป็นที่นิยมสักเท่าไร

"คุณแม่วัย 14" เลขท้ายสองตัวนี้ ดึงดูดความสนใจอย่างแรง เพราะในวัยอายุขนาดนี้ยังไม่พ้นคำว่าเด็ก ยังไม่ทำบัตรประชาชน ยังอยู่ในวัยมัธยมต้นอยู่เลย แต่ดันตั้งท้องและจะกลายเป็นคุณแม่ในวัยแค่นั้น จะเป็นไปแบบไหนกัน เพราะการให้กำเนิดชีวิตไม่ใช่เรื่องง่ายอยู่แล้วสำหรับคนทั่วไป และยิ่งไม่ง่ายสำหรับเด็กผู้หญิงอายุ 14 ปี

ดูแล้วเกิดอาการหมั่นไส้ความเป็น "ซีรีย์ญี่ปุ่น" ขึ้นมาจับจิต ยิ่งดูยิ่งไม่เข้าใจ ทั้งที่เป็น Asian เหมือนกัน แต่ทำไมถึงกล้าคิด กล้าหยิบจับเอาบางแง่มุมชีวิตในสังคมที่เป็นปัญหาออกมานำเสนอได้อย่างน่าชม เพราะการจะเป็นละครนั้นคงไม่สักแต่ทำกันอย่างเดียว ไม่ว่าจะตั้งใจทำให้สนุกหรือทำให้ดียังไง ย่อมต้องการให้เป็นละครที่ไม่เจ๊ง ทำแล้วต้องขายคนดูได้

เมื่อกล้าทำออกมาขาย ย่อมต้องเริ่มต้นมาจากพื้นฐานความคิดสำคัญคือการไม่ดูถูกคนดู (ดูถูกว่าเป็นเพียงชาวบ้านร้านตลาดที่ดูละครมีสาระไม่เป็น ไม่หวังอะไรที่แปลกแหวกแนวไปจากรูปแบบเดิมๆ แต่ต้องการแค่ความสนุกบันเทิงในการปะฉะดะของนางเอกกับนางอิจฉาแค่นั้น)

ดูแล้วให้นึกเหน็บแนม บ้านนี้เมืองนี้ เขาคิดจะใช้ละครเป็นเครื่องมือกอบกู้สังคมกันเลยหรือไง นั่นไม่มากไปหรอกรึ ขอบอกเลยว่ามันเกินหน้าเกินตากันไปหน่อย ขอย้ำอีกทีว่ามันน่าหมั่นไส้ และเกิดความอิจฉาลงตับ ที่วงการทีวีของประเทศนี้ เขามีละครดีๆ ไว้คอยปลูกจิตสำนึกและกล่อมเกลาคนในสังคม

อาจวัดเป็นรูปธรรมไม่ได้ แต่ในแง่ของนามธรรมที่มองไม่เห็นย่อมมีผลแน่นอนไม่มากก็น้อย ยิ่งถ้าวัดจากตัวเราเอง หลายสิ่งหลายอย่างเราดูแล้วกระทบความรู้สึก ดูแล้วสำนึก ต่อให้เปลี่ยนแปลงไม่ได้ในทันทีทันใด แต่ดูแล้วก็อยากยึดถือเป็นแบบอย่าง



"คุณแม่วัย 14" ที่จริงแล้วยังคงมีกลิ่นไอของความเป็นนิยายอยู่มาก เหมือนกับมีใครสักคนเล่าเรื่องบางอย่างให้ฟัง พอฟังแล้วเราบอกออกไปว่า "เฮ้ ...พูดเป็นนิยายไปได้" ความหมายแบบนั้นแหละค่ะ

ความไร้เดียงสาของเด็กหญิงชายสองคน กับความรู้สึกชอบพอเพียงเพราะพบกันไม่กี่ครั้ง นำไปสู่ความสัมพันธ์พลั้งใจ เพียงครั้งเดียวอารมณ์ของเด็กน้อยสองคนเตลิด เกิดเป็นปัญหาครั้งใหญ่

ครั้งเดียวกับการตั้งท้อง คุณว่ามันเป็นความฟลุ้คแบบนิยายๆ ไหมละคะ ขนาดคนเป็นสามีภรรยาเขายังไม่ท้องกันง่ายขนาดนั้น และถ้าให้ไล่เรียงละครที่นางเอกท้อง ก็ครั้งเดียวติดด้วยกันทั้งนั้น อย่าง Wonderful Life หรือ only you ของเกาหลี หรือ อุ้มรัก ที่ส่งแอนกับเคนเป็นคู่ขวัญและโด่งดังมาจนถึงทุกวันนี้ก็เพราะ "ครั้งเดียว" ด้วยเช่นกัน หากต้องไล่กันจริงๆ ตั้งแต่อดีตถึงปัจุบัน อาจจะยังมีสถานการณ์ท้องแบบนี้ในเรื่องอื่นๆ อีก

ทำผู้หญิงท้องแล้วต้องรับผิดชอบ นั่นคือแบบฉบับของพระเอกในละครและนวนิยาย ส่วนในโลกของความเป็นจริงน่ะหรือ ก็อย่างที่เป็นกระแสสังคมโหมกระหน่ำอยู่ในช่วง 2-3 สัปดาห์ผ่านมานี้ ไม่รับไม่ว่าหากยังกังขาและต้องการข้อพิสูจน์ "ความจริงจะปกป้องทุกคน" ช่างเป็นคำพูดสวยหรูและดูดี แต่ทันทีที่เอ่ยคำ "ผู้ชาย 4 คน" ในฐานะลูกผู้หญิงคนหนึ่ง มันเจ็บจี๊ดที่ใจจริงๆ และที่เจ็บยิ่งกว่านั้น คือการได้ยินบทสนทนาจากขาเมาท์เหล่าหญิงๆ ที่เหยียดหยามผู้หญิงด้วยกันเอง ไม่รู้จะอธิบายความรู้สึกหรือโต้แย้งให้คนอื่นเข้าใจได้ยังไงว่ามันไม่ใช่ประเด็น "สังคมนี้ผู้หญิงผิดไม่ได้" แต่มันเป็นประเด็นที่สังคมนี้ผู้คนไม่ให้เกียรติกัน ไม่ว่าจะหญิงหรือชายจำเป็นต้องเหยียบย่ำกันถึงขนาดนั้นเลยหรือ บทความของนามปากกา "เปลวสีเงิน" ที่มี FW mail มาให้อ่าน นั่นคือสิ่งที่ลูกผู้หญิงคนนี้อยากให้เข้าใจความรู้สึกว่าทำไมคำพูด "ผู้ชาย 4 คน" จึงไม่ควรหลุดออกมาสู่สาธารณชน

เป็นข่าวที่มีผลกับอารมณ์ได้ พอๆ กับข่าวของอดีตนายกคนที่คุณก็รู้ว่าใคร ไม่ได้คิดจะปกป้องเธอคนนั้น เพราะเรื่องจริงของพวกเขาเราไม่รู้ แต่มันน่าโมโหกับสิ่งที่ผู้หญิงถูกเหยียบซ้ำจมดินต่อมาจากนั้นต่างหาก



เปลวสีเงินเขียนถึง "กฏลูกผู้ชายที่หายไป" และประโยค "มันเป็นเรื่องถือสาของยุทธจักรชายเสเพล" มันกินใจชนิดอ่านผ่านตาครั้งเดียวก็จำประโยคนี้ได้แม่นยำ เพราะในยุคสมัยที่ตัวเองผ่านวัยเยาว์ วัยแรกรุ่น จนเป็นหนุ่มสาว(และกำลังจะขึ้นคาน)มานั้น มันเป็นเรื่องถือสาจริงๆ ผู้ชายที่เอาผู้หญิงมาพูดถึงในเรื่องแบบนั้นมันน่ารังเกียจ

"ถ้ามันไม่ดี แล้วไปคบกับมันทำไม"
ครั้งหนึ่ง ตัวเองก็เคยพูดประโยคนี้กับเพื่อนชายที่เอาแฟนของตัวเองมาพูด
นั่นแฟนนะ พฤติกรรมแบบนั้นผู้ชายสมควรทำแล้วหรือ มันรับไม่ได้จริงๆ

แค่คิดน้ำโหก็กระเซ็น เพราะฉะนั้นข่าวนี้เป็นอีกหนึ่งข่าวที่ควรปิดปากอย่าได้วิพากษ์วิจารณ์กับใคร เดี๋ยวจะถูกกล่าวหาว่าทำตัวเป็นนายกสมาคมพิทักษ์สิทธิสตรี หลายเช้าผ่านมา จึงเป็นเช้าที่ต้องเริ่มทำงานด้วยการใส่หูฟัง เพื่อกลบกระแสน้ำคำ ผู้หญิงสำส่อน ตั้งใจให้ท้อง เพื่อไล่จับผู้ชาย แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่า ดีเจคลื่นวิทยุก็ไม่ละเลยข่าวทอล์คออฟเดอะทาวน์นี้ด้วยเช่นกัน กรอดดดดด หนีไปไหนก็ไม่ยักพ้น



กลับมาเข้าเรื่อง ท้องแล้วต้องรับ พระเอกเรื่องนี้ก็เป็นพระเอกที่รู้ผิดชอบชั่วดี แต่ความที่เขาเองก็เป็นเพียงเด็กอายุ 15 ปี คำว่า "รับผิดชอบ" จึงเป็นเรื่องใหญ่เกินกว่าจะพูดออกมาได้เต็มปาก แม้รู้สึกอยู่เต็มหัวใจว่านั่นเป็นสิ่งที่เขาควรรับผิดชอบ แต่จะรับผิดชอบอย่างไร นั่นคือปัญหา

ทั้งเด็กผู้หญิงที่ตั้งท้อง และเด็กผู้ชายที่เป็นพ่อ เขาและเธอต่างตกจมอยู่ในปัญหาที่ไร้ทางออก
ไม่ว่าทางใดก็ดูจะตีบตันและยากจะฝ่าฟันออกไปได้พ้น

ที่ยากยิ่งกว่านั้น คือพวกเขาไม่ได้มองหาแค่ทางออก แค่ให้พ้นจากปัญหาและจบไป
แต่ต้องการหนทางที่ถูกต้อง ที่จะมีชีวิตก้าวต่อไปข้างหน้าโดยไม่นึกเสียใจภายหลัง

ทำแท้ง แล้วเริ่มต้นชีวิตใหม่ หรืออุ้มท้องต่อไปแล้วให้กำเนิดลูก

ทางเลือกก็มีอยู่แค่นั้น แต่มันล้วนยากเย็นที่จะเลือกให้ได้สักทาง

ในฐานะคนดู ที่มองจากมุมความคิดส่วนตัว การท้องแล้วยินดีให้กำเนิดและเลี้ยงดูโดยไม่หวั่นชีวิตจะต้องยากลำบากหรือประสบพบเจอกับอะไร ย่อมเป็นสิ่งน่าชื่นชม แต่ก็ไม่เคยคิดว่าการทำแท้งเป็นเรื่องของคนใจบาปหยาบช้า ฆ่าได้แม้แต่เลือดในอกของตัวเอง เขาก็คงมีเหตุผลหลายๆ อย่าง มีคนหลายๆ คน ที่ต้องนึกถึง มีอนาคตให้ต้องคำนึง หากคลอดแล้วเลี้ยงไม่ได้เอาไปทิ้งตามถังขยะหรือพงหญ้าหรือแม้กระทั่งปล่อยให้เด็กโตขึ้นมาเป็นเด็กมีปัญหาและสร้างปัญหาที่มากกว่าให้กับสังคม นั่นไม่ยิ่งบาปหนักไปกันใหญ่หรอกหรือ

ทั้งที่การทำแท้งเป็นเรื่องทำได้แบบถูกกฏหมาย เป็นสิ่งที่พ่อแม่ต้องการ และเป็นสิ่งที่คนทั้งสังคมเห็นว่าควรกระทำ แต่เธอก็ยังต้องการจะคลอดเด็ก แม้จะหวาดกลัว แม้ต้องเสี่ยงกับอันตรายเพราะอายุ 14 เป็นวัยที่สภาพร่างกายยังไม่พร้อมเต็มที่สำหรับการตั้งครรภ์และคลอดทารก แต่เธอก็ตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะเป็นคุณแม่ในวัยแค่นี้



ทำไม่ได้หรอก อายุแค่นี้เป็นแม่คนไม่ได้ ในญี่ปุ่นมีการศึกษาภาคบังคับในระดับมัธยมต้น ถ้าไม่จบภาคบังคับก็เป็นไปได้ยากที่จะหางานทำ เป็นไปไม่ได้ที่เด็กอายุ 14 จะแต่งงานมีครอบครัว เพราะกฏหมายจะอนุญาตก็ต่อเมื่ออายุครบ 16 ปี เมื่อวัย 14 ตั้งท้อง ยิ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะมีอาชีพเลี้ยงตัวและเลี้ยงลูก การทำแท้งจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด

ทำแท้งแล้วลืมเรื่องนี้ซะ ทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นแล้วมีชีวิตต่อไป
แต่จะลืมได้แน่หรือ ? นั่นเป็นคำถามที่ไม่มีใครกล้าตอบ

แล้วถ้าไม่ทำแท้ง จะทำอย่างไรกับการที่ต้องออกจากโรงเรียน ถ้าหลังคลอดแล้วไม่มีโรงเรียนไหนต้องการจะรับ "คุณแม่" เข้าไปเป็นนักเรียนให้เสื่อมเสียเกียรติสถาบัน นั่นหมายถึงเธอจะไม่จบการศึกษาภาคบังคับ แล้วต่อจากนั้นชีวิตจะเดินต่อไปทางไหน

"แม่แค่อยากให้ลูกมีชีวิตธรรมดา ขอแค่ชีวิตธรรมดาที่มีอนาคต
แต่แม่ไม่เคยคิดเลยว่า ชีวิตของลูก จะเดินไปสู่หนทางอันเลวร้าย"


นั่นคือหัวใจของ "แม่" อีกคน แม่ที่จะทำให้ปัญหาคลี่คลายและพบทางออก แม่ที่จะผสานหัวใจของครอบครัว ให้ครอบครัวเป็นที่พึ่งนำพากันและกันฟันฝ่ามรสุมครั้งนี้ไปให้ได้ โชคดีที่คุณแม่วัย 14 มีแม่ที่พร้อมจะอยู่เคียงข้าง เป็นความอบอุ่น เป็นกำลังใจ และพร้อมจะต่อสู้อุปสรรคไปด้วยกัน


"ตอนนั้น ฉันกลัว
รู้สึกเหมือนร่างกายไม่ใช่ของฉันอีกต่อไปแล้ว
บอกอะไรใครไม่ได้
เป็นครั้งแรกที่ฉันรู้สึกตัวคนเดียว
แม่คะ ช่วยหนูด้วย
ช่วยหนูด้วยค่ะแม่"


"การตั้งท้อง อายุ 14 หนูต้องบอกลาใครหลายคน
และอะไรหลายอย่าง แต่แม่คะ แม่อย่าทิ้งหนูไปนะคะ"




ดูละครแล้วย้อนมาดูความเป็นจริง ซึ่งมันก็จริงอย่างน่าเชื่อ เพียงแค่ท้องก็ผิดแล้ว แถมพระเอกเรื่องนี้ก็ดันเป็นลูกคุณหนูฐานะดี แม่มีบารมีเงินทองและมีหน้าตาในสังคมซะด้วยสิ
(ในข่าวก็กลายเป็นที่วิจารณ์ว่าผู้หญิงอยากดัง อยากจับดาราดังมาเป็นสาละมีล่ะสิ)

สังคมตัดสินไปแล้วว่าเด็กอายุ 14 ตั้งท้อง จะต้องเป็นเด็กเหลวแหลกยังไง
(ผู้ชายตั้ง 4 คน ลูกใครก็ไม่รู้ แต่ตูรอดแล้ว)

สังคมหาทางออกให้แล้วว่าควรทำยังไง ทำแท้งสินะ
(ตรวจ DNA สิยะ ความจริงจะปกป้องทุกคนได้)

เพื่อปกป้องผลประโยชน์ ไม่ว่าจะต้องฟาดฟันใครให้ล้มตายไปกี่คนก็ช่างหัว ขอให้ตัวเองรอดเท่านั้น นั่นคือพฤติกรรมของแม่พระเอกที่รักลูกชายหัวแก้วหัวแหวน หวังให้มีชีวิตที่ดีมีอนาคตสดใส จึงเหยียบขยี้ลงไปในหัวใจของเด็กผู้หญิงอายุ 14 เหมือนกันกับที่ผู้ใหญ่ต้นสังกัดออกมาปกป้องศิลปินลูกรักด้วยการเหยียบย่ำผู้หญิงอีกคน ธรรมชาติของมนุษย์ที่เห็นแก่ตัวนั้น เพื่อที่ให้ตัวเองได้อยู่สูง เมื่อทะยานขึ้นไปเองไม่ได้ ก็เลือกที่จะเหยียบหัวคนอื่นให้ต่ำจมลงไป

"ในสังคมนี้น่ะ คนที่ทำตัวต่างจากคนอื่น
จะพบกับความเลือดเย็นอย่างไม่น่าเชื่อ
ตลอดทางจะมีแต่ความเจ็บปวดและความยากลำบาก"


นี่คือคำพูดที่แม่ของพระเอกได้เอ่ยปากฝากไว้ และ "ผู้ชาย 4 คน" ก็เป็นตัวอย่างของความเลือดเย็นที่มีให้เห็นเป็นตัวอย่าง ถึงตัวเลขอายุของผู้หญิงจะไม่ใกล้กัน แต่โดยเนื้อหาของละครและเรื่องราวในข่าวช่วงนี้มันทำไมน้ำเน่าได้คล้ายคลึงกันมากเลย



มีความต่างอยู่บ้างที่คู่กรณีผู้ก่อให้เกิดปัญหาในเรื่องนี้ พวกเขารู้อยู่แก่ใจดีและปากก็ตรงกับความจริง "เขาเป็นคนทำให้หนูท้อง" และ "เด็กในท้อง-เป็นลูกของผม" ในละครจึงไม่มีใครพูดถึง DNA

กับสื่อผู้หากินกับการขายข่าว เพียงแค่จะหาอะไรที่ขายได้จากนักธุรกิจหญิงที่ประสบความสำเร็จคนหนึ่ง ( แม่พระเอก) เขาไม่สนทั้งนั้นว่ามันจะส่งอานุภาพทำลายล้างไปถึงใครบ้าง ไม่สนเด็กหรือผู้ใหญ่ แค่เห็นปลายติ่งไส้ก็ไปจินตนาการต่อเอาเองถึงไส้ทั้งขด เขียนและขายมันออกไป

ลูกชายประธานฯหญิง ของบริษัทใหญ่แห่งหนึ่ง อายุ 15 ก็เป็นพ่อคนได้
ส่วนแม่นั้นเป็นเด็กอายุ 14 ที่ทำอะไรตามใจตัวเอง

สรุปเนื้อหาใจความแล้วไม่ทันไรเขาก็รู้กันทั้งประเทศว่าเป็นใคร
ไม่ต่างอะไรกับการใส่อักษรย่อ ฟ ฟัน และ อ อ่าง

แม้แต่กับคนเคยชอบพอก็ไม่ละไม่เว้น ตัวบรรณาธิการสื่อฉบับนั้น ตอนแรกก็ดูจะชอบพอฉันท์มิตรกันดีกับแม่ของนางเอกในฐานะลูกค้าขาประจำกับหัวหน้าพนักงานเสิร์ฟ แต่ถึงกระนั้นเพื่อผลประโยชน์คนเราก็ไสหัวมิตรทิ้งไปได้ ไม่ต่างกันนักกับอีกหนึ่งกระทาชายที่ถูกรังแกจากผู้ใหญ่ที่เคยเป็นมิตรและให้การนับถือ ลองสมมุติว่าเขาเป็นลูกรักอันดับหนึ่งยอดนิยมของช่องสถานีบ้างสิ ผู้ใหญ่คงไม่คิดโยนปัญหาขึ้นมาโปะหน้าให้แบบนั้น




บรรณาธิการเขามีปลายปากกาอยู่ในมือ ครอบครัวของเด็กทั้งสองจะทำอย่างไรได้ จะเอาอะไรไปสู้กับสื่อ จากปัญหาของคนสองคน คนสองครอบครัว กลายเป็นเรื่องของคนทั้งสังคมที่จะพากันคิดไปต่างๆ นานา วิพากษ์วิจารณ์และ "ตัดสิน" หันไปทางไหนก็ถูกสังคมตราหน้า

"เลี้ยงลูกยังไงให้ท้องได้ตั้งแต่อายุ 14"

"เป็นผู้ชายนี่ดีนะ ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร
ผลักภาระให้ผู้หญิงไปทุกอย่างก็จบ"


พระเอกในเรื่องเขาอายุ 15 ปี ยังเด็ก ยังเรียนหนังสือ ยังไม่จบม.ต้น ที่จะเริ่มออกหางานทำได้ และยังไม่เคยคิดถึงการเป็นพ่อคนด้วยอายุเพียงแค่นั้น แม้หัวใจร่ำร้องต้องการรับผิดชอบ แต่เขาไม่รู้จะทำได้อย่างไร เป็นผู้ชายแต่ทำอะไรไม่ได้เลยสักอย่าง ในขณะที่ผู้หญิงต้องอุ้มท้องและตกเป็นเป้าของทุกสายตาที่เดินผ่านซึ่งพร้อมจะตัดสินและคิดประนาม (ก็ท้องมันติดอยู่กับตัวของผู้หญิงนี่นะ ) นั่นก็เจ็บหัวใจพออยู่แล้ว ยังต้องมาเจอกระแสซ้ำเติมจากสังคมต้องถูกตราหน้าว่าเป็น(ไอ้)คนไม่รับผิดชอบ!

แต่พระเอกเรื่องนี้ เขาไม่ได้หลบอยู่หลังชายกระโปรงแม่หรือซุกอยู่ใต้ชายเสื้อของใคร ไม่ได้ไหลไปตามเกมที่ผู้ใหญ่กำหนด เขามีทางออกที่ดีที่ มีอนาคตสดใสรออยู่ แต่กลับต่อต้านและขัดขืนแค่เพียงเพราะเขารู้สึกได้ว่านั่นเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง มันไม่ถูกที่เขาจะเป็นอิสระจากปัญหาทั้งปวงแล้วปล่อยให้ผู้หญิงต้องตากหน้ารับผลของการกระทำนั้นไปเพียงผู้เดียว ถึงพระเอกหนุ่มน้อยจะไม่รู้ว่าควรรับผิดชอบอย่างไร แต่อย่างน้อยการปฏิเสธ "ความไม่รับผิดชอบ" ก็ถือเป็นความรับผิดชอบได้อย่างหนึ่ง อย่างน้อยเขาก็ยอมรับนะว่ามีความสัมพันธ์กับเธอ ค่อยใจชื้นขึ้นหน่อยว่าสปีชีย์ของการเป็นผู้ชายยังไม่ถึงกับสูญพันธ์ ( เอ๊ะยังไง... ตกลงจะเขียนถึงข่าว หรือละคร )



เป็นซีรีย์ที่ให้แง่คิดดีๆ ชี้ให้เห็นปัญหา และแนวทางในการเลือกหาทางออก
ละครบอกไม่ได้หรอกนะ หากปัญหาเกิดขึ้นกับใคร ควรทำแท้ง หรือปล่อยให้คลอดลูกออกมา
แต่ละครบอกได้ว่าการตัดสินใจนั้น ขึ้นอยู่กับสิ่งสำคัญในชีวิตของแต่ละคนคืออะไร และชีวิตต่อไปจากนั้นจะเกิดอะไรขึ้นเป็นสิ่งที่เจ้าตัวยอมรับได้หรือเปล่า

เหมือนที่นางเอกเชื่อ เธอควรต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้น เชื่อว่าการทำแท้งซึ่งทำลายชีวิตหนึ่งให้สิ้นไป เป็นสิ่งที่เธอไม่มีวันลืมได้ ไม่ว่าวันเวลาในอนาคตจะผ่านไปนานแค่ไหน

เหมือนที่ครอบครัวนางเอกเชื่อ การบังคับให้ลูกทำแท้งโดยไม่เต็มใจ จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมบาดแผล
และหลังจากนั้นลูกจะไม่มีวันมีความสุขได้อีก

"ไม่ใช่ไม่รู้ แต่คุณอาจไม่อยากรู้ต่างหาก
เพียงแต่คุณไม่อยากรับรู้มัน คุณอาจอยากให้เขาเป็นลูกแสนดีตลอดไป"


ใช่แล้ว ความคาดหวังในตัวลูก ก่อให้เกิดความผิดหวัง และความผิดหวัง ถ้าไม่ระวังก็อาจทำให้พ่อแม่มองไม่เห็นทางออก

แม่ แม้ฝ่ามือจะตบหน้า พ่อ แม้จะโกรธเกรี้ยวอาละวาดและร่ำไห้
แต่สุดท้าย สำหรับคนเป็นพ่อแม่ อะไรจะสำคัญไปกว่าเลือดเนื้อเชื้อไขของตัวเอง
ไม่มีอะไรอีกแล้วที่สำคัญไปกว่าความสุขในชีวิตของลูก

และเพราะเป็นแบบนั้น พ่อแม่จึงไม่มีหน้าที่อื่นใดจะสำคัญมากไปกว่าการปกป้องลูก

ละครเรื่องนี้ จะช่วยให้เด็กวัยรุ่นอีกมาก ตื่นตัวในการป้องกันตัวเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของความพลั้งเผลอ และผิดพลาด

ละครเรื่องนี้ จะช่วยให้พ่อแม่ และญาติพี่น้องของเด็กที่เผชิญปัญหาเหล่านี้ ได้เห็นเป็นแบบอย่าง ให้รับมือกับปัญหาอย่างมีสติ มองพวกเขาอย่างเข้าใจ ระมัดระวังที่จะไม่ต้อนเด็กให้จนมุม และผลักดันพวกเขาให้ตกไปสู่ปัญหาที่ร้ายแรงกว่า

"โรงเรียนมีหน้าที่สอนวิชาการ ส่วนเรื่องการใช้ชีวิตเป็นเรื่องต้องสอนกันที่บ้าน"

ครูกับโรงเรียนมีหน้าที่แค่นั้นจริงหรือ ปัญหาของเด็กธุระไม่ใช่ ไม่ต้องเอาใจใส่หรอกหรือ พวกเขาจะใช้ชีวิตในอนาคตอย่างไร ถ้าปัญหาเกิดขึ้นแล้วครูไม่เข้าใจไม่คิดหาทางช่วยแก้ไข และโรงเรียนยังซ้ำเติมเด็กด้วยการตัดรอนและปิดกั้นโอกาส เด็กจะถูกผลักออกไปกลายเป็นปัญหาของสังคมอย่างถาวร เพราะพวกเขาไม่สามารถเริ่มต้นใหม่ได้

อีกหนึ่งคนที่เกี่ยวข้อง คือคนเป็นหมอ ที่จะดูแลคนไข้อย่างเมตตา และไม่ตัดสินเด็กเพียงแค่เห็นเธอตั้งท้องตอนอายุ 14

"คุณหมอคะ ให้เขาเกิดมาไม่ได้หรือ อายุ 14 แล้วมีลูกเป็นบาปไหมคะ"

"ไม่ การให้กำเนิดทารก ไม่ว่าอายุเท่าไรก็ไม่เป็นบาปหรอก แต่ให้กำเนิดมาแล้ว เกิดเลี้ยงเขาไม่ได้ แบบนั้นไม่บาปเหรอ?"


พูดความจริง ให้คำแนะนำอย่างตรงไปตรงมา ปราศจากอคติ และเคารพในการตัดสินใจของคนไข้ นั่นคือ หมอที่ดี

เมื่อเด็กหญิงตั้งท้อง ถึงไม่อยากละทิ้งทุกสิ่ง โลกทั้งใบก็เหมือนหันหลังจากไปอยู่แล้ว "แต่แม่คะ แม่อย่าทิ้งหนูไป" คำขอร้องที่เปรียบดังคำภาวนาในหัวใจของเด็กหญิงอายุ 14 สะท้อนความหวาดกลัวและความร้าวร้านของตัวละครได้ดีจริงๆ



ต่อให้เป็นเรื่องราวที่แต่งขึ้น ไม่ได้อ้างอิงมาจากชีวิตจริงของใคร
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องราวเหล่านี้มีอยู่ไม่น้อยในชีวิตของคนจริงๆ

ตัวอย่างก็ไม่ไกลตัวเลย เพราะตัวเองนั้น ต้องรับสถานะ "ป้า" ตั้งแต่อายุยังน้อย เหตุที่น้องชายลูกพี่ลูกน้อง ทำผู้หญิงท้องและกลายเป็นพ่อคนตั้งแต่ตอนอายุ 15 ส่วนน้องสะใภ้นั้นถ้าจำไม่ผิดตอนนั้นคงจะอายุ 16 ยังดีที่แม่ของน้องชายยอมแบกหน้าไปโรงเรียนและขอร้องคุณครูเรื่องทำเรื่องเรียนจบในช่วงปลายปีการศึกษาที่ตุ๊ปัดตุ๊เป๋ไป อย่างน้อย เขาก็มีใบประกาศนียบัตร ม.3 ผ่านการศึกษาขั้นต้น ยังพอผ่านกฏเกณฑ์ขั้นต่ำที่นายจ้างบางรายประกาศรับคนเข้าทำงานได้

ไม่รู้หรอกว่าเขาเต็มใจจริงๆ หรือสภาพสังคมต่างจังหวัดที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงหรือหนีไปไหนได้ เขาจึงกลายเป็นสามี เป็นพ่อคน ต้องทำงานหาเลี้ยงตัวเองและอีกสองชีวิตในฐานะ "หัวหน้าครอบครัว" และทำหน้าที่นั้นมาตลอดถึงวันนี้เขาเติบโตกลายเป็นหนุ่มเต็มตัว มองเห็นเขาทำงานหนัก งานใช้แรงงานตามประสาคนความรู้น้อย บางครั้งก็อดสะท้อนใจไม่ได้ เสียดายชีวิตในวัยเยาว์ วัยหนุ่มสาวที่ควรจะได้โบยบินสู่โลกกว้าง สนุกสนานกับการใช้ชีวิตอย่างอิสระเสรี แต่นี่ เขากลับต้องเป็นพ่อคน เป็นผู้ใหญ่ที่ต้องรับผิดชอบอะไรมากมาย ใครดูก็รู้ได้ น้องชายของฉันเขาแก่เกินตัว

แต่ก็ภูมิใจในตัวเขานะ เป็นแค่เด็กชายเกเรคนหนึ่ง แต่เขาก็แกร่งพอจะรับผิดชอบและกลายเป็นพ่อคนได้ เพราะหากให้นับจากหัวบ้านยันท้ายบ้าน จะพบว่ามีเด็กกำพร้าอยู่เป็นจำนวนมากอย่างน่าตกใจ อาศัยอยู่กับตายาย อยู่กับแม่ ขาดพ่อขาดครอบครัวที่อบอุ่น สาเหตุเพราะแม่ตั้งท้องในวัยรุ่นวัยเรียน เพราะความพลั้งเผลอและผิดพลาด ในสังคมต่างจังหวัดง่ายที่จะจับเด็กมารับผิดชอบกัน แต่หลังจากนั้นต่างฝ่ายก็ยินดีจะเลิกรากันไป เพราะที่มีเด็กเกิดขึ้นมาเป็นเพียงอารมณ์ชอบพอชั่ววูบของเด็กหนุ่มสาว เมื่อเขาเริ่มโตขึ้นและอยู่กับปัญหาที่ต้องรับผิดชอบจริงๆ ความรู้สึกที่เคยมีก็จืดจางร้างไป เด็กจึงมักจะถูกทิ้งไว้กับฝ่ายหญิงผู้ให้กำเนิด แต่เมื่อน้องชายเขาไม่ได้ทำแบบนั้น ฉันจึงรู้สึกนับถือในน้ำใจลูกผู้ชายของเขาจริงๆ

ปัจจุบันเขามีลูกคนที่สองที่กำลังจะพูดได้ อีกไม่นานจะเปิดปากเรียก "ป้า"
แต่นี่มันชักจะข้ามหน้าข้ามตาเกินไปแล้ว เพราะพี่สาวของแกยังหาคนมาแต่งงานด้วยไม่ได้เลยนะ



ในละแวกเดียวกัน ยังมีอีกตัวอย่างหนึ่งน่าสนใจ เด็กผู้ชายมัธยมปลาย ทำเด็กผู้หญิงท้อง เด็กผู้หญิงอ่อนกว่าสักปีสองปีและเป็นคนในหมู่บ้านเดียวกันนี่เอง จะหนีกันไปไหนพ้น ทั้งที่ส่วนใหญ่ท้องแล้วผู้ใหญ่ก็จัดการให้เด็กรับผิดชอบกันทั้งนั้น แต่บ้านนี้เขาไม่รับ ไม่รู้เด็กผู้ชายคิดยังไง แต่พวกผู้ใหญ่เขาไม่รับแน่นอน เสนอเงินให้เรื่องจบไป (เหมือนกับคุณแม่พระเอกในละคร เด๊ะ!) เหตุผลที่ไม่รับจะอ้างอะไรได้ นอกจากเที่ยวโพนทะนาด่าประนามว่าเด็กผู้หญิงเป็นอิสาวใจง่ายที่เหลวแหลก ถ้าง่ายกับหลานตัวเองได้ก็ง่ายกับคนอื่นได้ด้วยเหมือนกัน นี่คือความเจ็บช้ำที่ผู้หญิงต้องแบกรับ (พฤติกรรมนี้ก็เหมือนกับท่านต้นสังกัด เป๊ะ!) พวกเขาส่งเด็กชายมาอยู่กับญาติที่กรุงเทพ เพื่อให้พ้นจากปัญหาเรื่องนี้ไป รอให้เรื่องเงียบไปสักพัก จากนั้นค่อยชุบตัวติดปีกให้ฝ่ายชายเริงร่ากับชีวิตต่อไปเหมือนไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น

ฝ่ายเด็กหญิงก็ใจเด็ดใช่เล่น ไม่รับเงิน ไม่ทำแท้ง แต่ตากหน้าอุ้มท้องคลอดลูกออกมา ให้รู้กันไปว่าชาวบ้านจะนินทาได้สักเท่าไร โชคดีอีกเช่นกันที่พ่อแม่ยังคงเป็นพ่อแม่ที่ไม่กระทำซ้ำเติมหรือทอดทิ้งลูก ต่อให้ผิดหวังเสียใจแค่ไหน สองมือยังช่วยประคับประคอง ไม่ได้มีการตรวจ DNA หรอกสำหรับรายนี้ แต่หลักฐานมันชี้ชัดอยู่ที่ เมื่อเด็กโตขึ้นออกวิ่งเล่นไปมาอยู่ในหมู่บ้าน เขาก็พากันรู้ไปทั่วทั้งบางว่าลูกใครหว่า เพราะเหมือนจับเอาพ่อมาโขกพิมพ์ย่อส่วนไม่มีผิด คนไม่รับ ก็ไม่รับไป แต่วัยสังขารที่ร่วงโรยลงทุกวันของคนเป็นทวด เป็นปู่ย่า ซึ่งร่วมกันปฏิเสธและกีดกัน ถ้าเห็นหน้าเด็กชายเดินผ่านไปมาตามถนนหน้าบ้าน จะรู้สึกอย่างไร โดยเฉพาะคนที่ร่วมก่อกำเนิด พ่อที่รู้อยู่แก่ใจ วันหนึ่งที่เขาเป็นผู้ใหญ่ขึ้น เมื่อได้ย้อนคิดถึงวันวานพร้อมกับการได้เห็นหน้าลูก เขาจะนึกเสียใจหรือเปล่านะ (เรื่องของชาวบ้าน ไม่ได้ชอบนะ แต่อยากรู้) แต่ที่แน่ๆ คือ ครอบครัวนี้ไม่มีหน้าจะเอ่ยปากออกไปได้อีกว่าเป็นทวด เป็นปู่ย่า อ้างไม่ได้แม้หลักฐานจะชัดเจนบนใบหน้าว่าใครเป็นพ่อของเด็ก แต่เรื่องไม่ได้จบแบบละครเรื่องนี้หรอกนะ เนื่องจากปัจจุบันผู้หญิงโตเป็นสาวแต่งงานแล้วกับผู้ชายที่ยินดีจะร่วมชีวิตกับคุณแม่ลูกติดและมีชีวิตครอบครัวเป็นปกติดี

ขอยินดีกับความสุขความพอใจในหนทางที่แต่ละคนเลือกเดิน

แต่เขียนถึงเด็กๆ แถวบ้านพวกนี้ ทำไมรู้สึกว่า ป้าคนนี้แก่หงำเลยล่ะ 5555

สรุปแล้ว ทุกปัญหาชีวิตมีทางออก มีหนทางให้เริ่มต้นใหม่และก้าวต่อไป ขอเพียงไม่สิ้นหวังกับปัญหา เชื่อมั่นในตนเอง และศรัทธาในสิ่งที่ถูกต้อง สำนึกดี มีความรับผิดชอบ คนเราทำผิดพลาดกันได้ แต่เมื่อเผลอทำผิดไปให้ยืดอกยอมรับไว้อย่างสง่าผ่าเผย อดีตย้อนคืนมาไม่ได้ แต่ปัจจุบันจะทำให้ดีขึ้นได้อย่างไร และเรียนรู้ที่จะไม่ทำผิดพลาดซ้ำอีกในอนาคต สายตาคนอื่นเป็นสิ่งควรแคร์ แต่อย่าให้มันมากำหนดทางเดินของชีวิต นี่คือ "ความจริงจะปกป้องทุกคน" ขอยืมคำพูดนี้มาใช้หน่อยนะ เพราะมันเท่น่ะค่ะ แต่หมายถึงเฉพาะคำพูดนะ คนพูดไม่นับ

ในละครเรื่องนี้เราจะเห็นว่าเด็ก ได้พยายามที่จะหาทางออก
พวกเขาได้พยายามครุ่นคิดและไตร่ตรองถึงวิธีที่จะแก้ปัญหา
เขามีหัวคิด และต้องการตัดสินใจด้วยตัวเอง

ติดอยู่ตรงที่ผู้ใหญ่จะยอมรับฟัง ช่วยชี้แนะและประคับประคองพวกเขาไปในทางที่ถูกที่ควรได้หรือเปล่า ซึ่งแน่ล่ะ ปัญหามันเกิดขึ้นแล้ว ผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องย่อมได้รับผลกระทบและเจ็บตัวไปตามๆ กัน ดังนั้น การที่เรื่องจะจบลงหรือบานปลาย มันเกี่ยวเนื่องกันมาจากความเห็นแก่ตัวหรือความเสียสละของพวกผู้ใหญ่นี่แหละ ผู้ใหญ่จึงต้องคิดให้มากและไตร่ตรองให้หนักกับความคิดและการกระทำของตัวเอง อย่าเติมปัญหาลงไปให้เด็กๆ ต้องแบกรับเพิ่มขึ้นอีก (มันดูยากจังนะ กับการจะเป็นผู้ใหญ่ที่ดี เฮ้อ...)

ใครจะว่าอย่างไรก็ว่าไป ใครจะมองอย่างไรก็ช่าง
เมื่อมีพ่อแม่อยู่เคียงข้าง สำหรับคุณแม่วัย 14
ที่ต้องการแรงกำลังยืนหยัด มีแค่นี้เพียงพอแล้ว


Create Date : 02 ตุลาคม 2553
Last Update : 22 กุมภาพันธ์ 2558 8:47:24 น. 9 comments
Counter : 7648 Pageviews.

 
ชอบมากคะซีรีส์เรื่องนี้...
วิจารณ์ได้ดีนะคะเข้ากับข่าวฟ กับอ ในตอนนี้เลย...


โดย: saina IP: 117.47.215.8 วันที่: 2 ตุลาคม 2553 เวลา:14:35:52 น.  

 
ป้าพรายใช้ซีรีย์กระทบชิงสังคมอย่างแยบคายดีนะขอรับ

อ่านบทความแล้ว มีความเป็นซีรีย์สัก 30 สิบเปอร์เซ็นต์
ส่วนที่เหลือให้กับสิ่งที่เป็นข่าว 35 อีก 35
เป็นคนแถวบ้านในละแวก


น้องหนูมิราอิ นี้ นับวันเล่นได้เจ้าฝีมือมากขึ้นเรื่อยๆนะครับ

แต่ละบทนี้วัดกึ๋นฝีมือกันเลยทีเดียว

หนูคนนี้ที่ทำให้ป้ามิกิจาก Jin ต้องคว้าแห้วไปทานพลางๆ

แต่คิดว่าคงไม่หามาดู เพราะดูตามสื่อบันเทิงที่เขาเล่น

สนุกโหดร้าย ตามสไตล์ไทยแลนด์ละครหลังข่าวเด๊ๆเลย


โดย: Mr.Chanpanakrit วันที่: 3 ตุลาคม 2553 เวลา:19:38:10 น.  

 
การตั้งครรภ์ที่ไม่อยู่ในวัยอันควรเป็นเรื่องน่าเศร้านัก
ทั้งในแง่ความไม่เหมาะสมของสภาพร่างกายผู้เป็นแม่
ความรับผิดชอบ และความยั่งยืนของการใช้ชีวิตคู่ในวัยที่ยังไม่พร้อม
ในชีวิตจริงช่างมาพร้อมกับปัญหาที่มากมายนัก
และคำพูดนี้จริงแท้แน่นอนสำหรับผู้เป็นแม่อายุน้อย
"ตลอดทางจะมีแต่ความเจ็บปวดและความยากลำบาก"
"เป็นผู้ชายนี่ดีนะ ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร
ผลักภาระให้ผู้หญิงไป ทุกอย่างก็จบ"
จะบอกว่าที่เคยพบเจอเป็นอย่างนั้นจริงๆค่ะ
ตั้งครรภ์อายุ14เหมือนกับในเรื่องนี้ เพิ่งเรียนแค่ม.2
ผู้ชายมาเป็นเพื่อนฝากครรภ์แค่2ครั้ง
หลังจากนั้นมาคนเดียวตลอด
คลอดแล้วต้องกระเตงลูกมารับวัคซีนคนเดียว
ช่วยเหลือตัวเองทุกอย่าง ไม่ได้เรียนต่อ
ลูกยังไม่เต็มสองขวบดี ผู้ชายก็หายจากไปจากความรับผิดชอบ
ทั้งในสถานะพ่อและสามี
ชีวิตจริงมันช่างโหดร้ายกับคนอ่อนต่อโลกนัก
เพราะฉะนั้นที่บอกว่าชีวิตต่อไปจากนั้นจะเกิดอะไรขึ้น
เป็นสิ่งที่เจ้าตัวยอมรับได้หรือเปล่า
ยอมรับได้หรือไม่ได้ มันเป็นFlight บังคับค่ะที่ต้องยอมรับ
เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือให้ตื่นตัวในการป้องกันตัวเอง
ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของความพลั้งเผลอ และผิดพลาดถูกต้องที่สุดค่ะ


โดย: มะนาวเพคะ IP: 125.25.106.73 วันที่: 4 ตุลาคม 2553 เวลา:0:00:52 น.  

 
พอได้อ่านที่คุณprysangบอกว่าบ้านนี้เมืองนี้
เขาคิดจะใช้ละครเป็นเครื่องมือกอบกู้สังคมกันเลยหรือไง
จึงขอตัดบางตอนมาจากหนังสือ"ซีรีส์ที่รัก กล้าท้าโลก"
ของคุณต่อพงษ์ เศวตามร์มาให้อ่านค่ะ
ถึงคำถามที่ว่าทำไมญี่ปุ่นจึงเข้มข้นกับการทำซีรีส์เพื่อสร้างสังคมนัก
ซึ่งท่านอาจารย์สุวินัย ภรณวลัยบอกว่า
เนื่องจากญี่ปุ่นเคยแพ้สงครามโลกมา
และภายใต้ปรัชญาของความพยายาม
ที่จะเอาชนะอเมริกาหรือประเทศตะวันตกให้ได้
มันก็เลยหล่อหลอมให้ญี่ปุ่นต้องสร้างเครื่องไม้เครื่องมือที่จะพัฒนาคนของเขา
ให้กลับมาชนะตะวันตกให้ได้
ญี่ปุ่นเชื่อว่าต้องสร้างความเข้มแข็งให้คนในสังคมให้ได้
คือถ้าคนเข้มแข็ง ครอบครัวก็เข้มแข็ง และสังคมก็จะเข้มแข็งตามมา
และญี่ปุ่นในเวลานั้นใช้อาวุธทางวัฒนธรรม
ไปจัดระเบียบและปฏิรูปคนในสังคมเสียใหม่โดยอาศัย
1การ์ตูน 2ละครทีวี เป็นตัวขับเคลื่อน
โดยการร์ตูนนั้นบุกตลาดเด็ก
คือสร้างคนต้องสร้างจากเด็กก่อน ส่วนละครนั้นก็หล่อเลี้ยงผู้ใหญ่
ส่วนพฤติกรรมของตัวละครและเป้าหมายของตัวละคร
ที่จะทำให้คนเชื่อหรือคล้อยตามในละครญี่ปุ่น
จึงต้องอยู่ในกรอบที่ว่าด้วยการหาความลงตัวให้ได้
ระหว่างการให้กำลังใจและการสนับสนุนกัน
การให้รางวัลต่อความอดทน การเชิดชูวิถีการต่อสู้ที่มีเกียรติ
และการแสดงให้เห็นประโยชน์ของการปรองดองกัน(ความเป็นเพื่อน)
ได้อ่านข้อเขียนของคุณต่อพงษ์แล้ว
หวังว่าคงตอบข้อสงสัยของคุณprysangได้บ้างนะคะ
แต่รายละเอียดในหนังสือมีมากกว่านี้ค่ะ แค่ตัดตอนมาให้อ่านค่ะ


โดย: มะนาวเพคะ IP: 125.25.106.73 วันที่: 4 ตุลาคม 2553 เวลา:0:03:16 น.  

 
ขอบคุณค่ะคุณมะนาว หนังสือเล่มนี้ต้องเป็นเล่มที่อยากได้แน่เลย เพราะจำได้ว่าคุณต่อพงษ์เขียนหนังสือเกี่ยวกับซีรีย์ แต่พอไม่ได้ไปที่งานเองก็เกรงใจที่จะฝากเพื่อนซื้อ ไว้จะหามาอ่านนะคะ คงพูดถึงซีรีย์โดนๆ เยอะเลย

ละครตอนนี้ ก็ดูๆ อยู่ ของเกาหลีก็ดูบ้าง ของไทยก็ดูประจำ เพียงแต่ละครไทยไม่ค่อยติดเพราะมักเป็นรูปแบบที่รู้อยู่แล้ว ละครไทยเปิดเป็นเพื่อนตอนทำอย่างอื่นอยู่ เช่น ทำงานบ้าน กินข้าว อ่านการ์ตูน เปิดเป็นเพื่อนแล้วจะรู้ว่าเสียงกรี๊ดๆ หรือเสียงแนะแหนของตัวอิจฉา หรือการถกเถียงกันของคู่พระนางที่นางเอกมักอวดหยิ่ง ถือดี และช่างกระทบกระเทียบ ประชดประชัน ฟังๆ ไป มันก็ทำให้หายเหงาดีนะ

แต่ส่วนใหญ่ดูนิดดูหน่อยแล้วก็มักจะย้อนกลับมาดูซีรีย์ญี่ปุ่นค่ะ ชอบ


โดย: prysang วันที่: 4 ตุลาคม 2553 เวลา:23:42:41 น.  

 
ไม่ดูถูกผู้บริโภค คำนี้ใช่เลย
ทำดี คนไทยก็ทำได้นะ
แต่มันขายไม่ได้มั้ง เค้าเลยไม่ทำ


โดย: charot วันที่: 26 ตุลาคม 2553 เวลา:23:03:30 น.  

 
ชอบเรื่องนี้มาก...รวมถึงเป็นผลงานแจ้งเกิดของหนูชินดะ มิราอิเชียวนะ

ตอนดูนี่แบบว่าต่อมน้ำตาแตกไปหลายฉากอ่ะค่ะ...ซึ้งๆๆ


โดย: mamLHC IP: 110.164.226.170 วันที่: 30 ตุลาคม 2553 เวลา:14:35:59 น.  

 
คุณเขียนได้สุดยอด ใช้ภาษาได้ตรงใจ ก็อย่างว่าบ้านเรามันเป็นแบบที่คุณเขียนจริงๆ

ชอบตั้งแต่คำพูดที่ว่า " ดูถูกว่าเป็นเพียงชาวบ้านร้านตลาดที่ดูละครมีสาระไม่เป็น ไม่หวังอะไรที่แปลกแหวกแนวไปจากรูปแบบเดิมๆ แต่ต้องการแค่ความสนุกบันเทิงในการปะฉะดะของนางเอกกับนางอิจฉาแค่นั้น"

โดนใจสุดๆๆค่ะ


โดย: beejoon IP: 202.44.8.100 วันที่: 10 มกราคม 2554 เวลา:18:20:55 น.  

 
ยังไม่เคยดูเรื่องนี้ มีแต่คนแนะนำให้ดูจากกระทู้ต่างๆ เรากำลังดูตอนแรกอยู่เลย

ขอบคุณค่ะสำหรับรีวิวและการนำเสนอเรื่องนี้


โดย: ยุย่า IP: 125.24.123.11 วันที่: 5 มิถุนายน 2555 เวลา:16:58:53 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

prysang
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 98 คน [?]




จำนวนผู้ชม คน : Users Online
New Comments
Friends' blogs
[Add prysang's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.