Group Blog
 
All blogs
 
RESCUE เกียรติของเครื่องแบบสีส้ม



ชื่อซีรีย์ : Rescue - Pride of Orange.
กำกับโดย : Kuranuki Kenjiro
จำนวนตอน : 9 ประเภท : Action
ผลิตโดย : Kato Akira , Sato Atsushi
Written By : Yamaura Masahiro, Yazu Hiroyuki
ออกอากาศ : 24 ม.ค. 2009 - 21 มี.ค. 2009
ออกอากาศช่อง TBS ทุกวันเสาร์ เวลา 19:56 น.



และแล้วก็ได้ ทีมงาน Bloggang เป็นผู้ช่วยเหลือ Rescue บล็อกซีรีย์ทั้งหมดกลับคืนมา ขอบพระคุณทีมงานเป็นอย่างสูง แม้จะเชื่อเต็มที่ว่ามี Back up ข้อมูล แต่จากปัญหาที่เผชิญอยู่ขณะนี้ฮาร์ดดิสก์คอมพิวเตอร์เสีย ต้องซื้อใหม่ (ซึ่งมันไม่ต่างอะไรเลยกับการซื้อคอมฯ ทั้งเครื่องใหม่) จนถึงตอนนี้ก็ยังกู้ข้อมูลไม่ได้แม้แต่ไฟล์เดียว ช่างที่พันทิปทำไม่ได้ เพื่อนส่ง "ชิ้นส่วน" ไปสำนักงานใหญ่ และยังไม่ทราบความคืบหน้า (ถามบ่อยเดี๋ยวมันด่า) ดังนั้น หากต้องเสียบล็อกซีรีย์ทั้งหมดอันเป็นที่รักและเป็นน้ำพักน้ำแรงเหล่านี้ไป ต้องถือได้ว่าเป็นการหลอกหลอนซ้ำซาก โดยเฉพาะฮาร์ดดิสก์นั่นถ้าในที่สุดแล้วกู้คืนไม่ได้ โห.. แค่คิดก็ทำใจลำบาก คงจะชวนให้อารมณ์ห่อเหี่ยวไปอีกหลายปีในทุกๆ ทีที่นึกถึง ขอบคุณ Mr.Chanpanakrit และคุณมะนาวเพคะ ที่เป็นกำลังใจในวันที่เหี่ยวเฉา แล้วก็บอกกับตัวเองว่าจงเป็นผู้หญิงคิดบวก คิดบวก (แต่เลือดไม่บวกนะ) ช่วงนี้กราฟชีวิตก็ดิ่งลงดอยมากพออยู่แล้ว ถ้าแม้แต่สิ่งที่คอยช่วยให้ผ่อนคลายหายเครียดยังมีอันเป็นไปกับเค้าด้วย ก็คงจะเฮิร์ตเอาเรื่อง

PRIDE OF ORANGE



ทั้งที่ปรามาสเอาไว้อย่างเต็มที่แนวสัมมาอาชีพเช่นนี้ คงหนีไม่พ้นการสู้เพื่อฝัน ฝ่าฟันอุปสรรคและมุ่งมั่นไปให้ถึงจุดหมาย เหมือนที่เคยได้ชมกันมาเยอะพอสมควร ซึ่งอะไรที่เยอะแยะท้ายที่สุดก็อาจทำให้เอียนได้ จึงไม่คาดหวังอะไรกับซีรีย์เรื่องนี้นัก แต่เอาเข้าจริง สิ่งที่ได้ดูกลับเกินความคาดหมาย

***






คิตายามะ ไดจิ เป็นนักดับเพลิงประจำสถานีดับเพลิงแห่งหนึ่งในเขตเมืองโยโกฮาม่า เขาเป็นคนหนุ่มมุทะลุ ที่พร้อมจะทะยานเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยไม่คิดหน้าคิดหลัง ไม่ฟังเสียงใคร ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนสนิทร่วมงาน หรือแม้แต่หัวหน้าผู้ออกคำสั่ง ทำตัวเหมือนเป็นฮีโร่ผู้หาญกล้า แต่ในสายตาของใครๆ นี่คือ "ตัวปัญหา" ของทีม

ตอนอ่านเรื่องย่อ Rescue ความเข้าใจแรก คิดว่าพระเอกคงออกมาด้วยบุคลิก "เย็นชาหน้าตาย" พร้อมกับความสามารถเป็นเลิศ บวกกับอุปนิสัย หยิ่งยโส มั่นใจในตัวเองสูง จากนั้นจึงค่อยเกิดการเรียนรู้ รู้จักปรับตัวให้เข้ากับคนรอบข้างและเข้ากันกับสังคม ที่ไหนได้ แค่คาดเดาตัวละครผิด ก็คาดคิดเนื้อเรื่องผิดเพี้ยนตามไปด้วย



ไดจิ เป็นคนมุทะลุก็จริง แต่การไม่ฟังเสียงใครนั้น ไม่ใช่เพราะมั่นใจในความเก่งของตัวเอง แต่เขาเป็นคนที่ลืมสิ้นทุกสิ่งอย่างเมื่อมีคนเดือดร้อนตกในอันตรายอยู่ตรงหน้า มันเป็นปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายราวกับเป็นสัญชาตญาณที่ควบคุมไม่ได้

เช่น เมื่อเด็กๆ ร้องให้ช่วยเพราะลูกหมาตกน้ำ เท็ตสึกะ ยูทากะ เพื่อนสนิทที่ทำงานในสถานีดับเพลิงเดียวกัน บอกเด็กๆ ว่า "รอเดี๋ยวนะ" เพื่อจะหาอุปกรณ์เข้าช่วยเหลือ เชื่อกคล้อง ไม้เกี่ยว อะไรก็ได้ แต่แค่เพียงหันหลัง เสียงตูมก็ดังขึ้น ยูทากะ ชะงักกึก หันกลับมาดู ไดจิ ลอยคออยู่กลางลำน้ำถึงตัวลูกหมาเรียบร้อยแล้ว

นั่นแหละคือเขาล่ะ คิตายามะ ไดจิ






ซีรีย์เรื่องนี้เป็นเรื่องราวของนักกู้ภัย ที่ต้องเสี่ยงอันตรายเพื่อช่วยเหลือชีวิตผู้อื่น เป็นงานที่ต้องใช้ความเสียสละ และคนส่วนใหญ่คงไม่อยาก "เลือกทำ" ดังนั้นการที่จะทำให้เข้าถึงจิตใจและตัวตนของพระเอก โดยไม่ทำให้รู้สึกว่าเป็นความฮีโร่จ๋าจนเกินไป การปูพื้นตัวละครจึงค่อนข้างเป็นเรื่องสำคัญ


แบไต๋หัวใจฮีโร่ ด้วยสิ่งที่เรียกว่า "แรงบันดาลใจ"


ไดจิ ในวัยเยาว์เคยประสบภัยติดอยู่ในเหตุการณ์ดินถล่ม ในหลุมที่มืดแคบ และอยู่คนเดียวด้วยความหวาดกลัว เขาได้รับการช่วยเหลือจากนักกู้ภัยชื่อ มิยาซากิ คนที่ปลุกปลอบและมอบความกล้าหาญให้ไดจิระงับความหวาดกลัวและกล้าที่จะปีนป่ายขึ้นมาด้วยตัวเองเพราะมิยาซากิไม่สามารถเข้าไปช่วยให้ถึงตัวได้

มิยาซากิที่ยื่นมือรออยู่ คว้ามือของเด็กชายเอาไว้ และช่วยเหลือให้พ้นจากหลุมดินถล่มขึ้นมา แต่ทันทีที่ไดจิได้รับการโอบอุ้มจากนักกู้ภัยอีกคนเบื้องหน้า ดินก็เกิดถล่มขึ้นมาอีกครั้งเบื้องหลัง ฝังกลบมิยาซากิไปต่อหน้าต่อตา นั่นคือชีวิตที่ไดจิรอดมา พร้อมกับการเสียชีวิตไปของนักกู้ภัยมิยาซากิ

นาฬิกา เป็นตัวแทนของ "ความกล้าหาญ" ที่มิยาซากิถอดจากข้อมือและโยนส่งไปให้เด็กชายที่ก้นหลุมเพื่อหวังให้เขามีกำลังใจปีนป่ายขึ้นมานั้น เหมือนกับเป็นการส่งมอบช่วงเวลาและส่งต่อจิตวิญญาณของการเป็นฮีโร่ที่พร้อมจะใช้ชีวิตตนเองเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น (ด้วยความยินดีและเต็มใจ) ณ ที่แห่งนั้น ใครๆ ต่างถอดใจแล้ว เพื่อนบอกให้ถอย หัวหน้าออกคำสั่งให้ถอนกำลัง เพราะอันตรายที่จะเกิดจากการถล่มระลอกสองในไม่ช้า แต่มิยาซากิ ไม่ยอมละทิ้ง ไม่ยอมหันหลังจากไป สุดท้ายช่วยเด็กคนหนึ่งได้ แต่กลับต้องแลกไปด้วยชีวิตของตัวเอง



ไดจิ จึงโตขึ้นมาในแบบที่ควรจะเป็น คือสำนึกในบุญคุณผู้ช่วยชีวิต และใช้ชีวิตที่มีมาให้เป็นประโยชน์ด้วยการคอยช่วยเหลือผู้คนที่เดือดร้อนให้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ เขาจึงกลายมาเป็นนักดับเพลิง (น่าจะไปเป็นหมอมากกว่านะ แต่เกรงว่าจะผิดไปจากแรงบันดาลใจ)

"นักดับเพลิง" เป็นเพียงก้าวแรกเท่านั้นในการทำงานช่วยเหลือผู้อื่น ไดจิยังคงมองหาจุดยืนที่เขาจะสามารถให้ความช่วยเหลือผู้อื่นได้มากกว่าที่เป็นอยู่ นั่นก็คือ ตำแหน่งแห่งที่ของนักกู้ภัยในชุดเครื่องแบบสีส้ม เหมือนชุดเครื่องแบบของมิยาซากิที่เคยช่วยชีวิตเขาไว้ และไดจิต้องการที่จะสวมใส่เครื่องแบบสีนี้ด้วยเช่นกัน ทั้งยังหวังสูงไปยิ่งกว่านั้น นั่นคือ การสังกัดทีมกู้ภัยพิเศษที่มีชื่อว่า Super Ranger


คำอธิบายจากซีรีย์

ในสถานีดับเพลิงจะมี 3 ตำแหน่งงานด้วยกัน ตำแหน่งแรก คือ พนักงานดับเพลิง พวกเขาออกไปพร้อมกับรถดับเพลิง เพื่อไปดับไฟในสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ต่อมาคือหน่วยให้บริการฉุกเฉิน พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ในรถพยาบาล และมุ่งหน้าไปยังสถานที่เกิดเหตุ เพื่อรักษาผู้ช่วยและผู้บาดเจ็บ (นางเอกเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานนี้) สุดท้ายคือ ทีมกู้ภัย พวกเขาจะให้ความสนใจกับปฏิบัติการกู้ภัยซึ่งเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดินถล่ม แผ่นดินไหว หรืออะไรทำนองนั้น พวกเขาใส่ชุดเครื่องแบบสีส้ม งานทางสายนี้รวมทีมพิเศษที่พวกเรียกว่า Super Ranger เข้าไว้ด้วย หน่วยพิเศษเช่นนี้ เป็นที่ที่กลุ่มคนชั้นยอดสามารถสร้างทีมขึ้นมาได้

ในปี 1964 เมืองโยโกฮาม่าต้องการจัดทีมกู้ภัยขึ้นมาเป็นครั้งแรก หน่วยดับเพลิงโยโกฮาม่า ซึ่งก็คือหน่วยงานบริหารความปลอดภัยเมืองโยโกฮาม่าในปัจจุบัน ได้รับความช่วยเหลืออย่างมากจากกองกำลังป้องกันตัวเอง "หน่วยเรนเจอร์" เพื่อเป็นเกียรติ หน่วยกู้ภัยเมืองโยโกฮาม่าจึงถูกเรียกว่า "Ranger"

มีหน่วยงานกู้ภัยพิเศษนี้ แค่ 18 หน่วยในญี่ปุ่น เป็นระดับหัวกะทิของพวกหน่วยกู้ภัย แต่จะมีชื่อเรียกต่างๆ กันไป เช่น ไฮเปอร์เรสคิว (โตเกียว) ไซตามะเบรฟฮาร์ท (ไซตามะ) ซุปเปอร์อีเกิล ( โกเช)

ปัจจุบัน (ปี 2009) ที่ญี่ปุ่นมีพนักงานดับเพลิงประมาณ 157,800 คน ซึ่งงานที่พวกเขาได้ทำอยู่ตอนนี้ เป็นงานช่วยเหลือและปกป้องชีวิตของประชาชน





"ผมชื่อ คิตายามะ ไดจิ ครับ
ผมจะตามไปครับ
สักวันหนึ่ง
ผมจะเป็นสมาชิกของซุปเปอร์เรนเจอร์ให้ได้
ได้โปรดรอผมด้วยนะครับ"


โทคุนากะ หัวหน้าทีม SR (Super Ranger) จ้องมองเด็กหนุ่มตรงหน้าที่เข้ามาประกาศความจริงใจหลังจากทีม SR ประสบความสำเร็จในการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุไฟไหม้ (ภัยใดๆ ที่เหนือบ่ากว่าแรงของนักดับเพลิงหรือนักกู้ภัยปกติ Super Ranger จะเข้าปฏิบัติหน้าที่ในสถานการณ์ยากเข็ญเหล่านั้น ) หมอนี่บอกว่าเขาชื่อ คิตายามะ ไดจิ ชื่อนี้อาจไม่มีความหมายอะไรกับใคร แต่สำหรับโทคุนากะ ย่อมไม่มีวันลืม เพราะนี่คือชื่อเดียวกันกับเด็กชายคนหนึ่งที่เขาเคยโอบอุ้มออกมาจากหลุมดินถล่ม และเพราะชื่อนี้เขาจึงเสียคู่หูในงานกู้ภัยไปเมื่อ 15 ปีก่อน เพื่อนรักของเขา มิยาซากิ ชิโร่

เด็กชายคนนั้น โตเป็นหนุ่มแล้วในตอนนี้และจำเขาไม่ได้ ความขัดแย้ง ความรู้สึกค้างคาใจ ความเสียใจของคนที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของมิยาซากิ ถูกกระตุ้นขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อได้ยินชื่อ "คิตายามะ ไดจิ" ซึ่งปัจจุบันทำงานอยู่ในสถานีดับเพลิง และถือได้ว่าเป็น "งานช่วยชีวิตฺ" หน้าตาซื่อๆ ของเด็กคนนั้น เพิ่งประกาศความมุ่งมั่นอยู่ตอนนี้ว่า สักวันหนึ่ง เขาจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกของซุปเปอร์เรนเจอร์




เพราะงานกู้ภัย เป็นงานปกป้องชีวิตของประชาชน เซริซาวะ (ผู้บัญชาการหน่วยกู้ภัย) จึงได้รับอนุมัติงบประมาณในการเสริมกำลัง ทีมกู้ภัยพิเศษ ( SR ) โดยการจัดหาบุคลการรุ่นใหม่เข้ามาร่วมทีม เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ในการช่วยเหลือชีวิต และดำรงไว้ซึ่ง "ศักดิ์ศรีของชาวสีส้ม" ให้คงอยู่ต่อไป แม้จะมี ฮอนมะ ( Honma ) ผู้หลักผู้ใหญ่คอยขัดแข้งขัดขาบ้างตามธรรมดาที่ใดไม่มีความขัดแย้งที่นั่นไม่มีความเจริญ แต่อาศัยท่าน ซานาดะ ผู้มีตำแหน่ง 'ใหญ่กว่า' เห็นดีเห็นงามด้วยเพราะเข้าใจถึงปัญหาและเหตุผลความจำเป็นที่ควรอนุมัติ จึงต้องอนุมัติให้ (ไม่เหมือนกันกับนักการเมืองบางประเทศที่เห็นพวกพ้องมาก่อน ผลประโยชน์(ของตู)มาก่อน ส่วนผลประโยชน์ของประชาชน..โปรดรอคิว)

หน่วยงานบริหารความปลอดภัยสำนักงานใหญ่ จึงจัดส่งหนังสือแจ้งทุกสถานีดับเพลิงในเมืองโยโกฮาม่า ให้ส่งนักดับเพลิงเข้ารับการฝักหัดเพื่อทำการคัดเลือกเข้าร่วมเป็นสมาชิกของทีมกู้ภัยพิเศษ Super Ranger

โอกาสมาถึงไดจิแล้ว แต่โอกาสก็ทำท่าจะหลุดลอยไป เมื่อหัวหน้าเลือก ยูทากะ เป็นตัวแทนของสถานีให้ไปเข้ารับการฝึกเพียงคนเดียวโดยไม่เห็นหัวไดจิแม้แต่น้อย ก็เพราะเขาเป็นตัวปัญหา ใครล่ะจะอยากลงชื่อรับรองส่งเขาไปเพื่อสร้างชื่อเสียกลับมาให้ในภายหน้า

ตามสไตล์เลยคะ อุปสรรคก้าวแรกโผล่มาแล้ว



*****

เพียงแค่เป็นนักเรียนฝึกหัดของ SR ก็หนักหนาสาหัส (คงกะให้โหดพอๆ กับการฝึกทหารหาญผู้เป็นรั้วของชาติ) กติกาปรากฏชัด ใช่ว่าฝึกหัดแล้วทุกคนจะมีโอกาสเป็น SR ต้องสุดเจ๋งและแน่จริงเท่านั้นถึงจะมีสิทธิ์ ไม่ได้รอให้ฝึกจบก่อนแล้วค่อยคัดเลือก แต่คัดออกทุกวันเมื่อพิจารณาแล้วครูฝึกเห็นว่า "ไร้แวว" มัวลีลาฝึกกันไปก็เสียแรงเปล่า

นักเรียน SR ฝึกหัด เป็นหนุ่มนักดับเพลิงมาจากสถานีในเขตต่างๆ ของเมืองโยโกฮ่ามา หนุ่มๆ เหล่านี้ ถึงปากจะบอกว่า เพราะอยากช่วยเหลือชีวิตผู้คน อยากทำชีวิตให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น แต่แท้จริงแล้วแต่ละคนก็มีเหตุผลของตัวเอง ฟังดูดีบ้าง ไร้สาระบ้าง บางคนอาจก้าวเข้ามาด้วยคำสัญญา ด้วยแรงบันดาลใจ แต่กับบางคนก็มาเพราะแรงผลักของปมด้อยหรือไม่ก็หุนหันเข้ามาเพราะปัญหาในชีวิต ขณะที่บางคนไม่มีอะไรมากไปกว่า อยากเท่อวดสาว



แต่ไอ้บ้าคิตายามะ นี่เป็นใครมาจากไหนกัน เพราะคำพูดของมันไม่เคยเปลี่ยน พูดอยู่ได้ประโยคเดียว เดิมๆ ซ้ำๆ "ผมอยากช่วยเหลือชีวิตคนอื่น" ด้วยสีหน้าแม่-งโคต-ร-จริงใจ ท่าทางมันกะเอาจริง แต่ถึงยังไงก็น่าหมั่นไส้คำน้ำเน่าของมันอยู่ดีนั่นแหละ

ต่างคน ต่างนิสัย มาอยู่รวมกันเป็นนักเรียนฝึกหัดที่ต้องแข่งขันเพื่อแย่งชิงตำแหน่งสมาชิก SR ตัวจริง แต่ในขณะเดียวกัน รูปแบบของการฝึกหัดก็คือการทำทุกอย่างเป็นทีม ผิดคนเดียวคือผิดหมด ลงโทษทั้งหมด ไม่ได้เรื่องคนเดียวคือล้มเหลวทั้งทีม

ไดจิ กับยูทากะ เป็นเพื่อนสนิทมาจากสถานีดับเพลิงเดียวกันแต่ถูกแยกทีม ยูทากะได้ร่วมทีมกับคนเก่งๆ อย่าง ฟุโด ( ยามาโมโตะ ยูสุเกะ) และทีมนี้ก็เป็นทีมเด่น ส่วนทีมของไดจิต้องเรียกเป็นทีมด้อย เพราะมีทั้งคนอ่อนปวกเปียกอย่างโคกะ (อาซาริ โยสุเกะ จาก code blue ) คนที่ชอบออกไปหาสาวที่ไหนก็ไม่รู้ทุกค่ำคืนอย่าง อิคาวะ ( อิชิกุโระ ฮิเดโกะ) แถมยังมีเลือดร้อนจอมโวยอย่าง โคฮินาตะ ( ไดอิโตะ ชุนสุเกะ ) ด้วยอีกคน



โคกะ ทำให้เพื่อนๆ ต้องถูกลงโทษอยู่เสมอ เมื่อโดนหนักๆ ทุกวัน เพื่อนร่วมทีมก็ชักทนไม่ไหว โดยเฉพาะโคฮินากะที่หัวเสียทุกครั้ง มันเรื่องอะไรกันที่คนอื่นต้องมาถูกลงโทษเพราะความเห่ยของคนๆ เดียว ความเหนื่อย ความลำบาก ความโกรธขึ้งทำให้ทีมไม่เป็นทีม โคกะจะถูกคัดออกไปอยู่แล้ว แต่ไดจิก็เข้าขัดขวางและทำทุกทางเพื่อให้โคกะได้อยู่สร้างความลำบากให้กับทีมต่อ เพราะสำหรับไดจิ มันเป็นสัญชาตญาณที่เขาจะต้องปกป้องและช่วยเหลือผู้อื่นที่กำลังทุกข์ร้อน โคกะก็อยู่ในข่ายผู้ต้องการความช่วยเหลือในสายตาของไดจิเช่นกัน



อยากเสนอตัวเป็นฮีโร่ ครูฝึกจึงสนองให้ ส่งใบประกาศรายชื่อคัดออกที่เป็นชื่อของโคกะให้กับไดจิ นั่นหมายถึงว่าการจะอยู่หรือไปเมื่อไรของโคกะให้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของไดจิเพียงคนเดียว

อีกหนึ่งบทเรียนแสนยากเย็น ระหว่างเพื่อนกับจุดหมายปลายทาง ถ้าจำเป็นต้องปล่อยทิ้งไปสักสิ่ง ควรต้องทิ้งสิ่งไหน ทิ้งเพื่อนคนเดียวที่เห็นกันอยู่ชัดๆ ว่าเขาคงไปต่อไม่ไหว หรือทิ้งความมุ่งมั่นตั้งใจที่ไม่ใช่ของตัวเองแค่คนเดียว

"ไม่ใช่แค่โคกะเพียงคนเดียวนะที่อยากเป็น SR พวกเราก็อยากเป็น SR ด้วยเหมือนกัน ถ้ายังเป็นอยู่แบบนี้พวกเราทุกคนจะถูกคัดออกไปพร้อมๆ กับโคกะด้วย นายเข้าใจเรื่องนี้หรือเปล่า"

ส่งใบประกาศนั้นให้โคกะซะ ต่อให้ไม่มีใครพูดคำนั้นออกมาตรงๆ แต่ที่พากันกดดันให้ไดจิตัดสินใจ ความหมายก็คือๆ กัน

"ถึงที่สุดแล้ว นายก็ต้องยอมรับมันอยู่ดี"

"นายแค่ต้องการคำแนะนำจากฉัน เพื่อที่จะใช้มันเป็นข้ออ้างใช่ไหม ฉันจะไม่บอกนายหรอกว่าควรทำยังไง
เพราะนั่นเป็นเรื่องที่นายต้องหาคำตอบด้วยตัวของนายเอง"


*****



รูปถ่ายของนักกู้ภัย มิยาซากิ ยังคงตั้งอยู่บนโต๊ะทำงานของผู้บัญชาการหน่วยกู้ภัยพิเศษ คิตายามะ ไดจิ ที่มิซากิเคยช่วยไว้ ตอนนี้เข้ามาเป็นนักเรียน SR ฝึกหัด ผู้ใหญ่ที่เคยเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ครั้งนั้นในอดีตต่างพากันจับตามอง "เด็กคนนั้น" ด้วยความสนใจ

ครั้งหนึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น ไดจิและเพื่อนที่ยังติดอยู่ในสำนักงานเพราะถูกลงโทษ ถูกเรียกตัวให้ออกไปช่วยหน่วยกู้ภัยในปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้วย เหตุการณ์อันตรายเกินกว่าจะเข้าไปช่วยเหลือเด็กคนหนึ่งที่ยังติดค้างอยู่ได้ จึงต้องรอให้ทีม SR มาลงมือ แต่ระหว่างที่ขอความช่วยเหลือไปยัง SR ไดจิก็กระโจนเข้าไปแล้วแบบไม่มีคิด ถึงจะพาเด็กออกมาด้วยตัวเองไม่ได้ ยังไงก็ต้องรอศิษย์พี่ทีม SR มาแสดงวิทยายุทธ แต่หากไดจิไม่เข้าไป เด็กคนนั้นอาจจะตายไปแล้วก็ได้


"บาดเจ็บตรงไหนหรือเปล่า"


โทคุนากะ หัวหน้าทีม SR เอ่ยถามไดจิ เมื่อเขาส่งมอบเด็กให้เจ้าหน้าที่แพทย์แล้ว แต่ไดจิที่ยังผูกใจไว้กับเด็กผู้เคราะห์ร้าย

"ผู้รอดชีวิตบาดเจ็บที่ขาขวา แต่ชีวิตไม่ได้รับอันตรายใดๆ ครับ"

เสียงรายงานฉะฉานนั้นทำให้ โทคุนากะอึ้ง เพราะที่ถาม ถามถึงอาการของไดจิไม่ใช่เด็กผู้ได้รับการช่วยเหลือ คำตอบที่แสดงถึงการเอาใจใส่ต่อผู้ประสบภัยทำให้ศิษย์พี่ SR ทั้งหลายพากันเหลียวมองนักเรียนฝึกหัดที่ชื่อ คิตายะมะ ไดจิ ด้วยสายตาที่ยากจะบรรยาย



ไดจิ มีอาการของโรค "กลัวที่แคบ" จากเหตุการณ์ฝังใจในอดีต และกำลังเป็นข้อพิจารณาของผู้ใหญ่ใน SR ที่จะให้ไดจิออกจากการฝึก แต่เมื่ออยู่ในเหตุการณ์อันตราย ที่ต้องการช่วยเหลือคนให้รอดชีวิต เขาได้ก้าวพ้นขีดจำกัดของตัวเองในข้อนี้ไปได้ ได้สัมผัสกับความรู้สึกของการเป็นฮีโร่ นี่คือครั้งแรกที่ไดจิมีโอกาสได้ช่วยชีวิตคนอื่นจริงๆ แต่กำลังอิ่มเอิบใจไม่ทันไร ก็ต้องหน้าหันเพราะถูกต่อยซะกลิ้งด้วยแรงกำปั้น ของ คัตสึรากิ (คานาเมะ จุน) นักกู้ภัยมือหนึ่งของ SR คนที่มีหน้าตาเย็นชาอยู่ อารมณ์เดียว ได้เปลี่ยนแปลงสีหน้าเป็นถมึงทึงให้ใครๆ ได้เห็นเป็นบุญตา สาเหตุเพราะความโกรธจัด (ที่ไม่มีคำพูดใดๆ ระบายโทสะออกมาจากปาก นอกจากกำปั้นดุ้นๆ )

การฝ่าฝืนคำสั่งในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่กู้ภัยถือเป็นการผิดวินัยร้ายแรง ไดจิ มีโทษถึงขั้นไล่ออก แต่เขาก็หาเงื่อนไขมาให้พระเอกอยู่ต่อจนได้นั่นแหละ ไม่งั้นใครจะเป็นพระเอกรึ

*****



นักเรียน SR ฝึกหัด ถูกคัดเหลือเพียง 8 คน ที่เหลือก็กลับไปประจำหน่วยงานเดิม เมื่อเหลือเพียง 8 คน การฝึกยิ่งเข้มข้นหนักขึ้น

ในหมู่นักเรียนฝึกหัดนี้ มีความแตกต่างที่ไม่ลงตัวกันอยู่ และการละลายพฤติกรรมจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่ถูกละลายทัศนคติ

ฟุโด นักเรียนฝึกหัดที่ถือได้ว่าทักษะฝีมือเป็นอันดับหนึ่ง มั่นใจในตัวเองสูงลิบ ไม่ชอบสุงสิงกับใครให้เสียเวลาและเป็นภาระ เนื่องจากที่เห็นก็มีแต่พวกเห่ยๆ ที่ความสามารถด้อยกว่าเขาทั้งนั้น

"เมื่อพวกนายเผชิญอันตราย ในสถานที่กู้ภัย คนที่จะช่วยนายได้ก็คือคนไร้ประโยชน์พวกนั้น"


ถึงจะถูกตักเตือน ฟุโด ก็ไม่แยแส ยังคงตั้งหน้าตั้งตาแสดงทักษะเยี่ยมเปี่ยมความมั่นใจ โดยไม่แยแสใครอยู่เช่นเดิม ส่วนยอดนายชายไดจิ ฝีมือก็ไม่เท่าไหร่หรอกพ่อคนนี้ แต่จิตใจนั้นเรียกว่าเกินร้อยเพราะเขาเป็นคนประเภท "สุดทุ่มเท" เมื่อต้องมาฝึกร่วมกัน ทำงานร่วมกัน จึงกลายเป็นปัญหา เพราะคนหนึ่งใช้สมอง ส่วนอีกคนใช้หัวใจ (ใจสั่งมา) และดูเหมือนว่าการที่ไดจิเป็นคนอย่างหลัง มันส่งผลให้เขาเริ่มเข้าข่ายหัวเดียวกระเทียมลีบ แม้แต่ยูทากะที่เป็นเพื่อนสนิทและเข้าใจไดจิมาโดยตลอด ก็ไม่กล้าเอ่ยปากให้ท้ายว่าความคิดของไดจินั้นถูกต้อง

ต่างคนต่างมุมมอง


"ฉันไม่สนหรอกว่าสถานการ์เป็นอย่างไร ถ้ามีใครรอการช่วยเหลืออยู่ล่ะก็ ฉันก็ต้องไปช่วย ฉันว่านี่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง!"


"พูดเรื่องกู้ภัยไปก็ป่วยการ ในเมื่อนายยังไม่มีความสามารถในการวิเคราะห์สถานการณ์ นายปัญญาอ่อนหรือเปล่า!"

"ทำงานร่วมกับนายน่ะ ต่อให้พวกเรามีกี่ชีวิตก็ไม่พอ"

"นายอยากโชว์พาวใช่ไหมล่ะ"

พระเอกของเราจึงไม่ต่างอะไรกับการถูกรุม เพราะคนอื่นไม่เข้าใจ ทำไมเขาพูดแต่คำๆ นี้ "ช่วยคนๆๆๆๆ"


****
ในห้องเรียนSR

"ยังมีคนติดอยู่ในตึกนี้เหลืออยู่อีก เหลืออีกเพียงนาทีเดียวก่อนที่ไฟจะไหม้หมดทั้งตึก ต้องใช้เวลา 1 นาที
ในการช่วยคนที่ติดอยู่ และอีก 2 นาทีในการเข้าออกจากตึก นายจะทำยังไง"


คำตอบของนักเรียนส่วนใหญ่

"พวกเราทำอะไรไม่ได้แล้วล่ะ"

คำตอบของไดจิ

"ผมจะเข้าไปช่วยคนครับ"
(ไม่ว่ายังไงก็ตาม)

ยังไม่ทันอธิบาย ครูฝึกก็เบรกซะเอี๊ยด

"นายช่วยคนไม่ได้หรอก ถ้าแค่วิ่งเข้าไปอย่างส่งเดช ไม่ใช่แค่ตัวนายจะเสียชีวิต แต่คนที่ติดอยู่ก็จะไม่รอดด้วย"

คำตอบของฟุโด

"ผมจะไม่เข้าไปครับ ผมจะไม่ให้ตัวเองต้องตายโดยเปล่าประโยชน์ ถ้าเราใช้อารมณ์และบุ่มบ่ามเข้าไปก็รังแต่จะก่อให้เกิดสถานการณ์ที่เลวร้าย"

คำตอบฟังดูดีมีเหตุผล แต่ครูฝึกก็ตอกหน้าเข้าให้

"การตัดสินใจของนายมีเหตุผล แต่ถ้านายไม่ทำอะไรเลย คนที่ติดอยู่ข้างในก็จะตาย แล้วนายยังจะเป็นทีมกู้ภัยได้เหรอถ้านายเป็นแบบนี้"

ถามหาคำตอบจากยูทากะบ้าง
"ผม ผะ ผม.."

ครูฝึกด่าเลยล่ะทีนี้
"แค่นายลังเล นายก็เสียเวลาไป 1 นาทีแล้วนะ!"

"แค่ความเชื่อมั่น นายคิดว่าเพียงพอแล้วรึ ที่จะเข้าไปเป็นทีม SR ได้ นายจะช่วยคนโดยอาศัยเพียงแค่เทคนิคและความทะเยอทะยานเท่านั้นรึ"

"เพราะพวกเราคือ SR เราจะต้องพยายามหาหนทางกู้ภัยให้ได้ ไม่ว่าสภาพการณ์จะเป็นอย่างไร เราจะต้องหาวิธีที่จะช่วยผู้เคราะห์ร้ายภายใน 1 นาทีนั้นให้ได้"

"เราต้องกู้ภัย นั่นคือศักดิ์ศรีของชาวสีส้ม"

" ต้องมีชีวิตอยู่และกลับมาอย่างปลอดภัยก็เป็นพันธะของ SR เราเช่นกัน แรงบันดาลใจช่วยชีวิต วิจารณญาณที่แน่วแน่ พร้อมจะอุทิศให้ ถ้าใครไม่มีคุณสมบัติเหล่านี้ก็เป็น SR ไม่ได้หรอก"

"คำตอบที่ถูกต้องพวกนายจะต้องหามันด้วยตัวของนายเอง"




*****

นักเรียนฝึกหัดทั้ง 8 ได้รับคำสั่งให้ติดตามหน่วยกู้ภัยไปยังสถานที่เกิดเหตุเพื่อเรียนรู้และปฏิบัติงานกู้ภัย ถูกเคี่ยวกรำอย่างหนักจากครูฝึกและทีม SR ผู้อาวุโสทั้งวัยวุฒิและคุณสมบัติ

"พวกเขาต้องมีชีวิตรอดกลับมา นั่นคือสิ่งที่ SR ยึดมั่น"

"นายจะร้องไห้ทำไม น้ำตาของนายดับไฟไม่ได้หรอกนะ"

"อย่าให้สีส้มต้องร้องไห้เพราะนาย!"


พอเห็นแนวเรื่องก็พอคาดเดาได้ถูกต้อง เพื่อให้ตัวละครต้องเติบโตจักต้องมีการสังเวยชีวา แล้วก็จริงประจักษ์แจ้ง ไม่ทันไรก็ม้วยมรณาไปหนึ่ง เพื่อนที่อุตส่าห์พยายามอย่างหนักมาด้วยกัน ยังไม่ทันถึงจุดที่หวังและตั้งใจก็มาด่วนเสียชีวิตไปซะก่อน สาเหตุก็เพราะเอาตัวไปช่วยคนอื่นแต่ตัวเองดันไม่ระวัง (คนจะซวยช่วยไม่ได้) จังมีการตายอย่างที่คิด แต่จุดประสงค์ของการให้ตัวละครตายไม่ใช่เพื่อเป็นแบบอย่างของฮีโร่ผู้เสียสละ แต่การตายของนายคนนี้เป็นการผ่าประเด็นของเรื่องให้ยิ่งชัดขึ้น .. การช่วยเหลือชีวิต การตาย และความสำคัญของการมีชีวิตอยู่

"เขาช่วยชีวิตคนอื่นไว้นะครับ"

นั่นคือสิ่งที่ไดจิเข้าใจ

"ฉันไม่คิดอย่างนั้น เขาตายอย่างไร้ค่า เปล่าประโยชน์ ตายเหมือนหมาที่ไร้จุดหมาย"

แต่นี่คือสิ่งที่ฟุโดคิด

และคนดูคงเข้าใจว่าคุณพระเอกจะรู้สึกอย่างไรกับคำพูดแบบนี้

แม้แต่ครูฝึก ถึงจะไม่พูดว่าสิ่งที่ไดจิเข้าใจนั้นมันผิด แต่ก็ไม่ได้บอกด้วยเหมือนกันว่าสิ่งนั้นถูกต้อง ไม่ตำหนิ ก็ไม่ได้หมายความว่าชื่นชม

"การใช้ชีวิตของตัวเองแลกกับผู้เคราะห์ร้ายนั้น ไม่ใช่สิ่งที่นักกู้ภัยควรยึดถือหรอกนะ สุดท้ายฉันต้องทำให้พวกนายเข้าใจให้ชัดเจน สิ่งที่ฉันเฝ้าดู ไม่ใช่เรื่องที่ว่าจะเก่งกาจแค่ไหนในที่เกิดเหตุ พวกนายทุกคนฟังเอาไว้ให้ดี"

"ห้ามตายเด็ดขาด!"

" อย่ายอมสูญเสียชีวิต พวกนายต้องกลับมาอย่างมีชีวิต นั่นคือสิ่งที่ SR ต้องการ เข้าใจไหม"


แล้วคนอย่างไดจิ ที่พร้อมจะพุ่งออกไปอย่างไม่เสียดายชีวิต เหมาะกันแล้วหรือที่จะเป็นสมาชิกของทีม SR ?



โควต้าสมาชิกใหม่มีแค่สอง (เขาต้องการแค่หัวกะทิจริงๆ) แต่ทางครูฝึกกลับจัดสำรองส่งมาให้อีกหนึ่งกลายเป็นสามคน ไดจิไม่เหมาะกับการเป็น SR เพราะพฤติกรรมแบบนั้นไม่ช้าไม่นานเขาจะต้องตายแน่

"ทำไมถึงเก็บเขาไว้ ฉันขอถามถึงเหตุผลได้ไหม"

ฟุโด เป็นคนที่มีทักษะที่ดีเยี่ยม ความสามารถของเท็ตสึกะในการวิเคราะห์สถานการณ์ ทำให้เขาเป็นผู้นำที่ดีได้ แน่นอนว่าเขาทั้งสองคนมีนิสัยที่ไม่ดี ชอบทำงานคนเดียวและจะนิ่งเฉย เมื่อเข้าสู่สถานการณ์คับขัน

คนที่สามารถชดเชยในเรื่องนี้ได้ก็คือคิตายามะใช่ไหม?

คิตายามะ มีทั้งความกลัวในการปฏิบัติงานกู้ภัย จากประสบการณ์ส่วนตัวของเขา และมีความเข้มแข็งที่จะใส่ใจช่วยเหลือผู้อื่น เขามีสัญชาตญาณในการกู้ภัย ผมต้องการให้เขาทั้งสามคนไปพร้อมๆ กันในระยะหนึ่งก่อน ด้วยวิธีนี้พวกเขาจะโตขึ้นได้แน่นอนครับ"


*****


"สายเชือกสีขาว และเชือกผูกรองเท้าสีขาว คือสัญลักษณ์ของทีม Super Ranger มันเปรียบเสมือนจิตวิญญาณที่ทอดทิ้งไม่ได้ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่กู้ภัย"

"จำเรื่องนี้เอาไว้ล่ะ พวกเราคือ SR ไม่ได้รับคำชื่นชมหรือรางวัลใดๆ สำหรับการช่วยเหลือชีวิต แต่ถ้าผู้ประสบภัยเสียชีวิต พวกเราจะถูกกล่าวโทษในทันที สิ่งนี้คืองานของพวกเรา"

"SR จะออกปฏิบัติงาน เมื่อหน่วยดับเพลิงและหน่วยกู้ภัยอื่น ไม่สามารถทำอะไรได้แล้ว ภายใต้สถานการณ์แวดล้อมแบบนั้น โอกาสที่ผู้ประสบภัยจะเสียชีวิตมีสูงมาก นั่นคือสถานการณ์ที่พวกเราต้องเผชิญ"

"ฟังนะ การที่จะนำร่างที่ไร้วิญญาณกลับมายังครอบครัวของพวกเขา ก็เป็นหน้าที่ของ rescue เช่นกัน ตราบใดที่นายยังไม่สามารถรู้สึกถึงความเจ็บปวดของคนอื่นด้วยตัวนายเองล่ะก็ นายก็ไม่เหมาะที่จะเป็น SR หรอก"

******



"เอาชีวิตของตัวเองไปแขวนบนเส้นด้ายเพื่อช่วยคนอื่น ช่างโง่เง่าสิ้นดี"

ต่อให้ถูกผู้ใหญ่ในหน่วยงานมีทัศนคติในเชิงขัดขวางเช่นนั้น Super Ranger ก็ยังคงปฏิบัติงานต่อไป พร้อมๆ กับปัญหาของแต่ละคนที่ระอุ

ฟุโดผู้แข็งกระด้าง ไม่เข้ากับใคร

" ผมไม่สามารถภูมิใจในตัวเองกับงานนี้ได้เลย ผมไม่มีความภูมิใจ ในสิ่งที่เรียกว่าศักดิ์ศรีของชาวสีส้ม"

แถมยังถูกตำหนิระหว่างปฏิบัติงาน
"นายทำอะไรของนายน่ะ ช่วยอ่อนโยน (ต่อผู้ประสบภัย) กว่านี้หน่อยจะได้ไหม"

ไดจิ ผู้อ่อนไหวกับความทุกข์ร้อนของผู้คน
"ผมไม่อยากเป็นอย่างนั้นครับ ผมไม่อยากเคยชินกับความตายของผู้คน"

คัตสึรากิ นักกู้ภัยฝีมือขั้นเทพ การปฏิบัติหน้าที่ของเขาแต่ละครั้งทำผลงานเพอร์เฟ็คต์ แต่กว่าจะมาถึงขั้นนี้ แต่ละคนก็มีอดีตเป็นบาดแผลในใจที่ทำให้คัตสึรากิไม่ต้องการคู่หูมาเป็นตัวถ่วง ไม่ต้องการรุ่นน้องมือใหม่เข้ามาเกะกะขวางทางให้เกิดความผิดพลาด แม้จะถูกมองเป็นพวกเพอร์เฟ็คชั่นนิตสต์ แต่โทคุนากะหัวหน้าทีมก็ยังเห็นรอยตำหนิที่ควรได้รับการแก้ไข โดยการส่งเด็กใหม่ให้ไปทำงานเป็นคู่บัดดี้

ความซวยตกมาอยู่ที่ไดจิ ปกติเขาก็ไม่เป็นที่พอตาพอใจของรุ่นพี่คัตสึรากิอยู่แล้ว นิสัยบุ่มบ่ามของเขาทำให้เกิดความผิดพลาด ยิ่งพยายามจะช่วยยิ่งผิดพลาด คัตสึรากิที่เคยมีสีหน้าชาเย็นย่อมต้องอารมณ์เสีย โกรธขึ้งและไม่พอใจหนักขึ้น ยิ่งไดจิอยากเป็นที่ยอมรับสักเท่าไร การทำงานร่วมกับคัตสึรากิยิ่งทำให้เกร็งและผิดพลาด

"ผมแค่อยากให้คัตสึรากิซังยอมรับผมเป็นส่วนหนึ่งของทีมเหมือนกัน"

"ยอมรับได้ หมายถึง เขาสามารถฝากชีวิตไว้กับนายได้ นายเป็นแบบนั้นแล้วหรือยังล่ะ"



****

สังเวยชีวิตไปหนึ่งแล้วแบบกระทันหันมิทันตั้งตัว จึงมิทันซึ้งสักเท่าไร ถึงอย่างนั้นก็ไม่คิดว่าจะมีใครตายเพิ่มอีก แต่ดันมี หนนี้ทำเอาน้ำตาไหลพราก การร่วมมือกับหน่วยกู้ภัยของโยโกฮาม่าจัดทำซีรีย์เรื่องนี้ดูแล้วไม่ใช่ทำเท่กันขำๆ เลย แต่ทำอย่างจริงจังตั้งใจที่จะส่งสารไปถึงคนดู เก็บทุกช็อตตั้งแต่การเชิดชูในอาชีพ การสร้างอุทาหรณ์เป็นแบบอย่างไปพร้อมๆ กับการส่งเสริมอุดมการณ์ให้เห็นเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่ามันเป็นสิ่งที่ควรชื่นชมหรือไม่ เช่นเดียวกับการตายครั้งแรก ไม่ได้ทำออกมาให้รู้สึกว่าเป็นการเชิดชูฮีโร่ผู้สละชีวิต แต่ยิ่งตอกย้ำประเด็นที่เป็นข้อกังขา หาบทสรุปไม่ได้ของนักกู้ภัย และใครหลายคนที่ดำเนินตัวตนอยู่ในเรื่อง



ณ สถานที่เกิดภัย ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจเพื่อนร่วมทีมยังติดอยู่ในนั้น ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เป็นสถานการณ์คับขันที่ SR ทั้งทีมระดมกำลังเข้าช่วยเหลือแข่งกับเวลาที่เหลือน้อยลงทุกขณะ คำสั่งจากศูนย์บัญชาการไม่ได้แทรกซึมเข้าไปในโสตประสาท SR แต่ละคนที่กำลังเสียขวัญและกำลังจะพากันตายทั้งทีม แต่ที่สุดแล้วคนเป็นหัวหน้าก็ได้สติ และสั่งให้ทุกคนถอนกำลังจากสถานที่เกิดภัย

เป็นคำสั่งที่ทำให้ทุกคนอึ้ง แต่ก็รู้แก่ใจดีว่า..ที่สุดแล้วต้องทำอะไร ยกเว้น ไดจิ คนที่ไม่เคยถอดใจจากการช่วยเหลือใคร ไม่เคยหันหลังให้ความเป็นพระเอกที่แทบต้องลากคอกันออกมาจากอุโมงค์ใต้ดิน เสียงระเบิดกึกก้องเมื่อพวกเขาหนีออกมาพ้น หาก SR คนอื่นๆ เกลือกกลิ้งเสียใจ ก็คงไม่ต้องพูดถึงไดจิที่แทบคุ้มคลั่ง

เหตุการณ์นี้เหมือนยิงสนุ๊กลูกเดียวลงหลายหลุม สติ ความรอบคอบ ภาวะผู้นำ การตัดสินใจและการยอมรับผลที่เกิดขึ้น และยิ่งเป็นการย้ำ ๆ ซ้ำๆ ประเด็นให้เข้าใจแจ่มชัดซีรีย์เรื่องนี้ต้องการสื่ออะไร

ลูกน้องกล่าวโทษหัวหน้า

"ถ้าเราไม่ถอนกำลังออกมา ถ้าเราช่วยเขาอีกนิด"

เพื่อนกล่าวโทษตัวเอง

"ถ้าเพียงฉันอยู่กับเขา"

หัวหน้าใคร่ครวญสงสัย

"ที่ทำลงไปถูกต้องแล้วหรือเปล่า?"

ในอารมณ์ที่กำลังเสียใจและต้องการระบายออกกลายเป็นการกล่าวโทษทะเลาะชกต่อยกันเอง

"แต่สุดท้ายทุกคนก็เลือกที่จะออกมาไม่ใช่หรือครับ"

คำพูดเรียบๆ ของไดจิทำให้ความวุ่นวายหยุดลงอย่างกระทันหัน เพราะนั่นเป็นคำทิ่มแทงใจใครทุกคน

"แม้แต่เพื่อนร่วมทีมของเรา เราก็ช่วยไม่ได้แล้วเรายังมาทะเลาะกันแบบนี้หรือครับ ศักดิ์ศรีของชาวสีส้มคืออะไร ช่วยบอกให้ผมเข้าใจทีเถอะครับ"

พวกเขาตกอยู่ในอารมณ์เศร้าหมองและจ่อมจมอยู่กับคำถามที่ตอบไม่ได้

"เธอเองก็เห็นแก่ตัวเกินไป ใครๆ ก็อยากจะช่วยเขาด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีใครอยากปล่อยให้เขาตายหรอกนะ"

"ความหมายที่แท้จริงในงานของเราคืออะไรกันนะ เสียสละชีวิตของตัวเราเองเพื่อช่วยเหลือคนอื่น การทำแบบนี้มันถูกต้องแล้วหรือ"

"ไม่ว่าใครก็เป็นคนสำคัญที่มีคนรออยู่ทั้งนั้น เธอเองก็มีครอบครัวนะ ถ้าเธอต้องตายไป แล้วครอบครัวของเธอล่ะ ฉันเอง...ฉันก็ไม่ต้องการสูญเสียคนสำคัญในชีวิตฉันไป"

"จนป่านนี้ ฉันยังตอบตัวเองไม่ได้เลยว่าฉันตัดสินใจถูกหรือเปล่า แต่ฉันรู้อยู่อย่างหนึ่งว่าเราไม่สามารถช่วยชีวิตคนทุกคนได้"


***




ณ ศูนย์บัญชาการ ทีม SR กำลังถูกตำหนิรอการพิจารณาโทษร้ายแรงที่ฝ่าฝืนคำสั่งในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่และเกือบจะพากันตายยกทีม

สำหรับไดจิ มันเกินกว่าที่จะเก็บความรู้สึกไว้ได้อีกต่อไปแล้ว

"แล้วจะให้พวกเราทำยังไงล่ะครับ"

คำถามนี้ทำให้ทุกคน ณ ที่นั้นอึ้ง หันมามอง และแน่นอนว่าเป็นคำถามที่ตอบไม่ได้

"ชีวิตพวกเราต้องเสียงอันตรายทุกเวลาเมื่อยู่ในที่เกิดเหตุ
ถ้าเราไม่สามารถเอาชีวิตไปเสี่ยงแบบนั้นแล้ว
เราก็ไม่สามารถช่วยชีวิตคนอื่นได้นะครับ"


"คิตายามะ เธอคิดว่าตัวเองอยู่ในตำแหน่งไหนกัน
รู้จักตำแหน่งตัวเองไว้ด้วย!"

ไดจิที่เหลือจะทนอีกต่อไปได้โพล่งสิ่งที่เขาคิดออกมาต่อหน้าทุกคน

"ในที่เกิดเหตุไม่มีตรงไหนที่ปลอดภัยหรอกครับ!
ถ้าอย่างนั้นแล้ว จากนี้ไปเราควรจะทำยังไงเหรอครับ
ถ้าไม่ให้เอาชีวิตไปเสี่ยงแล้วจะให้ทำยังไง!"


ซานาดะ ผู้มีอำนาจสูงสุดในหน่วยงาน (เปรียบได้คงเป็นเจ้ากระทรวง) ปรายสายตามองไดจิและเอ่ยถามเสียงเรียบ

"คิตายามะ ไดจิ เธอจะพูดว่าถึงจะต้องเสียสละชึวิตของตัวเองเพื่อช่วยเหลือคนอื่นก็ไม่เป็นไรงั้นเหรอ
แล้วระหว่างชีวิตของนักกู้ภัย กับชีวิตของผู้ประสบภัย ชีวิตใครสำคัญมากกว่ากัน"


"ผมไม่ทราบครับ ถึงแม้จะเป็นอย่างนั้นผมก็ยังต้องการช่วยชีวิตคนอื่นครับ!"

Rescue จึงไม่ใช่เรื่องราวของการสู้เพื่อฝัน แต่เป็นการค้นหาอุดมการณ์

"ความหมายแท้จริงของการช่วยชีวิตคืออะไร"

คำพูดทุกครั้งในสถานที่เกิดภัย เช่น "ต้องกลับมานะ" "อย่าตาย" "รออยู่นะ" มักจะทำให้น้ำตารื้นขอบอยู่ร่ำไป แต่ก็ไม่ถึงกับร้องไห้ ยกเว้นการเสียชีวิตของเพื่อนร่วมทีมในครั้งที่สอง และอีกครั้งกับคำพูดที่ว่า "ในที่เกิดเหตุไม่มีตรงไหนที่ปลอดภัยหรอกครับ!" ถึงกับน้ำตาหล่น เป็นคำพูดที่ตรงแสนตรงที่กินใจ จี๊ดเลย เหมือนกับคำพูดหนึ่งของไดจิ ที่ระเบิดออกมาด้วยความอัดอั้น และทำให้ใครต่อใครพากันพูดไม่ออก "คนที่ทิ้งสมาชิกในทีมไว้ข้างหลัง คงไม่สามารถไปช่วยเหลือคนอื่นได้หรอก" ศักดิ์ศรีของชาวสีส้มที่พร่ำสอน กับสิ่งที่ถูกบีบคั้นให้ทำ มันทำไมขัดแย้งกัน ก็แค่ไม่เข้าใจศักดิ์ศรีของชาวสีส้มคืออะไรกันแน่

"เขาเหมือนมิยาซากิมากเลยนะ"
"ไม่หรอกครับ เขาจะต้องไม่เหมือนมิยาซากิอย่างแน่นอน"


จากคำพูด เหมือนเป็นคำสบประมาทว่าเด็กคนนี้ไม่มีทางที่จะเป็นนักกู้ภัยในแบบที่มิยาซากิเป็นได้ แต่จากสายตาเป็นความคาดหวัง หวังว่าเขาจะไม่เป็นเหมือนมิยาซากิ หวังว่าเด็กคนนี้จะเข้าใจความหมายของการช่วยชีวิตที่ต่างออกไป และบางทีเขาอาจให้คำตอบได้ สำหรับคำถามที่ค้างคาใจใครหลายคนมานาน"ระหว่างชีวิตของนักกู้ภัย กับชีวิตของผู้ประสบภัย ชีวิตใครสำคัญมากกว่ากัน" ลองหยั่งเชิงถามดูเผื่อจะฟลุ้คได้คำตอบ ทว่าไดจิยังคงตอบเหมือนเดิม "ผมไม่รู้ครับ แต่ไม่ว่ายังไงผมก็ต้องการช่วยชีวิตคนอื่นให้ได้ครับ"



แม้ภาพเหตุการณ์จะดูไม่ค่อยเนียน เพราะลักษณะอุบัติภัยต่างๆ น่าจะให้ภาพที่ชุลมุนวุ่นวายมากกว่าที่เห็น แต่ต้องเข้าใจนั่นหมายถึงงบประมาณในการทุ่มทุนสร้าง ได้แค่นั้นก็พอถูไถ แต่ก็ขนใช้เครื่องไม้เครื่องมือแบบครบเครื่องประหนึ่งเป็นสารคดีวิถีกู้ภัย ก็เพิ่งจะเคยรู้นี่แหละว่าการดับเพลิงนั้นมีระบบการใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วย ซึ่งจะต้องแน่ใจว่าได้อพยพคนออกมาจากตัวอาคารแล้วทั้งหมด เพื่อจะปิดกั้นระบบการระบายอากาศและปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา จากนั้นออกซิเจนก็หมดไปและไฟดับพรึ่บในวูบเดียว เริ่ดมากค่ะ (ไม่ต้องเปลืองน้ำ) ในส่วนเนื้อหาของเขาทำออกมาได้น่าประทับใจ ตอกย้ำและพุ่งสู่ประเด็นอย่างไม่ลดละ ดูมาจนถึงตอนที่ 8 คิดว่าซีรีย์เรื่องนี้จะไม่มีคำตอบให้ เพราะจะปล่อยให้คิดเอาเองเหมือนดังคำพูดที่ว่า "คำตอบที่ถูกต้องพวกนายจะต้องหามันด้วยตัวของนายเอง" แต่สุดท้ายแล้วบทสรุปของซีรีย์เรื่องนี้ได้ให้คำตอบเอาไว้ในตอนสุดท้ายอย่างชัดเจน

อันที่จริงคงไม่ยากเย็นหากจะลองคิดกันจริงๆ จังๆ "ชีวิตนักกู้ภัยกับผู้ประสบภัยชีวิตไหนสำคัญกว่ากัน" และในสถานการณ์คับขันที่ต้องเลือก ควรเลือกชีวิตไหน ชีวิตผู้ประสบภัยที่มีใครหลายคนรออยู่ หรือชีวิตนักกู้ภัยที่ยังจำเป็นต่อผู้เคราะห์ร้ายอื่นอีกเป็นจำนวนมาก และเช่นกัน มีคนสำคัญรออยู่ แต่เป็นเพราะมัวไหลไปตามประเด็นที่ซีรีย์แตกมุมมองและสร้างความขัดแย้งเอาไว้ก็เลยไม่ทันคิดถึง พอได้คำตอบจากซีรีย์จึงเพิ่งรู้ตัวว่า

"เออน่ะ.. เรื่องง่ายๆ แค่นี้ทำไมคิดไม่ถึงนะ" (5555 โง่เนอะ )

"ชีวิตนักกู้ภัยกับผู้ประสบภัย ชีวิตใครสำคัญมากกว่ากัน"
"ที่ตัดสินใจทำลงไป มันถูกต้องแล้วหรือเปล่า"

คำถามที่ใครๆ เฝ้าสงสัย เซริซาวะ ผู้บัญชาการหน่วยฯ โทคุนากะ หัวหน้าทีม (อดีตหัวหน้า และเพื่อนของมิยาซากิ ผู้ร่วมอยู่ในเหตุการ์วันนั้น) พวกเขาต่างพยายามค้นหาคำตอบนับจากวันที่มิยาซากิเสียชีวิตมาตลอดระยะเวลา 15 ปี ยังตอบไม่ได้ ยังข้ามผ่านความเสียใจไปไม่พ้น

ในที่สุด คิตายามะ ไดจิ ก็มีคำตอบมาให้ เพราะเขาเข้าใจแล้ว เข้าใจอย่างแน่ชัด ความหมายของการช่วยชีวิตคืออะไร สิ่งที่คนอื่นไม่เคยเข้าใจและตัวเขาเองก็ไม่เคยรู้ตัว ทำไมต้องทุ่มเทขนาดนั้น? นักกู้ภัยหลายคนมีจิตใจที่เสียสละและพร้อมอุทิศให้ พวกเขาจึงสัมผัสอันตรายและมองเห็นความตายรออยู่ในเหตุการณ์ตรงหน้าเสมอ คิตายามะ ไดจิ ที่พุ่งโจนเข้าไปช่วยคนอื่นก็มีจิตใจดังนั้น แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเขาพร้อมจะตายเพื่ออุทิศให้ ตรงกันข้ามเขาไม่เคยคิดว่าจะตายเลยต่างหาก นั่นทำให้เขาเป็นอะไรที่แตกต่าง และผลของมันก็แตกต่าง

ถ้าอยากรู้คำตอบของไดจิให้ชัดๆ ดู RESCUE สิคะ

เพราะส่วนตัวแล้วคิดว่า มันช่าง...มันช่าง เป็นคำตอบที่ควรคิดได้แต่ไม่ได้คิด เป็นบทสรุปที่ง่ายๆ งดงามและลงตัว เป็นซีรีย์ฮีโร่ที่ขอติดยี่ห้อ "เท่ขนานแท้" ให้อย่างเต็มใจ




*****
นักแสดง











ในอินเตอร์เน็ตดูเหมือนว่าชื่อของ Masuda Takahisa สมาชิกวง News จะเป็นจุด "พยายามขาย" ที่เกินหน้าเกินตา Nakamaru Yuichi สมาชิกวง Kat-Tun ผู้รับบทเป็นพระเอกซะอีก ไม่รู้จักทั้งสองคน แต่ถ้าให้เทียบแนวหน้าตาก็ชอบหนุ่ม Kat-Tun มากกว่า หากใครเป็นแฟนหนุ่ม News และหลงติดตามมาดูซีรีย์เรื่องนี้อาจมีเสียอารมณ์เล็กน้อย เพราะบทบาทของมัสสึดะก็เงียบๆ เรียบๆ ไม่ได้มีความโดดเด่นอะไร ตรงกันข้ามกับ ยามาโมโตะ ยูสุเกะ ซึ่งหากใครเปิดมาดูระหว่างทางโดยข้ามตอนที่ 1 มาล่ะก็ อาจมีหลงเข้าใจผิดคิดว่ายูสุเกะเป็นพระเอกของเรื่องกันบ้างล่ะ

ความจริงแล้ว ถ้าจะจัด Rescue อยู่ในคิว "ซีรีย์อยากดู" ก็คงอยู่อันดับหางว่าวไกลแสนไกลที่แทบจะลืมไปแล้ว แต่เป็นเพราะบังเอิญปรายสายตาไปพบรายชื่อนักแสดง ไดอิโตะ ชุนสุเกะ และ ยามาโมโตะ ยูสุเกะ สองหนุ่ม Gymnastic boys จากเรื่อง Tumbling ดังนั้น เนื้อหาจะเป็นอย่างไรค่อยว่ากัน ขอลัดคิวขึ้นมาเพื่อดูหน้าหนุ่มๆ (ของฉัน) ก่อนเป็นพอ และบทบาทของยูสุเกะในเรื่องนี้ถือว่าเด่นมากเพราะโดดเด้งเคียงคู่พระเอกในฐานะสองขั้วของมุมมองที่ต่างกันและนิสัยอันแตกต่าง ส่วนไดอิโตะชุนรับบทเป็นหนุ่มจอมโวย ไม่ได้เป็นคนดีเด่อะไร แต่ก็ไม่ใช่คนไม่ดี ขอแค่ได้หัวเสียเข้าไว้ โวยวายไว้ก่อน แต่เอาเข้าจริงก็รักเพื่อนและมีข้ออ้างแก้เขินว่า "ก็ฉันมันไม่มีทางเลือกนี่หว่า" ถ้าเทียบกันกับบทใน Tumbling จะเห็นได้ว่าสองคนนี้เหมือนสลับบทกัน เพราะใน Tumbling ไดอิโตะ จะนิ่งเย็น ส่วนยูสุเกะร้อน มาเรื่องนี้ไดอิโตะร้อน ยูสุเกะเย็น (เย็นชา) ชอบมากเลยค่ะเวลาที่เห็นนักแสดงที่ชอบอยู่ในบทบาทการแสดงที่แตกต่าง ไดอิโตะที่ขรึมเท่กลายเป็นจอมโวยที่น่ารักไปซะงั้น



นากามารุ ยูอิจิ ผู้รับบทพระเอก ขอยืนยัน นั่งยันเขาไม่ใช่คนหล่อ แต่ไม่รู้ทำไมหน้าตาถึงได้เข้ากันกับบทบาทเสียจริงๆ หน้าตาดูเป็นคนดี ซื่อๆ ตรงๆ โดยปกติพระเอกแนวนี้จะไม่ได้ใจแม่ยกเท่าที่ควร ยิ่งมียูสุเกะมาทำตัวเป็น กขค. (กองขี้ควาย) คอยขัดขวางอยู่ในคาแร็คเตอร์เย็นชาไร้อารมณ์แต่รีดเรตติ้งแบบที่มีพระเอกแนวนี้ทำได้ในละครหลายๆ ตัวอย่างเช่น เช่น ยามะพี ใน code blue

การเริ่มคุ้นชินกับซีรีย์ญี่ปุ่นแนวสัมมาอาชีพลักษณะนี้ ทำให้ลำพองใจว่าง่ายที่จะรู้ทิศทางการดำเนินเรื่อง เค้ารางของบทบาทตัวละคร และประเด็นที่มักเป็นเชิงสร้างสรรค์ต่อจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ แต่ Rescue ดูจะเพี้ยนไปจากความคิดภายใจที่ได้ตั้งป้อมเอาไว้อยู่ไม่น้อย ที่ตั้งป้อมว่าคงจะเป็นซีรีย์แนวเท่เพื่อเชิดชูฮีโร่ในสายอาชีพนักกู้ภัย ซึ่งหากไม่มีเหตุฉุกเฉินนาทีชีวิตคงไม่มีใครนึกถึงมากนัก ใครสักคน (ซึ่งก็หนีไม่พ้นพระเอก) คงใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักกู้ภัยและคอยช่วยเหลือผู้คนตามสไตล์พระเอกฮีโร่ และคงหนีไม่พ้นการพัวพันอยู่ในเรื่องของ เพื่อน มิตรภาพ การปรับตัวเข้าหากันเพื่อประกอบกิจในรูปแบบของทีมเวิร์ค แต่พบว่า นี่ไม่ใช่เป็นเชิงความฝันนัก แต่เป็นเรื่องของการยึดมั่นในอุดมการณ์ (กินไม่ได้แต่เท่) ที่เข้าใจเอาเองว่าโดยธรรมชาติของมัน "มีอยู่ สำคัญ" แต้น้อยคนนักจะมองเห็นคุณค่า ยกย่อง และเอาเยี่ยงอย่าง อุดมการณ์จึงเป็นสิ่งที่ไม่ฮิต

ก็เหมือนกับสิ่งที่พระเอกคิดและพูด ไม่มีใครออกปากสนับสนุนว่าถูก แต่ก็ไม่มีใครสักคนที่กล้าบอกว่ามันผิด ใจหนึ่งก็พากันคิดว่า คนอย่างเขาไม่เหมาะที่จะเป็น SR ส่วนอีกใจหนึ่งก็ยังอยากเชื่ออยู่ลึกๆ คนจิตใจแบบนี้แหละที่จะเป็นแบบอย่างที่ดีในการปลูกจิตสำนึกในหน้าที่และกระตุ้นจิตใจของการเป็นนักกู้ภัยที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความหวังในการกอบกู้ชีวิตผู้คน

"ฉันดีใจที่นายถูกไล่ออก"
"คนอย่างคิตายามะ ไดจิ ไม่ช้าไม่นานเขาจะต้องตายเพราะการกู้ภัยแน่"
"นี่เป็นทางเดียวที่จะปกป้องเค้าไว้ได้"


คิดไว้แต่แรกซีรีย์คงจะเน้นให้ผู้ชมได้มองเห็นความสำคัญและยกย่อง "ฮีโร่" แบบเต็มพิกัด แต่ดูแล้วนั่นคงจะเป็นแค่ผลพลอยได้ เพราะเรื่องที่สื่อออกเหมือนว่าเป้าหมายจะพุ่งตรงไปยังตัวฮีโร่เองซะมากกว่า ให้เห็นถึงคุณค่าของอาชีพ ในขณะเดียวกันก็ต้องตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของชีวิตตัวเองด้วย การนำเสนอจากมุมมองของฝ่าย "ผู้ได้รับการช่วยเหลือ" ถือว่ามีน้อยมาก เพราะเนื้อหามาจากมุมของการเป็นฝ่าย "ผู้ให้การช่วยเหลือ"เสียส่วนใหญ่



บทบาทที่ชอบเป็นพิเศษ ต้องเป็น โทคุนากะ หัวหน้าทีม SR เพราะเป็น "บทดี" และชอบนักแสดงอาวุโสคนนี้ด้วย เหตุที่คุณน้าหน้าตาคล้ายคลึงกับคุณน้าอีกคนที่เป็นนักแสดงอาวุโสของช่องเจ็ด "เฉลิมพร พุ่มพันธุ์วงศ์"

อีกบทคือ คัทซึรากิ ผู้เป็น SR Senior แสดงโดย จุน คานาเมะ เพราะเป็นบทซีเนียร์ที่หล่อเท่ และดุชิปเป้ง

ตัวละครหญิง (เกือบลืมอีกละ ) เรื่องนี้มีความใกล้ชิดมากแล้วถ้าเทียบกับซีรีย์เรื่องอื่นๆ เพราะหนุ่มๆ สาวๆ เขาอยู่สังกัดเดียวกันเพียงแต่ทำงานคนละหน่วยหน้าที่ พบปะกันในสถานที่เกิดภัย กลายเป็นเพื่อนสังสรรค์ และมีความสำคัญในสัมพันธ์ลึกๆ กับนางเอกคนนี้เฉยๆ ค่ะ ไม่เห็นน่ารักเลย ถ้าเปลี่ยนบทกันได้กับคู่ของ จุน คานาเมะ คือ "ยูมิน" ผู้เป็นลูกครึ่งเกาหลีและมีชื่อญี่ปุ่นว่า ฟุอิโกะ ยูโกะ แก้มบุ๋มของเธอน่ารักใช่ย่อย รับบทเป็นซีเนียร์ในหน่วยบริการฉุกเฉินที่คอยดุว่านางเอกเหมือนเรื่อง Attention Please ที่เธอเป็นรุ่นพี่นางฟ้าของนางเอกผู้เป็นแอร์โฮสเตสฝึกหัดเลยค่ะ แต่เรื่องนี้ใจดีกว่าเยอะ



ไม่ค่อยเห็นรีวิวเรื่องนี้จากที่ไหน จึงคิดว่าไม่ได้เป็นที่นิยมอะไร แต่ส่วนตัวแล้วชอบค่ะเรื่องนี้ ไม่เกี่ยวกับ ไดอิโตะ ชุนสุเกะ หรอกนะคะ แต่ชอบเพราะดูแล้วซึ่งดี ที่สำคัญคือ เป็นซีรีย์ที่เท่มาก



ภาพและข้อมูลจาก
//www.blike.net
//www.tbs.co.jp/rescue2009/
//www.dvdasianseries.com/




Create Date : 01 ธันวาคม 2553
Last Update : 22 กุมภาพันธ์ 2558 8:48:48 น. 5 comments
Counter : 5038 Pageviews.

 
มาดักทักทายคุณมะนาวอยู่ตรงนี้

ขอบคุณสำหรับหลังไมค์นะคะ

คุณมะนาวไปดูโขนนางลอยรอบไหนมาคะ prysang ไปดูรอบวันเสาร์ที่ 20 บ่ายสองโมงค่ะ จองช้าแต่ก็ได้ที่นั่งแถวกำลังดีค่ะ เพราะการจองที่นั่งสำหรับนั่งดูคนเดียวนั้นทางสะดวกมาก (เพื่อนขัดคอว่ามันเป็นหนึ่งในข้อดีไม่กี่อย่างของคนโสดที่ไม่ควรเก็บมาดีใจ 555)

ตอนเปิดฉากท้องพระโรงครั้งแรก น้ำตาซึมเลยค่ะ เพราะเขากล่าวเบิกโรงถึงสมเด็จพระนางเจ้าฯ ก่อนด้วยมั้งคะ แล้วส่วนตัวนอกจากในทีวีไม่กี่ครั้งก็ไม่เคยมีโอกาสดูโขนจริงๆ เลยสักหน อยากดูมาตั้งแต่เด็กแล้ว (แต่ได้ดูเฉพาะมวยไทยกับพ่อและลิเกกับยายตามงานวัด) พอได้ดูของจริงซะทีจึงปลื้มใจมาก แล้วฉากเปิดด้วยท้องพระโรงของกรุงลงกาก็สวยงามจริงๆ

แต่วันนั้นก็เหนื่อยมากเพราะวันศุกร์กลับดึกแล้วยังตื่นเช้าไปทำงานวันเสาร์ด้วยค่ะ แล้วโขนเนี่ยเขาก็ร้องซะเพราะพริ้งขนาดนั้น ก็เลยมีเผลอหลับไปด้วยช่วง ทศกัณฐ์เกี้ยวหลานสาวเบญจกายที่แปลงเป็นนางสีดา ตื่นมา อ้าว .. ทศกัณฐ์กำลังออกอาการขายหน้าอยู่พอดี (เสียดายจัง)

ชอบท่าโดดนั่งตัวตรงแน่วของทศกัณฐ์มากๆ ค่ะ ส่วนตอนที่ชอบที่สุดคงเป็นตอนหนุมานจับเบญจกายขึ้นเผาไฟ แต่ตอนรำฉุยฉายก็ชอบ รำนี้ก็อยากเห็นการรำจริงๆ ที่ไม่ใช่ในทีวีมานานละ (รำโดยนางเอกละครที่ส่งท้ายด้วยการส่งมาลัยให้พระเอก) ตอนเด็กๆ นี่เพ้ออยากเป็นนางรำฉุยฉายกับเค้าด้วยล่ะ ชอบชฏาทัดมาลัยที่นิยมสวมใส่กันในการรำแบบนี้ค่ะ แต่ครูให้รำเซิ้งกะลา แถมยังทำกะลาร่วง และจากนั้นครูก็ไม่กล้าบังคับจิตใจให้ออกงานอีกเลย (ไม่ได้แผนสูงนะคะ แค่ซุ่มซ่าม)

ซื้อแผ่นตอนพรหมมาศมาด้วยค่ะ ว่าจะดูวันหยุดนี้ สมใจนึกนะคะ ตอนกรอกแบบสอบถาม ที่ว่าปีหน้าอยากให้แสดงตอนอะไร เลือกศึกไมยราพ และเขาก็ประกาศว่าสมเด็จฯ พระองค์ท่านเลือกตอนนี้ให้จัดแสดงในปีหน้า จะไม่พลาดอย่างแน่นอนค่ะ

นอกจากประทับใจการแสดงแล้ว ยังประทับใจท้ายรายการด้วยค่ะ เพราะเสียงปรบมือดังกึกก้องมาก พอดังนานแล้วเสียงซาลง ก็ดังขึ้นอีก เป็นแบบนั้นอยู่หลายรอบ ปรบมือจนเจ็บแต่ก็ยังเต็มใจปรบให้ ตอนปิดม่านแล้วเปิดออกส่งท้ายที่นักแสดงและปีพาทย์ทั้งหมดมายืนรวมตัวกันในเวลาสั้นๆ แค่ปิดม่านไปแป๊บเดียว เปิดออกมาวึ่บ! โห..เป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงามน่าชื่นชมมากเข้าใจอารมณ์น้องหนูโนดาเมะ ร้องไห้ให้ท่านจิอากิตอนจบการแสดงเลยค่ะ เพราะคนดูในที่นั่งพากันลุกยืน ปรบมือ โบกมือให้ และชูนิ้วโป้ง ด้วยอารมณ์ชื่นชมอย่างแท้จริง ก็เลยปลื้มสุดๆ น้ำตารื้นกันเลยทีเดียว

ประทับใจจริงๆ ปีหน้าต้องไปดูกันใหม่ค่ะ





โดย: prysang วันที่: 1 ธันวาคม 2553 เวลา:2:32:35 น.  

 
เรื่องนี้เหมือนการส่งไม้ต่อกันเลยนะคะ
เพราะอ่านที่บอกว่ามิยาซากิถอดนาฬิกาส่งให้ไดจิ
เหมือนจะบอกเป็นเลาๆนะคะว่าเจ้าหนู
ช่วยสานต่อภารกิจนี้ต่อไปด้วยนะ
การให้นาฬิกา จึงเหมือนการมอบภารกิจให้ไดจิสานต่อ(อิอิ คิดเอง)
เรื่องนี้บอกว่าไม่ใช่สู้เพื่อฝันแต่เป็นการค้นหาอุดมการณ์
รู้สึกว่าพระเอกจะอุดมการณ์จ๋าเลยนะคะ
แต่คำพูดที่กระแทกใจอย่างแรงคือ"เราไม่สามารถช่วยชีวิตคนทุกคนได้"
จริงแท้แน่นอนเลยค่ะ เพราะในชีวิตจริงที่เจออยู่ก็เป็นอย่างนั้นจริงๆค่ะ
แล้วทีมSR ไม่น้อยใจบ้างเหรอคะที่"ไม่ได้รับการชื่นชมถ้าทำงานสำเร็จ
แต่จะถูกตำหนิทันทีถ้าทำงานล้มเหลว"เพราะอ่านดูแล้วเป็นงานที่มีความกดดันสูง
แล้วไม่สติแตกกันบ้างเหรอคะ
แถมคุณprysangยังมีทิ้งท้ายไว้ซะอีกว่า
"ชีวิตนักกู้ภัยกับผู้ประสบภัยชีวิตใครสำคัญกว่ากัน"
ที่จริงมะนาวมีคำตอบนี้อยู่ในใจแล้วล่ะค่ะ
แต่ก็อยากรู้ว่าซีรีส์จะบอกว่าอย่างไร
เพราะฉะนั้นคงไม่ต้องบอกว่าต้องไปขวนขวายหามาดูแน่นอนค่ะ
และ555 มะนาวเพิ่งรู้นะคะว่ากขค.หมายถึงกองขี้ควาย 555

ส่วนโขนพระราชทานนางลอย มะนาวไปดูรอบวันเสาร์ที่20เวลาทุ่มครึ่งค่ะ
ได้ที่นั่งไม่ค่อยดีเท่าไหร่ค่ะ เพราะยกขบวนกันไปเป็นพวง
ก็เลยต้องจองที่นั่งให้ติดกัน ผลคือต้องไปนั่งอยู่ตรงมุมๆไม่ได้นั่งตรงกลางค่ะ
แต่ก็โอเคนะคะ พอมองเห็นค่ะ มะนาวประทับใจ ฉากแสงสีเสียงมากเลยค่ะ
มะนาวว่าทำได้ดีและสวยงามมากเลย ดูออกเลยนะคะว่าตั้งใจทำ
ส่วนตัวแสดงที่เป็นนางเบญกาย รำได้งดงามอ่อนช้อยมากเลยนะคะ
แต่รู้สึกว่าจะมีแสดง2คนใช่ไหมคะ คนที่รำฉุยฉายนั่นล่ะค่ะที่มะนาวว่ารำสวย
คงเป็นคนเดียวกับที่คุณprysangชื่นชม
คุณprysangมีแอบหลับด้วยเหรอคะ คงเพราะเหนื่อยใช่ไหมคะ แต่มะนาวไม่หลับค่ะ
เพราะที่นั่งใกล้ๆกันมีคุณพ่อลูกอ่อนคอยอธิบายเรื่องราวให้ลูกสาวตัวเล็กฟัง
มะนาวเลยขอเสนอหน้าฟังเขาอธิบายไปด้วย เลยไม่มีเผลอหลับค่ะ
ฉากทศกัณฑ์เขินที่เผลอจีบหลานตัวเองเลยได้เห็นแบบเต็มๆเลยค่ะ
555เห็นผู้ชายตัวโตเท่ายักษ์เขินนี้ เรียกเสียงหัวเราะได้กระหึ่มเลยนะคะ
แล้วรอบของมะนาวก็มีปรบมือแล้ว ปรบมืออีก ปรบกันจนมือเจ็บเลยล่ะค่ะ
ทุกคนที่บ้านชอบกันทุกคนเลยล่ะค่ะ บอกว่าคุ้มค่ากับที่ต้องฝ่าฟันรถติดมาดูจริงๆค่ะ
ปีหน้ามะนาวก็ไม่พลาดเช่นกันค่ะ




โดย: มะนาวเพคะ IP: 125.24.74.238 วันที่: 1 ธันวาคม 2553 เวลา:18:15:53 น.  

 
ครับอ่านแล้ว คล้ายกับเรือ่ง Fire Boys
อยู่ไม่น้อยเหมือนกัน สงสัยโครงสร้างข้อบังคับ
ของหนังแนว ฮีโร่ไลฟ์ คงไม่พ้นแนวขนบนี้นะครับ

แต่น้อยจังนะครับมีแค่เก้าตอนเอง
แต่หน่วยงาน Rescue ที่ท่านว่า ก็มีกล่าวถึง
ตอนสองตอนใน fire boys ด้วยนะครับ
แต่ดูเหมือนจะพูดในแนว ซูเปอร์เกรดเอ
ทั้งๆที่พระเอกไดอิจิ ก็ประเภทรักษาสถาบันองค์กรอ่ยางเหนียวแน่น
เป็นอันว่า เท่าที่อ่าน คงไม่ต้องไปหาเพิ่มในมูลค่า

รูปแบบการนำเสนอ หนักไปทางมีอิทธิพล
ต่อ code blue มากเลยนะครับ
เห็นว่าผู้กำกับจะเป็นคนเดียวกัน


โดย: Mr.Chanpanakrit วันที่: 1 ธันวาคม 2553 เวลา:22:36:25 น.  

 

มิน่าล่ะคะ ตอนดูๆ อยู่ถึงไพล่ไปนึกถึง Code Blue อย่างไม่มีปี่มีขลุย ถึงจะเป็นคนละแนวอาชีพ แต่ละม้าย โดยเฉพาะเรื่องของการสื่อด้วยถ้อยคำ มันช่าง โดนใจ ใช่เลย


โดย: prysang IP: 58.8.203.219 วันที่: 1 ธันวาคม 2553 เวลา:23:01:45 น.  

 
ขอบคุณมากนะค่ะ ที่แวะไปแนะนำหนังญี่ปุ่นค่ะ แวะมาทักทายค่ะ ฝันดีนะค่ะ
ต้องเข้ามาดูบ่อย ๆ แล้ว ท่าจะคอหนังญี่ปุ่นนะค่ะเนี้ย ^^


โดย: ดับเบิ้ลเจ วันที่: 14 มกราคม 2554 เวลา:3:43:36 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

prysang
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 98 คน [?]




จำนวนผู้ชม คน : Users Online
New Comments
Friends' blogs
[Add prysang's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.