Ieri, oggi, e domani, c'e sempre e solo l'inter

เครื่องสำอางป้องกันแสงแดด

เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในเขตร้อน มีแสงแดดจัดเกือบตลอดปี ในชีวิตประจำวันจึงยากที่จะหลบเลี่ยงแสงแดด และโดยที่แสงจากดวงอาทิตย์ประกอบไปด้วยรังสีในรูปของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหลายชนิด เช่น รังสีแกมมา รังสีเอ็กซ์ รังสีอัลตราไวโอเลต (UV) รังสีที่มองเห็นได้ และรังสีอินฟราเรด เป็นต้น

โดยรังสีที่มีผลต่อร่างกายของเรามาก คือ รังสี UV ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นคลื่นแสงที่มองไม่เห็น มีความยาวคลื่นสั้นกว่าแสงที่ให้แสงสว่าง รังสีอัลตราไวโอเลตแบ่งเป็น รังสีคลื่นยาว (ยูวีเอ) และรังสีคลื่นสั้น(ยูวีบี) รังสีอัลตราไวโอเลตมีประโยชน์ต่อร่างกาย คือ ช่วยสร้างวิตามินดี ซึ่งการสร้างวิตามินดีปริมาณที่เพียงพอนั้น ต้องการแสงแดดเพียงแค่ 10 – 15 นาทีต่อวันเท่านั้น หากได้รับรังสีอัลตราไวโอเลตมากเกินไป จะทำให้ผิวหนังเหี่ยวย่นก่อนวัย เกิดผิวไหม้ และอาจทำให้เป็นมะเร็งผิวหนังได้ จึงควรหลีกเลี่ยงแสงแดดในช่วงเวลาที่แดดจัด หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ การใช้เครื่องสำอางป้องกันแสงแดดจะช่วยป้องกันผิวของเราจากรังสีอัลตราไวโอเลตได้

การหลีกเลี่ยงแสงแดด
หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งในช่วงเวลาที่แสงแดดจัดจ้า เช่นในเวลา 10.00 น. - 16.00 น. ถ้าไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ก็ไม่ควรถูกแสงแดดในระยะเวลานี้นานเกิน 20 นาที รวมถึงวันที่ครึ้มฟ้าครื้มฝนก็ควรหลีกเลี่ยงการทำ กิจกรรมนอกบ้านระหว่างเวลา 10.00 น.-16.00 น.เช่นกัน เพราะจะทำให้เราได้รับไอแดดมากถึงร้อยละ 80 นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้แสงสะท้อนจากทราย น้ำและคอนกรีต เพราะจะทำให้ผิวหนังได้รับแสงปริมาณมากขึ้น รวมทั้ง ผู้ที่รับประทานยา หรือใช้ยาทาบางชนิด และการใช้เครื่องสำอางบางชนิด อาจทำให้เกิดการแพ้แสงได้เมื่อถูกแดด จึงควรปรึกษาแพทย์ผิวหนังด้วย การอยู่ในอาคารบ้านเรือนที่มิดชิด รถยนต์ ร่มไม้ชายคา การสวมเสื้อผ้า หมวก ร่ม ตลอดจนการใช้เครื่องสำอางป้องกันแสงแดด ก็เป็นทางเลือกสำหรับหลีกเลี่ยงอันตรายจากแสงแดดได้

เครื่องสำอางป้องกันแสงแดด
การใช้เครื่องสำอางป้องกันแสงแดดมีจุดประสงค์เพื่อลดปริมาณรังสีอัลตราไวโอเลตที่จะมาถึงผิวหนังโดยการสะท้อนหรือดูดกลืนรังสี ดังนี้
1. ป้องกันโดยการสะท้อน
โดยการใช้สารที่เป็นตัวสะท้อนแสง(Physical sunscreen) เช่น ซิงก์ ออกไซด์ (Zinc oxide) ไตตาเนียม ไดออกไซด์ (Titanium dioxide) แมกนีเซียม คาร์บอเนต(Magnesium carbonate) และ แมกนีเซียม ออกไซด์ (Magnesium oxide) เป็นต้น มีคุณสมบัติป้องกันไม่ให้รังสีอัลตราไวโอเลตถึงผิวหนัง โดยจะเคลือบอยู่ที่ผิวไม่ดูดซึมเข้าสู่ผิวหนัง เครื่องสำอางกลุ่มนี้เนื้อครีมจะมีสีขุ่น จึงไม่เป็นที่นิยม เพราะหน้าจะดูขาวไม่เป็นธรรมชาติ และมีข้อเสียคือเหนอะหนะไม่น่าใช้ และมักจะอุดรูขุมขนทำให้เป็นผดหรือรูขุมขนอักเสบได้ แต่โอกาสที่จะทำให้เกิดการแพ้ ระคายเคืองน้อยกว่าชนิดดูดกลืนแสง
2. ป้องกันโดยการดูดกลืนแสง
โดยใช้สารดูดกลืนรังสีอัลตราไวโอเลต ( Chemical sunscreen) ได้แก่ พาบา ( PABA ) แอนทรานิเลต ( Anthranilate ) เบนโซฟีโนน ( Benzophenone ) และซินนาเมต ( Cinnamate ) เป็นต้น ทำให้แสงแดดไม่สามารถผ่านไปทำอันตรายต่อผิวหนังได้ สารพวกนี้มีสีใส เมื่อทาผิวแล้วจะไม่เปลี่ยนสี แต่มีโอกาสซึมเข้าสู่ผิวหนัง ทำให้เกิดการแพ้ระคายเคืองได้ เครื่องสำอางป้องกันแสงแดดกลุ่มนี้ส่วนใหญจะเป็นเครื่องสำอางควบคุม

คุณสมบัติของสารป้องกันแสงแดด
ปัจจุบันเครื่องสำอางป้องกันแสงแดดมักใช้สารหลายชนิดร่วมกัน เพื่อป้องกันรังสีคลื่นยาว(ยูวีเอ) และรังสีคลื่นสั้น(ยูวีบี) แต่ประสิทธิภาพของสารป้องกันแสงแดดจะพิจารณาจากประสิทธิภาพในการป้องกันแสงแดดจากรังสียูวีบีเท่านั้น โดยใช้ค่า SPF ( sun protective factor) ตัวอย่างเช่น เครื่องสำอางป้องกันแสงแดด ที่มีค่า SPF = 2 หมายความว่า เมื่อทาเครื่องสำอางป้องกันแสงแดดตัวนี้แล้วจะป้องกันผิวไหม้แดดเป็นเวลานาน 2 เท่า เมื่อเทียบกับ ตอนไม่ได้ทา เช่นถ้าไม่ทาเครื่องสำอางป้องกันแสงแดด แล้วออกแดดเป็นเวลา 10 นาที จึงเริ่มมีอาการแดงที่ผิว ซึ่งเป็นอาการของผิวไหม้แดด หากทาเครื่องสำอางป้องกันแสงแดดชนิดนี้ แล้วต้องใช้เวลาถึง 20 นาที ผิวจึงเริ่มไหม้แดด จะเห็นได้ว่ายิ่งมีค่า SPF สูงขึ้น ประสิทธิภาพในการกันแดดก็จะสูงขึ้นด้วยคือมีฤทธิ์ป้องกันยาวนานขึ้น

การเลือกซื้อเครื่องสำอางป้องกันแสงแดด
เครื่องสำอางป้องกันแสงแดดที่มีจำหน่าย แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ
1. เครื่องสำอางควบคุม
เป็นเครื่องสำอางป้องกันแสงแดดที่มีส่วนผสมของสารป้องกันแสงแดด ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดเป็นสารควบคุม จำนวน 19 ชนิด ซึ่งสามารถศึกษาได้จากรายละเอียดตามบัญชีท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 8 (พ.ศ.2536) และกำหนดอัตราส่วนสูงสุดที่ให้ใช้สำหรับสารแต่ละชนิดด้วย ผู้ผลิต ผู้นำเข้าเครื่องสำอางป้องกันแสงแดดที่มีส่วนผสมของสารป้องกันแสงแดดที่เป็นสารควบคุม ต้องแจ้งรายละเอียดต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ก่อนผลิต หรือนำเข้า และที่ฉลากต้องแสดงข้อความ “ เครื่องสำอางควบคุม ” และแสดงคำเตือน ดังนี้
- เก็บให้พ้นแสงแดด
- หากเกิดอาการคัน ระคายเคืองหรือมีเม็ดผื่นแดง ควรหยุดใช้และปรึกษาแพทย์
หากพบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางใด มีปริมาณสารควบคุมเกินกว่าอัตราสูงสุดที่กำหนดให้ใช้ ถือว่าเป็นเครื่องสำอางที่มีวัตถุห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง ไม่ปลอดภัยในการใช้ กฎหมายห้ามไม่ให้ผู้ใดผลิตเพื่อขาย นำเข้าเพื่อขาย หรือขายเครื่องสำอางเหล่านี้ หากฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน หกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. เครื่องสำอางทั่วไป
เป็นเครื่องสำอางป้องกันแสงแดดที่ประกอบด้วยสารป้องกันแสงแดดชนิดที่ไม่ได้ประกาศเป็นสารควบคุม เช่น ไตตาเนียม ไดออกไซด์ และ ซิงก์ ออกไซด์ เป็นต้น
เครื่องสำอางทั้งสองกลุ่ม จะต้องมีฉลากภาษาไทย แสดงชื่อและประเภทของผลิตภัณฑ์ ชื่อและปริมาณส่วนประกอบสำคัญ ชื่อที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า เลขที่แสดงครั้งที่ผลิต วันเดือนปีที่ผลิต วิธีใช้ ปริมาณสุทธิ และคำเตือน (ถ้ามี)

การเลือกใช้เครื่องสำอางป้องกันแสงแดด
โดยทั่วไปการหลีกเลี่ยงแสงแดดเป็นสิ่งดีที่สุด ในกรณีที่ต้องการใช้เครื่องสำอางป้องกันแสงแดด มีข้อแนะนำในการเลือกใช้ดังนี้
1. เครื่องสำอางป้องกันแสงแดดที่มีประสิทธิภาพจะต้องบอกค่า SPF เช่น SPF 8 , 12 , 15 , 25 หรือ 30 เป็นต้น การเลือกใช้ขึ้นกับจุดมุ่งหมาย เช่น ผู้ที่ต้องอยู่ในแดดจ้าเป็นเวลานานๆ ควรเลือกชนิดที่มี SPF สูง เช่น SPF 15 หรือมากกว่า สำหรับผู้ที่ใช้เครื่องสำอางทาผิวหน้าที่มีส่วนผสมของสาร เอ เอช เอ ต้องใช้เครื่องสำอาง ป้องกันแสงแดด ควบคู่ไปด้วยเนื่องจาก เอ เอช เอ จะทำให้ผิวหน้าไวต่อแสงแดดมากขึ้น
2. เลือกดูที่ฉลากระบุว่ากันน้ำหรือไม่ เพราะกรณีต้องการป้องกันแสงแดดขณะว่ายน้ำควรเลือกชนิดที่กันน้ำ (water resistance) ถ้าใช้ขณะอากาศร้อนมากเหงื่อออกง่าย หรือป้องกันแสงแดดเมื่อเล่นกีฬา ควรเลือกชนิดทนต่อเหงื่อ (sweat resistance)
3. ควรเลือกชนิดที่ฉลากระบุว่าสามารถป้องกันรังสียูวีเอหรือยูวีบีหรือป้องกันได้ทั้งสองอย่าง เพราะรังสี ยูวีเอทำให้ผิวเหี่ยวย่น รังสียูวีบีทำให้ผิวไหม้แดดและทำให้เกิดมะเร็งของผิวหนัง

ข้อแนะนำการใช้
* ควรทาเครื่องสำอางป้องกันแสงแดด ก่อนออกแดดอย่างน้อย 30 นาที เพื่อให้เนื้อผลิตภัณฑ์เคลือบติดที่ผิวได้ดี ก่อนที่จะไปถูกแสงแดด สารป้องกันแสงแดดที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์ จะได้ปกป้องผิวไม่ให้เป็นอันตรายจากแสงแดดได้ดียิ่งขึ้น
* ควรทาเครื่องสำอางป้องกันแสงแดด ให้ทั่วบริเวณที่จะต้องถูกแสงแดด ยกเว้นบริเวณรอบดวงตาและรอบริมฝีปาก หากต้องการปกป้องริมฝีปากในขณะออกแดด สามารถใช้ลิปสติกที่มีส่วนผสมของสารป้องกันแสงแดดได้
* ในกรณีเล่นกีฬากลางแจ้ง หรืออยู่กลางแจ้งมีเหงื่อออกหรือว่ายน้ำ ต้องทาเครื่องสำอางป้องกันแสงแดด ซ้ำทุก 1 ชั่วโมง
* ควรทาเครื่องสำอางป้องกันแสงแดดให้เหมาะกับการแต่งหน้า ถ้าเป็นเครื่องสำอางป้องกันแสงแดดประเภทสารที่เป็นตัวสะท้อนแสง( Physical sunscreen ) ควรทาหลังสุดเพื่อไม่ให้ขัดขวางเครื่องสำอางหรือสิ่งที่ทา ตามหลังได้ ส่วนประเภทสารดูดกลืนแสง( Chemical sunscreen ) ควรทาก่อนครีมชนิดอื่นๆ เพื่อให้สารดูดกลืนแสงจับยึดกับผิวได้ ช่วยให้ประสิทธิภาพของการป้องกันแสงแดดของผลิตภัณฑ์ดี

ผลเสียของเครื่องสำอางป้องกันแสงแดด
เครื่องสำอางป้องกันแสงแดดที่ทำจากสารเคมีที่มีคุณสมบัติดูดกลืนรังสีอัลตราไวโอเลต อาจทำให้เกิดอาการคันยุบยิบและแสบแปลบๆ บางครั้งทำให้เกิดการแพ้ที่ผิวหนังหรือแพ้แสงแดด จะเป็นมากขณะถูกแดด ดังนั้นควรทดสอบการแพ้ก่อนใช้ โดยทาเครื่องสำอางที่ต้องการทดสอบลงบนผิวบริเวณข้อพับด้านใน หรือผิวบริเวณติ่งหู ทิ้งไว้ 24 - 48 ชั่วโมง โดยไม่ต้องล้างออก หากมีอาการผิดปกติใดๆแสดงว่าแพ้เครื่องสำอางชนิดนั้น ห้ามใช้เครื่องสำอางนั้น แต่ถ้าไม่มีอาการผิดปกติก็สามารถใช้ได้ อย่างไรก็ตามเมื่อใช้ไปแล้วอาจเกิดการแพ้ในเวลาต่อมาได้ การใช้ เครื่องสำอางชนิดใหม่ๆ จึงต้องหมั่นสังเกตทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัย




 

Create Date : 15 มีนาคม 2550   
Last Update : 15 มีนาคม 2550 14:33:09 น.   
Counter : 888 Pageviews.  

อย. เตือน! อย่าหลงเชื่อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโฆษณาเว่อร์ อวดอ้างรักษาโรค

อย. เผย พบบ่อย กรณีผู้ผลิต/ผู้นำเข้า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงในเชิงรักษาโรค เพื่อจูงใจให้ซื้อผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะชอบอ้างผู้ป่วย โรคต่าง ๆ กินแล้วหาย ไม่ว่าจะเป็นโรคอัมพฤกษ์ โรคเชื้อราสมอง โรคเบาหวาน โรคเอสแอลอี

อย.เกรงผู้บริโภคหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อ เสียทั้งเงินและโอกาสในการรักษา และอาจ เป็นอันตรายต่อร่างกาย ย้ำ! ไม่มีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใดรักษาโรคได้ วอนผู้บริโภคช่วยเป็นหูเป็นตา หากพบการกระทำผิดดังกล่าวให้โทร. แจ้งที่สายด่วน อย. 1556

ภญ.นิตยา แย้มพยัคฆ์ รักษาราชการแทนรองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาเปิดเผยว่า จากการที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจติดตามการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร พบว่า ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้ามักจะโฆษณาจูงใจผู้บริโภคให้ซื้อผลิตภัณฑ์ เสริมอาหาร โดยใช้ รูปแบบการโฆษณาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้วิธีขายตรง จัดประชุมสัมมนา พูดโฆษณาแบบปากต่อปาก โฆษณาผ่านทางแผ่นพับ วิดีทัศน์ และสื่อต่าง ๆ ซึ่งเป็น การโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก อย. และโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง เช่น ช่วยเพิ่มออกซิเจนให้กับเซลล์ในร่างกาย ช่วยกระตุ้นระบบภูมิต้านทานของร่างกาย ปรับสมดุลความเป็น กรดด่างในร่างกาย อีกทั้งยังนำตัวอย่างบุคคลที่แสดงว่าเป็นโรคต่าง ๆ เช่น ผู้ป่วยอัมพฤกษ์ ผู้ป่วยเชื้อราสมอง เบาหวาน ความดันโลหิต โรคเอสแอลอี เป็นต้น โดยอ้างว่าเมื่อ รับประทานผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแล้วอาการของโรคจะดีขึ้นหรือหายขาดจากโรคนั้นๆ ซึ่งในขณะนี้มักพบรูปแบบการโฆษณาในลักษณะดังกล่าวจำนวนมาก อีกทั้งยังเป็นการโฆษณา ที่ติดตามตรวจสอบได้ยาก

รก. รองเลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า อย. รู้สึกห่วงใยผู้บริโภคเป็นอย่างมาก จึงขอเตือนให้อย่าได้หลงเชื่อการประชุม สัมมนา ที่แนะนำสรรพคุณผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยนำบุคคลหรือ เปิดวิดีทัศน์แสดงตัวบุคคลที่อ้างว่าเป็นผู้ป่วยโรคต่าง ๆ มาเล่าประสบการณ์ว่า รับประทานผลิตภัณฑ์ ดังกล่าวแล้วหายหรืออาการดีขึ้น อีกทั้ง อย่าได้หลงเชื่อเพราะผู้โฆษณาเป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือ บุคลากรทางสาธารณสุขหรือทางการแพทย์ หรืออาจารย์ แต่ควร เชื่อหน่วยงานที่เป็นกลาง เช่น หน่วยงานราชการ ซึ่งไม่มีผลประโยชน์มาเกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ขอให้พิจารณาและตัดสินใจซื้อหรือไม่ซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ด้วยความรู้และความเข้าใจ ที่ถูกต้องว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเป็นเพียงผลิตภัณฑ์ที่ใช้รับประทาน นอกเหนือจากการรับประทานอาหารตามปกติ อีกทั้งขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาหรือผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ที่เชื่อถือได้ยืนยันว่าผลิตภัณฑ์อาหารใดๆ สามารถบำบัด บรรเทา หรือรักษาโรคได้ และในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผู้บริโภคควรอ่านฉลากให้เข้าใจว่ามีส่วนประกอบหรือ สารอาหารตรงกับความต้องการหรือไม่

อย่างไรก็ตาม หาก อย. พบการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ไม่ได้รับอนุญาต จะดำเนินคดีกับผู้ผลิต/ผู้นำเข้าทุกราย โดยผู้กระทำความผิดจะได้รับโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท และในส่วนของผู้ที่โฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงว่าสามารถรักษาโรคต่าง ๆ ได้ จะมีโทษถึงจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เพราะการกระทำลักษณะนี้ถือเป็นการหลอกลวง ผู้บริโภคให้เกิดความเข้าใจผิด ทำให้เสียเงินและ เสียโอกาสในการรักษาโรคให้หาย อีกทั้งอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ ทั้งนี้ ขอให้ผู้บริโภคช่วยสอดส่องดูแลเป็นหูเป็นตาแทนรัฐ หากพบผลิตภัณฑ์สุขภาพ ต้องสงสัยหรือต้องการ ร้องเรียนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ ขอให้โทร. แจ้งที่สายด่วน อย. 1556 รก. รองเลขาธิการฯ กล่าวในที่สุด




 

Create Date : 14 มกราคม 2550   
Last Update : 14 มกราคม 2550 4:03:22 น.   
Counter : 1655 Pageviews.  

อยากผอม อย่าลดความอ้วนจนไม่กลัวอันตราย

มีวิธีการไหนที่จะลดน้ำหนักได้บ้าง???
ต้องหาสาเหตุของโรคอ้วนก่อนการรักษา พบว่าผู้ป่วยอ้วนส่วนใหญ่เป็นชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งมีหลักการในการลดน้ำหนักดังนี้
1. ควบคุมอาหาร
2. การออกกำลังกาย
3. การใช้ยาลดความอ้วน
4. การผ่าตัดดูดไขมัน ซึ่งมักใช้ในผู้ป่วยที่อ้วนมากเท่านั้น (BMI > 40 กก/ม2)
ทั้งนี้ในการเลือกใช้ยาลดความอ้วน หรือการผ่าตัดดูดไขมันนั้นต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

สิ่งที่ควรรู้ เมื่อจำเป็นต้องใช้ยาลดน้ำหนัก
1. การใช้ยาลดน้ำหนักควรใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
2. การใช้ยาลดน้ำหนักต้องใช้ร่วมกับการควบคุมอาหารและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเสมอ
3. การใช้ยาลดน้ำหนักไม่สามารถทำให้หายจากโรคอ้วน เมื่อหยุดยาน้ำหนักจะกลับขึ้นได้อีก( YO-YO effect )
4. การใช้ยาลดน้ำหนักควรพิจารณาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการรักษาในระยะยาวของโรคอ้วน
5.ควรชั่งน้ำหนักระหว่างผลเสียที่อาจจะเกิดจากผลข้างเคียงของยาและผลเสียจากโรคอ้วน
6. ก่อนที่จะเริ่มใช้ยาลดน้ำหนัก ควรจะให้การรักษาด้วยการควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน ในกรณีที่หลังให้การรักษาด้วยการควบคุมอาหาร และ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเป็นเวลา 3 เดือนแล้วน้ำหนักลดลงเกินร้อยละ 10 การใช้ยาลดน้ำหนักจะไม่มีความจำเป็นในผู้ป่วยกลุ่มนี้ เช่นเดียวกับในกรณีที่หลังให้การรักษาด้วยการควบคุมอาหารและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเป็นเวลา 3 เดือน แล้วน้ำหนักกลับเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม การรักษาด้วยยาลดความอ้วนจะไม่เกิดประโยชน์ เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่น้ำหนักจะกลับเพิ่มขึ้นเหมือนเดิมเมื่อหยุดใช้ยา
7. การใช้ยาลดน้ำหนักควรต้องคำนึงถึงการรักษาปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดร่วมไปด้วย ได้แก่การรักษาโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดสูงและการหยุดสูบบุหรี่

อะไรเป็นข้อบ่งชี้ในการใช้ยาลดน้ำหนัก ???
1.กรณีเป็นโรคอ้วน (BMI มากกว่าหรือเท่ากับ 30 กก/ม2) ต้องให้ยาภายหลังจากการให้การรักษาด้วยการควบคุมอาหาร การออกกำลังกายและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
2. กรณีน้ำหนักเกิน (BMI มากกว่าหรือเท่ากับ 27 กก/ม2) ร่วมกับมีปัจจัยเสี่ยงเช่นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดผิดปกติ ต้องให้ยาภายหลังจากการให้การรักษาด้วยการควบคุมอาหาร การออกกำลังกายและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

กรณีเหล่านี้ ห้ามใช้ยาลดน้ำหนัก !!!
1. อายุน้อยกว่า 13 ปี เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเพียงพอเกี่ยวกับผลของยาต่อภาวะการเจริญพันธุ์
2. หญิงตั้งครรภ์

ประเภทของยาลดน้ำหนัก
ยาลดน้ำหนักที่ใช้โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางอาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆตามตำแหน่งการออกฤทธิ์ของยา ได้แก่ยากลุ่มที่ออกฤทธิ์ที่สมอง โดยมีผลต่อศูนย์ควบคุมการรับประทานอาหาร หรือความอยากอาหาร และยาที่ออกฤทธิ์ส่วนนอกสมองได้แก่ยาที่ออกฤทธิ์ที่ระบบลำไส้ยับยั้งการดูดซึมของสารอาหาร

1. กลุ่มที่ออกฤทธิ์ผ่าน catecholamine pathways ได้แก่ Amphetermine, Phenmetrazine (ในปัจจุบันยาทั้ง 2 ชนิดนี้เลิกใช้เป็นยาลดความอ้วนแล้ว) Amfepramone, Phentermine, Mazindol, Cathine และ Phenylpropanolamine ยาในกลุ่มนี้มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางและระบบประสาทซิมพาเธติค
2. กลุ่มที่ออกฤทธิ์ผ่าน serotonin pathways ได้แก่ fenfluramine, Dexfenfluramine ยาในกลุ่มนี้จะไม่มีฤทธิ์กระตุ้นระบบ ประสาทส่วนกลางและระบบประสาทซิมพาเธติค

อันตรายจากการใช้ยาลดความอ้วนกลุ่มวัตถุออกฤทธิ์
เป็นเวลานานกว่า 50 ปีมาแล้วที่มีการนำเอา Amphetamine มาใช้เป็นยาลดความอ้วน หลังจากนำมาใช้ไม่นานก็มีการพัฒนาค้นพบ dextrorotatory isomer ของ Amphetamine ขึ้นมาใช้แทน ซึ่งในการค้นพบครั้งหลังนี้พบว่านอกจากมีฤทธิ์ในการลดความอยากอาหาร แล้วยังพบว่ามีฤทธิ์ในการกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางและที่ทำให้เคลิบเคลิ้มเป็นสุข ด้วยเหตุนี้ในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยด้วยได้เลิกใช้ Amphetamine และ stereoisomer ทุกตัวเป็นยาลดความอ้วน และมีการจำกัดการนำมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ ยาลดความอ้วนที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันมีคุณสมบัติในการกระตุ้นประสาทส่วนกลางน้อยกว่า Amphetamine มาก ได้แก่ Amfepramone, Phentermine, Mazindol, Cathine แต่ทุกตัวก็จะทำให้ผู้รับประทานเกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพหากไม่ได้รับ คำแนะนำที่ถูกต้องจากแพทย์ อาการที่พบคือนอนไม่หลับ กระวนกระวาย ปวดศีรษะ ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว ปากแห้ง เหงื่อออก คลื่นไส้ ท้องผูก

มีอะไรอยู่ในยาชุดลดความอ้วน???
จากการสำรวจของกองควบคุมวัตถุเสพติดพบว่ามีการจ่ายยาลดความอ้วนจากสถานพยาบาลเอกชนโดยจัดไว้เป็นชุด ให้รับประทานเหมือนกันในแต่ละวัน ประกอบด้วยยาอื่นๆด้วยประมาณ 1-6 รายการ จากกลุ่มยาดังต่อไปนี้
1. กลุ่มแอมเฟตามีน โดยยาจะออกฤทธิ์กระตุ้นศูนย์ควบคุมความอิ่มทำให้เกิดอาการเบื่ออาหาร
2. Fluoxetineโดยปกติใช้เป็นยาต้านอาการซึมเศร้า แต่ มีผลข้างเคียงในการช่วยทำให้ไม่อยากอาหาร จึงถูกนำมาใช้ในยาชุดลดความอ้วนด้วย
3. ธัยรอยด์ฮอร์โมน เป็นยาที่เพิ่ม metabolic rate ยากลุ่มนี้ทำให้เกิดผลข้างเคียงหลายอย่างเช่น น้ำหนักที่ลดลงเป็นน้ำหนักที่ลดลงที่เกิดจาก lean body mass แทนที่จะเป็นไขมัน ทำให้เกิด negative nitrogen balance ได้ และยังมีผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดได้ เช่นทำให้ใจสั่น เพิ่ม stroke volume และเพิ่มpulse pressure เป็นต้น การใช้ยานี้ร่วมกับ phentermine น่าจะเป็นข้อควรระวังอย่างยิ่งเนื่องจาก ยา phentermine นั้น มีข้อห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีโรค hyperthyroidism เพราะอาจจะไปเสริมฤทธิ์กันสำหรับผลข้างเคียงต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด เป็นอันตรายกับผู้ป่วยได้
4. ยาขับปัสสาวะ มีผลต่อการสูญเสียน้ำในร่างกาย ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกผอมลงเนื่องจากน้ำหนักลดหลังจากใช้ยา
5. ยาถ่ายหรือยาระบาย จะกระตุ้นลำไส้ให้บีบตัวทำให้ถ่ายมากหรือบ่อยขึ้น ทำให้สูญเสียน้ำและเกลือแร่ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกผอมลงเร็วเนื่องจากน้ำหนักลดหลังจากใช้ยา
6. วิตามิน ยานี้ให้เพื่อลดผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นเนื่องจากการใช้ยาคือการขาดวิตามิน เนื่องจากรับประทานอาหารน้อยลงและการใช้ยาระบาย
7. ยากลุ่ม b-blockers เช่น propanolol ยาจะลดอาการใจสั่นที่เป็นผลข้างเคียงของยากลุ่มอนุพันธ์แอมเฟตามีน และธัยรอยด์ฮอร์โมน ยากลุ่มนี้ปกติจะใช้เพื่อการรักษาความดันโลหิตสูง ยาออกฤทธิ์ยับยั้ง sympsthomimetic effect ที่หัวใจ จะลด cardiac output ลดอัตราการเต้นของหัวใจ เป็นต้น
8. ยานอนหลับ เช่น diazepam เนื่องจากผลข้างเคียงของยากลุ่มอนุพันธ์แอมเฟตามีนซึ่งกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางทำให้นอนไม่หลับ จึงมีการจ่ายยานี้ร่วมด้วย

ในปัจจุบันพบว่าวัยรุ่นไทยจำนวนมากโดยเฉพาะสตรีนิยมใช้ยาลดความอ้วนในการลดน้ำหนัก และมีค่านิยมที่จะต้องมีรูปร่างผอมมาก จึงจะเรียกว่ามีรูปร่างดี และเสื้อผ้าที่เรียกว่าทันสมัยในปัจจุบันก็มีขนาดเล็กมาก ทำให้ผู้ที่ไม่นิยมออกกำลังกายเพื่อลดน้ำหนักหันมาเข้าคลินิกลดความอ้วนซึ่งมีเปิดบริการเพิ่มขึ้นมากในขณะนี้
การใช้ยาลดความอ้วนตามหลักที่ถูกต้องมีหลักการดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่จากการสำรวจพบว่าการเปลี่ยนการควบคุมให้ยาลดความอ้วนกลุ่มแอมเฟตามีน ที่ให้จ่ายได้เฉพาะในสถานพยาบาลโดยแพทย์เท่านั้น โดยยกระดับขึ้นมาเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 นั้น พบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้อย่างไม่ถูกหลักการแพทย์ยังมีอยู่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่งเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบกำลังได้ดำเนินการแก้ปัญหามาโดยตลอด เพื่อให้มีการใช้ยาในประเทศอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการทางการแพทย์ และลดการใช้ยาอย่างไม่เหมาะสมต่อไป




 

Create Date : 07 เมษายน 2549   
Last Update : 19 ธันวาคม 2553 7:03:14 น.   
Counter : 4534 Pageviews.  

ส้มแขกกับการลดน้ำหนัก

การลดความอ้วน หรือการขจัดไขมันส่วนเกินจากร่างกาย เป็นสิ่งที่กระทำให้สำเร็จได้ยาก ในโลกแห่งเทคโนโลยี และความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เราพบว่า อัตราการป่วย และอัตราการตายด้วยโรคหัวใจขาดเลือด มีแนวโน้มลดลง แต่ปัญหาโรคอ้วนกำลังเพิ่มขึ้น ทั้งในประเทศพัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนา ยาที่ใช้ลดน้ำหนักที่มีความปลอดภัย มีน้อยมาก มีผลข้างเคียงสูง และได้ผลในระยะเวลาจำกัด ทั้งยังทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเมื่อหยุดยา สิ่งเหล่านี้ทำให้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และผลิตภัณฑ์อื่น ที่มีการกล่าวอ้างสรรพคุณในการลดน้ำหนัก ยังเป็นความหวังของผู้ประสงค์จะลดน้ำหนัก และเป็นผลิตภัณฑ์ ที่ได้รับความนิยมอย่างยิ่ง สำหรับสารสกัดจากส้มแขก นับเป็นผลิตภัณฑ์หนึ่ง ที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน ทั้งในการใช้อย่างเดียว หรือใช้ผสมกับสารอื่น เช่น chitosan และโครเมียม จากการที่มีผู้พบฤทธิ์ของ α - hydroxycitric acid ซึ่งเป็นสารสำคัญในส้มแขก ในการยับยั้งเอนไซม์ ATP citrate lyase ตั้งแต่ปี ค.ศ.1969 เอนไซม์ตัวนี้ ทำหน้าที่เปลี่ยน citrate ไปเป็น acetyl CoA ซึ่งนำไปใช้สร้างกรดไขมัน จึงเชื่อกันว่าสารสกัดส้มแขก สามารถยับยั้งกระบวนการสร้างกรดไขมันของร่างกาย และนำไปสู่การลดเนื้อเยื่อไขมัน และการลดน้ำหนักได้ บทความนี้ ประสงค์จะพิจารณาถึงประสิทธิภาพ (efficacy) ของสารสกัดจากส้มแขก ในการลดน้ำหนัก และเนื้อเยื่อไขมันในร่างกาย
คำจำกัดความ

ส้มแขก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Garcinia cambogia และชื่อสามัญคือ Malabar Tamarind เป็นพืชที่ขึ้นอยู่ทางฝั่งตะวันตกของอินเดียตอนใต้ ชาวอินเดียใช้ประกอบอาหารกันมาแต่โบราณ สารสำคัญจากผลและเปลือกของส้มแขก คือ α - hydroxycitric acid หรือเรียกย่อ ๆ ว่า HCA ส้มแขกในประเทศไทย มีชื่อว่า Garcinia atroviridis มีปริมาณ α - hydroxycitric acid อยู่มากเช่นกัน

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

การค้นคว้าฐานข้อมูลโดยใช้ Keyword "Garcinia cambogia" ใน Medline จะได้งานวิจัยเพียง 1 เรื่องเท่านั้น ดังนั้น ผู้ที่สนใจค้นคว้าเกี่ยวกับส้มแขกควรเพิ่ม search term อื่น ๆ ได้แก่ hydroxycitric acid และ hydroxycitrate

ผลการวิจัยในสัตว์ทดลอง

ในปี 1969 Watson และคณะค้นพบฤทธิ์ของ α - hydroxycitric acid ในการยับยั้งเอนไซม์ ATP citrate lyase ที่ทำหน้าที่เปลี่ยน citrate ไปเป็น acetyl CoA ซึ่งเป็นสารที่จะนำไปใช้ในการสร้างกรดไขมันต่อไป α - hydroxycitric acid เป็น powerful competitive inhibitor กับ citrate ในเวลาต่อมามีรายงานจากการศึกษาในสัตว์ทดลองว่า α - hydroxycitric acid สามารถยับยั้งการสังเคราะห์กรดไขมัน เพิ่มอัตราการสังเคราะห์ glycogen ตับ ลดปริมาณอาหารที่สัตว์ทดลองกิน รวมทั้งลดน้ำหนักตัวได้ด้วย

การศึกษาทางคลินิก

เป็นที่น่าสังเกตว่า งานวิจัยทางคลินิกเพื่อพิสูจน์ประสิทธิภาพของสารสกัดส้มแขกมีน้อยมาก ทั้งที่ผลทางชีวเคมีของ α - hydroxycitric acid นั้น เป็นที่ทราบกันมา 30 ปีแล้ว จากการทบทวนเอกสารงานวิจัยทางคลินิกเกี่ยวกับส้มแขก พบเพียง 8 เรื่อง ในจำนวนนี้ มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารที่เป็น peer-reviewed และเป็นงานวิจัยที่มี study design ที่มีน้ำหนักพอที่จะเชื่อถือได้ เพียงเรื่องเดียว ซึ่งตรงกับที่ค้นได้จาก Medline งานวิจัยเรื่องนี้เป็นผลการศึกษาของ Dr.Steven Heymsfield ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ประจำที่ Obesity Research Conter, Columbia university Dr.Heymsfield เป็นนักวิชาการ ที่มีงานวิจัยมาก และค้นคว้าเกี่ยวกับการวัดปริมาณองค์ประกอบของร่างกาย โดยใช้อุปกรณ์ที่มีความไวสูง ปัจจุบันท่านเป็นที่ปรึกษาของ Board of Directors of American Society of Parenteral and Enteral Nutrition (ASPEN)

ประสิทธิภาพในการลดน้ำหนัก

จากการวิจัยของ Heymsfield และคณะในปี 1998 ซึ่งเป็น randomized double blind placebo-controlled trial ที่มีจำนวนกลุ่มตัวอย่าง (ที่ completing trial) 84 คน เป็นกลุ่มทดลอง 42 คน และกลุ่มยาหลอก 42 คน ทั้ง 2 กลุ่ม รับประทานอาหารที่มีกากใยสูงและมีพลังงานต่ำ พบว่ากลุ่มที่ได้รับสารสกัดส้มแขก 1500 มิลลิกรัมของ α - hydroxycitric acid ต่อวัน เป็นเวลา 12 สัปดาห์ มีน้ำหนักตัวไม่แตกต่างจากกลุ่มที่ได้รับยาหลอก คือ น้ำหนักลดลง 3.2 + 3.3 และ 4.1 + 3.9 กิโลกรัม ตามลำดับ (p = 0.14) ปริมาณไขมันในร่างกายที่ลดลงทั้ง 2 กลุ่มก็ไม่แตกต่างทางสถิติ คือ 1.44 + 2.15% และ 2.16 + 2.06% ตามลำดับ (p = 0.08) สำหรับงานวิจัยทางคลินิกอื่น ๆ ที่มีอยู่ เป็นงานวิจัยจากผู้ผลิตหรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์ส้มแขกบ้าง บางงานวิจัยไม่มีกลุ่มควบคุม หลายงานวิจัยเป็นเพียงบทคัดย่อ ซึ่งยังไม่ผ่าน peer-reviewed บางงานวิจัยใช้สาร ที่ทำการทดลองอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น คาเฟอีน จึงทำให้แปลผลยาก บางรายงานไม่มีค่า standard deviation และไม่มีผลการคำนวณทางสถิติ งานวิจัยเหล่านี้ จึงไม่มีความน่าเชื่อถือเพียงพอ จากรายงานของ Heymsfield และคณะ (1998) ซึ่งแสดงว่าสารสกัดส้มแขก ไม่มีผลลดน้ำหนัก หรือเนื้อเยื่อไขมันในร่างกาย ที่แตกต่างจากกลุ่มที่ได้รับยาหลอก จึงขัดแย้งกับผลที่พบในสัตว์ทดลอง เหตุผลประการหนึ่งที่ใช้อธิบายความแตกต่างนี้ ถ้าพิจารณาจากเมตาบอลิสมของสัตว์ทดลอง เช่น หนูขาวหรือไก่ ซึ่งร่างกายมีการสังเคราะห์กรดไขมันจาก citrate และ pathway นี้มีความสำคัญต่อสัตว์เหล่านี้ แต่ในคนความสำคัญของ pathway นี้น้อยลง ไขมันในอาหาร สามารถยับยั้งกระบวนการสังเคราะห์กรดไขมันในร่างกายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าบริโภคไขมันมากกว่า 10% ของพลังงานทั้งหมดที่ได้รับ ร่างกายมนุษย์จะเปลี่ยนคาร์โบไฮเดรตไปเป็นกรดไขมันน้อยมาก คนทั่วไป บริโภคไขมันประมาณ 20-35% ของพลังงานทั้งหมด จึงทำให้ความจำเป็นที่จะต้องสังเคราะห์กรดไขมันขึ้นเองมีน้อย

ผลข้างเคียง

จากการศึกษาของ Heymsfield และคณะ (1998) พบว่าผลข้างเคียงของกลุ่มที่ได้รับสารสกัดส้มแขก ไม่แตกต่างจากกลุ่มที่ได้รับยาหลอก โดยการวัดจำนวนครั้ง ของอาการผิดปกติ นอกจากนั้นระดับกลูโคส อินซูลิน ไตรกลีเซอไรด์ ในเลือดของทั้ง 2 กลุ่มไม่แตกต่างกัน (personal communication) อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบผลข้างเคียงดังกล่าวทำในช่วงเวลา 12 สัปดาห์ การใช้สารสกัดส้มแขกในระยะเวลาที่ยาวนานกว่านี้ ยังไม่มีรายงานว่าจะมีผลข้างเคียงหรือไม่ จึงยังสรุปไม่ได้ในขณะนี้

สรุป

สารสกัดจากส้มแขกมี α - hydroxycitric acid เป็นสารสำคัญ ซึ่งออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ ATP citrate lyase การวิจัยในสัตว์ทดลองพบว่า สารสกัดจากส้มแขก สามารถลดการสังเคราะห์กรดไขมัน เพิ่มการสังเคราะห์ glycogen ลดปริมาณอาหารที่บริโภค และลดน้ำหนักได้ ผลการศึกษาทางคลินิกในคน มีเพียงรายงานเดียวที่มีความน่าเชื่อถือ โดยพบว่าการให้สารสกัดส้มแขก ไม่ทำให้น้ำหนักตัวหรือไขมันในร่างกายลดลงในคน อาจเนื่องจาก pathway การสังเคราะห์กรดไขมัน ไม่ค่อยมีความสำคัญในคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริโภคไขมันมากกว่า 10% ของพลังงานทั้งหมด จะพบว่าการเปลี่ยนคาร์โบไฮเดรตไปเป็นกรดไขมัน เกิดขึ้นน้อยมาก




 

Create Date : 18 มีนาคม 2548   
Last Update : 17 พฤศจิกายน 2548 14:41:00 น.   
Counter : 2082 Pageviews.  

ยาสูตรผสมแก้หวัด

ยาสูตรผสม หมายถึง ยาที่มีตัวยาสำคัญหลายตัวโดยมากใช้รักษาหรือบรรเทาอาการต่างๆได้หลายอาการ ยาสูตรผสมแก้หวัดชนิดเม็ดจะประกอบด้วยตัวยาสำคัญหลายตัวในหนึ่งเม็ด ซึ่งเป็นที่นิยมใช้กันมาก เนื่องจาก รักษาได้หลายอาการจากการรับประทานครั้งเดียว อย่างไรก็ตามก่อนใช้ยาสูตรผสมแก้หวัดเหล่านี้ควรทราบก่อนว่าเรา มีอาการอย่างไรบ้าง และยาที่รับประทานประกอบด้วยตัวยาสำหรับบรรเทาหรือรักษาอาการใดบ้าง หากเราไม่ได้มีอาการ ครบทุกอย่างตามที่ระบุไว้ในสรรพคุณการรักษาของยาผสมนั้นก็จะทำให้ได้รับยาเข้าไปเกินความจำเป็น เช่น ยาที่ประกอบ ด้วยยาลดไข้ บรรเทาหวัด คัดจมูก หากเรามิได้เป็นไข้ เพียงมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ก็จะทำให้เราได้รับยาลดไข้เกินจำเป็น ซึ่งจะมีผลให้ตับและไตต้องทำงานมากกว่าปกติในการกำจัดยา อีกทั้งโอกาสที่จะเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาก็เพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากได้รับยาหลายชนิดซึ่งเกินจำเป็น ดังนั้นจึงควรใช้ยาสูตรผสมแก้หวัดเหล่านี้เฉพาะเมื่อผู้ใช้ยามีอาการหลายอย่าง ครบตามที่สรรพคุณของยานี้บ่งไว้เท่านั้น

ผู้ใช้ยาจึงจำเป็นต้องอ่านฉลากและเอกสารกำกับยาให้ละเอียดก่อนการใช้ยา เพื่อจะทราบส่วนประกอบของยาและสรรพคุณของยาสูตรผสมนั้น หากมีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร




 

Create Date : 18 มีนาคม 2548   
Last Update : 18 มีนาคม 2548 15:15:36 น.   
Counter : 753 Pageviews.  

1  2  3  

Marquez
Location :
Milano Italy

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 19 คน [?]




A te che sei il mio grande amore Ed il mio amore grande
A te che hai preso la mia vita E ne hai fatto molto di più
A te che hai dato senso al tempo Senza misurarlo
A te che sei il mio amore grande Ed il mio grande amore

[Add Marquez's blog to your web]