Ieri, oggi, e domani, c'e sempre e solo l'inter

แผ่นดูดสารพิษจากเท้า/ Detox Foot Pad

ท่ามกลางกระแสการ detox ที่มีมากมายในปัจจุบัน แผ่นดูดสารพิษจากเท้า (Detox Foot Pad) เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง

เพียงแค่พันแผ่นนี้ไว้ที่เท้าก่อนนอน เมื่อคุณตื่นมาตอนเช้า ก็จะพบว่าแผ่นนี้จะเปลี่ยนเป็นสีดำ/น้ำตาล นั่นคือสารพิษทั้งหลาย รวมทั้งโลหะหนักได้ถูกดูดออกมาจากร่างกายคุณแล้ว



แผ่นดูดพิษนี้สามารถช่วยได้ในคนที่มีอาการหลายๆอย่าง เช่น ปวดหัว ปวดหลัง นอนไม่หลับ ซึมเศร้า อ่อนแรง หรือภูมิคุ้มกันต่ำ

ส่วนประกอบที่มีในแผ่น ล้วนเป็นสารจากธรรมชาติ เช่น bamboo/wood vinegar, mineral tourmaline และ chitin ซึ่งลวนทำงานช่วยกันในการดูดสารพิษ ตามทฤษฏีการดูดสารพิของญี่ปุ่นที่มีมาตั้งแต่โบราณ

...

หลังจากที่ลองฟังสิ่งที่เขาโฆษณามากันแล้ว เราก็กลับมาดูข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์กันเช่นเคย

การกำจัดสารพิษของมนุษย์เรา มีอวัยวะหลักคือ ตับและไต ไม่ใช่ผิวหนัง ถึงแม้ผิวหนังจะมีรู/ท่อให้สารผ่านเข้าออกได้จริง (ท่อเหงื่อ) แต่สารพิษที่จะถูกขับออกมาทางนี้นั้น น้อยมากๆๆๆๆ ครับ การขับสารพิษทางผิวหนัง ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดๆ จึงไม่เป็นจริงด้วยประการทั้งปวง

หลายๆท่านอาจจะถามว่า ถ้ามันไม่ดูดสารพิษจริง แล้วเหตุใดแผ่นมันจึงเปลี่ยนเป็นสีดำล่ะ

คำตอบคือ ในส่วนผสม(ที่ว่าเป็นธรรมชาติ)นั้น มีอยู่ตัวหนึ่งคือ bamboo/wood vinegar ซึ่งในขั้นตอนการผลิต มันก็จะถูกทำให้แห้ง แล้วผสมกับส่วนผสมอื่นๆในแผ่น แต่เมื่อใดที่สารนี้ถูกวามชื้น/น้ำ มันก็จะกลับคืนสู่สภาพที่มีลักษณะเป็นยางไม้ข้นๆเหมือนเดิม

การที่เราเห็นเป็นสีดำหรือสีคล้ำ จึงไม่ได้เกิดจากสารพิษที่มันดูดออกมา แต่มันเกิดจากเหงื่อหรือความชื้นจากฝ่าเท้าของคุณต่างหาก

ใครที่ไม่เชื่อ จะลองเอามันไปหยดด้วยน้ำเปล่าดูก็ได้ ก็จะพบว่ามันเปลี่ยนสีเหมือนกัน

มีคนเคยลองเอาแผ่นนี้ไปใช้ แล้วเมื่อมันเปลี่ยนสี ก็นำแผ่นนี้ไปตรวจสอบสารพิษ/โลหะหนัก ก็ไม่พบว่าในแผ่นที่ใช้แล้วจะมีสารพิษหรือโลหะหนักแต่อย่างใด

และแน่นอนครับ ไม่เคยมีการศึกษาวิจัยไหน ที่ชี้ว่าการใช้แผ่นนี้จะทำให้ระดับสารพิษ/โลหะหนักในร่างกายจะลดลง

สรุปแล้ว สิ่งเดียวที่มันดูดได้จริง ก็คือเงินในกระเป๋าคุณครับ

ปล. ปัจจุบัน บ.ผู้ผลิตแผ่นพวกนี้ กำลังโดนฟ้องร้องจากการโฆษณาเกินจริงอยู่




 

Create Date : 17 กุมภาพันธ์ 2552   
Last Update : 17 กุมภาพันธ์ 2552 8:00:22 น.   
Counter : 5485 Pageviews.  

นม high calcium = เปล่าประโยชน์ ??

เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ได้มีผู้ออกมาให้ข่าวว่า การดื่มนมที่เติมแคลเซียมลงไปหรือที่รู้จักกันในชื่อของนม high calcium กินแล้วไม่ได้มีประโยชน์ไปมากกว่าการกินนมปกติ โดยให้เหตุผลไว้ว่า "การดื่มนมไฮแคลเซียมในขณะท้องว่าง ร่างกายจะไม่สามารถดูดซึมแคลเซียมผงที่ผสมอยู่ในนมได้ เนื่องจากไม่มีน้ำกรดช่วยในการดูดซึม แต่ถ้าดื่มนมไฮแคลเซียมพร้อมกับรับประทานอาหารน้ำกรดที่หลั่งออกมาจะถูกน้ำนมซึ่งมีฤทธิ์เป็นด่างลดความเป็นกรดลง ทำให้กระบวนการย่อยดูดซึมแคลเซียมผงที่เติมลงไปในนมไม่สามารถละลาย และแตกตัวเป็นแคลเซียมอิสระได้ ฉะนั้น การดื่มนมไฮแคลเซียมจึงไม่ช่วยเสริมสร้างให้ร่างกายได้รับแคลเซียมเพิ่มขึ้น และยังเป็นการเสียเงินไปโดยเปล่าประโยชน์”
เราจะมาดูกันว่า ข้อความนี้เป็นจริงเพียงใด

การดูดซึมแคลเซียมของลำไส้คน
ในลำไส้คนเรา จะมีระบบที่ดูดซึมแคลเซียม 2 แบบที่แตกต่างกันคือ
1. แบบ active transport, เมื่อปริมาณแคลเซียมไม่มากนัก ในลำไส้เล็กส่วน duodenum (ลำไส้เล็กตอนต้น) จะมีการนำแคลเซียมผ่านเข้าสู่เซลจากด้านผนังลำไส้ แล้วนำไปปล่อยยังอีกด้านหนึ่งของเซลเพื่อเข้าสู่กระแสเลือดต่อไป กระบวนการนี้ จำเป็นที่ต้องใช้ vitamin D ช่วย ในคนที่ขาด vitamin D ก็มีโอกาสที่จะขาดแคลเซียมได้


2. แบบ passive transport, เมื่อปริมาณแคลเซียมปานกลาง-สูง ในลำไส้เล็กส่วน jejunum และ ileum (ลำไส้เล็กตอนกลางและตอนปลาย) แคลเซียมที่ละลายแล้วแตกตัวเป็น ion (Ca2+) ก็จะแพร่ผ่านผนังลำไส้เข้าสู่กระแสเลือดได้โดยตรง

แคลเซียมที่มีในนมปกติ จะอยู่ในรูปของ micelle สามารถถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้โดยตรงโดยไม่จำเป็นต้องเกิดการแตกตัวก่อน (ทำให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมจากการกินนมได้มากที่สุด และยังเป็นผลจากปัจจัยอื่นๆ เช่น จาก lactose และจาก amino acid ที่มีในนม)

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การที่แคลเซียมที่เติมเข้าไปในนม high calcium ไม่สามารถดูดซึมได้นั้น เกิดจากการขาด vitamin D และเกิดจากการที่แคลเซียมไม่ละลาย/แตกตัว

สำหรับคนไทยแล้ว การขาด vitamin D พบได้น้อยมาก (เพราะร่างกายสามารถสร้างวิทามินนี้ได้เอง) ปัญหาที่สำคัญกว่าคือการละลาย/แตกตัวของแคลเซียม

โดยปกติ แคลเซียมที่เติมเข้าไปในนม high calcium คือ แคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO3) ตามสมบัติทางเคมีแล้ว เราจัดว่ามันมีความสามารถในการละลายน้ำได้ค่อนข้างต่ำ แต่การละลายจะมีมากขึ้นในสภาวะที่เป็นกรด

ในคนปกติ กรดในกระเพาะจะหลั่งมากขึ้นในเวลาที่เรากินอาหาร ทำให้มีบางคนแนะนำให้กินแคลเซียมพร้อมอาหารเพื่อช่วยให้มันละลายได้มากขึ้น ร่างกายจะได้ดูดซึมมากขึ้น

Note ในอาหารที่มีธาตุบางชนิด เช่น เหล็ก หรือ Zinc จะรบกวนการดูดซึมของแคลเซียมได้ และในทำนองกลับกัน แคลเซียมก็รบกวนการดูดซึมสารอาหารอื่นๆได้ด้วยเช่นกัน และในอาหารพวกผักหลายๆชนิด มีสาร phytate ที่ขัดขวางการดูดซึมแคลเซียม

แต่ผลจากการศึกษาแล้ว พบว่าการกินแคลเซียมพร้อมกับอาหารนี้ ช่วยเพิ่มอัตราการดูดซึมแคลเซียมได้เพียง 10 % เมื่อเทียบกับการกินในเวลาอื่นๆ หรือจะพูดให้กลับกันก็คือ การกินแคลเซียมในเวลาอื่นๆ จะดูดซึมน้อยลงเพียง 10 % เท่านั้น

ดังนั้น เมื่อย้อนกลับไปข้อความที่จุดเริ่มต้น “การดื่มนมไฮแคลเซียมในขณะท้องว่าง ร่างกายจะไม่สามารถดูดซึมแคลเซียมผงที่ผสมอยู่ในนมได้ เนื่องจากไม่มีน้ำกรดช่วยในการดูดซึม” จึงไม่สมเหตุสมผลเท่าไรนัก คำพูดที่ถูกต้องคือ ร่างกายดูดซึมได้น้อยลง 10 % เท่านั้น ไม่ใช่ไม่ถูกดูดซึม

มีการทดลองเปรียบเทียบปริมาณแคลเซียมที่ถูกดูดซึม เปรียบเทียบระหว่างจากนมธรรมดา กับนมไฮแคลเซียม ผลการทดลองก็ขัดแย้งกับข้อความอย่างชัดเจน เพราะเราพบว่า ปริมาณแคลเซียมที่ดูดซึมจากนมไฮแคลเซียม มากกว่าปริมาณจากนมธรรมดาแบบชัดเจน

ในส่วนต่อมาที่กล่าวว่า “แต่ถ้าดื่มนมไฮแคลเซียมพร้อมกับรับประทานอาหารน้ำกรดที่หลั่งออกมาจะถูกน้ำนมซึ่งมีฤทธิ์เป็นด่างลดความเป็นกรดลง ทำให้กระบวนการย่อยดูดซึมแคลเซียมผงที่เติมลงไปในนมไม่สามารถละลาย และแตกตัวเป็นแคลเซียมอิสระได้”

สำหรับส่วนนี้ เราต้องพิจารณาว่า ในน้ำนมนั้น มันมีฤทธิ์ที่จะทำให้ความเป็นกรดในกระเพาะเราลดลงได้มากขนาดนั้นจริงหรือ?

โดยทั่วไป นมมีค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) ประมาณ 6.5 ซึ่งมีฤทธิ์เป็นกลาง (ไม่ใช่ด่าง) เมื่อนมเข้าไปสู่กระเพาะที่มี pH ประมาณ 2-3 ก็จะไปเพิ่ม pH ของกระเพาะ ทำให้ความเป็นกรดลดลงได้จริง

แต่... น้ำกรดในกระเพาะคนเรา ไม่ใช่น้ำในแก้วครับ ร่างกายเราสามารถหลั่งกรดออกมาได้เรื่อยๆ การที่นมไปเพิ่ม pH นี้ มีผลเพียงไม่มากนัก และแทบจะไม่มีผลอะไรในทางปฏิบัติเลย ไม่งั้นเวลาเรากินอาหารที่มี pH สูง เราคงไม่ต้องดูดซึมอะไรเลย หรืออาหารก็อาจจะไม่ย่อยเลยก็เป็นได้ เช่นเดียวกับที่มีความเชื่อผิดๆว่า ไม่ควรกินน้ำเวลากินข้าว เพราะจะไปเจือจางกรดในกระเพาะ ก็ไม่เป็นความจริง ด้วยประการฉะนี้แล

นอกจากนี้ calcium และโปรทีนในนม ยังมีผลกระตุ้นให้กระเพาะหลั่งกรดมากขึ้นอีกด้วย (ดังนั้นในคนที่เป็นโรคกระเพาะ จึงไม่ควรกินนมตอนท้องว่าง)

ส่วนผลจาการทดลอง ก็ไม่เคยมีการทดลองไหนที่ชี้ว่าการกินนมแล้วจะทำให้กรดลดน้อยลงได้จริง (มีแต่จะเพิ่มขึ้น)

สรุปแล้ว การกล่าวว่า การกินนมไฮแคลเซียมไม่มีประโยชน์ จึงเป็นการกล่าวที่ผิดจากหลักความจริงอย่างชัดเจน ทั้งในเรื่องของทฤษฎีและในทางการทดลองครับ




 

Create Date : 04 มกราคม 2551   
Last Update : 4 มกราคม 2551 11:36:42 น.   
Counter : 3104 Pageviews.  

ดื่มพรุนสกัดแล้วไปนอน

ในปัจจุบัน มีการนำพรุน หรืออีกชื่อหนึ่งคือลูกพลัมตากแห้ง มาสกัดให้เข้มข้น แล้วใช้กินเพื่อให้ช่วยในการขับถ่ายที่ดีขึ้น

ประวัติการกินน้ำลูกพรุนนั้น มีมานานแล้ว ในประเทศแถบตะวันตก นิยมกินน้ำลูกพรุนแทนยาถ่าย แทบจะเรียกได้ว่าเป็นสูตรยาสามัญเลยทีเดียว โดยเฉพาะในคนที่มีอาการท้องผูกไม่มากนัก (mild constipation)

สมบัติสำคัญของพรุนที่มีฤทธิ์ในการช่วยให้ถ่ายได้ง่ายนั้นมาจากสารสำคัญในพรุนคือ sorbitol และ dihydrophenylisatin ซึ่งทั้ง 2 ตัวนี้มีฤทธิ์ดึงน้ำให้เข้ามาสู่ลำไส้มากขึ้น อุจจาระนุ่มลง และช่วยให้ขับถ่ายได้มากขึ้นนั่นเอง (จัดเป็นยาระบายกลุ่ม osmotic agents)

สิ่งที่คนทั่วไปเข้าใจผิดมากๆๆๆๆ เกี่ยวกับพรุนคือ การที่โดนโฆษณาหลอกว่า พรุนมีใยอาหารมากจึงช่วยให้ขับถ่ายได้ดี

จริงอยู่ที่เราจัดว่าพรุนเป็นหนึ่งในอาหารที่มีส่วนของใยอาหารสูง แต่ขอโทษเถอะครับ ปริมาณใยอาหารในพรุนสกัด 1 แก้วนั้น (มีใยอาหารประมาณ 2-3 กรัม) อาจจะน้อยกว่าที่ได้จากการกินกล้วย 1 ลูกเสียอีก (ประมาณ 3-4 กรัม) และมันจะยิ่งน้อยมากๆเมื่อเทียบกับปริมารใยอาหารที่ได้จากถั่ว 1 ถ้วย (ประมาณ 8-9 กรัม)

ดังนั้น ผลของการกินพรุนสกัดบ่อยๆ จึงไม่ได้ต่างอะไรไปจากการใช้ยาระบายเลย นั่นคือเมื่อใช้ไปนานๆแล้ว ร่างกายก็จะเริ่มชิน และต้องเพิ่มขนาดยา ถึงจะได้ผล หากวันใดไม่ใช้ ร่างกายอาจไม่สามารถขับถ่ายเองได้ตามปกติ

สารอาหารตัวอื่นที่พบมากในพรุนได้แก่ Vitamin C และ Vitamin B6 (ประมาณ15 และ 25% ของ RDI ตามลำดับ) ซึ่งปริมาณเหล่านี้ ไม่ได้มีมากมายไปกว่าผักผลไม้หรืออาหารอื่นๆแต่อย่างใด

และถึงแม้การกินพรุนจะสามารถใช้เป็นยาถ่ายอย่างอ่อนได้ แต่ยังไม่มีวิจัยว่า การกินพรุนสกัดเป็นเวลานานๆ จะก่อให้เกิดผลดีหรือผลเสียต่อร่างกาย

ส่วนที่เห็นในโฆษณาว่าให้ดื่มแล้วไปนอนนั้น จริงๆแล้ว จะกินตอนไหนร่างกายก็ได้รับประโยชน์เท่าๆกัน ไม่เกี่ยวกับเวลา

ข้อควรระวัง
ในพรุนสกัด จะมี potassium อยู่ในปริมาณสูง ใน 1 แก้ว อาจมีถึง 700-800 มิลลิกรัม คนที่เป็นเบาหวานหรือคนที่เป็นโรคไต ควรจำกัดปริมาณในการกิน (ไม่ควรได้รับเกิน 2000 มิลลิกรัม/วัน)




 

Create Date : 13 ตุลาคม 2550   
Last Update : 13 ตุลาคม 2550 3:34:53 น.   
Counter : 17859 Pageviews.  

Chiropractic การจัดกระดูกสันหลัง

การจัดกระดูกสันหลังหรือ Chiropractic (แปลตามตัวว่า “ทำได้ด้วยมือ”) เป็นศาสตร์ที่เชื่อว่า อาการผิดปกติต่างๆของร่างกายเรา มาจากการที่สัญญาณประสาทเดินทางบกพร่อง (subluxation) โดยเฉพาะจากทางด้านกระดูกสันหลัง

Chiropractic ถูกคิดค้นขึ้น ในปี 1895 โดยคนขายปลาคนหนึ่ง ที่บังเอิญเอาหนังสือไปฟาดหลังเพื่อนซึ่งมีปัญหาในด้านการฟัง แล้วหลังจากนั้น เพื่อนเขากลับมาบอกว่าการฟังเสียงของเขาดีขึ้นกว่าเก่า
คนขายปลาจึงเริ่มศึกษาเรื่องการรักษาแบบนี้ ควบคู่ไปกับการรักษาด้วยพลังแม่เหล็ก โดยเฉพาะเมื่อมีสิ่งกีดขวางในกระดูกสันหลัง หลังจากนั้น เขาจึงสรุปทฤษฎีเบื้องต้นของ Chiropractic ไว้ว่า “ถ้าเราสามารถกำจัดสิ่งที่ผิดปกติในกระดูกสันหลังได้ เราจะสามารถกำจัดอาการเจ็บป่วยในคนได้”

หลักการทางวิทยาศาสตร์ให้คำตอบอย่างไร
Chiropractic ไม่สามารถพิสูจน์ได้จริง ทั้งในด้านประสิทธิภาพการรักษา, การวินิจฉัย และทั้งในด้านการรักษาซ้ำให้ได้ผลเดิมในคนไข้อื่นๆ อีกทั้งเรื่องของกระแสสัญญาณประสาทเดินทางบกพร่อง (subluxation) ก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามันมีอยู่จริง (เคยมีการทดลองหมุนบิดกระดูกสันหลัง แต่ก็ไม่พบว่ามันมีผลกระทบต่อกระแสประสาทตามที่เขากล่าวอ้าง)

ถึงแม้จะมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ทำโดยนัก Chiropractic ออกมาบอกว่าการรักษานั้นได้ผล แต่งานวิจัยส่วนใหญ่นั้นไม่มีความน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะการมี bias จากนัก Chiropractic เอง และการวิจัยหลายอัน ก็ใช้หลักการรักษาตามแผนปัจจุบัน ไม่ได้ใช้หลักการของ Chiropractic แต่อย่างใด

และที่สำคัญคือ นัก Chiropractic ไม่ได้มีการศึกษาที่เป็นแบบแผนหรือมีการควบคุม ต่างกับการแพทย์แผนปัจจุบัน ทำให้ไม่สามารถควบคุมพื้นฐานของการวินิจฉัยและการรักษาได้เท่าเทียมกัน

สิ่งที่นัก Chiropractic ทำให้ลูกค้าเขาได้จริงคือ การทำให้ลูกค้าพึงพอใจ และช่วยนวดหลังเพื่อบรรเทาอาการปวดหลังเท่านั้น แต่ไม่ได้กำจัดสาเหตุของอาการดังกล่าวแต่อย่างใด (คล้ายๆกับพวกนวด, ฝังเข็ม, ประคบสมุนไพร หรือใช้ยาแก้ปวด ที่พอหมดฤทธิ์แล้ว คนไข้ก็กลับมาปวดเหมือนเดิม)

ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการรักษา Chiropractic
การจัดกระดูกที่คอ มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอาการอัมพาต, ความเสียหายต่อสมองและอาจทำให้หลอดเลือดในสมองแตกได้ (เคยมีคนเสียชีวิตมาแล้ว)

การจัดกระดูกสันหลัง มีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดกระดูกงอกใหม่ และพัฒนากลายเป็นเนื้องอกหรือมะเร็งได้

การจัดกระดูกในเด็ก ไม่ได้ช่วยให้เด็กมีภูมิคุ้มกันดีขึ้นหรือช่วยจัดกระดูกในเด็กแต่อย่างใด และอาจทำให้เกิดมะเร็ง หรือความผิดปกติทางพันธุกรรมได้ ดังนั้น วิธีการนี้ไม่ควรทำในเด็กโดยเด็ดขาด

ในปัจจุบันมีหลายประเทศที่ยอมรับให้นัก Chiropractic สามารถเข้าไปทำงานได้ แต่ที่สำคัญคือไม่มีการควบคุมถึงการปฏิบัติงาน, การวินิจฉัยโรค ไปจนถึงการกล่าวอ้างหรือการโฆษณาว่าเกินความเป็นจริงหรือไม่

สรุปแล้ว การทำ Chiropractic ไม่ได้ช่วยในการรักษาอาการต่างๆมากมายตามที่เขากล่าวอ้าง อาการเดียวที่ทำได้คือ ช่วยบรรเทาอาการปวดหลัง หลักการก็เหมือนกับการนวดตามธรรมดาเท่านั้น และ Chiropractic เอง ก็ไม่ใช่การรักษากระดูกตามแบบแผนปัจจุบัน (orthopedic) หรือนักกายภาพบำบัด (physiotherapist)

ใครที่มีปัญหาด้านกระดูกจริงๆ ควรได้รับคำแนะนำและการรักษาจากแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดโดยตรงครับ




 

Create Date : 09 พฤษภาคม 2550   
Last Update : 9 พฤษภาคม 2550 12:02:33 น.   
Counter : 2326 Pageviews.  

ฟันธง!ผงชูรส อันตรายหรือไม่

หลังจากที่ผมเคยเขียนเรื่องนี้ไปแล้วครั้งหนึ่งแบบคร่าวๆว่า ผงชูรสไม่มีอันตรายต่อคน นอกจากคนที่แพ้ผงชูรสเท่านั้น //www.bloggang.com/viewblog.php?id=marquez&date=04-05-2005&group=4&gblog=14

หลังจากนั้น ก็ได้มีบางคน ที่กล่าวอ้างว่า ผงชูรสมีโทษอย่างโน้นอย่างนี้ วันนี้เรามาดูกันว่า สรุปแล้วมันมีอันตรายอย่างที่มีคนพยายามกล่าวอ้างจริงหรือไม่

คำกล่าวอ้างที่เขาพยายามเสนอมากที่สุดคือคำว่า excitotoxicity ซึ่งมาจากแนวคิดที่ว่า glutamate เป็นสารที่มีฤทธิ์กระตุ้นประสาทได้ โดยเฉพาะ glutamate ที่ได้จากผงชูรส ร่างกายจะดูดซึมได้เร็วกว่าจากอาหาร ทำให้ระดับของสารนี้มีสูงในเลือด ซึ่งจากการศึกษาพบว่า สามารถก่อให้เกิดความเสียหายได้ในสมองของหนู (โดยเฉพาะหนูที่พึ่งเกิดใหม่ๆ)

แต่กระนั้น การได้รับผลกระทบแบบนี้ มันเกิดในสัตว์บางตระกูลเท่านั้น โดยเฉพาะพวกสัตว์ที่กัดแทะ (rodent) เช่น หนูหรือกระต่าย โดยความผิดปกติไม่ได้เกิดในคน (primate) โดยขนาดที่ทำให้เกิดอันตรายคือ 1000 mg/น้ำหนักตัว 1 kg

ซึ่งในจุดนี้สามารถอธิบายได้ด้วยกระบวนการย่อยของ glutamate ที่หลังจากร่างกายเราดูดซึมมันเข้าไปแล้ว ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นสารอื่นๆ โดยเฉพาะการเกิดปฏิกิริยา transamination, รวมทั้งกระบวนการกำจัดสารนี้ด้วยวิธีอื่นๆ ซึ่งในคนปกติแล้ว สามารถจัดการกับปริมาณ glutamate ที่กินเข้าไปในปริมาณมากๆได้ (บางคนอ้างว่าได้ถึง 10 g) ทำให้ระดับของ glutamate ในเลือดไม่เปลี่ยนแปลงหลังจากกินเข้าไป นอกเหนือจากการกินเข้าไปในปริมาณมากกว่า 30 mg/น้ำหนักตัว 1 kg

โดยปกติระดับที่จะทำให้ตรวจวัดสารได้ในคน (detectable) อยู่ที่ 150 mg/น้ำหนักตัว 1 kg (ระดับที่เกิดพิษเฉียบพลันของ glutamate ในหนูทดลองมีค่า LD50 ที่ 15,000 mg/น้ำหนักตัว 1 kg)

การที่มันจะเกิดอันตรายต่อสมองได้จริง จะต้องมีระดับสารในเลือดที่สูงพอที่จะเกิด (peak blood level) โดยไม่ได้ขึ้นกับปริมาณที่ร่างกายได้รับ (area under curve) ซึ่งตรงจุดนี้เป็นเพราะการที่มันจะเกิดอันตรายได้นั้น เกิดมาจากสารนี้ ไปกระตุ้นบริเวณ receptor ของ glutaminergic neurons มากจนเกิด continuous excitation, เกิดการขาด ATP และนำไปสู่การตายของเซลประสาท แต่ในสมองของคน จะมีระบบที่เรียกว่า blood brain barrier ที่คอยควบคุมสารต่างๆที่ผ่านเข้า-ออกสู่สมอง การที่สารเคมีจะผ่านเข้าสู่สมองจะถูกจำกัดไดในระดับหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ว่าถึงมีสารนี้มากๆแล้วมันจะเข้าไปถึงสมองได้หมดแต่อย่างใด

ส่วนการทดลองเรื่องความปลอดภัยด้านอื่นๆ เช่น มะเร็ง, ผลต่ออวัยวะภายใน, ผลต่อน้ำหนัก, ผลต่อสัตว์ที่ตั้งครรภ์+ลูกในครรภ์ ฯลฯ ไม่ปรากฏความผิดปกติใดๆเลย
การทดลองในคน หลายๆชิ้น ก็ไม่ปรากฏว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น (แต่บางงานวิจัยนั้น เชื่อถือไม่ได้ เพราะคนที่มีความผิดปกติ เช่น หอบหืด, migraine จะถูกคัดออกไปตั้งแต่ต้น)

เขายังกล่าวว่าผงชูรส มีอันตรายเพราะเป็นสารสังเคราะห์ ผมเองก็ไม่รู้ว่าเขามีความเข้าใจกับคำๆนี้มากขนาดไหน เพราะกระบวนการผลิตผงชูรสส่วนใหญ่ในโลก จะได้จากการหมัก carbohydrate (เช่น จากน้ำตาลหรือมันสำปะหลัง) กับเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งของที่ได้นั้น มันเป็นสารตามธรรมชาตินะครับ ไม่ได้เกิดจากกระบวนการสังเคราะห์อย่างที่อ้างแต่อย่างใด (วิธีผลิตอื่นก็คือได้จากการย่อยโปรทีนจากพืชหรือสัตว์ ซึ่งมันก็ยังเป็นสารธรรมชาติอยู่ดี)

บางคนอาจบอกว่าผงชูรส ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าจะเกิดโทษจริง ในขณะเดียวกันมันก็ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าปลอดภัย
ซึ่งมันก็ไม่แปลกอะไรครับ ที่มันจะไม่มีหลักฐาน เพราะในทางปฏิบัติจริงๆแล้ว เขาจะไม่มาเที่ยวนั่งดูว่าอาหารทุกตัวที่เรากินมันกินได้ในขนาดไหนจริง คุณจะไม่เห็นว่าข้าวมีระดับความปลอดภัย, คุณจะไม่เห็นว่าขนมปังมีระดับความปลอดภัย เช่นเดียวกับอาหารอื่นๆอีกบานตะไทที่ตราบใดมันกินแล้วไม่เกิดโทษ ก็จะนับว่ามันปลอดภัย ก็จะไม่มีใครเสียเวลาไปนั่งศึกษากันหรอกครับ ว่ามันมีความปลอดภัยแค่ไหน

สุดท้ายหลังจากที่เขาไม่สามารถหาหลักฐานมายืนยันได้จริง เมื่อไม่มีหนทางเขาเลยกล่าวว่า ที่ผลการทดลองเป็นแบบนี้ เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับเงินจากบ.ผลิตผงชูรส!!
โอ้พระเจ้าจอร์จ ถ้ามันเป็นอย่างนั้นจริง แสดงว่า บ.นี้คงมีกำไรมากมายพอที่จะปิดปากหมอทั้งโลก, อย.ทุกประเทศ, FAO, EU, WHO, รวมไปถึงคนในวงการสาธารณสุขทั้งหลาย คงโดนเงินปิดปากกันหมดกระมังครับ และสงสัยคนเหล่านั้นคงไม่มีจรรยาบรรณกันทั้งหมด ทำให้ในปัจจุบันยังไม่เคยมีรายงานทางการแพทย์ถึงโทษของผงชูรสจริงๆ

บทสรุปการยอมรับด้านความปลอดภัยของผงชูรส
ความปลอดภัยของผงชูรสได้รับการยอมรับจาก US FDA ตั้งแต่ปี 1959 ว่าปลอดภัย เมื่อกินในขนาดปกติ ต่อมา
ปี 1980 ภายใต้การ review ของ Federation of American Societies for Experimental Biology (FASEB) ได้สรุปว่าปลอดภัยเมื่อกินในขนาดปกติ แต่อาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์หากได้รับในปริมาณมากๆ
ปี 1986 ได้ข้อสรุปว่าอาการต่างๆเหล่านี้เกิดขึ้นเพียงชั่วเวลาไม่นานนัก และอาจเกิดได้กับคนบางกลุ่มเท่านั้น
ปี 1987 Joint Expert Committee on Food Additives (JECFA) ของ WHO ได้ประกาศให้ผงชูรสเป็นสารปรุงแต่งอาหารที่ปลอดภัย
ปี 1991 Scientific Committee for Food (SCF) ของ EU ได้รับรองให้ผงชูรสเป็นสารปรุงแต่งอาหารที่ปลอดภัย และได้รายงานการวิจัยว่า ในเด็กทารกและในเด็ก ร่างกายสามารถย่อยสลาย glutamate ได้เหมือนกับในผู้ใหญ่
ปี 1992 American medical association ได้ประกาศว่า glutamate (ทุกรูปแบบ) ไม่มีผลกระทบกับสุขภาพของคน
ปี 1995 US FDA ได้ประกาศว่า มีผู้คนจำนวนหนึ่ง ที่อาจจะเกิดอาการข้างเคียงจากผงชูรสได้ (อาการแพ้ผงชูรส) โดยไม่ระบุจำนวนที่แน่ชัด
ถึงในปัจจุบันจะมีคนที่พยายามอ้างว่า ผงชูรสมีอันตราย แต่มันก็ไม่สามารถยืนยันด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่ามันมีอันตรายจริงๆ

ในโลกของวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน การที่เราจะกล่าวว่าสิ่งใดมีอันตราย, สิ่งใดใช้ได้จริง, สิ่งไหนไม่มีประโยชน์ ฯลฯ เราไม่สามารถใช้เพียงความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาสรุปเท่านั้น (scientific based) แต่เราจะต้องมุ่งไปดูหลักฐานทางการแพทย์จริงๆ ว่ามันมีการทดลองหรือการศึกษาแล้วมันจะได้ผลแบบที่กล่าวอ้างหรือไม่ (evidence based) เราถึงจะตัดสินได้อย่างถูกต้องครับ
ตัวอย่างที่เห็นชัด (ที่เคยยกมาหลายครั้งแล้ว) เช่น เรื่องวิทามินซี ที่ scientific บอกว่ามีประโยชน์ในเรื่องหวัด แต่จากการทดลองจริงๆ evidence กลับไม่พบว่ามันมีประโยชน์ (นอกจากจะอยู่บนภูเขาสูงๆ หรืออากาศแบบขั้วโลก)
อีกตัวอย่างหนึ่งคือ เรื่อง betacarotene ที่ scientific บอกว่าช่วยในเรื่องมะเร็งได้ แต่ evidence กลับไม่พบว่ามีประโยชน์แต่อย่างใด
ดังนั้น เราไม่ควรเชื่อบทความที่ไม่สามารถหาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มายืนยันได้จริง โดยการอาศัยแค่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น ยิ่งพวกที่อ้างมาจากเวปต่างๆที่ไม่น่าเชื่อถือหรือไม่ได้เป็นเวปทางวิชาการแล้ว ไม่ควรหลงเชื่ออย่างเด็ดขาดครับ




 

Create Date : 03 เมษายน 2550   
Last Update : 3 เมษายน 2550 15:26:56 น.   
Counter : 5498 Pageviews.  

1  2  3  4  5  

Marquez
Location :
Milano Italy

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 19 คน [?]




A te che sei il mio grande amore Ed il mio amore grande
A te che hai preso la mia vita E ne hai fatto molto di più
A te che hai dato senso al tempo Senza misurarlo
A te che sei il mio amore grande Ed il mio grande amore

[Add Marquez's blog to your web]