ยังวนเวียนหากินอยู่กับของเก่าๆ => ภาพยนตร์ 2 ขั้วแห่งห้วงอารมณ์



(4/3/2548) เนื่องจากผมยังไม่มีเวลาเขียนถึงเรื่องที่ได้ไปดูมาเพิ่มเติม ดังนั้นขออาศัยหากินจากข้อเขียนเก่าๆ ไปก่อนนะครับ เรื่องก็มีอยู่ว่า ...
เมื่อ 2 อาทิตย์ที่ผ่านมา หลังจากผมได้ดู All about Lily Chou-Chou ที่ลิโดจบลง ผมก็มีความรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้กระทบความรู้สึกและอารมณ์ผมอย่างรุนแรง เพียงแต่ประเด็นต่างๆ ในหนังมันอาจจะดูหลอนๆ เบลอๆ ไม่ค่อยเคลียร์เท่าไหร่ ผมจึงลองไล่ตามอ่านข้อมูลเพิ่มเติมในเน็ต ตามที่มีหลายๆ คนเคยโพสต์ลิงค์เอาไว้ (โดยเฉพาะจากกระทู้ของคุณ merveillesxx) เพื่อทำความเข้าใจกับประเด็นต่างๆ ในหนัง จนภาพต่างๆ ในหนังแจ่มชัดขึ้น ก็ยิ่งทำให้ผมขนลุก ... หนังเรื่องนี้ทำให้ผมย้อนกลับไปคิดถึงหนังอีกเรื่องหนึ่งที่เคยได้ดูมา แล้วสามารถกระทบอารมณ์ผมในระดับเดียวกัน ซึ่งเป็นหนังอันดับ 1 ในดวงใจของผมด้วยนั่นก็คือเรื่อง Shawshank Redemption ... เพียงแต่ มันเป็นอารมณ์ที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว ... คือหลังจากดู Shawshank จบลง ผมมีความรู้สึกว่าหัวใจพองโต ชีวิตเรืองรองไปด้วยความหวังแห่งการดำรงอยู่ต่อไป เรียกว่าเป็นหนัง "Feel good" สุดๆ ว่างั้นเหอะ ตรงข้ามกับ Chou-Chou โดยสิ้นเชิง เพราะผมว่าคนปกติบางคนที่ได้ดู หลังจากดูจบอาจก่อให้เกิดอาการซึมเศร้าขึ้นมาได้ (ผมก็เป็น อินกับหนังอยู่ตั้ง 2-3 วันแน่ะ) และยิ่งถ้าคนที่เป็นโรคซึมเศร้าอยู่แล้ว ก็อาจเกิดอาการอยากฆ่าตัวตายหนีจากโลกอันแสนโหดร้ายใบนี้ไปเลยด้วยซ้ำ ... แต่อย่างไรก็ตามทั้ง Shawshank และ Chou-Chou ก็มีทั้งความเหมือนและความแตกต่างอยู่ในตัวของหนังเอง เท่าที่ผมพอจะนึกประเด็นออกก็ได้แก่ ...

ความแตกต่างคนละขั้ว :
- ถ้า Shawshank เป็นหนัง 'Feel good' สุดๆ ... Chou-Chou ก็ต้องเรียกว่าเป็นหนัง 'Feel bad' สุดๆ ... เหมือนที่ผมได้เขียนไว้ว่า Shawshank อาจเสริมสร้างกำลังใจให้คุณอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป ... ส่วน Chou-Chou ก็อาจทำให้คุณไม่อยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไปได้เช่นกัน
- ใน Shawshank เป็นโลกของผู้ใหญ่ ตัวละครเกือบทุกตัวอยู่ในวัยฉกรรจ์จนถึงวัยไม้ใกล้ฝั่ง มีเพียงเด็กวัยรุ่นในช่วงกลางค่อนท้ายเรื่องอยู่เพียงคนเดียว ... ตรงข้ามกับ Chou-Chou ซึ่งเกือบทุกตัวละครเป็นวัยรุ่น (ไม่นับผู้ใหญ่ที่เป็นครอบครัวของเด็กๆ เหล่านี้ เพราะแทบไม่บทบาทใดๆ ต่อเนื้อเรื่อง) ... มีผู้ใหญ่เพียงคนเดียวที่หนังใส่มิติเข้ามาให้ คืออาจารย์สาวที่เกือบจะสื่อสารกับพระเอกได้ คนนั้นเท่านั้น
- ที่เป็นสุดขั้วตรงกันข้ามอย่างเห็นได้ชัดของหนัง 2 เรื่องนี้ก็คือ ใน Shawshank ภาพส่วนใหญ่จะออกแนวหดหู่ และโทนสีดำทมึน เนื่องจากเป็นชีวิตในคุก แต่ตัวละครกลับเปี่ยมไปด้วยความหวังของชีวิต... ตรงกันข้ามกับ Chou-Chou ที่เป็นโลกอิสระ วิวสวยสดงดงามมาก (โดยเฉพาะภาพหลอนๆ ของทุ่งหญ้าแห่งอีเธอร์) แต่แทบทุกคนในเรื่อง กลับเหมือนถูกกักขังอยู่ด้วยบ่วงอะไรสักอย่างที่มองไม่เห็น และยิ่งดิ้นรนไขว่คว้าเพื่อจะให้หลุดพ้นจากมันเท่าไหร่ มันก็จะยิ่งรัดแน่นขึ้นๆ ทุกที จนอึดอัดแทบหายใจไม่ออกเลยทีเดียว

ความเหมือน :
- หนังทั้ง 2 เรื่องนี้ ผกก. สามารถคุมอารมณ์หนังแทบทุกซีนได้ในระดับ 'ท็อปฟอร์ม' เหมือนกัน และหนังทั้ง 2 เรื่อง ต่างก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นงานระดับ 'มาสเตอร์พีซ' ของทั้ง ผกก. แฟรงค์ ดาราบอนต์ และ ชุนจิ อิวาอิ ด้วย
- ตัวเอกของทั้ง 2 เรื่อง เป็น 'ผู้ถูกกระทำ' ทั้งๆ ที่ไม่มีความผิดเช่นเดียวกัน ... และน่าจะสื่อความหมายถึงว่า โลกใบนี้แท้จริงแล้วเป็นโลกที่รุนแรงโหดร้าย เพียงแต่เราจะรับมือกับมันอย่างไร เพื่อให้ชีวิตของเราสามารถดำรงคงอยู่ต่อไปได้อย่างมีความสุขเท่านั้นเอง
- หนังมีสัญลักษณ์และซับพล็อตมากมายที่อาจต้องได้รับการตีความ ใน Shawshank อาจไม่มากเท่าไหร่ แต่ Chou-Chou อาจเป็นด้วยวิธีการนำเสนอแบบเบลอๆ และหลอนๆ ไม่ให้เห็นภาพชัดเจน จึงเป็นหนังที่ 'ลึก' เอามากๆ (หนังไม่ได้ดูยากขนาดนั้น เพียงแต่มันมีประเด็นอะไรต่อมิอะไรอยู่ในเนื้อเรื่องตั้งมากมาย)
- ในตอนจบของหนัง ตัวเอกได้รับการปลดปล่อยไปสู่อิสรภาพอันเป็นจุดมุ่งหมายของคนทั้งสองเช่นเดียวกัน เพียงแต่ต่างกรรมต่างวาระกันเท่านั้น ... Shawshank พระเอกได้รับอิสรภาพ และสามารถดำรงชีวิตอยู่ในโลกที่เขาปรารถนา พร้อมกับเพื่อนที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขมาด้วยกันในคุก จึงเปรียบเสมือนการไถ่ถอนและปลดเปลื้องความผิดบาปทั้งปวง ที่เขาได้รับจากคุก Shawshank ตามชื่อเรื่อง ... ส่วนใน Chou-Chou พระเอกได้รับการปลดปล่อยจิตวิญญาณให้สถิตย์อยู่ในทุ่งหญ้าสีเขียวแห่งอีเธอร์อันเป็นนิรันดร์ เหมือนดังเช่นในฉากเปิดเรื่องนั่นเอง ...
_______________________________________
(21/2/2548) เนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นช่วงว่างเว้นหนังรางวัลเข้าฉาย จึงเป็นโอกาสเหมาะสำหรับผมในการตามเก็บหนังอินดี้เล็กๆ ที่ตั้งใจจะดูแล้วยังไม่มีเวลาว่างพอจะไปดู และสัปดาห์หน้าก็จะมีหนังรางวัลเข้าเยอะอีกแล้ว จึงต้องรีบเก็บหนังเล็กๆ เหล่านี้ซะก่อนจะลาโรงไปหมด ซึ่งจั่วหัวเรื่องที่ขึ้นไว้แบบนั้นก็เพื่อแทนความรู้สึกของหนังทั้ง 3 เรื่องที่ผมได้ไปดูมานั่นเองครับ

Open water - ตัวหนังทำได้ตื่นเต้นดีพอสมควร ทั้งฉาก 'หมู่ฉลาม' ทั้งที่เห็นแบบเป็นเงาๆ ผ่านแว่บไปในน้ำหรือแบบที่เห็นกันจะๆ รวมทั้งข่าวเบื้องหลังการถ่ายทำเรื่องนี้ว่าใช้วิธีถ่ายจริง โดยนักแสดงไม่ได้อยู่ในกรงป้องกันคมเขี้ยวแต่อย่างใด ... แต่ที่ทำให้ผมรู้สึกขัดอารมณ์อย่างรุนแรง ก็คือตอนจบของเรื่อง เนื่องจากการเปิดเรื่องในรูปแบบหนัง 'กึ่งสารคดี' แถมยังประกาศตัวเบ้งๆ ตั้งแต่ต้นเรื่องว่า "based on true story" แต่ไหงตอนจบ พี่แกเล่นจบแบบเป็นภาพยนตร์ซะงั้น ทำให้ผมไพล่ไปคิดถึงหนังอีกเรื่องนึงที่มาในแนวเดียวกันนี้เลยก็คือ 'The Blair Witch Project' ซึ่งเล่นกับความกลัวของคนเหมือนกัน เพียงแต่เปลี่ยนโจทย์จากแม่มดแบลร์ ผีและความมืด มาเป็นฝูงปลาฉลามแทนแค่นั้นเอง หรือถ้าจะให้เรียกอีกที ก็ต้องเรียกว่าหนังเรื่องนี้เป็น 'Blair Witch เวอร์ชัน ปลาฉลาม' ก็คงพอได้มั้งครับ
** 1/2 : 5

Tarnation - ด้วยความสงสัยใคร่รู้ ว่าทำไมคำวิจารณ์หนังกึ่งสารคดีแนวอัตชีวประวัติเรื่องนี้ถึงดีเหลือเกิน อีกทั้งเห็นว่าเป็นสัปดาห์สุดท้ายของการยืนโรงฉาย แล้วด้วย ก็เลยเป็นปัจจัยเร่งให้ผมเดินทางไปพิสูจน์ ซึ่งรอบที่ผมดูนี้เหลือคนดูทั้งโรงประมาณ 5 คนเอง ... พอเห็นชื่อเครดิตตอนต้นเรื่องว่า Executive Producers ของหนังเรื่องนี้คือ กัส แวน ซอง (Elephant) และจอห์น คาเมรอน มิตเชล (Hedwig & the angry inch) ก็นึกรู้ได้ทันทีเลยว่าธีมของหนังเรื่องนี้น่าจะห่างไกลจากความเป็น 'หนัง feel good' เป็นแน่แท้ เพราะหนังเก่าๆ ของทั่นผอ. ทั้งสองล้วนออกมาในทำนองนั้น และก็เป็นจริงดังคาด ... หนังมุ่งสำรวจตรวจสอบชีวิตอันบิดเบี้ยว ผิดเพี้ยนของผู้ชายคนหนึ่ง ที่อาจเกิดมาผิดที่ผิดทางและผิดเวลา จนทำให้เค้าเติบโตมาเป็นอย่างที่เห็น รูปแบบการนำเสนอใช้กลยุทธ์ของหนังโบราณยุคหนังเงียบ คือใช้การบรรยายเรื่องราวผ่านทางตัวอักษรเต็มหน้าจอ คั่นสลับกับภาพฟุตเตจที่ตัวผกก.และดารานำ (เจ้าของเรื่องนี้) เคยถ่ายชีวิตของตนเองเก็บไว้ตั้งแต่สมัยวัยเด็ก นำมาเรียงร้อยต่อกันเป็นเรื่องราวอันน่าสะเทือนใจ ซึ่งคำชมก็คงมาจากการนำเสนอที่ทำได้ค่อนข้าง 'ถึงอารมณ์' ตามที่ผู้สร้างต้องการนั่นเอง
*** 1/2 : 5

All about Lily Chou-Chou - สุดยอดสมค่ำร่ำลือจริงๆ ครับ ... เรื่องนี้ ทำให้เหมือนกับว่าตัวผมได้กลายเป็นสาวกของ Lily Chou-Chou และถูกดูดกลืนเข้าไปอยู่ในอีเธอร์ด้วยอีกคน ตอนเดินออกมาจากโรงลิโดตอน 4 ทุ่มครึ่ง ผมก็ยังมึนๆ เพราะหนังเรื่องนี้นำเสนอชีวิตวัยรุ่นได้อย่าง 'เซอร์' และ 'หลอน' เต็มที่ สมกับคำชมที่ผมเคยได้อ่านคร่าวๆ (เพื่อไม่ให้เสียอรรถรสจากการรับรู้เรื่องราวในหนังล่วงหน้า) จากที่หลายๆ ท่านเคยเขียนถึงเอาไว้ ... ผกก. อิวาอิ เรียงร้อยประเด็นแรงๆ ของชีวิตช่วงวัยรุ่น ทั้งเรื่องการคลั่งไคล้บูชาศิลปิน, การที่คนเข้มแข็งข่มเหงคนอ่อนแอกว่า, โลกของความจริงกับโลกเสมือน (หรือโลกแห่งความฝัน) ในอินเตอร์เน็ต, มิตรภาพ, การฆ่าตัวตาย, การขายตัว, การข่มขืน, การแบล็คเมล์, ฯลฯ ผ่านสัญลักษณ์มากมายในเรื่อง ให้ผู้ชมค่อยๆ ซึมซาบเรื่องราวเหล่านั้นอย่างพร่าเลือนเสมือนเป็นเงา แต่ก็ทรงพลังยิ่งนัก ... เรียกว่าหนังเรื่องนี้ "ดูดกลืนจิตวิญญาณ และกระชากอารมณ์คนดู (โดยเฉพาะอารมณ์มืดหม่น) ในระดับรุนแรง" ก็ว่าได้ ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งก็คงเป็นเพราะหนังเข้าใจนำสิ่งที่สว่างไสวที่สุด (อย่างเช่นฉากพระเอกยืนฟัง CD ท่ามกลางทุ่งหญ้าสีเขียว อันเป็นฉากที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นโลโก้ที่โดดเด่นที่สุดของเรื่องอย่างที่เห็นในรูป) มาเข้าคู่กับอารมณ์อันมืดหม่นของเด็กวัยรุ่นคนหนึ่งที่ถูกเหวี่ยงขึ้นไป แล้วก็ลอยละลิ่วตกลงมา จนกระทั่งดำดิ่งถึงจุดที่ต่ำที่สุดของก้นบึ้งแห่งอารมณ์นั่นเอง ...

... และหลังจากที่ผมใช้เวลาค่อยๆ แกะข้อมูลต่างๆ ที่มีคนเขียนอธิบายแต่ละจุดของเหตุการณ์ในเรื่องไว้ ก็ทำให้ภาพและความหมายต่างๆ ในหนังค่อยๆ กระจ่างชัดในห้วงความคิดของผมมากขึ้นๆ เป็นลำดับ จนถึงขั้นที่เรียกได้ว่าเริ่มจะอินกับอารมณ์ของคนดูที่เขียนถึงหนังเรื่องนี้ว่าเกิดอาการ "หัวใจสลาย" หลังจากการดูหนังเรื่องนี้จบลง และก็แทบอยากจะกระทำอาการแบบที่ตัวละครในหนังได้กระทำลงไปนั่นทีเดียว ... และแล้วสิ่งต่างๆ ในหนังก็เริ่มไหลวนเวียนกลับไปกลับมาในหัวผมอีกครั้ง ทั้งเสียงเพลงหลอนๆ, Dystopia, โลกแห่งอีเธอร์, Lily Chou-Chou,ชีวิตในช่วงวัยรุ่นของตัวเอง ... รวมทั้งทุ่งหญ้าสีเขียวอันเป็นนิรันดร์แห่งนั้น..............ซึ่งคงจะกระจ่างชัด ติดตราตรึงอยู่ในภาพความทรงจำในหัวของผม ......ตลอดไป
***** : 5 (เต็มครับ)



(14/2/2548) ก่อนอื่นในฐานะที่วันนี้เป็นวันแห่งความรักของใครหลายๆ คน ผมก็ขอสุขสันต์วันแห่งความรักแด่เพื่อนๆ ผู้อ่านทุกท่าน ถ้าคุณรักใคร วันนี้ถ้ามีโอกาสก็อย่าลืมบอกให้เจ้าตัวเค้ารู้บ้างนะครับ เพราะถ้ามัวแต่เก็บเอาไว้ เราก็ไม่รู้หรอกว่าจะมีอีกกี่ 'วันพรุ่งนี้' สำหรับเราและเค้า อ้อ ... แล้วถ้าความรักของคุณยังพอมีเหลือ ก็อย่าลืมเผื่อแผ่ไปยังคนที่รักคุณ (ถึงแม้ว่าคุณจะไม่ได้รักเค้าก็ตาม) คุณพ่อคุณแม่ พี่น้อง เพื่อนพ้อง ญาติ สัตว์เลี้ยงของคุณ คนข้างบ้าน ขอทานข้างถนน ฯลฯ ด้วยล่ะครับ เพราะเพียงแค่คุณตั้งใจที่จะรักใครซักคน แล้วคนๆ นั้นเห็นคุณค่าในความรักนั้น ตัวคุณก็แทบจะลอยเหมือนได้ขึ้นสวรรค์แล้ว จริงมั๊ยครับ?

... มาว่าด้วยหนัง (ดี) ที่ผมได้ไปดูมากันต่อ อาทิตย์ที่ผ่านมาลุยมาอีก 2 เรื่องคือ ...

Phantom of the Opera - ฉากอลังการ สวยสมกับที่สร้างจากละครเวทีชื่อดังอันดับต้นๆ ของโลก เพลง Opera ก็เพราะดี ... แต่กลับให้ความรู้สึกเหมือนนั่งดูละครเวทีอยู่มากกว่าดูภาพยนตร์ อาจเป็นเพราะความไม่ต่อเนื่องของเนื้อเรื่องที่ดูกระโดดไปกระโดดมา ถึงเวลาร้องเพลง ก็ร้องกันเป็นเพลงๆ ไป (แตกต่างจาก Chicago ตรงที่เรื่องหลังใช้ความเข้มข้นของเนื้อเรื่องเป็นตัว lead ภาพยนตร์ ส่วนเพลงเป็นตัวเสริมให้เรื่องราวดูแน่นและสนุกสนานยิ่งขึ้น) ... เอ็มมี่ รอสซั่มดูสวยสะพรั่ง ขึ้นกล้องสุดๆ จึงดูเด่นกว่าตัว 'Phantom' (เจอร์ราด บัตเลอร์) และนางอิจฉาที่รับบทโดยมินนี่ ไดรเวอร์เป็นอันมาก
*** /5

Finding Neverland - หลังจากได้ชมเทรลเลอร์แล้ว ก็อยากดูหนังเรื่องนี้เอามากๆ แต่แล้วก็เกิดอาการแป้วเล็กๆ เมื่อมีเพื่อนที่ชอบดูหนังอินดี้เช่นกันโทรมารายงานว่า เค้าเพิ่งไปดูมาแล้วเกิดหลับในโรงไปตอนกลางเรื่องซะงั้น มาตื่นอีกทีเอาเมื่อหนังเกือบจะจบแล้ว ... แต่ผมก็ไม่หวั่นไหวเท่าไหร่ ด้วยความมั่นใจว่าหนังแบบนี้มันเป็นหนัง 'แนวผม' (ดราม่าซาบซึ้ง) เพราะเพื่อนคนที่ว่าเค้าค่อนข้างจะชอบหนังที่มีความ 'แรง' อยู่ในตัว ซึ่งหลังจากที่ดูจบ ความรู้สึกของผมในแง่ลบเพียงประการเดียว ก็คงเป็นที่ว่าหนังขาด 'เซอร์ไพรซ์' แก่คนดู เพราะแทบจะรู้ได้เลยว่าหนังจะดำเนินไปและจบลงอย่างไร พูดง่ายๆ ก็คือ 'ซึ้งในระดับที่ควรซึ้ง' นั่นแหละครับ

ในส่วนของนักแสดงก็ทำได้ถึงระดับของตนเองกันทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเฮียเดปป์และนู๋อึ๋ม (วินสเลต) ซึ่งผมค่อนข้างจะชื่นชมการเลือกหนังที่จะเล่นของ 2 คนนี้นะครับ ว่าเค้าเลือกแต่ละเรื่องได้ดี และอีกคนที่เป็นกุญแจสำคัญของเรื่องก็คือวัยกระเตาะอย่าง Freddy Highmore ที่แสดงความขัดแย้งทางอารมณ์ในตัวเองได้ดีและมีความ'ลึก' ซึ่งถือเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ท่าน Sir J.M. Barry ในการสร้างสรรค์ 'ด.ช. Pan ผู้ไม่มีวันโต' ขึ้นมา และน่าจะเป็นผู้ปลุกเร้าวิญญาณของเด็กชายผู้ไม่มีวันโต (เช่นกัน) ในตัวท่าน Sir ให้ลืมตาออกมาสร้าง 'Neverland' แดนแห่งจินตนาการที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าให้แก่ผู้ที่ได้อ่านหนังสือหรือดูหนังเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ Peter Pan อีกนับล้านๆ คนทั่วโลก ... และถือว่าท่าน Sir กล้าหาญมากที่สารภาพกับแม่ของหญิงสาว ซึ่งถือเป็นคู่ปรับของเขา ว่ารักลูกสาวของท่าน และน่าจะเป็นรักแท้เสียด้วย เหตุผลสำคัญก็คงเป็นเพราะเค้าทั้ง 2 คน สามารถแชร์ความฝันซึ่งกันและกัน จนสามารถนำไปสู่ 'Neverland' ได้ในที่สุด ไม่ว่าจะเป็น Neverland อันเป็นรูปธรรมที่ท่านเซอร์ลงทุนเนรมิตขึ้นมาเพื่อหญิงที่ตนรักหรือ Neverland ที่อยู่ในจินตนาการอันไกลโพ้นก็ตาม

สำหรับตัวผกก. Marc Foster เอง ก็ถือว่าประสบความสำเร็จเช่นกัน ในการปลุกจินตนาการ วิญญาณแห่งการผจญภัยและวัยเยาว์อันสดใสที่ยังคงแอบแฝงอยู่ในตัวของคนดู ... เพียงแค่คุณหลับตาลงและจง 'เชื่อ' แล้วตัวคุณเองก็อาจโบยบินไปสู่ 'Neverland' ได้เช่นกัน เพราะดินแดนแห่งนี้อยู่ในใจของพวกเราทุกคนนั่นเอง เพียงแต่เพราะวัยวุฒิที่เพิ่มขึ้น อาจทำให้เด็กชายแพนหรือเวนดี้ในตัวคุณหลับใหลลงเพียงเท่านั้น
**** /5




 

Create Date : 14 กุมภาพันธ์ 2548   
Last Update : 4 มีนาคม 2548 21:12:03 น.   
Counter : 617 Pageviews.  


อัพเดทหนังที่ผ่านตาไปแล้ว (7/2/48)

Closer - เป็นหนังที่เล่นกับอารมณ์คนดูได้อย่างสะใจ กับพล็อตเรื่องที่มีความซับซ้อนทางอารมณ์ในตัวสูง ตัวหนังขับเคลื่อนไปด้วยบทสนทนาอันเฉียบคมและการแสดงอันเฉียบขาดของคนแค่ 4 คนล้วนๆ โดยแทบจะไม่มีตัวประกอบอื่นโผล่หน้ามาให้เห็น สามารถพาหนังทั้งเรื่องให้ดำเนินไปตลอดรอดฝั่งจนจบได้ แถมยังดูสนุกเสียด้วย ประเด็นที่หนังพูดถึงก็มีหลายเรื่อง ทั้งมุมมองเกี่ยวกับความรัก เซ็กส์ การทรยศหักหลัง การแก้แค้น การปกป้องตัวเอง ฯลฯ Clive Oven ผมเห็นว่าสมควรแก่รางวัลลูกโลกทองคำประกอบชายยอดเยี่ยม เพราะเค้าแสดงเป็นหมอลามก ที่ชอบระเบิดอารมณ์อยู่บ่อยๆ และมีความดิบเถื่อนอยู่ในตัว คุณน้อง Natalie Portman ก็แสดงเป็นนักเต้นระบำเปลื้องผ้าได้เซ็กซี่ และมีแง่มุมแห่งอารมณ์ลึกลับในตัว ซึ่งก็คู่ควรแก่รางวัลลูกโลกทองคำประกอบหญิงเช่นกัน ส่วนเฮีย Jude หล่อ กะเจ๊ Julia ก็แสดงอารมณ์ได้ดี
**** : 5

The Aviator - มาพูดถึงหนังตัวเต็งออสการ์ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมกัน ... โดยส่วนตัวผมเห็นว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนังดีที่ ... ดูไม่สนุก (ผมไม่ได้รู้สึกแบบนี้แค่คนเดียวนะครับ เพราะถามเพื่อนๆ หลายคน ก็พูดทำนองนี้เช่นกัน) ซึ่งน่าจะเป็นเพราะตัวหนังอืดๆ ในบางช่วง และมีซับพล็อตของชีวิตนาย Howard Huges ที่ต้องโฟกัสมากเกินไป (ทั้งการบิน การทำหนัง การเป็นเสือผู้หญิงที่ชอบกุ๊กกิ๊กกับดาราดัง และอาการ Germophobia ขั้นรุนแรง) ถึงแม้เรื่องการบินจะมีสัดส่วนมากที่สุด (เพื่อให้เข้ากับชื่อเรื่อง) ก็ตาม และอีกอย่าง ฮิวจ์เป็นตัวละครที่มีความซับซ้อนในตัวสูงก็จริง ... แต่ก็อาจจะมากเกินไป คือ 'เพี้ยน' จนเกินกว่าที่คนธรรมดาอย่างเราๆ จะเข้าถึงและเอาใจช่วยเต็ม 100 % ได้ แต่ที่ผมชอบก็อาจคล้ายๆ กับที่หลายคนคิดคือบท 'แคธลีน แฮปเปิร์น' ของเจ๊ Kate Blanchett ซึ่งโดดเด้งออกมาจากคนอื่นๆ ซะเหลือเกิน หลายคนอาจมองว่าเธอ 'Over-acting' แต่อีกบางคนถึงกับบอกว่าดูแล้วตกใจ เหมือนกับวิญญาณของคุณย่าแฮปเปิร์นหลุดมาเข้าสิงเธอนั่นทีเดียว (ผมลุ้นประกอบหญิงกับเธออยู่ครับ คงไม่โดนปล้นเหมือนปีที่เจ๊เกวนเน็ธชิงไปจากบทราชินี Elizabeth อีกนะ) ... แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ด้วยระดับชั้นของผู้กำกับ ดารา โปรดักชั่น ความยิ่งใหญ่อลังการของเนื้อเรื่อง (ของโปรดของออสการ์เขาล่ะ) และการพูดถึงชีวิตของหนึ่งในบุคคลอเมริกันที่ทรงอิทธิพลและเป็นที่รู้จักกันดี ก็น่าจะทำให้หนังเรื่องนี้กวาดรางวัลออสการ์ไปได้มากที่สุดอยู่ดี เพียงแต่จะกี่ตัวเท่านั้นเอง
*** 1/2 : 5

Ray - ถ้าเทียบกับ Aviator (เนื่องด้วยว่าถึงชีวิตของคนดังอเมริกันเหมือนกัน) ผมว่าการนำเสนอชีวิตของ Ray Charles Robinson ดูชัดเจนกว่าของฮิวจ์อยู่มาก (ไม่น่ามาฉายพร้อมกันเล้ย ... เจงๆ ไม่อยากเปรียบเทียบกันเท่าไหร่) ชีวิตของ Ray ดูใกล้ตัวและจับต้องได้มากกว่า เพราะชีวิตของฮิวจ์นั้นเกิดมาเป็นลูกมหาเศรษฐี แถมยังเพี้ยนจนไม่อาจเอาใจช่วยได้เต็มหัวใจ แต่กับ Ray ซึ่งเกิดในครอบครัวระดับล่าง แต่กลับสามารถถีบตัวเองขึ้นมาด้วยความสามารถที่มีในตัวทั้งๆ ที่เป็นคนพิการ(ตาบอด) แต่ก็ไม่เคยย่อท้อต่อชีวิต แถมยังมีแง่มุมของความเป็นมนุษย์ มีทั้งความดี ความเลว มีสีสันครบถ้วน ชีวิตของ Ray ในเรื่องนี้ถูกโฟกัสไปที่ ผู้หญิงในชีวิต (ที่อยากนอนกับคนดัง) การติดเฮโรอีนระดับเข้าขั้น แต่เหนือสิ่งอื่นใดก็คืออัจฉริยภาพทางดนตรี จนถึงขั้นสามารถประยุกต์เพลง Jazz / R&B / Orchestra / Gospel (เพลงสวดในโบสถ์) เข้าด้วยกัน จนกลายเป็นแนวใหม่คือเพลง Soul ... อีกสาเหตุที่ทำให้ชอบมากกว่า Aviator คือหนังอธิบายเหตุผล ที่มาที่ไปของพฤติกรรมแต่ละเรื่องของ Ray อย่างชัดเจน ด้วยการแฟล็ชแบล็คกลับไปยังชีวิตในวัยเด็กของเค้าเป็นระยะๆ ไม่เหมือนฮิวจ์ที่พฤติกรรมหลายอย่างดูคลุมเครือว่าทำไมเค้าถึงกลายเป็นคนแบบนั้น โดยเฉพาะที่น่านับถือก็คือแม่ของ Ray (โทษทีครับ จำชื่อคนแสดงไม่ได้) ที่ดูเป็นชาวบ้านธรรมดาๆ แต่กลับสามารถผลักดันให้ลูกชายตัวเองเดินไปจนสุดทางที่ฝันจนสำเร็จ (แต่แม่ของฮิวจ์กลับมีส่วนทำให้เค้ากลายเป็นคน Germophobia) ... หนังเรื่องนี้เพลงเพราะมั่กมาก (คงเป็นเพราะผมชอบฟังเพลงแนวๆ นี้อยู่แล้ว) ยิ่งทำให้ดูเพลินมากขึ้นไปอีก ... ความชอบของผมต่อหนังเรื่องนี้เหนือกว่า Frida (ชีวิตที่มีสีสันของจิตรกรหญิงอันดับต้นๆ แห่งเม็กซิโก ซึ่งเป็นคนพิการ (เดินไม่ได้) เช่นกัน) อยู่เล็กน้อย เพราะการนำเสนอที่ชัดเจนกว่า ... และการแสดงที่เข้มข้นถึงระดับ (และว่ากันว่าเหมือนตัวจริงเอามั่กมาก) ของนาย Jamie Foxx (ได้ยินว่า Ray ตัวจริงเป็นคนชี้นิ้วมาเลยว่าต้องเป็นนายคนนี้เท่านั้น) ... เขียนเชียร์กันซะขนาดนี้ ไม่ต้องบอกก็คงรู้นะครับว่าผมลุ้นรางวัลให้เรื่องนี้มากกว่า Aviator (แต่ที่ได้ลุ้นจริงๆ ก็คงนำชายเท่านั้นละมั้ง)
**** 1/2 : 5

Meet the Fockers - เนื่องจากเป็นหนังภาคต่อ ยังไงๆ ก็คงอดนำไปเปรียบเทียบกับ Meet the parents ไม่ได้อยู่นั่นเอง และในความรู้สึกผม ... ก็เช่นเดียวกับภาคต่อของหนังอีกหลายๆ เรื่องที่สู้ของเดิมต้นฉบับไม่ได้ แต่ก็ยังไม่ถึงกับล้มเหลวซะทีเดียว ยังพอจะกระตุกต่อมฮาได้อยู่บ้าง เพียงแต่มุขมันไม่สดและใหม่เหมือนภาคแรกอีกแล้ว สิ่งที่อาจจะดีกว่าภาคแรกก็คือการได้ Dustin Hoffman กับ Babara Streisand มาเสริมทีมฮา ... แต่รู้สึกว่ามุขภาคนี้ออกจะ 'ต่ำ' (อยู่แถวๆ ใต้สะดือ) อยู่สักหน่อย ทำให้ดูเป็นความแตกต่างออกไป
*** / 5




 

Create Date : 07 กุมภาพันธ์ 2548   
Last Update : 7 กุมภาพันธ์ 2548 17:49:25 น.   
Counter : 550 Pageviews.  


10 อันดับภาพยนตร์ในดวงใจที่ได้ดูในโรง ปี 2547

สำหรับตัวผมเอง ไม่น่าเชื่อว่าปีที่ผ่านมา ผมได้ดูหนัง (นับเฉพาะที่ดูในโรง หรือตามงานเทศกาลต่างๆ ไม่นับหนังแผ่นหรือหนัง UBC) ทั้งหมดถึง 46 เรื่อง! เฉลี่ยเกือบจะอาทิตย์ละเรื่อง (แต่จริงๆ แล้วบางอาทิตย์ก็ดูถึง 3-4 เรื่อง บางช่วงก็ไม่ได้ดูเป็นเดือนเลย แล้วแต่โปรแกรมหนังช่วงนั้นว่าน่าดูหรือเปล่า) ซึ่งุเพิ่มขึ้นเยอะ ถ้าเทียบกับปีก่อนๆ ที่ดูแค่ปีละประมาณ 30 เรื่องเองมั้ง ... ส่วน 10 อันดับในใจผมก็มีดังนี้ (เรียงตามเวลาที่ผมดูจากต้นปีไปปลายปีนะครับ)

1. In America (UK.) : 2 พี่น้องโบลเจอร์ เป็นธรรมชาติมากๆ เนื้อเรื่องลึกซึ้งกินใจ มีหลายฉากที่ประทับใจอย่างฉากที่พ่ออยากปาตุ๊กตาให้ลูก จนกลายเป็นเดิมพันของครอบครัว เป็นต้น อารมณ์โดยรวมของหนังก็อยู่ในระดับซึ้งมากๆ ดูแล้วน้ำตาซึมเลย

2. โหมโรง (Thai) : เรื่องนี้ผมอยากดูตั้งแต่อ่านพล็อตแล้ว ไม่ได้อยากดูทีหลังตามกระแส ดูแล้วก็รู้สึกว่าเป็นหนังไทยที่บทค่อนข้างลงตัว (ซึ่งผมว่ามีไม่ถึงครึ่งของหนังไทยที่ออกฉายในแต่ละปี) มีความเป็นไทยสูงมากๆ ชอบฉากที่มีการบรรเลงระนาดไปพร้อมกับเปียโน เพราะตอนแรกคิดว่าครูศรน่าจะยัวะลูกชายมากกว่าที่จะบรรเลงเพลงให้กลมกลืนกันแบบนั้น หนังเรื่องนี้น่าจะทำให้เด็กไทยรุ่นใหม่เหลียวมามองความเป็นไทยที่ไม่ถูกชาติตะวันตกครอบงำวัฒนธรรมได้ไม่มากก็น้อย

3. Big Fish (USA.) : ปกติค่อนข้างนิยมทิม เบอร์ตันและชอบหนังทั้งดราม่าและแฟนตาซีอยู่แล้ว แถมเรื่องนี้ยังมีการสอดแทรกความอบอุ่นที่ได้รับการเยียวยาความสัมพันธ์ของพ่อกับลูก ฉากสารภาพรักในทุ่งดอกแดฟโฟดิลส์ก็งดงามเอามากๆ

4. Lost in Tranlation (USA.) : ทำได้เปลี่ยวเหงาดี อย่างที่หาอารมณ์แบบนี้ไม่ได้ง่ายๆ ตามหนังสตูฯ ของอเมริกันทั่วไป ชอบฉากสุดท้าย ตอนที่น้าบิลเข้าไปกระซิบข้างหูสการ์เล็ต แล้วให้คนดูตีความเอาเองว่าเค้ากระซิบอะไรกัน ... อีกอย่างชอบที่ไม่มีการก้าวล่วงทางเพศระหว่างคนเหงา 2 คน ทั้งๆ ที่สถานการณ์มันพาไปซะเหลือเกิน ... มันทำให้ฉุกใจคิดว่าความรักที่สวยงามโดยไม่ต้องมีความใคร่มาเกี่ยวข้อง ก็สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน

5. Shattered Glass (USA.) : ชอบโทนหนังและการแสดงของทั้ง เฮย์ดี้และปีเตอร์ ซาร์สการ์ด บอกให้รู้ว่าทั้งคู่ต่างมั่นคงในอุดมการณ์ของตัวเอง ... เพียงแต่มันเป็นคนละขั้วกันเท่านั้น

6. Les Tripplets de Belleville (France) : ช่วงแรกๆ มีความรู้สึกว่าทำไมมันวาดแบบนี้ฟระ (เพราะผมเป็นคนชอบดูการ์ตูนรูปสวยๆ) แต่พอดูไปเรื่อยๆ ก็เริ่มอิน วาดได้เซอร์ดี เข้ากับเนื้อเรื่องที่จิกกัด (โดยเฉพาะเมกา) ได้เจ็บแสบ ตลกร้ายเอามั่กมาก โดยเฉพาะฉากคุณป้าระเบิดกบ

7. Goodbye Lenin (Germany) : อึ้งดีกับความพยายามของพระเอก ซึ้งกับความรักของแม่และลูก

8. Collateral (USA.) : โดยปกติผมไม่ค่อยนิยมหนังแอ๊คชั่น แต่เรื่องนี้เป็นข้อยกเว้น เพราะเค้าทำได้ถึงและมันส์ สนุกที่จะติดตามเรื่องราวไปเรื่อยๆ

9. ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ (Thai) : เป็นหนังผีที่หลอกล่อคนดูใช้ได้ทีเดียว และชอบตรงที่เค้าพยายามเก็บเงื่อนปมเล็กๆ น้อยๆ เพื่อมาเฉลยตอนสุดท้าย เพื่อให้คนดูสยองที่สุดเหมือนเรื่อง The sixth sense และ The Others ... ถึงแม้บางฉากจะคล้ายกับหนังผีญี่ปุ่นเรื่องเก่าๆ ไปหน่อยก็ตาม

10. Nobody knows (Japan) : ไม่น่าเชื่อ ตอนดูก็ว่าเศร้าอยู่ แต่พอเดินมาจากโรง ไหงมันยิ่งเศร้ามากขึ้นอีกล่ะหว่า ... ผมว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นหนึ่งในหนังที่เศร้าที่สุดเท่าที่ผมเคยดูมาเลยล่ะครับ สุดยอด ...

นอกนั้น เรื่องอื่นๆ ที่อยู่ในระดับดูแล้วประทับใจ ก็ได้แก่ ...
- Spidy-II (USA.) ไม่นึกว่าหนังแนวซุปเปอร์ฮีโร่จะมีอารมณ์ดราม่าให้ขำขันได้ขนาดนั้น

- Harry Potter and the Prisoner of Azkaban (USA.) ชอบความมืดหม่นของเรื่องเมื่อเทียบกับ 2 ภาคแรกที่ดูเป็นหนังสำหรับเด็ก แต่ภาคนี้ดูโตขึ้น เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น ซึ่งเหมาะสมแล้วกับท้องเรื่องและอายุที่มากขึ้นของพ่อมดน้อย

- Whale Rider (NZ.) พูดถึงประเด็นสิทธิสตรีในสังคมปิดได้เจ๋งเป้งดี และอินเพราะความคุ้นเคยกับถิ่นเก่าที่ผมเคยไปด้วยมั้งครับ เคยรู้มาบ้างเหมือนกันเกี่ยวกับวัฒนธรรมต่างๆ ของชาวเมารี ส่วนนู๋ไคชาก็แสดงได้เยี่ยม สมควรแก่การเข้าชิงออสการ์นำหญิงเมื่อปีที่แล้ว

- Babarian Invasion (Canada) เสียดายที่ผมดูในเทศกาล BKKIFF-II เลยอ่านซับฯ ภาษาปะกิดไม่ค่อยทัน (โดยเฉพาะตอนที่พูดถึง ___ismๆ ทั้งหลาย) จับใจความได้แต่ประเด็นใหญ่ๆ ที่หนังสื่อถึง แต่ถึงกระนั้นก็ยังรู้สึกได้นะครับว่าหนังดี ... วันหลังคงต้องลองหามาดูใหม่อีกรอบ

- Evil (Sweden) ซึ้งดี และชอบที่ไม่ได้เดินเรื่องตามสูตรของหน้งแนวนี้แบบหนังเมกา เพราะจะทำให้หนังดูจริงใจน้อยกว่านี้

- The Incerdibles (USA.) เป็นอนิเมะที่เดินเรื่องได้เมามันส์มั่กมาก

- Fahrenheit 911 (USA.) จิกกัดป๋าบุชได้เจ็บแสบชะมัด สาแก่ใจคนชังบุชอย่างผมและอีกหลายๆ คน โดยเฉพาะตอนที่บุชทำหน้าโง่ สอนเด็กต่อไปอีก 5 นาที หลังจากรู้เรื่องเครื่องบินชนตึก ... ไมค์ มัวร์ ฉลาดในการตัดต่อเอาประเด็นเล็กๆ น้อยๆ มาทำให้กลายเป็นสารคดีเรื่องนี้ รวมทั้งกระตุ้นอารมณ์คนดูให้คล้อยตามเป้าประสงค์ของหนัง ด้วยภาพความสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักจากสงครามอิรัก

- Master & Commander : The far side of the world (USA.) ทำฉากรบได้อลังการดี เนื้อเรื่องก็ตื่นเต้นใช้ได้ ฉากหมู่เกาะกาลาปากอสสวยงามยิ่งนัก

- School of Rock (USA.) สะใจความบ้าของเจ้าอ้วน แจ็ค แบล็ค

- House of sand and fog (USA.) สาดอารมณ์ใส่กันได้เจ๋งและกดดันดี ทั้งคิงสลี่และคอนเนลลี่ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังสามารถสื่อถึงอารมณ์อีกด้านของความเป็นมนุษย์ด้วย ทั้งๆ ที่ต่างก็อยู่ในจุดยืนคนละฝั่ง

- The terminal (USA.) แม้อารมณ์จะดูปลอมและจงใจทำให้ซาบซึ้งไปหน่อย แต่ผมก็ชอบไอเดียและประเด็นของหนังเรื่องนี้อ่ะครับ

- Eternal sunshine of the spotless mind (USA.) ขอสารภาพตามตรงว่าผมงงๆ เล็กน้อยถึงปานกลาง เพราะหนังมันเซอร์จนผมแยกไม่ค่อยออกระหว่างฉากความจริงกับฉากแฟนตาซี แต่ก็ยังซึ้งกับประเด็นของความรักที่หนังสื่อถึงอยู่นะครับ




 

Create Date : 07 กุมภาพันธ์ 2548   
Last Update : 21 กุมภาพันธ์ 2548 17:27:18 น.   
Counter : 703 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  

บลูยอชท์
 
Location :
นนทบุรี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add บลูยอชท์'s blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com