WORK H-A-R-D กับ WORK S-M-A-R-T
WORK H-A-R-D กับ WORK S-M-A-R-T (อาภรณ์ ภู่วิทยพันธ์ arporn_p@nationgroup.com คอลัมน์ งานกับคน นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ 4 มี.ค. 48 โฆษณาย่อย หน้า 11) คุณมีสไตล์หรือรูปแบบการทำงานเป็นแบบไหน มาทำงานเช้า กลับบ้านดึก หรือทำงานเสาร์-อาทิตย์อยู่เป็นประจำ คุณมีวิถีการทำงานเป็นแบบนี้หรือไม่ แล้วคุณพอใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้มากน้อยแค่ไหน หลายคนอาจจะเข้าใจว่าการทำงานหนัก หรือ Work Hard เป็นการทำงานที่น่ายกย่อง เพราะคุณได้อุทิศตน และทุ่มเทการทำงานอย่างจริงใจให้กับองค์การที่คุณอยู่ ได้รับการชื่นชมจากหัวหน้างาน เพื่อนร่วมงาน และคนที่คุณเกี่ยวข้องด้วย และสิ่งที่คุณคาดหวังจากการทำงานหนักนั่นก็คือ ผลการทำงาน หรือ Performance ที่ดีจนได้รับการวัดและประเมินผลงานจากหัวหน้างานในระดับที่คุณพอใจ โดยส่วนใหญ่คนที่ทำงานหนักมักจะชอบหรือพอใจให้บุคคลที่เกี่ยวข้องด้วยต้องทำงานหนักเหมือนกับตนเอง ยกย่องและยอมรับ ว่าการทำงานดึกดื่น หรือนำเอางานกลับไปทำที่บ้านในช่วงวันหยุด เป็นการทำงานที่ทุ่มเทแบบสุดๆ ถ้าคุณเป็นลูกน้องและมีหัวหน้างานชนิดที่ว่านี้ คุณมักจะได้รับความพอใจและได้รับการประเมินผลงานว่าคุณเป็นคนขยันทำงาน มีความรับผิดชอบและอุทิศตนให้กับบริษัทอย่างจริงใจ แล้วทำไมคุณต้องเป็นคนที่ได้ชื่อว่าเป็นพวก Work Hard การทำงานหนักของแต่ละคนจะมีหลากหลายสาเหตุที่แตกต่างกันไป ดังนี้ ว่างมากเกินไป ไม่รู้จะไปไหน เหตุเพราะเป็นคนมีเพื่อนน้อย หรือเป็นกลุ่มคนโสด คิดแต่เพียงว่ากลับบ้านก็ไม่มีอะไรจะทำ อยู่ทำงานที่ออฟฟิศจะดีกว่า หากคุณเป็นลูกน้องและมีหัวหน้างานที่คิดแบบนี้ คุณอาจจะติดนิสัยของการทำงานหนักตามอย่างหัวหน้างานของคุณเอง ไม่ยอมปล่อยวาง คิดแต่เพียงว่าอยากจะสะสางงานให้เสร็จในวันนี้ พรุ่งนี้จะได้ไม่ต้องเครียด ซึ่งงานบางอย่างคุณอาจจะปล่อยวางและเก็บไว้ทำในวันพรุ่งนี้ก็ได้ แต่คุณกลับไม่ต้องการเพราะความอยากที่จะทำ แต่อาจจะไม่จำเป็นสักเท่าไหร่ จิตฟุ้งซ่าน ขาดสมาธิ การทำงานที่ขาดสมาธิ ปล่อยให้จิตคิดเรื่องโน้นที เรื่องนี้ที แน่นอนว่างานคงจะไม่เสร็จหรือเสร็จช้า ไม่เป็นไปตามแผนงานที่กำหนด เป็นเหตุให้คุณจะต้องทำงานดึกๆ ดื่นๆ แบบไม่ต้องเห็นเดือนเห็นตะวัน บริหารเวลา/งานไม่เป็น คนบางคนมาทำงานแต่เช้า กลับบ้านเที่ยงคืน หรือต้องนำงานไปทำที่บ้าน เหตุเพราะไม่รู้จักบริหารเวลา และจัดเรียงลำดับความสำคัญของงาน งานบางอย่างอาจมอบหมายให้คนอื่นช่วยทำ แต่คุณกลับมาทำเอง หรืองานบางอย่างเพียงแค่เปลี่ยนขั้นตอนการทำงาน ก็สามารถทำให้เสร็จได้ในเวลาที่รวดเร็ว ปริมาณงานมีมากเกินไป คนบางคนต้องทำงานหนักเนื่องจากรับผิดชอบงานมากเกินไป ปริมาณงานที่หัวหน้างานให้นั้นมากกว่าเพื่อนร่วมงานคนอื่น หรือที่เรียกว่า Work Load และหากคุณเผชิญกับสถานการณ์เหล่านี้คุณควรพูดคุยกับหัวหน้างาน แจ้งถึงปริมาณงานที่คุณต้องรับผิดชอบ และผลเสียที่เกิดขึ้นหากหัวหน้างานไม่รีบแก้ไข แต่ที่สำคัญหัวหน้างานจะต้องเปิดใจรับฟังและร่วมกันแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ Work Load ที่เกิดขึ้น คุณพอใจกับการทำงานหนัก หรือการเป็นคน "บ้างาน" มากน้อยแค่ไหน คุณมีความสุขกับการทำงานหนักแบบทุ่มเทจนไม่มีเวลาให้กับครอบครัว เพื่อนฝูง และชีวิตส่วนตัว นี้หรือไม่ คุณรู้ไหมว่าคนกลุ่มนี้มักจะมีคุณภาพชีวิตไม่ค่อยจะสมบูรณ์แบบสักเท่าไหร่ จะหงุดหงิดง่าย เครียดหรือวิตกกังวลเกินไป บางคนถึงขนาดเป็นไมเกรน เป็นโรคจิตหรือโรคประสาทไป บางคนรับสภาพแบบนี้ไม่ไหวเพราะไม่มีเวลาพักผ่อนหรือไม่มีเวลาเป็นของตัวเอง จึงเป็นเหตุให้รู้สึกเบื่อหน่ายงาน เบื่อหน่ายชีวิต มองโลกในแง่ร้าย และรู้สึกไม่ชอบหรือไม่รักงานที่ทำอยู่ และในที่สุดก็จะลาออกจากหน่วยงานและองค์การนั้นๆ ไป การทำงานหนักนั้น เป็นรูปแบบการทำงานเพื่อให้มีผลผลิตหรือผลลัพธ์เกิดขึ้น แต่ผลงานที่เกิดขึ้นนั้นอาจจะไม่จำเป็นต้องได้มาจากการทำงานหนักก็เป็นได้ คุณเคยเห็นหรือไม่ว่า บางคนมาทำงานเช้า แต่กลับบ้านตรงเวลา วันเสาร์หรืออาทิตย์ไม่ได้มาทำงาน ไม่ค่อยจะนำงานกลับไปทำที่บ้าน แต่ผลงานออกมาดีหรือดีกว่าคนที่ทำงานหนักเสียอีก รูปแบบการทำงานของกลุ่มหลังนี้จะเรียกว่าเป็นการทำงานแบบชาญฉลาด หรือ Work Smart การทำงานแบบ Work Smart นั้นไม่จำเป็นที่จะต้องทำงานอย่างไม่ลืมหูลืมตา คุณลักษณะของคนที่ทำงานอย่างชาญฉลาดนั้น จะมีลักษณะดังต่อไปนี้ Smile ยิ้มแย้มแจ่มใสอยู่เสมอ ยิ้มรับกับปัญหาและพร้อมที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น มองปัญหาเป็นสิ่งท้าทาย ไม่ตีโพยตีพายจนขาดสติ และสภาพจิตที่ดีนี้เองจะส่งผลต่อไปยังสมาธิ รู้ว่าควรจะทำอะไรและไม่ควรทำอะไรในสถานการณ์ใด Manage คนที่ทำงานอย่างชาญฉลาดต้องรู้จักการจัดการ หรือการบริหารงานของตนเอง รู้ว่าอะไรคืองานด่วนที่ต้องเร่งทำก่อน รู้ว่าควรจะใช้ทรัพยากรอย่างไรให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์มากที่สุด รู้จักบริหารเวลาให้กับงาน ครอบครัว เพื่อนฝูง และการให้เวลากับตัวเอง Analyze คนทำงานเก่ง จะต้องสามารถวิเคราะห์เหตุการณ์และแยกแยะถึงผลที่จะเกิดขึ้นได้ รู้ว่าเลือกทำสิ่งนี้ จะเกิดอะไรขึ้น หรือไม่เลือกแนวทางนี้ ผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไร คนที่วิเคราะห์ได้อย่างแม่นยำจะส่งผลให้งานที่ส่งมอบไม่ผิดพลาด โดยไม่ต้องเสียเวลาแก้ไขปรับปรุงงานซ้ำแล้วซ้ำเล่า Recognize ตระหนักและยอมรับความสามารถหรือศักยภาพของตนเอง โดยตระหนักว่าเรามีความรู้ ทักษะ และความสามารถอย่างไรที่จะบริหารหรือจัดการงานชิ้นใดชิ้นหนึ่งที่หัวหน้างานมอบหมายให้ทำ รวมถึงตระหนักถึงความสามารถของคนอื่นที่คุณเองสามารถมอบหมายงานให้ดูแลรับผิดชอบแทนคุณได้ Train หากคุณตระหนักว่าเพื่อนร่วมงาน หรือสมาชิกในทีมสามารถช่วยเหลืองานของคุณเองได้แล้วล่ะก็ คุณควรฝึกฝนสมาชิกในทีม หรือลูกน้องให้มีความสามารถในการบริหารจัดการงาน โดยการสอนงาน การให้คำปรึกษาในการทำงาน หรือหากคุณเป็นหัวหน้างานคุณสามารถส่งลูกน้องไปฝึกอบรมตามสถาบันที่จัดอบรม เพื่อฝึกฝนทักษะของทีมงานให้สามารถรับผิดชอบงานบางอย่างที่คุณต้องการได้ การทำงานให้ประสพผลสำเร็จ มิใช่เพียงแค่ทำงานหนักกว่าคนอื่น การนำเอางานกลับไปทำที่บ้านในวันหยุด แต่คนทำงานที่เก่งจริงนั้นจะต้องรู้จักบริหารตนเองให้ทำงานอย่างชาญฉลาด เพื่อให้คุณมีเวลาที่นอกเหนือจากการทำงานแล้ว ยังมีเวลาส่วนหนึ่งให้กับครอบครัว เพื่อนๆ และตัวคุณเอง --------------------------------------------------------------------------------
Free TextEditor
Create Date : 07 ธันวาคม 2551 | | |
Last Update : 7 ธันวาคม 2551 0:02:47 น. |
Counter : 587 Pageviews. |
| |
|
|
|