ยินดีต้อนรับสู่บล็อกของคนต้นไม้ที่ชอบเที่ยวจ้ะ!!!
Group Blog
 
All Blogs
 

เลี้ยงโฮย่าทำไมไม่ออกดอก? พันธุ์ดูใบหรือเปล่า?

เลี้ยงโฮย่าทำไมไม่มีดอก !

.....เหมือนปัญหาโลกแตกของมือเก่ามือใหม่ว่าทำไมโฮย่าไม่ออกดอก (สักที) โฮย่าเราเป็นพันธุ์ไม่มีดอกหรือเปล่า ที่แซวกันว่าพันธุ์ดูใบ ไม่ใช่ดูไบ (Dubai)

.....ก่อนจะลงสู่เนื้อหาขออนุญาตเล่าอะไรขำ-ขำสักเรื่อง เมื่อต้น ธค. 54 ที่ผ่านมามีงานเกษตรแม่โจ้ อิฉันก็ไปเทียวไล้เทียวขื่อหลายวันตามประสาคนบ้าต้นไม้คนหนึ่ง ผ่านไปทางซุ้มกล้วยไม้ (พ่อค้า แม่ค้าส่วนมากมาจากต่างจังหวัด แถวปริมณฑล กทม.) เห็นบางร้านเอาโฮย่าจักรพรรดิออกดอกสล้างมาแขวนเรียกลูกค้า ก็เข้าไปเชยชม ถามเขาว่าเลี้ยงยังไงน้อ...จึงออกดอก (พันธุ์นี้อิฉันก็ยอมแพ้เหมือนกันค่ะ แพ้ทางกันเป็นตัวๆ ไป)

.....แม่ค้าหัวเราะบอกว่า "ตัวนี้เลี้ยงง่ายจะตายไป" แถมว่า "ไม่เหมือนบางตัวอย่างพันธุ์ใบหงิกๆๆๆ (สันนิษฐานว่าคือ H. compacta โฮย่าเกลียวสวาท) นั่นน่ะ พันธุ์นั้นไม่มีดอก เลี้ยงแทบตายยังไงก็ไม่มีดอก" อ้าว...ได้ไง ตัวนั้นที่บ้านเรามีดอกนะ หุๆๆๆ หึๆๆๆ บอกแล้วแพ้ทางกันเป็นตัวๆ ไป อยากจะบอกแม่ค้าและพี่น้องท่านผู้อ่านว่าไม่มีโฮย่าตัวไหนไม่มีดอกหรอกในโลกนี้....หรือจะมีก็น้อยกว่า 0.01% อ่ะ เพียงแต่ออกยาก/ออกง่าย หรือต้องมีสภาพแวดล้อมอย่างไรเป็นพิเศษจึงจะออก

.....ปัจจัยที่จะต้องเข้าใจประการแรกเลยคือ โฮย่าไม่ได้ออกดอกตบอดเวลา เหมือนบานไม่รู้โรย เฟื่องฟ้า มะลิ เข็ม แก้ว ฯลฯ บางตัวชอบหนาว บางตัวชอบร้อน ก่อนจะไปบังคับขืนใจให้ออกดอกก็ต้องเข้าใจก่อนว่าลูกรักของเราจะผลิดอกให้เชยชมในฤดุกาลไหน

ฤดูกาลที่โฮย่าแต่ละชนิดมีดอก

.....เราสามารถแบ่งกลุ่มโฮย่าตามฤดูกาลที่เขาออกดอกได้เป็น 3 กลุ่มดังนี้ค่ะ

  1. ออกดอกฤดูร้อน
  2. ออกดอกฤดูหนาว
  3. ออกดอกตลอดเวลาไม่เลือกฤดูกาล


.....นิยามของคำว่า "ฤดูร้อน" ในที่นี้ตามฤดูกาลของโลกค่ะ บังเอิญฤดูร้อนของไทยมีน้ำด้วย ก็คือฤดูฝนนั่นเอง แต่แบ่งตามชาวโลกเขาถือว่าฤดูฝนเป็นส่วนหนึ่งของฤดูร้อนค่ะ ดังนั้นฤดูร้อนของบ้านเราก็ลากยาวตั้งแต่เมษายนไปจนถึงกันยายนเลยทีเดียว

.....สำหรับฤดูกาลออกดอกของโฮย่าแต่ละชนิด ขออ้างอิงเวบเพื่อนบ้านตามนี้นะคะ ของคุณ radiergummi เดิมอิฉันก็เซฟข้อมูลไว้จาก //www.thailandhoyaclub.com แต่ตอนนี้หาไม่เจอแล้วค่ะ อาจะอยู่ที่คอมอีกตัวที่เจ๊งไป ลิงค์รายชื่อโฮย่าและฤดูกาลออกดอก ขอบคุณเจ้าของบล็อกไว้ ณ ที่นี้ด้วยค่ะ

.....ลองคัดเลือกโฮย่ายอดฮิตจากลิงค์ข้างต้นมาจัดหมวดหมู่ดูพอให้เกิดไอเดียหน่อยนะคะ เพื่อจะได้เป็นแนวทางในการพัฒนาดอกดีหรือไม่ในช่วงเวลาหนึ่งๆ





ฤดูร้อนฤดูหนาว
H. archboldiana
H. ariana
H. bella
H. coriacea
H. erythrostemma
H. excavata
H. kerrii
H. nicholsoniae
H. obovata
H. onychoides
H. pachyclada
H. padangensis
H. collina
H. globulosa (หนาวจัดๆ)
H. golamcoiana
H. graveolens
H. kanyakumariana
H. kenejiana
H. naumanii
H. nummularioides
H. obtusifolia (ปลายฝนต้นหนาว)
H. oreogena
H. pseudolitoralis
H. retusa
H. shepherdii





ออกทั้งปี
H. acuta
H. anulata
H. australis
H. benguetnsis
H. bilobata
H. buotii
H. cagayanensis
H. camphorifolia
H campanulata
H. carnosa
H. compacta
H. caudata
H. chlorantha
H. chuniana
H. coronaria
H. cumingiana
H. curtisii
H. cystiantha
H. darwinii
H. dasyantha
H. davidcummingii
H. densifolia
H. deykheae
H. finlaysonii
H. flavida
H. fungii

H. globulifera
H. gracillis (memoria)
H. heuschkeliana
H. hypolasia
H. imbricata
H. imperialis
H. incrassata
H. krohniana
H. lacunosa
H. meliflua
H. mindorensis
H. mitrata
H. multiflora
H. obscura
H. odorata
H. parasitica
H. paziae
H. picta
H. pubicalyx
H. tsangii
H. vitellina
H. vitellinoides
H. wayetii
H. waymaniae
H. sigillatis


Photobucket


.....หลังจากเข้าใจว่าโฮย่าเขาออกดอกดูเวล่ำเวลาเหมือนกันแล้ว ปัญหาที่โฮย่ายังไม่ออกดอกก็อาจจะเกิดจากสาเหตุต่อไปนี้

  • อายุของโฮย่า บางพันธุ์เบามาก กิ่งชำอายุสองสามเดือนก็สามารถมีดอกได้ แต่บางพันธุ์หนักมากต้องสองสามปีขึ้นไปจึงจะมีดอก

  • ปริมาณแสงพอเพียงหรือไม่ (ย้อนกลับไปศึกษาที่การปลูกเลี้ยงดูแลในหัวข้อที่เกี่ยวข้องได้)

  • ธาตุอาหารที่ให้ในรูปของปุ๋ย เคยไปเยี่ยมชมฟาร์มเพาะเลี้ยงโฮย่าและกล้วยไม้ เขาใส่ปุ๋ยทางระบบน้ำเลยค่ะ เดินเข้าไปกลิ่นเคมีของปุ๋ยมาก่อนเลย (ลองดมปุ๋ยเคมีในกระสอบดูกลิ่นแบบนั้นแหละค่ะ) ผลก็คือโฮย่าออกดอกทุกกระถางเลย แต่ไม่รับประกันนะว่าเอามาไว้ที่บ้านเราแล้วจะออกดอกเท่าเดิม รายละเอียดเรื่องธาตุอาหารก็สามารถย้อนกลับไปอ่านบล็อกก่อนหน้านี้ได้ค่ะ

  • บางตำราแนะนำให้มีการ "อดน้ำ" เพื่อกระตุ้นการสร้างตาดอก (ต้องสัมพันธ์กับฤดูกาลที่โฮย่าจะออกดอกด้วยนะคะ โฮย่าที่ออกดอกหน้าหนาวแต่ไปพยามกระตุ้นตอนหน้าร้อนก็ไม่เกิดผล)





Photobucket




 

Create Date : 18 ธันวาคม 2554    
Last Update : 19 ธันวาคม 2554 10:28:42 น.
Counter : 12360 Pageviews.  

การปลูกเลี้ยงและดูแล : โรคของโฮย่า

โรคที่สำคัญของโฮย่า

1. โรครากเน่า

เป็นโรคพื้นฐานที่พบเสมอๆ ในการปลูกเลี้ยงโฮย่าในกระถาง (แบบที่พวกเราทำกันนี่แหละ) ดังที่บอกในบล็อกก่อนหน้านี้เรื่องสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการปลูกเลี้ยงโฮย่าว่าควรรักษาความชื้นแต่พอดี ปล่อยรากให้แห้งบ้างอย่าให้น้ำชุ่มตลอดเวลา ฯลฯ แต่เมื่อไรที่เกิดอาการขึ้นมาให้รีบจัดการตัดชำใหม่โดยด่วน

อาการที่สามารถพบเห็นได้ก่อนที่จะสังเกตเห็นว่ารากเน่าคือ ส่วนบนของต้น (ลำต้น ใบ ก้านช่อ) เหลือง เหี่ยว หรือ แห้ง แล้วแต่ความสาหัสของอาการ


Photobucket

ภาพ D1 - อาการใบเหลืองซึ่งเป็นสัญญาณเบื้องต้นบ่งชี้อาการรากเน่า (อาจจะมีโรคที่เกิดจากเชื้อราเข้าซ้ำเติมเพราะต้นไม้เริ่มอ่อนแอความต้นทานลดลง)


Photobucket

ภาพ D2 - อาการรากเน่าขั้นรุนแรงใบจะเหลืองทั้งต้น เถาจะเน่าฉ่ำน้ำ (อาการแบบนี้มักแก้ไขได้ยาก เพราะเชื้อเน่าลุกลามไปทั่วลำต้นแล้ว)


Photobucket

ภาพ D3 - อาการเน่าขั้นรุนแรงเถาแห้งทั้งหมด เมื่อแกะดูมีสีดำข้างใน


Photobucket

ภาพ D4 - เมื่อแกะรากออกมาตรวจดูจะอ่อนนิ่ม (รากตายหมดแล้ว)


การป้องกันกำจัดและแก้ไข

1. ป้องกันโดยเปลี่ยนเครื่องปลูกทุก 6 เดือนเป็นอย่างน้อย อย่าให้เครื่องปลูกเสื่อม ระบายน้ำไม่ดี หรือเปียกชื้นมากเกินไป

2. เพิ่มอากาศให้แก่ราก ด้วยการขุดคุ้ย (คล้ายพรวนดิน) ให้รากได้หายใจบ้าง หรือเพิ่มก้อนโฟม/หินภูเขาไฟ/ถ่าน ฯลฯ ตามที่เคยบอกในบล็อกต้นๆ

3. เมื่อมีอาการเหี่ยวเบื้องต้น มั่นใจหรือไม่มั่นใจว่ารากเน่าก็ตามให้รีบตัดส่วนที่ยังดีอยู่ไปชำใหม่ การตัดกิ่งใช้มีดที่สะอาดอย่าให้ติดเชื้อจากส่วนที่เน่า ถ้าไม่มั่นใจว่าติดเชื้อหรือยังให้จุ่มแอลกอฮอล์ (สำหรับล้างแผล) ก่อน ตัดส่วนที่มียางไหล (แปลว่ายังไม่ติดเชื้อ) นำไปชำใหม่

4. ถ้าต้องการรักษา (กรณียังไม่สาหัส) อาจใช้ยาฆ่าเชื้อราละลายน้ำราดเครื่องปลูก ยาฆ่าราแบบที่ได้ผลดีเยี่ยมเพราะเป็นแบบดูดซึมอาจใช้คาร์เบนดาซิม (ซื้อจากร้านเคมีเกษตร) ไวตาแว็กซ์ หรือ PCNB แต่ยาดูดซึมมักมีราคาสูง อาจจะไม่คุ้มค่าที่จะลงทุนกรณีเลี้ยงจำนวนน้อย

5. ถ้าไม่ต้องการใช้สารเคมี (อย่างไรเสียก็มีอันตราย แม้ว่ายาฆ่าราจะอันตรายน้อยกว่ายาฆ่าแมลง) อาจจะใช้ชีวภาพกำจัดก็ได้ ตัวอย่างเช่นเชื้อไทรโคเดอร์มา (มีขายสำเร็จตามร้านเคมีเกษตรเช่นกัน เลือกที่สดใหม่ เพราะเชื้อราก็มีอายุการเก็บรักษาเช่นกัน) หยอดลงในเครื่องปลูก แต่ต้องมั่นใจว่าถ้าเลือกวิธีชีวภาพแล้วห้ามใช้สารเคมี หรือก่อนหน้านั้น 7- 15 วันต้องไม่เคยใช้สารเคมีมาก่อนมิฉะนั้นชีวภาพที่ใช้ก็จะตายวิธีการนี้ก็จะสูญเปล่า


Photobucket


2. โรคใบจุด ใบไหม้

ตามความเชื่อส่วนบุคคล เชื่อว่าโรคที่เกิดบนใบโฮย่า (และพืชอื่น) ไม่ใช่โรคที่เป็นปฐมเหตุ แต่มักจะเกิดจากปัจจัยอื่นทำให้พืชอ่อนแอก่อนแล้วโรคซ้ำเติม ความอ่อนแออาจจะเกิดจากความอวบเขียวเกินไป (ได้รับไนโตรเจนสูงทำให้เนื้อเยื่ออวบบอบบาง) การชอกช้ำของใบเนื่องจากฝนหรือน้ำที่รดกระทบกระแทกเป็นจุด การรดน้ำขณะแดดร้อนหรือรดน้ำแล้วแดดจัดส่องซ้ำทำให้ใบเหมือนถูกน้ำร้อนลวก รอยเจาะดูดของแมลง ฯลฯ เชื้อราที่มีอยู่ในน้ำและอากาศเข้าทำร้ายซ้ำเติมจนใบเป็นจุด (แผลเนื้อเยื่อตายเป็นวงกลม) แห้ง (จุดขนาดใหญ่ขอบไม่มีรูปร่างแน่นอน) หรือแผลขนาดใหญ่ลักษณะเป็นชั้นๆ เรียกว่าโรคแอนแทรกโนส ข้างในแผลมีจุดเล็กๆ สีดำ (อวัยวะสร้างสปอร์)

Photobucket

ภาพ S1 - อาการใบจุดเบื้องต้นแค่เป็นรอยสีจางๆ

Photobucket

ภาพ S2 - อาการใบจุดแบบรุนแรง


Photobucket

ภาพ S3 - อาการแอนแทรกโนส


ข้อยกเว้น

Photobucket

ภาพ S4 - อาการใบไหม้ที่เกิดจากแดดเผา แตกต่างจากโรคเข้าทำลายตรงลักษณะแง่มุมที่เกิดตรงตำแหน่งที่ถูกแดด เนื้อเยื่อตายเฉียบพลัน (มักเกิดช่วงฝนตกสลับแดดออกจัด) ยังไม่มีจุดสีดำๆ เกิดในเบื้องต้น (แต่ถ้าทิ้งไว้ระยะหนึ่งก็อาจะเกิดจุดสีดำได้เพราะเชื้อรามาภายหลัง)




Photobucket







 

Create Date : 12 มิถุนายน 2554    
Last Update : 18 ธันวาคม 2554 22:21:53 น.
Counter : 9884 Pageviews.  

การปลูกเลี้ยงและดูแลโฮย่า : แมลงศัตรูโฮย่า

ศัตรูของโฮย่า

ศัตรูของโฮย่าอาจจะแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ 3 กลุ่มดังนี้

1. แมลง
2. โรคที่เกิดจากเชื้อจุลินทรีย์
3. สัตว์อื่นที่ไม่ใช่แมลง

1. แมลงศัตรูโฮย่า

ตามหลักของแมลงศัตรูพืชโดยทั่วไปแบ่งแมลงออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มปากดูด ได้แก่เพลี้ยและมวน แมลงพวกนี้ไม่กัดกินแต่จะดูดน้ำเลี้ยง ทำให้แคระแกร็น ซีดเหลือง หงิกงอ หรือไหม้ดำ และกลุ่มปากกัด จะกัดกินเนื้อใบ ดอก ลำต้นหรือรากทำให้ขาดแหว่งเสียหาย

ตัวอย่างความเสียหายของโฮย่าที่เกิดจากแมลงปากดูด

Photobucket

ภาพ I1 - ยอดแห้งไหม้อันเป็นอาการที่เกิดจากแมลงปากดูด

Photobucket

ภาพ I2 - เพลี้ยอ่อนดูดกินยอด

Photobucket

ภาพ I3 - เพลี้ยอ่อนดูดกินใบอ่อน มีมดเป็นพาหะ


Photobucket

ภาพ I4 - เพลี้ยแป้งดูดกินส่วนอ่อนๆ

Photobucket

ภาพ I5 - เพลี้ยไก่ฟ้าดูดกินส่วนอ่อนๆ

Photobucket

ภาพ I6 - สันนิษฐานว่าตัวอ่อนของแมลงหวี่ขาว แมลงปากดูดอีกชนิดหนึ่งที่มีพิษร้ายแรงมาก เกาะดูดได้ทุกส่วน ทำให้พืชตายได้ในเวลาอันสั้น



Photobucket



Photobucket

Photobucket

ภาพ I7- I8 - อาการใบจุดเกิดจากแมลงปากดูด


Photobucket

ภาพ I9 - มวนนักกล้าม แมลงปากดูดที่พบได้บ่อยเข้าทำลายใบโฮย่า

Photobucket

ภาพ I10 - แมลงแคง

Photobucket

ภาพ I11 - มวนแดง



Photobucket

Photobucket

ความผิดปกติที่เกิดกับใบและยอดของโฮย่าเกิดจากเพลี้ยแป้งดูดกินราก

ภาพ I12 -

Photobucket

ภาพ I13 - ระบบรากโดนเพลี้ยแป้งทำลายอย่างรุนแรง


การป้องกันกำจัดแมลงปากดูด

1. ใช้มือเก็บทิ้ง โดยเฉพาะเพลี้ยอ่อนที่มีลำตัวอ่อนนิ่ม เอามือรูดมาบี้ก็ตายแล้วค่ะ

2. ยาฆ่าแมลงแบบฉีดพ่นไม่ค่อยอยากให้ใช้ค่ะ อันตรายต่อสุขภาพนะคะ เหมือนขี่ช้างจับตั๊กแตน ถ้าอยากใช้ให้ใช้ยาฆ่าแมลงชนิดดูดซึมเพราะแมลงปากดูดใช้ดูดกินไม่ใช่กัดกิน และอย่าฉีดพ่นติดๆ กันนอกจากจะสิ้นเปลือง/อันตรายต่อสุขภาพแล้ว ยังทำให้แมลงต้านทานเร็วอีกด้วย

3. สามารถใช้ยาฆ่าแมลงแบบดูดซึมใส่ที่รากให้พืชดูดขึ้นไปปกป้องส่วนบนได้ มียาฆ่าแมลงตัวหนึ่งที่ค่อนข้างปลอดภัยต่อสัตว์เลือดอุ่นได้แก่ยาฆ่าแมลงกลุ่มนิโคตินอยด์ (สารประกอบของนิโคติน....งั้นใช้ยาเส้นยาฉุนก็ได้เนาะ) ชื่อการค้าก็ค้นดูในเวบค่ะขึ้นต้นด้วย S ไม่ลงตรงนี้ละ เพระาไม่ได้ค่าโฆษณา

4. มีบางท่านใช้น้ำยาล้างจานละลายน้ำฉีดพ่นก็ได้ด้วย ทำให้แมลงจมน้ำตาย (เพราะน้ำยาล้างจานทำให้แรงตึงผิวต่ำ แมลงจม)

5. อันนี้สูตรของอิฉันเอง เอาแป้งฆ่าหมัดน้องหมาโรยค่ะ โดยเฉพาะเมื่อแมลงเกาะกินช่อดอก ถ้าใช้สารที่เป็นของเหลวพ่นช่อจะร่วง ก็เอาแป้งหมัดหมาหมาโรย ระวังฟุ้งเข้าปากจมูกด้วยค่ะ แป้งฆ่าหมัดมีสารไพรีทรอยด์ที่ใช้ฆ่าแมลงได้ค่ะ ใช้แล้วก็ล้างไม้ล้างมือเสียให้สะอาดปลอดภัย สารตัวนี้ก็มีความเป็นพิษต่ำค่ะ

6. อีกวิธีก็ง่ายเช่นกันค่ะ ให้ใช้ยาฆ่าแมลงบ้านสูตรน้ำ ปัจจุบันเรียกว่าสูตรไม่มีกลิ่นฉุน/สูตรกลิ่นอ่อน อะไรแนวนี้ เน้นว่าใช้สูตรน้ำเพราะตัวทำละลานที่เป็นน้ำมันในสูตรปกติจะทำให้พืชใบไหม้ค่ะ ใช้ฉีดพ่นแมลงตอนที่แสงแดดไม่จัด (มิฉะนั้นเป็นพิษต่อพืช) หาง่ายใช้สะดวกค่ะ ราคาไม่แพง อันตรายไม่สูง



สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของมดและเพลี้ย

มดเป็นพาหะนำเพลี้ยไปปล่อยบนต้นไม้ที่อวบๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เพลี้ยกินพืชแล้วขับถ่ายน้ำหวาน (honey dew) มาให้มดกินเป็นอาหาร พฤติกรรมแบบเดียวกับมนุษย์เลี้ยงโคเอาไว้รีดนมกินนั่นเลยค่ะ ตามภาพข้างล่างสังเกตหยดใสๆ ที่ก้นเพลี้ยอ่อนหายเข้าไปในปากมดเลยค่ะ

Photobucket


ที่มา wikipedia


Photobucket


ตัวอย่างความเสียหายที่เกิดจากแมลงปากกัด

Photobucket

ภาพ I14 - หนอนกระทู้กัดกินยอดและใบ

Photobucket

ภาพ I15 - ตั๊กแตนกัดยอดและใบ

Photobucket

ภาพ I16 - หนอนบุ้ง

Photobucket

ภาพ I17 - หนอนคืบ


Photobucket

ภาพ I18 - ด้วงกุหลาบ (ปกติเป็นแมลงกัดใบกุหลาบแต่สามารถเป็นศัตรูโฮย่าได้ด้วย....เพิ่งรู้ตอนเห็นหลักฐานเนี่ย...)



Photobucket



การป้องกันกำจัดแมลงปากกัด

สามารถใช้วิธีการเดียวกับแมลงปากดูดได้ คัดเลือกวิธีที่เหมาะสมมาใช้

ถ้าจำเป็น (กรณีระบาดมาก) สามารถใช้ยาฆ่าแมลงชนิดฉีดพ่นที่ค่อนข้างปลอดภัยต่อสัตว์เลือดอุ่นฉีดพ่น เช่น คาร์บาริล (เซฟวิน/S85) ได้

สามารถใช้สารสกัดจากพืช เช่น สารสะเดา สาบเสือ หนอนตายอยาก หรือจุลินทรีย์เช่น บาซิลลัสทรูริไจเอนซิส (แบคโทสปิน) ฉีดพ่นฆ่าหนอนได้




Photobucket





 

Create Date : 05 มิถุนายน 2554    
Last Update : 18 ธันวาคม 2554 22:21:06 น.
Counter : 6834 Pageviews.  

การปลูกเลี้ยงและดูแลโฮย่า : ธาตุอาหารและปุ๋ย

ธาตุอาหารและปุ๋ยสำหรับโฮย่า

การปลูกเลี้ยงต้นไม้ทุกชนิดจะได้งดงามสมบูรณ์ก็ต้องมีปุ๋ยมีอาหารบำรุงกันสักหน่อย มิฉะนั้นก็จะโตแบบแกนๆ ไม่มีดอกมีผล (ใครจะกินผลโฮย่า?) ให้เชยชม

ธาตุอาหารพืชสามารถแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลักดังนี้ (โอ้ ไม่อยากเลคเชอร์เลย เดี๋ยวหลับกันหมด)

1. ธาตุอาหารหลัก เป็นธาตุที่จำเป็นและพืชต้องการในปริมาณมาก รู้จักกันโดยทั่วไปว่า N-P-K แปลว่า ไนโตรเจน - ฟอสฟอรัส - โปตัสเซียม ที่ทำหน้าที่บำรุงใบ - บำรุงและสร้างดอก - บำรุงผลและเพิ่มความหวาน ตามลำดับ ธาตุเหล่านี้มีในปุ๋ยครอบจักรวาลจำพวก 15-15-15 ที่ใช้กันกว้างขวางนั่นแหละค่ะ

2. ธาตุอาหารรอง พืชต้องการในปริมาณมากพอสมควรแต่น้อยกว่ากลุ่มแรก ได้แก่ธาตุแคลเซียม แมกนีเซียม กำมะถัน

3. ธาตุอาหารปลีกย่อยหรือจุลธาตุ กลุ่มนี้พืชต้องการปริมาณน้อยมากๆ น้อยกว่ากลุ่มแรกเป็นพันเป็นหมื่นเท่า แต่ถึงต้องการน้อยแต่ก็จำเป็น เมื่อขาดธาตุกลุ่มนี้ต้นไม้ก็แสดงอาหารผิดปกติได้
อ่านรายละเอียดต่อได้ในนี้ค่ะ อ้างอิงสารานุกรมเยาวชน


Photobucket



ชนิดของปุ๋ยที่ใส่ให้แก่โฮย่า

1. ปุ๋ยอินทรีย์ อิฉันไม่ค่อยแนะนำปุ๋ยกลุ่มนี้ เพราะมักทำให้เครื่องปลูกเสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติมาก มีแนวโน้มทำให้รากเน่าได้ง่ายด้วย ตัวอย่างเช่น ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ (ปุ๋ยอีเอ็ม) ปุ๋ยปลาน้ำ ที่ทำให้เครื่องปลูกเสื่อมเพราะในปุ๋ยมีจุลินทรีย์ที่ย่อยสลายอินทรียวัตถุ เครื่อปงลูกเราก็อินทรียวัตถุล้วนๆ จุลินทรีย์เลยกินซะหมดเกลี้ยง ส่วนปุ๋ยคอก (มูลสัตว์) ไม่นิยมใส่ หรือใครใช้แล้วได้ผลช่วยบอกด้วยค่ะ สำหรับปุ๋ยอินทรีย์อื่นๆ ที่อาจะนำมาใช้ได้แก่ ปุ๋ยปลาอัดเม็ด (แห้ง) ปุ๋ยมูลค้างคาว ปุ๋ยฉี่ไส้เดือนปัจจุบันก็มีจำหน่ายน้ำมาใช้ฉีดพ่นใบได้

Photobucket

(ภาพบน) - ปุ๋ยมูลค้างคาวและปุ๋ยปลาอัดเม็ด


2. ปุ๋ยเคมี

2.1 ปุ๋ยละลายช้า (ออสโมโค้ท) นิยมใช้กันแพร่หลายเพราะไม่มีอันตรายต่อพืช เนื่องจากเคลือบสารโพลิเมอร์ไว้ ค่อยๆ ปลดปล่อยธาตุอหารออกมาทีละน้อย ทำให้ไม่ต้องใส่บ่อยและไม่สูญเสียจากการไหลไปกับน้ำที่รด ปุ๋ยชนิดนี้มีราคาสูงกว่าปุ๋ยเคมีธรรมดา มีทั้งสูตร 15-15-15 (หรือ14-14-14 หรือ 16-16-16 เรียกว่า "สูตรเสมอ" คือมีธาตุอาหารหลัก N-P-K ครบ) ยังมีอีกสูตรหนึ่งที่เพิ่มแมกนีเซียมด้วย เป็นสูตร 13-26-7+1.5% แมกนีเซียม (มีฟอสฟอรัสสูงสำหรับเร่งดอก) ความถี่ในการใส่ปุ๋ยละลายช้าอาจมีทั้งทุก 3 เดือนและทุก 6 เดือนแล้วแต่จะเลือกใช้

Photobucket
ภาพบน - ปุ๋ยละลายช้าสูตร 14-14-14


...ใส่ปุ๋ยปริมาณมากน้อยเท่าไรต่อต้น....อันนี้เป็น FAQ ถูกถามบ่อยๆ ใส่แยะก็ได้อาหารแยะค่ะ แต่มันแพงสิ (กก. ละเกือบ 200 หรือ 200 กว่าแล้ว) อิฉันใช้หลักใส่ครั้งละ 1 ช้อนชาต่อกระถาง 4 นิ้ว...ก็พอค่ะ

เทคนิควิธีในการใส่ปุ๋ยละลายช้า

ถ้าใส่แบบไม่มีเทคนิคก็คือตักปุ๋ยวางไว้บนผิวเครื่องปลูก เวลารดน้ำแรงๆ ก็จะเป่าเม็ดปุ๋ยหลุดหายไปได้ง่าย ต้องมีเทคนิควิธีนิดหน่อย พอจะแบ่งปันได้ดังนี้ค่ะ บางวิธีที่อิฉันปฏิบัติเอง บางวิธีเพื่อนที่ PlantLovers ปฏิบัติขอนำมาแบ่งปันไว้ ณ ที่นี้ค่ะ

1. วิธีของแม่ค้าแนะนำมา เธอบอกให้ผ่าเครื่องปลูก (ไม่เจาะนะคะ เลือกหาชิ้นมะพร้าวใหญ่ๆ หน่อย ผ่า แล้วยัดเม็ดปุ๋ยลงไป ถ้าเจาะมันร่วงลงทางก้นกระถางได้)
เป็นวิธีที่ลงทุนน้อยที่สุดแต่อาจจะใส่ปุ๋ยได้ปริมาณน้อยหน่อย ตามภาพข้างล่าง

Photobucket


2. ใส่ตะกร้าปุ๋ย อันนี้ต้องลงทุนซื้อตะกร้าปุ๋ยมา ตกใบละราวๆ 1 บาท (ขายทีละ 10 ใบขึ้น) ข้อดีคือสะดวก ข้อเสียคือต้องไปซื้อมาและปุ๋ยเม็ดเล็กๆ จะหลุดร่วงหายไปง่าย ตามภาพข้างล่าง มีทั้งแบบใบใหญ่ (เท่ากระเช้านิ้วใส่กล้วยไม้) และใบเล็กจิ๋วเท่านิ้วชี้ (ภาพจากคุณดอกปีป) ดังภาพข้างล่าง

Photobucket

Photobucket



3. ห่อด้วยเศษผ้าดิบหรือตาข่ายไนล่อน วิธีนี้ได้ไอเดียจากคุณฉกาจ (เย็บตะเข็บสวยกว่าอิฉันอีกเนี่ย) และเจ้นก ตามภาพข้างล่าง เครดิตในภาพค่ะ

Photobucket

Photobucket

Photobucket


4. ห่อกระดาษ ใช้กระดาษเนื้อหยาบเช่นหนังสือพิมพ์หรือกระดาษฟาง ห่อปุ๋ยแล้วซุกๆ ไว้ในหลืบเครื่องปลูก วิธีนี้ง่ายดายมากแต่มองดูไม่ค่อยสวยงามเท่าไร ตามภาพข้างล่าง ไอเดียอิฉันเองค่ะ เพราะความชุ่ยไม่อยากนั่งเย็บ !!! อิ๊ๆๆๆๆ

Photobucket




Photobucket


2.2 ปุ๋ยเคมีธรรมดา

เป็นปุ๋ยเม็ดสำหรับบำรุงไม้ดอก มีแบ่งขายย่อยทีละ 1 กก. ตามร้านเคมีเกษตรทั่วไป เม็ดสีฟ้าหรือสารพัดสี (ฟ้า ขาว น้ำตาล ชมพู ปะปนกัน) ใช้สูตรตัวกลางสูง (ฟอสฟอรัสสูง) เช่น สูตร 8-24-24, สูตร 18-46-0 เป็นต้น ให้ใส่ทีละน้อย(5-10 เม็ด) และอย่าให้สัมผัสรากและโคนต้นโดยตรง มิฉะนั้นปุ๋ยจะกัดเนื้อเยื่อรากและโคนต้นอาจถึงตายได้ ความถี่ในการใส่แล้วแต่วิจารณญาณ 10-15 วันครั้ง แต่อย่าถี่มาก เมื่อออกดอกแล้วก็ปล่อยให้พักตัวบ้าง


2.3 ปุ๋ยสำหรับฉีดพ่นทางใบ (ปุ๋ยกล้วยไม้)

มีให้เลือกหลายสูตร ทั้งสูตรเสมอและสูตรตัวกลางสูง เลือกใช้ตามความเหมาะสมของอายุโฮย่า อย่าฉีดพ่นเวลามีแดดจัด เลือกฉีดพ่นเวลาเช้า (ก่อน 10 โมง) หรือเย็น (หลังบ่าย 3) ควรผสมสารจับใบลงไปด้วย (1-2 หยดต่อลิตร) เพื่อเพิ่มความสามารถในการเคลือบผิวใบให้ปุ๋ยอยู่บนใบได้นานขึ้น

Photobucket

ภาพบน - ปุ๋ยกล้วยไม้สำหรับฉีดพ่นทางใบ ฉลากหอยแทะหน่อยไม่ว่ากันนะคะ แสดงว่าผ่านศึกสงครามมาแยะ ประสบการณ์สูง แบบเดียวกับเจ้าของบล็อกเลยค่ะ




Photobucket









 

Create Date : 03 มิถุนายน 2554    
Last Update : 5 มิถุนายน 2554 9:18:34 น.
Counter : 7453 Pageviews.  

การปลูกเลี้ยงและดูแลโฮย่า : แสงและน้ำ

สภาพแสงสำหรับเลี้ยงโฮย่า

โฮย่าแต่ละชนิดจะชอบสภาพแสงต่างกัน อิฉันก็ไม่ค่อยเชี่ยวชาญว่าตัวไหนชอบแบบไหน เพราะส่วนตัวแล้วเลี้ยงกันแบบเสมอภาคทุกๆ ตัว เกรงจะอิจฉากันค่ะ (อิๆ...) ด้วยความที่ตนเองเลี้ยงเฟินและกล้วยไม้มาก่อน ก็เลยเหมาเอาว่าโฮย่าชอบสภาพแสงแบบเฟินมั้งซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด เลี้ยงมาสองปีไม่เห็นมรรคเห็นผลเลยค่ะ (ภาพข้างล่าง)

Photobucket




จนกระทั่งปลายปี 2553 ที่พัก (แฟลต) ได้รับงบมาทาสีใหม่ ทำให้เราต้องย้ายยยย.....ต้นไม้เราหลบที่ให้นั่งร้านทาสีเขามาติดตั้ง ด้วยความบังเอิญนี้เอง ทำให้โฮย่าไปอยู่ด้านหน้าแฟลต หลบพ้นร่มเงาของต้นมะขามไป ได้รับแดดมากขึ้น (ตามภาพข้างล่าง) แบบนี้เองโฮย่าเลยออกดอกกันพรึ่บค่ะ

Photobucket


บทเรียนนี้แสดงให้เห็นว่าอย่าหมิ่นประมาทความต้องการแสงของโฮย่าด้วยการจับไปไว้ในร่มมืดๆ แบบเรือนเฟิน - เรือนกล้วยไม้เป็นอันขาด

เป็นการยากที่จะระบุปริมาณแสงที่เหมาะสมสำหรับโฮย่า จะระบุเป็น % แสง ถ้าไม่ได้ใช้วัสดุมาตรฐานกับโรงเรือนมาตรฐานก็คงระบุยาก (ถ้าเป็นซาแลนหรือตาข่ายดำพรางแสง ใช้ที่ 50%) เท่าที่สังเกตสวนคนอื่นๆ ที่เขาเลี้ยงแล้วได้มรรคผลดี จะเห็นได้ว่า สภาพแสง 100% แต่ได้รับเพียงครึ่งวันตอนเช้า ส่วนตอนบ่ายร่ม จะได้ผลดีที่สุด เพราะแสงตอนเช้าไม่มีความร้อนมาก ในทางตรงข้ามแสงตอนบ่ายมีแต่ความร้อน พืชนำไปใช้สังเคราะห์แสงได้น้อย


ใครเลี้ยงโฮย่าแล้วไม่ได้ชมดอกสักที ลองปรับเปลี่ยนสภาพเลี้ยงดูให้ได้รับแสงมากขึ้นดูค่ะ


ตัวอย่างโอย่าที่ชอบแสงเข้มข้นมากหน่อยได้แก่ H. archboldiana, H. waymaniae, H. parasitica, H. deykeae, H. vitellinoides, H. kerrii เป็นต้น

Photobucket


สภาพความชื้น (การให้น้ำ)

ธรรมชาติของโฮย่าเป็นพืชอิงอาศัย แบบเดียวกับกล้วยไม้ เมื่อรากเขาชอนไชเกาะแน่นกับต้นไม้ใหญ่หรือเปลือกไม้แล้ว ก็จะอาศัยน้ำฝนน้ำค้างตามธรรมชาติ เมื่อนำมาปลูกเลี้ยง อย่าได้คิดว่าเหมือนการเลี้ยงต้นไม้ดอกกระถางที่ปลูกในดิน คือรดน้ำทุกวัน แบบนั้นจะทำให้รากและโคนเน่าง่ายมาก ถ้าอากาศไม่ร้อนจัด รดน้ำทุก 2-3 วันก็พอเพียง ช่วงไหนอากาศร้อนจัดอาจจะรดทุกวันได้ หมั่นตรวจสอบดูว่าเครื่องปลูกที่ก้นกระถางแห้งหรือยัง ด้วยการเอานิ้วแหย่ก้นกระถางดู ถ้าชื้นนิดๆ จึงค่อยรดน้ำใหม่

อิฉันเคยอ่านเวบของต่างประเทศเขามักจะบอกว่า "let growing substrate dry completely between waterings" แปลว่า ควรปล่อยให้เครื่องปลูกแห้งจริงๆ ก่อนจะรดน้ำใหม่อีกครั้ง แบบนี้จะไม่เน่าค่ะ ควรเตือนตนเองเสมอว่ารากโฮย่าต้องหายใจ อย่าให้เขาน้ำท่วมตลอดเวลา เดินผ่านกระถางโฮย่าลองบีบเครื่องปลูกดู ถ้าบีบแล้วมีน้ำเล็ดออกมาแสดงว่าแฉะเกิน ความชิ้นที่เหมาะสมต้องไม่มีฟิล์มของน้ำบางๆ รอบๆ ชิ้นกาบมะพร้าวที่ให้ปลูก บีบแล้วน้ำไม่ไหลออกมา มีแค่ความชื้นที่สัมผัสได้ไม่ใช่บีบแล้วน้ำไหลโจ๊กค่ะ

หมั่นตรวจดูเครื่องปลูกด้วยว่าไม่เสื่อมสภาพ ถ้าเสื่อมก็จะทำให้รากเน่าง่าย เพราะเครื่องปลูกที่เสื่อมจะอุ้มน้ำไว้ไม่ยอมคาย ลักษณะเหมือนคุ้กกี้แช่น้ำ คือเปื่อยเละ หรือบางทีแห้งแข็งเป็นหินก็ถือว่าเสื่อมสภาพต้องทำการเปลี่ยน

Photobucket
ภาพบน - เครื่องปลูกเสื่อมสภาพ


Photobucket

ภาพบน - อาการรากและโคนเน่า ลองบีบดูเนื้อเยื่อจะอ่อนยวบไม่เต่งตึงเป็นปกติ



Photobucket


ระยะนี้ (ระยะที่อัพเดทบล็อกนี้) เป็นช่วงฤดูฝน บางท่านอาจจะมีปัญหาความชื้นสูงเกินไป ความแฉะพุ่งกระฉูด....อาจแก้ไขได้โดยนำโฮย่าเข้าร่ม ซึ่งกรณีมีจำนวนมากก็จะหาที่เหมาะสมได้ยาก ใช้วิธีนำเครื่องปลูกออกบ้าง หรือเปลี่ยนเครื่องปลูกที่อุ้มชุ่มน้ำออก ใส่เครื่องปลูกใหม่ที่แห้งไม่อุ้มน้ำลงไป เครื่องปลูกใหม่ที่ไม่แช่น้ำนี้จะมีอากาศอยู่ข้างในก็ช่วยลดอาการอุ้มน้ำมากเกินไปลงได้บ้าง

อีกวิธีหนึ่งที่อิฉันทำคือเปลี่ยนกระถางจาก 4 นิ้วเป็น 5 นิ้ว แต่ไม่เติมเครื่องปลูก ทำให้ก้อนรากลอยกลางอากาศในกระถางที่ใหญ่ขึ้น แต่ต้องระวังเมื่อฝนหยุดลงก้อนรากจะแห้งเร็วมากค่ะ อย่าลืมรดน้ำ!!!

เคยเห็นเพื่อนบางท่านใส่วัสดุอื่นปนเครื่องปลูกลงไปด้วยเพื่อลดความชื้น เช่น ก้อนโฟมขนาดเท่าลูกปิงปอง หินภูเขาไฟก้อนเล็กๆ (มีขายตามร้านปลาหรือร้านแค็คตัส) ถ่าน หรือลงทุนหน่อยก็พวกเพอร์ไลท์ (เม็ดเบาๆ ขาวๆ คล้ายโฟมแต่เป็นหินชนิดหนึ่ง) วัสดุพวกนี้มีรูพรุนเก็บอากาศ ช่วยลดอาการท่วมของน้ำได้ดีเหมือนกัน






 

Create Date : 03 มิถุนายน 2554    
Last Update : 5 มิถุนายน 2554 9:14:14 น.
Counter : 18221 Pageviews.  

1  2  

แม่แป้น 026
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 12 คน [?]




"แม่แป้น" เป็นนิคเนมล่าสุดที่เพื่อนชาวเน็ทตั้งให้อันเป็นภาคย่อของ "พังแป้น" ชื่อตัวละครที่เป็นช้างของชัยพฤกษ์การ์ตูน (ถ้าจำไม่ผิด) สงสัยเพราะเขาได้แรงบันดาลใจจากรูปร่างสะโอดสะองของแม่แป้นเป็นแน่
ชื่ออื่นๆ ของแม่แป้นอาจจะพบได้ในที่อื่นคือป้าบี (be_bee_th หรือ pa_bee หาตัวได้ที่ yahoo.com) เพื่อนตัวเป็นๆ เรียก "อ." ...ที่บ้านเรียก "น." เพื่อนที่พันทิปเรียกจู๋น, จู๋นๆ, จานจู๋น (มาจากชื่อ ๐๒๖ น่ะเองค่ะ) บางทียกหูโทรศัพท์ขึ้นมาก็งงตัวเองว่า ควรจะรายงานตัวว่าใครกำลังพูด !!!

Friends' blogs
[Add แม่แป้น 026's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.