ยินดีต้อนรับสู่บล็อกของคนต้นไม้ที่ชอบเที่ยวจ้ะ!!!
Group Blog
 
All Blogs
 

การขยายพันธุ์ IV - เทคนิคการปักชำโฮย่า

เทคนิคการปักชำโฮย่า

อุปกรณ์

- กรรไกรตัดแต่งกิ่ง ใช้สำหรับตัดกิ่งออกมาจากต้นแม่ แต่ไม่ใช้สำหรับตัดชำโดยตรงเพราะรอยแผลจะไม่คม มีการบอบช้ำมาก

Photobucket Photobucket


- มีดคมๆ ส่วนตัวอิฉันใช้มีดคัตเตอร์ขนาดใหญ่ เพราะใบมีดคมตลอดเวลา ใบมีดเปลี่ยนง่าย ราคาไม่แพง ตกอันละประมาณ 1 บาท ใช้ตัดได้ทั้งกาบมะพร้าวและกิ่งโฮย่า ระวังบาดมือหน่อยนะคะเพราะคมมาก

- ที่รองตัดกิ่งก่อนชำ ควรเป็นวัสดุนุ่มๆ ไม่ใช่ไม้เพราะไม้จะทำให้เกิดรอยช้ำเมื่อเราออกแรงกด (ตามภาพข้างล่าง) ควรใช้เศษโฟม หรือกาบมะพร้าวชิ้นใหญ่รองตัดจะดีกว่า

Photobucket

- กาบมะพร้าวชิ้นกลาง (ที่แช่น้ำจนใสแล้ว)

- กาบมะพร้าวสับชิ้นเล็กๆ แช่น้ำจนน้ำใสแล้ว

- เชือกมัด

- กระถาง + กาบมะพร้าวสับที่แช่น้ำชุ่มแล้ว

- สารเร่งราก เช่น B1 (ถ้าต้องการใช้ อิฉันมักไม่ใช้ โฮย่าเกิดรากง่ายอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องใช้)

- ถุงพลาสติกใหญ่ๆ สำหรับอบกิ่งชำ

Photobucket


การเลือกกิ่งที่เหมาะสม

1. เลือกกิ่งที่ไม่แก่ไม่อ่อนจนเกินไป (ตามภาพข้างล่าง) หรือที่เกษตรกรเรียกว่า "กิ่งเพสลาด" กิ่งแก่เกินไปจะไม่ค่อยพัฒนา เกิดรากและแทงยอดยาก แต่ถ้ากิ่งอ่อนไปมักจะเหี่ยวหรือเหลืองตายก่อนจะเกิดรากได้

Photobucket


2. เลือกกิ่งที่มีใบอย่างน้อย 1 คู่ (1 ใบก็อาจจะพอได้ แต่ถ้าร่วงไปโอกาสจะเกิดรากได้จะยากกว่า) ระมัดระวังอย่ากลับด้านกิ่งจะไม่เกิดรากได้ สังเกตตาที่ซอกใบต้องอยู่บนเสมอ (ตามภาพข้างล่าง)

ใบอยู่ตาข้างเกิด

เพิ่มเติม 1 - - - บางครั้งเพื่อนๆ ได้รับกิ่งจากท่านอื่นมา ไม่ได้ตัดเอง อาจจะยากที่จะมองออกว่าด้านใดด้านบน ด้านใดด้านล่าง ให้สังเกต 'รอย' ของตา คล้ายๆ ไหปลาร้า ต้องอยู่ด้านบนเหนือแขน (= ก้านใบ) เสมอ ตามภาพด้านล่าง

Photobucket

Photobucket

เพิ่มเติม 2 - - - ลบความคิดที่ว่า "ด้านที่ใบโฮย่าคว่ำเป็นด้านบนหรือด้านยอด" เพราะเวลาม้วนเถาโฮย่าลงใบโฮย่ามิได้อยู่สภาพเดิมตลอดไป มันจะพยายามปรับตัวพลิกด้านบนใบขึ้นในเวลาอันสั้น ถ้าดูใบหงาย-ใบคว่ำจะทำให้ผิดพลาดได้ ลองดูภาพนี้ถ่ายจากสภาพจริงที่แขวนอยู่ ถ้าดูแต่ใบจะใช้ด้านบนกิ่งชำ - - - แต่แท้ที่จริงแล้วด้านล่างของใบต่างหากที่เป็นยอด ให้สังเกตตาเท่านั้น !!!

Photobucket


3. ตัดกิ่งขนาดพอเหมาะ ยาวประมาณ 1 คืบ (ยาวมากไป ปักชำแล้วอาจจะหักได้) วิธีการตัดใช้พื้นนุ่มๆ รองรับดังกล่าวข้างต้น ตัดด้านใต้ข้อให้ยาวที่สุดเท่าที่จะทำได้ และด้านเหนือข้อให้สั้นที่สุด (ตามภาพข้างล่าง) เพราะส่วนล่างจะเป็นส่วนที่ปักลงในเครื่องเพาะชำ ถ้าสั้นเกินไปจะปักไม่อยู่ นอกจากนี้ยังป้องกันการสับสนว่าด้านใดเป็นด้านบนด้านใดเป็นด้านล่าง

Photobucket



Photobucket



วิธีการชำ

1. นำกาบมะพร้าวชิ้นปานกลาง (สูงราว 1-2 นิ้ว) ที่แช่น้ำชุ่มแล้วมาทุบให้นุ่มๆ นำไปมัดให้กระชับกับโคนกิ่งที่เตรียมไว้ (ตามภาพข้างล่าง)

การมัดจะช่วยให้วัสดุชำแนบกับแผลที่ตัด เกิดรากได้ง่าย นอกจากนี้ยังมีผลทางอ้อมทำให้กิ่งอยู่กับที่ไม่โยกคลอนหรือหมุนไปมาระหว่างชำ ทำให้รากชะงักได้

Photobucket

Photobucket


2. นำตุ้มที่มัดไปวางในกระถาง (ตามภาพข้างล่าง) กลบด้วยกาบมะพร้าวสับแช่น้ำชุ่ม กดให้แน่นพอสมควร

Photobucket

3. รดน้ำแล้วนำไปวางในถุงพลาสติกปิดสนิท (ตามภาพข้างล่าง) นำไปวางในที่มีแสงสว่างแต่ไม่มีแดดเผา 2 สัปดาห์รากจะเดิน


Photobucket

Photobucket

4. นำออกจากถุงอบมาวางในที่มีแสงอ่อนๆ รดน้ำปกติ

Photobucket







ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม

1. การตัดกิ่งแขนงไปชำไม่ควรตัดจนกุด (คือตัดชิดโคนกิ่ง) ควรเหลือไว้อย่างน้อย 1 ข้อ (ตามภาพข้างล่าง) เพื่อให้มียอดใหม่เกิดที่ข้อที่เหลือนี้ ถ้าตัดชิดจะกิ่งจะโล้นตลอดไป ไม่มีอะไรงอกมาทดแทนได้

Photobucket


2. ทางเลือกต่างๆ ของการมัดตุ้มที่โคนกิ่งชำ

2.1 วัสดุที่ใช้มัดชนิดต่างๆ (ตามภาพ)

Photobucket


Photobucket



ข้อดีข้อเสียของวัสดุแต่ละอย่าง

2.1.1 ยางรัด มัดง่าย มีความยืดหนุ่น สามารถมัดด้วยมือข้างเดียวได้ ในขณะที่มืออีกข้างจับกิ่งอยู่

2.1.2 เชือกฟาง หาง่ายราคาถูก แต่ต้องใช้สองมือมัด เชือกลื่นหลุดง่าย

2.1.3 เชือกฟอก/เชือกป่าน มัดง่ายไม่ลื่นหลุด บางทีมัดเปลาะเดียวก็อยู่ ต้องมัดด้วยมือสองมือเช่นกัน

2.1.4 ตอกไม้ไผ่ มัดง่ายด้วยมือข้างเดียว แต่ปัจจุบันหาใช้งานค่อนข้างยาก มีข้อดีที่เป็นวัสดุธรรมชาติสลายตัวได้ง่าย

Photobucket



Photobucket



2.2 ไม่ใช้เชือกมัดแต่ใช้กระเช้า 1 นิ้วแทน

ข้อดีคือไม่ต้องเสียเวลามัดทีละอัน ทำงานได้เร็วขึ้น ความแน่นกำลังพอดีไม่แน่นเกินไปซึ่งจะทำให้รากเดินยาก

Photobucket

ทั้งนี้กระถาง 3 นิ้วก็สามารถใช้แทนได้เช่นกัน ประหยัดวัสดุและประหยัดพื้นที่ในการนำเข้าอบในถุงพลาสติกดีกว่ากระถาง 4 นิ้ว


Photobucket



2.3 การชำในขวด PET หรือแก้วกาแฟใช้แล้ว

เป็นการนำเศษวัสดุมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ขวดและแก้วกาแฟหาง่ายไม่ต้องซื้อ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เป็นถุงอบในตัวเอง ไม่จำเป็นต้องนำเข้าถุงอบ

Photobucket

เมื่อรากเดินสังเกตเห็นได้ง่ายอีกด้วย (ตามภาพข้างล่าง)

Photobucket


Photobucket



2.4 ชำในถุงพลาสติกบรรจุขุยมะพร้าวหรือสะแฟกนั่มมอส

ใช้ขุยมะพร้าว (หรือสะแฟกนั่มมอส) แช่น้ำให้ชุ่ม บีบน้ำออก บรรจุถุงพลาสติกเล็กๆ ขนาด 2-3 นิ้วให้แน่น หุ้มโคนกิ่งแล้วมัดให้มั่นคง จะปักลงไปหรือจะผ่าด้านข้างถุงแล้วหุ้มกิ่งแบบการตอนก็ได้ วางไว้ในที่มีแสงจนรากเดิน

เสียบกิ่งตรง

Photobucket

Photobucket

Photobucket


ผ่าถุงแล้ววางกิ่งด้านข้าง

Photobucket

Photobucket

Photobucket


Photobucket
แรงบันดาลใจที่ใช้วิธีนี้คือคุณ focus2008 แห่ง THC ทำมาให้ตอนแลกเปลี่ยนกิ่งกันค่ะ

Photobucket


2.5 การเลียนแบบการตอน

ใช้กรณีเถาโฮย่ามีขนาดเล็ก มีความเสี่ยงว่าจะชำแล้วไม่รอด หรือเป็นต้นโฮย่าที่มีมูลค่าสูงไม่อยากเสี่ยงตัดกิ่งเพราะกลัวชำแล้วไม่สำเร็จ ก็สามารถหุ้มกิ่งโดยที่กิ่งยังอยู่กับต้นแม่ จนกว่ารากจะเดินดีๆ แล้วจึงตัดออกมาในกระถาง

ให้เลือกกิ่งที่มีตุ่มรากออกมาเล็กน้อย นำกาบมะพร้าวหรือสะแฟกนั่มมอสไปหุ้ม ห่อพลาสติกแล้วมัดไว้ หมั่นรดน้ำให้ชุ่ม สังเกตจนกว่ารากจะเดินมากๆ จึงตัดมาชำ

Photobucket

Photobucket



วิธีนี้ดัดแปลงใช้กับ H. imbricata ได้ด้วย โดยนำวัสดุชำยัดเข้าไปในกาบที่ห่อตัวของ imbricata มัดไว้ให้หุ้มวัสดุไว้ (ตามภาพข้างล่าง) รดน้ำประจำรอจนกว่ารากจะเดิน จึงตัดไปปลูกใหม่

Photobucket

Photobucket



2.6 การปักชำลงในกาบมะพร้าวสับโดยตรง เมื่อฝีมือดีขึ้นจนอยู่ตัวแล้ว บางท่านก็สามารถปักชำกิ่งลงโดยตรงในกระถางที่บรรจุกาบมะพร้าวสับแช่น้ำชุ่มแล้วโดยตรงได้เลย ไม่ต้องทำตุ้มที่โคน แต่ต้องอัดให้แน่นๆ (กาบมะพร้าวสับต้องละเอียดหน่อยจึงจะดี)


Photobucket



2.7 การพันโคนกิ่งด้วยสะแฟกนั่มมอสหรือใยมะพร้าว วิธีนี้อิฉันยังไม่ได้ทำลอง แต่ซื้อต้นโฮย่ามา เวลาจะแยกกระถางรื้อดูตรงราก เห็นทางพ่อค้าแม่ค้าใช้วิธีนี้ โดยเอาใยมะพร้าวหรือสะแฟกนัมมอสพันที่โคนให้แน่นๆ ก่อนบรรจุลงในกระถางแล้วกลบด้วยกาบมะพร้าวสับ ไม่มีการมัดกิ่ง คนต้องการความรวดเร็วเหมาะสมที่จะทำจำนวนมากๆ แบบทางการค้านั่นเอง

Photobucket


2.8 การใช้สารเร่งราก เช่น รูทโกร หรือ B1 ถ้าต้องการนำมาใช้สามารถทำได้หลายวิธีดังนี้

- ตัดกิ่งชำมาล้างยางออก แล้วนำแช่ในสารละลายเร่งราก (อัตราส่วนตามฉลากแนะนำ) ก่อนนำไปปักชำ

- มัดตุ้มเรียบร้อยแล้วจึงนำไปแช่ในสารละลายสารเร่งราก

- มัดตุ้มแล้ว บรรจุกระถางแล้ว นำกระถางแช่ในสารละลายสารเร่งราก (เปลืองกว่าวิธีข้างต้น)

- ใช้สารละลายสารเร่งรากฉีดพ่นที่เครื่องปลูกหลังจากปักชำแล้วก่อนนำไปอบในถุงพลาสติก







 

Create Date : 27 มิถุนายน 2553    
Last Update : 3 มิถุนายน 2554 19:44:47 น.
Counter : 26180 Pageviews.  

การขยายพันธุ์ III - เทคนิคการเพาะเมล็ดโฮย่า

เทคนิคการเพาะเมล็ด

การเก็บเมล็ด

ดอกโฮย่าสามารถติดฝักได้เองเป็นบางครั้ง และเกิดในโฮย่าบางชนิด การขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดสามารถทำได้โดยการเก็บเมล็ดเหล่านี้มาเพาะให้งอก แต่ก่อนอื่นเมื่อฝักเติบโตเต็มที่ต้องรัดฝักไว้ มิฉะนั้นเมื่อแก่ฝักจะแตกและเมล็ดปลิวหายไปกับลมหมด

ภาพข้างล่างเป็นฝัก parasitica ที่แก่เต็มที่พร้อมเก็บเกี่ยว ก่อนฝักแก่อิฉันได้ใช้เชือกฟางมัดไว้เรียบร้อยแล้ว แต่กระนั้นพอไปจับเข้าเมล็ดและปุยขาวๆก็ขยายตัวออกเหมือนฟองเบียร์ล้นแก้วตะครุบเกือบไม่ทันแน่ะค่ะ

Photobucket

นอกจากการมัดหรือรัดฝักด้วยเชือกหรือลวดสายไฟ อาจจะใช้ถุงพลาสติกครอบและมัดปากถุงไว้ก็ได้ ตามภาพข้างล่างค่ะ

Photobucket
ภาพข้างบนได้รับความเอื้อเฟื้อจากคุณภูอ้อม @ ThailandHoyaClub.com ค่ะ ขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้


* * * รีบเพาะเมล็ดให้เร็วที่สุด เปอร์เซนต์ความงอกจะสูงกว่าเก็บไว้เป็นเวลานาน


วิธีการเพาะเมล็ด

1. เพาะเมล็ดโดยตรง

1.1 ภาชนะและวัสดุ สามารถใช้กระถาง กระบะ ตะกร้าพลาสติก (ตามที่บรรยายไว้ในตอนที่ II) กล่องอาหารแช่แข็งที่ใช้แล้ว ฯลฯ โดยนำภาชนะที่สะอาด ถ้าเป็นกล่องอาหารแช่แข็งให้เจาะรูถี่ๆ ที่ก้นกล่องเพื่อระบายน้ำ นำมาบรรจุวัสดุเพาะ อาจจะเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

- ทรายผสมแกลบดำ 1:1 ส่วน

- ขุยมะพร้าวล้วน

- ขุยมะพร้าวผสมขี้เถ้าแกลบ

- พีทมอส (ล้วนหรือผสมทรายสะอาด)

1.2 ขั้นตอนการเพาะ

1. นำวัสดุเพาะมาเกลี่ยให้แน่นปานกลางในภาชนะที่จะเพาะ พ่นน้ำให้ชุ่มชื้นทั่วกัน (ถ้าเป็นขุยมะพร้าวล้วนจะเปียกน้ำยาก อาจจะต้องแช่น้ำก่อนสัก 1 ชั่วโมงก่อนบีบหมาดๆ แล้วเกลี่ยลงภาชนะ)

2. นำเมล็ดมาแยกปุยขาวๆ ที่ติดมากับเมล็ดออก (ปุยจะทำให้เมล็ดไม่จมลงเครื่องปลูก และอาจจะเกิดเชื้อราได้ง่าย) ก่อนนำเมล็ดมากดลงในเครื่องเพาะที่เตรียมไว้ (ถ้าเมล็ดเล็กมากต้องใช้ปากคีบช่วย) ตามภาพข้างล่าง

Photobucket


3. พ่นหรือพรมน้ำสะอาดให้ทั่ว อย่าให้แฉะเกินไป

4. นำภาชนะที่เพาะเมล็ดใส่ถุงพลาสติกมัดปากให้สนิท ตั้งไว้ที่มีแสงสว่าง แต่ไม่มีแดดเผา การอบในถุงพลาสติกจะทำให้ความอุ่นและความชื้นสม่ำเสมอเอื้ออำนวยต่อการงอกมากกว่าวางไว้ให้ถูกอากาศ

Photobucket


5. ประมาณ 3 วันเมล็ดจะงอกให้เห็นชัดเจน สามารถเปิดถุงออกนำสู่สภาพธรรมชาติได้ ได้รับแสงกระจายมากพอสมควรมิฉะนั้นต้นจะยืดยาวและอ่อนแอ

Photobucket

Photobucket


6. เมื่อต้นโตพอสมควรแล้วจึงย้ายลงปลูกในกระถางที่ใหญ่ขึ้น มีกาบมะพร้าวสับเป็นเครื่องปลูก

Photobucket




เพิ่มเติม (4 ตค. 54)

ทางลัดในการเพาะเมล็ดที่เพิ่งทำเมื่อเร็วๆ นี้ เหมาะสำหรับคนไม่ค่อยมีเวลา คือใช้ถ้วยนิ้วสำหรับเพาะกล้วยไม้นิ้ว นำกาบมะพร้าวชิ้นสูง 1 นิ้ว ยาวราวๆ 3 นิ้วแช่น้ำจนจืดแล้ว นำมาทุบนิ่ม ม้วนยัดลงถ้วยนิ้ว แล้วเอาเมล็ดเสียบลงไปในหลืบช่องของแถบกาบมะพร้าว อย่าลึกมาก รดน้ำแล้ว นำไปอบในถุงพลาสติก

3-4 วันเห็นผลค่ะ พอเมล็ดงอกเห็น 2 ใบก็เปิดถุงออก

Photobucket


Photobucket


2. เพาะเมล็ดบนกระดาษทิชชู

ใช้ในกรณีที่ไม่แน่ใจว่าเมล็ดมีความงอกดีหรือไม่ เพราะสามารถมองเห็นได้ชัดเจนว่าเมล็ดงอกหรือไม่ สามารถเลือกเฉพาะเมล็ดที่งอกไปเพาะต่อได้ หรือกรณีเร่งด่วน เตรียมภาชนะและวัสดุเพาะตามวิธีที่ 1 ไม่ทัน หรือรีบเพาะก่อนเพื่อไม่ให้เมล็ดสูญเสียความงอก ก็สามารถเพาะบนกระดาษชื้นก่อน แล้วเลือกเมล็ดที่งอกไปเพาะบนวัสดุเพาะต่อไปได้

2.1 วิธีการเพาะ

1. เตรียมเมล็ดเช่นเดียวกับวิธีที่ 1

2. นำภาชนะที่สะอาด ไม่จำเป็นต้องมีรูระบายน้ำ (เพราะใช้เวลาสั้นๆ) ปูกระดาษทิชชูลงไป 2-3 ชั้น พรมน้ำให้ชื้นทั่วกัน (อย่าให้โชกหรือนอง) เรียงเมล็ดที่แยกปุยออกแล้วลงไปห่างๆ กัน เพื่อไม่ได้รากพันกันตอนงอก

3. ปิดภาชนะให้สนิท (รักษาความชื้น) นำไปตั้งที่ที่มีแสงสว่างแต่ไม่ร้อน 1-2 วันเมล็ดจะงอก

Photobucket

4. คีบเมล็ดที่งอกรากออกมาเล็กน้อยไปปลูกบนวัสดุอื่น ในที่นี้ใช้สะแฟกนั่มมอสบรรจุกระถาง 1 นิ้ว

5. นำต้นกล้าในภาชนะเพาะบรรจุถุงพลาสติกปิดสนิทเพื่อรักษาความชื้น นำไปไว้ที่มีแสงสว่างแต่ไม่ถูกแดดเผา คอยเปิดออกตรวจความชื้นทุก 5-7 วัน

Photobucket

6. เมื่อต้นโตก็นำลงปลูกในกระถางใส่กาบมะพร้าวสับต่อไป


ข้อดีของวิธีเพาะบนกระดาษคือ สามารถเห็นการงอกได้เร็ว มีเวลาไปเตรียมกระถางบรรจุเฉพาะเมล็ดที่งอกได้พอสมควร

ข้อเสีย ต้องรีบย้ายเมล็ดทันทีที่รากงอก เพราะช้าไปสักครึ่งวันรากจะแทงลงไปในกระดาษทำให้เวลาย้ายเกิดการหัก (ทั้งที่รากและลำต้น)




 

Create Date : 27 มิถุนายน 2553    
Last Update : 4 ตุลาคม 2554 11:30:33 น.
Counter : 8960 Pageviews.  

การขยายพันธุ์ II - ภาชนะบรรจุ

ภาชนะบรรจุ โดยรวมมีดังนี้


Photobucket

1. ตะกร้าพลาสติกขนาดกลางถึงเล็ก ใช้เพาะเมล็ดได้ โดยนำกระดาษหนังสือพิมพ์เก่าหรือกระสอบป่านตัดพอเหมาะ รองก้นตะกร้าก่อนบรรจุวัสดุเพาะ


Photobucket

2. กล่องหรือถ้วยอาหารไมโครเวฟชนิดใช้แล้วทิ้ง กล่องอาหารแช่แข็งที่ใช้แล้ว สามารถนำมาล้างให้สะอาด (สะอาดจริงๆ เพื่อไม่ให้เกิดการเน่า) ผึ่งแดดแห้งแล้วเจาะรูถี่ๆ ที่ก้นเพื่อระบายน้ำ ก็สามารถนำมาเพาะเมล็ดได้เช่นเดียวกับข้อ 1


Photobucket

3. กระถางพลาสติกขนาดกลาง ได้แก่ขนาด 4 นิ้ว (ขนาดที่ใส่โฮย่าขายตามท้องตลาด) และ 5-6 นิ้ว (ขนาดใหญ่ขึ้น เหมาะสำหรับเลี้ยงตามบ้าน) ขนาดใหญ่กว่านี้จะหนัก เปลืองวัสดุปลูก และอาจจะอุ้มน้ำมากเกินไป เป็นเหตุให้รากเน่าได้ ใช้เพาะชำกิ่งและปลูกเลี้ยงระยะเวลานาน


Photobucket

4. กระเช้า ขนาด 4-6 นิ้ว แตกต่างจากกระถางตรงที่มีช่องระบายอากาศโปร่งรอบตัว กระเช้าแบบนี้เครื่องปลูกจะไม่อับชื้นเกินไป แต่ต้องระมัดระวังหน้าแล้งที่น้ำระเหยเร็วจะแห้งเกินไป


Photobucket

5. กระถางขนาดเล็ก ตั้งแต่ 1 นิ้ว (กระถางเพาะกล้วยไม้ที่เพิ่งออกจากขวดเพาะ) ไปจนถึง 3 นิ้ว ข้อดีของกระถางเหล่านี้คือประหยัดพื้นที่ ประหยัดเครื่องปลูก แต่ต้องมีการเปลี่ยนกระถางเมื่อต้นใหญ่ขึ้น


Photobucket

6. กระถางดินเผา ขนาดตั้งแต่ 4 นิ้วไปจนถึง 6 นิ้ว ใช้ปลูกเลี้ยงโฮย่า ข้อดีคือเย็นเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของรากโฮย่า แต่ข้อเสียคือมีน้ำหนักมากและแตกง่าย


Photobucket

7. ภาชนะชนิดใช้แล้วทิ้ง เช่น ขวดน้ำใส (ขวด PET) แก้วกาแฟ นำมาล้างให้สะอาด ตัดครึ่งแล้วสวมกลับไว้แบบเดิม (เพื่อให้ง่ายต่อการบรรจุวัสดุเพาะ) สามารถนำมาใช้ชำกิ่งได้



8. ถุงพลาสติกเล็กๆ ถุงใสขนาด 2-3 นิ้วสามารถนำมาบรรจุขุยมะพร้าวหรือสะแฟกนั่มมอสใช้ชำกิ่งได้แบบเดียวกับการตอนกิ่ง




 

Create Date : 27 มิถุนายน 2553    
Last Update : 27 มิถุนายน 2553 20:10:28 น.
Counter : 3898 Pageviews.  

การขยายพันธุ์ I - วัสดุปลูก

การขยายพันธุ์โฮย่าที่นิยมกัน แบ่งได้เป็น 2 ประเภทดังนี้

1. การเพาะเมล็ด - ใช้เวลานานแต่อาจจะได้ลูกผสมที่มีลักษณะแตกต่างไปจากต้นแม่

2. การปักชำ - นิยมใช้กันกว้างขวางเพราะทำได้ง่าย ลูกที่ได้เหมือนต้นแม่ทุกประการ โฮย่าเป็นพืชที่เกิดรากจากกิ่งชำได้ง่ายมาก


วัสดุปลูกที่สามารถนำมาใช้กับโฮย่าได้มีดังนี้

ไม่จำเป็นต้องนำมาใช้ทุกอย่าง แต่อาจจะดัดแปลงมาใช้ตามความสะดวกและตามวัตถุประสงค์

Photobucket

1. ขุยมะพร้าว สามารถนำมาใช้ชำกิ่งและเพาะเมล็ด ขุยมะพร้าวควรแช่น้ำ 1 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย บีบให้น้ำซึมทั่วถึงและเทน้ำสีแดงทิ้ง ขุยมะพร้าวอุ้มน้ำดีมาก แต่ต้องระวังจะแฉะเกินไป หาง่าย มีราคาถูก กระสอบปุ๋ย (เล็ก) ละประมาณ 40 บาท

2. กาบมะพร้าวสับ นิยมนำมาใช้ปักชำ ต้องแช่น้ำอย่างน้อย 2 คืน หรืออาจจะแช่น้ำถาวรไว้เลย หมั่นเปลี่ยนน้ำบ่อยๆ เทน้ำสีแดงทิ้งไปและเติมน้ำใหม่ กาบมะพร้าวสับอาจจะมีหลายขนาดเลือกใช้ตามความเหมาะสม ตั้งแต่ขนาดเล็ก (เส้นผ่า ศก. 1 ซม.) กลาง (เส้นผ่า ศก. 1 นิ้ว) ใหญ่ (2-3 นิ้ว) ชิ้นใหญ่ (4-5 นิ้ว) ส่วนมากใช้ปลูกกล้วยไม้ หาง่าย ราคาถูก กระสอบปุ๋ย (ใหญ่) ละประมาณ 70 บาท

Photobucket
เปรียบเทียบขนาดกระสอบขนาดใหญ่ (สูงราว 75 ซม.) และขนาดเล็ก (สูงราว 45 ซม.)


3. ใยมะพร้าว บางครั้งนำมาพันโคนกิ่งปักชำได้ (แต่ต้องระวังจะแห้ง เพราะอุ้มน้ำได้น้อย) หาง่าย ราคาถูก กระสอบปุ๋ย (เล็ก) ละประมาณ 40 บาท

4. รากชายผ้าสีดา เป็นรากชายผ้าสีตาที่ตายแล้ว มีขายตามร้านอุปกรณ์เกษตรขนาดใหญ่ คุณสมบัติอุ้มน้ำดีแต่ระบายน้ำดีด้วย ช่วยไม่ให้แฉะเกินไป แต่มีราคาค่อนข้างสูงและมีปริมาณจำกัด รากชายผ้าแห้ง กก. ละ 35 บาท (3 กก./100 บาท) เวลาซื้อเลือกที่รากมากๆ แต่กาบ (ใบ) น้อยๆ เพราะส่วนที่มีประโยชน์คือราก

3. สะแฟกนัมมอส ภาษาไทยเรียกว่า "ข้าวตอกฤษี" มีทั้งแบบนำเข้าจากจีนและนิวซีแลนด์ เป็นวัสดุธรรมชาติที่ได้มาจากมอส (พืชชั้นต่ำ) นำมาผ่านกระบวนการฟอกขาว นิยมนำมาเป็นวัสดุปลูก ข้อดีคือสะอาด อุ้มน้ำดี ข้อเสียคือราคาแพงและบางทีชื้นมากเกินไป กก. ละประมาณ 300 บาท (แต่น้ำหนักเบามาก กระสอบใหญ่ 1 กระสอบอาจหนักเพียง 3 กก.)

4. พีทมอส เป็นอินทรีย์วัตถุอีกชนิดหนึ่งที่ได้จากการสะสมซากพืชตามธรรมชาติ ข้อดีคือสะอาด อุ้มน้ำและระบายน้ำดี ข้อเสียคือราคาค่อนข้างสูง ซื้อปลีกของเจียไต๋ขายเป็นถุงๆ ละ 1 กก. ประมาณ 50 บาท

Photobucket

5. เปลือกไม้ เช่น เปลือกสน ส่วนมากนำเข้าจากนิวซีแลนด์ ลักษณะเป็นเปลือกไม้ที่เก่าผุเล็กน้อย ข้อดีข้อเสียคล้ายพีทมอส กก. ละประมาณ 35 บาท


6. หินภูเขาไฟ มีความโปร่งพรุน ระบายความชื้นดี นิยมนำมาเพาะปลูกกล้วยไม้รองเท้านารี และนำมาดูดซับของเสียในตู้ปลา มีราคาค่อนข้างสูง ขายเป็นถุงๆ ละ 1 กก. ประมาณ 40 บาท มีเม็ดขนาดเล็กใหญ่ให้เลือก

7. เม็ดดินเผา มีชื่อเรียกต่างๆ กันไป (ชื่อการค้า) เช่น ไฮโดรตอน พ็อพเพอร์ เบคเคลย์ เป็นเม็ดดินเผา (ทำหลายขนาดแล้วแต่จะเลือกใช้) ที่ภายในเม็ดมีความโปร่งพรุน อุ้มได้ได้ ระบายน้ำก็ดี ราคาค่อนข้างสูง ลิตรละประมาณ 50 บาท


Photobucket

8. แกลบดำ (ขี้เถ้าแกลบ) ลักษณะโปร่งระบายน้ำดี เหมาะสมจะนำมาผสมขุยมะพร้าวเพาะเมล็ด กระสอบปุ๋ย (เล็ก) ละประมาณ 40 บาท

9. แกลบดิบ (เก่า) คุณสมบัติคล้ายแกลบดำ แต่สลายตัวได้ช้ากว่า ที่สำคัญต้องทิ้งไว้เป็นระยะเวลานานจนเริ่มผุเปื่อยก่อนนำมาใช้ (ซื้อมาทิ้งค้างปีหรือนำไปหมักก่อน) มิฉะนั้นจะเกิดความร้อนขึ้น เป็นอันตรายต่อพืช อันนี้ไม่เคยซื้อค่ะ หาเก็บเอาที่เขานำมาจัดนิทรรศการนอกอาคารแถวใกล้ๆ บ้าน แต่คาดว่าถูกมากๆ สมัยเด็กเอารถไปขนเองโรงสีเขาให้ฟรี

Photobucket

10. เปลือกถั่วลิสง เลือกเปลือกที่แก่และแห้ง ถั่วมีธาตุไนโตรเจนเป็นอาหารแต่พืชได้ กระสอบปุ๋ย (เล็ก) ละประมาณ 40 บาท


11. ดินผสมสำเร็จ บางรายนิยมนำผสมวัสดุเพาะชำเล็กน้อย ให้ธาตุอาหารพืชเพิ่มเติมจากกาบมะพร้าวเฉยๆ (ใส่แต่น้อย ราวๆ 1/10 ส่วน) กระสอบปุ๋ย (เล็ก) ละประมาณ 25 บาท (เขาบอกว่าต้นทุนแค่ 10 บาทเอง)




ข้อควรระวัง

ผลิตภัณฑ์ที่มาจากเปลือกมะพร้าว (กาบมะพร้าว) จะมียางหรือสารแทนนินที่มีสีแดงติดมาด้วย สารนี้เป็นพิษต่อรากพืช ก่อนน้ำไปใช้ต้องแช่น้ำอย่างน้อย 3 วัน หรือแช่ถาวรทิ้งไว้ หมั่นเทน้ำทิ้งและเติมน้ำใหม่ทุก 3 วัน จนกว่าน้ำจะใสหมดสีแดง (ตามภาพข้างล่าง) จึงจะเหมาะสมที่จะนำไปใช้กับพืชทุกชนิด

Photobucket

ควรเลือกกาบมะพร้าวที่แก่ จะไม่มีกลิ่นเน่าเมื่อแช่น้ำ และคงทนนานกว่ากาบมะพร้าวอ่อน

เราสามารถผสมยาฆ่าเชื้อราลงในน้ำสุดท้าย (หลังจากใสแล้ว) เพื่อช่วยป้องกันกลิ่นเหม็นเน่า และช่วยป้องกันกิ่งชำเน่าได้อีกด้วย ยาฆ่าเชื้อราที่ใช้ควรเป็นยาแบบออกฤทธิ์กว้าง ตัวอย่างเช่น ไดโฟลาแทน 80, ออร์โธไซด์, แมนโคเซป ไม่ควรใช้ยาออกฤทธิ์แคบ เช่นยาดูดซึมแบบต่างๆ เพราะจะทำให้เชื้อราดื้อยาเร็ว






 

Create Date : 08 มิถุนายน 2553    
Last Update : 29 มิถุนายน 2553 1:52:12 น.
Counter : 8432 Pageviews.  

การระบุชื่อโฮย่า Scientific nomenclature



ระบบการนิยามชื่อในสิ่งมีชีวิต Binomial Nomenclature

หัวข้อนี้ถ้าเป็นบุคคลที่เรียนมาทางชีววิทยา biology จะไม่จำเป็นต้องเขียนเลย แต่ไหนๆ ก็จะทำศูนย์รวมข้อมูลโฮย่าแล้ว ก็จำเป็นต้องเสริมไว้เสียหน่อย เพื่อป้องกันความสับสน

ในวงการโฮย่าไทยเราเห็นมีเรียกชื่อกันหลายแบบ ตัวอย่างเช่น

  • ชื่อวิทยาศาสตร์เต็มยศ เช่น Hoya kerrii
  • ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ เช่น sweetheart hoya
  • ชื่อสามัญภาษาไทย เช่น หัวใจทศกัณฐ์
  • ชื่อสามัญแบบไม่เป็นทางการ ส่วนมากเรียกกันในกลุ่มเล็กๆ และเรียกตามลักษณะของต้นหรือดอกที่ปรากฏต่อสายตา เช่น โฮย่าใบหัวใจสีเขียว


แต่อย่างไรก็ตาม จำเป็นที่เราจะต้องทราบชื่อวิทยาศาสตร์ (ชื่อละติน) ของสิ่งมีชีวิตเพื่อระบุชนิดอย่างแน่นอนพลิกผันเป็นอย่างอื่นไม่ได้ {โปรดสังเกตว่าอิฉันใช้คำว่า 'สิ่งมีชีวิต' ไม่ใช่โฮย่าเพียงอย่างเดียว มันเป็นชื่อในทางสากลของสิ่งมีชีวิตทุกๆ ชนิดบนโลกนี้ค่ะ ไม่ว่าในทางภาษาปากสิ่งมีชีวิตจะถูกเรียกว่าอะไร แต่ในทางวิทยาศาสตร์เขามีชื่อเดียว และเป็นที่นิยมใช้เรียกเพื่อไม่ให้ผิดพลาดจับพลัดจับผลูผิดฝาผิดตัว}


ลำดับชั้นของโฮย่า ไล่จาก kingdom ไปจนถึง genus

Photobucket
ที่มา : //en.wikipedia.org/wiki/Hoya

เพื่อนร่วมวงศ์ของโฮย่า ( family : Apocynaceae, sub-family: Asclepedaceae) ได้แก่ ไม้อวบน้ำ ไม้ดอกไม้ประดับที่มียางขาวจำนวนมาก เช่น รัก ไฟเดือนห้า เป็นต้น

ชื่อวิทยาศาสตร์ของโฮย่าจะประกอบด้วย ๒ คำเป็นอย่างน้อย ได้แก่ ชื่อหน้า (คือชื่อ genus) Hoya ใช้อักษรตัวแรกตัวพิมพ์ใหญ่ และชื่อหลัง (คือชื่อชนิดหรือ species) ใช้อักษรตัวแรกเป็นตัวพิมพ์เล็ก หลายท่านใช้พิมพ์ใหญ่ทั้งคู่ คงจำมาจากวิธีเขียนชื่อตัวและชื่อสกุลของ "คน" มา ซึ่งเป็นวิธีที่ผิด เนื่องจากภาษาที่นำมาใช้เขียนชื่อวิทยาศาสตร์เป็นภาษาละติน ในภาษาละตินอักษรจะเป็นตัวเอนทั้งหมด ดังนั้นเวลาพิมพ์ชื่อโฮย่าจึงต้องทำเป็นตัวเอน (italic type) ทำให้เป็นนิสัยเลยค่ะ ในทุกๆ ที่ที่สามารถทำได้ อย่างเช่นตามเวบบอร์ดภาษา php เขาก็จะมีเมนูให้เลือก หรือบางที่อย่าง bloggang.com ไม่มีเมนูให้ก็ต้องพิมพ์ลงไปเองค่ะ ด้วยคำสั่งตามโค้ด html นั่นคือ < i >อักษรที่ต้องการให้เอน< / i> เวลาพิมพ์ไม่ต้องเว้นช่องว่างนะคะติดกันไปหมดเลย

ตัวอย่าง Hoya sigillatis

สาเหตุที่ต้องใช้อักษรละตินมาตั้งชื่อโฮย่าเพราะเป็นภาษาที่ตายแล้วไม่มีพัฒนาการไปทางไหนอีก อุปมาเหมือนบทสวดมนต์ในพระพุทธศาสนาใช้ภาษาบาลีสันสกฤตที่เป็นภาษาตายแล้วเช่นกัน เพื่อป้องกันคนดัดแปลงต่อเติมเสริมให้พิสดารไปยกใหญ่ เสียความขลังของคาถาไปค่ะ คนเราชอบแปลงไงคะ อย่างภาษาไทยปัจจุบันคงเคยได้ยินกัน

ประโยคพื้นฐาน "ดูเสื้อตัวนี้สิ ขาดหมดแล้วเพราะเราชอบมาก ใส่ซะจน..." (คนพูดนึกไม่ออกว่าจะเพิ่มคำขายข้างหลังยังไงดี ทิ้งไว้ว่างๆ

ต่อมามีคนช่วยเติม "ดูเสื้อตัวนี้สิ ขาดหมดแล้วเพราะเราใส่ชอบมากใส่จะจน จ๊น....จน จนไม่รวย"

ดังนี้เป็นต้น

จึงจำเป็นยิ่งนักที่ต้องใช้ภาษาที่ตายแล้วมากำหนดถ้อยคำที่ไม่ต้องการให้แปลง/ต่อ/เติม/เสริม/ใส่ไข่ใส่สีเช่นภาษาบาลีสันสกฤตหรือละติน

มีทิปเรื่องการเขียน/พิมพ์อยู่ 2 ข้อ
  • ในเวลาเขียนด้วยลายมือ ยากจะทำตัวเอน บางคนเขียนเอนเป็นปกติอยู่แล้ว อนุโลมให้ใช้การขีดเส้นใต้แทนตัวเอนได้ จะออกมาเป็น Hoya sigillatis แต่ไม่แนะนำให้ใช้เวลาพิมพ์ ทำตัวเอนสวยกว่า อ่านง่ายกว่า ถูกต้องกว่า
  • ในการพิมพ์ในบทความเดียวกัน ตั้งแต่ครั้งที่ 2 เป็นต้นไป ไม่จำเป็นต้องพิมพ์ชื่อจีนัสเต็ม ให้ย่อเหลือ H. เท่านั้น เพื่อความสะดวกรวดเร็วไม่รกสายตา ก็จะออกมาเป็น H. sigillatis ทั้งนี้จะย่อได้เมื่อได้พิมพ์เต็มไปหยกๆ ไม่นานก่อนหน้านี้นะคะ ไม่ใช่การลงลายน้ำในภาพก็ย่อ เพราะถ้าภาพมันสัญจรไปในโลกไซเบอร์ คนนอกวงการมาพบเห็นไม่รู้แล้วว่า H. ย่อมาจากคำว่าอะไร


แบบที่ผิดของการพิมพ์ชื่อ

Hoya kerrii (ไม่เอน)
hoya kerrii (ไม่เอน อักษรแรกไม่พิมพ์ใหญ่)
Hoya Kerrii (ไม่เอน อักษรชื่อหลังพิมพ์ใหญ่)

มันเหมือนจุกจิกจู้จี้ยิบย่อยน่ารำคาญนะคะ แต่มันเป็นหลักสากลก็เลยจำต้องปฏิบัติแบบนี้ ไม่ทำตามก็เหมือนไปขับรถที่เขาขับชิดขวากัน เราดันไปขับชิดซ้าย....มันผิดและแปลกแยก ฉันท์ใดก็ฉันท์นั้น
แรกๆ ทำก็ยากและผิดๆ ถูกๆ แต่ทำบ่อยๆ ก็จะชินไปเอง อิฉันงี้เข้ากระดูกดำเลยค่ะ เพราะจบมาทางสายชีววิทยาและครูบาอาจารย์ท่านเคี่ยวเข็ญ ทำรายงานหรือตอบข้อสอบไม่ทำตามนี้จะโดนหักแห่งละ 0.5 คะแนนเลยค่ะ


ความหมายของภาษาละตินที่นำมาใช้เป็นชื่อสิ่งมีชีวิตสามารถหาได้ในเวบนี้ค่ะ อิฉันไปพบมาเห็นว่ามีประโยชน์มากๆ ทำให้เราจำด้วยค่ะว่าชื่อละตินยากๆ นั้นมีคำอะไรมั่งเพราะแต่ละคำมีความหมาย Dictionary of Botanical Epithets คำที่ค้นหาด้วยดิคชันนารีดังกล่าวไม่พบ เป็นไปได้สูงว่าเป็น "ชื่อบุคคล" ได้แก่ชื่อผู้ค้นพบหรือผู้ที่ผู้ค้นพบยกย่องให้เกียรตินำมาเป็นชื่อวิทยาศาสตร์ของสิ่งมีชีวิตนั้นๆ ค่ะ


นอกจากชื่อ genus และ species แล้วโฮย่า (และสิ่งมีชีวิตอื่น) ยังมีชื่อที่สามตามมาอีกค่ะ โดยอาจจะเป็นชื่อย่อยของ species ดังนี้


  • ssp. ย่อมาจาก subspecies ภาษาไทยจะเรียกอะไรไม่ค่อยมั่นใจ สงสัยจะ 'ชนิดย่อย/สปีชีส์ย่อย' ตัวอย่าง ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว มาจากต่าง ssp. กัน

  • var. ย่อมาจาก 'variety' แปลว่าพันธุ์ ในข้าว หอมมะลิ สังข์หยด เสาไห้ ฯลฯ เป็นพันธุ์

  • cv. ย่อมาจาก cultivar (ทางเกษตรเรียกว่า 'พันธุ์ปลูก' ยังหาที่อิงไม่ได้ค่ะ) หมายถึงพันธุ์ ที่ได้จากการการดัดแปลงปรับปรุงโดยการกระทำของมนุษย์มากกว่าจะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ทั้งนี้อาจจะเกิดจากการผ่าเหล่า (mutation) การผสมพันธุ์โดยมนุษย์ หรือการผันแปรของลักษณะพืชอันเนื่องมาจากการจัดการพืชหรือการเขตกรรม
    เอกสารอ้างอิง


เวลาพิมพ์ชื่อ ssp. ก็ต้องเป็นตัวเอน (คำว่า ssp. ไม่ต้องเอน เอนแต่อักษรที่ตามมา) เช่น H. australis ssp. rupicola ขอยืนยันว่ายุ่งยากในการพิมพ์มากๆ ค่ะท่านผู้อ่านโดยเฉพาะเมื่อไม่มีเมนูช่วยพิมพ์ต้องกรอกโค้ด html แบบใน bloggang.com ของเรานี้

การพิมพ์ชื่อ var. ไม่ต้องเอน และคำว่า var. พิมพ์เหมือนที่เห็นนี้ทุกประการ (อักษรพิมพ์เล็กและมีจุด ที่เหลือใช้หลักการเดียวกับ ssp.

การพิมพ์ชื่อ cv. ก็ไม่ต้องเอนค่ะ แต่สามารถพิมพ์ได้สองแบบค่ะ
1. คำว่า cv. พิมพ์เหมือนที่เห็นนี้ทุกประการ ตามด้วยชื่อพีนธุ์ปลูกไม่เอน และขึ้นต้นด้วยอักษรพิมพ์ใหญ่ H. cv. Ruthie
2. ไม่ต้องใส่คำว่า cv. แต่ชื่อพันธุ์ปลูกอยู่ระหว่างเครื่องหมายฝนทอง '_' แทน ดังนี้ H. 'Ruthie'
เอกสารอ้างอิง

นอกจากนี้ยังมีศัพท์อีกคำที่นำมาประกอบกับชื่อของโฮย่า นั่นคือ aff. ย่อมาจาก affinis สามารถแปลได้ว่ามีลักษณะคล้าย species หนึ่งๆ แต่ไม่ใช่ ตัวอย่างเช่น H. aff. coronaria แปลว่าโฮย่าชนิดนั้นๆ คล้าย coronaria แต่ไม่ใช่ coronaria

แหะๆๆๆ มาถึงตรงนี้แล้วรู้สึกมันยุ่งยากมากเลยค่ะ ถึงว่าสิไม่ค่อยมีคนชอบวิชา biology เหอๆๆๆ เอิ๊กกกกก !



กำลังพยายามจะเขียนเรื่องการระบุชื่อของโฮย่าด่าง variegata/albomarginata แต่ขอเวลารวบรวมข้อมูลอีกสักนิด ไม่อยากให้รับข่าวสารแบบผิดไปค่ะ

มาแล้วค่ะ จากการปรึกษาหารือดิคชันนารีภาษาละตินในชื่อวิทยาศาสตร์ Dictionary of Botanical Epithets ได้ความมาว่าดังนี้

variegata แปลว่า มีสีแตกต่างกัน (varigated leaves) คือการใบด่างนั่นเอง เหมือนชบาด่าง ชวนชมด่าง หูกระจงด่าง ที่พบเห็นกันทั่วไป ชื่อนี้มักนำไปเป็นชื่อสปีชีส์ หรือชื่อ ssp.

albomarginata แปลว่า มีขอบสีขาว (albo = white, marginata = margin) ลักษณะคล้ายๆ variegata แต่ภาษาไทยอาจจะเรียกว่า "ด่างนอก" หรือ "ขอบขาว" นั่นเอง

สำหรับโฮย่าที่มีอาการด่างได้ทั้งสองแบบที่เห็นบ่อยคือ kerrii, lanceolata 'Bella', compacta แต่อิฉันยังไม่แน่ใจการพิมพ์ variegata/albomarginata ตามชื่อละตินเขาทำกันแบบไหน เคยอ่านผ่านมาผู้เชี่ยวชาญเขาว่าจะเรียกแบบไหนต้องมี publication (เอกสารตีพิมพ์ทางวิชาการ) ที่ผ่านการรับรองแล้ว และ/หรือบรรจุอยู่ในฐานข้อมูลชื่อโฮย่าค่ะ

ถ้าศึกษาในพืชอื่น ลองค้นมาให้มีดังนี้

  • ใช้ var variegata กระบองเพชร forma variegata ตัวอย่าง Haworthia cymbiformis var. variegata
  • ใช้ forma variegata อะกาเว่ Agave attenuata forma variegata
  • ใช้ ssp. ใน pond lily Nuphar lutea ssp. variegata


สำหรับโฮย่าอิฉันยังหาข้อสรุปไม่ได้ (สงสัยเราเซ่อค้นไม่เจอเอง) เลยขอเสนอด้วยความเห็นส่วนตัวว่า ใช้ภาษาอังกฤษก็แล้วกันค่ะ เพื่อระบุว่าด่าง ได้แก่ varigated from/white-margined form (ระบุเป็นภาษาไทยก็ได้ "ด่างใน" / "ด่างนอก" ไม่มีใครว่าผิดดี)


เฮ่อ....เหนื่อยจัง คนอ่านเหนื่อยไหมคะ




 

Create Date : 08 มิถุนายน 2553    
Last Update : 27 มิถุนายน 2553 11:32:46 น.
Counter : 3099 Pageviews.  

1  2  

แม่แป้น 026
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 12 คน [?]




"แม่แป้น" เป็นนิคเนมล่าสุดที่เพื่อนชาวเน็ทตั้งให้อันเป็นภาคย่อของ "พังแป้น" ชื่อตัวละครที่เป็นช้างของชัยพฤกษ์การ์ตูน (ถ้าจำไม่ผิด) สงสัยเพราะเขาได้แรงบันดาลใจจากรูปร่างสะโอดสะองของแม่แป้นเป็นแน่
ชื่ออื่นๆ ของแม่แป้นอาจจะพบได้ในที่อื่นคือป้าบี (be_bee_th หรือ pa_bee หาตัวได้ที่ yahoo.com) เพื่อนตัวเป็นๆ เรียก "อ." ...ที่บ้านเรียก "น." เพื่อนที่พันทิปเรียกจู๋น, จู๋นๆ, จานจู๋น (มาจากชื่อ ๐๒๖ น่ะเองค่ะ) บางทียกหูโทรศัพท์ขึ้นมาก็งงตัวเองว่า ควรจะรายงานตัวว่าใครกำลังพูด !!!

Friends' blogs
[Add แม่แป้น 026's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.