"ชาตินี้ - ชาติหน้า"
ว่าด้วยเรื่องชาตินี้-ชาติหน้า (จากปัญญาอันน้อยนิดของผู้ขาดสติมาเกือบทั้งชีวิต)
เจอกระทู้เก่าจากเว็บพันทิปว่าด้วยเรื่องการกลับชาติมาเกิดโดยบังเอิญ ได้อ่านอีกหลายเรื่องราวจากบุคคลหลายมุมมอง มีทั้งเชื่อและไม่เชื่อ
สำหรับฉันแล้ว เรื่องกลับชาติมาเกิดเคยก้ำกึ่งในความรู้สึกมาตลอด แม้จะได้ยินเรื่องนี้มาจนคุ้นเคยเสมือนเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว ศีลห้าก็ท่องได้แต่ปาก (แต่ไม่เคยปฏิบัติได้จริง) รู้แค่ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ซึ่งก่อให้เกิดข้อกังขาว่ามันจริงหรือ ในเมื่อสิ่งที่พบเจอ ไม่ใช่เช่นนั้นเสมอไป
ฉันเคยฟังท่าน ป.อ. ปยุตโต พูดถึงเรื่องนี้ ท่านไม่ได้ชัดเจนไปข้างใดข้างหนึ่ง ท่านพูดประมาณว่า เรื่องนี้หาข้อพิสูจน์ยากในบุคคลทั่วไป ดังนั้น ไม่ว่าเราจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ก็ขอให้ยึดมั่นในการทำความดีได้ก่อน หากชาติหน้าไม่มีจริง อย่างน้อย ชาตินี้ เราก็ได้ความสุขใจในกุศลที่ทำ และหากชาติหน้ามีจริง เราย่อมได้รับผลนั้นแน่นอน
ใจฉันสว่างโพลงเลย ทั้งที่คำตอบท่านแสนจะธรรมดา และเป็นเรื่องปกติมาก แต่มันทำให้ฉันคิดได้ว่า ทำไมเราทำความดีหรือทำบุญแล้วต้องหวังได้ผลตอบแทนในชาติหน้า ในเมื่อความจริงแท้อยู่กับปัจจุบันนี้ชาตินี้เท่านั้น (เออนะ ทำไมไม่เคยคิดถึงข้อนี้เลย)
แล้วฉันก็ (คิดว่า) เข้าใจในสิ่งที่ท่านพุทธทาสสอน จากที่หลงงงงวยมาอย่างยาวนาน
ท่านพุทธทาสไม่ได้สอนให้หวังผลในชาติหน้า ซึ่งหลักคำสอนพระพุทธเจ้าก็เป็นเช่นนั้น พระพุทธองค์ตรัสว่า สิ่งที่ท่านตรัสรู้มีมากมายมหาศาลราวกับใบไม้ทั้งป่า แต่ท่าน หยิบ เอามาเผยแผ่แก่ชาวโลกแค่ กำมือเดียว
กำมือเดียว ของพระพุทธเจ้าก็คือ อริยสัจสี่ ซึ่งเราท่องได้เป็นนกแก้วนกขุนทองมาตั้งแต่เป็นนักเรียนว่า ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค แต่ไม่เคยลึกซึ้งในความหมายที่แท้จริงของอมตะธรรมนี้
ซึ่งหากเราค้นหาความหมายจริง ๆ ของสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน เราจะตาสว่าง ใจสว่างขึ้นมาทันที ทุกข์ที่เผชิญอยู่จะหมดสิ้นไป (หากปฏิบัติได้จริง)
ปัญหาคือ เราปฏิบัติได้ยากมาก เราจึงทุกข์ซ้ำซาก หายทุกข์เรื่องนี้แล้วก็ไปทุกข์เรื่องใหม่ วนเวียนไม่รู้จักจบสิ้น
การที่ท่านพระพุทธทาสสอนเรื่อง ตัวกู-ของกู ก็เพื่อให้เราออกจากกองทุกข์ได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องรอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไหนมาช่วย
ถ้าละ ตัวกู- ของกู ได้ ก็ไม่มีชาตินี้ ชาติหน้า ไม่มีอะไรให้ต้องยึดมั่น ผูกพัน ไม่มีอะไรให้เกาะเกี่ยว ไม่มีอะไรมาทำให้ใจเศร้าหมอง บรรลุทางแห่งความสงบเย็นคือ นิพพาน ได้ ตั้งแต่ยังไม่สิ้นลมหายใจนี่แหละ
เราคนธรรมดาไม่ต้องรู้เรื่องพระไตรปิฎกมากเหมือนพระท่าน ที่ต้องทำหน้าที่สอนคน เพราะเราไม่ต้องสอนใคร สอนแค่ตัวเองให้ได้ก็พอแล้ว ขัดกิเลสเก่าออกให้หมด สร้างพลังจิตให้เข้มแข็งเพื่อให้มีแรงต้านกิเลสใหม่ที่เข้ามาทุกวัน แค่นี้ก็หนักหนาแล้ว
ฉันคิดเอาเองว่า พระสูตรทั้งหลายในพระไตรปิฎกล้วนอ้างคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น ท่านตรัสเรื่องระลึกชาติคล้ายเป็นการสนทนาธรรมกับสงฆ์สาวก เราคนธรรมดาจะรู้หรือไม่รู้ก็ได้ เนื่องจากเรื่องเหล่านั้นเป็นเหมือนใบไม้ทั้งป่าที่อยู่นอกกำมือพระพุทธเจ้า
การเน้นเรื่องชาตินี้ ชาติหน้า หรือการทำบุญมาก ๆ หากไปสอนคนที่มีปัญญา พิจารณาธรรมตามความจริงก็ไม่มีปัญหา แต่หากไปเน้นสอนเรื่องนี้แก่บุคคลที่ไม่อาจเข้าใจอะไรได้ง่าย ก็เป็นดาบสองคม เพราะเป็นต้นทางของความเชื่อผิด ๆ และนำมาซึ่งการแสวงหาผลประโยชน์ของคนบางพวก
ท่านพุทธทาสท่านสอนแต่ แก่น ของพุทธ ท่านจึงสอนให้ปล่อยวางทุกสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เพราะอย่างน้อย การปล่อยวางก็ทำให้เราไม่ทุกข์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก สำหรับคนที่มีกิเลสหนาอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ
และการที่บอกว่าไม่ให้ยึดมั่นกับสิ่งใด แม้แต่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ซึ่งทำให้ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ในยุคหนึ่ง ก่อนนั้น ฉันก็ไม่เข้าใจนะ แต่ตอนนี้เข้าใจแล้วว่าทำไมท่านจึงพูดเช่นนั้น
เพราะการยึดมั่นในสิ่งใด ย่อมทำให้เราเกิดความรู้สึกมีตัวตน สิ่งนั้นมีตัวตน สิ่งนี้มีตัวตน ซึ่งจะหลงวนอยู่ในวัฏสงสารทั้งที่ยังมีลมหายใจอยู่นี่แหละ แม้หมดลมหายใจแล้ว ความยึดมั่นนั้นก็จะทำให้ขันธ์ห้าของเรากลับมารวมกันอีก เกิดอีก ทุกข์อีก ไม่มีสิ้นสุด
ความว่าง คือ การไม่ยึดในสิ่งใด (แม้แต่ความรู้สึกและตัวเอง) เมื่อไม่มีอะไรให้ยึด กิเลสที่ไหนจะมาฝังตัวหมักหมมอยู่ในจิตเราได้
หากฟังคำสอนของพระอริยสงฆ์ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ท่านจะสอนแค่ว่าให้อยู่กับลมหายใจของเรา เลิกนึกถึงอดีต ไม่กังวลอนาคต อยู่แค่เดี๋ยวนี้ วินาทีนี้เท่านั้น เราก็จะไม่ทุกข์ ไม่มีชาตินี้ ชาติหน้า แม้หากหมดลมหายใจไปกะทันหัน จิตเราก็จะบริสุทธิ์ ปราศจากกิเลส
ถึงเวลานั้น หากชาติหน้ามีจริง ก็จงเชื่อว่าเราจะได้เกิดในภพภูมิที่ดี แต่หากไม่มีจริง เราก็ถือว่าได้พบความสงบสุขทางใจแล้วในชาตินี้ภพนี้ ซึ่งคนทั่วไปมักมองข้ามไปอย่างน่าเสียดาย
๔ ตุลาคม ๒๕๖๐
Create Date : 04 ตุลาคม 2560 |
|
1 comments |
Last Update : 4 ตุลาคม 2560 11:29:58 น. |
Counter : 4306 Pageviews. |
|
|
|
|