สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ๒๒ : เสี้ยนสุดท้าย ๒ - จากอโยธยาสู่นคร
แผนที่หัวเมืองชายทะเลแสดงตำแหน่งเมือง 'น่คอร' อยู่ขวาสุด สมุดภาพไตรภูมิกรุงศรีอยุธยา หมายเลข ๖
เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์หรือสมเด็จพระเจ้าปราสาททองได้กลับมามีไมตรีและได้คลายข้อข้องใจที่ออกญาเสนาภิมุขมีต่อตนไปแล้ว แต่อีกด้านหนึ่งเจ้าพระยากลาโหมสุิริยวงศ์พยายามหาทางกำจัดชาวญี่ปุ่นผู้นี้ออกไปเพื่อไม่ให้เป็นภัยคุกคามต่อตนเองอีก ในกรณีที่เจ้าพระยากลาโหมต้องการชิงราชสมบัติ
สถานการณ์เมืองนคร ใน พ.ศ.๒๑๗๒ เพิ่งผลัดแผ่นดินจากสมเด็จพระเชษฐาธิราชเป็นสมเด็จพระอาทิตยวงศ์ ตามธรรมเนียมต้องมีการถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ และในคราวนี้ก็เช่นกัน จึงได้มีท้องตราเรียกให้เจ้าเมืองต่างๆเข้ามาถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาตามราชประเพณี
ทางเมืองนครศรีธรรมราช(Ligoor-ลิกอร์ เพี้ยนมาจากลคร) ขณะนั้นมีสถานการณ์ไม่ค่อยสงบเนื่องจากกำลังติดศึกอยู่กับปตานี(ปัตตานี)ซึ่งได้คุกคามหัวเมืองแถบนั้นมาตั้งแต่ปลายรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม รวมไปถึงเกิดการก่อกบฏจากคนในท้องถิ่นเอง เมื่อท้องตราโกษาธิบดี(Trakhausa-by-dij-ตราของพระยาพระคลัง)ถูกส่งไปถึงออกญานคร(Oija Ligoor-อิงจาก 'ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช' ว่าน่าจะเป็น'พระยาแก้ว' ซึ่งเป็นหลาน 'พระญา' ที่เป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชใน พ.ศ.๒๑๗๑) เนื่องจากสถานการณ์วุ่นวายในขณะนั้นออกญานครปรึกษากับกรมการเมืองแล้วจึงตัดสินใจไม่ไปกรุงศรีอยุทธยา กลับส่งหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษขึ้นมายังพระนครแทน
กฎมณเฑียรบาลระบุว่า "อนึ่งลูกขุนผู้ใดขาดถือน้ำพระพิพัท โทษถึงตาย ถ้าบอกป่วยคุ้ม(โทษ)"
ออกญานครไม่ได้ป่วยเพราะฉะนั้นจึงนับว่าขัดต่อกฎมณเฑียรบาล เสมอโดยกบฏ ซึ่งเยเรเมียส ฟาน ฟลีตได้กล่าวว่า เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ได้คาดการณ์ไว้แต่แรกแล้วว่าออกญานครจะปฏิเสธไม่ยอมมา
แม้ว่าจะอ้างว่าเพราะติดศึกอยู่ แต่สำหรับทางอยุทธยาแล้วการกระทำแบบนี้ย่อมทำให้เกิดความระแวงได้ว่านครศรีธรรมราชอาจก่อกบฏ นครศรีธรรมราชแม้ว่าจะเป็นหัวเมืองของอยุทธยาแต่ในสมัยนั้นค่อนข้างจะมีอำนาจในการปกครองตนเองค่อนข้างสูงและมีอิทธิพลในหัวเมืองใกล้เคียงเช่นเมืองพัทลุง มีหลักฐานว่าสมัยนั้นเคยปกครองโดยเครือญาติทางเมืองนครเอง ทำให้มีอิทธิพลในแถบนั้นอยู่
ตราบัวแก้ว ตราประจำตำแหน่งโกษาธิบดี(พระยาพระคลัง) เสนาบดีกรมท่า
เจ้าเมืองใหม่ เมื่อออกญานครส่งหนังสือตอบมาแบบนั้น ฟาน ฟลีตจึงกล่าวว่า เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ก็หาช่องทางที่จะกำจัดออกญาเสนาภิมุขออกไปได้ โดยในการประชุมราชการแผ่นดินออกญากลาโหมสุริยวงศ์กล่าวว่าการกระทำของออกญานครเสมอด้วยกบฏ(ซึ่งก็เป็นจริง) เพื่อแก้ปัญหาจึงต้องส่งกำลังลงไปกำราบแล้วจำเจ้าเมืองนครมาลงโทษไม่ให้เป็นแบบอย่างรวมถึงตั้งเจ้าเมืองคนใหม่จากส่วนกลางลงไปปกครอง
เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ได้กล่าวอ้างถึงความสำคัญของเมืองนครศรีธรรมราช ในฐานะหัวเมืองสำคัญและเป็นเมืองท่าชายทะเลที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของแผ่นดินมาก รวมไปถึงสถานการณ์ความวุ่นวายที่เกิดจากคนในท้องถิ่นกับปตานี จึงกล่าวว่าคนที่จะส่งไปเป็นเจ้าเมืองต้องเป็นคนที่มีความสามารถที่จะจัดการเรื่องราวทั้งหลายเหล่านี้ได้
ในที่สุดเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินก็กล่าวว่าไม่มีใครเหมาะสมไปกว่าออกญาเสนาภิมุข ข้อเสนอนี้ได้รับการเห็นชอบจากสมเด็จพระอาทิตยวงศ์(ซึ่งคงจะทรงคล้อยตามขุนนางส่วนใหญ่เพราะยังเด็ก)กับที่ประชุมขุนนาง ในเรื่องของเหตุผล ฟาน ฟลีตไม่ได้กล่าวไว้แต่สัณนิษฐานว่าคงเป็นจากความสามารถของออกญาเสนาภิมุขกับกำลังอาสาญี่ปุ่นส่วนหนึ่งซึ่งเคยพิสูจน์ผลงานทั้งการบุกยึดพระราชวังและร่วมรบในราชการสงครามหลายหน อีกส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะขุนนางส่วนใหญ่ก็คงเหมือนออกญากลาโหมสุริยวงศ์ ไม่ไว้ใจชาวญี่ปุ่นและก็เคยมีกรณีที่ญี่ปุ่นเคยก่อกบฏมาแล้ว จึงอาจจะอยากกำจัดไปให้พ้นทาง
อย่างไรเสียออกญาเสนาภิมุขไม่เต็มใจอย่างยิ่งและเริ่มตระหนักในทันทีว่าเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ต้องการจะกำจัดอิทธิพลของนเองกับทหารอาสาญี่ปุ่นไปจากส่วนกลางและสำหรับการกระทำแบบนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับโดนเนรเทศไปนครศรีธรรมราชซึ่งไกลสุดกู่
แต่เหมือนเช่นเคย ฟาน ฟลีตได้กล่าวว่าเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ก็ได้ใช้วาทศิลป์ในการเกลี้ยกล่อมออกญาเสนาภิมุข แสดงความเคารพนบนอบออกญาเสนาภิมุข(ตามที่ฟาน ฟลีตอ้าง)ราวกับตนเองเป็นทาส และไปหาออกญาเสนาภิมุขที่บ้านทุกวัน พยายามบอกว่าตนเสียใจที่เมื่อมาทำราชการในวัง ออกญาเสนาภิมุขต้องทำความเคารพตนในฐานะผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน(อาจเพราะเรื่องอายุด้วย ตามหลักฐานในประวัิติศาสตร์ออกญาเสนาภิมุขแก่กว่าพระเจ้าปราสาททองราว ๑๐ ปี ) และกล่าวด้วยว่าที่ตนเองทูลเสนอให้ออกญาเสนาภิมุขไปเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชก็เพราะจะได้ไม่ต้องเหมือนเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาในระบบราชการส่วนกลางอีก(ไปอยู่เป็นเจ้าเมืองจะได้มีอำนาจบริหารเอง) และเพราะว่าออกญาเสนาภิมุขเป็นผู้ที่องอาจกล้าหาญในแผ่นดิน เป็นคนที่คงจะปฏิบัติภารกิจที่เมืองนครศรีธรรมราชต่างพระเนตรพระกรรณได้ดีที่สุด
ด้วยวาทศิลป์ของเจ้าพระยากลาโหม ออกญาเสนาภิมุขก็เริ่มหลงไปกับคำเยินยอเหล่านี้อีกครั้ง ทำให้รู้สึกไม่แน่ใจ
พิธีสถาปนา-ของกำนัล
ซ้าย : ลอมพอก เครื่องสวมศีรษะขุนนางไทย ขวา : อนุสาวรีย์ ยามาดะ นางามาสะ ที่หมู่บ้านญี่ปุ่น อยุธยา เครื่องสวมหัวเข้าใจว่าคงทำตามคำบรรยายของฟาน ฟลีตที่ว่า 'the pyramidal crown' สัณนิษฐานว่าจริงๆคงเป็นแค่ลอมพอก
มีพระราชโองการให้ออกญาเสนาภิมุขเข้าพระราชวังหลวงเพื่อสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ได้มีการจัดพิธีอย่างยิ่งใหญ่ ด้วยฐานะของเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นเจ้าเมืองพระยามหานคร(บางสมัยก็เทียบเท่าเจ้าเมืองประเทศราช) เจ้าเมืองเอก ถือศักดินา ๑๐๐๐๐ ไร่ ในบางสมัย การสถาปนาเจ้าเมืองถึงกับต้องมีการเชิญพระสุพรรณบัตร ตราพระครุฑพ่าห์ ไปในพิธีมอบเมืองให้แก่เจ้าเมืองด้วย ออกญาเสนาภิมุขอาจจะได้รับเกียรติในรูปแบบใกล้ๆกัน ออกญาเสนาภิมุขยังได้สวมลอมพอก(the pyramidal corwn) ประจำตำแหน่งเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งฟาน ฟลีต กล่าวว่าพิธีทั้งหมดนี้เป็นเกียรติที่ไม่เคยมีเจ้าเมืองคนไหนได้รับเสมอเท่า
อย่างไรเสียออกญาเสนาภิมุขก็รู้สึกได้ว่าเกียรติที่ตนเองได้รับดูมากเกินไปจนผิดสังเกตจึงไม่ได้แสดงท่าทียินดีนักบวกกับเพราะตนเองยังอยากรับราชที่กรุงศรีอยุทธยาอีกด้วยจนเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์เองก็รู้สึกท่าทีของออกญาเสนาภิมุขได้
ด้วยเหตุนี้ออกญากลาโหมสุริยวงศ์จึงหากองกำนัลจำนวนมากมามอบให้ออกญาเสนาภิมุข ซึ่งฟาน ฟลีตกล่าวว่ามีทั้งเงิน ทอง เครื่องรูปพรรณ ดาบ รวมทั้งของมีค่าอื่นเท่าที่จะสรรหาได้ นำไปบรรจุในเรือที่ออกญาเสนาภิมุขใช้นั่งมาพระราชวัง ด้วยของขวัญปริมาณมากมายทำให้เรือลำนั้นแทบจะจม
ตามที่ฟาน ฟลีตกล่าว ออกญาเสนาภิมุขซึ่งได้เป็นออกญานครแล้วเดินทางกลับบ้านราวกับเพิ่งได้สถาปนาเป็นกษัตริย์ เมื่อกลับมาถึงบ้านก็เกิดพายุอย่างรุนแรงจนเรือลำนั้นพร้อมด้วยของกำนัลล้ำค่าเกือบจะล่มแต่ทหารอาสาญี่ปุ่นได้เข้าไปช่วยกันเอาบ่าประคองเรือลำนั้นไม่ให้จมได้ ในที่สุดเรือลำนั้นก็กลับมาถึงสะพานหน้าบ้านออกญาเสนาภิมุขได้สำเร็จโดยเท้าของออกญาเสนาภิมุขไม่เปียกเลย อย่างไรเสีย เหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้คนไทยวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นลางร้ายต่อออกญาเสนาภิมุข ส่อว่าออกญาเสนาภิมุขจะพินาศและถึงแก่ความตายในที่สุด
เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ได้เร่งรัดให้ออกญาเสนาภิมุขหรือออกญานครรีบออกเดินทางไปนครศรีธรรมราชรวมถึงให้นำทหารอาสาญี่ปุ่นทั้งหมดไปด้วย(คงจะอ้างว่าเพื่อประโยชน์ในการปราบกบฏและสะดวกต่อการบังคับบัญชา)ซึ่งจุดประสงค์ก็คงจะเป็นเพื่อไม่ให้มีทหารญี่ปุ่นมาก่อความวุ่นวายอย่างที่เคยทำในอดีต และก็เป็นไปตามนั้นในที่สุดออกญาเสนาภิมุขก็เดินทางออกจากกรุงศรีอยุทธยาไปพร้อมกับทหารอาสาญี่ปุ่นทั้งหมด
การเดินทางลงใต้ครั้งนี้เป็นการเดินทางเที่ยวเดียว ออกญาเสนาภิมุขไม่มีโอกาสกลับมายังแผ่นดินกรุงศรีอยุทธยาอีกตราบชั่วชีวิต
ส่วนเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ กำจัดเสี้ยนสุดท้ายของตนได้สำเร็จ ไม่เหลือทหารญี่ปุ่นในพระนครศรีอยุทธยาสามารถกีดมือขวางเท้าได้อีกต่อไป
Create Date : 31 ตุลาคม 2555 |
Last Update : 25 พฤษภาคม 2556 18:43:26 น. |
|
3 comments
|
Counter : 6166 Pageviews. |
|
|
|