สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ๑๖ : พิธีศพ-โหมโรง
โลงศพบนเชิงตะกอน จิตรกรรมสมัยอยุทธยา วัดเกาะแก้วสุทธาราม จังหวัดเพชรบุรี
หลังจากเสี้ยนศัตรูคือพระศรีสิงห์และออกหลวงมงคลถูกกำจัด สมเด็จพระเชษฐาธิราช กษัตริย์พระชนมายุ ๑๕ พรรษาก็น่าจะปกครองบัลลังก์ไปได้อย่างมั่นคงปราศจากภัยคุกคามแต่การณ์ไม่ได้เป็นเช่นนั้น
พระอุปนิสัยของสมเด็จพระเชษฐาธิราช เยเรเมียส ฟาน ฟลีต(Jeremias Van Vliet)หัวหน้าสถานีการค้าบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา(VOC)ในกรุงศรีอยุทธยาสมัยพระเจ้าปราสาททองได้บันทึกไว้ว่า พระองค์ทรงมีพระอุปนิสัยผิดจากพระเจ้าทรงธรรมพระบิดาลิบลับ
ใน Historical Account of King Prasat Thong กล่าวว่าตั้งแต่สมเด็จพระเชษฐาธิราชครองราชย์ กษัตริย์หนุ่มพระองค์นี้ก็ปล่อยพระองค์ให้เพลิดเพลินอยู่กับกามโลกีย์ทุกประเภท ทรงเสเพล เสวยแต่น้ำจัณฑ์และของมึนเมา หลังจากที่กบฏพระศรีสิงห์ถูกปราบพระองค์ก็ยิ่งทรงหยิ่งผยองและทรนงตนมากขึ้น และความโหดร้ายของพระองค์ก็ทำให้คนทั่วไปเกลียดชังและเกรงกลัวพระองค์ การกระทำของพระองค์ก็ทำให้ขุนนางข้าราชการทั้งหลายไม่สนับสนุนในตัวพระองค์ นอกจากนี้ยังทรงมีพระอารมณ์ที่รุนแรง ทั้งคำพูดหรือการแสดงออกของพระองค์ก็ดูบาดหูบาดตาผู้คนไปหมด โปรดที่จะหาความสำราญกับการทอดพระเนตรการชนช้าง ขี่ม้า กระบี่กระบอง พระองค์ไม่ได้มีความดีงามเหมือนพระบิดาของพระองค์เลย
เอกสารอีกชิ้นของฟาน ฟลีตคือ The Short History of the King of Siam 1640 ก็กล่าวถึงพระองค์ในทำนองเดียวกันว่า พระองค์ทรงมีพระอารมณ์รุนแรงมาก เอาพระทัยยาก ไม่ทรงสนใจในราชการบ้านเมือง ตัณหาจัด ไร้ความคิด ทรงใส่พระทัยกับความสำราญส่วนพระองค์มากกว่าสนใจบ้านเมือง
เอกสารของไทยอย่างสังคีติยวงศ์ก็ระบุว่าพระองค์ อปฺปปญฺโญ ทุจฺจริโต โหติ(มีปัญญาน้อยประพฤติทุจริต)
พระองค์ไม่ได้สนพระทัยในกิจการบ้านเมือง ทรงปล่อยให้อำนาจบริหารราชการแผ่นดินตกอยู่กับเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์หรือพระเจ้าปราสาททองทั้งสิ้น อันที่จริงอำนาจการบริหารแผ่นดินน่าจะอยู่กับเสนาบดีระดับสูงคนอื่นๆด้วยแต่เป็นไปได้ว่าฟาน ฟลีตต้องการจะเน้นถึงออกญากลาโหมสุริยวงศ์เป็นหลัก แต่ก็เป็นไปได้ที่ออกญากลาโหมจะมีอำนาจมากกว่าคนอื่นเพราะตัวเป็นทั้งอัครมหาเสนาบดีฝ่ายทหารและเชื้อพระวงศ์รวมเป็นถึงผู้ช่วยในพระเชษฐาธิราชได้ราชสมบัติด้วย
เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์สร้างความนิยม พฤติกรรมของสมเด็จพระเชษฐาธิราชล้วนทำให้ขุนนางทั้งหลายเอือมระอา ฟาน ฟลีตกล่าวว่า ทุกวันในการประชุมขุนนาง(น่าจะหมายถึงการประชุมของเสนาบดีในศาลาลูกขุน) เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์(สมุหพระกลาโหม ผู้นำลูกขุนฝ่ายทหาร)ก็มักจะกล่าวในที่ประชุมถึงพฤติกรรมไม่ดีของสมเด็จพระเชษฐาธิราชและกล่าวถึงความยุ่งยากของตนเองในการบริหารบ้านเมือง แต่ก็กล่าวว่าตนเองจะยึดมั่นในพระราชโองการสุดท้ายของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม และจะทำหน้าที่ต่อไปอย่างดีที่สุดเพื่อพระเจ้าแผ่นดินและกรุงศรีอยุทธยา
ไม่ว่าจะเป็นความจริงใจหรือเสแสร้ง ทั้งคำพูดกล่าวไป รวมไปถึงความเป็นมิตรและความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ที่ไำด้แสดงออกมาบ่อยๆก็ำให้ออกญากลาโหมสุริยวงศ์ก็ได้รับความนิยมและเป็นที่ชื่นชมของเหล่าขุนนางทั้งหลาย (ฟาน ฟลีตเปรียบออกญากลาโหมเหมือนกับอับซาโลม ทำตัวให้เป็นที่นิยมเพื่อจะโค่นล้มกษัตริย์เดวิด) ทำให้มักมีคนเอาของกำนัลมามอบให้เพื่อจะได้เป็นที่โปรดปราน ในงานสำคัญต่างๆผู้คนก็ให้เกียรติยกย่องราวกับเป็นพระเจ้าแผ่นดินอีกองค์
อีกด้านหนึ่งฟาน ฟลีตก็กล่าวว่าเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ก็สร้างอิทธิพลของตนเองเพิ่มโดยวางแผนให้สมเด็จพระเชษฐาธิราชเกิดความเกลียดชังในบรรดาขุนนางเก่าแก่ มีความโดดเด่น ร่ำรวย เป็นที่เคารพนับถือ (แต่ดูจากอุปนิสัยของสมเด็จพระเชษฐาแล้วส่วนหนึ่งอาจมาจากพระองค์เอง) ขุนนางเหล่านี้ก็ถูกประหารชีวิต ริบราชบาตรหรือเนรเทศ ตำแหน่งที่ว่างลงไปก็ถูกแทนที่ด้วยคนของเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ทั้งสิ้น รวมไปถึงทรัพย์สินที่ริบมาได้ก็นำมาแจกจ่ายกัน ด้วยเหตุนี้จึงมีคนบางกลุ่มเริ่มหวาดระแวงในตัวเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ คนหนึ่งก็คือพระองค์นริศ(Praongh Narit) พระมารดาของสมเด็จพระเชษฐาธิราช และน่าจะมีคนอื่นที่ไม่แสดงตัวอีกหลายๆคน
งานศพ-ชนวนแห่งการใหญ่
มหรสพในงานศพ จิตรกรรมวัดเกาะแก้วสุทธาราม จังหวัดเพชรบุรี
เนื้อหาในส่วนนี้ในพระราชพงศาวดารกับเอกสารของฟาน ฟลีตค่อนข้างใกล้เคียงกันจึงขอเอาเนื้อหาจากสองหลักฐานมาเขียนประกอบกัน
ประมาณ พ.ศ.๒๑๗๒ น้องชายคนเล็กของเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ถึงแก่กรรม(พระราชพงศาวดารว่ามารดา แต่จากหลักฐานของฟาน ฟลีตซึ่งประจำการในอยุทธยาตั้งแต่ พ.ศ.๒๑๗๖-๒๑๘๔ ยังกล่าวถึงพระมารดาอยู่ใน พ.ศ.๒๑๗๙ และ ๒๑๘๒ จึงน่าจะพอสรุปได้ว่าพงศาวดารซึ่งชำระสมัยรัตนโกสินทร์คงจะผิด) จึงได้มีการจัดงานศพขึ้นที่วัดมงกุฎหรือวัดกุฎธารามเป็นเวลา ๓ วัน
ออกญาศรีธรรมาธิราชบิดาของเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ถึงแก่กรรมไปก่อนสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมไม่นาน และได้ถูกเผาศพไปแล้วเหลือแต่เถ้าอัฐิ เจ้าพระยากลาโหมก็นำอัฐิของบิดามาเผาซ้ำอีกครั้งในงานศพครั้งนี้ ซึ่งฟาน ฟลีตกล่าวว่าการกระทำแบบนี้ถือเป็นเกียรติยศสำหรับพระมหากษัตริย์และผู้สืบราชสมบัติเท่านั้น แต่เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ได้รับสิทธิให้นำอัฐิบิดามาเผาได้ตามพิธีหลวง (ที่เป็นแบบนี้อาจเป็นเพราะออกญาศรีธรรมาธิราชเป็นเสนาบดีผู้ใหญ่และเป็นลุงแท้ๆของพระเจ้าทรงธรรมก็เป็นได้)
ด้วยบารมีของเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์(น่าจะเพราะบารมีออกญาศรีธรรมาธิราชด้วย)ที่มีอยู่มาก ทำให้ทั้งข้าราชการทหารพลเรือนผู้ใหญ่ผู้น้อยต่างพากันมาช่วยงานศพจนถึงกับพากันไปนอนค้างจำนวนมาก ทำให้งานศพในครั้งนี้ยิ่งใหญ่เกินกว่าที่งานศพขุนนางในอดีตเคยมีมาก่อน ทำให้พระองค์นริศกับขุนนางอื่นๆยิ่งไม่วางใจมากขึ้น
ในวันที่ ๓ ของงานศพ เมื่อสมเด็จพระเชษฐาธิราชเสด็จออกว่าราชการในท้องพระโรง พบว่าข้าราชการที่ต้องเฝ้าประจำหายไปจำนวนมาก โดยมีพระองค์นริศพระมารดาคอยเร่งรัดอยู่พระองค์ก็ถามว่าขุนนางหายไปไหนหมด ออกญาพระคลัง(Oija Barckelangh-ตรงกับจมื่นสรรเพชญ์ภักดีในพงศาวดาร อ่านตอนที่ ๑๓) ซึ่งเป็นคนของเจ้าพระยากลาโหมก็ทูลตอบไปตามตรงว่าเหล่าขุนนางได้รับคำเชิญไปงานศพน้องออกญากลาโหม นอกจากนี้ยังมีพวกข้าหลวงเดิมทูลอีกว่า 'เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ทำการครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก หากเอาการศพเข้ามาบังไว้เห็นทีจะคิดประทุศร้ายต่อพระองค์เป็นมั่นคง' สมเด็จพระเชษฐาธิราชก็ทรงแสดงความพิโรธออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน ทรงเชื่อแน่ว่าออกญากลาโหมคิดกบฏต่อพระองค์และรับสั่งว่าจะให้เขาตายตามบิดากับน้องชายไป
ออกญาพระคลังพยายามทูลแก้ต่างให้เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ แต่สมเด็จพระเชษฐาธิราชก็รู้ว่าออกญาพระคลังเป็นคนของเจ้าพระยากลาโหมจึงไม่ทรงฟังและขู่จะประหารเขาอีกคน จากนั้นจึงมีพระราชโองการให้ทหารขึ้นประจำตามป้อม เตรียมกองทหารไว้ แล้วให้ขุนมหามนตรีสมุหพระตำรวจในขวา ไปตามตัวเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์มาเฝ้า
การกระทำของสมเด็จพระเชษฐาธิราชนับว่าไม่ฉลาดอย่างยิ่ง เพราะไม่ได้ประเมินพระองค์เลยว่าพระองค์มีอำนาจอยู่ในระดับไหนเมื่อเทียบกับเจ้าพระยากลาโหม อีกทั้งพระองค์ก็รับสั่งสิ่งที่พระองค์จะทำทั้งหมดให้กับคนของออกญากลาโหมได้ยินอีก และอีกอย่างก็ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าออกญากลาโหมจะเป็นกบฏพระองค์ก็เตรียมการจะรบแล้ว
จมื่นสรรเพชญ์ภักดี(ซึ่งจริงๆน่าจะเป็นตำแหน่งนี้ในสมัยพระเจ้าทรงธรรม ในตอนนี้น่าจะเป็นออกญาพระคลัง)ได้ลอบส่งหนังสือลับไปให้เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์(ฟาน ฟลีตว่าออกญาพระคลังไปด้วยตนเอง)เพื่อเป็นการเตือนภัย โดยในหนังสือมีใจความว่า
"พระโองการจะให้หาเข้ามาดูมวย บัดนี้เตรียมไว้พร้อมอยู่แล้ว เมื่อเจ้าคุณจะเข้ามานั้น ให้คาดเชือกเข้ามาทีเดียว"
เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์อ่านแล้วก็เข้าใจ ฟาน ฟลีตกล่าวว่าออกญากลาโหมแสดงท่าทีประหลาดใจและถอนใจจนขุนนางทั้งหลายสงสัย ออกญากลาโหมสุริยวงศ์จึงบอกเรื่องที่ได้รู้มาให้ขุนนางเหล่านั้นฟัง
(ถึงตอนนี้บทสนทนาของเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ในพระราชพงศาวดารกับเอกสารของฟาน ฟลีตค่อนข้างใกล้เคียงกันจึงขอยึดจากพระราชพงศาวดารเป็นหลัก)
เมื่อขุนมหามนตรีมาถึงก็บอกว่ามีพระโองการให้ไปเฝ้า เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์จึงประกาศต่อขุนนางที่มาร่วมงานศพว่า "เราทำราชการกตัญญูแต่ครั้งพระพุทธเจ้าหลวงมา ท่านทั้งปวงก็แจ้งอยู่สิ้นแล้ว เมื่อพระุพุทธเจ้าหลวงเสด็จสวรรคตแล้ว ถ้าเรารักซึ่งราชสมบัติ ท่านทั้งหลายเห็นจะพ้นเราเจียวหรือ"
ขุนนางทั้งหลายก็ตอบว่า "ราชการทั้งปวงก็สิทธิ์ขาดอยู่แก่ฝ่าเท้ากรุณาเจ้าสิ้น ที่จะมีผู้ใดขัดแข็งนั้นข้าพเจ้าทั้งปวงก็ไม่เห็นตัวแล้ว"
เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์จึงกล่าวว่า"ท่านทั้งปวงจงเห็นจริงด้วยเถิด เรากตัญญูคิดว่าเป็นลูกเจ้าข้าวแดง จึงเป็นต้นคิดอ่านปรึกษามิให้เสียราชประเพณี ยกราชสมบัติถวายแล้วยังหามีความดีไม่ ฟังแต่คนยุยงกลับมาทำร้ายเราผู้มีความชอบต่อแผ่นดินอีกเล่า ท่านทั้งปวงจะทำราชการไปข้างหน้าจงเร่งคิดถึงตัวเถิด"
น่าจะมีขุนนางที่ไม่พอใจพระเชษฐาธิราชตั้งแต่แรกอยู่แล้วบวกกับขุนนางพรรคพวกเจ้าพระยากลาโหมมากอยู่ แต่ก็ยังมีขุนนางบางกลุ่มที่ยังไม่แสดงท่าทีอะไรวางตัวเงียบอยู่ เพื่อแสดงความเด็ดขาด เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์จึงสั่งให้ทหารหน่วยทะลวงฟันจับตัวขุนมหามนตรีกับบ่าวไพร่ที่พายเรือมาไปคุมขังไว้ ขุนนางทั้งปวงก็พากันตกใจหน้าซีด
เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์จึงกล่าวต่อว่า "บัดนี้พระเจ้าแผ่นดินว่าเราทำการประชุมขุนนางพร้อมมูลทั้งนี้คิดการเป็นกบฏ ก็ท่านทั้งทั้งปวงซึ่งมาช่วยเราโดยสุจริตนั้น จะมิพลอยเป็นกบฏไปด้วยหรือ" คำพูดนี้เหมือนกับเป็นการตอกย้ำให้ขุนนางทั้งหลายคิดว่าตนเองมีความผิดไปแล้ว หมดทางเลือก ต้องเข้ากับออกญากลาโหมอย่างเดียวถึงรอดได้
ขุนนางทั้งปวงจึงกล่าวว่า "เป็นธรรมดาอยู่แล้ว อุปมาเหมือนหนึ่งนิทานพระบรมโพธิสัตว์เป็นนายสำเภา*คนทั้งหลายโดยสารไปค้า ใช้ใบไปถึงท่ามกลางมหาสมุทรต้องพายุใหญ่สำเภาจะอัปปางแล้ว พระบรมโพธิสัตว์จึงคิดว่าถ้าจะนิ่งอยู่ดั่งนี้ ก็จะพากันตายเสียด้วยสิ้นทั้งสำเภา จึงตั้งสัตยาธิษฐานว่า ถ้าอาตมาจะสำเร็จแก่พระบรมโพธิญาณขออย่าให้สำเภาอัปปางในท้องมหาสมุทรเลย เดชะอานุภาพบารมีบรมโพธิสัตว์สำเภาก็มิได้จลาจล แล่นล่วงถึงประเทศธานีซึ่งจะไปค้านั้น ก็เหมือนการอันเป็นครั้งนี้ ถ้าท้าวพระกรุณานิ่งตายคนทั้งหลายก็จะพลอยตายด้วย ถ้าท้าวพระกรุณาคิดการรอดจากความตายคนทั้งปวงก็จะรอดด้วย"
เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์จึงหัวเราะแล้วพูดว่า "พระเจ้าแผ่นดินว่าเราเป็นกบฏแล้วเราจะทำตามรับสั่ง ท่านทั้งปวงจะว่าประการใด"
ขุนนางทั้งหลายก็กราบออกญากลาโหมสุริยวงศ์ ตอบว่า "ถ้าท้าวกรุณาจะำทำการใหญ่จริง ข้าพเจ้าทั้งปวงจะขอเอาชีวิตสนองพระคุณตายก่อน"
เมื่อเห็นทุกคนตกลงพร้อมใจกันแล้ว เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ก็เตรียมกำลังเพื่อทำการใหญ่
การกระทำของสมเด็จพระเชษฐาธิราชที่ทำให้เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ต้องก่อการใหญ่ สมบัติ จันทรวงศ์ได้เปรียบเทียบไว้กับงานเขียนของมาคิอาเวลลี(Macchiavelli)ว่า
"...การขู่นั้นเป็นอันตรายยิ่งสำหรับผู้ปกครองและก่อให้เกิดการสมคบกันล้มล้างผู้ปกครองมากเสียยิ่งกว่าการกระทำร้ายเองเสียอีก เพราะฉะนั้น ผู้ปกครองจึงควรระมัดระวังไม่หลงมัวเมาในการขู่เข็ญเพราะท่านจะต้องผูกพันคนให้อยู่กับท่านด้วยผลประโยชน์หรือไม่ก็ต้องหาทางให้แน่ใจโดยวิธีอื่น แต่ท่านต้องไม่ทำให้พวกเขาเหลือทางออกอยู่แค่ว่า ถ้าเขาไม่ทำลายท่า่นเขาก็ต้องพินาศไปเสียเอง"
สมเด็จพระเชษฐาธิราชบีบเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ให้ทำลายพระองค์ ถ้าไม่ทำเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ก็จะต้องพินาศด้วยพระหัตถ์สมเด็จพระเชษฐาธิราชเช่นเดียวกัน
*น่าจะมาจากอรรถกถา สุปปารกชาดก ว่าด้วยทะเล ๖ ประการ โดยพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นนายสำเภาตาบอด แล่นสำเภาไปตามทะเลต่างๆ เมื่อไปถึงทะเลพลวามุขีซึ่งเหมือนมีเหวลึก เมื่อมีคลื่นก็เกิดเหว พระโพธิสัตว์จึงกระทำสัจจกิริยา เรือก็แล่นกลับไปถึงบ้านเกิดหลังจากหลงอยู่ในทะเลถึง ๔ เดือน
Create Date : 19 ตุลาคม 2555 |
Last Update : 25 พฤษภาคม 2556 10:28:51 น. |
|
4 comments
|
Counter : 6954 Pageviews. |
|
 |
|
เพิ่งมาเจอบล็อกที่เรื่องราวที่ชอบและสนใจอ่านค่ะ