สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ๑๔ : กบฏพระศรีสิงห์
การกวาดล้างขั้วอำนาจของขุนนางฝ่ายตรงข้ามโดยเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์(ฟาน ฟลีตเรียกออกญากลาโหมตลอด)หรือสมเด็จพระเจ้าปราสาททองนับว่าแทบถอนรากถอนโคนเกือบหมดแต่อย่างไรก็ตามก็ไม่อาจวางใจเพราะพระศรีสิงห์หรืิอพระพันปีศรีสินยังมีพระชนม์ชีัพอยู่
จับพระศรีิสิงห์ สมเด็จพระเชษฐาธิราช พระชนม์ ๑๕ พรรษาได้ครองราชสมบัติกรุงศรีอยุทธยาใน พ.ศ.๒๑๗๑ ส่วนพระศรีสิงห์ผู้เป็นพระอนุชาของพระเจ้าทรงธรรมได้ออกผนวชตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมแล้ว การกระทำดูเหมือนกับจะทรงไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องในราชสำนักแต่อย่างไรก็ดีก็มีขุนนางที่สนับสนุนให้พระองค์ครองราชย์ต่อจากสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมอยู่มาก แต่ก็ไม่เป็นผลเพราะถูกออกญากลาโหมสุริยวงศ์กวาดล้างเกือบหมด พระศรีสิงห์จึงปราศจากฐานอำนาจอันแข็งแกร่งที่จะสนับสนุนพระองค์อีก แต่อย่างไรก็ตาม พระองค์ยังมีพระชนม์ชีพอยู่ทำให้เป็นที่เพ่งเล็งว่าอาจจะเป็นภัยคุกคามเมื่อไหร่ก็ได้
สมเด็จพระเชษฐาธิราชพยายามทูลเชิญพระปิตุลาพระองค์นี้ให้เข้ามาในวังอยู่หลายหน แต่พระศรีสิงห์ก็ทูลปฏิเสธทุกหน แสดงให้เห็นว่าพระศรีสิงห์เองก็ไม่ทรงมั่นใจว่าฝ่ายสมเด็จพระเชษฐามีแผนอะไรกับพระองค์หรือไม่
เหตุการณ์ต่อจากนี้เยเรเมียส ฟาน ฟลีตได้บันทึกไว้ในเอกสารสองชิ้นซึ่งเขียนใน ค.ศ.๑๖๔๐(พ.ศ.๒๑๘๓) เหมือนกัน แต่เนื้อความต่างกัน
ในเอกสารที่ภายหลังชื่อว่า Historical account of King Prasat Thong กล่าวว่าออกญากลาโหม(เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์)เองก็ไม่ไว้ใจพระศรีสิงห์จึงวางแผนจะกำจัดพระองค์ทิ้ง โดยไปติดต่ิอ(พร้อมกับมอบของกำนัลจำนวนมากให้)กับออกญาเสนาภิมุข(Oija Senaphimocq-ยามาดะ นิซาเอมอง นางามาสะ) ให้ไปลวงพระศรีสิงห์เข้ามาในพระราชวังโดยไม่ให้สวมจีวร(เพราะการทำร้ายคนในผ้าเหลืองถือเป็นบาป) แผนต่อจากนี้ไม่ได้กล่าวแต่สัณนิษฐานว่าจับแล้วก็อาจหาเหตุยัดเยียดความผิดให้แล้วจับสำเร็จโทษก็เป็นได้
ออกญาเสนาภิมุขจึงไปเฝ้าพระศรีสิงห์ เล่นละครคร่ำครวญถึงความถึงความไม่เป็นธรรมที่พระศรีสิงห์ได้รับ รวมถึงชีวิตขุนนางมากมายที่ถูกประหารและถอดถอนด้วยฝีมืออกญากลาโหมสุริยวงศ์ และกล่าวว่าตัวเองกับขุนนางอีกหลายคนพร้อมจะก่อการโค่นล้มสมเด็จพระเชษฐาธิราชเกับออกญากลาโหมและสนับสนุนพระศรีสิงห์ให้ได้ครองราชย์สมบัติ
พระศรีสิงห์เชื่อออกญาเสนาภิมุข จากนั้นจึงเสด็จไปพระราชวังหลวงพร้อมออกญาเสนาภิมุขกับทหารอาสาญี่ปุ่น เพื่อให้พระองค์ตายใจออกญาเสนาภิมุขอ้างว่าได้เตรียมคนไว้ภายในวังสำหรับก่อการแล้วบวกกับให้ทหารอาสาญี่ปุ่นเฝ้าอยู่หน้าวังเพื่อให้เห็นว่าออกญาเสนาภิมุขเป็นผู้ควบคุมดูแลอยู่ และจึงทูลให้พระศรีสิงห์ทรงถอดจีวรออกเนื่องจาก การครั้งนี้พระองค์ควรจะเข้าไปในพระราชวังหลวงอย่างนักรบไม่ใช่พระภิกษุ พระศรีสิงห์ก็เชื่อและเปลี่ยนฉลองพระองค์ตามนั้น แต่พอพระองค์เข้าไปในพระราชวังก็ถูกจับกุม
เรื่องที่กล่าวมาดูค่อนข้างเกินจริงเมื่อเทียบกับเอกสารอีกชิ้นที่ภายหลังเรียกว่า The Short History of the Kings of Siam 1640 ซึ่งกล่าวว่า พระศรีสิงห์คอยสังเกตการณ์พฤติกรรมของสมเด็จพระเชษฐาธิราชอยู่และเห็นว่าพระองค์ไม่เป็นที่ชมชอบของเหล่าขุนนาง พระศรีสิงห์จึงลาผนวชแล้วเสด็จไปบางกอกซ่องสุมกำลังเตรียมก่อกบฏ แต่ทัพจากกรุงศรีอยุทธยานำโดยออกญากลาโหมสุริยวงศ์กับออกญาดุน(Oija Thun-คือออกญาเสนาภิมุข)ยกทัพไปปราบ พระศรีสิงห์ทราบข่าวก็ไม่อยู่ต่อสู้แต่เสด็จหนีไปเพชรบุรีแต่ก็ถูกจับเป็นเชลยได้ในที่สุด(เรื่องนี้อาจเชื่อมโยงต่อไปได้ว่าทำไมถึงลงโทษพระศรีสิงห์ที่เพชรบุรี)
วัดเขาบันไดอิฐ จังหวัดเพชรบุรี มีตำนานของวัดว่าพระศรีสิงห์ถูกขังอยู่ในถ้ำของวัด ซึ่งขัดกับหลักฐานที่ว่าโดน 'ลงขุม'
โทษตาย-ลงขุม สมเด็จพระเชษฐาธิราชทรงทราบเรื่องแล้ว พระองค์กับเหล่าขุนนางตัดสินให้พระศรีสิงห์ได้รับโทษตาย แต่ไม่ให้สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ ให้ลงโทษโดยการจับพระองค์ให้หลุมลึกและลดอาหารทุกวันจนสิ้นพระชนม์ไปเองที่เพชรบุรีหรือพิบพรี(Piprij)
เรื่องการลงโทษของพระศรีสิงห์ ทั้งเอกสารที่ใกล้สมัยของฟาน ฟลีตกับเอกสารสมัยเสียกรุงครั้งที่ ๒ อย่าง "คำให้การขุนหลวงหาวัด" กล่าวได้ใกล้เคียงกันมากเพียงแต่คำให้การกล่าวผิดไปว่าเรื่องนี้เกิดในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยคำให้การกล่าวว่าทำในบริเวณวัดกะชาย
รูปแบบการลงโทษพระศรีสิงห์น่าจะตรงกับในกฎมณเฑียรบาลที่ว่าด้วยการลงโทษพระราชกุมารที่โทษหนักซึ่งกล่าวว่า "ถ้าโทษหนัก ทีหนึ่งนิฤเทศไปต่างเมือง แลคือเมืองเพชบูรรณ(เพชรบุรี) จันตบูรรณ(จันทบุรี) นครศรีธรรมราช ส่งนายแวงหน้า ๒ แวงหลัง ๒ ตำรวจในถือกฎสั่ง เรือในพิเนศแลเรือขุนดาบแห่หน้า เรือชาววังตามหลัง หัวหมื่นองครักษนารายหลังตามไปส่งถึงที่ จึ่งนายแวงตำรวจในลงเรือหน้า แลเอากฎไปแก่เจ้าเมืองและกรมการให้แต่งที่แต่งเรือนตามโทษหนักเบาไว้ณกลางเมือง เรือน ๓ ห้อง ฝากระดานตรึงเหลก ขุดขุมใต้ท้องเรือนฦก ๕ ศอกมีกะดานปกบนลั่นกุนแจตามกฎ สั่งให้ไว้บนก็ดี ลงขุมก็ดี ตามโทษหนักโทษเบา ถ้าโทษถึงตายให้ลงขุม..."
แต่ทว่ามีพระญาติใกล้ชิดของพระองค์คนหนึ่งมีบรรดาศักดิ์เป็นออกหลวงมงคล(Oloangh Mancongh-เป็นตำแหน่งของเจ้ากรมสรรพากรใน)กับน้องชายร่วมกับพระสงฆ์ในเพชรบุรีที่เห็นในคุณความดีของพระศรีสิงห์ได้ลอบขุดอุโมงค์ไปช่วยพระองค์ออกมา และเอาศพใส่ฉลองพระองค์ไว้ในหลุมแทน รุ่งขึ้นคนเฝ้าหลุมเห็นศพก็นึกว่าพระศรีสิงห์สิ้นพระชนม์แล้วจึงกลบหลุมแล้วกลับไปกรุงศรีอยุทธยาทูลเรื่องให้สมเด็จพระเชษฐาธิราชทรงทราบ
พระศรีสิงห์สร้างฐานอำนาจ ตามคำให้การขุนหลวงหาวัด พระศรีสิงห์ถูกพาตัวไปซ่อนที่บริเวณที่เรียกว่าบ้านตลาดบัวขาวในเพชรบุรี ฟาน ฟลีีตกล่าวว่าพระสงฆ์ได้บำรุงพยาบาลพระองค์จนทรงแข็งแรงเป็นปกติ พระสงฆ์หลายรูปที่ศรัทธาในพระองค์ได้สึกลุกขึ้นมาจับอาวุธเพื่อสนับสนุนพระองค์ และได้เดินทางไปตามหัวเมืองต่างๆ ป่าวประกาศถึง 'บุญญาธิการ' ของพระศรีสิงห์ซึ่งทรงหนีจากความตายมาได้ ซึ่งขัดกับพระประสงค์ของพระศรีสิงห์ซึ่งทรงรอให้อุปนิสัยของพระเชษฐาธิราชทำให้คนทั้งหลายเสื่อมศรัทธาก่อน แต่อย่างไรก็ตามผู้คนจำนวนมากได้เดินทางมายังเพชรบุรี คนพวกนี้มีทั้งขุนนาง ผู้ทรงอิทธิพลหลายกลุ่ม รวมไปถึงเจ้าเมือง จนพระศรีสิงห์มีกำลังในเพชรบุรีถึงราวๆ ๒๐๐๐๐ คน ส่วนหนึ่งเพราะออกหลวงมงคลเป็นคนเดินทางไปป่าวประกาศด้วยตนเองและออกหลวงมงคลก็เป็นที่เคารพนับถือโดยทั่วไป
คำให้การขุนหลวงหาวัด ซึ่งแม้จะบันทึกจากปากคำของเชลยและห่างไกลจากเหตุการณ์ แต่ก็น่าจะนำมาพิจาราณาด้วยเช่นกัน โดยในคำให้การกล่าวว่าขุนนางในกรุงศรีอยุทธยาเองก็ลอบสนับสนุนพระศรีสิงห์อยู่ เช่นขุนนางในกรมช้าง(ซึ่งตอนนั้นสังกัดอยู่ใต้เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์) ได้แก่พระยาอนันตกะยอถ่าง(เอกสารเรียกนันทะยอแฝง) เจ้ากรมโขลงขวาลอบส่งช้างในโรงไปถวาย หมื่นราช(สิทธิกัน-ปลัดกรมเชือกซ้าย?) นายทรงบาท (หลวง?)เทพโยธาเจ้ากรมตะพุ่น หลวงจ่าแสนบดีเจ้ากรมมหาดไทยฝ่ายภะลำภัง จมื่นราชาบาลปลัดกรมพระตำรวจนอกซ้าย นายพลพันมหาดเล็ก
นอกจากนี้คำให้การยังระบุว่าพระศรีสิงห์ทรงลอบติดต่อกับพระกำแพงซึ่งน่าจะตรงกับออกญากำแพงในเอกสารของฟาน ฟลีตด้วย โดยคำให้การกล่าวว่าพระกำแพงก็เข้ากับพระศรีิสิงห์ด้วย(เรื่องเข้าเป็นพวกนี้จะมีกล่าวในตอนต่อๆไป)
เมื่อมีกำลังพร้อมแล้ว พระศรีสิงห์ได้เอาเพชรบุรีเป็นศูนย์กลางอำนาจของพระองค์และสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ได้จัดระเบียบการปกครองของพระองค์ให้มีตำแหน่งข้าราชการอย่างกรุงศรีอยุทธยา และทรงตั้งออกหลวงมงคล(พระญาติ+ผู้มีความสามารถในการรบ+มีวิชาอาคม)เป็นแม่ทัพใหญ่บัญชาการทหารทั้งหมด ในเวลาสั้นๆพระองค์ก็กรีฑาทัพไปยึดครองหัวเมืองใกล้ๆเพชรบุรีได้ทั้งหมด กำลังของพระองค์จึงยิ่งเพิ่มพูน ผู้คนยิ่งพากันมาเข้ากับพระองค์มากขึ้น
แผนที่เมืองเพชรบุรีและเมืองชายฝั่งทะเลใกล้เคียง ภาพจาก สมุดภาพไตรภูมิกรุงศรีอยุธยา หมายเลข ๖
สงครามปราบกบฏ การตั้งตนเป็นกษัตริย์ของพระศรีสิงห์เป็นการท้าทายศูนย์กลางปกครองที่อยุทธยาโดยตรง นอกจากนี้การเสียหัวเมืองแถบชายฝั่งทะเลให้พระศรีสิงห์ย่อมทำให้เสถียรภาพทางเศษฐกิจของอยุทธยาสั่นคลอน สมเด็จพระเชษฐาธิราชจึงให้จัดทัพไปปราบกบฏ โดยมีกำลัง ๑๕๐๐๐-๒๐๐๐๐ คน ทหารอาสาญี่ปุ่น ๗๐๐-๘๐๐ คน โดยมีออกญากำแพง(Oija Capheijn)ขุนนางแขกมัวร์เป็นแม่ทัพใหญ่(อีกฉบับว่าออกญากลาโหมสุริยวงศ์เป็นแม่ทัพ) และออกญาเสนาภิมุข เจ้ากรมอาสาญี่ปุ่นยกไปด้วย
ฟาน ฟลีตกล่าวว่า สงครามได้เกิดขึ้นในบริเวณเมืองเพชรบุรี แต่เมื่อทหารฝั่งอยุทธยาเห็นฝ่ายตรงข้ามมีความพร้อมในการรบก็กลับกลัวไม่กล้าโจมตีแถมยังไปขอกำลังสนับสุนจากอยุทธยาเพื่มอีก ฝ่ายพระศรีสิงห์ได้ใช้ยุทธวิธีซุ่มโจมตีและใช้กำลังจำนวนน้อยปะทะกำลังน้อย(คงเพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกำลังหลักโดยตรง)ทำให้ฝ่ายอยุทธยาเสียกำลังไปไม่น้อย
เมื่อการณ์เป็นดังนี้ เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ส่งแผนลงมา(หรือถ้าออกญากลาโหมเป็นแม่ทัพก็อาจคิดแผนระหว่างรบกันอยู่)
แผนของเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ แผนนี้ถูกส่งมาให้ออกญาเสนาภิมุข โดยออกญากำแพงแม่ทัพใหญ่รู้แผนล่วงหน้าก่อนแล้ว เนื้อหาของแผนคือให้ออกญาเสนาภิมุขไปติดต่อกับออกหลวงมงคลแม่ทัพใหญ่ฝ่ายกบฏและให้บอกว่าจะนำทหารอาสาญี่ปุ่นมาเข้าด้วย หลังจากเจรจากันหลายครั้งก็ตงลงกันได้ (ถ้าเหตุการณ์ก่อนกบฏเป็นอย่าง Historical account of King Prasat Thong ก็ดูเหลือเชื่อที่พระศรีิสิงห์จะยอมร่วมมือกับออกญาเสนาภิมุข เนื่องจากตอนนั้นทรงถูกญี่ปุ่นผู้นี้หักหลังอย่างเจ็บแสบมาก่อน)
หลังจากนั้นก็วางแผนว่าจะให้นัดวันกันทำการรบแบบหลอกๆโดยไม่ให้มีการฆ่าฟันกัน ปืนไฟไม่ใส่กระสุน จากนั้นออกญาเสนาภิมุขจะทำทีเป็นแพ้และถูกจับเป็นเชลยแล้วก็มาเข้ากับพระศรีสิงห์ ทั้งพระศรีสิงห์กับออกหลวงมงคลก็เชื่อสนิทใจ พอถึงวันที่นัดไว้ทหารอยุทธยากับญี่ปุ่นก็บุกเต็มกำลัง ถล่มกองทัพฝ่ายกบฏจนพินาศ ออกหลวงมงคลผู้ถูกหลอกต้องถอยทัพกลับไป นอกจากนี้ทัพหนุนจากกรุงศรีิอยุทธยาถูกส่งมาเพิ่มอีก ตอนนั้นฝ่ายพระศรีสิงห์เสียกำลังไปมากแล้วไม่เหลือพอจะต้านศัตรูได้อีก พระศรีสิงห์จึงนำกองทัพของพระองค์ถอยหนีไปนครศรีธรรมราช(Ligoor) โดยพระองค์เสด็จไปก่อนพร้อมคนติดตามเล็กน้อย
แต่ออกญากำแพงทราบข่าวจึงรีบตามไปจับ ออกหลวงมงคลพยายามนำทัพต้านแต่สุดท้ายก็พ่ายแพ้ สูญเสียคนสำคัญและทหารจำนวนมาก ออกญากำแพงจับตัวพระศรีสิงห์ได้สำเร็จระหว่างทางไปนครศรีธรรมราช
คำสั่งเสีย พระศรีสิงห์ถูกพาตัวกลับมากรุงศรีอยุทธยาพร้อมกับกบฏอีกจำนวนมาก พวกกบฏตามพงศาวดารกล่าวว่ากบฏชาวเพชรบุรีถูกส่งตัวไปเป็นตะพุ่นหญ้าช้าง ฟาน ฟลีตกล่าวว่ายังมีพวกที่ถูกประหาร ถูกถอดเป็นทาส ถูกยึดทรัพย์จำนวนมาก ส่วนพระศรีสิงห์ถูกตัดสินให้สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ตามประเพณี
ก่อนจะถูกสำเร็จโทษ พระศรีสิงห์ได้ขอเข้าเฝ้าสมเด็จพระเชษฐาธิราชเพื่อกราบทูลคำสั่งเสียซึ่งฟาน ฟลีตเขียนไว้ยืดยาวหนึ่งหน้ากระดาษ ดูเหลือเชื่อที่คนไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์โดยตรงกลับจดไว้ละเอียดขนาดนี้ จึงไม่ค่อยน่าเชื่อนัก โดยเนื้อหาหลักๆคือขอให้พระเชษฐาธิราชเป็นกษัตริย์ที่ดี พร้อมกับคำแนะนำต่างๆ และคำสั่งเสียสุดท้ายของพระศรีสิงห์เป็นเรื่องของเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ โดยมีเนื้อหาแปลเป็นภาษาไทยประมาณว่า
"หากใต้ฝ่าละลองธุลีพระบาทมีพระราชประสงค์จะหลีกซึ่งเคราะห์ที่จะมาถึงแล้วไซร้ ขอให้ทรงระวังออกญากลาโหม มันผู้นี้มีจิตพยาบาทแลสันดานทุรยศแต่เยาว์วัย ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าหลวงในพระบรมโกศพระราชบิดาของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทจึงทรงลงพระอาญามันหลายครา มันผู้นี้จะเล่ห์กระเท่เปลื้องพระมหามงกุฏจากพระเศียร แลนำใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทไปสู่พญามัจจุราช พร้อมทั้งสายพระโลหิตของพระราชบิดาของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททุกพระองค์ เพื่อที่มันจะได้ขึ้นครองราชบัลลังก์รั้งแผ่นดินสืบไป"
คำสั่งเสียทั้งหลายทั้งมวลไม่ได้ทำให้สมเด็จพระเชษฐาธิราชเกิดความรู้สึกใดๆทั้งสิ้น พระองค์มีพระราชโองการให้นำพระศรีสิงห์ พระปิุตุลาของพระองค์ไปสำเร็จโทษ
พระศรีสิงห์ถูกนำตัวไปที่วัดพระเมรุโคกพญา(Wat Pramin Khopraja)หรือวัดโคกพญา ทรงถูกจับใส่ถุงแดง และถูกท่อนจันทน์ทุบที่พระอุระ สิ้นพระชนม์เมื่อมีพระชนม์ได้ ๒๖ พรรษา พระวรกายถูกโยนลงหลุมทิ้งให้เน่าเปื่อยไป
ฟาน ฟลีตกล่าวถึงพระศรีสิงห์ว่า "การสิ้นพระชนม์ของเจ้าชายนำมาสู่ความเศร้าโศกในหมู่ขุนนางและผู้คนจำนวนมากทั้งยากดีมีจน แต่ต้องคร่ำครวญถึงพระองค์อย่างลับๆ พวกเขาต้องระวังไม่ให้ใครเห็นว่าพวกเขาแอบเช็ดน้ำตา เพราะคนที่สนับสนุนพระองค์ล้วนถูกฆ่า ทรัพย์สินถูกยึด ขุนนางและทหารต่างกลายเป็นทาส ทุกอย่างเกิดในเวลาอันสั้น สมัครพรรคพวกของเจ้าชายทั้งหมดถูกทำสูญสิ้นไป"
จิตรกรรมสมัยอยุทธยา วัดสระบัว จังหวัดเพชรบุรี
Create Date : 13 ตุลาคม 2555 |
Last Update : 25 พฤษภาคม 2556 10:15:26 น. |
|
2 comments
|
Counter : 6216 Pageviews. |
|
|
|