สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ๑๒ : ขจัดเสี้ยนหนาม-แผ่นดินใหม่
การสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมนำมาสู่จุดพลิกผันในราชสำนักและเกิดการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์อยุทธยา
บ่ายวันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๑๗๑ ทันทีที่สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมสวรรคต ออกญาศรีวรวงศ์จึงเรียกให้ขุนนางทุกคนมาเข้ามาประชุมในพระราชวังหลวงทันที พอมาถึงแล้วออกญาศรีวรวงศ์จึงประกาศทั้งน้ำตาว่าสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมสวรรคตไปไม่ถึงหนึ่งชั่วโมงก่อน(แต่ก็มีบางคนสงสัยว่าสวรรคตนานแล้วแต่ออกญาศรีวรวงศ์ปิดข่าว) พร้อมทั้งประกาศให้สนองพระราชประสงคของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมโดยให้พระเชษฐาธิราช พระโอรสองค์ใหญ่สืบราชสมบัติต่อ รวมถึงประกาศพระราชโองการของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมที่ให้พระเชษฐาธิราชเป็นผู้สืบสันตติวงศ์ที่ร่างไว้ก่อนสวรรคต
ขุนนางทั้งปวงก็ยอมรับตามนั้น แต่เยเรเมียส ฟาน ฟลีตได้เขียนไว้ว่า "บางคนก็คล้อยตาม ส่วนคนอื่นเป็นเพราะความกลัวผู้สนับสนุน(พระเชษฐา)ที่มีอำนาจและทหารที่เสนาบดี(ออกญาศรีวรวงศ์)นำเข้ามาในพระราชวัง"
สลายขั้วอำนาจพระศรีสิงห์
ขจัดอำนาจขุนนางฝ่ายทหาร ในวันเดียวกันนั้น ขุนนางที่เป็นกลุ่มสนับสนุนพระศรีสิงห์ พระอนุชา กับขุนนางที่ไม่แสดงความเห็นชัดเจนตอนที่สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมทรงถามเรื่องผู้สืบราชสมบัติถูกจับกุมทุกคนทันที แม้ว่าผู้นำกลุ่มที่สนับสนุนพระศรีสิงห์จะเป็นขุนนางฝ่ายกลาโหมซึ่งมีอำนาจทหารในมือ แต่เมื่ออยู่ในพระราชวังซึ่งมีแต่กำลังทหารของออกญาศรีวรวงศ์กับทหารอาสาญี่ปุ่นอยู่ก็ไม่ต่างอะไรกับโดนถอดเขี้ยวเล็บ ทั้งนี้คงเป็นเพราะออกญาศรีวรวงศ์ต้องการจะล้างเสี้ยนหนามทั้งหมดเพื่อให้พระโอรสได้ครองราชย์โดยสะดวก แต่ก็เป็นการนองเลือดมาก
ขุนนางเหล่านั้นถูกจับเข้าคุก โดนริบราชบาตร ทรัพย์สินบ้านเรือนข้าทาสถูกยึดทั้งหมด นอกจากนี้ออกญาศรีวรวงศ์ได้กราบทูลพระเชษฐาธิราชให้ประหารขุนนางคนสำคัญที่สับสนุนพระศรีสิงห์คือ ออกญากลาโหม ออกพระท้ายน้ำ ออกหลวงธรรมไตรโลก ซึ่งล้วนเป็นขุนนางฝ่ายทหารระดับสูงในข้อหาต่อต้านพระเชษฐาธิราช ก็ได้รับอนุมัติตามนั้น
ทั้ง ๓ ถูกนำตัวไปที่ประตูท่าช้าง(Thacham) และถูกประหารชีวิตด้วยการหั่นเป็นสองท่อนกลางตัว จากนั้น หัว มือ เท้า ถูกเสียบประจานกระจายไปตามประตูวังหลายประตู ทรัพย์สินที่ยึดมาได้พระเชษฐาธิราชก็ทรงพระราชทานให้กับคนของพระองค์ อำนาจของพระศรีสิงห์ที่เคยมีฝ่ายกลาโหมหนุนอยู่จึงหมดโดยสิ้นเชิง และภายหลังอำนาจทหารทั้งหมดจึงไปตกอยู่ในมือของออกญาศรีวรวงศ์แทน
ฟาน ฟลีตได้กล่าวถึงขุนนางเหล่านี้ว่า "ขุนนางเหล่านี้ถูกฆ่าโดยไม่มีความผิดแม้แต่น้อย แต่เป็นเพราะความเกลียดชังของศัตรู(ผู้ชักนำยุวกษัตริย์) และเป็นเพราะความโดดเด่นและความร่ำรวยทำให้ไม่ต้องสงสัยว่าความโชคร้ายจึงบังเกิดกับพวกเขา ขุนนางทั้งสามต่างเผชิญหน้ากับความตายด้วยความทรหดอดทนอย่างมาก.."
ขุนนางมุสลิม ภาพจากสมุดภาพจำลองจากวัดยมกรุงเก่า
ขุนนางอื่นๆ ขุนนางอีกสองคนคือออกพระศรีเนาวรัตน์กับออกพระจุฬา ซึ่งเป็นขุนนางมุสลิมที่สนับสนุนพระศรีสิงห์ก็โดนมัดมือไล่หลังนำตัวไปประหารที่ประตูท่าช้างเช่นเดียวกัน แต่ออกญาเสนาภิมุข(ยามาดะ นิซาเอมอง นางามาสะ) เจ้ากรมอาสาญี่ปุ่น ซึ่งเป็นฝ่ายสนับสนุนพระเชษฐาธิราชกลับเอาตัวไปขวางไว้ก่อนทั้งสองจะโดนประหารชีวิต ทั้งนี้ไม่ทราบเหตุผลแต่อาจเป็นเพราะเหตุผลส่วนตัว
ออกญาเสนาภิมุขได้ส่งคนไปหาออกญาศรีวรวงศ์ขอให้ยกโทษให้ขุนนางทั้งสอง ออกญาศรีวรวงศ์ก็ยอมตามคำขอ นอกจากนี้บรรดาพระภิกษุต่างขอบิณฑบาตชีวิตขุนนางอื่นๆที่ต้องโทษด้วย ขุนนางเหล่านั้นจึงรอดชีวิตทั้งหมด แต่ว่าถูกถอดจากบรรดาศักดิ์ ยึดทรัพย์และถูกขังคุก ในภายหลังบางคนก็ถูกประหารชีวิตหรือเนรเทศ ภายหลังสมเด็จพระเชษฐาธิราชทรงสงสารจึงทรงปล่อยออกจากคุก
ในเวลาเพียง ๑ วัน(จริงๆอาจมากกว่า) ออกญาศรีวรวงศ์สามารถขจัดขุนนางที่สนับสนุนพระศรีสิงห์ได้ทั้งหมด พระศรีสิงห์หมดฐานอำนาจในราชสำนักโดยสิ้นเชิง
แผ่นดินใหม่
ภาพจากสมุดภาพไตรภูมิกรุงศรีอยุธยา หมายเลข ๖
ในวันรุ่งขึ้นพระเชษฐาธิราชกุมาร พระชนมายุ ๑๕ พรรษา ขึ้นราชาภิเษกเสวยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุทธยา ทรงพระนามว่า 'สมเด็จพระเชษฐาธิราช' หรือฟาน ฟลีตเรียกว่า พระองค์เชษฐราชา(Prae Ongh Tsit Terrae Tsiae) มีการถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาในวันนั้น หลังจากนั้นก็มีการปลดปล่อยนักโทษรวมไปถึงขุนนางที่ถูกจำคุกหรือถูกเนรเทศตั้งแต่สมัยพระบิดาออกจากคุกตามประเพณีเป็นการแสดงถึงความเมตตาเป็นการเฉลิมพระเกียรติ์ในการครองราชย์
แผ่นดินใหม่นี้ก็เป็นแผ่นดินที่พระเจ้าปราสาททองในอนาคตจะเถลิงอำนาจจนกลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลสูงสุดในกรุงศรีอยุทธยา
Create Date : 06 ตุลาคม 2555 |
Last Update : 25 พฤษภาคม 2556 10:10:51 น. |
|
3 comments
|
Counter : 4994 Pageviews. |
|
|
|
คงไม่ลึกซึ้งมากขนาดจะเก็บไว้เป็นพวก
เพราะในยามนั้นอำนาจออกญาเสนาภิมุขน่าจะมั่นคงในระดับสูงมาก
นึกถึงคราวพระเพททราชา ท่านไล่เก็บชาวต่างชาติแทน