|
กลยุทธ์การเลือกคบคน(ตอนที่ 2) นาย ลูกน้อง คู่ค้า

ตอนที่แล้วกล่าวเรื่องการคบเพื่อนกับการเลือกคู่ครองซึ่งค่อนข้างเกี่ยวโยงไปทางชีวิตส่วนตัวมากหน่อย มาคราวนี้ที่เหลือจะออกไปทางชีวิตการงานมากขึ้นครับ สมัยก่อนตอนที่ผมยังไม่สันทัดในการอ่านคน หรืออ่านคนไม่ลึกซึ้ง รวมทั้งยังขาดแนวคิดแบบกลยุทธ์เป็นประเด็นร่วม การคบคนก็สะเปะสะปะ อาศัยเพียงความถูกคอถูกอัธยาศัยกันเท่านั้น และผมเชื่อว่าหลายคนก็ยังเป็นแบบนี้อยู่
แต่มาวันนี้ประสบการณ์มากขึ้น บวกกับการคิดแบบกลยุทธ์และการศึกษาคนที่ประสบความสำเร็จ ก็จะเห็นได้ว่า การได้คบคนที่ดี ที่ถูกนั้นเป็น Key Success ตัวหนึ่ง ของความสำเร็จของเขาเหล่านั้นทีเดียว หลายคนได้สามี-ภรรยา สนับสนุน หลายคนได้เพื่อนและสังคมที่ดี และหลายคนความสำเร็จเกิดจากการได้นายที่ดีเพียงคนเดียวเท่านั้น มีประวัติของผู้ประสบความสำเร็จบางคนที่อาจมีแววในตัวเองอยู่เป็นเบื้องต้น และได้มีโอกาสมีนายดีตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของชีวิต คนเหล่านี้จึงได้รับการถ่ายทอดทั้งความรู้ ความคิดดีๆ ทุกอย่างมาในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งหากบุคคลเหล่านี้ไม่ได้พบอาจารย์ดี หรือนายดี เขาเหล่านี้อาจต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ด้วยตัวเองอีกมาก และต้องใช้พลังของตัวเองทั้งหมด แทนที่จะได้รับการสนับสนุนจากผู้ที่มีศักยภาพเหนือกว่า ซึ่งทำให้อะไรๆ ง่ายขึ้น
ปัจจุบันนี้ แม้ผมจะไม่มีนาย เพราะเป็นนายของตัวเองในงานธุรกิจ แต่ก็ยังแสวงหาการคบกับ ผู้ใหญ่ ที่เก่งกว่า มีประสบการณ์มากกว่า เพื่อเป็นอาจารย์หรือผู้นำในชีวิตอยู่เสมอ ท่านเหล่านี้ช่วยให้ผมก้าวหน้าได้เร็วมากในช่วงที่ผ่านมา แต่ผมก็ยังพยายามพัฒนาการอ่าน(คน) และ เลือก(คน) ให้ดีขึ้นอยู่เสมอ ซึ่งผมก็ได้นำเอาแนวคิดเหล่านี้มาถ่ายทอดให้ท่านผู้อ่านได้ลองนำไปปรับใช้กันบ้างครับ

การเลือกนาย
ในชีวิตจริงนั้น การจะได้เจอนายที่ดีแบบสมบูรณ์แบบนั้นเป็นโอกาสที่ยากมาก ตามหลักทั่วไป คนเก่งย่อมมีน้อย ฉะนั้นข้อแนะนำในการเลือกนายก็คงไม่ได้สนับสนุนให้เลือกมาก จนกลายเป็น กบเลือกนาย ที่สุดท้ายก็ได้นายแย่ๆ แต่การไม่รู้จักเลือกเลยนั้น ก็เป็นอุปสรรคขัดขวางความก้าวหน้าในชีวิตได้เหมือนกัน ฉะนั้นการรู้จักเลือกนายจะช่วยได้มาก เมื่อเราเติบโตทางศักยภาพของเราเองแล้ว อาจค่อยเปลี่ยนงาน เปลี่ยนนายที่ดีขึ้น เก่งขึ้น เพื่อปรับศักยภาพของเราขึ้นไปอีกที
ในมิติของการเลือกนายนั้น เราก็ต้องมาถามกันก่อนว่า นอกจากการมองนายในฐานะผู้บังคับบัญชาที่เราต้องทำงานให้(เพื่อแลกกับเงินเดือนแล้ว) เรายังต้องการอะไรจากนาย ในฐานะผู้ที่จะให้ประโยชน์แก่เราได้ เท่าที่เราแสวงหา ซึ่งคำตอบก็น่าจะมี 3 สิ่งที่เราจะได้จากนายดังนี้ คือ 1.ความรู้-ความสามารถ 2.เครดิตการทำงาน 3.การผลักดันสนับสนุน
เหล่านี้จึงสามารถแปรออกมาเป็นรูปแบบของนายที่เราจะต้องมองให้ออกและเลือกก็คือ
1.นายเก่งและมีความสามารถ เพื่อที่เราจะได้สามารถเรียนรู้และพัฒนาทั้งทักษะในการทำงาน ความคิด และการแก้ปัญหาได้
2.นายชอบสอน ข้อนี้ยังเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสามารถอยู่ แต่เป็นตัวช่วยเพิ่มขึ้น เพราะบางครั้งได้นายบางคนเก่งก็จริง แต่นายไม่ชอบสอน หรือแม้กระทั่งหวงวิชาความรู้ แบบนี้ก็เป็นอุปสรรค และเราก็ต้องหาทางเรียนรู้จากเขาด้วยตัวเอง ซึ่งจะต่างกับการมีนายที่เก่งและชอบสอนด้วย แบบนี้เราก็จะพัฒนาได้เร็ว
3.นายให้โอกาส การให้โอกาสแสดงความสามารถนั้นเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง ที่จะเพิ่มทั้งความมั่นใจและทักษะในการปฏิบัติงานจริงให้แก่เรา รวมทั้งทักษะในการนำด้วย อีกทั้งยังได้เครดิตในฐานะ ผลงาน ที่เราจะอ้างอิงได้มาเป็นของแถม นายที่ไม่เปิดโอกาสให้ลูกน้องได้ทำงาน เพราะกลัวลูกน้องจะได้หน้า ลูกน้องจะเด่นกว่า ก็จะเป็นอุปสรรคอย่างยิ่ง
4.นายสนับสนุน ใครได้นายมาถึงขั้นที่ 4 นี้ ถือว่าได้พบสุดยอดของนาย เพราะถ้าเขาสามารถให้การสนับสนุนให้เราไปเติบโตยิ่งขึ้นได้ แสดงว่าเขาต้องให้ทั้งหมดของข้อที่ผ่านมาก่อนแล้ว และนายประเภทนี้เป็นนายประเภทที่ดีจริง ให้หมดและปรารถนาดีต่อเราจริงๆ ซึ่งหายากมาก แต่ถ้าได้พบก็ถือเป็นโชคดีมหาศาลครับ
* แต่ข้อควรระวังของการเลือกนายประการหนึ่งก็คือ ต้องระวังเรื่องสิ่งไม่ดีไม่ควร เช่น เรื่องทุจริต หรือการเมืองที่มากเกินไป บางครั้งนายเก่ง นายดีต่อเรา แต่การคบนายแบบนี้สุดท้ายอาจจะทำให้เราต้องเข้าไปพัวพันกับวงจรไม่พึงประสงค์และมีผลร้ายกลับมายังเราได้ครับ

การเลือกลูกน้อง
การเลือกลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชานั้น อันดับแรกผมให้ความสำคัญกับ ความรับผิดชอบ มาก่อนอันดับหนึ่ง และความสามารถมาอันดับสอง การทำงานกับคนเก่งที่ขาดความรับผิดชอบนั้น น่าหนักใจยิ่งกว่าการทำงานกับคนที่ทุ่มเทรับผิดชอบแต่ความสามารถไม่พอ
การเลือกลูกน้องนั้น คือ การเลือกผู้ร่วมงาน ดีลกันด้วยงาน ฉะนั้นเขาจะต้องมีแรงจูงใจอยู่ในกลุ่ม Success Centered เป็นหลัก(ดูกลยุทธ์การอ่านคนข้อที่ 1 แรงจูงใจ) และถ้าเป็น Work Centered จะยิ่งดีมาก เพราะแรงจูงใจของเขาคือ การได้ทำและแสดงผลงาน เรื่องอื่นจะเป็นเรื่องรอง แต่ถ้าเป็นคนมี Success Centered ในกลุ่มอื่น เช่น Money Power หรือ Reputation ก็ต้องมีสิ่งเหล่านั้นมาตอบสนองให้ได้ พวกเขาจึงจะมีแรงจูงใจในการทำงาน
การได้ลูกน้องดีนั้น จะช่วยให้ผลงานของนายบังเกิดด้วย แต่การจะปกครองคนดีคนเก่งนั้น แน่นอนว่าย่อมยากกว่าปกครองคนไม่เก่ง ฉะนั้นคนเป็นนายพึงหมั่นพัฒนาทักษะในการเป็นนายที่ดีด้วย อย่าลืมว่า ในขณะที่เราเลือกเขา เขาก็เลือกเราด้วยเหมือนกัน

สุดท้าย การเลือกคู่ค้า
หลายคนทำธุรกิจโดยไม่ค่อยเลือกคู่ค้า ไม่ว่าจะเป็นซัพพลายเออร์หรือลูกค้า ซึ่งมักทำให้เกิดปัญหาตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทที่เพิ่งเริ่มหรือบริษัทเล็กๆ มักจะมีโอกาสเลือกน้อย หลายครั้งจึงได้คู่ค้าที่ไม่มีคุณภาพและหลุดรอดมาจากบริษัทใหญ่ๆ ซึ่งเราจะต้องรู้จักสกรีนให้หนักขึ้น เพื่อป้องกันความผิดพลาด ซัพพลายเออร์บางคนขาดความรับผิดชอบ ต้องตามแก้ไขปัญหาตลอด แบบนี้ควรตัดทิ้งไปโดยเร็ว(เพราะเราอยู่ในฐานะผู้เลือกมากกว่า) แต่หากเป็นการดีลกับลูกค้า ซึ่งเราอาจต้องการยอดขาย แต่ก็ควรรู้จักเลือกเช่นกัน การเลือกลูกค้าผิด โดยเฉพาะยอดขายสูงๆ นั้นอาจนำมาซึ่งหายนะได้ ปัจจุบันนี้ ลูกค้าของผม จะไม่เลือกที่เป็นรายใหญ่หรือไม่(ภายนอก) แต่จะดูที่ประสิทธิภาพในการดีลงานกันยุ่งยากเกินไปหรือไม่เมื่อเทียบกับรายได้ และระบบการชำระเงินเป็นอย่างไร
การรู้จักเลือกเหล่านี้ ทำให้ปัญหาที่ผมเคยพบเมื่อสมัยก่อนลดน้อยลงไปมาก ฉะนั้น เมื่อรวมประสบการณ์ทั้งหลายเข้าด้วยกันแล้ว การรู้จักอ่านคนให้ละเอียด และการรู้จักเลือกคบคนนั้น จะช่วยขจัดปัญหาออกไป และเพิ่มโอกาสเข้ามาแทน แต่แน่นอนครับ การจะทำให้ได้ดีจริงๆ ทุกอย่างต้องมีประสบการณ์ร่วมด้วย ประสบการณ์มากจะทำให้เราทำได้ดีขึ้น ลองนำไปปรับใช้ดูนะครับ ขอให้คุณทุกคนโชคดีครับ
Create Date : 09 เมษายน 2551 |
Last Update : 16 กรกฎาคม 2552 17:42:02 น. |
|
2 comments
|
Counter : 5234 Pageviews. |
 |
|
|
โดย: n IP: 115.67.226.229 วันที่: 22 ธันวาคม 2552 เวลา:22:31:13 น. |
|
|
|
โดย: พงษ์สวัสดิ์ คัณทักษ์ IP: 49.49.176.172 วันที่: 26 พฤษภาคม 2555 เวลา:19:25:44 น. |
|
|
|
| |
|
|
Location :
[Profile ทั้งหมด]
|
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 12 คน [?]

ผู้ติดตามบล็อก : 12 คน [?]

|
จากทักษะของการเป็นนักคิด นักวิเคราะห์ บวกกับความสนใจใน"กระบวนการ"และ"ปัจจัย"ที่ก่อให้เกิดเป็นความสำเร็จ ที่ทำให้ผมศึกษาและวิเคราะห์กรณีศึกษาเกี่ยวกับความสำเร็จและความล้มเหลวจำนวนมาก จนเชี่ยวชาญในองค์ความรู้พอที่จะขอเรียกตัวเองว่า "ผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์แห่งความสำเร็จ"
|
|
|
|
|
|
|