27.8 พระสูตรหลักถัดไป คือภัทเทกรัตตสูตร [พระสูตรที่ 31]
การสนทนาธรรมนี้ต่อเนื่องมาจาก
27.7 พระสูตรหลักถัดไป คือภัทเทกรัตตสูตร [พระสูตรที่ 31]

ความคิดเห็นที่ 6-84
ฐานาฐานะ, 7 มีนาคม เวลา 20:36 น.

GravityOfLove, 20 วินาทีที่แล้ว
แม้ความรู้สึกทางกุศลธรรม เช่น ปิติ สุข อุเบกขาที่เกิดขึ้น ก็ไม่พึงยึดติด
8:30 PM 3/7/2014

             ตอบคำถามได้ดีครับ
             เป็นการคลายความยินดีด้วยอำนาจตัณหาราคะ เป็นลักษณะตัดสินพระธรรมวินัย.
             สังขิตตสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=23&A=5908&Z=5933

             คำว่า ลักษณะตัดสินพระธรรมวินัย [บางส่วน]
             1. วิราคะ คือ ความคลายกำหนัด, ความไม่ติดพัน เป็นอิสระ
(detachment; dispassionateness) มิใช่เพื่อความกำหนัดย้อมใจ,
การเสริมความติด
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ลักษณะตัดสินธรรมวินัย

ความคิดเห็นที่ 6-85
ฐานาฐานะ, 7 มีนาคม เวลา 20:39 น.

             เป็นอันว่า พระสูตรชื่อว่า อุทเทสวิภังคสูตร จบบริบูรณ์.
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=8267&Z=8510

              พระสูตรหลักถัดไป คือ  อรณวิภังคสูตร [พระสูตรที่ 39].
              พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖
              อรณวิภังคสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=8511&Z=8747
              ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=653

ความคิดเห็นที่ 6-86
GravityOfLove, 7 มีนาคม เวลา 21:00 น.

ขอบพระคุณค่ะ
---------------
             คำถามอรณวิภังคสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=8511&Z=8747

             กรุณาอธิบายค่ะ
             ๑. (พึงประกอบเนืองๆ ซึ่ง) ความสุขภายใน หมายถึง
ความสุขจากรูปฌาน ๔ ใช่ไหมคะ
             ๒. ภิกษุพูดปรักปรำโดยประการที่ชนทั้งหลายหมายรู้เรื่องภาชนะนั้นกันดังนี้
ในชนบทนั้นๆ ตามกำลังและความแน่ใจว่า นี้เท่านั้นจริง อื่นเปล่า อย่างนี้แล ชื่อว่า
เป็นการปรักปรำภาษาชนบท และเป็นการล่วงเลยคำพูดสามัญ
             ภิกษุพูดโดยประการที่ชนทั้งหลายหมายรู้เรื่องภาชนะกันดังนี้ ในชนบทนั้นๆ
อย่างไม่ใช่ความแน่ใจว่า เป็นอันท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พูดแก่ข้าพเจ้าหมายถึงภาชนะนี้
             แปลว่าอะไรคะ
             ๓. คำล่วงเกินต่อหน้าใด จริง แท้ ประกอบด้วยประโยชน์ ในเรื่องนั้น
พึงเป็นผู้รู้จักกาลเพื่อจะกล่าวคำล่วงเกินต่อหน้านั้น
             กรุณายกตัวอย่างค่ะ
             ๔. กิเลสต้องรณรงค์, ไม่มีกิเลสต้องรณรงค์ แปลว่าอะไรคะ
             ๕. ได้ยินว่า พระธรรมเสนาบดียังวัตถุให้บริสุทธิ์ สุภูติเถระยังทักขิณาให้บริสุทธิ์.
             ขอบพระคุณค่ะ

ความคิดเห็นที่ 6-87
ฐานาฐานะ, 9 มีนาคม เวลา 02:43 น.

GravityOfLove, 37 นาทีที่แล้ว
ขอบพระคุณค่ะ
---------------
             คำถามอรณวิภังคสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=8511&Z=8747

             กรุณาอธิบายค่ะ
             ๑. (พึงประกอบเนืองๆ ซึ่ง) ความสุขภายใน หมายถึง
ความสุขจากรูปฌาน ๔ ใช่ไหมคะ
ตอบว่า ใช่ครับ ตามเนื้อความข้อ 659.

             ๒. ภิกษุพูดปรักปรำโดยประการที่ชนทั้งหลายหมายรู้เรื่องภาชนะนั้นกันดังนี้
ในชนบทนั้นๆ ตามกำลังและความแน่ใจว่า นี้เท่านั้นจริง อื่นเปล่า อย่างนี้แล ชื่อว่า
เป็นการปรักปรำภาษาชนบท และเป็นการล่วงเลยคำพูดสามัญ
             ภิกษุพูดโดยประการที่ชนทั้งหลายหมายรู้เรื่องภาชนะกันดังนี้ ในชนบทนั้นๆ
อย่างไม่ใช่ความแน่ใจว่า เป็นอันท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พูดแก่ข้าพเจ้าหมายถึงภาชนะนี้
             แปลว่าอะไรคะ
ตอบว่า น่าจะเป็นการให้รู้จักยืดหยุ่นทางภาษา
             กล่าวคือ ภาษามีประโยชน์ในการสื่อความ เมื่อในที่ต่างๆ เรียกสิ่งของต่างกัน
ก็ไม่ใช่ว่า จะไปตำหนิคนอื่นที่เรียกไม่เหมือนกับเรา กล่าวคือ สื่อถึงสิ่งนั้นได้ ก็เป็นอัน
ได้ประโยชน์จากภาษาแล้ว.
             เช่นสมมติว่า ภิกษุเรียกบาตร ชาวบ้านถิ่นนั้นเรียกปาตีเป็นต้น
             ภิกษุก็ไม่พึงกล่าวตำหนิว่า พวกท่านเรียกปาตี ใช้ไม่ได้เลย ฯ
             แต่ควรให้ชัดว่า บาตรนั้น ชาวบ้านเรียกว่าปาตี ด้วยการชี้ไปที่บาตร
แล้วถามว่า ที่นี้เรียกว่าปาตี ใช่ไหม? เป็นต้น.

             ๓. คำล่วงเกินต่อหน้าใด จริง แท้ ประกอบด้วยประโยชน์ ในเรื่องนั้น
พึงเป็นผู้รู้จักกาลเพื่อจะกล่าวคำล่วงเกินต่อหน้านั้น
             กรุณายกตัวอย่างค่ะ
             ตัวอย่างเช่น พระภิกษุรูปหนึ่งต้องอาบัติร้ายแรงจริงๆ เมื่อมีการไต่สวน
ถ้าพระภิกษุอีกรูปหนึ่งรู้เหตุการณ์นั้นเป็นต้น ก็ควรยืนยันไปตามจริง
เพราะเป็นกาลที่ควรกล่าวแล้วเป็นต้น.

             ๔. กิเลสต้องรณรงค์, ไม่มีกิเลสต้องรณรงค์ แปลว่าอะไรคะ
             สันนิษฐานว่า
             คำว่า รณรงค์ น่าจะมาจากคำว่า รณ.
             คำว่า รณ แปลว่า รบ
             กิเลสเป็นสิ่งที่ละ หรือนัยว่า รบเพื่อชนะให้ได้ คือให้กิเลสราบคาบหมดไปให้ได้.
             กิเลสต้องรณรงค์, ไม่มีกิเลสต้องรณรงค์
             จึงน่าจะแปลว่า กิเลสที่ต้องละ (รณรงค์เพื่อละให้ได้), ไม่มีกิเลสที่ต้องละ.

             อรรถกถาสูตรที่ ๓ ประวัติพระสุภูติเถระ [บางส่วน]
             จริงอยู่ กิเลสทั้งหลายมีราคะเป็นต้น ท่านเรียกว่ารณะ.
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=20.0&i=147&p=2

             รณ, รณ– [รน, รนนะ–] น. เสียง, เสียงดัง; สงคราม. ก. รบ, รบศึก. (ป., ส.).
             อรณ [อะระนะ] ก. ไม่รบ. (ป., ส.).
             รณรงค์ น. การรบ; สนามรบ. ก. ต่อสู้, โฆษณาชักชวนอย่างต่อเนื่อง
โดยมีเจตนาที่จะต่อสู้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่ต้องการ เช่น รณรงค์
หาเสียงในการเลือกตั้งรณรงค์ให้คนไทยใช้ของไทย. (ส.).
//rirs3.royin.go.th/dictionary.asp

             ๕. ได้ยินว่า พระธรรมเสนาบดียังวัตถุให้บริสุทธิ์ สุภูติเถระยังทักขิณาให้บริสุทธิ์.
             ขอบพระคุณค่ะ
             ตอบว่า ข้อนี้ไม่เข้าใจครับ
             แต่สันนิษฐานว่า มาจากการที่ท่านพระสุภูติเถระ เป็นเลิศด้านผู้เป็นทักขิไณยบุคคล
ส่วนท่านพระสารีบุตรเป็นเลิศด้านปัญญา จึงมีประโยคนี้ขึ้นมา แต่ก็ไม่เข้าใจความหมายแท้จริง.
             เอตทัคคบาลี
//84000.org/tipitaka/read/?20/146-152

             ส่วนเนื้อความว่า
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แหละกุลบุตรสุภูติ ปฏิบัติปฏิปทาไม่มีกิเลสต้องรณรงค์แล้ว ฯ
             น่าจะเป็นเพราะ 2 ส่วน คือ
             1. ท่านพระสุภูติเถระ เป็นพระอรหันต์ เป็นอันไม่มีกิเลสใดๆ เลย
             2. ท่านพระสุภูติเถระ แสดงธรรมโดยไม่กล่าวเจาะจงใครๆ แสดงแต่ธรรมเท่านั้น
หรือชื่อว่าแสดงแต่ธรรมเท่านั้น ในข้อ 658 กล่าวคือ ไม่ยกยอใครๆ ไม่ตำหนิใครๆ
จึงเป็นผู้ที่ปฏิบัติปฏิปทาไม่มีกิเลสต้องรณรงค์แล้ว ฯ
             พระสุภูติ เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเราผู้มีปรกติอยู่ด้วยความไม่มีกิเลส ฯ
//84000.org/tipitaka/read/?20/147

             หรือน่าจะขยายความได้ว่า มีปกติอยู่โดยไม่กระทบกระทั่งกับใครๆ เลย
คือไม่มีกิเลสในภายใน เพราะเป็นพระอรหันต์ และไม่มีใครๆ จะกระทบกระทั่งได้
เพราะแสดงแต่ธรรมเท่านั้น.

             อรรถกถาสูตรที่ ๓ ประวัติพระสุภูติเถระ [บางส่วน]
             จริงอยู่ พระขีณาสพแม้เหล่าอื่น ก็ชื่อว่า อรณวิหารี ก็จริง ถึงอย่างนั้น
พระเถระก็ได้ชื่ออย่างนั้นด้วยพระธรรมเทศนา. ภิกษุเหล่าอื่น เมื่อแสดงธรรมย่อมกระทำ
เจาะจงกล่าวคุณบ้าง โทษบ้าง.
             ส่วนพระเถระเมื่อแสดงธรรมก็แสดงไม่ออกจากข้อกำหนดที่พระศาสดา
แสดงแล้ว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้มีปกติอยู่โดยหากิเลสมิได้.
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=20.0&i=147&p=2

ความคิดเห็นที่ 6-88
GravityOfLove, 9 มีนาคม เวลา 20:54 น.

เข้าใจแล้วค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

ความคิดเห็นที่ 6-89
GravityOfLove, 9 มีนาคม เวลา 21:18 น.

             พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖
             มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ วิภังควรรค
             ๓๙. อรณวิภังคสูตร ว่าด้วยการจำแนกธรรมที่ไม่มีกิเลส
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=14&A=8511&Z=8747&bgc=whitesmoke&pagebreak=0

             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี
             สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสแสดงอรณวิภังค์แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้ว่า
             ๑. ไม่พึงประกอบเนืองๆ ซึ่งสุขอาศัยกาม อันเลว เป็นของชาวบ้าน
เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
             และไม่พึงประกอบเนืองๆ ซึ่งความเพียรเครื่องประกอบตนให้ลำบาก
อันเป็นทุกข์ ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
             ความปฏิบัติปานกลาง ไม่เข้าใกล้ที่สุด ๒ อย่างนี้นั้น อันตถาคตรู้พร้อม
ด้วยปัญญายิ่งแล้ว เป็นข้อปฏิบัติทำให้มีจักษุ ทำให้มีญาณ เป็นไปเพื่อความเข้าไปสงบ
เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
             ๒. พึงรู้จักการยกยอและการตำหนิ ครั้นรู้แล้ว ไม่พึงยกยอ ไม่พึงตำหนิ
พึงแสดงแต่ธรรมเท่านั้น
             ๓. พึงรู้ตัดสินความสุข ครั้นรู้แล้ว พึงประกอบเนืองๆ ซึ่งความสุขภายใน
(ความสุขจากรูปฌาน ๔)
             ๔. ไม่พึงกล่าววาทะลับหลัง ไม่พึงกล่าวคำล่วงเกินต่อหน้า
             ๕. พึงเป็นผู้ไม่รีบด่วนพูด อย่าพูดรีบด่วน
             ๖. ไม่พึงปรักปรำภาษาชนบท ไม่พึงล่วงเลยคำพูดสามัญเสีย

             ๑. กามสุข การทรมานตน ทางสายกลาง
             ๑.๑ ความประกอบเนืองๆ ซึ่งโสมนัสของคนที่มีความสุขโดยสืบต่อกาม
อันเลว ฯลฯ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นธรรมมีทุกข์ มีความคับใจ มีความแค้นใจ
มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติผิด
             ๑.๒ การไม่ตามประกอบ ความประกอบเนืองๆ ซึ่งโสมนัสของคนที่มีความสุข
โดยสืบต่อกาม อันเลว ฯลฯ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นธรรมไม่มีทุกข์
ไม่มีความคับใจ ไม่มีความแค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติชอบ
             ๑.๓ ความเพียรเครื่องประกอบตนให้ลำบาก อันเป็นทุกข์ ฯลฯ
ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นธรรมมีทุกข์ ฯลฯ เป็นความปฏิบัติผิด
             ๑.๔ การไม่ตามประกอบความเพียรเครื่องประกอบตนให้ลำบาก อันเป็นทุกข์
ฯลฯ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นธรรมไม่มีทุกข์ ฯลฯ เป็นความปฏิบัติชอบ
             ๑.๕ ความปฏิบัติปานกลาง ไม่เข้าใกล้ที่สุด ๒ อย่างนี้นั้น คือมรรคมีองค์ ๘
ได้แก่ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ วาจาชอบ การงานชอบ การเลี้ยงชีพชอบ
ความพยายามชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจชอบ
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=อันตา_2
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=มรรคมีองค์_8

             ๒. การยกยอ การตำหนิ ไม่เป็นการแสดงธรรมแท้ คือ
             ๒.๑ เมื่อกล่าวว่า ชนเหล่าใดตามประกอบความประกอบเนืองๆ ซึ่งโสมนัส
ของคนที่มีความสุขโดยสืบต่อกาม อันเลว ฯลฯ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
ชนเหล่านั้นทั้งหมดมีทุกข์ ฯลฯ เป็นผู้ปฏิบัติผิด ดังนี้ ชื่อว่าตำหนิชนพวกหนึ่ง
             ๒.๒ เมื่อกล่าวว่า ชนเหล่าใดไม่ตามประกอบความประกอบเนืองๆ ซึ่งโสมนัส
ของคนที่มีความสุขโดยสืบต่อกาม อันเลว ฯลฯ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
ชนเหล่านั้นทั้งหมด ไม่มีทุกข์ ฯลฯ เป็นผู้ปฏิบัติชอบ ดังนี้ ชื่อว่ายกยอชนพวกหนึ่ง
             ๒.๓ เมื่อกล่าวว่า ชนเหล่าใดประกอบเนืองๆ ซึ่งความเพียรเครื่องประกอบตน
ให้ลำบาก อันเป็นทุกข์ ฯลฯ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ชนเหล่านั้นทั้งหมดมีทุกข์
ฯลฯ เป็นผู้ปฏิบัติผิด ดังนี้ชื่อว่าตำหนิชนพวกหนึ่ง
             ๒.๔ เมื่อกล่าวว่า ชนเหล่าใดไม่ตามประกอบความเพียรเครื่องประกอบตน
ให้ลำบาก อันเป็นทุกข์ ฯลฯ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ชนเหล่านั้นทั้งหมด ไม่มีทุกข์
ฯลฯ เป็นผู้ปฏิบัติชอบ ดังนี้ ชื่อว่ายกยอชนพวกหนึ่ง
             ๒.๕ เมื่อกล่าวว่า ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งยังละสัญโญชน์ในภพไม่ได้แล้ว
ชนเหล่านั้นทั้งหมด มีทุกข์ ฯลฯ เป็นผู้ปฏิบัติผิด ดังนี้ ชื่อว่าตำหนิชนพวกหนึ่ง
             ๒.๖ เมื่อกล่าวว่า ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งละสัญโญชน์ในภพได้แล้ว
ชนเหล่านั้นทั้งหมด ไม่มีทุกข์ ฯลฯ เป็นผู้ปฏิบัติชอบ ดังนี้ ชื่อว่ายกยอชนพวกหนึ่ง

ไม่ยกยอ ไม่ตำหนิ เป็นการแสดงธรรมแท้ คือ
             - ไม่กล่าว (ตำหนิ) อย่างข้อ ๒.๑, ๒.๓ แต่ให้กล่าวว่า
             อันความตามประกอบนี้แล เป็นธรรม มีทุกข์ มีความคับใจ มีความแค้นใจ
มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติผิด ดังนี้ ชื่อว่าแสดงแต่ธรรมเท่านั้น
             - ไม่กล่าว (ยกยอ) อย่างข้อ ๒.๒, ๒.๔ แต่ให้กล่าวว่า
             อันความตามประกอบนี้แล เป็นธรรม ไม่มีทุกข์ ไม่มีความคับใจ ไม่มีความแค้นใจ
ไม่มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติชอบ ดังนี้ ชื่อว่า แสดงแต่ธรรมเท่านั้น
             - ไม่กล่าว (ตำหนิ) อย่างข้อ ๒.๕ แต่ให้กล่าวว่า
             เมื่อยังละสัญโญชน์ในภพไม่ได้แล้วแล ภพย่อมเป็นอันละไม่ได้
             - ไม่กล่าว (ยกยอ) อย่างข้อ ๒.๖ แต่ให้กล่าวว่า
             ก็เมื่อละสัญโญชน์ในภพได้แล้วแล ภพย่อมเป็นอันละได้

             ๓. สุขจากกามคุณ สุขจากเนกขัมมะ
             สุขโสมนัสที่อาศัยกามคุณ ๕ เรียกว่าสุขอาศัยกาม สุขของปุถุชน
สุขในที่ลับ ไม่ใช่สุขของพระอริยะ ไม่พึงเสพ ไม่พึงให้เจริญ พึงกลัวสุขนี้
             สุขโสมนัสที่เกิดจากรูปฌาน ๔ เรียกว่า สุขอาศัยเนกขัมมะ
สุขเกิดแต่ความสงัด สุขเกิดแต่ความสงบ สุขเกิดแต่ความตรัสรู้
พึงเสพให้มาก พึงให้เจริญ ไม่พึงกลัวสุขนี้
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=กามคุณ_5
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ฌาน_4

             ๔. วาทะลับหลัง วาทะล่วงเกินต่อหน้า
             - พึงรู้วาทะลับหลังใด ไม่เป็นจริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
ไม่พึงกล่าววาทะลับหลังนั้นเป็นอันขาด
             แม้รู้วาทะลับหลังใดจริง แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
ก็พึงสำเหนียกเพื่อจะไม่กล่าววาทะลับหลังนั้น
             และรู้วาทะลับหลังใดจริง แท้ ประกอบด้วยประโยชน์
ในเรื่องนั้น พึงเป็นผู้รู้จักกาลเพื่อจะกล่าววาทะลับหลังนั้น

             - พึงรู้คำล่วงเกินต่อหน้าใด ไม่เป็นจริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
ไม่พึงกล่าวคำล่วงเกินต่อหน้านั้นเป็นอันขาด
             แม้รู้คำล่วงเกินต่อหน้าใด จริง แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
ก็พึงสำเหนียกเพื่อจะไม่กล่าวคำล่วงเกินต่อหน้านั้น
             และรู้คำล่วงเกินต่อหน้าใด จริง แท้ ประกอบด้วยประโยชน์
ในเรื่องนั้น พึงเป็นผู้รู้จักกาลเพื่อจะกล่าวคำล่วงเกินต่อหน้านั้น

             ๕. การพูด
             เมื่อรีบด่วนพูด กายก็ลำบาก จิตก็แกว่ง เสียงก็พร่า คอก็เครือ
แม้คำพูดของผู้ที่รีบด่วนพูด ก็ไม่สละสลวย ไม่พึงรู้ชัดได้
             เมื่อไม่รีบด่วนพูด กายไม่ลำบาก จิตก็ไม่แกว่ง เสียงก็ไม่พร่า คอก็ไม่เครือ
แม้คำพูดของผู้ที่ไม่รีบด่วนพูด ก็สละสลวย พึงรู้ชัดได้

             ๖. ภาษาชนบท ภาษาสามัญ
             - การปรักปรำ (ยึดมั่น) ภาษาชนบท และการล่วงเลยคำพูดสามัญ
(คำพูดสามัญ ในที่นี้หมายถึงคำพูดของชาวโลกที่กำหนดพูดกัน บัญญัติให้รู้ร่วมกัน) คือ
             ภาชนะในบางชนบทเรียกต่างกัน ได้แก่เรียกว่า ปาตี ปัตตะ ปิฏฐะ สราวะ
หโลสะ โปณะ หนะ ปิปิละ
             ภิกษุพูดยึดมั่นว่า ภาชนะเรียกอย่างนี้เท่านั้น อย่างอื่นเปล่า

             - การไม่ปรักปรำภาษาชนบท และเป็นการไม่ล่วงเลยคำพูดสามัญ คือ
             ภาชนะในบางชนบทเรียกต่างกัน ได้แก่เรียกว่า ปาตี ปัตตะ ปิฏฐะ สราวะ
หโลสะ โปณะ หนะ ปิปิละ
             ภิกษุพูดอย่างไม่ยึดมั่นว่า เป็นอันว่าที่ท่านทั้งหลายพูด หมายถึงภาชนะนี้

ธรรมที่ยังมีกิเลสต้องรณรงค์ (ละ)
             - ความประกอบเนืองๆ ซึ่งโสมนัสของคนที่มีความสุขเพราะสืบต่อกาม
             - ความเพียรเครื่องประกอบตนให้ลำบาก
             - การยกยอ การตำหนิและไม่ใช่เป็นการแสดงธรรม
             - สุขอาศัยกาม
             - วาทะลับหลังซึ่งไม่เป็นจริงหรือเป็นจริงก็ตาม ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
             - คำกล่าวล่วงเกินต่อหน้าซึ่งไม่เป็นจริงหรือเป็นจริงก็ตาม ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
             - คำที่ผู้รีบด่วนพูด
             - การปรักปรำภาษาชนบท และการล่วงเลยคำพูดสามัญ
             เป็นธรรมมีทุกข์ มีความคับใจ มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติผิด
เพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงยังมีกิเลสต้องรณรงค์

ธรรมที่ไม่มีกิเลสต้องรณรงค์
             - การไม่ตามประกอบความประกอบเนืองๆ ซึ่งโสมนัสของคนที่มีความสุข
โดยสืบต่อกาม
             - การไม่ตามประกอบความเพียรเครื่องประกอบตนให้ลำบาก
             - ความปฏิบัติปานกลาง
             - การไม่ยกยอ การไม่ตำหนิ การแสดงแต่ธรรมเท่านั้น
             - สุขอาศัยเนกขัมมะ
             - วาทะลับหลังซึ่งจริง ประกอบด้วยประโยชน์
             - คำกล่าวล่วงเกินต่อหน้าซึ่งจริง ประกอบด้วยประโยชน์
             - คำที่ผู้ไม่รีบด่วนพูด
             - การไม่ปรักปรำภาษาชนบท และการไม่ล่วงเลยคำพูดสามัญ
             เป็นธรรมไม่มีทุกข์ ไม่มีความคับใจ ไม่มีความแค้นใจ เป็นความปฏิบัติชอบ
เพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงไม่มีกิเลสต้องรณรงค์

             ตรัสต่อไปว่า
             เพราะฉะนั้น พวกเธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า
             เราทั้งหลายจักรู้ธรรมยังมีกิเลสต้องรณรงค์ และรู้ธรรมไม่มีกิเลสต้องรณรงค์
ครั้นรู้แล้ว จักปฏิบัติปฏิปทา ไม่มีกิเลสต้องรณรงค์
             กุลบุตรสุภูติ ปฏิบัติปฏิปทาไม่มีกิเลสต้องรณรงค์แล้ว
             เอตทัคคบาลี
//84000.org/tipitaka/read/?20/147
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=สุภูติ

             พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดี
พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค

ความคิดเห็นที่ 6-90
ฐานาฐานะ, 10 มีนาคม เวลา 14:44 น.

GravityOfLove, 3 ชั่วโมงที่แล้ว
             พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖
             มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ วิภังควรรค
             ๓๙. อรณวิภังคสูตร ว่าด้วยการจำแนกธรรมที่ไม่มีกิเลส
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=14&A=8511&Z=8747&bgc=whitesmoke&pagebreak=0
...
9:17 PM 3/9/2014

             ย่อความได้ดีครับ.

ความคิดเห็นที่ 6-91
ฐานาฐานะ, 10 มีนาคม เวลา 14:47 น.

             คำถามในอรณวิภังคสูตร
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=14&A=8511&Z=8747

             เมื่อศึกษาพระสูตรนี้ได้อะไรบ้าง?

ความคิดเห็นที่ 6-92
GravityOfLove, 10 มีนาคม เวลา 21:43 น.

             ตอบคำถามในอรณวิภังคสูตร
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=14&A=8511&Z=8747

             เมื่อศึกษาพระสูตรนี้ได้อะไรบ้าง?
             ๑. พระผู้มีพระภาคตรัสแสดงอรณวิภังค์แก่ภิกษุทั้งหลาย คือ
ไม่พึงประกอบเนืองๆ ซึ่งสุขอาศัยกาม ฯลฯ ไม่พึงปรักปรำภาษาชนบท ไม่พึงล่วงเลยคำพูด
สามัญเสีย
             ๒. ความปฏิบัติปานกลาง ไม่เข้าใกล้ที่สุด ๒ อย่าง
(กามสุขัลลิกานุโยค และอัตตกิลมถานุโยค) คือมรรคมีองค์ ๘
             ๓. การยกยอ การตำหนิ ไม่เป็นการแสดงธรรมแท้
และการไม่ยกยอ การไม่ตำหนิ การแสดงธรรมแท้
             ๔. ธรรมที่ยังมีกิเลสต้องรณรงค์ ธรรมที่ไม่มีกิเลสต้องรณรงค์
             ๕. ด้านเอตทัคคะของท่านพระสุภูติ

ความคิดเห็นที่ 6-93
ฐานาฐานะ, 10 มีนาคม เวลา 22:06 น.

GravityOfLove, 15 นาทีที่แล้ว
             ตอบคำถามในอรณวิภังคสูตร
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=14&A=8511&Z=8747
...
9:42 PM 3/10/2014

             ตอบคำถามได้ดีครับ
             คำถามว่า เมื่อศึกษาพระสูตรนี้ได้อะไรบ้าง?
             ขอให้รวมบริบทหรือสภาพการณ์ที่ได้จากพระสูตรด้วย เช่น
             ข้อ 661 อาจจะแสดงว่า พระภิกษุบางรูปแสดงธรรม
หรือพูดรวดเร็วเกินไปบ้าง
             ข้อ 662 อาจจะแสดงว่า ภาษาในแต่ละภูมิภาค มีมาก
ทั้งอาจจะมีการยึดถือภาษาที่ตนเองเล่าเรียนมาเป็นเกณฑ์ตัดสินว่า
เรียกอย่างนี้จึงจะถูกต้อง ถ้าเรียกอย่างอื่นผิด ใช้ไม่ได้เป็นต้น.

ความคิดเห็นที่ 6-94
ฐานาฐานะ, 10 มีนาคม เวลา 22:09 น.

             เป็นอันว่า พระสูตรชื่อว่า อรณวิภังคสูตร จบบริบูรณ์.
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=8511&Z=8747

              พระสูตรหลักถัดไป คือ ธาตุวิภังคสูตร [พระสูตรที่ 40].
              พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖
              ธาตุวิภังคสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=8748&Z=9019
              ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=673

ย้ายไปที่
//www.bloggang.com/mainblog.php?id=gravity-of-love&month=12-03-2013&group=1&gblog=1



Create Date : 26 มีนาคม 2557
Last Update : 22 มิถุนายน 2557 18:43:23 น.
Counter : 503 Pageviews.

0 comments

แก้วมณีโชติรส
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]



มีนาคม 2557

 
 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
27
28
29
30
31
 
 
26 มีนาคม 2557
All Blog