25.4 พระสูตรหลักถัดไป คืออนุปทสูตร [พระสูตรที่ 11]
การสนทนาธรรมนี้ต่อเนื่องมาจาก
25.3 พระสูตรหลักถัดไป คืออนุปทสูตร [พระสูตรที่ 11]

ความคิดเห็นที่ 3-38
ฐานาฐานะ, 23 ธันวาคม 2556 เวลา 19:23 น.

              อธิบายว่า
              สันนิษฐานว่า ความหมายใกล้เคียงกัน แต่ลดหลั่นลงไป
กล่าวคือ เป็นผู้มากด้วยอภิชฌา มีใจสหรคตด้วยอภิชฌาอยู่ เบากว่าลำดับแรก
โดยนัยก็คือ ให้เห็นหรือระงับการเกิดของจิตอย่างนั้นตั้งแต่ยังไม่มีกำลังมากนัก.
              เป็นผู้มากด้วยอภิชฌา มีสัญญาสหรคตด้วยอภิชฌาอยู่ น่าจะเบาลง
แต่ว่า เป็นการขัดเกลาด้วยการเห็นหรือระงับตั้งแต่เกิดสัญญาอย่างนั้น.
              อุปมาเหมือน บิดามารดาการตักเตือนบุตรว่า
              อย่าขโมยทรัพย์ของคนอื่น จากนั้นก็สอนต่อไปหรือระมัดระวัง
ตั้งแต่เริ่มต้นเป็นต้นว่า อย่าอยากได้ของคนอื่นบ้าง อย่าให้ความอยากครอบงำ
จงระงับความอยากได้นั้นตั้งแต่เริ่มต้น ก็จะเป็นอันตักเตือนด้วยดีครับ
              คือตักเตือนความประพฤติปลายทางด้วย แต่เตือนให้พิจารณา
ลักษณะต้นทางด้วย.
              สันนิษฐานล้วน.

ความคิดเห็นที่ 3-39
GravityOfLove, 23 ธันวาคม 2556 เวลา 19:32 น.

พอจะเข้าใจแล้วค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

ความคิดเห็นที่ 3-40
GravityOfLove, 23 ธันวาคม 2556 เวลา 19:42 น.

             พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖
             มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ อนุปทวรรค
             ๑๔. เสวิตัพพาเสวิตัพพสูตร ว่าด้วยธรรมที่ควรเสพและธรรมที่ไม่ควรเสพ
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=2899&Z=3431&bgc=whitesmoke&pagebreak=0

             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี
เขตพระนครสาวัตถี
             พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมบรรยายที่ควรเสพ และที่ไม่ควรเสพแก่ภิกษุทั้งหลายดังนี้
             ๑. ความประพฤติทางกายที่ควรเสพ และที่ไม่ควรเสพ
             ๒. ความประพฤติทางวาจาที่ควรเสพ และที่ไม่ควรเสพ
             ๓. ความประพฤติทางใจที่ควรเสพ และที่ไม่ควรเสพ
             ๔. ความเกิดขึ้นแห่งจิต (จิตตุปบาท) ที่ควรเสพ และที่ไม่ควรเสพ
             ๕. ความได้สัญญาที่ควรเสพ และที่ไม่ควรเสพ
             ๖. ความได้ทิฐิที่ควรเสพ และที่ไม่ควรเสพ
             ๗. ความได้อัตภาพที่ควรเสพ และที่ไม่ควรเสพ
             อรรถกถา
เสพ ในที่นี้หมายถึงการนึกหน่วง รู้ เห็น พิจารณา อธิษฐานจิต น้อมใจเชื่อ
ประคองความเพียร ตั้งสติไว้ ตั้งจิตไว้ กำหนดรู้ด้วยปัญญา รู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง
กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ละธรรมที่ควรละ เจริญธรรมที่ควรเจริญ
ทำให้แจ้งธรรมที่ควรทำให้แจ้ง (องฺ.เอกก.อ. ๑/๕๓/๖๑-๖๒)

             เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสแล้วอย่างนี้ ท่านพระสารีบุตรได้ทูลจำแนกเนื้อความ
โดยพิสดารว่า
             ๑. เมื่อเสพความประพฤติทางกายเช่นใด อกุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง
กุศลธรรมย่อมเสื่อมไป ความประพฤติทางกายเช่นนี้ ไม่ควรเสพ
             และเมื่อเสพความประพฤติทางกายเช่นใด อกุศลธรรมย่อมเสื่อมไป
กุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง ความประพฤติทางกายเช่นนี้ ควรเสพ
             เมื่อเสพความประพฤติทางกายมีรูปอย่างไร (เสพความประพฤติทางกายเช่นใด)
อกุศลธรรมจึงเจริญยิ่ง กุศลธรรมจึงเสื่อมไป คือ บุคคลบางคนในโลกนี้
             - เป็นผู้มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง
             - เป็นผู้มักถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้
             - เป็นผู้มักประพฤติผิดในกาม
             ความประพฤติทางกายที่เสพแล้ว อกุศลธรรมเสื่อมไป กุศลธรรมเจริญยิ่ง
กล่าวตรงกันข้าม

             ๒. เมื่อเสพความประพฤติทางวาจาเช่นใด อกุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง
กุศลธรรมย่อมเสื่อมไป ความประพฤติทางวาจาเช่นนี้ ไม่ควรเสพ
             และเมื่อเสพความประพฤติทางวาจาเช่นใด อกุศลธรรมย่อมเสื่อมไป
กุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง ความประพฤติทางวาจาเช่นนี้ ควรเสพ
             เมื่อเสพความประพฤติทางวาจามีรูปอย่างไร อกุศลธรรมจึงเจริญยิ่ง
กุศลธรรมจึงเสื่อมไป คือบุคคลบางคนในโลกนี้
             - เป็นผู้มักพูดเท็จ
            - เป็นผู้พูดส่อเสียด
            - เป็นผู้กล่าวคำหยาบ
            - เป็นผู้เจรจาเพ้อเจ้อ
            ความประพฤติทางวาจาที่เสพแล้ว อกุศลธรรมเสื่อมไป กุศลธรรมเจริญยิ่ง
กล่าวตรงกันข้าม

             ๓. เมื่อเสพความประพฤติทางใจเช่นใด อกุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง
กุศลธรรมย่อมเสื่อมไป ความประพฤติทางใจเช่นนี้ ไม่ควรเสพ
             และเมื่อเสพความประพฤติทางใจเช่นใด อกุศลธรรมย่อมเสื่อมไป
กุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง ความประพฤติทางใจเช่นนี้ ควรเสพ
             เมื่อเสพความประพฤติทางใจมีรูปอย่างไร อกุศลธรรมจึงเจริญยิ่ง
กุศลธรรมจึงเสื่อมไป คือบุคคลบางคนในโลกนี้
             - เป็นผู้มากด้วยอภิชฌา
             - เป็นผู้มีจิตพยาบาท
             ความประพฤติทางใจที่เสพแล้ว อกุศลธรรมเสื่อมไป กุศลธรรมเจริญยิ่ง
กล่าวตรงกันข้าม

             ๔. เมื่อเสพความเกิดขึ้นแห่งจิตเช่นใด อกุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง
กุศลธรรมย่อมเสื่อมไป ความเกิดขึ้นแห่งจิตเช่นนี้ ไม่ควรเสพ
             และเมื่อเสพความเกิดขึ้นแห่งจิตเช่นใด อกุศลธรรมย่อมเสื่อมไป
กุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง ความเกิดขึ้นแห่งจิตเช่นนี้ ควรเสพ
             เมื่อเสพความเกิดขึ้นแห่งจิตมีรูปอย่างไร อกุศลธรรมจึงเจริญยิ่ง
กุศลธรรมจึงเสื่อมไป คือบุคคลบางคนในโลกนี้
             - เป็นผู้มากด้วยอภิชฌา มีใจสหรคตด้วยอภิชฌาอยู่
             - เป็นผู้มีพยาบาท มีใจสหรคตด้วยพยาบาทอยู่
             - เป็นผู้มีความเบียดเบียน มีใจสหรคตด้วยความเบียดเบียนอยู่
             ความเกิดขึ้นแห่งจิตที่เสพแล้ว อกุศลธรรมเสื่อมไป กุศลธรรมเจริญยิ่ง
กล่าวตรงกันข้าม

             ๕. เมื่อเสพความได้สัญญาเช่นใด อกุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง
กุศลธรรมย่อมเสื่อมไป ความได้สัญญาเช่นนี้ ไม่ควรเสพ
             และเมื่อเสพความได้สัญญาเช่นใด อกุศลธรรมย่อมเสื่อมไป
กุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง ความได้สัญญาเช่นนี้ ควรเสพ
             เมื่อเสพความได้สัญญามีรูปอย่างไร อกุศลธรรมจึงเจริญยิ่ง
กุศลธรรมจึงเสื่อมไป คือบางคนในโลกนี้
             - เป็นผู้มากด้วยอภิชฌา มีสัญญาสหรคตด้วยอภิชฌาอยู่
             - เป็นผู้มีพยาบาท มีสัญญาสหรคตด้วยพยาบาทอยู่
             - เป็นผู้มีความเบียดเบียน มีสัญญาสหรคตด้วยความเบียดเบียนอยู่
             ความได้สัญญาที่เสพแล้ว อกุศลธรรมเสื่อมไป กุศลธรรมเจริญยิ่ง
กล่าวตรงกันข้าม

             ๖. เมื่อเสพความได้ทิฐิเช่นใด อกุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง
กุศลธรรมย่อมเสื่อมไป ความได้ทิฐิเช่นนี้ ไม่ควรเสพ
             และเมื่อเสพความได้ทิฐิเช่นใด อกุศลธรรมย่อมเสื่อมไป
กุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง ความได้ทิฐิเช่นนี้ ควรเสพ
             เมื่อเสพความได้ทิฐิมีรูปอย่างไร อกุศลธรรมจึงเจริญยิ่ง
กุศลธรรมจึงเสื่อมไป คือบุคคลบางคนในโลกนี้
             เป็นผู้มีความเห็นอย่างนี้ว่า ทานที่ให้แล้ว ไม่มีผล ยัญที่บูชาแล้ว
ไม่มีผล สังเวยที่บวงสรวงแล้ว ไม่มีผล ผลวิบากของกรรมที่ทำดีทำชั่วแล้ว ไม่มี
โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มี บิดาไม่มี สัตว์ที่เป็นอุปปาติกะไม่มี
สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ ซึ่งประกาศโลกนี้ โลกหน้าให้
แจ่มแจ้ง เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเองในโลก ไม่มี
             ความได้ทิฐิที่เสพแล้ว อกุศลธรรมเสื่อมไป กุศลธรรมเจริญยิ่ง
กล่าวตรงกันข้าม

             ๗. เมื่อเสพความได้อัตภาพเช่นใด อกุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง
กุศลธรรมย่อมเสื่อมไป ความได้อัตภาพเช่นนี้ ไม่ควรเสพ
             และเมื่อเสพความได้อัตภาพเช่นใด อกุศลธรรมย่อมเสื่อมไป
กุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง ความได้อัตภาพเช่นนี้ ควรเสพ
             เมื่อเสพความได้อัตภาพมีรูปอย่างไร อกุศลธรรมจึงเจริญยิ่ง
กุศลธรรมจึงเสื่อมไป คือ
             เพราะบุคคลที่เกิดมา ครองการได้อัตภาพอย่างบกพร่อง
เป็นผู้ไม่สมประกอบเป็นเหตุ
             ความได้อัตภาพที่เสพแล้ว อกุศลธรรมเสื่อมไป กุศลธรรมเจริญยิ่ง
กล่าวตรงกันข้าม
             แล้วท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า ข้าพระองค์ทราบเนื้อความโดยพิสดารอย่างนี้
             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดีแล้ว ถูกแล้ว

             พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
             ๑. รูปที่รู้ได้ด้วยจักษุที่ควรเสพ และที่ไม่ควรเสพ
             ๒. เสียงที่รู้ได้ด้วยโสตที่ควรเสพ และที่ไม่ควรเสพ
             ๓. กลิ่นที่รู้ได้ด้วยฆานะที่ควรเสพ และที่ไม่ควรเสพ
             ๔. รสที่รู้ได้ด้วยชิวหาที่ควรเสพ และที่ไม่ควรเสพ
             ๕. โผฏฐัพพะที่รู้ได้ด้วยกายที่ควรเสพ และที่ไม่ควรเสพ
             ๖. ธรรมารมณ์ที่รู้ได้ด้วยมโนที่ควรเสพ และที่ไม่ควรเสพ
             เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสแล้วอย่างนี้ ท่านพระสารีบุตรได้ทูลจำแนกเนื้อความ
โดยพิสดารว่า
             เมื่อเสพรูปที่รู้ได้ด้วยจักษุเช่นใด อกุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง
กุศลธรรมย่อมเสื่อมไป รูปที่รู้ได้ด้วยจักษุเช่นนี้ ไม่ควรเสพ
             และเมื่อเสพรูปที่รู้ได้ด้วยจักษุเช่นใด อกุศลธรรมย่อมเสื่อมไป
กุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง รูปที่รู้ได้ด้วยจักษุเช่นนี้ ควรเสพ
             เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ กล่าวทำนองเดียวกัน
             แล้วท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า ข้าพระองค์ทราบเนื้อความโดยพิสดารอย่างนี้
             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดีแล้ว ถูกแล้ว

             พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
             ๑. จีวรที่ควรเสพ และที่ไม่ควรเสพ
             ๒. บิณฑบาตที่ควรเสพ และที่ไม่ควรเสพ
             ๓. เสนาสนะที่ควรเสพ และที่ไม่ควรเสพ
             ๔. บ้านที่ควรเสพ และที่ไม่ควรเสพ
             ๕. นิคมที่ควรเสพ และที่ไม่ควรเสพ
             ๖. นครที่ควรเสพ และที่ไม่ควรเสพ
             ๗. ชนบทที่ควรเสพ และที่ไม่ควรเสพ
             ๘. บุคคลที่ควรเสพ และที่ไม่ควรเสพ
             เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสแล้วอย่างนี้ ท่านพระสารีบุตรได้ทูลจำแนกเนื้อความ
โดยพิสดารว่า
             เมื่อเสพจีวรเช่นใด อกุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง กุศลธรรมย่อมเสื่อมไป
จีวรเช่นนี้ไม่ควรเสพ
             และเมื่อเสพจีวรเช่นใด อกุศลธรรมย่อมเสื่อมไป กุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง
จีวรเช่นนี้ควรเสพ
             บิณฑบาต เสนาสนะ บ้าน นิคม นคร ชนบท และบุคคล กล่าวทำนองเดียวกัน
             แล้วท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า ข้าพระองค์ทราบเนื้อความโดยพิสดารอย่างนี้
             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดีแล้ว ถูกแล้ว
             ตรัสต่อไปว่า
             ถ้ากษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทรทั้งปวงพึงรู้ทั่วถึงอรรถแห่งธรรมบรรยาย
ที่เรากล่าวโดยย่อนี้ได้โดยพิสดารอย่างนี้ นั่น จะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล
เพื่อความสุขแก่พวกเขาเหล่านั้นแม้ทั้งปวงตลอดกาลนาน
             ถ้าแม้โลกพร้อมทั้งเทวดา มาร พรหม และหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะและพราหมณ์
พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์ พึงรู้ทั่วถึงอรรถแห่งธรรมบรรยายที่เรากล่าวโดยย่อนี้ได้โดยพิสดาร
อย่างนี้ นั่น จะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่โลก พร้อมทั้งพวกเขาเหล่านั้น
ตลอดกาลนาน
             พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรชื่นชม ยินดี
พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค

[แ้ก้ไขตาม #3-41]

ความคิดเห็นที่ 3-41
ฐานาฐานะ, 23 ธันวาคม 2556 เวลา 19:56 น.

GravityOfLove, 9 นาทีที่แล้ว
             พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖
             มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ อนุปทวรรค
             ๑๔. เสวิตัพพาเสวิตัพพสูตร ว่าด้วยธรรมที่ควรเสพและธรรมที่ไม่ควรเสพ
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=2899&Z=3431&bgc=whitesmoke&pagebreak=0
...
7:42 PM 12/23/2013

             ย่อความได้ดีครับ ขอติงเล็กน้อย
             บิณบาต เสนาสนะ บ้าน นิคม นคร ชนบท และบุคคล กล่าวทำนองเดียวกัน
แก้ไขเป็น
             บิณฑบาต เสนาสนะ บ้าน นิคม นคร ชนบท และบุคคล กล่าวทำนองเดียวกัน

ความคิดเห็นที่ 3-42
ฐานาฐานะ, 23 ธันวาคม 2556 เวลา 20:07 น.

              คำถามในเสวิตัพพาเสวิตัพพสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=2899&Z=3431

             1. เมื่อศึกษาพระสูตรนี้ได้อะไรบ้าง?
             2. นัยของธรรมที่ควรเสพและไม่ควรเสพ นัยนี้เคยได้ศึกษา
มาจากพระสูตรใด?
             3. ประโยคว่า
<<<<
             ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ดูกรสารีบุตร เรากล่าวบุคคลโดยส่วน ๒ คือ ที่ควรเสพอย่าง ๑
ที่ไม่ควรเสพอย่าง ๑ นั่น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว
             ดูกรสารีบุตร เมื่อเสพบุคคลเช่นใด อกุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง กุศลธรรมย่อมเสื่อมไป
บุคคลเช่นนี้ ไม่ควรเสพ และเมื่อเสพบุคคลเช่นใด อกุศลธรรมย่อมเสื่อมไป กุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง
บุคคลเช่นนี้ ควรเสพ ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ดูกรสารีบุตร เรากล่าวบุคคลโดยส่วน ๒ คือ
ที่ควรเสพอย่าง ๑ ที่ไม่ควรเสพอย่าง ๑ นั่น เราอาศัยเนื้อความดังนี้ กล่าวแล้ว ฯ
>>>>
             โดยนัยว่า บุคคลเช่นนี้ ควรเสพ บุคคลนั้นควรมีคุณสมบัติอย่างไร?

ความคิดเห็นที่ 3-43
GravityOfLove, 23 ธันวาคม 2556 เวลา 20:38 น.

             ตอบคำถามในเสวิตัพพาเสวิตัพพสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=2899&Z=3431

             1. เมื่อศึกษาพระสูตรนี้ได้อะไรบ้าง?
             ๑. ธรรมที่ควรเสพและธรรมที่ไม่ควรเสพ
             ๒. ผู้ที่ร่ําเรียนบาลี และอรรถกถา แล้วทําตามคําสอน จึงจะได้ชื่อว่า
ผู้รู้เนื้อความภาษิตของพระพุทธองค์
---------------------
             2. นัยของธรรมที่ควรเสพและไม่ควรเสพ นัยนี้เคยได้ศึกษา
มาจากพระสูตรใด?
             ตอบว่า สักกปัญหสูตร
             ดูกรจอมเทพ อาตมภาพกล่าวโสมนัส โดยแยกเป็น ๒ คือ ที่ควร
เสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี
โทมนัสก็แยกเป็น ๒ คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควร
เสพก็มี และอุเบกขาก็แยกเป็น ๒ คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี ดูกร
จอมเทพ อาตมภาพกล่าวโสมนัสโดยแยกเป็น ๒ คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควร
เสพก็มี ก็ที่กล่าวถึงโสมนัสดังนี้ กล่าวเพราะอาศัยอะไร ในโสมนัสทั้ง ๒ นั้น
บุคคลพึงทราบโสมนัสอันใดว่า เมื่อเราเสพโสมนัสนี้ อกุศลธรรมเจริญขึ้น
กุศลธรรมเสื่อม โสมนัสเห็นปานนี้ ไม่ควรเสพ บุคคลพึงทราบโสมนัสอันใด
ว่า เมื่อเราเสพโสมนัสนี้ อกุศลธรรมเสื่อม กุศลธรรมเจริญขึ้น โสมนัสเห็น
ปานนั้น ควรเสพ ...
             นอกจากโสมนัสแล้ว ก็มีโทมนัส อุเบกขา กายสมาจาร วจีสมาจาร
การแสวงหา รูป ฯลฯ ธรรม ที่ตรัสทำนองเดียวกัน
//84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=10&A=5727&Z=6256
--------------------
             3. ประโยคว่า ... โดยนัยว่า บุคคลเช่นนี้ ควรเสพ บุคคลนั้นควรมีคุณสมบัติอย่างไร?
             ควรมีคุณสมบัติแบบกัลยาณมิตร ไม่สนทนาเรื่องที่ทำให้น้อมไปในทางอกุศลธรรม
คือสนทนาในกถาวัตถุ ๑๐ เป็นต้น
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=กัลยาณมิตรธรรม_7
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=กถาวัตถุ_10

ความคิดเห็นที่ 3-44
ฐานาฐานะ, 23 ธันวาคม 2556 เวลา 20:44 น.

             ตอบคำถามได้ดีและรวดเร็วมากครับ
             คำว่า
<<<<
             ๒. ผู้ที่ร่ำเรียนบาลี และอรรถกถา แล้วทําตามคําสอน จึงจะได้ชื่อว่า
ผู้รู้เนื้อความภาษิตของพระพุทธองค์
>>>>
             ข้อนี้ได้มาจากส่วนใดของพระสูตร?

ความคิดเห็นที่ 3-45
GravityOfLove, 23 ธันวาคม 2556 เวลา 21:04 น.

               ถอดความออกมาจากอรรถกถาค่ะ
               ชนเหล่าใดร่ำเรียนบาลีและอรรถกถาของพระสูตรนี้ แต่ไม่ทำตามที่ร่ำเรียนมานั้น ไม่ปฏิบัติอนุโลมปฏิปทาตามที่กล่าวแล้ว ชนเหล่านั้นชื่อว่าย่อมไม่รู้. ส่วนชนเหล่าใดเป็นผู้กระทำตามที่เล่าเรียนมานั้น ปฏิบัติอนุโลมปฏิปทาตามที่กล่าวแล้ว ชนเหล่านั้นชื่อว่ารู้.
               ถามว่า แม้เมื่อเป็นอย่างนั้น การรู้เนื้อความแห่งพระพุทธพจน์นั้นจะมีประโยชน์เกื้อกูลและความสุขตลอดกาลนาน สำหรับเหล่าสัตว์ผู้มีปฏิสนธิจงยกไว้ก่อน แต่สำหรับเหล่าสัตว์ผู้ไม่มีปฏิสนธิ (อีกต่อไป) จะมีประโยชน์สุขได้อย่างไร?
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=198&bgc=whitesmoke

ความคิดเห็นที่ 3-46
ฐานาฐานะ, 23 ธันวาคม 2556 เวลา 21:09 น.

GravityOfLove, 3 นาทีที่แล้ว
             ถอดความออกมาจากอรรถกถาค่ะ
...
             ตอบคำถามได้ดีครับ.

ความคิดเห็นที่ 3-47
ฐานาฐานะ, 23 ธันวาคม 2556 เวลา 21:15 น.

             เป็นอันว่า พระสูตรชื่อว่า เสวิตัพพาเสวิตัพพสูตร จบบริบูรณ์.
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=2899&Z=3431

              พระสูตรหลักถัดไป คือพหุธาตุกสูตร [พระสูตรที่ 15].
              พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖
              มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
              พหุธาตุกสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=3432&Z=3646
              ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=234

              อิสิคิลิสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=3647&Z=3723
              ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=247

              มหาจัตตารีสกสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=3724&Z=3923
              ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=252

              อานาปานสติสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=3924&Z=4181
              ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=282

              กายคตาสติสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=4182&Z=4496
              ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=292

              สังขารูปปัตติสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=4497&Z=4713
              ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=318

ความคิดเห็นที่ 3-48
GravityOfLove, 25 ธันวาคม 2556 เวลา 23:21 น.

             คำถามพหุธาตุกสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=3432&Z=3646

             กรุณาอธิบายค่ะ
             ๑. เปรียบเหมือนไฟลุกลามแล้วแต่เรือน ไม้อ้อ หรือเรือนหญ้า
ย่อมไหม้ได้กระทั่งเรือนยอดที่โบกปูน มีบานประตูสนิทปิดหน้าต่างไว้
             ไม่เข้าใจอุปมาค่ะ และเว้นวรรคถูกต้องหรือไม่คะ
             ๒. ภัย อุปัทวะ อุปสรรค ย่อมเกิดจากคนพาล ไม่ใช่เกิดจากบัณฑิต ใช่ไหมคะ
             คนพาลมีภัยเฉพาะหน้า มีอุปัทวะ มีอุปสรรค บัณฑิตไม่มีภัยเฉพาะหน้า
ไม่มีอุปัทวะ ไม่มีอุปสรรค
             หมายความว่า คนพาลนอกจากจะเป็นคนก่อ ๓ อย่างนี้แล้ว
ก็มีแต่คนพาลอีกนั่นแหละ ที่มีหรือได้รับ ๓ อย่างนี้หรือคะ       
        ๓. ในบรรดาธาตุ ๑๘ อย่าง การกำหนดธาตุ ๑๐ อย่างครึ่ง ชื่อว่ารูปปริคคหะ
(คือการกำหนดรูป) การกำหนดธาตุ ๗ อย่างครึ่ง เป็นอรูปปริคคหะ (คือการกำหนดอรูป)
ฉะนั้นจึงเป็นอันตรัสการกำหนดทั้งรูปและอรูปทีเดียว.
        ๔. ก็ถ้าใครๆ จะพึงกล่าวกะพระอริยสาวกผู้อยู่ในระหว่างภพ (ผู้ยังเวียนว่ายตายเกิด)
ทั้งที่ไม่รู้ว่าตนเป็นพระอริยสาวก แม้อย่างนี้ว่า ก็ท่านจงปลงชีวิตมดดำมดแดงนี้แล้ว
ครอบครองความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิในห้องจักรวาลทั้งหมดดังนี้ ท่านจะไม่ปลงชีวิต
มดดำมดแดงนั้นเลย. แม้ถ้าจะกล่าวกะท่านอย่างนี้ว่า ถ้าท่านจักไม่ฆ่าสัตว์นี้ ฉันจักตัดศีรษะท่าน.
แต่ท่านจะไม่ฆ่าสัตว์นั้น. คำนี้ท่านพูดเพื่อแสดงว่า ภาวะของปุถุชนมีโทษมากและเพื่อ
แสดงกำลังของพระอริยสาวก.
             ๕. สงฆ์ย่อมแตกกันโดยอาการ ๕ คือ โดยกรรม ๑ โดยอุทเทส ๑ โดยโวหาร ๑
โดยการสวดประกาศ ๑ โดยการให้จับสลาก ๑.
             ๖. มนุษย์ฆ่ามารดาบิดาที่เป็นมนุษย์ซึ่งอยู่ในที่ที่แพะอยู่ แม้ด้วยความมุ่งหมายว่า
เราจะฆ่าแพะ ย่อมต้องอนันตริยกรรม. แต่ฆ่าแพะด้วยความมุ่งหมายว่าเป็นแพะ
หรือด้วยความมุ่งหมายว่าเป็นมารดาบิดา ย่อมไม่ต้องอนันตริยกรรม.
ฆ่ามารดาบิดาด้วยความมุ่งหมายว่าเป็นมารดาบิดา ย่อมต้องอนันตริยกรรมแน่.
             ๗. วินิจฉัยอนันตริยกรรม ๕ โดยกรรม โดยทวาร โดยการตั้งอยู่ชั่วกัป โดยวิบาก
และโดยสาธารณะ
             ๘. เว้นพระอนาคามีและพระขีณาสพ พวกที่เหลือไม่อาจดำรงอยู่ตามสภาวะของตนได้
             ขอบพระคุณค่ะ

ย้ายไปที



Create Date : 22 มกราคม 2557
Last Update : 22 มิถุนายน 2557 13:24:35 น.
Counter : 444 Pageviews.

0 comments

แก้วมณีโชติรส
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]



มกราคม 2557

 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
 
All Blog