28.3 พระสูตรหลักถัดไป คืออนาถปิณฑิโกวาทสูตร [พระสูตรที่ 43]
การสนทนาธรรมนี้ต่อเนื่องมาจาก
28.2 พระสูตรหลักถัดไป คืออนาถปิณฑิโกวาทสูตร [พระสูตรที่ 43]

ความคิดเห็นที่ 34
ฐานาฐานะ, 23 มีนาคม เวลา 04:39 น.

             คำถามในปุณโณวาทสูตร
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=14&A=9641&Z=9745

             เมื่อศึกษาพระสูตรนี้ได้อะไรบ้าง?

ความคิดเห็นที่ 35
GravityOfLove, 23 มีนาคม เวลา 10:21 น.

             ขอบพระคุณค่ะ
             ในพจนานุกรมราวกับย่อความเลยนะคะ และนำเรื่องในอรรถกถามาลง
ทำให้เข้าใจมากขึ้น
------------------------------
             ตอบคำถามในปุณโณวาทสูตร
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=14&A=9641&Z=9745

            ๑. ถ้าเพลิดเพลินในอายตนะภายนอก นันทิ (ความเพลิดเพลิน) ย่อมเกิดขึ้น
เพราะนันทิเกิด ทุกข์เกิด
             ถ้าไม่เพลิดเพลินในอายตนะภายนอก นันทิย่อมดับไป เพราะนันทิดับ ทุกข์ดับ
             ๒. ท่านปุณณเถระเปล่งสีหนาทในฐานทั้ง ๗
             (ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทด่าท่าน ท่านจะคิดในพวกเขาอย่างนี้ว่า
พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทนี้ยังดีนักหนาที่ไม่ประหารเราด้วยฝ่ามือ เป็นต้น)
             ๓. ท่านพระปุณณะได้ให้พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทกลับใจแสดงตนเป็น
อุบาสกประมาณ ๕๐๐ คน เป็นอุบาสิกาประมาณ ๕๐๐ คน ภายในพรรษานั้นเอง
             และตัวท่านได้ทำให้แจ้งซึ่งวิชชา ๓ ภายในพรรษานั้นเหมือนกัน
             ๔. เรื่องราวของท่านพระปุณณะ
             ๕. พระผู้มีพระภาคทรงประทับรอยพระบาทไว้ที่ฝั่งแม่น้ำนิมมทา
ตามคำทูลขอของนาคราช
             และไว้บนหลังแผ่นหินทึบ ตามคำทูลขอของท่านพระสัจจพันธ์
(ดาบสสัจจพันธ์ได้ฟังธรรมสําเร็จเป็นพระอรหันต์ ท่านเป็นเอหิภิกขุ)
             ๖. มหาชนทำการบูชาสรีระของท่านพระปุณณะตลอด ๗ วัน แล้วเอาไม้หอมเป็นอันมาก
มากองเผาสรีระ เก็บธาตุ (กระดูก) แล้วสร้างเจดีย์บรรจุ
             ๗. จันทน์แดง ขนาดยาว ๔ นิ้ว ก็ราคาตั้งแสน

ความคิดเห็นที่ 36
ฐานาฐานะ, 23 มีนาคม เวลา 22:42 น.

GravityOfLove, 12 ชั่วโมงที่แล้ว
             ขอบพระคุณค่ะ
             ในพจนานุกรมราวกับย่อความเลยนะคะ และนำเรื่องในอรรถกถามาลง
ทำให้เข้าใจมากขึ้น
------------------------------
             ตอบคำถามในปุณโณวาทสูตร
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=14&A=9641&Z=9745
...
10:21 AM 3/23/2014

             ตอบคำถามได้ดีครับ.

ความคิดเห็นที่ 37
ฐานาฐานะ, 23 มีนาคม เวลา 22:43 น.

             เป็นอันว่า พระสูตรชื่อว่า ปุณโณวาทสูตร จบบริบูรณ์.
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=9641&Z=9745

              พระสูตรหลักถัดไป คือ นันทโกวาทสูตร [พระสูตรที่ 46].
              พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖
              นันทโกวาทสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=9746&Z=10190
              ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=766

ความคิดเห็นที่ 38
GravityOfLove, 23 มีนาคม เวลา 23:01 น.

             คำถามนันทโกวาทสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=9746&Z=10190

             กรุณาอธิบายค่ะ
             ๑. วันนั้นเป็นวาระของท่านพระนันทกะ แต่ท่านไม่ปรารถนาจะ
โอวาทพวกภิกษุณี วาระครั้งนี้เป็นครั้งแรกของท่านพระนันทกะใช่ไหมคะ
             ๒. ข้อ [๗๘๐] และ [๗๙๔]
             ๓. ท่านพระนันทกะกล่าวถึงปัญญาตัดกิเลส ต่อจากนั้นก็แสดงโพชฌงค์ ๗
ไม่ทราบว่า ๒ เรื่องนี้ เป็นเหตุเป็นผลกันอย่างไรคะ
             ๔. ท่านพระนันทกะในพระสูตรนี้ เป็นรูปเดียวกับในลิงค์นี้หรือเปล่าคะ
             (ภิกษุณี ๕๐๐ รูปในพระสูตรนี้ บ้างก็บรรลุเป็นพระโสดาบัน ... พระอรหันต์)
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=นันทกะ
             ขอบพระคุณค่ะ

ความคิดเห็นที่ 39
ฐานาฐานะ, 25 มีนาคม เวลา 08:20 น.

GravityOfLove, 3 นาทีที่แล้ว
             คำถามนันทโกวาทสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=9746&Z=10190

             กรุณาอธิบายค่ะ
             ๑. วันนั้นเป็นวาระของท่านพระนันทกะ แต่ท่านไม่ปรารถนาจะ
โอวาทพวกภิกษุณี วาระครั้งนี้เป็นครั้งแรกของท่านพระนันทกะใช่ไหมคะ
ตอบว่า ข้อนี้ไม่มีสิ่งบอกเหตุว่า เป็นวาระครั้งแรก.

             ๒. ข้อ [๗๘๐] และ [๗๙๔]
อธิบายว่า
             [๗๘๐] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาค เมื่อภิกษุณีเหล่านั้นหลีกไปแล้ว
ไม่นาน ได้ตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในทุกวันอุโบสถ ๑๔ ค่ำ
นั้น ชนเป็นอันมากไม่มีความเคลือบแคลง หรือสงสัยว่า ดวงจันทร์พร่องหรือ
เต็มหนอ แต่แท้ที่จริง ดวงจันทร์ก็ยังพร่องอยู่ทีเดียว ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุณีเหล่านั้น ย่อมเป็นผู้ชื่นชมธรรมเทศนาของนันทกะ ทั้งๆ ที่ยังไม่มีความ
ดำริบริบูรณ์เลย ฉันนั้นเหมือนกันแล ในลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัส
กะท่านพระนันทกะว่า ดูกรนันทกะ ถ้าเช่นนั้น วันพรุ่งนี้เธอก็พึงกล่าวสอน
ภิกษุณีเหล่านั้นด้วยโอวาทนั้นเหมือนกัน ท่านพระนันทกะทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า
ชอบแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ฯ

             นัยน่าจะเป็นว่า
             พระภิกษุณีเหล่านั้น เลื่อมใสธรรมเทศนานั้น ทั้งเข้าใจชัดเจนดี
ทั้งอาการที่แสดงให้เห็นก็ปรากฏชัดว่า เลื่อมใสในธรรมเทศนานั้น
ด้วยความเข้าใจในเนื้อความ
             อาการต่างๆ เหมือนประหนึ่งว่า ได้ทุกอย่างที่ต้องการแล้ว
สำหรับผู้มองดูด้วยตา แต่ที่จริงแล้ว เพียงแค่เกือบได้เท่านั้น.
             อรรถกถาให้นัยว่า
             ดำริของพระภิกษุณีเหล่านั้น บางพวกดำริว่า เมื่อไรหนอ
เราจะบรรลุโสดาปัตติผล บางพวกดำริว่า เมื่อไรหนอ เราจะบรรลุสกทาคามิผล ...
             ดังนั้น จึงเป็นผู้ยังไม่มีความดำริบริบูรณ์เลย แต่เมื่อได้สดับธรรมเทศนานั้น
อีกครั้ง ได้ทบทวนโอวาทนั้นอีกครั้ง จะบรรลุได้.
             ดังนั้น พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสให้ท่านพระนันทกะ แสดงโอวาทนั้น
ซ้ำอีกครั้งหนึ่ง.
             ท่านพระนันทกะก็ทูลรับ และได้แสดงโอวาทนั้นซ้ำอีกในวันรุ่งขึ้น
             เมื่อแสดงโอวาทแล้ว พระภิกษุณีเหล่านั้นก็ได้บรรลุคุณธรรมที่ต้องการ
สมดังที่ปรารถนาไว้ ดังที่ดำริไว้.

             ๓. ท่านพระนันทกะกล่าวถึงปัญญาตัดกิเลส ต่อจากนั้นก็แสดงโพชฌงค์ ๗
ไม่ทราบว่า ๒ เรื่องนี้ เป็นเหตุเป็นผลกันอย่างไรคะ
อธิบายว่า
             การที่มีปัญญาตัดกิเลสได้นั้น แม้ฟังแล้ว เข้าใจแล้ว และเห็นว่า
กิเลสควรตัดให้สิ้นไปด้วยปัญญาแล้วก็จริง แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังไม่อาจตัดกิเลสได้
ต่อเมื่ออบรมโพชฌงค์ ๗ จึงจะสามารถตัดกิเลสได้.
             โดยนัยก็คือ เหมือนบอกว่า ควรตัดกิเลสด้วยปัญญาให้สิ้นไป
จากนั้นก็บอกวิธีบ่มปัญญานั้นให้ถึงความรู้ยิ่ง ด้วยการเจริญโพชฌงค์ ๗.

             ๔. ท่านพระนันทกะในพระสูตรนี้ เป็นรูปเดียวกับในลิงค์นี้หรือเปล่าคะ
             (ภิกษุณี ๕๐๐ รูปในพระสูตรนี้ บ้างก็บรรลุเป็นพระโสดาบัน ... พระอรหันต์)
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=นันทกะ
             ขอบพระคุณค่ะ

ตอบว่า น่าจะใช่ครับ
             พระสูตรนี้ บ้างก็บรรลุเป็นพระโสดาบัน ... พระอรหันต์
             ส่วนในพจนานุกรม น่าจะนำนัยมาจากนันทกเถราปทานและอรรถกถา.

             นันทกเถราปทานที่ ๕ ว่าด้วยบุพจริยาของพระนันทกเถระ
//84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_line.php?B=33&A=3720

             อรรถกถาสูตรที่ ๗ ประวัติพระนันทกเถระ
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=20&&i=149&p=7

ความคิดเห็นที่ 40
GravityOfLove, 25 มีนาคม เวลา 09:39 น.

เข้าใจแล้วค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

ความคิดเห็นที่ 41
GravityOfLove, 25 มีนาคม เวลา 12:58 น.

             พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖
             มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ สฬายตนวรรค
             ๔. นันทโกวาทสูตร ว่าด้วยการให้โอวาทของท่านพระนันทกะ
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=14&A=9746&Z=10190&bgc=lavender&pagebreak=0

             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี
             ครั้งนั้น ท่านพระมหาปชาบดีโคตมี พร้อมด้วยภิกษุณีประมาณ ๕๐๐ รูป
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ทูลขอพระองค์ประทานพระโอวาทสั่งสอนพวกภิกษุณี
             ภิกษุผู้เถระทั้งหลาย ย่อมโอวาทพวกภิกษุณีโดยเป็นเวรกัน
(เปลี่ยนเวรกัน) วันนั้นเป็นวาระของท่านพระนันทกะ แต่ท่านไม่ปรารถนาจะ
โอวาทพวกภิกษุณี
             (ท่านพระนันทกะมีบุพเพนิวาสญาณ ทราบว่าพวกภิกษุณีเหล่านี้
ในอดีตชาติเคยเป็นนางสนมของท่าน ท่านดำริว่า ภิกษุอื่นที่ได้บุพเพนิวาสญาณ
ถ้าเห็นท่านนั่งกลางภิกษุณีเหล่านี้ อาจตำหนิได้)
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=นันทกะ

             พระผู้มีพระภาคตรัสให้ท่านพระนันทกะให้โอวาทสั่งสอนพวกภิกษุณี
(เพราะพระองค์ทรงทราบว่า ธรรมเทศนาของท่านพระนันทกะเท่านั้น
จึงจะเป็นที่สบายแก่ภิกษุณีเหล่านี้)
             ท่านพระนันทกะทูลรับ แล้วไปยังวิหารราชการามเพื่อแสดงธรรมแก่ภิกษุณี
             เมื่อท่านพระนันทกะไปถึงแล้ว ได้กล่าวว่า
             (ในการแสดงธรรมต่อไปนี้) จะต้องมีข้อสอบถามกัน ถ้าพวกท่านทั้งหลาย
รู้อยู่ พึงตอบว่ารู้ ถ้าไม่รู้อยู่ พึงตอบว่า ไม่รู้อยู่ หรือถ้ารูปใดสงสัย พึงทวนถามว่า
ข้อนี้เป็นอย่างไร ข้อนี้มีเนื้อความอย่างไร
             ภิกษุณีเหล่านั้นกล่าวว่า พวกดิฉันย่อมพอใจ ยินดี ด้วยเหตุที่ท่านปวารณา
แก่พวกดิฉันเช่นนี้
             ท่านพระนันทกะถาม พวกภิกษุณีตอบ มีใจความดังนี้
             ๑. อายตนะภายใน ๖ (จักษุเป็นต้น) ไม่เที่ยง
             สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์
             สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
ไม่ควรที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา
             ผู้ที่ไม่ได้พิจารณาเห็นเช่นนี้ เพราะไม่ได้เห็นดีด้วยปัญญาชอบ
ตามความเป็นจริง (ด้วยวิปัสสนาปัญญา) ว่า อายตนะภายใน ๖ ไม่เที่ยง แม้เพราะเหตุนี้
             ส่วนพระอริยสาวกผู้เห็นเรื่องนี้ด้วยปัญญาชอบ ตามความเป็นจริง
ย่อมมีความเห็นอย่างนี้
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=อายตนะภายใน_6
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ปปัญจธรรม_3

             ๒. อายตนะภายนอก ๖ (รูปเป็นต้น) ไม่เที่ยง
             สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์
             สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
ไม่ควรที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา
             ผู้ที่ไม่ได้พิจารณาเห็นเช่นนี้ เพราะไม่ได้เห็นดีด้วยปัญญาชอบ
ตามความเป็นจริงว่า อายตนะภายนอก ๖ ไม่เที่ยง แม้เพราะเหตุนี้
             ส่วนพระอริยสาวกผู้เห็นเรื่องนี้ด้วยปัญญาชอบ ตามความเป็นจริง
ย่อมมีความเห็นอย่างนี้
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=อายตนะภายนอก_6

             ๓. วิญญาณ ๖ (จักษุวิญญาณเป็นต้น) ไม่เที่ยง
             สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์
             สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
ไม่ควรที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา
             ผู้ที่ไม่ได้พิจารณาเห็นเช่นนี้ เพราะไม่ได้เห็นดีด้วยปัญญาชอบ
ตามความเป็นจริงว่า วิญญาณ ๖ ไม่เที่ยง แม้เพราะเหตุนี้
             ส่วนพระอริยสาวกผู้เห็นเรื่องนี้ด้วยปัญญาชอบ ตามความเป็นจริง
ย่อมมีความเห็นอย่างนี้
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=วิญญาณ_6

เวทนาอาศัยอายตนะภายใน ๖ เปรียบกับประทีปน้ำมัน
             เปรียบเหมือนประทีปน้ำมันกำลังติดไฟอยู่ ทั้งน้ำมัน ไส้ เปลวไฟ
และแสงสว่าง ก็ไม่เที่ยง แปรปรวนไปเป็นธรรมดา
             ผู้ใดกล่าวว่า ประทีปน้ำมันที่กำลังติดไฟอยู่โน้น ทั้งน้ำมัน ไส้ เปลวไฟ
ก็ไม่เที่ยง แปรปรวนไปเป็นธรรมดา แต่ว่าแสงสว่างนั้น เที่ยง ยั่งยืน เป็นไปติดต่อ
ไม่มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา เป็นการกล่าวไม่ถูกต้อง
             เพราะประทีปน้ำมันที่กำลังติดไฟอยู่โน้น ทั้งน้ำมัน ไส้ เปลวไฟ ก็ไม่เที่ยง
แปรปรวนไปเป็นธรรมดา แสงสว่างของประทีปนั้น ก็ต้องไม่เที่ยง แปรปรวนไป
เป็นธรรมดา เช่นกัน
             ฉันนั้นเหมือนกัน บุคคลใดกล่าวว่า อายตนะภายใน ๖ ของเรา ไม่เที่ยง
แต่เราอาศัยอายตนะภายในเสวยเวทนาใด เวทนานั้น เที่ยง ยั่งยืน เป็นไปติดต่อ
ไม่มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา เป็นการกล่าวไม่ถูกต้อง
             เพราะเวทนาที่เกิดแต่อายตนะภายในนั้นๆ อาศัยปัจจัยที่เกิดแต่อายตนะ
ภายในนั้นๆ แล้ว จึงเกิดขึ้นได้ เพราะปัจจัยที่เกิดแต่อายตนะภายในนั้นๆ ดับ
เวทนาที่เกิดแต่อายตนะภายในนั้นๆ จึงดับไป
             พระอริยสาวกผู้เห็นเรื่องนี้ด้วยปัญญาชอบ ตามความเป็นจริง
ย่อมมีความเห็นอย่างนี้

เวทนาอาศัยอายตนะภายนอก ๖ เปรียบกับต้นไม้ใหญ่
             เปรียบเหมือนต้นไม้ใหญ่ ทั้งราก ลำต้น กิ่งและใบ เงา ก็ไม่เที่ยง
แปรปรวนไปเป็นธรรมดา
             ผู้ใดกล่าวว่า ต้นไม้ใหญ่ ทั้งราก ลำต้น กิ่งและใบ ก็ไม่เที่ยง
แปรปรวนไปเป็นธรรมดา แต่ว่าเงาของต้นไม้นั้น เที่ยง ยั่งยืน เป็นไปติดต่อ
ไม่มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา เป็นคำกล่าวไม่ถูกต้อง
             เพราะต้นไม้ใหญ่ ทั้งราก ลำต้น กิ่งและใบ ก็ไม่เที่ยง แปรปรวน
ไปเป็นธรรมดา เงาของต้นไม้ ก็ต้องไม่เที่ยง แปรปรวนไปเป็นธรรมดา เช่นกัน
             ฉันนั้นเหมือนกัน บุคคลใดกล่าวว่า อายตนะภายนอก ๖ ไม่เที่ยง
แต่เราอาศัยอายตนะภายนอกเสวยเวทนาใด เวทนานั้น เที่ยง ยั่งยืน เป็นไปติดต่อ
ไม่มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา เป็นคำกล่าวไม่ถูกต้อง
             เพราะเวทนาที่เกิดแต่อายตนะภายนอกนั้นๆ อาศัยปัจจัยที่เกิดแต่
อายตนะภายนอกนั้นๆ แล้ว จึงเกิดขึ้นได้ เพราะปัจจัยที่เกิดแต่อายตนะภายนอก
นั้นๆ ดับ เวทนาที่เกิดแต่อายตนะภายนอกนั้นๆ จึงดับไป
             พระอริยสาวกผู้เห็นเรื่องนี้ด้วยปัญญาชอบ ตามความเป็นจริง
ย่อมมีความเห็นอย่างนี้
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=เวทนา_3

ปัญญาตัดกิเลส เปรียบกับมีดแล่โค
             เปรียบเหมือนคนฆ่าโค ใช้มีดชำแหละโค แยกส่วนเนื้อข้างใน
แยกส่วนหนังข้างนอกไว้
             ในส่วนเนื้อนั้น ส่วนใดเป็นเนื้อล่ำในระหว่าง เอ็นในระหว่าง
เครื่องผูกในระหว่าง ก็ใช้มีดแล่ส่วนนั้นๆ ครั้นแล้วคลี่ส่วนหนังข้างนอกออก
เอาปิดโคนั้นไว้ แล้วกล่าวว่า
             โคตัวนี้ประกอบด้วยหนังผืนนี้ เหมือนอย่างเดิมนั่นเอง
             คำกล่าวเช่นนี้ไม่ถูกต้อง
             เพราะแม้เขาจะกล่าวว่า โคตัวนี้ประกอบด้วยหนังผืนนี้ เหมือนอย่างเดิมนั่นเอง
ก็จริง ถึงกระนั้น โคนั้นก็แยกกันแล้วจากหนังผืนนั้น
             ท่านพระนันทกะกล่าวว่า
             เราเปรียบอุปมานี้เพื่อให้เข้าใจเนื้อความชัด อุปมานั้นคือ
             ส่วนเนื้อข้างใน คืออายตนะภายใน ๖
             ส่วนหนังข้างนอก คืออายตนะภายนอก ๖
             เนื้อล่ำในระหว่าง (ภายใน) เอ็นในระหว่าง เครื่องผูกในระหว่าง คือนันทิราคะ
             มีดแล่โค คือปัญญาอันประเสริฐ (อริยปัญญา) ซึ่งใช้เถือ แล่ คว้าน
กิเลสในระหว่าง (ภายใน) สัญโญชน์ในระหว่าง เครื่องผูกในระหว่างได้

โพชฌงค์ ๗
             โพชฌงค์ที่ภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว เป็นเหตุ ย่อมเข้าถึงเจโตวิมุติ
ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ทำให้แจ้งเพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง
ในปัจจุบันอยู่ มี ๗ อย่างคือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้
             (๑) ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ
อันน้อมไปเพื่อความปลดปล่อย (โวสสัคคะ)
             (๒) ย่อมเจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ...
             (๓) ย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ ...
             (๔) ย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์ ...
             (๕) ย่อมเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ...
             (๖) ย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ ...
             (๗) ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัย
นิโรธ อันน้อมไปเพื่อความปลดปล่อย
             คำว่า วิเวก วิราคะ นิโรธ โวสสัคคะ
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=วิเวก
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=โพชฌงค์_7
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=วิมุตติ_2

             ครั้นท่านพระนันทกะกล่าวสอนภิกษุณีเหล่านั้นด้วยโอวาทนี้แล้ว
ภิกษุณีเหล่านั้น ยินดีอนุโมทนาภาษิตของท่านพระนันทกะแล้ว ไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาค
             เมื่อภิกษุณีเหล่านั้นหลีกไปแล้วไม่นาน พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
             ในทุกวันอุโบสถ ๑๔ ค่ำนั้น ชนเป็นอันมากไม่มีความเคลือบแคลง หรือสงสัยว่า
ดวงจันทร์พร่องหรือเต็มหนอ แต่แท้ที่จริง ดวงจันทร์ก็ยังพร่องอยู่ทีเดียว ฉันใด
             ภิกษุณีเหล่านั้น ย่อมเป็นผู้ชื่นชมธรรมเทศนาของนันทกะ ทั้งๆ ที่ยังไม่มีความ
ดำริบริบูรณ์เลย ฉันนั้นเหมือนกัน
             (ความชื่นชมของภิกษุณีเหล่านั้น ต่อธรรมเทศนาของท่านพระนันทกะ เป็นเสมือน
พระจันทร์ ๑๔ ค่ำคือ ความดำริของภิกษุณียังไม่บริบูรณ์ ยังไม่บรรลุมรรคผลตามที่ตนต้องการ)
             แล้วตรัสกับท่านพระนันทกะว่า
             ถ้าเช่นนั้น วันพรุ่งนี้เธอก็พึงกล่าวสอนภิกษุณีเหล่านั้นด้วยโอวาทนั้นอีกครั้ง
             ท่านพระนันทกะทูลรับพระดำรัส
             เช้าวันต่อมา ท่านพระนันทกะไปแสดงโอวาทแก่ภิกษุณีเหล่านั้นอีกครั้ง
ด้วยเนื้อความเหมือนเดิม ภิกษุณีเหล่านั้น ยินดีอนุโมทนาภาษิตของท่านพระนันทกะ
แล้ว ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
             เมื่อภิกษุณีเหล่านั้นหลีกไปแล้วไม่นาน พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า
             ในทุกวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำนั้น ชนเป็นอันมากไม่มีความเคลือบแคลง หรือ
สงสัยว่าดวงจันทร์พร่องหรือเต็มหนอ แต่แท้ที่จริง ดวงจันทร์ก็เต็มแล้วทีเดียว ฉันใด
             ภิกษุณีเหล่านั้นย่อมเป็นผู้ชื่นชมธรรมเทศนาของนันทกะ ทั้งๆ ที่มีความ
ดำริบริบูรณ์แล้ว ฉันนั้นเหมือนกัน
             (ความชื่นชมของภิกษุณีเหล่านั้น ต่อธรรมเทศนาของท่านพระนันทกะ เป็นเสมือน
พระจันทร์ ๑๕ ค่ำคือ ความดำริของภิกษุณีบริบูรณ์แล้ว บรรลุมรรคผลดังที่ตนต้องการแล้ว)
             บรรดาภิกษุณีทั้ง ๕๐๐ รูปนั้น รูปสุดท้ายยังเป็นถึงพระโสดาบัน
มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา แน่นอนที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า
             พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดี
พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค

[แก้ไขตาม #42]

ย้ายไปที่
//www.bloggang.com/mainblog.php?id=gravity-of-love&month=12-03-2013&group=1&gblog=1



Create Date : 05 พฤษภาคม 2557
Last Update : 22 มิถุนายน 2557 19:49:19 น.
Counter : 445 Pageviews.

0 comments

แก้วมณีโชติรส
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]



พฤษภาคม 2557

 
 
 
 
1
2
3
4
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
All Blog