นก ในความทรงจำ
นกในความทรงจำ
1 แซงแซวสีเทา แซงแซวสีเทา เป็นนกตัวแรกที่ทำให้ข้าพเจ้าเริ่มต้นอยากดูนก เนื่องจากมันเป็นนกที่อพยพหนีหนาวมาอาศัยอยู่ที่บ้าน ที่จังหวัดราชบุรีเป็นประจำทุกปี ตอนที่สังเกตเห็นครั้งแรกก็น่าจะเป็นช่วงปลายฤดูหนาวก่อนจะเข้ามหาลัย ด้วยวงแก้มสีขาว และตัวสีเทา ที่แตกต่างจากนกตัวอื่น ๆ มีเอกลักษณ์คือบินโฉบไปจับแมลง แล้วกลับมาเกาะที่เดิม จึงสามารถมองเห็นตัวได้ไม่ยาก ข้าพเจ้าไม่รู้ว่า เจ้าแซงแซวสีเทาจะมีอายุขัยยาวนานเท่าใด แต่เวลาผ่านมา 20 ปี ก็ยังเห็นแซงแซวสีเทาตัวแก้มขาว ๆ นี้ บินมาเกาะที่เสาโทรทัศน์ที่บ้านทุก ๆ ปี ในฃ่วงหน้าหนาว แถมบางปียังมีคู่มาเกาะด้วยกันอีกตะหาก ที่เสาก้างปลานี้ นอกจากจะมีแซงแซวสีเทาให้ดูแล้ว ยังมีนกเขาใหญ่ นกเขาไฟ นกเขาชวา นกจาบคาเล็ก นกจาบคาหัวสีส้ม สลับสับเปลี่ยนมาให้ดูกันเป็นประจำ แถมบางทียังมีนกกะรางหัวขวานกับนกกระเตนอกขาวมาเกาะโชว์ตัวในช่วงสั้น ๆ อีกด้วย
2 นกกะรางหัวขวาน นกคู้ท หลังจากที่ได้เข้ามาเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยศิลปากร นกตัวที่เด่นสะดุดตาที่สุดของวิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ คือนกกะรางหัวขวาน ด้วยรูปลักษณ์เท่ๆ มีหงอนแบบอินเดียนแดง กิริยาการไต่และเจาะต้นไม้แบบนกหัวขวาน ลวดลายบนปีกขณะบิน ข้าพเจ้าคิดว่ามันเป็นนกที่เท่ที่สุดตัวหนึ่งเลยทีเดียว ส่วนนกอีกตัวที่ประทับใจและยังจำภาพ ณ วันที่เห็นนกตัวนั้นได้ไม่ลืมคือนกคู้ท ที่เก้าอี้ที่ประจำของข้าพเจ้า มุมในสุดของหอสมุดชั้น 4 คนละฝั่งกับห้องน้ำที่เจอผีชักโครก มองออกไปด้านล่าง จะเป็นบึงน้ำหลังหอสมุดประจำวิทยาเขต ด้วยกระบังสีขาว ๆ ตัดกับลำตัวสีดำ ลอยอยู่ในบึงน้ำหลังหอสมุดประจำวิทยาเขต จึงไม่ใช่เรื่องยากสำหรับการจำแนกนกชนิดนี้ นกคู้ทสองตัว ว่ายน้ำอยู่กลางแดดสายอย่างสบายใจ เพราะไม่มีใครทำอันตราย ผ่านไปเนิ่นนานเท่าไหร่ก็ยังจำได้ไม่ลืม ที่ทับแก้วมีนกให้ดูเยอะมาก ๆ ตอนนั้นเดินดูนกคนเดียวไม่มีเพื่อนมาดูด้วย สมัยนั้น Birdgang ก็ยังไม่มี เคยเดินดูนกพญาไฟเล็กไปตามถนน แต่พอถึงหอหญิงก็ต้องเดินกลับ กลัวจะโดนข้อหาถ้ำมอง
3 นกกก , นกเงือกปากย่น, นกเงือกหัวแรด นกชนหิน เมืองไทย มีนกเงือก 10 กว่าชนิด ที่เจอมาแต่ละตัวก็มีภาพจำในการเจอกันครั้งแรกแทบทุกตัว เริ่มจากนกกก นกที่ว่ากันว่าเป็นตัวแทนของความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ เพราะเป็นนกขนาดใหญ่ ต้องการโพรงสำหรับทำรังขนาดใหญ่ตามไปด้วย ซึ่งโพรงขนาดใหญ่ ก็ต้องมาจากต้นไม้ขนาดใหญ่ ถ้าป่าไหนที่มีนกกก นั่นย่อมบ่งชี้ว่าป่านั้นยังมีต้นไม้ขนาดใหญ่ให้นกกได้ทำรัง คราวนี้มาพูดถึงตอนที่เจอนกกครั้งแรก เป็นทริปเดินป่าที่ห้วยขาแข้ง หน่วยน้ำตกไซเบอร์ (อ่านว่าไซเบอ ไม่ใช่ไซเบ้อ) ระหว่างเส้นทางเดินป่า 8 กม. ใต้ต้นไทร จู่ๆ ก็มีเสียงดัง ฟรึ่บ ๆ ๆ ใกล้เข้ามา ใกล้เข้ามาทุกที ตอนแรกก็นึกว่าเป็นหมูป่า แต่พอนกกกบินผ่านหน้าไปเท่านั้นแหละ ความตื่นเต้นก็บังเกิด เป็นการเจอนกกตัวเป็น ๆ ครั้งแรกในชีวิต โอ้โห ตัวโคตรใหญ่เลยอ่ะ ตื่นเต้น ตื่นเต้น ทริปนี้มีเรื่องประบใจอีกอย่างหนึ่งคือ การใส่รองเท้าแตะดาวเทียมสีส้มเดินป่า 8 กิโลเมตร แล้วไปเตะหนามหวายระหว่างทางนิ้วโป้งเท้ากลายสภาพเป็นเม่นตัวน้อย ๆ ตอนเตะว่าเจ็บแล้ว ตอนบ่งออกยิ่งเจ็บกว่าหลายเท่า นกเงือกปากย่น, นกเงือกหัวแรด นกชนหิน 3 ตัวนี้เจอพร้อมกันตอนไปดูนกที่บาลา ตอนนั้นเพื่อนตุ๊ยังเป็นนักวิจัยอยู่ที่นั่น ที่จำได้แม่นคือหลังจากไปถึง พักผ่อนจนหายเหนื่อยหลังจากนั่งรถไฟยาว ๆ เกือบ 24 ชม. เดินออกจากบ้านพักขึ้นเนินมาประมาณ 500 เมตร นกตัวแรกที่มาทักทายคือนกชนหิน หลังจากส่องกล้องผ่านไบนอคจนพอใจแล้ว เค้าก็ยังไม่ไป จึงเกิดความคิดอยากถ่ายรูปขึ้นมา เลยวิ่งลงเขากลับไปเอากล้อง แล้ววิ่งกลับมา ระยะทางรวมแล้วน่าจะเกือบ ๆ 1 กิโลเมตร แล้วเอามาต่อกับเลนส์ 500มม. เลยได้ภาพนกชนหินตัวนี้มา เอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของเจ้าตัวนี้คือเสียงร้อง ใครอยากรู้ว่าเป็นยังไง ไปหาฟังได้ในป่าภาคใต้ ถัดมาคือนกเงือกปากย่น ตัวนี้ที่ชอบเพราะสวยมาก สวยขนาดที่น่าจะเป็นนกตัวเดียวในเบิร์ดไก๊ด์หมอบุญส่งฉบับภาษาอังกฤษวาดออกมาได้ไม่เหมือนตัวจริงเลยซักนิด ส่วนนกเงือกหัวแรด ด้วยความที่เป็นนกเงือกขนาดใหญ่ มีเอกลักษณ์คือโหนกที่เหมือนนอ จึงดูโดดเด่น ที่ประทับใจคือ จังหวะหนึ่งที่เค้าส่งเสียงร้องมาแต่ไกล เพื่อนตุ๊บอกว่าคอยดูนะ เดี๋ยวมันจะมาเกาะบนต้นไม้ข้างหน้า แล้วมันก็มาจริง ๆ แต่เกาะในพุ่ม ยืนรอเป็นนานสองนานก็ไม่ยอมออกมา ที่บาลา มีเรื่องประทับใจเกี่ยวกับนกมากมาย ทั้งเจ้าโก๊ะ นกเงือกปากดำที่เค้าเก็บมาเลี้ยง แล้ววันนึง มันก็บินตามฝูงไป , นกเงือกกรามช้าง ที่เก็บมาเลี้ยงแล้วบินขึ้นต้นไม้แล้วลงมาไม่ได้ เจ้าหน้าที่ต้องปีนขึ้นไปอุ้มลงมา , นกเงือกหัวหงอก ที่ไปซุ่มหน้ารังแล้วไม่ยอมเข้ามา แต่บินมาตอนที่ยืนฉี่ ไม่สามารถยกไบนอคส่องดูได้ , เหยี่ยวค้างคาวที่ทำรังตรงที่เดิมตลอด , ต้นไทรที่เดินไปไม่ไกลจากบ้านพัก แต่ใช้เวลาได้เป็นวัน ๆ ในการดูนกโพระดกและพญาปากกว้าง รวมทั้งนกปรอด
4 เป็ดแดง เป็ดคับแค เป็ดพม่า เป็ดเทา ในช่วงที่ใกล้จะเรียนจบปริญญาตรี แหล่งดูนกชั้นดีที่ใกล้มหาวิทยาลัยศิลปากร ก็คือมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ตอนนั้นก็ไม่รู้จักใคร แต่อ่านในวารสารของสมาคมนกเค้าบอกว่าที่นี่นกดีมาก ต้องมา ๆ Must See ก็เลยนั่งรถเมล์มาจากนครปฐม ผ่านกำแพงแสนมา เห็นท้องทุ่งนาเขียวขจี เฮ้ย มันใช่อ่ะ พอลงรถก็เดินเข้ามาแล้วเลี้ยวซ้ายไปตามทาง เดินไปเรื่อย ๆ ส่องไบนอคไปกลางบึง ก็ไม่เห็นอะไรนอกจากใบบัวแห้ง ๆ สีน้ำตาลอยู่เต็มบึง แต่พอเอาไบนอคส่งดู เฮ้ย ทำไมใบบัวมันขยับได้นะ ซักพักนึง ใบบัวแห้ง ๆ ทั้งหมด ก็บินขึ้นฟ้า ส่งเสียงร้องเหมือนเสียงผิวปาก ตามชื่อ Whistling-Duck ของมัน ผ่านไปอีกหลายวัน ก็แวะเวียนไปอีกรอบ คราวนี้รู้แล้วว่า ไอ้ที่อยู่กลางบึงน่ะ ส่วนใหญ่มันจะเป็นเป็ด ก็เลยหาอุปกรณ์ถ่ายภาพไปด้วย ตอนนั้นไม่มีสโคป เลยยืม Extension Tube 2X ของรุ่นน้องมาต่อกับเลนส์ 70-300 ก็พอใช้ได้ แต่สั่นไป(ไม่)หน่อย เดินไปตามทางเดิม แต่ที่ไม่เหมือนเดิมคือ มีเป็ดคับแคมาผสม แต่ตัวที่โดดเด่นทั้งขนาด รูปร่าง และสีสัน ที่ทำให้จำติดตามาถึงทุกวันนี้คือ เป็นพม่า 2ตัว ว่ายอยู่กลางบึง ตื่นเต้นมากที่สุด เพราะไม่คิดว่าจะเจอตัวอื่น สถานภาพก็บอกไว้ในเบิร์ดไก๊ด์ว่า Rare Winter Visitor วันที่ที่บันทึกไว้คือ 22 ก.พ.2541 เป็ดอีกตัวนึง ที่เจอในสถานที่ที่ไม่น่าจะเจอคือ เป็ดเทา ด้วยสถานภาพนเบิร์ดไก๊ด์คือ Rare Winter Visitor แต่ช่วงเวลาที่เจอคือปลายเดือนสิงหา สถานที่ที่เจอคือบึงน้ำในแปลงทดลองข้าวที่ปล่อยทิ้งร้าง ในม.เกษตร ฝั่งโรงสูบ จึงเป็นการเจอที่รู้สึกประหลาดมาก มีรุ่นน้องบอกว่า เป็นเป็ดเทาที่กรมป่าไม้เลี้ยงไว้ ก็ไม่เข้าใจว่า ถ้าเลี้ยงไว้ แล้วทำไมถึงเจอแค่ครั้งเดียว แล้วไม่เจออีก ในม.เกษตร ทั้งฝั่งบางเขนและกำแพงแสน เคยเป็นแหล่งดูนกชั้นเลิศ แต่ตอนี้ บึงน้ำแปลงนาฝั่งโรงสูบ ได้กลายสภาพไปเป็นสวนเฉลิมพระเกียรติของกรมวิชาการเกษตรไปแล้ว เปิดให้ชมได้ตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง5โมงเย็น เคยเข้าไปดู ก็ยังมีนกดีดีอยู่เยอะ ทั้งกระจาบทอง กระจาบธรรมดา กระติ๊ดขี้หมู กระติ๊ดตะโพกขาว ฯลฯ
5 อ้ายงั่ว สำหรับนกอ้ายงั่ว ดวงชะตาระหว่างเราสองมีเหตุที่ทำให้ต้องคลาดแคล้วจากกันอยู่เรื่อย ๆ กว่าจะได้เจอกันเนิ่นนานพอดู เริ่มจากทริปดูนกที่ภูเขียว เค้าว่ากันว่าสามารถเจอนกอ้ายงั่วได้ที่นี่ แต่ก็ไปหลายครั้งก็ไม่เจอ ตอนไปค่าย CYC คนทั้งค่ายเจอกันครบ ยกเว้นข้าพเจ้าที่เดินไปอาบน้ำ พอมันบินมาอีกรอบ ก็ไปไหนซักอย่างเลยไม่ได้เจอกัน จนถึงวันที่มีวาสนามาบรรจบให้ได้เจอกันซักที ตอนนั้นไปดูนกที่กำแพงแสน น่าจะเป็นที่บ่อนอก แล้วส่งสโคปไปที่นกตัวนึงที่อยู่ฝั่งตรงข้าม บอกน้อง ๆ ว่ากระสาแดงตัวนี้มันแปลก ๆ แฮะ ด้วยคุณภาพของเทเลสโคป Vitacon ขึ้นรา ล้างมาหลายรอบ เลยเห็นไม่ชัด หมอเบญ เลยเอาเทเลสโคป ไลก้ามาตั้งให้ดู ด้วยเลนส์คุณภาพ ได้ภาพใสกิ๊ก ชัดยังกับส่องหาตำหนิพระสมเด็จท่าพระจันทร์ เลยทราบว่านกตัวที่เห็นคือนกอ้ายงั่ว แล้วก็ไม่ได้มีแค่ตัวเดียวด้วยนะเออ เลยประทับใจมาจนบัดนี้
6 นางนวลปากเรียว นกนางนวลหลังดำพันธุ์รัสเซีย มาพูดถึงนกน้ำกันบ้าง ด้วยอานิสงส์ของการไปช่วยทำค่ายเด็กกับพี่เต่า แห่งเทเลคอมเอเชีย จึงมีโอกาสได้ไปดูนกชายเลนตามแหล่งดูนกยอดนิยมสมัยนั้น คือที่บ้านกาหลง กับโคกขามทำให้ได้เจอนกชายเลนที่เป็นยาขมของนักดูนกมือใหม่มากมาย รวมทั้งเจ้า Spoon-billed sandpiper ด้วย แต่ตัวที่ประทับใจคือเจ้านางนวลปากเรียว เพราะตัวนี้หาเจอด้วยตัวเองจากการไล่ส่องเทเลสโคปหานกนางนวลปากเรียวที่อยู่ท่ามกลางนกนางนวลธรรมดาเป็นพัน ๆ ตัว แล้วในที่สุดก็เจอจนได้ ส่วนเจ้านกนางนวลหลังดำพันธุ์รัสเซีย เพิ่งเจอเมื่อซัก 2 ปีก่อน เป็นนกใหม่ หลังจากที่ไม่ได้มีนกใหม่เกือบ ๆ 10 ปี จึงรู้สึกตื่นเต้นเป็นพิเศษที่ไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นกับนกใหม่นานแล้ว
7 นกกระทุง , นกไต่ไม้หน้าผากกำมะหยี่ นกขมิ้นแดง สมัยก่อนโน้นมีหนังสือนกชื่อ Birds Maggazine ออกรายเดือน เค้ามีจัดทริปไปดูนกด้วย ก็เลยสมัครไปกับเค้า ไปที่ภูเขียวมีพี่ธี สุธี ศุภรัฐวิกร กับพี่ภา ภานุวัฒน์ ศศิรัตน์ และพี่เป้ง ธงชัย สิริพร เป็นเบิร์ดลีดเดอร์ จำได้ว่านั่งเบียดไปกับพี่เป้งหน้ารถตู้ มื้อเช้าของวันแรก จำได้ว่า ถือชามข้าวต้มแล้วยืนกินข้าวใต้ต้นสน เพราะมีนกมาให้ดูเพียบ จนไม่อยากเข้าไปนั่งกินข้าวในโรงอาหาร มือนึงถือชามข้าว อีกมือนึงถือไบนอค เฮ้ย แล้วมือไหนตักล่ะเนี่ย นกตัวที่โดดเด่น ทั้งท่าทางและสีสันคือ นกไต่ไม้หน้าผากกำมะหยี่ ด้วยลีลาการไต่ต้นไม้หาแมลง จากบนลงล่าง ตรงข้ามกับนกหัวขวานที่ไต่จากล่างขึ้นบน ทำให้ประทับใจกับลีลาของเจ้าตัวนี้จริง ๆ ตัวถัดมาถือเป็นนกรับแขกของภูเขียว คือเจ้านกกระทุง ที่ประทับใจคือลีลาการร่อนลงบนผืนน้ำ บินเป็นวงรอบบึง พอได้จังหวะจะแลนด์ดิ้ง ก็กางปีกเหยียดขาลงมาบนผืนน้ำ จนความเร็วลดลงก็หุบปีกแล้วว่ายน้ำเล่นเย็น ๆใจ สบาย ๆ อยู่กลางน้ำ ทริปนั้น ได้ไปดูกรงนกกะเรียนที่เคยมีโครงการอนุรักษ์พันธุ์นกกะเรียนที่ภูเขียว เจอนกกะเรียนเดินอยู่นอกกรงด้วย อีกทริปหนึ่งของเบิร์ดแม็กกาซีนที่ข้าพเจ้ามีโอกาสได้ไปคือที่ช่องเย็น สมาชิก 20 กว่าคน ได้เจอเจ้าขมิ้นแดงกันครบทุกคน ยกเว้นข้าพเจ้า แต่ก็มีโอกาสได้แก้มือเมื่อตอนไปช่องเย็น รอบที่2 คราวนี้ได้เจอจนเบื่อไปเลย ตอนนั้นจำได้ว่า ไปพร้อมกับกลุ่มของอ.มงคล วงกาฬสินธุ์ กลุ่มของอาจารย์ปิดไฟนอนแต่หัวค่ำ ส่วนกลุ่มข้าพเจ้า 4-5 ทุ่มก็ยังไม่ยอมนอน โดยเฉพาะข้าพเจ้าที่นั่งดูดาวจนถึงตี2 เพียงเพื่อจะรอดูกลุ่มดาวสิงโตที่เค้าบอกว่าจะมีฝนดาวตก (แต่ฝนดาวตกลีโอนิดส์มันมีอีกอาทิตย์นึงหลังจากนั้น) ที่ประทับใจสำหรับทริปนั้นคือเจอรถเกิดอุบัติเหตุระหว่างทางประมาณ 4-5 ครั้ง จนแอบนึกในใจว่า ครั้งต่อไปอย่าเป็นเรานะ แล้วก็เป็นจริง ๆ รถยางแตกกลางทาง แต่ก็กลับถึงกทม.โดยสวัสดิภาพ
8 กะลิงเขียดหางหนาม ตัวนี้ถือเป็นนกในตำนาน เพราะไม่มีในเบิร์ดไก๊ด์หมอบุญส่งฉบับภาษาอังกฤษ ครั้งแรกที่ได้มีโอกาสขึ้นพะเนินทุ่ง ก็มุ่งหวังจะไปตามหากะลิงเขียดหางหนาม เค้าบอกว่าเจอกันที่กม.27 ก็โบกรถลงมาดู แต่ก็ไม่เจอ พอกลับไปถึงแค้มป์พะเนินทุ่ง มีคนบอกว่าเจอกันแถว ๆ นี้เอง อีกวันก็รอดูแถวนั้น ปรากฎว่ามีคนไปเจอมันที่กม.27 เออ เอากะเค้าสิ ในที่สุดทริปนั้น ก็ไม่เจอกะลิงเขียดหางหนาม จนผ่านไปหลายปี ได้มีโอกาสไปแก่งกระจานอีกครั้ง คราวนี้ลงที่กม.27 เดินไปให้สุดทาง เจอทั้งกะลิงเขียดหางหนาม เสือแมลงหัวขาว ฟินครับ ทริปนี้
9 นกตีทอง นกกระจอกชวา 2 ตัวนี้ มีความประทับใจในบริบทที่แตกต่างกัน ด้วยภาระหน้าที่การงาน ทำให้ได้ใช้ชีวิตอยู่ในม.เกษตรจนถึงปัจจุบัน นก 2 ตัวนี้มีสิ่งที่คล้าย ๆ กันที่ผูกพันกันอยู่อย่างแยกไม่ออก ตัวแรก นกตีทอง บ่อยครั้ง ที่ไม่ได้หยิบไบนอคออกไปดูนก แต่เวลาเดินผ่านหรือปั่นจักรยานผ่าน แล้วเจอนกตีทอง เรื่องราวระหว่างทางที่เคยเดินดูนกในม.เกตรก็จะผ่านเข้ามาทางความคิดเสมอ ๆ ขณะที่ นกกระจอกชวา เมื่อก่อนไปดูนกที่แปลงนาครั้งใด เป็นต้องได้เจอตลอด แต่ตอนนี้ ไม่มีแม้แต่เงาให้เห็น ฝั่งที่เคยเป็นแปลงทดลองข้าว ก็กลายสภาพไปเป็นกรมหม่อนไหม แปลงวิจัยก็เหลือน้อยลง ฝั่งโรงสูบก็กลายเป็นสวนเฉลิมพระเกียรติ ถึงจะมีนกอยู่บ้าง ก็ไม่เจอกระจอกชวา รู้สึกดีใจ ที่ได้มีโอกาสเข้าวงการดูนกในช่วงที่มีนกให้ดูมากมาย นึกถึงทีไรก็สุขใจทุกที
10 นกแสก นกตบยุงหางยาว มาถึงชุดสุดท้าย พูดไปแต่นกกลางวัน เดี๋ยวนกกลางคืนมันจะน้อยใจ เลยต้องยกมาพูดบ้าง ตัวแรก นกแสก ครั้งแรกที่เห็นคือ ตอนสามทุ่มกว่า ๆ หน้าวัดแถวบ้าน บรรยากาศเป็นริมถนนลูกรังต่างจังหวัด มีแสงสว่างจากไฟหน้ารถมอเตอร์ไซด์เพียงอย่างเดียว ตรงป้ายบอกเขตอภัยทาน มีเงาดำๆ ตะคุ่มๆเกาะอยู่ 2 ตัว พอรถผ่านมาใกล้พอที่แสงไฟจะสาดไปถึง นกแสกตัวนึงค่อย ๆ หมุนคอมาอย่างช้า ๆ พร้อมกับยกหวีขึ้นมาแสกตรงกลางกระหม่อม เฮ้ย ไม่ใช่แระ นั่นเป็นภาพแรก ๆ ที่เห็นนกแสกตอนกลางคืน แต่ปัจจุบันทราบว่า มีหน่วยงานในกรมวิชาการเกษตรได้ทำวิจัยเรื่องการใช้นกแสกในการจับหนูในสวนปาล์มน้ำมัน นับว่ามีประโยชน์อย่างมาก ลูกสาวของพี่นักวิจัยก็คลุกคลีอยู่กับนกโดยไม่ได้หวาดกลัวอะไรเลย เรื่องที่แอบเศร้าเล้ก ๆ คือพี่นักวิจัยคนนั้น ยังอยู่แค่ระดับปฏิบัติการ ทั้ง ๆ ที่น่าจากการพูดคุยเรื่องราวประโยชน์ของการทำวิจัย น่าจะส่งให้พี่เค้าไปถึงชำนาญการพิเศษได้แล้ว แต่ก็อย่างว่านะครับ ลดใช้สารเคมี บริษัทผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการของเกษตรกรเค้าไม่ชอบอะนะ ทำไงได้ ส่วนนกตบยุงหางยาว ภาพจำคือ ที่บ้านกร่างตอนโพล้เพล้ มีนกหางยาว ๆ คล้ายๆเหยี่ยวบินวนอยู่ 2 ตัว ส่องดูจึงรู้ว่าเป็นตัวนี้ ที่ประทับใจคือเสียงร้องของมัน "จุ๋ง" . . . . . . . . . . . . "จุ๋ง" ห่างกัน 12 วินาทีพอดิบพอดี (จริง ๆ ไม่เคยจับเวลาหรอก แต่เค้าเล่ามาก็เล่าต่อไป) ภาพจำอีกอย่างคือ วันนั้นมีตากล้องอยู่บริเวณนั้นหลายคน พอนกมันเกาะพักที่หลัก น้า ๆ ตากล้อง ก็ระดมสาดแฟลชเข้าใส่เพื่อบันทึกภาพนายแบบดวงซวยทันที ก็ไม่รู้ว่าตาจะบอดหรือเปล่า แต่เห็นเกาะนิ่งไม่บินไปไหนตั้งนาน น้า ๆ ก็ชมกันว่าเฮ้ย รู้งานเว้ยเกาะเป็นแบบนิ่งเชียว ......... (พูดไม่ออก)
ภาพประกอบเกือบทั้งหมด ได้จากอินเตอร์เน็ตนะครับ ขอบคุณครับ
//www.oknation.net/blog/print.php?id=706149 //www.lowernorthernbird.com/checklist.php?cat_id=28&c_id=175&b_id=63 https://plus.google.com/+SERGIONUNOGONCALVES/posts/LxnM6kTYTfw //birdsofthailand.org/photo/1147 //writer.dek-d.com/yukyiks/story/viewlongc.php?id=498683&chapter=21 //www.go4get.com/add_go4board.php?id=1041 //www.oknation.net/blog/print.php?id=846367 //board.trekkingthai.com/board/show.php?forum_id=31&topic_no=26327&topic_id=26327 //www.go4get.com/add_go4board.php?id=2145 //www.bcst.or.th/forum/index.php?topic=2962.0 //www.oknation.net/blog/print.php?id=659472 //www.oknation.net/blog/print.php?id=833880 //www.trekkingthai.com/cgi-bin/webboard/print.pl?content=0606&board=tkt_birdclub //park.dnp.go.th/visitor/scenicshow.php?id=114 //www.fishing4you.com/webboard/index.php?topic=11029.0 //www.chiangmaizoo.com/web25/th/encyclopedia/wing-th/28-animal-wiki/animal-wing/230-lophura-nycthemera-53 //board.postjung.com/679336.html //www.oknation.net/blog/print.php?id=874246 //www.oknation.net/blog/print.php?id=706504
Create Date : 16 กันยายน 2557 |
|
40 comments |
Last Update : 16 กันยายน 2557 23:40:32 น. |
Counter : 12477 Pageviews. |
|
|
|