<<
มิถุนายน 2553
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
1 มิถุนายน 2553
 

ดาวเคราะห์เดือนนี้ (มิถุนายน 2553)

ดาวเคราะห์เดือนนี้ (มิถุนายน 2553)
1 มิถุนายน 2553 วรเชษฐ์ บุญปลอด

//thaiastro.nectec.or.th/skyevnt/planets/

ดาวพุธ อยู่บนท้องฟ้าทิศตะวันออกในเวลาเช้ามืดต่อเนื่องมาจากกลางเดือนพฤษภาคม เดือนมิถุนายนยังพอจะเห็นดาวพุธได้ในเวลานี้ถึงราวกลางเดือน ดาวพุธออกจากกลุ่มดาวแกะเข้าสู่กลุ่มดาววัวในวันที่ 6 มิถุนายน ดาวพุธทำมุมห่างจากดวงอาทิตย์ที่สุดเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม ทำให้เดือนนี้ดาวพุธเคลื่อนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้นทุกวัน ต้นเดือนมีมุมเงย 13 องศา ณ เวลา 30 นาทีก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น กลางเดือนมุมเงยลดลงเป็น 7 องศา วันที่ 11 มิถุนายน จะเห็นดวงจันทร์เสี้ยวอยู่ทางซ้ายมือของดาวพุธด้วยระยะห่าง 5 องศา ขณะเดียวกัน กระจุกดาวลูกไก่อยู่เหนือดวงจันทร์เพียง 1 องศา

วันที่ 1-15 มิถุนายน ความสว่างของดาวพุธเปลี่ยนแปลงจากโชติมาตร +0.1 ไปที่ -0.9 ขนาดเชิงมุมลดลงจาก 7.3 พิลิปดา เป็น 5.7 พิลิปดา พื้นผิวด้านสว่างเพิ่มขึ้นจาก 50% เป็น 80% ดาวพุธจะผ่านตำแหน่งร่วมทิศแนววงนอก (superior conjunction) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่อยู่ด้านหลังดวงอาทิตย์ (ดวงอาทิตย์อยู่ระหว่างโลกกับดาวพุธ) ในวันที่ 28 มิถุนายน

ดาวศุกร์ เป็นดาวประจำเมือง ส่องสว่างโดดเด่นบนท้องฟ้าทิศตะวันตกเยื้องไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือในเวลา หัวค่ำ ต้นเดือนดาวศุกร์อยู่สูงจากขอบฟ้า 26 องศา ในเวลา 30 นาทีหลังดวงอาทิตย์ตก ปลายเดือนสูงขึ้นไปอยู่ที่ 30 องศา เดือนนี้ดาวศุกร์ออกจากกลุ่มดาวคนคู่เข้าสู่กลุ่มดาวปูในวันที่ 12 มิถุนายน

เราจะเห็นจันทร์เสี้ยวอยู่ใกล้ดาวศุกร์ในค่ำวันที่ 15 มิถุนายน หลังจากนั้นดาวศุกร์จะผ่านใกล้กระจุกดาวรังผึ้งหรือเอ็ม 44 (M44) ซึ่งเป็นกระจุกดาวเปิดโชติมาตร 3 ในค่ำวันที่ 20 มิถุนายน โดยปรากฏทางทิศเหนือ (ขวามือ) ของกระจุกดาวนี้เพียงไม่ถึง 1 องศา หลังจากนั้น ดาวศุกร์จะเคลื่อนเข้าสู่พื้นที่ของกลุ่มดาวสิงโตในคืนวันที่ 29 มิถุนายน ตลอดเดือนนี้ขนาดปรากฏของดาวศุกร์เพิ่มขึ้นจาก 13.0 เป็น 15.4 พิลิปดา พื้นผิวด้านสว่างลดลงจาก 81% เป็น 71% ความสว่างเพิ่มขึ้นจากโชติมาตร -3.9 ไปที่ -4.1

ดาวอังคาร อยู่บนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำเช่นเดียวกับดาวศุกร์ แต่จางกว่ามากและมีสีส้ม ดาวอังคารเคลื่อนอยู่ในกลุ่มดาวสิงโตตลอดทั้งเดือน มันเข้าใกล้ดาวหัวใจสิงห์มากที่สุดในค่ำวันที่ 7 มิถุนายนด้วยระยะห่างเพียง 0.8 องศา โดยสังเกตได้ว่าดาวอังคารสว่างกว่า ต้นเดือนดาวอังคารตกลับขอบฟ้าในเวลาเที่ยงคืน ปลายเดือนตกลับขอบฟ้าเร็วขึ้นอีก 1 ชั่วโมง ตลอดเดือนนี้ความสว่างของดาวอังคารเปลี่ยนแปลงจากโชติมาตร +1.1 ไปเป็น +1.3 ขนาดเชิงมุมลดลงจาก 6.0 เป็น 5.2 พิลิปดา

ดาวพฤหัสบดี เป็นดาวเคราะห์สว่างที่เห็นได้ง่ายบนท้องฟ้าเวลาเช้ามืด ดาวพฤหัสบดีเริ่มอยู่เหนือขอบฟ้าทิศตะวันออกตั้งแต่เวลาประมาณตี 2 แล้วเคลื่อนสูงขึ้นไปถึงจุดสูงสุดในช่วงเช้ามืด ขณะนี้ดาวพฤหัสบดีอยู่บริเวณกลุ่มดาวปลา ค่อนไปทางกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ ใกล้ ๆ กันมีดาวเคราะห์อีกดวงคือดาวยูเรนัสซึ่งจางกว่ามาก เดือนนี้ดาวพฤหัสบดีจะเข้าใกล้ดาวยูเรนัสมากที่สุดในช่วงก่อนเช้าวันที่ 8 มิถุนายน นับเป็นครั้งแรกในทั้งหมด 3 ครั้งที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ถึงต้นปี 2554

ตลอดเดือนนี้ขนาดเชิงมุมตามแนวเส้นศูนย์สูตรของดาวพฤหัสบดีเพิ่มขึ้นจาก 37.9 เป็น 41.4 พิลิปดา ความสว่างเพิ่มขึ้นจากโชติมาตร -2.3 ไปที่ -2.5 ดาวพฤหัสบดีมีดวงจันทร์บริวารหลายสิบดวง ที่ใหญ่ที่สุดจนเห็นได้ชัดด้วยกล้องสองตาและกล้องโทรทรรศน์มี 4 ดวง คือ ไอโอ ยูโรปา แกนิมีด และคัลลิสโต ระนาบวงโคจรของบริวารทั้งสี่เกือบอยู่ในแนวเดียวกับระนาบเส้นศูนย์สูตรของ ดาวพฤหัสบดี ตำแหน่งดาวบริวารแต่ละดวงเปลี่ยนไปทุกคืน บรรยากาศของดาวพฤหัสบดีปั่นป่วน ปกติมีแถบคล้ำหนาเห็นได้ชัดพาดในแนวละติจูด 2 แถบ แถบหนึ่งอยู่เหนือเส้นศูนย์สูตร อีกแถบอยู่ใต้เส้นศูนย์สูตร แต่ขณะนี้แถบที่อยู่ทางใต้มีสีซีดจางลงมาก บริเวณนั้นมีโอกาสเห็นพายุขนาดยักษ์ที่เรียกว่าจุดแดงใหญ่ (Great Red Spot) ได้ด้วยกล้องโทรทรรศน์ ช่วงที่สังเกตจุดแดงใหญ่บนดาวพฤหัสบดีได้ดีที่สุดคือเช้ามืดวันที่ 2, 7, 12, 14, 19 และ 26 มิถุนายน โดยวันที่ 2 เงาของไอโอจะปรากฏบนบรรยากาศของดาวพฤหัสบดี

ดาวเสาร์ เป็นหนึ่งในดาวเคราะห์ 3 ดวงที่อยู่บนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำ ขณะนี้ดาวเสาร์อยู่ในกลุ่มดาวหญิงสาว สว่างใกล้เคียงกับดาวรวงข้าวซึ่งเป็นดาวฤกษ์สว่างที่สุดในกลุ่มดาวนี้และ อยู่ใกล้เส้นสุริยวิถี ดาวเสาร์อยู่สูงเกือบเหนือศีรษะในเวลาหัวค่ำ จากนั้นมันจะคล้อยต่ำลงไปตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตกในช่วงกลางดึก ต้นเดือนตกลับขอบฟ้าเวลาประมาณตี 1 ครึ่ง ปลายเดือนตกเร็วขึ้นอีก 2 ชั่วโมง เมื่อสังเกตตำแหน่งของดาวศุกร์ ดาวอังคาร และดาวเสาร์ จะพบว่าดาวเคราะห์ 3 ดวงนี้กำลังเข้าใกล้กันมากขึ้น จะใกล้กันที่สุดในเดือนสิงหาคม ตลอดเดือนมิถุนายนขนาดเชิงมุมตามแนวศูนย์สูตรของดาวเสาร์ลดลงจาก 18.1 ไปเป็น 17.2 พิลิปดา ความสว่างลดลงเล็กน้อยจากโชติมาตร +1.0 เป็น +1.1

ดาวยูเรนัส (โชติมาตร +5.8) อยู่ในกลุ่มดาวปลา ไม่ห่างจากดาวพฤหัสบดี เดือนนี้ดาวยูเรนัสกับดาวพฤหัสบดีจะใกล้กันที่สุดในช่วงเวลาก่อนเช้ามืดวัน ที่ 8 และ 9 มิถุนายน ห่างราวครึ่งองศา เวลาที่สังเกตได้ดีคือช่วงก่อนที่ท้องฟ้าจะสว่าง วันนั้นดาวยูเรนัสอยู่ทางทิศเหนือของดาวพฤหัสบดี (ดูแผนภาพ) หากใช้กล้องสองตาหรือกล้องดูดาวที่ให้ภาพหัวตั้ง จะเห็นดาวยูเรนัสอยู่ห่างไปทางซ้ายมือของดาวพฤหัสบดี

ดาวเนปจูน (โชติมาตร +7.9) อยู่ในกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ สังเกตได้ด้วยกล้องโทรทรรศน์ในสถานที่และเวลาที่ท้องฟ้ามืดสนิท ไม่มีแสงรบกวน แผนที่ตำแหน่งดาวยูเรนัสและดาวเนปจูนแสดงไว้ในวารสารทางช้างเผือกฉบับคู่ มือดูดาวประจำปี 2553 ข้อมูลดวงจันทร์ขึ้น-ตก ดูที่ เวลา ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ขึ้น-ตก

ดวงจันทร์ สองสัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายนเป็นข้างแรม ดวงจันทร์อยู่บนท้องฟ้าทุกวันในเวลาเช้ามืดโดยช่วงแรกสว่างค่อนดวง เช้ามืดวันที่ 5 มิถุนายน ดวงจันทร์จะสว่างครึ่งดวงพอดี จากนั้นในวันถัดไปจะเห็นดวงจันทร์อยู่ใกล้ดาวพฤหัสบดีด้วยระยะห่าง 7 องศา เช้ามืดวันที่ 11 มิถุนายน ดวงจันทร์เสี้ยวปรากฏอยู่ใกล้ขอบฟ้า เป็นวันที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้กระจุกดาวลูกไก่และมีดาวพุธอยู่ห่างมาทางขวามือ นอกจากนี้ยังเป็นวันสุดท้ายที่เห็นดวงจันทร์ในเวลานี้ก่อนจันทร์ดับในวันถัด ไป

วันที่ 13 มิถุนายน หากฟ้าเปิดจะเห็นจันทร์เสี้ยวบาง ๆ อยู่เหนือขอบฟ้าหลังดวงอาทิตย์ตก คืนวันที่ 15 มิถุนายน ดวงจันทร์เคลื่อนไปอยู่ทางซ้ายมือค่อนไปทางด้านบนของดาวศุกร์ ห่างกันราว 5 องศา และอาจสังเกตเห็นกระจุกดาวรังผึ้งอยู่เหนือดวงจันทร์ขึ้นไปด้วยระยะเชิงมุม ใกล้เคียงกัน วันที่ 17 มิถุนายน ดวงจันทร์ ดาวอังคารและดาวหัวใจสิงห์ เรียงกันเป็นรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า วันที่ 19 มิถุนายน ดวงจันทร์ทำมุมฉากกับดวงอาทิตย์จึงเห็นสว่างครึ่งดวง คืนนั้นเป็นคืนที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้ดาวเสาร์ หัวค่ำวันที่ 24 มิถุนายน ดวงจันทร์สว่างเกือบเต็มดวงอยู่ใกล้ดาวแอนทาเรสในกลุ่มดาวแมงป่อง จันทร์เพ็ญเดือนนี้ตรงกับวันสุนทรภู่ 26 มิถุนายน ซึ่งจะเกิดจันทรุปราคาบางส่วน ดวงจันทร์ถูกบังราวครึ่งดวงขณะกำลังขึ้นเหนือขอบฟ้าในเวลาย่ำค่ำ โดยดวงจันทร์จะออกจากเงามืดซึ่งเป็นจังหวะสิ้นสุดจันทรุปราคาบางส่วนในเวลา 2 ทุ่ม




 

Create Date : 01 มิถุนายน 2553
0 comments
Last Update : 1 มิถุนายน 2553 13:43:53 น.
Counter : 1021 Pageviews.

 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

ยุง บิน ชุม
 
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add ยุง บิน ชุม's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com