bloggang.com mainmenu search
14 สิงหาคม 2553 : คุยกันเล่น #10 "ให้มันได้อย่างนี้สิ"

เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2553 วันแม่แห่งชาติ หลังจากกิจกรรมต่างๆ ของตัวเองสำเร็จไปตามกำหนดการ
พอตกเย็นบึ่งรถออกไปรอบเมืองในจุดที่คิดว่ามีการจุดเทียนถวายพระพร และจุดพลุเฉลิมฉลองในเทศกาลวันแม่แห่งชาติ

เล็งๆ ไว้ 2-3 จุด พอไปดูตำแหน่งที่เค้าวางพลุไว้แล้ว มองมุมมองที่ต้องถ่ายภาพแล้วมีแต่ต้องถ่ายภาพพลุบนท้องฟ้าอย่างเดียว
ไม่มีภาพฉากหน้าสวยๆ เลย

หลังจากตัดใจไม่ไปยังสถานที่ที่เค้าจัดงานกัน เลยกลับมาที่ห้องทำงาน
แล้วขอกุญแจปีนขึ้นไปดาดฟ้าชั้น 15 เพื่อเล็งตำแหน่งการถ่ายภาพไว้ด้านหนึ่ง ซึ่งไปดูสถานที่จุดพลุมาแล้วเหมือนกัน ว่างานที่เค้าจัด และการวางตำแหน่งพลุเห็นอยู่หลายลูกเลบ และน่าจะยิงพลุขึ้นมาทางด้านนี้ เลยตัดสินใจเอาบนนี้ล่ะ



ตึุกที่ปีนมาอยู่บนชั้นดาดฟ้า กับตึกสุจิณโณด้านหน้านี้ สูงพอๆ กัน 15 ชั้นเหมือนกัน ที่มาเลือกถ่ายภาพมุมนี้ หวังจะได้ภาพตึกสุจิณโณที่ประดับหลอดไฟสีธงชาติไว้ด้วย





blog นี้เป็นเรื่องของคุยกันเล่น
ดังนั้นจะมาคุยกันเล่นในเรื่องที่เกี่ยวกับการเลือกซื้อขาตั้งกล้อง

เชื่อว่าตอนที่หลายๆ คนคิดจะซื้อหาซื้อขาตั้งกล้องมาใช้งาน
คงได้สอบถามผู้รู้ หรือเพื่อนๆ หรือเจ้าของร้านขายขาตั้งกล้อง หรือบางคนก็หาอ่านจาก web กันก่อน

ตัวเองก็หาอ่านจาก web เช่นกัน แล้วก่อนซื้อก็มักจะไปสอบถามเจ้าของร้านให้แนะนำว่าควรเลือกซื้อขาตั้งกล้องแบบไหน ยี่ห้ออะไร

มาเข้าเรื่องให้ตรงประเด็นไปเลยว่า การเลือกซื้อขาตั้งกล้อง ควรเลือกซื้อ ประเด็นของความสูงที่สามารถกางได้อย่างมั่นคง และมีความสูง สูงกว่าตัวเราเองด้วย

แต่บอกได้เลยว่า เกือบทุกๆ ที่ มักจะบอกว่าให้ซื้อขาตั้งกล้อง ให้สูงพอๆ กับความสูงของตัวเอง
หากซื้อมาสูงไป พอกางให้สูงสุด แล้วจะมองเห็น view finder หรือ จอ LCD ได้อย่างไร (หลายคนแนะนำมาแบบนั้น)

จะลองยกตัวอย่าง 3 งาน ที่จะมาตอบโจทย์ว่า หากซื้อมาสูงกว่าตัวเองพอสมควร บางครั้งสามารถแก้ขัดในสถานการณ์นั้นๆ ได้อย่างดี

ครั้งแรก งานถ่ายภาพพลุที่ราชพฤกษ์ วันนั้นเป็นวันจริง และมีพิธีรีตองเยอะ และเป็นพิธีทางการ ที่ไม่ให้คนทั่วไปเข้างานในส่วนพิธีได้

วันนั้นไปช้า เพราะมือใหม่นั่นละ ไม่เตรียมตัวแต่เนิ่นๆ รถติดเป็นทางยาว เรียกว่า เค้าจุดพลุกันเสร็จแล้ว รถที่ติดและรอเข้างานยังมาไม่ถึงราชพฤกษ์เลย

วันนั้นก็แอบใช้ทางลัด พอเข้าประตูได้ ก็ถูกกันให้ติดอยู่ในโซนที่กันให้คนทั่วไปยืนออกันอยู่
ช่างภาพหลายคนก็กางขาตั้งกล้องถ่ายภาพกันตรงนี้
มาถึงงานแล้วได้ยืนอยู่ตรงนี้ ก็เอาบ้างเหมือนกัน เพราะขยับไปไหนไม่ได้อีกแล้ว
แต่พอกางขาตั้งกล้อง ปรับยืดสุดแล้ว ยังไม่พ้นหัวคนข้างหน้าเลย

แอบนึกในใจ ทำไมไม่ซื้อขาตั้งกล้องสูงๆ มานะ จะได้ปรับให้ขาตั้งกล้องข้ามหัวคนข้างหน้าได้



ครั้งที่สอง ไปถ่ายภาพในเวทีแสดงละคร แล้วต้องยืนถ่ายภาพด้านข้างของเวที ซึ่งเป็นขั้นบันได
ขาตั้งกล้องสามารถวางได้พอๆ กับขั้นบันได แต่คนถ่ายต้องมายืนในขั้นบันได้ที่สูงกว่าอีก 2 ขั้น (คนถ่ายไม่สามารถไปยืนในระนาบขั้นบันไดกับที่กางขาตั้งกล้องได้)
ดังนั้นเวลาถ่ายภาพ เมื่อตัวคนถ่ายสูงกว่าขาตั้งกล้อง จึงต้องก้มถ่ายภาพ
วันนั้นยืนก้มๆ ถ่ายภาพกับขาตั้งกล้องเกือบ 2 ชั่วโมง เล่นเอาเมื่อยหลังไปเลย

แอบนึกในใจ ทำไมไม่ซื้อขาตั้งกล้องสูงๆ มานะ จะได้ปรับให้ขาตั้งกล้องสูงขึ้นมากว่าเดิม จะได้ไม่ต้องยืนก้มๆ ถ่ายภาพ นานถึง 2 ชั่วโมง



ครั้งที่สาม ก็เป็นการมาถ่ายภาพที่ปีนขึ้นชั้นดาดฟ้าขั้น 15 นี้นี่ล่ะ
ชั้นดาดฟ้านี้มีขอบกำแพงกั้นสูงท่วมหัวเลย
พอเอาขาตั้งกล้องไปกาง ก็สูงพอดีกับขอบกั้นอีก
ทำให้ไม่สามารถกดกล้องปรับถ่ายในมุมมองที่ต่ำลงได้

แอบนึกในใจ ทำไมไม่ซื้อขาตั้งกล้องสูงๆ มานะ จะได้ปรับให้ขาตั้งกล้องสูงกว่าขอบกำแพงกั้นนี้ได้ จะได้ไม่ถ่ายภาพ ได้สบายๆ สักหน่อย



ทั้ง 3 ประเด็นนี้ เลยอยากชวนให้เขียนคุยกันเล่นในประเด็นนี้
แต่ทั้งนี้ก็อาจจะมีคำตอบกันในใจว่า ที่หลายคนหาซื้อขาตั้งกล้องมา ไม่ได้คิดจะมาถ่ายภาพในสถานการณ์ยากๆ แบบนี้ แค่ซื้อมาถ่ายภาพทั่วไป สบายๆ เท่านั้น และก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องซื้อขาตั้งกล้องให้สูงกว่าตัวเองเหมือนอย่างที่แนะนำนี้


*************

กลับมาเรื่องถ่ายภาพพลุที่นำมาให้ชมกันในวันนี้ (ชมกันแบบขำๆ นะครับ)
หลังจากกางขาตั้งกล้องไม่ได้ ก็ต้องหาตัวช่วย
เดินออกไปหาถังสีได้มา 1 ใบ มาปีนให้ตัวเองยืนพ้นขอบกั้นของดาดฟ้า
คราวนี้ก็เล็งไปเล็งมา และมาสรุปเอาที่ว่า วางกล้องไว้กับขอบกำแพงนี่ล่ะ


การมาถ่ายภาพพลุ สิ่งหนึ่งที่แนะนำกันไว้ ก็คือเมื่อหาทำเลได้แล้ว
ให้ลองถ่ายภาพดูตำแหน่งกันล่วงหน้าไว้ก่อน
แล้วก็ต้องคาดคะเนว่าพลุจะจุดขึ้นมาตรงไหน วางมุมกล้องเผื่อๆ เอาไว้ก่อน
2 ภาพบน-ล่างนี้ ก็เลยถ่ายภาพแบบคาดคะเนล่วงหน้าไว้ก่อน



คราวนี้มาดูสูตรการถ่ายภาพพลุ ที่เชื่อว่าๆ หลายคนที่หัดถ่ายภาพพลุ ก็จะได้รับการแนะนำมาแบบนี้ เขียนมาเผื่อไว้ด้วย เผื่อว่าจะมีใครไปหัดถ่ายภาพพลุ
(ซึ่งวันนี้จะมีการจุดพลุที่พัทยา อย่างยิ่งใหญ่ด้วย อยากไปเหมือนกัน แต่หาตั๋วเครื่องบินไม่ได้เลย งานนี้อดไป ไว้รอชมกันในห้องกล้องทดแทน)


การถ่ายภาพพลุ
1. ใช้ขาตั้งกล้องในการถ่ายภาพพลุ
2. ใช้สายลั่นชัตเตอร์
3. ปรับกล้องไปเป็นโหมด M (manual)
4. ปรับระบบโฟกัสภาพไปเป็น MF (manual focus) และโฟกัสภาพไปที่ infinity (ระยะไกลสุดของการโฟกัสภาพ)
5. ตั้งค่า ISO ไว้ที่ 100
6. ตั้งค่ารูรับแสงไว้ที่ F 8.0 - F 11.0
7. ตั้งความเร็วชัตเตอร์ไปที่ B (Bulb)
8. เมื่อพลุเริ่มจุดลูกแรก ลองดูมุมและความสูงของพลุ ซึ่งคนจุดก็จะบอกให้เป็นสัญญาณทราบกันว่า พลุจะจุดประมาณนี้ สูงประมาณนี้
พลุลูกแรกพอจุดแล้ว มีเวลาให้แป๊บนึง หลังจากนี้ก็จะจุดมาเป็นชุดๆ แล้วแต่จำนวนหรือรูปแบบการจุดพลุในครั้งนั้น
9. กดปุ่มที่สายลั่นชัตเตอร์เมื่อได้ยินเสียงพลุถูกจุดขึ้น และกดแช่เอาไว้พอเห็นพลุแตกจนสุด ให้ปล่อยนิ้วที่กดปุ่มที่สายลั่นชัตเตอร์เพื่อหยุดบันทึกภาพ (หากปล่อยชัตเตอร์นานไปจนพลุย้อยตัวลงมา จะได้ภาพสายน้ำพลุ แทนพลุเป็นดอกๆ)

สำหรับกล้องคอมแพคก็ควร set mode ถ่ายภาพพลุ ก็สามารถถ่ายภาพพลุได้สนุกสนานเช่นกัน แต่กล้องคอมแพคทั่วๆ ไป จะเป็นการตั้งเวลาถ่ายภาพพลุไว้ประมาณ 4 วินาที หรือบางรุ่นเพิ่มให้อีกชุดหนึ่งเป็น 8 วินาที ต้องลองเลือกใช้ดูครับ
โดยอาจใช้หลักการเดียวกัน พอได้ยินเสียงพลุ ก็ให้กดชัตเตอร์ แล้วปล่อย
กล้องจะตั้งเวลาถ่ายภาพประมาณ 4 วินาที
คราวนี้ก็ต้องอาศัยดวงนิดหน่อย ว่าจะได้พลุเต็มดอกหรือเปล่า
ถ้าได้พลุไม่เต็มดอก ก็อาจไม่เน้นกดชัตเตอร์ตั้งแต่แรก
ต้องสังเกตว่าพลุแต่ละลูกสว่างเป็นดอกใช้เวลานานเท่าไร
เพราะจะถ่ายภาพได้แค่ภายใน 4 วินาทีเท่านั้น





คราวนี้มาชมภาพพลุที่ถ่ายภาพมาให้ชมกันแบบขำๆ ครับ (ได้มาไม่กี่ภาพ)

ตอนที่ถ่ายภาพพลุชุดนี้อยู่ห่างกับงานที่จุดพลุไกลกันพอสมควร
เพียงแต่เดาออกว่าจะจุดขึ้นมาทิศทางไหน
แต่ที่แอบลุ้นก็คือ ขอให้พลุที่ยิงขึ้นมา ยิงพ้นขอบตึกของสุจิณฺโณมาก็พอใจแล้ว

ลูกแรกที่ยิงออกมา เห็นแล้วค่อย ok หน่อย ที่ยังพ้นขอบตึกขึ้นมาหน่อยหนึ่ง

แต่จากที่เล็งไว้ในภาพแนวตั้ง เลยต้องรีบเปลี่ยนมาเป็นแนวนอน









ได้ภาพมาแค่นี้ กับการมาถ่ายภาพพลุแบบขำๆ มาให้ชมกัน
ให้มันได้อย่างนี้สิ จากที่หวังให้พลุพ้นขอบตึกขึ้นมา....ได้มาอย่างที่คิด
แต่ไหงมันลูกเล็กแค่นี้ล่ะ.......ไม่ได้คิดแบบนี้นา ให้มันได้อย่างนี้สิ


**********************


แต่เมื่อมาอยู่บนชั้นดาดฟ้าแบบนี้แล้ว เลยหามุมถ่ายภาพเชียงใหม่ยามค่ำคืนมาให้ชมกันปิดท้ายไว้กับ blog นี้ด้วยครับ


ภาพนี้ถ่ายด้วยเลนส์ Tamron 10 -24 mm.
ถ่ายภาพช่วง 10 mm.
Mode M
ISO 100
F 8.0
Speed Shutter 10 sec.
ปรับ mode ตั้งเวลาถ่ายภาพ และวางกล้องไว้บนขอบกำแพง (เสียวหล่นเหมือนกัน 555)



blog นี้เขียนกันคุยกันเล่นๆ แต่หากใครจะอ่านข้ามๆ ไปก็ได้ครับ (หากอ่านแล้วไ่ม่รู้เรื่อง)

เขียนไว้เพราะอยากใช้เตือนตัวเองในเรื่องการถ่ายภาพด้วยครับ

ขอบคุณทุกๆ ท่านที่แวะมาชมภาพถ่ายในบล็อค "คุยกันเล่น #10 ให้มันได้อย่างนี้สิ" นี้ด้วยครับ
Create Date :14 สิงหาคม 2553 Last Update :14 สิงหาคม 2553 7:29:02 น. Counter : Pageviews. Comments :20