"ยินดีต้อนรับสู่ บล็อกของคนใฝ่รู้ สำหรับผู้ใส่ใจใฝ่รู้ค่ะ" มีหลายหัวข้อเรื่องให้คุณอ่าน .. ขอบคุณที่มาเยี่ยมบล็อกค่ะ .. ขอจงมีแต่ความสุขกายสบายใจตลอดไปนะคะ
Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2554
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
21 มิถุนายน 2554
 
All Blogs
 
พระราชประสงค์ที่แท้จริงในการเสด็จฯ ยุโรปครั้งที่ ๒ ของรัชกาลที่ ๕ โดย พ.อ.ผศ.ดร.ศรศักร ชูสวัสดิ์ (1)






พระราชประสงค์ที่แท้จริงในการเสด็จฯ ยุโรปครั้งที่ ๒
ของรัชกาลที่ ๕
โดย พ.อ.ผศ.ดร.ศรศักร ชูสวัสดิ์



วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2554 เวลา 15:38:47 น.

พ.อ.ผศ.ดร. ศรศักร ชูสวัสดิ์
กองวิชาประวัติศาสตร์ ส่วนการศึกษา
โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า


นำเรื่อง


พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ยุโรปครั้งที่ ๒ (๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๙-๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๐) ห่างจากการเสด็จฯ ยุโรปครั้งแรก (พ.ศ. ๒๔๔๐) ๑๐ ปี การเสด็จฯ ยุโรปครั้งแรกเป็นการเสด็จทางการ มีพระราชประสงค์เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับชาติตะวันตก มุ่งประโยชน์ด้านเอกราชและความมั่นคงของชาติ

ส่วนการเสด็จฯ ยุโรปครั้งที่ ๒ ราชกิจจานุเบกษาประกาศว่า เป็นการเสด็จฯ ส่วนพระองค์ มีพระราชประสงค์เพื่อรักษาพระอาการประชวรจาก ′โกฐาส ภายใน′ หรือพระอวัยวะภายในพระวรกายไม่ปกติ ดังนี้


ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงพระสำราญมานานแล้ว เมื่อได้เสด็จพระราชดำเนินประพาสหัวเมือง ก็กลับทรงพระสำราญไปชั่วคราว แต่ครั้นทรงราชกิจกรากกรำหนักเข้าก็ดี ทรงกระทบฤดูแปรไม่ปรกติก็ดี ก็กลับไม่สบายไปอีก แต่เปนดังนี้มาหลายขวบปี

ในศกนี้พระอาการกำเริบกว่าก่อน ดอกเตอร์โบเมอร์ผู้ถวายพระโอสถ ตรวจพระอาการลงสันนิษฐานว่า โกฐาสภายในพระกายไม่เปนไปสม่ำเสมอ พระโรคเช่นนี้ไม่ถูกแก่อากาศชื้นเช่นในฤดูฝนชุก และร้อนจัดเช่นฤดูคิมะ

ตำบลที่จะรักษาพระโรคเช่นนี้ได้เหมาะดีที่สุด ก็มีแต่ในประเทศยุโรป จึงกราบบังคมทูลถวายแนะนำ ในหน้าที่ของแพทย์เพื่อเสด็จประพาสยุโรป บำรุงพระกายให้คืนเปนปรกติ แต่ในเวลาพระโรคยังไม่เจริญขึ้น


อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ก่อนการเสด็จฯ ยุโรป และหลังจากเสด็จฯ ถึงยุโรปหลายเหตุการณ์ ทำให้ตีความพระราชประสงค์ในการเสด็จฯ ครั้งนี้ต่างออกไปได้ว่า อาจเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับชาติมหาอำนาจในยุโรป โดยเฉพาะฝรั่งเศสและเยอรมนี ได้แก่


๑. การประชุมนานาชาติ ที่เมืองอัลจาไซรัส ประเทศสเปน (Algeciras Conference) (๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๘-๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๙) (ค.ศ. ๑๙๐๖) จากการริเริ่มของเยอรมนีที่ต้องการสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของฝรั่งเศสเข้าไปในโมร็อกโก (Morocco Crisis, ค.ศ. ๑๙๐๕-๖) และระหว่างการประชุม หนังสือพิมพ์กึ่งทางการของเยอรมนีเสนอข่าวด้วยว่า เยอรมนีจะเสนอให้จัดประชุมทำนองเดียวกันเกี่ยวกับปัญหาอบิสซิเนีย (Abyssinia) และไทย


๒. พระเจ้าศรีสวัสดิ์ (ปีครองราชย์ พ.ศ. ๒๔๔๗-๗๐) กษัตริย์แห่งกัมพูชา รัฐในอารักขาของฝรั่งเศส เสด็จฯ ฝรั่งเศสนำคณะนาฏศิลป์ไปแสดงที่กรุงปารีส (กรกฎาคม-สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๙) นิตยสารฝรั่งเศสกล่าวว่า พระเจ้าศรีสวัสดิ์ทรงขอให้ฝรั่งเศส เร่งให้ไทยคืนพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ (มณฑลบูรพา) แก่กัมพูชา


๓. การทำสนธิสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศสในวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๙๗ หรือไม่กี่วันก่อนที่จะเสด็จฯ ยุโรป เป็นสนธิสัญญาที่ไทยตกลงแลกมณฑลบูรพากับดินแดนบางส่วน เช่น จังหวัดตราด และด่านซ้าย จังหวัดเลย ที่ฝรั่งเศสยึดไว้ รวมทั้งสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของคนเอเชียในบังคับฝรั่งเศส


ส่วนเหตุการณ์หลังเสด็จฯ ถึงยุโรปแล้ว พ.ศ. ๒๔๕๐ ได้แก่

๑. รัชกาลที่ ๕ ประทับที่กรุงปารีสช่วงแรก (๑๘-๒๑ มิถุนายน) ตรงกับช่วงเวลาที่รัฐสภาฝรั่งเศสกำลังพิจารณาให้สัตยาบันสนธิสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศส พ.ศ. ๒๔๔๙ ดังที่ทรงเขียนไว้ในพระราชนิพนธ์ไกลบ้าน วันที่ ๒๐ มิถุนายน ว่า ′อันที่จริงก็ไม่ใช่จะเที่ยวอย่างเดียว เปนราชการอยู่บ้าง′๘ และวันรุ่งขึ้น (๒๑ มิถุนายน) มีการแลกเปลี่ยนหนังสือให้สัตยาบันสนธิสัญญาดังกล่าว๙

๒. การเสด็จฯ ไปประทับรักษาพระองค์ที่เมืองบาดฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี หลังจากเสด็จฯ ถึงยุโรปแล้วนาน ๔ เดือน และประทับเป็นเวลานานประมาณ ๑ เดือน (๒๓ สิงหาคม-๒๒ กันยายน) และ

๓. พระเจ้าไกเซอร์วิลเฮล์มที่ ๒ แห่งเยอรมนี (Kaiser Wilhelm II, ปีครองราชย์ พ.ศ. ๒๔๓๑-๖๑) ทรงเอาพระทัยใส่ต่อการเสด็จฯ เมืองบาดฮัมบูร์กของรัชกาลที่ ๕


ในการศึกษาวิเคราะห์พระราชประสงค์ในการเสด็จฯ ยุโรปครั้งที่ ๒ มีการตีความโดยอาศัยข้อมูลและการวิเคราะห์จากบทความวิเคราะห์ในนิตยสารต่างประเทศร่วมสมัย ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ

ข้อสรุปที่ว่า รัชกาลที่ ๕ ทรงให้ความสำคัญแก่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และความมั่นคงของไทย มากกว่าการประชวรและรักษาพระองค์ ถึงขั้นสรุปว่า อาจไม่ทรงพระประชวรจริง และเป็นเรื่องลวง


ทั้งนี้มีข้อสรุปเกี่ยวกับการประชวรครั้งนี้ ผิดไปจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาในต่างระดับกัน ดังนี้

๑. การประชวรอาจไม่ใช่เรื่องจริง ทั้งนี้มองว่า การประชวรใน พ.ศ. ๒๔๕๐ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ′แต่การที่เลือกปี พ.ศ. ๒๔๕๐ นั้นมิใช่เหตุบังเอิญของการที่พระวรกายทรุดโทรมลงโดยกะทันหัน′


๒. การรักษาพระองค์ไม่ใช่เรื่องสำคัญ ทั้งนี้มองว่า รัชกาลที่ ๕ ทรงพระประชวรจริง แต่ไม่ร้ายแรงมากนัก ดังนั้น รัชกาลที่ ๕ จึงไม่เสด็จฯ ทรงรักษาพระองค์ที่เยอรมนีทันที ตามหมายกำหนดการเดิม คือล่าช้าถึง ๔ เดือน

อีกทั้งในช่วงเวลาที่ล่าช้าไปนี้ ยังทรงทุ่มเทกับการติดตามรัฐสภาฝรั่งเศสพิจารณาให้สัตยาบัน สนธิสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศส พ.ศ. ๒๔๔๙ ซึ่ง "แทบจะเป็นไฮไลต์ของการเสด็จฯ ยุโรปครั้งนี้ จนดูเหมือนว่าการเสด็จฯ ไปทรงพบแพทย์แทบจะเป็นจุดประสงค์รอง" และ


๓. การอ้างว่าเสด็จฯ ทรงรักษาพระองค์เป็นเรื่องลวง เมื่อเห็นว่า รัชกาลที่ ๕ ไม่ทรงให้ความสำคัญแก่การรักษาพระองค์ การอ้างว่าจะเสด็จฯ ทรงรักษาพระองค์ที่เยอรมนีจึงเป็นเรื่องหลอกๆ

"ก่อนหน้านี้ชาวสยามถูกทำให้เชื่อจนสนิทใจว่า เสด็จฯ ไปรักษาพระอาการประชวร ภายหลังที่ตรากตรำงานหนักมานานร่วม ๔๐ ปี โดยให้เหตุผลว่า แพทย์เฉพาะทางชาวเยอรมันน่าจะสามารถรักษาได้ถูกโรคมากกว่าที่จะเยียวยาต่อไปในสยาม"


ข้อสรุปซึ่งเกี่ยวโยงกันนี้ดูเหมือนมีที่มาจากข้อเท็จจริงและสมมุติฐานที่อาจคลาดเคลื่อนได้ ๓ ข้อด้วยกัน ดังนี้

๑. เยอรมนีคือที่หมายแรกที่รัชกาลที่ ๕ จะเสด็จฯ ทรงรักษาพระองค์ตามคำทูลเชิญของพระเจ้าไกเซอร์วิลเฮล์มที่ ๒๑๔

๒. การไม่เสด็จฯ เยอรมนีโดยทันที มีสาเหตุมาจากรัชกาลที่ ๕ ทรงเชื่อคำวินิจฉัยของแพทย์ที่ถวายการตรวจพระวรกายครั้งแรกที่เมืองซันเรโม (San Remo) ประเทศอิตาลี (๒๙ และ ๓๐ เมษายน) ว่า ไม่มีพระอาการประชวรร้ายแรงอะไร และ

๓. การดำเนินยุทธศาสตร์กันชนของรัชกาลที่ ๕ เพื่อกันฝรั่งเศส ...เพื่อเดินหน้าหาเสียงสนับสนุนจากบรรดาผู้นำประเทศในยุโรปที่ฝรั่งเศสเกรงใจ และต่อรองกับฝรั่งเศสโดยตรงเพื่อแก้ไขปัญหาเก่าๆ ที่ยังตกลงกันไม่ได้Ž๑๕ ข้อเท็จจริงและสมมุติฐานนี้นำไปสู่ข้อสรุปสำคัญที่ว่า รัชกาลที่ ๕ อาจไม่ทรงพระประชวรจริง และไม่ได้ตั้งพระทัยที่จะเสด็จฯ ทรงรักษาพระองค์


บทความนี้จึงต้องการตรวจสอบข้อเท็จจริง จากหลักฐานชั้นต้นของไทยว่า การรักษาพระองค์คือพระราชประสงค์ที่แท้จริงในการเสด็จฯ ยุโรปครั้งที่ ๒ หรือไม่ และเมื่อเสด็จฯ ถึงยุโรปแล้ว ทรงให้ความสำคัญแก่การรักษาพระองค์เพียงใด ทั้งนี้จะพิจารณาเหตุการณ์ตั้งแต่ช่วงเวลารัชกาลที่ ๕ ตัดสินพระทัยเสด็จฯ ยุโรป การเตรียมการเสด็จฯ และการรักษาพระองค์ในยุโรป


พระอาการประชวรเรื้อรัง :

มูลเหตุแห่งการเสด็จฯ ยุโรปครั้งที่ ๒


ในการศึกษาประวัติพระอาการประชวรของรัชกาลที่ ๕ ประไพ รักษา สรุปว่า รัชกาลที่ ๕ มีพระโรคประจำ ๒ พระโรค ได้แก่ พระโรควิตกกังวล และพระโรคทางเดินหายใจ

สำหรับพระโรควิตกกังวลนั้นเป็นผลมาจาก พระราชอัธยาศัยพื้นฐานที่ละเอียดลออ รอบคอบ สุขุม และมีพระอุตสาหะในการบริหารราชการ พระวิตกหรือที่พระองค์เรียกว่า เนิฟŽ ทำให้เสวยไม่ได้และบรรทมไม่หลับ

แต่ขณะเดียวกันก็มีพระอาการทนหิวไม่ได้ ถ้าเสวยพระกระยาหารที่ไม่โปรดก็จะมีผลต่อพระนาภี เช่น ท้องขึ้นท้องเฟ้อ พระอาการเสวยไม่ได้และบรรทมไม่หลับทำให้พระโลหิตน้อย ส่งผลเสียต่อพระพลานามัย


ส่วนพระโรคที่ ๒ เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ คือ โรคหืด แพ้อากาศ หรือไซนัสอักเสบ พระโรคนี้ทำให้ไม่เหมาะที่รัชกาลที่ ๕ จะประทับอยู่กรุงเทพฯ ในฤดูฝน รัชกาลที่ ๕ ทรงเล่าว่า อากาศที่เปลี่ยนไปมาส่งผลเสียต่อพระพลานามัย

"หนาวร้อนของเมืองไทยเรามันไม่ยั่งยืนในวันเดียวกันก็เปลี่ยนร้อนเปลี่ยนเย็นมาก ทั้งหนาวก็ไม่อยู่ได้กี่วัน ประเดี๋ยวก็กลับเป็นร้อน การเปลี่ยนร้อนเปลี่ยนหนาวรบัดรเบิดอยู่ข้างจะแสลงโรค" เช่นเดียวกับเมื่อเสด็จประพาสชวาใน พ.ศ. ๒๔๔๕ มีฝนตกหนักตลอดทั้งวัน ทำให้ระบบทางเดินหายใจของพระองค์มีปัญหา ทรงเล่าว่า ′โรคเก่ากำเริบ′


พระโรควิตกกังวลและพระโรคทางเดินหายใจ ซึ่งทำให้ทรงพระประชวรอยู่เสมอนั้นเป็นสาเหตุหนึ่งซึ่งทำให้รัชกาลที่ ๕ ต้องเสด็จประพาสหัวเมืองต่างๆ เพราะการเปลี่ยนอากาศ และการพ้นจากเรื่องน่าเบื่อต่างๆ เป็นผลดีต่อพระพลานามัย

"...เมื่อเลือดในตัวไม่บริบูรณ์ได้ จะแก้ให้ธาตุปกติก็ยาก ในการที่จะทำให้เลือดบริบูรณ์ได้ในบางกอกก็ยาก ด้วยมันเบื่ออ้ายตื่นๆ นอนๆ เบื่อที่แล้ว ใช่แต่เท่านั้น มีเรื่องที่สำหรับเบื่อเข้ามากวน..."

อย่างไรก็ดี การเสด็จประพาสหัวเมืองเช่นนี้ ก็เป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง เพราะเป็นโอกาสให้พระองค์ได้ทอดพระเนตรงานราชการ และการประกอบอาชีพของประชาชน

ต่อมาประมาณกลางเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ ขณะประทับที่พระราชวังบางปะอิน อยุธยา (๑๒-๑๙ ตุลาคม)๒๒ พระอาการประชวรก็กำเริบขึ้นอีก พระอาการประชวรครั้งนี้คือที่มาของการเสด็จฯ ยุโรปครั้งที่ ๒


แท้ที่จริงแล้ว รัชกาลที่ ๕ ทรงรู้ดีว่า พระองค์ทรงเป็นพระโรคเรื้อรังมานาน แต่ครั้งนี้ทรงรู้สึกว่าพระอาการหนักกว่าเคย เช่น ที่ทรงเขียนไว้ว่า 
ฉันได้รับทุกข์เวทนามาช้านาน จนอาการมามากลงเมื่อขึ้นมาบางปะอินครั้งก่อน และ แต่ที่ไม่สบายจนน่ากลัว รู้ว่าเปนโรคลึกนั้นใน ๓ ปีมานี้ สังเกตดูว่าทวีขึ้นทุกปี ในปีนี้เปนมากดังเช่นเห็นอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี แพทย์ถวายการรักษากระทั่งมีพระอาการดีขึ้นจนเป็นที่พอพระราชหฤทัย


แพทย์ที่ถวายการตรวจรักษาครั้งนี้ ชื่อโบห์แมร์ (Adolf M. Boehmer) ทรงเรียกว่า ′ตาอ้วน′ เป็นชาวเยอรมัน ไม่ใช่แพทย์ประจำพระองค์ ในเวลานั้น นายแพทย์ไรยต์เตอร์ (Eugene Reytter) แพทย์ประจำพระองค์ชาวเบลเยียมไม่อยู่ รัชกาลที่ ๕ จึงโปรดให้นายแพทย์โบห์แมร์ถวายการรักษาแทน"เปนเวลาตาอ้วนอยู่ที่บางปอินจึงได้เอามาดู"


เมื่อเสด็จฯ กลับถึงกรุงเทพฯ ยังมีพระอาการประชวรอยู่ ในพระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์พระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมขุนนครสวรรค์วรพินิต ผู้บัญชาการกรมทหารเรือ รัชกาลที่ ๕ ทรงเล่าถึงพระอาการต่างๆ ไว้ดังนี้

ทรงแน่นพระอุระ มีพระอาการไข้ เช่น กลางคืนวันที่ ๒๒ ตุลาคม พระปรอทขึ้นสูงถึง ๙๘.๔ องศาฟาเรนไฮต์ บางคืนถึง ๙๙.๓ องศาฟาเรนไฮต์ ทรงปวดเมื่อย มีพระเสมหะมาก ทำให้ทรงต้องล้างพระนาสิก "ยาล้างจมูกของหมอได้ใช้ปรมาณ ๔ ครั้ง เสมหะออกคล่องดี แต่ไม่พอที่จะล้วงเสมหะซึ่งอยู่ลึก จึงต้องรมช่วยนิดหนึ่ง"

พระอาการบรรทมไม่หลับ พระบังคลหนักไม่เป็นปรกติ ′วันนี้อุจาระไปครั้งแรกเปนก้อนอ่อนๆ มากอยู่ แล้วมีหางอีกครั้งหนึ่งน้อยลงมีสีดำมา ๒ วันแล้ว′ และบางวันทรงแน่นพระนาภี ′ค่ำวันนี้แปลกคือเวลากินเข้าแล้ว ที่รู้สึกเจบคัดแน่นอยู่ในกระเพาะนั้นมากขึ้นทุกวัน′


ในช่วงมีพระอาการประชวร รัชกาลที่ ๕ ทรงวิตกและทรงวิเคราะห์สาเหตุของพระโรคไปต่างๆ นานา เช่น พระอาการบรรทมไม่หลับ ทรงวิเคราะห์ว่ามีสาเหตุมาจากพระบังคลเบาบ่อย พระกระเพาะ พระปีหก (ม้าม) เช่น

"ข้อที่นอนไม่หลับนั้น สังเกตดูว่าเกี่ยวด้วยเรื่องเยี่ยว ตั้งแต่ก่อนจะนอนก็จะเยี่ยวถี่ เวลาไปนอนก็เยี่ยวถี่ แต่ทีละไม่มาก หลับเคลิ้มไปเคลิ้มมาต้องตื่นลุกขึ้นเยี่ยว ต่อเมื่อใดเยี่ยวออกมามากสัก ๒ ครั้งจึงจะหลับ..." และ

"เหนว่าที่เรื่องนอนไม่หลับนี้ ไม่ใช่อื่นเลยคงจะเปนกระเพาะอาหาร"๒๙ อีก ๑ เดือนต่อมา ทรงวิเคราะห์ว่า ′เสมหะไม่ได้เป็นผู้ทำให้นอนไม่หลับในเวลานี้ แลนึกว่าไม่ใช้ม้ามเปนเหตุ คงจะเปนด้วยกระเพาะอาหารฤๅลำไส้ ฤๅที่สุดจนหัวใจอย่างใดทำให้เป็นเช่นนี้′


ในวันที่ ๒๓ ตุลาคม วันเดียวกับที่มีพระราชหัตถเลขาพระราชทานสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ รัชกาลที่ ๕ มีพระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ถึงพระยาสุขุมนัยวินิต (ปั้น สุขุม) เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ๓๑ ด้วย ทรงสันนิษฐานว่า พระอาการประชวร มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากมีพระชนมายุมากขึ้น และการทรงงานหนัก รัชกาลที่ ๕ จึงหนักพระทัยมากกว่าทุกครั้ง จึงมีพระราชประสงค์ที่จะรักษาพระองค์ให้หายขาด เพื่อไม่ให้ทรงประชวรหนักจนยากแก่การรักษา ดังนี้


...ข้าเคยเจ็บมากๆ มาก็นักหนาแต่ไม่เคยหนักใจเหมือนที่เจ็บน้อยๆ ครั้งนี้เลย เรื่องที่เป็นประกอบกับอายุ มันไม่สู้ชอบกล กลัวจะเลยเป็นคนบอบแบบไปเสีย ทำราชการไม่ได้สดวก ตัวข้าเป็นคนที่รักราชการผูกพันมานาน ถ้าทำไม่ได้ดังใจฤๅต้องละวางก็คิดถึงเหมือนติดผู้หญิง

เมื่ออาการมากขึ้นทำเข้าก็เกิดโทษ ไม่ทำก็ไม่มีความสบายใจ เห็นเอาตัวไม่รอดทั้ง ๒ ฝ่าย เวลานี้กำลังจัดการทดลองรักษาแลพิจารณาโดยกวดขัน แต่ยังไม่ถึงโรคสลักสำคัญแท้ เป็นแต่มีพื้นเพไม่สู้ดี ถ้ามีอาการใหญ่ๆ มาจะรักษายาก จึงได้คิดที่จะป้องกันไว้เสียก่อน


อย่างไรก็ตาม ในการตรวจรักษา โปรดให้แพทย์ ๒-๓ คนถวายการตรวจรักษา แต่คำวินิจฉัยของแพทย์ก็ขัดกัน นายแพทย์ไรยต์เตอร์ แพทย์ประจำพระองค์มีคำวินิจฉัยว่า

"ไม่ได้เจ็บอะไร นอกจากใจเหนื่อยหน่ายในการซ้ำๆ ก็ให้นึกไปว่าเจ็บ เนิฟก็เปนไปตามอาการ ที่เสมหะมากขึ้นนั้นก็เปนด้วยหืดธรรมดา การที่เหนื่อยปวดนอนไม่หลับนั้นเปนด้วยเนิฟกำเริบ นวดมัสซาชเสียก็หาย" การรักษาของนายแพทย์ไรยต์เตอร์ทำให้พระปรอทสูงขึ้น (เป็นไข้) จึงโปรดให้หยุดรักษา


ส่วนนายแพทย์โบห์แมร์ ซึ่งถวายการตรวจร่วมกับนายแพทย์ตรุมปป์ (Trumpp) กลับมีคำวินิจฉัยในวันที่ ๒๕ ตุลาคมต่างไปว่า พระวรกายส่วนใหญ่เป็นปกติ แต่ที่มีปัญหามากคือพระปีหก (ม้าม) โต มีสาเหตุมาจากโรคมาลาเรียเรื้อรัง เมื่อรัชกาลที่ ๕ มีพระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ถึงหม่อมเจ้าจรูญศักดิ์ กฤดากร ทูตไทยประจำฝรั่งเศสเมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๓๕ เพื่อให้ทรงเตรียมการรับเสด็จ พระองค์ทรงเล่าพระอาการประชวรตามคำวินิจฉัยนี้ ดังนี้


ด้วยข้าเจ็บไม่สบายเปนไข้น้อยๆ เนืองๆ มาประมาณ ๒ ปีแล้ว ในฤดูฝนนี้อาการมากขึ้น มีอ่อนเพลียนอนไม่หลับ หมอตรวจว่าเปนด้วยตับโตขึ้นมาดันกระเพาะอาหารเคลื่อนจากที่ จึงให้มีอาการต่างๆ พ้นที่จะพรรณา การที่เปนทั้งนี้ เพราะเหตุที่ได้เปนไข้มลาเรีย ซับซ้อนมานานประมาณ ๘ ปีแล้ว จนเปนครอนนิค [chronic]

ถ้าไม่รีบรักษาเสียจะมีอันตราย ในการที่จะให้หายขาดจำจะต้องไปรักษาที่นอกประเทศที่อยู่ในโตรพิกัล [tropical หรือเขตร้อน] โดยเร็วที่สุดซึ่งจะไปได้..


′ตับ′ ที่พระองค์ทรงกล่าวถึงนั้นในคำวินิจฉัยของแพทย์คือม้าม (spleen) กล่าวสั้นๆ ก็คือ แพทย์ชุดหลังมีคำวินิจฉัยว่า รัชกาลที่ ๕ ทรงพระประชวรด้วยพระโรคมาลาเรียเรื้อรัง ส่งผลให้ ′โกฐาสภายใน′ ไม่ปกติ ดังที่ราชกิจจานุเบกษาประกาศไว้


รัชกาลที่ ๕ ทรงเชื่อถือคำวินิจฉัยของนายแพทย์โบห์แมร์ มากกว่าของนายแพทย์ไรยต์เตอร์ เนื่องจากมีพระอาการดีขึ้น จึงทรงเห็นชอบกับวิธีการรักษาที่นายแพทย์โบห์แมร์กราบบังคมทูลแนะนำ คือการเปลี่ยนอากาศด้วยการเสด็จฯ ไป นอกประเทศที่อยู่ในไตรพิกัลŽ ซึ่งก็คือยุโรป

และสถานที่แรกที่นายแพทย์โบห์แมร์ กราบบังคมทูลว่าควรเสด็จฯ ไปประทับเปลี่ยนอากาศก็คือเมืองซันเรโม ประเทศอิตาลี ซันเรโมเป็นเมืองท่องเที่ยวริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ตั้งอยู่ทางตะวันตกของอิตาลี เมื่อใกล้เสด็จฯ นายแพทย์โบห์แมร์ยังกราบบังคมทูลแนะนำ ชื่อแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องภายในร่างกาย (inner body) สอดคล้องกับพระอาการที่ประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษาว่า ′โกฐาสภายในไม่ปกติ′


หลักฐานต่างๆ แสดงว่า พระอาการประชวรครั้งนี้หนักหนาพอควร จนกระทั่งทรงต้องงดพระราชกิจบางอย่าง เช่น ๒ วันหลังจากนายแพทย์โบห์แมร์มีคำวินิจฉัย (๒๗ ตุลาคม) รัชกาลที่ ๕ มีพระราชกระแสถึงพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์) จางวางมหาดเล็ก ดังนี้


ให้บอกเลิกไม่ไปเที่ยว เมื่อคืนนี้รู้สึกเสียวแขนขามากขึ้น ลมขึ้นหูเสมอ ไม่ใช่แต่เพราะยาเข้าควินิน นอนตื่นทุกชั่วโมง และดูในระหว่างตื่นหนึ่งนานเหลือเกิน จนเห็นว่าจะหลังจริงน้อยนัก เวลาเนิฟกำเริบเช่นนี้ ชอบนอนนิ่งมากกว่าเต้นโลก เพราะอาจจับไข้ได้


พระอาการประชวรของรัชกาลที่ ๕ ข้างต้นนั้นสอดคล้องกับพระราชบันทึกในภายหลังของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ปีครองราชย์ พ.ศ. ๒๔๕๓-๖๘) ว่า ก่อนเสด็จประพาสยุโรปนั้น รัชกาลที่ ๕ เริ่มทรงพระประชวรแล้ว แต่ปิดกันนัก จึ่งมิได้มีใครรู้Ž

แสดงว่า พระอาการประชวรครั้งนี้เป็นเรื่องจริง แต่ที่ต่างออกไปจากพระราชบันทึกก็คือ แท้ที่จริงสาธารณชนก็ทราบข่าวพระอาการประชวรอยู่บ้าง เนื่องจากทรงงดเสด็จฯ ทรงทอดผ้าพระกฐินที่วัดบวรนิเวศ วัดบรมนิวาส และวัดเทพศิรินทราวาสในวันที่ ๒๘ ตุลาคม หนังสือพิมพ์จึงรายงานข่าวการงดเสด็จฯ ดังกล่าว และระบุสาเหตุว่ามาจากมีพระอาการประชวรเล็กน้อย (indisposed)


แม้หนังสือพิมพ์จะรายงานว่า ทรงพระประชวรเล็กน้อยแต่พระอาการประชวรดูเหมือนจะไม่เล็กน้อยตามข่าว เนื่องจากไม่กี่วันต่อมา พระองค์ต้องเสด็จฯ แปรพระราชฐานไปประทับที่พระราชวังบางปะอินอีก (๓-๑๔ พฤศจิกายน) ทรงต้องประทับพักนานประมาณ ๓-๔ วัน พระอาการจึงดีขึ้น ในพระราชหัตถเลขาถึงพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ ทรงเล่าว่า


การที่ฉันมาคราวนี้กว่าจะค่อยดีขึ้น ต้องอยู่ที่บางปอินถึง ๓ คืนจึ่งฟื้น กล่าวคือนอนหลับได้สนิท แต่ก็ยังเปนทอดๆ สั้นบ้างยาวบ้างอยู่ เตมเปอเรเชอร์ [temperature] ที่สูงค่อยหย่อนลง แต่จะเรียกว่าปรกติก็ไม่ได้ แล้วก็กลับหวนไปหวนมาไม่แน่นอน ไม่หายเปนคนเจ็บอยู่นั่นเอง จนถึงเวลากลับก็เห็นจะไม่มีกำไร แต่ประทังที่ไม่เปนมากไปอีกได้เท่านั้น นับว่าเปนดีได้อยู่แล้ว


วันที่ ๙ พฤศจิกายน มีพระราชหัตถเลขาว่า ทรงรู้สึกดีขึ้นแล้ว "เห็นจะยังพอประทะประทังต่อไปได้อีก ไม่ถึงไข้หนักพันหนา" กระนั้นก็ตาม ต่อมาทรงเห็นว่าพระอาการประชวรบางอย่างที่ทรงเป็นมากขึ้น โดยเฉพาะเวลาบรรทม อาจรักษาไม่หาย แม้จะเสด็จฯ ยุโรปก็ตาม "ความรู้สึกในเวลาที่เปนในเวลานอนนั้นรู้ว่าไม่หาย มีแต่จะมากขึ้น ถึงไปยุรป ก็ไม่เหนจะหาย สังเกตดูมันจะเพลีย ใช้ไม่ได้ครึ่งตัวก่อนเวลาจะตาย"

นอกจากพระอาการประชวรที่กำเริบขึ้นกลางเดือนตุลาคม ดังได้กล่าวมาแล้ว ยังมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญ ๒ ประการ ทำให้รัชกาลที่ ๕ ทรงตระหนักว่า พระองค์จำเป็นที่จะต้องเสด็จฯ ทรงรักษาพระองค์ในยุโรป

ประการแรก หากทรงไม่เร่งรักษา พระอาการประชวรอาจหนักขึ้นจนถึงขั้นเสด็จสวรรคตได้ เนื่องจากพระอาการประชวรของพระองค์คล้ายกับพระอาการประชวร ก่อนเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว (ปีครองราชย์ พ.ศ. ๒๓๙๔-๒๔๐๘) บัดนี้ก็มาเปนการจำเปนขึ้นจริง เพราะเหตุการคล้ายพระปิ่นเกล้ามาก

ถ้าจะดื้อรั้นไม่ยอมไป ก็กลัวจะอยู่ไม่ได้นานเท่าใด ในขณะทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนพินิตประชานาถ รัชกาลที่ ๕ ได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะทรงพระประชวร เมื่อตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ปีครองราชย์ พ.ศ. ๒๓๙๔-๒๔๑๑) ทรงเยี่ยม ๒ ครั้ง


พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตวันที่ ๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๐๘ (ค.ศ. ๑๘๖๖) หลังทรงพระประชวรเป็นระยะเรื้อรังนาน ๔ ปี รัชกาลที่ ๔ ทรงเขียนไว้ว่า"ทรงพระประชวรมีพระอาการต่างๆ ไป ไม่เป็นปรกติ ไม่สบายพระองค์สืบๆ มา"

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าถึงพระอาการประชวรดังกล่าวว่า ทรงเป็นวัณโรคภายในพระองค์ มีพระอาการประชวรกระเสาะกระแสะอยู่เสมอ อย่างไรก็ดี ดูเหมือนจะหาสมุฏฐานของพระโรคไม่ได้ชัดเจน ต่อมาในเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๐๘ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระอาการประชวรหนักขึ้น จนกระทั่งเสด็จสวรรคตในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๐๘

มีการสันนิษฐานสาเหตุของพระอาการประชวร จนเป็นเหตุให้สวรรคตไปต่างๆ นานา บ้างก็ว่า ทรงถูกวางยาพิษ บ้างก็เป็นเรื่องเหนือธรรมชาติ เช่น ทรงสร้างพระที่นั่งเก๋งผิดฮวงจุ้ย หรือทรงถูกทำเสน่ห์ยาแฝด แต่ก็ไม่มีข้อสรุป

อย่างไรก็ดี หลักฐานร่วมสมัยแสดงให้เห็นว่า พระอาการประชวรบางอย่างของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่ หัวคล้ายกับพระอาการประชวรของรัชกาลที่ ๕ ก่อนเสด็จฯ ยุโรป เช่น เสวยไม่ได้ บรรทมไม่หลับ

พระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ ๔ พระราชทานพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปัทมราช๕๔ พ.ศ. ๒๔๐๔ มีว่า ′...ในเดือนสิบสองข้างขึ้นนี้ ท่านให้มาบอกอาการว่า พระอาการนั้นมากไปเสวยไม่ได้ บรรทมไม่หลับ...′ หลังจากพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว ในศุภอักษรถึงสมเด็จพระนโรดมแห่งกัมพูชา เพื่อทรงแจ้งข่าวสวรรคตดังกล่าว รัชกาลที่ ๔ ทรงเล่าถึงพระอาการประชวรก่อนเสด็จสวรรคตว่า

"ทรงพระประชวนพระโรคภายในพระองค์ ให้เสวยไม่ได้มาก บันทมไม่หลับสนิท พระกายพระกำลังทรุดโทรมมาโดยลำดับ" ด้วยพระอาการประชวรคล้ายกันนี้ รัชกาลที่ ๕ จึงทรงวิตกว่า หากไม่ทรงรีบรักษาพระองค์ ปล่อยให้เรื้อรังต่อไป ก็อาจจะเสด็จสวรรคตในไม่ช้า


ประการที่ ๒ นายแพทย์โบห์แมร์ แพทย์ซึ่งถวายการรักษาคนล่าสุด จนกระทั่งพระอาการดีขึ้นบ้างนั้น ยอมรับความจริงว่า เกินความรู้ความสามารถของตนที่จะถวายการรักษาให้หายได้ในเร็ววัน เพราะสภาพอากาศในกรุงเทพฯ ทำให้ยากแก่การรักษา อาจต้องใช้เวลาเป็นปีจึงจะทรงหาย

"ตาหมอนี้บอกตามตรงว่าเหลือกำลังที่แก จะรักษาในบางกอกให้หายได้โดยเร็ว เว้นแต่จะต้องตั้งปีไป แต่ถ้าไปนอก ให้โปรเพสเซอร์ [professor] ที่เข้าใจชัดเจนตรวจ แลบางทีจะมีความคิดที่จะใช้ยาอย่างไรให้ดีกว่าความรู้ของแกจึงจะหายเร็วขึ้น" รัชกาลที่ ๕ ทรงทราบดีว่าความรู้ของนายแพทย์โบห์แมร์ค่อนข้างจำกัดแค่เรื่องผสมยา ทรงเล่าว่า ′คือไม่มีความรู้ เปนแต่คนผสมยา′


ข้อเท็จจริงข้างต้น ยืนยันว่า รัชกาลที่ ๕ มีพระอาการประชวรจริงประมาณกลางเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ ระหว่างประทับแปรพระราชฐานที่พระราชวังบางปะอิน แพทย์วินิจฉัยว่า ทรงเป็นพระโรคมาลาเรียเรื้อรัง แม้พระอาการประชวรจะมีลักษณะเป็นๆ หายๆ มานานแล้ว

แต่พระอาการประชวรครั้งนี้ ทำให้ทรงวิตกว่า ถ้าไม่รีบรักษาพระองค์ อาจเสด็จสวรรคตได้ เนื่องจากพระอาการประชวรของพระองค์คล้ายกับพระอาการประชวร ก่อนเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

ประกอบกับแพทย์กราบบังคมทูลว่า สภาพอากาศที่ไม่แน่นอนของกรุงเทพฯ ทำให้ยากแก่การรักษาให้หายขาดได้ในเร็ววัน ควรเสด็จฯ ไปเขตที่มีอากาศแห้งให้เร็วที่สุดที่จะทรงทำได้ คือยุโรป รัชกาลที่ ๕ จึงมีพระราชดำริที่จะเสด็จฯ ทรงรักษาพระองค์ในยุโรป


รัชกาลที่ ๕ ตกลงพระทัยเสด็จฯ ยุโรปเพื่อรักษาพระองค์

หลังจากทรงทราบคำวินิจฉัยของแพทย์ รัชกาลที่ ๕ จึงมีพระราชดำริที่จะเสด็จฯ ยุโรปเพื่อรักษาพระองค์ แต่ก่อนที่ตัดสินพระทัย รัชกาลที่ ๕ ทรงปรึกษาพระบรมวงศ์และเสนาบดี เมื่อทุกคนต่าง "เห็นพร้อมกันว่าเปนการจำเปน ซึ่งจะต้องออกไปรักษาตัวที่ประเทศยุโรปให้หายสนิทจงได้..." รัชกาลที่ ๕ จึงตกลงพระทัยเสด็จฯ ยุโรป ราชกิจจานุเบกษารายงานว่า

...พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฤกษาพระบรมวงษานุวงษ์ผู้ใหญ่และท่านเสนาบดีต่างก็เห็นชอบตามคำแพทย์ เหตุว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวย่อมเปนสำคัญในราชการทั้งปวง เมื่อไม่ทรงพระสำราญราชการก็ไม่เปนไปสะดวก เมื่อได้มีโอกาศรักษาพระองค์เปนปรกติแล้ว จะได้มีพระกำลังทนต่อราชกิจที่ต้องทรงเปนการธุระเหมือนอย่างเดิม...


การตกลงพระทัยของรัชกาลที่ ๕ ที่จะเสด็จฯ ยุโรป มีขึ้นอย่างช้าที่สุดในวันที่ ๒๘ ตุลาคม เมื่อมีพระราชหัตถเลขาถึงกรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการให้ทรงติดต่อหม่อมเจ้าจรูญศักดิ์ กฤดากร ทูตไทยประจำฝรั่งเศส เพื่อเตรียมจัดหาและจองที่ประทับที่เมืองซันเรโม ตามที่แพทย์กราบบังคมทูล "ด้วยการที่ฉันจะต้องไปรักษาตัวในประเทศยุโรปนั้น ก็เปนอันจำเปนแท้แน่นอนอยู่แล้ว ตามคำแนะนำของหมอเห็นควรจะอยู่ที่ซันเรโมก่อน ๔ วีก"


หลังจากตกลงพระทัยที่จะเสด็จฯ ยุโรปได้ไม่กี่วัน สาธารณชนก็ทราบเกือบจะทันทีว่า จะเสด็จฯ ยุโรป หนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ในกรุงเทพฯ ลงข่าวว่า จะเสด็จฯ ยุโรปปีหน้า ขณะเดียวกันพระอาการประชวรก็กำเริบขึ้นอีก รัชกาลที่ ๕ จึงเสด็จฯ แปรพระราชฐานประทับที่พระราชวังบางปะอินอีก (๓-๑๔ พฤศจิกายน) ดังได้กล่าวแล้ว


สำหรับหมายกำหนดการเสด็จฯ ยุโรปคร่าวๆ ที่ว่า โดยเร็วที่สุดซึ่งจะไปได้Ž ตามที่ทรงแจ้งหม่อมเจ้าจรูญศักดิ์ กฤดากรนั้น เกิดขึ้นได้จริงในอีกหลายเดือนต่อมา รัชกาลที่ ๕ ไม่สามารถเสด็จฯ ยุโรปได้โดยทันที เหตุผลสำคัญประการหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับการรักษาพระองค์ก็คือ

หากรีบเสด็จฯ ก็จะเสด็จฯ ถึงยุโรปตรงกับฤดูหนาว ไม่เป็นผลดีต่อพระพลานามัย จึงทรงวางหมายดำเนินการให้เสด็จฯ ถึงยุโรปในช่วงอากาศอบอุ่น หมายกำหนดการคร่าวๆ มีว่า จะเสด็จฯ ออกจากกรุงเทพฯ ในเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ (ค.ศ. ๑๙๐๗) และถึงยุโรปในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๕๐ (ค.ศ. ๑๙๐๗) ซึ่งเป็นเวลาที่อากาศในยุโรปใต้เริ่มอบอุ่นแล้ว

"แต่ในเวลานี้ ถ้าจะรีบไปทันทีตามที่หมอแนะนำก็จะไปตกรดูหนาว อาจให้เกิดอันตรายได้ จึงได้ขอให้หมอประคับประคองไปในระหว่าง ๔ เดือนนี้ จนถึงมีนาคม จึงจะได้ออกจากกรุงเทพฯ ให้ไปถึงประเทศยุโรปในเดือนเมษายน" กล่าวสั้นๆ เมื่อถึงปลายเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า รัชกาลที่ ๕ ตกลงพระทัยเสด็จฯ ยุโรปเพื่อรักษาพระองค์


ขอขอบคุณ

มติชนออนไลน์
พ.อ.ผศ.ดร. ศรศักร ชูสวัสดิ์


ภุมวารสวัสดิ์วัฒนาค่ะ



Create Date : 21 มิถุนายน 2554
Last Update : 21 มิถุนายน 2554 21:39:37 น. 0 comments
Counter : 2669 Pageviews.

sirivinit
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 224 คน [?]





/



2558

2556

2555

น้ำใจจากคุณ krittut 2554

2553


สิริสวัสดิ์วรวาร
เปรมปรีดิ์มานรื่นรมณีย์นะคะ ยินดีต้อนรับ
สู่บล็อกของคนใฝ่รู้ สำหรับผู้ใส่ใจใฝ่รู้ค่ะ

เชิญอ่านตามสบายนะคะ
มีดีๆให้คุณได้ทราบหลากหลายค่ะ

๑ - ๑/๑ ฉันรักในหลวง
๒.๓.๑๐.๑๕.๓๐.๒๔.๕๙.๖๓.๙๐.ธรรมะ
๔ - ๔/๑ รวมพลคนดัง
๕. ศาสนาพุทธสุดประเสริฐ
๖. ความรู้ทั่วไปในศาสนาพุทธ
๗. ๑๖. ประวัติศาสตร์
๘ - ๙/๑ ไม้ดอก ไม้ใบ
๑๑ - ๑๑/๑ เกม
๑๒.๓๗.๔๐-๔๓.๕๓.๗๕.๘๖.ศิลปะเทศ
๑๔ - ๑๔/๑. ๒๐๘. ข่าวคนดังเทศ
๑๘. ๑๙. ๒๒. ราชวงศ์ไทย
๒๐.๑๑๖-๑๑๖/๒ ๑๙๐-๑๙๐/๘ ละคร ทีวี
๒๑. ๓๑. ๒๐๘. ราชวงศ์เทศ
๒๔. นักเขียนไทย
๒๔/๑. กลอนชั้นบรมครู
๒๙/๑-๒๙/๔โปสการ์ดจากเพื่อนบล็อก
๓๓. สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
๓๙.๑๘๑-๑๘๑/๗ สุธาโภชน์รสเลิศล้ำ
๔๑.๔๒.๕๐.๕๘.๖๐.๖๑.๘๖.มหาวิหาร
๕๗. ปราสาท พระราชวัง คฤหาสน์เทศ
๖๒. วัด
๖๕ - ๖๕/๑ การ์ตูน
๖๕/๒. นิทานเซน
๖๗. ความตายมาพรากให้จากไป
๖๙ - ๖๙/๒ สารพัดสัตว์
๗๔. สุนัข
๗๖. อุทยานสวรรค์
๗๗. ซูเปอร์แมน - แบทแมน
๗๘ - ๘๓. แสตมป์สะสม
๘๕-๘๕/๑ หนังสือสะสม
๘๗ - ๘๗/๒ ๒๑๕ ข่าวกีฬา
๘๙. ๘๙/๑ จีนแผ่นดินใหญ่
๙๐/๑ .ทิเบต
๙๑. จันทร์สูริย์ดารา
๙๒. สมเด็จพระปิยมหาราชเจ้า
๙๓ - ๙๓/๒ ภาพยนตร์
๙๔ - ๙๔/๓ ยานยนต์
๙๕ - ๙๕/๑ ดูดวง
๙๖ - ๙๖/๑ . ๒๑๑ วิทยาศาสตร์
๙๗ - ๙๗/๑.๒๐๙ แวดวงวรรณกรรม
๙๘. ภาพพุทธประวัติ
๙๙. ๑๒๗ - ๑๒๗/๑ ดนตรี
๑๐๑. ป้าย R สะสม
๑๐๒. บัตรภาพตราไปรฯสะสม
๑๐๓. DIY
๑๐๗/๑ เล่าเรื่องเมืองญี่ปุ่น
๑๐๘ - ๑๐๘/๑ หนังสือ
๑๑๓ - ๑๑๓/๑ บ้านสวย
๑๑๕. พระเครื่อง
๑๒๐. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
๑๒๓. เจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ
๑๒๕. เหรียญที่ระลึก
๑๒๕/๑ เหรียญสะสมต่างประเทศ
๑๒๕/๒ เหรียญที่ระลึกจังหวัด
๑๒๕/๓ ธนบัตรที่ระลึก
๑๒๕/๔ บัตรโทรศัพท์
๑๒๕/๕ กล่องไม้ขีด และอื่นๆ
๑๓๑.เรื่องสั้นชั้นครู"เจียวต้าย"
๑๖๔.บล็อกพิเศษ วันเดียวอั๊พ 100
เอนทรี่ ให้คุณป้า"ร่มไม้เย็น"ชม
๑๙๐/๓ เรื่องย่อละคร
๑๙๓. คดีเขาพระวิหาร
๒๑๒. ศิลปะ
๒๑๗. วิถีแห่งอำนาจ บูเช็กเทียน
๒๑๗/๑.วิถีแห่งอำนาจ เจงกิสข่าน
๒๑๗/๒.วิถีแห่งอำนาจ จูหยวนจาง
๒๑๗/๓.วิถีแห่งอำนาจ ซูสีไทเฮา
๒๑๗/๔.วิถีแห่งอำนาจ หงซิ่วฉวน
๒๑๗/๕.วิถีแห่งอำนาจ แฮรี่ พอตเตอร์

ข่าวทั่วไปล่าสุด บล็อกล่างสุดค่ะ

เปิดบล็อก 1 มกราคม 2552



free counters
08.27 - 250811

207 flags collected 300316



Friends' blogs
[Add sirivinit's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.