"ยินดีต้อนรับสู่ บล็อกของคนใฝ่รู้ สำหรับผู้ใส่ใจใฝ่รู้ค่ะ" มีหลายหัวข้อเรื่องให้คุณอ่าน .. ขอบคุณที่มาเยี่ยมบล็อกค่ะ .. ขอจงมีแต่ความสุขกายสบายใจตลอดไปนะคะ
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2556
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
30 พฤษภาคม 2556
 
All Blogs
 

The Night Watch บทความส่งท้าย 108-1000-ศิลป์ โดย รศ.ดร.กฤษณา หงษ์อุเทน

 

คอลัมน์ : 108-1000 - ศิลป์  โดย  รองศาสตราจารย์ ดร.กฤษณา หงษ์อุเทน


1.Rembrandt: Night Watch, 1642, สีน้ำมันบนผ้าใบ, 363x437 ซม. Rijksmuseum, Amsterdam

       

สวัสดีค่ะ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน วันนี้ดิฉันใคร่ขอนำเสนอจิตรกรรมภาพเหมือนที่มีชื่อเสียงมากที่สุดภาพหนึ่งในโลกศิลปะ นั่นคือ กองรักษาการณ์ยามค่ำคืน หรือ The Night Watch (ภาพที่ 1) ของ เรมบรันท์ ฮาร์เมนซ์ ฟาน ไรน (Rembrandt Harmensz van Rijn / ค.ศ. 1606-1669) ยอดจิตรกรเอกของเนเธอร์แลนด์ แห่งคริสต์ศตวรรษที่ 17 หรือ สมัยบาโรก มาให้ท่านได้ชม

2.Rembrandt: ภาพเหมือนของชายผู้หนึ่ง, 1632, สีน้ำมันบนผ้าไม้, 63.5x48 ซม. Herzog-Anton-Ulrich-Museum, Braunschweig

       

ก่อนอื่นต้องขอเกริ่นว่า การตั้งชื่อภาพว่า The Night Watch ของนักประวัติศาสตร์ศิลป์สมัยก่อนได้นำไปสู่ความเข้าใจผิดอย่างใหญ่หลวง เพราะภาพนี้เป็นเพียงภาพเหมือนกลุ่มของสมาชิกสมาคมยิงปืนแห่งอัมสเตอร์ดัม หาใช่ภาพเหมือนของกองร้อยอาสาสมัครป้องกันเมืองดังที่เข้าใจกันแต่เดิมไม่
       
       ภาพเหมือนกลุ่มสมาชิกของสมาคมยิงปืนที่นำโดย นายร้อยเอก Frans Banning Cocq ซึ่งรู้จักกันในนามของ The Night Watch หรือ The Company of Captain Frans Bannig Cocq and Lieutenant Willem van Ruijtenburch ได้รับการยกย่องว่าเยี่ยมยอดมากในด้านการนำเสนอ การจัดวางองค์ประกอบภาพ รวมทั้งการกระจายแสงเงาและสีภายในภาพ
       
       อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าภาพนี้จะได้รับการยกย่องมากในยุคสมัยของเรา แต่กลับเป็นภาพที่ทำให้ศิลปินมีปัญหากับผู้ว่าจ้างมากที่สุดเช่นกัน เพราะสมาชิกส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้มีความรู้สึกว่า ภาพเหมือนนี้ไม่ได้เขียนในแนวประเพณีนิยมตามแบบที่พวกเขาต้องการ
       
       ประมาณ ค.ศ. 1632 เรมบรันท์ได้ตัดสินใจย้ายถิ่นฐานจากเมืองไลเดน (Leiden) บ้านเกิดเพื่อไปตั้งรกรากที่เมืองอัมสเตอร์ดัม ในช่วงปีแรกๆ ที่เขาอาศัยอยู่ในเมืองนี้ผลงานส่วนใหญ่ของเรมบรันท์มักจะเป็น ภาพเหมือนของบุคคลสำคัญ หรือ พ่อค้าที่ร่ำรวยในอัมสเตอร์ดัม รูปแบบการเขียนภาพเหมือนในช่วงนี้จะเหมือนจริงราวกับภาพถ่าย ทั้งรูปร่างหน้าตา เสื้อผ้าอาภรณ์ และเครื่องประดับ ซึ่งเป็นรูปแบบที่นิยมเขียนกันมากในอัมสเตอร์ดัมขณะนั้น (ภาพที่ 2)

3.Rembrandt: การบรรยายเรื่องกายวิภาคของนายแพทย์ Nicolaes Tulp, 1632, สีน้ำมันบนผ้าใบ, 169.5x216.5 ซม. Mauritshuis, The Hague
       

4.Michiel van Miereveld: การบรรยายเรื่องกายวิภาคของนายแพทย์ Willem van der Meer, สีน้ำมันบนผ้าใบ, Museum het Prinsenhof, Delf

 

       เรมบรันท์ไม่เพียงจะมีฝีมือยอดเยี่ยมมากในการเขียนภาพเหมือนบุคคลได้อย่างเหมือนจริงตามธรรมชาติเท่านั้น แต่เขายังสามารถถ่ายทอดเอกลักษณ์ส่วนบุคคล พลังแห่งชีวิต จิตวิญญาณ และอารมณ์ความรู้สึกของผู้เป็นแบบออกมาได้อย่างมีชีวิตชีวาอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ชื่อเสียงของเรมบรันท์จึงขจรไกลไปในไม่ช้า และกลายเป็นศิลปินยอดนิยมที่สุดในอัมสเตอร์ดัม ในช่วงระยะเวลาเพียงปีเดียวคือ ระหว่างปี ค.ศ. 1632-1633
       
       เรมบรันท์ เขียนภาพเหมือนไว้ถึงเกือบ 50 ภาพ ภาพเหมือนซึ่งมีชื่อเสียงที่สุดของเขาในระยะเวลานี้คือ ภาพเหมือนกลุ่มที่มีชื่อว่า การบรรยายเรื่องกายวิภาคของนายแพทย์นิโคเลส ทูล์ป (ภาพที่ 3)
       
       หลังจากที่ประเทศเนเธอร์แลนด์สามารถปลดแอกตนเองจากประเทศเสปนได้เป็นผลสำเร็จเมื่อปี ค.ศ. 1648 นอกจากจะประเทศจะได้รับเอกราชแล้ว ประชาชนยังสามารถนับถือคริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนต์ สาขาแคลวินิสม์ (Calvinism) ได้อย่างอิสรเสรีอีกด้วย หลังจากนั้นไม่นาน ประเทศเนเธอร์แลนด์ก็ร่ำรวยขึ้นมาอย่างมหาศาลจากการค้าขายทางทะเลกับทวีปเอเชีย ด้วยเหตุนี้ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 จึงถือกันว่าเป็นยุคทองของประเทศเนเธอร์แลนด์

5.Thomas de Keyser: ภาพเหมือนกลุ่มกองร้อยของนายร้อยเอก Allaart Cloeck, 1632, สีน้ำมันบนผ้าใบ, 220x351 ซม. Rijksmuseum, Amsterdam
       

6.Rembrandt: ภาพเหมือนตัวเองของศิลปิน, 1640, สีน้ำมันบนผ้าใบ, 102x80 ซม. National Gallery, London

 

       ในสมัยนี้ภาพจิตรกรรมนับเป็นศิลปะสาขาที่ได้รับความนิยมมากเป็นพิเศษในประเทศนี้ เพราะชนชั้นกลางที่ร่ำรวยขึ้นมาจากการค้าขายทางทะเลต่างนิยมตกแต่งบ้านเรือนด้วยภาพเขียนหรืองานศิลปะเพื่อยกสถานะทางสังคมของตนให้สูงขึ้นด้วยความมั่งคั่งร่ำรวยและรสนิยมทางศิลปะ นอกจากนั้น ภาพเขียนยังกลายมาเป็นวัตถุมีค่าที่พวกเศรษฐีนิยมซื้อหามาเก็บไว้เพื่อเก็งกำไรอีกด้วย ดังนั้นจึงทำให้ผู้ที่พอมีพรสวรรค์ทางด้านการเขียนภาพและเขียนภาพด้วยใจรักมากมายหลายคนประสบความสำเร็จในอาชีพการเขียนภาพ และได้หันมายึดอาชีพนี้เป็นหลัก
       
       ระหว่างสงครามปลดปล่อยตนเองจากประเทศเสปนได้มีการจัดตั้งกองร้อยอาสาสมัครป้องกันเมืองขึ้นในประเทศเนเธอร์แลนด์ ต่อมา ถึงแม้ว่าสงครามจะสิ้นสุดลงแล้ว แต่อดีตอาสาสมัครเหล่านี้มักจะหาโอกาสมารวมกลุ่มพบปะกันและฝึกซ้อมตามสมาคมของตนด้วยความภาคภูมิใจอยู่เนืองๆ คนเหล่านี้มักนิยมว่าจ้างจิตรกรให้มาวาดรูปหมู่ของตนเองไว้เป็นที่ระลึกด้วยเช่นกัน
       
       ภาพเหมือนหมู่ของอดีตกองร้อยอาสาสมัครป้องกันเมืองจะมีขนาดใหญ่โตมาก เพราะเป็นภาพที่มักนำไปแขวนไว้บนผนังห้องประชุมขนาดใหญ่ แน่นอนที่สุด ทุกคนต่างก็ต้องการให้ภาพเหมือนของตนเองมองเห็นได้ชัดเจนเท่ากับของคนอื่นๆ ไม่ว่าจะอยู่ตรงส่วนไหนของภาพ เพราะทุกคนถือว่า เมื่ออยู่ร่วมกันในกลุ่ม พวกเขาต่างมีสิทธิเท่าเทียมกันเสมอ และที่สำคัญที่สุด ทุกคนต้องเฉลี่ยเงินกันจ่ายเป็นค่าจ้างเขียนภาพให้แก่ศิลปินในจำนวนเงินที่เท่าๆ กันอีกด้วย ดังนั้น สิ่งที่ทุกคนต้องการมากที่สุดก็คือ ให้ภาพของตนเองปรากฏอยู่ท่ามกลางแสงสว่างที่แจ่มชัดเช่นเดียวกับคนอื่นๆ และความนิยมในภาพเหมือนหมู่ของชาวเนเธอร์แลนด์ในขณะนั้นมีมากจนแม้กระทั่งกลุ่มผู้บริหารองค์กรต่างๆ ก็ยังนิยมว่าจ้างศิลปินให้เขียนภาพเหมือนหมู่ของตนเองไว้ด้วยเช่นกัน
       
       โดยทั่วไป ภาพเหมือนหมู่ที่เขียนตามแนวประเพณีนั้นจะมีการจัดวางองค์ประกอบโดยให้บุคคลภายในภาพนั่งหรือยืนเรียงแถวแบบหน้ากระดานหรือจัดแถวเป็นรูปครึ่งวงกลม (ภาพที่ 4 และ 5) และจะกำหนดให้แสงสว่างส่องกระจายเฉลี่ยเท่ากันทั่วทั้งภาพเพื่อให้ผู้ชมสามารถมองเห็นภาพของทุกคนได้อย่างชัดเจน การจัดวางองค์ประกอบภาพที่เป็นแบบแผนเดียวกันในลักษณะนี้ ทำให้ภาพเหมือนหมู่เหล่านี้ดูแข็งทื่อ ไม่เป็นธรรมชาติ ไม่มีชีวิตชีวา และน่าเบื่อ แต่เมื่อเป็นความต้องการของผู้ว่าจ้าง ศิลปินก็ไม่อาจขัดได้
       
       เรมบรันท์ ซึ่งเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงและความเชี่ยวชาญทั้งในด้านการเขียนภาพเหมือนเดี่ยวและภาพเหมือนหมู่ ก็ได้รับการว่าจ้างให้เขียนภาพเหมือนหมู่ในลักษณะนี้ด้วยเช่นกัน แต่การนำเสนอภาพของเรมบรันท์มักจะอยู่ในลักษณะตามใจศิลปินอยู่เสมอ
       
       ความเป็นอัจฉริยศิลปินของเรมบรันท์ทำให้เขารักอิสระทางความคิด และต้องการสลัดตนให้หลุดพ้นจากพันธนาการของระเบียบกฎเกณฑ์และหลักการเขียนภาพที่มีแม่แบบตายตัวและน่าเบื่อหน่าย ด้วยเหตุนี้เขาจึงพัฒนาวิธีการเขียนภาพเหมือนที่เน้นลักษณะอันเป็นปัจเจกบุคคลโดยใช้หลักความแตกต่างระหว่างแสงสว่างและความมืดมาเป็นตัวช่วย (ภาพที่ 6)
       
       ดังนั้น อิทธิพลของบรรยากาศในภาพเขียนของศิลปินผู้นี้จึงเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นถึงอารมณ์ความรู้สึกและสภาวะทางจิตของผู้เป็นแบบได้เป็นอย่างดี เทคนิคการจัดแสงสว่างในภาพเขียนแบบแสงจัดเงาจัดในลักษณะนี้เผยให้เห็นอิทธิพลของ คาราวัจโจ (Caravaggio) จิตรกรเอกสมัยบาโรกของอิตาลี ในผลงานของเรมบรันท์อย่างชัดเจน นอกจากนั้นเรมบรันท์ยังใช้จินตนาการในการสร้างเรื่องราวหรือสถานการณ์ให้เข้ากับอาชีพหรือบุคลิกภาพของผู้ว่าจ้างเพื่อทำให้การนำเสนอภาพเหมือนบุคคลของเขาน่าสนใจมากขึ้น ดังเช่นภาพเหมือนคู่ของตัวศิลปินเองและภรรยา (ภาพที่ 7)
       
       เรมบรันท์เลือกนำเสนอภาพเหมือนกลุ่มของสมาชิกสมาคมยิงปืนให้ดูราวกับเป็นภาพกองร้อยอาสาสมัครป้องกันเมืองกำลังเตรียมรวมกำลังพลออกไปรบกับผู้รุกราน ศิลปินกำหนดให้บริเวณฉากหลังของภาพ The Night Watch เป็นสีดำเกือบสนิทเพื่อเน้นภาพบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพผู้นำกลุ่ม ที่จิตรกรกำหนดให้แสงสว่างอันเจิดจ้ามากระทบเพื่อให้การปรากฏกายของพวกเขาเด่นชัดมากยิ่งขึ้น (ภาพที่ 8 และ 9) ด้วยวิธีนี้จึงทำให้ภาพนายร้อยเอกฟรันส์ เบนนิง ค็อค และ นายร้อยโทวิลเลม ฟาน รุยเทนบรูค ในชุดเครื่องแบบที่ประดับประดาด้วยเหรียญตราประจำตำแหน่งอย่างเต็มยศ ซึ่งปรากฏในบริเวณฉากหน้าของภาพ จึงดูราวกับกำลังจะเดินออกมานอกภาพ ในขณะที่ภาพขบวนแห่ของกลุ่มนักยิงปืนที่เคลื่อนไหวอยู่ในเงามืดของฉากหลัง ดูราวกับกำลังเคลื่อนตัวตามออกมาติดๆ (ภาพที่ 1)
       
       เรมบรันท์ให้ความสำคัญกับการจัดวางองค์ประกอบภาพที่เน้นการเคลื่อนไหวที่มีชีวิตชีวาของบุคคลภายในภาพเป็นสำคัญ จนไม่ใส่ใจกับความต้องการหลักของผู้ว่าจ้าง ไม่ว่าใบหน้าของใครจะจมอยู่ในเงามืด หรือ ภาพของใครบางคนจะปรากฏให้เห็นแต่เพียงส่วนของศีรษะที่โผล่ออกมาเพียงเล็กน้อยเท่านั้นก็ตาม (ภาพที่ 10-12)
       
       พลังแห่งการสร้างสรรค์และจินตนาการอันกว้างไกลเหนือขีดจำกัดทำให้ผลงานชิ้นนี้หลุดพ้นจากรูปแบบการเขียนภาพเหมือนจริงที่เป็นแบบแผนตามแนวประเพณี ด้วยอัจฉริยภาพในการจัดวางองค์ประกอบภาพและพลังแห่งชีวิตในทุกอาการเคลื่อนไหวของบุคคลภายในภาพ ทำให้ภาพ The Night Watch กลายมาเป็นตราประทับแห่งความเป็นอมตะของเรมบรันท์
       
       อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าการจัดวางองค์ประกอบภาพในลักษณะนี้ของ Rembrandt จะเผยให้เห็นอัจฉริยภาพของศิลปินผู้นี้อย่างชัดแจ้ง แต่ผลงานชิ้นนี้กลับไม่ได้รับการยอมรับจากผู้คนในสมัยนั้น อีกทั้งยังไม่เป็นที่พอใจของบรรดาสมาชิกหลายคน เพราะพวกเขาเห็นว่าไม่ยุติธรรม และพากันแย้งว่า ในเมื่อภาพของพวกเขาบางคนจมอยู่ในเงามืด บางคนแทบจะมองไม่เห็นหน้าด้วยซ้ำ แต่ทำไมพวกเขาต้องออกเงินเป็นค่าจ้างเขียนภาพจำนวน 1,600 เหรียญเท่ากันทุกคน โดยจ่ายเฉลี่ยที่คนละประมาณ 100 เหรียญ
       
       เมื่อนำภาพที่ 1 และ ภาพที่ 13 มาเปรียบเทียบกัน จะสังเกตเห็นว่า ภาพ The Night Watch ในปัจจุบันมีขนาดเล็กกว่าในอดีต (ขนาดดั้งเดิม 440x500 ซม. ปัจจุบัน 363x437 ซม.) สาเหตุเพราะ เมื่อปี ค.ศ. 1715 ได้มีการขนย้ายภาพเขียนนี้จากสมาคมยิงปืนไปไว้ในศาลากลางจังหวัด แต่เนื่องจากประตูทางเข้าห้องโถงใหญ่มีขนาดเล็กกว่าภาพ ทำให้ต้องมีการตัดขอบของภาพออกทุกด้านคือ ด้านบน 25 ซม. ด้านล่าง 50 ซม. ด้านซ้าย 30 ซม. และด้านขวา 10 ซม. หลังจากนั้นภาพนี้ก็ถูกลืมและทอดทิ้งโดยปราศจากการเอาใจใส่เป็นเวลานานกว่าร้อยปี
       
       หมายเหตุ: ชื่อเฉพาะภาษาต่างประเทศในบทความนี้สะกดตามคำอ่านในภาษานั้นๆ
       
       ปัจฉิมลิขิต: ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน สุดท้ายนี้ ดิฉันมีความเสียใจอย่างยิ่ง ที่ต้องขอเรียนว่า บทความนี้จะเป็นบทความสุดท้ายใน 108-1000-ศิลป์ ความจำเป็นอันเนื่องมาจากเงื่อนไขของเวลาในการปฏิบัติภารกิจด้านการวิจัยของนักวิชาการ ทำให้ต้องขอยุติการพบกันในทุกสัปดาห์ โดยหวังว่าจะเป็นการชั่วคราว ขอขอบพระคุณในไมตรีจิตและมิตรภาพของทุกท่านที่สนใจติดตามคลิกเข้ามาอ่าน หากท่านผู้อ่านยังคงสนใจใคร่รู้เรื่องราวเกี่ยวกับศิลปะในลักษณะนี้ต่อไป ดิฉันและ 108-1000-ศิลป์ ก็ยินดีจะกลับมารับใช้ทุกท่านในโอกาสต่อไป ขอความสุขสวัสดีจงมีแด่ท่านผู้อ่านทุกท่าน
       
       ด้วยความรักและผูกพันฉันนักเขียนที่มีต่อผู้อ่าน
       
       รองศาสตราจารย์ ดร. กฤษณา หงษ์อุเทน

7.Rembrandt: ภาพเหมือนตัวเองของศิลปินและภรรยา (Saskia), ราว 1635, สีน้ำมันบนผ้าใบ, 161x131 ซม. Gemäldegalerie Alter Meister, Dresden
       

8.รายละเอียดจากภาพที่ 1
       

9.รายละเอียดจากภาพที่ 1
       

10.รายละเอียดจากภาพที่ 1
       

11.รายละเอียดจากภาพที่ 1
       

12.รายละเอียดจากภาพที่ 1
       

13.ภาพคัดลอกจิตรกรรม “The Night Watch” บนกระดาษหน้าหนึ่งในสมุดภาพประจำตระกูลของ Frans Banning Cocq, ราว 1650, สีฝุ่น, 14.2x18 ซม. Rijkmuseum, Amsterdam

 

ขอบคุณ
ผู้จัดการออนไลน์
คอลัมน์:108-1000 -ศิลป์ 
รศ.ดร.กฤษณา หงษ์อุเทน

สวัสดิ์สิริชีววารค่ะ




 

Create Date : 30 พฤษภาคม 2556
0 comments
Last Update : 30 พฤษภาคม 2556 17:15:53 น.
Counter : 1199 Pageviews.


sirivinit
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 224 คน [?]





/



2558

2556

2555

น้ำใจจากคุณ krittut 2554

2553


สิริสวัสดิ์วรวาร
เปรมปรีดิ์มานรื่นรมณีย์นะคะ ยินดีต้อนรับ
สู่บล็อกของคนใฝ่รู้ สำหรับผู้ใส่ใจใฝ่รู้ค่ะ

เชิญอ่านตามสบายนะคะ
มีดีๆให้คุณได้ทราบหลากหลายค่ะ

๑ - ๑/๑ ฉันรักในหลวง
๒.๓.๑๐.๑๕.๓๐.๒๔.๕๙.๖๓.๙๐.ธรรมะ
๔ - ๔/๑ รวมพลคนดัง
๕. ศาสนาพุทธสุดประเสริฐ
๖. ความรู้ทั่วไปในศาสนาพุทธ
๗. ๑๖. ประวัติศาสตร์
๘ - ๙/๑ ไม้ดอก ไม้ใบ
๑๑ - ๑๑/๑ เกม
๑๒.๓๗.๔๐-๔๓.๕๓.๗๕.๘๖.ศิลปะเทศ
๑๔ - ๑๔/๑. ๒๐๘. ข่าวคนดังเทศ
๑๘. ๑๙. ๒๒. ราชวงศ์ไทย
๒๐.๑๑๖-๑๑๖/๒ ๑๙๐-๑๙๐/๘ ละคร ทีวี
๒๑. ๓๑. ๒๐๘. ราชวงศ์เทศ
๒๔. นักเขียนไทย
๒๔/๑. กลอนชั้นบรมครู
๒๙/๑-๒๙/๔โปสการ์ดจากเพื่อนบล็อก
๓๓. สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
๓๙.๑๘๑-๑๘๑/๗ สุธาโภชน์รสเลิศล้ำ
๔๑.๔๒.๕๐.๕๘.๖๐.๖๑.๘๖.มหาวิหาร
๕๗. ปราสาท พระราชวัง คฤหาสน์เทศ
๖๒. วัด
๖๕ - ๖๕/๑ การ์ตูน
๖๕/๒. นิทานเซน
๖๗. ความตายมาพรากให้จากไป
๖๙ - ๖๙/๒ สารพัดสัตว์
๗๔. สุนัข
๗๖. อุทยานสวรรค์
๗๗. ซูเปอร์แมน - แบทแมน
๗๘ - ๘๓. แสตมป์สะสม
๘๕-๘๕/๑ หนังสือสะสม
๘๗ - ๘๗/๒ ๒๑๕ ข่าวกีฬา
๘๙. ๘๙/๑ จีนแผ่นดินใหญ่
๙๐/๑ .ทิเบต
๙๑. จันทร์สูริย์ดารา
๙๒. สมเด็จพระปิยมหาราชเจ้า
๙๓ - ๙๓/๒ ภาพยนตร์
๙๔ - ๙๔/๓ ยานยนต์
๙๕ - ๙๕/๑ ดูดวง
๙๖ - ๙๖/๑ . ๒๑๑ วิทยาศาสตร์
๙๗ - ๙๗/๑.๒๐๙ แวดวงวรรณกรรม
๙๘. ภาพพุทธประวัติ
๙๙. ๑๒๗ - ๑๒๗/๑ ดนตรี
๑๐๑. ป้าย R สะสม
๑๐๒. บัตรภาพตราไปรฯสะสม
๑๐๓. DIY
๑๐๗/๑ เล่าเรื่องเมืองญี่ปุ่น
๑๐๘ - ๑๐๘/๑ หนังสือ
๑๑๓ - ๑๑๓/๑ บ้านสวย
๑๑๕. พระเครื่อง
๑๒๐. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
๑๒๓. เจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ
๑๒๕. เหรียญที่ระลึก
๑๒๕/๑ เหรียญสะสมต่างประเทศ
๑๒๕/๒ เหรียญที่ระลึกจังหวัด
๑๒๕/๓ ธนบัตรที่ระลึก
๑๒๕/๔ บัตรโทรศัพท์
๑๒๕/๕ กล่องไม้ขีด และอื่นๆ
๑๓๑.เรื่องสั้นชั้นครู"เจียวต้าย"
๑๖๔.บล็อกพิเศษ วันเดียวอั๊พ 100
เอนทรี่ ให้คุณป้า"ร่มไม้เย็น"ชม
๑๙๐/๓ เรื่องย่อละคร
๑๙๓. คดีเขาพระวิหาร
๒๑๒. ศิลปะ
๒๑๗. วิถีแห่งอำนาจ บูเช็กเทียน
๒๑๗/๑.วิถีแห่งอำนาจ เจงกิสข่าน
๒๑๗/๒.วิถีแห่งอำนาจ จูหยวนจาง
๒๑๗/๓.วิถีแห่งอำนาจ ซูสีไทเฮา
๒๑๗/๔.วิถีแห่งอำนาจ หงซิ่วฉวน
๒๑๗/๕.วิถีแห่งอำนาจ แฮรี่ พอตเตอร์

ข่าวทั่วไปล่าสุด บล็อกล่างสุดค่ะ

เปิดบล็อก 1 มกราคม 2552



free counters
08.27 - 250811

207 flags collected 300316



Friends' blogs
[Add sirivinit's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.