เหรียญมีสองด้าน แล้วแต่คุณจะเลือกมองด้านไหน
Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2550
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728 
 
12 กุมภาพันธ์ 2550
 
All Blogs
 
โครงสร้างภาคต่างประเทศของเศรษฐกิจไทย

หัวข้อนี้เขียนขึ้นมาเพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการวิเคราะห์ผลกระทบของปัจจัยหรือนโยบายใดๆ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในประเทศหรือต่างประเทศ ที่มีต่อภาคเศรษฐกิจระหว่างประเทศของไทยนะครับ โดยจะยึดตามโครงสร้างดุลการชำระเงินระหว่างประเทศ (Balance of Payment) ซึ่งดุลบัญชีการชำระเงินดังกล่าวจะประกอบด้วย 2 ส่วนคือดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account: CA) และดุลบัญชีเคลื่อนย้ายทุน (Capital Account: KA)

ดุลการชำระเงิน (Balance of Payment)
ดุลการชำระเงินเป็นบัญชีวัดการดำเนินธุรกรรมระหว่างประเทศ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง ซึ่งโดยทั่วไปเป็นระยะเวลา 1 ปีปฏิทิน โดยดุลการชำระเงินแสดงรายรับหรือสินเชื่อ จะแสดงเครื่องหมายบวก เมื่อมีเงินไหลเข้าประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการไหลเข้าจากกำไรดุลการค้า การลงทุนจากต่างประเทศ หรือการกู้ยืม ขณะที่ดุลการชำระเงินแสดงรายจ่ายหรือลูกหนี้ จะแสดงเครื่องหมายลบ เมื่อมีเงินไหลออกนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการไหลออกจากการขาดดุลการค้า การที่ไทยไปลงทุนในต่างประเทศ ให้กู้ยืม หรือการชำระหนี้ต่างประเทศ โดยดุลการชำระเงินคำนวณจากผลรวมของดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account) และดุลบัญชีเคลื่อนย้ายทุน (Capital Account) โดยสำหรับประเทศไทยแล้ว หลังวิกฤตเศรษฐกิจเป็นต้นมา ประเทศไทยมีดุลการชำระเงินเกินดุลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งดุลการชำระเงินที่เกินดุลดังกล่าวส่งผลให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก



เมื่อพิจารณาในรายละเอียดแล้ว ในส่วนของดุลบัญชีเดินสะพัดจะประกอบด้วยดุลการค้า ดุลบริการ ดุลรายได้ และเงินโอน โดยส่วนสำคัญที่ส่งผลต่อดุลบัญชีเดินสะพัดคือการส่งออกและการนำเข้าสินค้าและบริการ ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศของไทย ในด้านการผลิตสินค้าและบริการ หากสินค้าและบริการใดสามารถผลิตได้มากเกินกว่าปริมาณความต้องการในประเทศ และราคาต่ำกว่าราคาในตลาดโลก ก็จะสามารถส่งออกสินค้าและบริการนั้นได้ และจะเกินดุลบัญชีเดินสะพัด แต่หากสินค้าและบริการใดที่ประเทศไม่สามารถผลิตได้ หรือผลิตได้น้อยกว่าปริมาณความต้องการของคนในประเทศ ก็จำเป็นต้องนำเข้าสินค้าและบริการนั้นๆ เพื่อสนองตอบการบริโภคและการลงทุนที่มีอยู่ในประเทศ ซึ่งสำหรับประเทศไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานั้น จะมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดทุกปี ยกเว้นปี 2548 ที่มีการนำเข้าสินค้าทุนเพื่อการลงทุนมาก

สำหรับดุลบัญชีเคลื่อนย้ายทุนนั้น เป็นดุลบัญชีที่แสดงการเคลื่อนย้ายของเงินตราระหว่างประเทศ โดยประกอบด้วยองค์ประกอบหลัก 3 ส่วนได้แก่ 1. การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) 2. การลงทุนทางอ้อมที่นักลงทุนต่างชาติในตลาดรอง (Portfolio Investment) ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในตลาดตราสารทุนหรือตลาดตราสารหนี้ และ 3. อื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นรายการเงินกู้ยืมระหว่างประเทศ ซึ่งสำหรับประเทศไทยแล้ว ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การลงทุนใน 2 รายการแรกโดยรวมแล้วเป็นบวก (มีเม็ดเงินเพื่อการลงทุนไหลเข้าประเทศมากกว่าไหลออกนอกประเทศ) โดยมีแนวโน้มเป็นบวกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่รายการที่ 3 (อื่นๆ) จะมีเงินทุนไหลออกเพื่อการชำระหนี้ต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยมีแนวโน้มลดลงตามจำนวนหนี้ต่างประเทศของไทยที่ลดลง

ดุลบัญชีเดินสะพัด
โดยทั่วไปแล้ว ประเทศที่กำลังพัฒนาส่วนใหญ่จะมีความเปิดกว้างทางเศรษฐกิจ (Term of Trade) ซึ่งคือผลรวมของมูลค่าการนำเข้าและมูลค่าการส่งออกต่อ GDP สูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งหมายความว่าการเปิดเสรีทางการค้าจะมีผลกระทบต่อประเทศกำลังพัฒนามากกว่าประเทศกำลังพัฒนา โดยอัตราการความเปิดกว้างทางเศรษฐกิจในระดับสูงของประเทศกำลังพัฒนานั้นมีสาเหตุหลักเนื่องจากประเทศเหล่านี้จำเป็นต้องขายสินค้าที่สามารถผลิตได้ภายในประเทศเพื่อแลกกับการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบบางประเภทที่ตนเองไม่สามารถผลิตได้ภายในประเทศจำนวนมาก เพื่อนำมาพัฒนาประเทศ ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีขนาดเศรษฐกิจภายในใหญ่กว่ามูลค่าการค้าระหว่างประเทศ และสินค้าส่วนใหญ่นั้นสามารถผลิตได้ภายในประเทศจึงไม่มีความจำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าทุนมากนัก จะมีแต่เพียงสินค้าอุปโภคบริโภคที่ต้องนำเข้าบ้าง ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงสภาพเศรษฐกิจแต่ละประเทศควบคู่กันไปด้วยแล้ว พบว่าไม่เพียงแต่ประเทศกำลังพัฒนาจะมีอัตราการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจสูงในปัจจุบัน แต่หากในอนาคตยังมีแนวโน้มที่จะมีอัตราฯเพิ่มสูงขึ้นไปอีก ดังจะสังเกตได้จากอัตราการขยายตัวของทั้งการนำเข้า และการส่งออกในประเทศกำลังพัฒนาที่โดยเฉลี่ยแล้วจะอยู่ในระดับที่สูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างเห็นได้ชัด สำหรับประเทศไทยแล้วมีอัตราความเปิดกว้างทางเศรษฐกิจสูงกว่าร้อยละ 120 อย่างต่อเนื่อง



ประเทศไทยเป็นประเทศเล็กที่มีระบบเศรษฐกิจแบบเปิด โดยในปี 2548 มีอัตราความเปิดกว้างทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สูงถึงประมาณร้อยละ 129 โดยมีมูลค่าการนำเข้าและส่งออกคิดเป็นประมาณร้อยละ 62 และ 67 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศตามลำดับ แม้ว่าดุลการค้าจะมีมูลค่าเพียงประมาณร้อยละ 5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศก็ตาม แต่อัตราความเปิดกว้างทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในระดับสูงดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการค้าระหว่างประเทศของไทยมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก ดังนั้นเราจึงควรตระหนักอย่างมากถึงผลกระทบในการดำเนินนโยบายการค้าระหว่างประเทศรวมถึงผลกระทบในการเปิดเสรีทางการค้า เนื่องจากกระแสโลกาภิวัฒน์เป็นกระแสที่มีความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน และไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

ดุลบัญชีเคลื่อนย้ายทุน
สำหรับส่วนดุลบัญชีเคลื่อนย้ายทุน เป็นดุลบัญชีที่แสดงการเคลื่อนย้ายของเงินตราระหว่างประเทศนอกเหนือจากการนำเข้า-ส่งออกสินค้าและบริการ ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของไทยไม่น้อยเช่นเดียวกัน การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศไทยอย่างมาก โดยการช่วยผ่อนคลายปัญหาการขาดแคลนเงินทุนในการพัฒนาประเทศไทย FDI เป็นประเภทของเงินทุนที่ประเทศผู้รับการลงทุนต้องการเนื่องจากมีความเสี่ยงจากการไหลออกของเงินทุนประเภทนี้น้อยกว่าเงินทุนจากต่างประเทศประเภทอื่น นอกจากนี้ FDI มักจะมาพร้อมกับเทคโนโลยีและการถ่ายทอดความรู้จากต่างประเทศ ทำให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรม เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และการขยายการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างมีเสถียรภาพในระยะยาวสำหรับประเทศผู้รับการลงทุน ในด้านการลงทุนทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในตลาดตราสารทุน หรือตลาดตราสารหนี้ ก็มีความสำคัญต่อตลาดเงินของไทยอย่างมาก โดยในตลาดหลักทรัพย์ของไทยในปี 2549 พบว่าสัดส่วนการซื้อขายจากนักลงทุนต่างชาติ คิดเป็นประมาณร้อยละ 35 ของมูลค่าการซื้อขายรวม อีกทั้งดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยยังมีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกันกับการลงทุนจากต่างชาติด้วย โดยเหตุการณ์ที่สำคัญที่เกิดขึ้นในปี 2549 อันจะแสดงได้ถึงความสำคัญของเงินทุนต่างชาติได้แก่ เดือนมกราคม 2549 มีเงินทุนจากต่างประเทศเข้ามาซื้อหลักทรัพย์ของบริษัทโทรคมนาคมของไทย ทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทยปรับตัวสูงขึ้นจาก 713.73 จุด ณ สิ้นเดือนเดือนธันวาคม 2548 เป็น 762.63 จุด ณ สิ้นเดือนมกราคม 2549 เพิ่มขึ้นถึง 48.9 จุด หรือคิดเป็นร้อยละ 6.9 ในทางกลับกันในเดือนพฤษภาคม 2549 เกิดเหตุการณ์ผันผวนขึ้นในตลาดทุนโลก ทำให้ต่างชาติถอนทุนออกจากตลาดเงินในประเทศไทยในเดือนดังกล่าว ซึ่งส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทยปรับตัวลดลงจาก 768.29 จุด ณ สิ้นเดือนเมษายน 2549 ลดลงเหลือ 709.43 จุด ณ เดือนพฤษภาคม 2549 และลดลงเหลือ 678.13 จุด ณ เดือนมิถุนายน 2549 ซึ่งรวมแล้วเป็นการลดลง 90.2 จุด หรือคิดเป็นร้อยละ 11.3



นอกจากความผันผวนของเงินทุนต่างชาติจะขึ้นอยู่กับปัจจัยทางมหภาค และ/หรือ ปัจจัยทางจุลภาคดังที่ได้ยกตัวอย่างข้างต้นแล้ว ทิศทาง และความผันผวนหรือความชัดเจนทางนโยบายของประเทศไทยเอง ก็มีส่วนสำคัญในการกำหนดการลงทุนของต่างชาติในประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ นโยบายกันสำรองเงินตราต่างประเทศร้อยละ 30 ที่ธนาคารได้ประกาศใช้ในวันที่ 18 ธันวาคม 2549 ส่งผลให้มูลค่าตลาดหลักทรัพย์ไทยหายไปกว่า 8 แสนล่านบาท ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทยลดลงไปสูงสุดถึง 142.63 จุด หรือคิดเป็นร้อยละ 19.5 ก่อนจะมาปิดลบ 108.41 จุด หรือคิดเป็นร้อยละ 14.8 ซึ่งเป็นการลดลงภายในวันเดียวที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ตลาดหลักทรัพย์ไทย


ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าภาคต่างประเทศมีความสำคัญต่อการพัฒนาการเศรษฐกิจของไทยเพียงใด กรอบในการวิเคราะห์ภาคเศรษฐกิจระหว่างประเทศของไทยเป็นสิ่งพื้นฐานที่นักเศรษฐศาสตร์ควรรู้ เพื่อที่จะใช้วิเคราะห์ผลกระทบต่อภาคต่างประเทศของเรา เพราะในระบบเศรษฐกิจ มีประตูเชื่อมต่อเศรษฐกิจภายนอกอยู่เพียงแค่นี้เองครับ หากจะวิเคราะห์ผลกระทบของการก่อการร้าย ก็จะกระทบผ่านการลงทุนระหว่างประเทศรวมถึงการท่องเที่ยวเป็นหลัก หากจะวิเคราะห์ผลกระทบของราคาน้ำมัน ก็จะกระทบการนำเข้าเป็นหลัก เป็นต้น การใช้ความรู้พื้นฐานให้เกิดประโยชน์มากแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับผู้ใช้เป็นสำคัญนะครับ


Create Date : 12 กุมภาพันธ์ 2550
Last Update : 13 กุมภาพันธ์ 2550 16:02:57 น. 0 comments
Counter : 11085 Pageviews.

TheShadow
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 25 คน [?]




ข่าวเศรษฐกิจไทย
ข่าวต่างประเทศ


ข้อมูลเศรษฐกิจในประเทศ
ข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศ
ค้นคว้าข้อมูลทั่วไป
แหล่งเชื่อมโยงอื่นๆที่น่าสนใจ
Friends' blogs
[Add TheShadow's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.