เหรียญมีสองด้าน แล้วแต่คุณจะเลือกมองด้านไหน
Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2551
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
17 กรกฏาคม 2551
 
All Blogs
 
ภาวะเงินเฟ้อขั้นรุนแรง (Hyperinflation)

ภาวะเงินเฟ้อขั้นรุนแรง (Hyperinflation)

เงินเฟ้อขั้นรุนแรง หรือ Hyperinflation ในความหมายทางเศรษฐศาสตร์คือภาวะเงินเฟ้อ (Inflation) ที่ไม่สามารถควบคุมได้ เป็นสภาพการณ์ที่ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า ค่าของเงินลดลงอย่างรวดเร็ว สถานการณ์ที่ถือว่าอยู่ในภาวะ Hyperinflation เช่น เมื่อระดับราคาเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 ต่อเดือน หรืออาจจะเทียบง่ายๆคือ สินค้าชิ้นเดียวกัน เช้าราคาหนึ่ง กลางวันราคาหนึ่ง ตกเย็นอีกราคาหนึ่ง ซึ่งเงินเฟ้อแบบนี้จะทำให้หน้าที่ของเงินสูญสิ้นไป การแลกเปลี่ยนจากสิ่งของเป็นสิ่งของ (Barter Trade) จะกลับมามีบทบาทอีกครั้งหนึ่ง

ลักษณะทั่วไปของ Hyperinflation คือ
1. ประชาชนทั่วไปต้องการที่จะถือสินทรัพย์ที่ไม่ใช่ตัวเงินหรือเงินในสกุลที่มีเสถียรภาพ
2. ราคาสินค้าในประเทศเริ่มติดป้ายราคาที่เป็นสกุลเงินต่างชาติที่มีเสถียรภาพมากกว่า
3. ไม่มีใครยอมให้สินเชื่อในระบบ เนื่องจากการชำระคืนเงินแม้ในช่วงระยะเวลาสั้นๆก็ทำให้มูลค่าของเงินลดลงอย่างรวดเร็ว

สาเหตุสำคัญของภาวะ Hyperinflation นี้ แรกเริ่มเกิดจากปริมาณเงินที่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเป็นจำนวนมากและรวดเร็ว โดยที่ผลผลิตในระบบเศรษฐกิจไม่ได้ขยายตัวเร็วได้เท่า หรือกล่าวในภาษาเศรษฐศาสตร์คือ อุปสงค์และอุปทานของเงินไม่อยู่ในภาวะที่เหมาะสมกัน (Imbalance) ยังผลให้เกิดความไม่เชื่อมั่นในตัวเงินที่มีอยู่ (เนื่องจากเงินมีมากในระบบฯ ใครๆก็สามารถถือเงินได้) แม้ในปัจจุบัน ที่กฎหมายได้กำหนดให้มีสินทรัพย์ค้ำประกันเงินตราที่ออกสู่ระบบ กฎหมายดังกล่าวกำหนดได้เพียง “เงินที่ถูกพิมพ์” เท่านั้น แต่ไม่ได้กำหนดถึงการหมุนเวียนของเงินตรานั้นๆ นั่นคือ แม้ “เงินที่ถูกพิมพ์” จะไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่หากเงินดังกล่าวหมุนเวียนในระบบอย่างรวดเร็วเกินกว่าการขยายตัวของผลผลิตอย่างมากแล้ว ภาวะ Hyperinflation ก็ยังอาจเกิดขึ้นได้

นัยยะในภาคการเงิน

ตามทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์การเงิน เงินเฟ้อเป็นปรากฏการณ์หนึ่งทางการเงิน เพราะต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อนั้นมาจากการที่ปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมีมากเกินไป โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับปริมาณสินค้าและบริการที่ผลิตมาให้ผู้บริโภคจับจ่าย ผลที่ตามมาคือ เงินจำนวนที่มากกว่าไล่ซื้อสินค้าที่มีน้อยกว่า กลไกราคาในตลาดจึงเกิดการปรับตัว เพื่อให้อุปสงค์กับอุปทานอยู่ในภาวะที่เหมาะสมในระบบ นั่นคือราคาสินค้าจะปรับสูงขึ้นตามการหมุนเวียนของปริมาณเงินในที่สุด

งานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับภาวะ Hyperinflation ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นหลักฐานที่ยืนยันความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างราคาและปริมาณเงินได้เป็นอย่างดี ตัวอย่างที่ถูกยกขึ้นมามากที่สุดคือกรณีประเทศเยอรมนี ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อเยอรมนีพ่ายแพ้สงคราม (ปี 1918) รัฐบาลเยอรมนีจำเป็นต้องชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามกับประเทศผู้ชนะสงคราม อย่างอังกฤษ และฝรั่งเศส ตามสนธิสัญญาแวร์ซายน์ (ค่าปฏิกรรมสงครามที่เยอรมนีต้องชดใช้ในสมัยนั้นคือ ปีละ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ผลของการชดใช้ดังกล่าว ทำให้รัฐบาลเยอรมนีจำต้องใช้นโยบายพิมพ์เงินขนานใหญ่เพื่อนำมาชดใช้ค่าปฏิกรรมสงคราม การเพิ่มขึ้นของปริมาณเงินมาร์กตั้งแต่ปี 1922-1925 ทำให้ระดับราคาสินค้าเฉลี่ยภายในเยอรมนีเพิ่มสูงตามไปด้วย โดยในปี 1923 อัตราเงินเฟ้อของเยอรมนีอยู่ที่ร้อยละ 3.25 x 10^6 ต่อเดือน (ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นเท่าตัวทุกๆ 2 วัน) กล่าวกันว่า ร้านอาหารต่าง ๆ ในเยอรมันจะมีพนักงานคอยบอกราคาใหม่ทุก ๆ 30 นาที เลยทีเดียว



นอกจากเยอรมนีแล้ว ประเทศที่เคยมีประสบการณ์เงินเฟ้ออย่างรุนแรง เช่น ประเทศฮังการี โดยหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง (ปี 1946) ฮังการีได้รับความบอบช้ำจากสงคราม ผลพวงดังกล่าวทำให้เกิดเงินเฟ้ออย่างรุนแรงถึงร้อยละ 4.19 × 10^16 ต่อเดือน หรือเทียบง่าย ๆ คือราคาสินค้าจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวทุก ๆ 15 ชั่วโมง ภายหลังจากสิ้นสุดยุคสงครามโลกแล้ว ประเทศในลาตินอเมริกานับเป็นประเทศที่เผชิญกับ Hyperinflation มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นโบลิเวีย อาร์เจนติน่า เปรู หรือบราซิล ปัจจุบันประเทศที่มีปัญหาเงินเฟ้อขั้นรุนแรงที่สุด คือประเทศซิมบับเว โดยเงินเฟ้อล่าสุด ในเดือนมิถุนายน 2551 อยู่ที่ร้อยละ 9,030,000

ภาวการณ์ดังกล่าว ทำให้ค่าเงินประเทศนั้นๆเป็นเพียงแค่เงินกระดาษ (Paper Money) ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็จะไม่มีใครอยากถือเงินสกุลท้องถิ่นของตัวเองเลย ยกตัวอย่าง ในประเทศเยอรมนี (ปี 1923) เงินจำนวน 1 ดอลลาร์สหรัฐ สามารถแลกเงินมาร์คเดิมได้ 4,000,000,000,000 มาร์ค ซึ่งในปลายปี 1923 รัฐบาลได้เปลี่ยนสกุลเงินมาร์คเดิม เป็นมาร์คปัจจุบัน โดย 1,000,000,000,000 มาร์คเดิม เท่ากับ 1 มาร์คปัจจุบัน หรือในประเทศฮังการี (ปี 1946) ภายหลังผลพวกจาก Hyperinflation รัฐบาลได้เปลี่ยนสกุลเงินจากเปงโกเป็นสกุลเงินฟอรินต์ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน โดยขณะที่เริ่มใช้เงินสกุลฟอรินต์นั้น 1 ฟอรินต์เท่ากับ 4 x 10^29 เปงโก หากดูประเทศที่เงินเฟ้อสูงที่สุดในปัจจุบันอย่างซิมบับเว ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2551 เงินจำนวน 1 ดอลลาร์สหรัฐมีค่าเท่ากับ 200,000,000,000 ดอลลาร์ซิมบับเว





จากการศึกษาประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ต้นตอของ Hyperinflation ที่สำคัญ เกิดจากความไม่มีวินัยทางการเงินการคลังของรัฐบาลโดยเฉพาะรัฐบาลที่คิดว่าการพิมพ์เงินเพิ่มขึ้นมาในระบบจะเป็นการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจได้ โดยเฉพาะปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดภายหลังจากสงคราม เยอรมนีนับเป็นประเทศที่ได้รับบทเรียนจากปัญหาเงินเฟ้อรุนแรงมากที่สุด ทุกวันนี้ Bundesbank ซึ่งเป็นธนาคารกลางเยอรมนีมีชื่อเสียงในเรื่องการควบคุมดูแลอัตราเงินเฟ้อได้เป็นอย่างดี


Create Date : 17 กรกฎาคม 2551
Last Update : 23 กรกฎาคม 2551 15:27:18 น. 0 comments
Counter : 28988 Pageviews.

TheShadow
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 25 คน [?]




ข่าวเศรษฐกิจไทย
ข่าวต่างประเทศ


ข้อมูลเศรษฐกิจในประเทศ
ข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศ
ค้นคว้าข้อมูลทั่วไป
แหล่งเชื่อมโยงอื่นๆที่น่าสนใจ
Friends' blogs
[Add TheShadow's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.