เหรียญมีสองด้าน แล้วแต่คุณจะเลือกมองด้านไหน
Group Blog
 
<<
มกราคม 2551
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
28 มกราคม 2551
 
All Blogs
 
หมดยุคอาหารราคาถูก

ในสถานการณ์ที่ระดับราคาสินค้าและบริการได้เพิ่มสูงขึ้นในประเทศไทย อันสืบเนื่องมาจากปัจจัยภายนอกเป็นสำคัญ ทั้งระดับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังคงอยู่ในระดับสูง และราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก ที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนในประเทศอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ราคาอาหารที่มีแนวโน้มสูงขึ้น แม้ในปัจจุบันรัฐบาลจะควบคุมราคาสินค้าและบริการอยู่แล้วก็ตาม แต่หากระดับราคายังคงสูงอย่างต่อเนื่อง ย่อมส่งผลกระทบต่อเนื่องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อัตราเงินเฟ้อในประเทศในปี 2550 ที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับประมาณร้อยละ 2.3 ต่อปี โดยเริ่มมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี สาเหตุสำคัญมาจากการปรับขึ้นของราคาสินค้าต่างๆ อันเนื่องมาจากต้นทุนที่สูงขึ้น โดยเฉพาะจากระดับราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น กอปรกับราคาอาหารที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ตามราคาผลผลิตทางการเกษตรที่ปรับตัวขึ้นตามราคาตลาดโลก ยังผลให้ผู้ประกอบการหลายราย ขอปรับขึ้นราคาสินค้าในช่วงปลายปี 2550 มากกว่า 500 รายการ หากไม่นับน้ำมันและก๊าซหุงต้มที่ลอยตัวตามราคาในตลาดโลกแล้ว น้ำมันพืชได้มีการขอปรับขึ้นราคาถึง 2 ครั้ง ขณะที่สินค้าอื่นๆ รวมถึงสินค้าจำเป็น เช่น ยารักษาโรค ปลากระป๋อง ผลิตภัณฑ์ล้างจาน ปุ๋ย ผลิตภัณฑ์นม ยางรถยนต์ และแบตเตอรี่ เป็นต้น ได้ขอปรับขึ้นราคาด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ค่าบริการโดยสารขนส่งได้ขอปรับขึ้นราคาด้วยเช่นกัน ซึ่งการปรับขึ้นราคาในสินค้าและบริการดังกล่าว ย่อมส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อประชาชน

หากพิจารณาจากข้อมูลในภาพรวมแล้วจะพบว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ได้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนกันยายน 2550 โดยปัจจัยสำคัญมาจากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ตามราคาน้ำมันในตลาดโลก กอปรกับราคาอาหารสดที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ตามผลผลิตทางการเกษตรในตลาดโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี หากพิจารณาเฉพาะอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมดัชนีราคาอาหารสดและพลังงานที่มีความผันผวนจากสถานการณ์ในตลาดโลกแล้ว ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีเช่นเดียวกัน โดยสาเหตุสำคัญมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม และหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร ตามการเพิ่มขึ้นของราคาผลผลิตทางการเกษตร และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกตามลำดับ







ปัจจัยที่สำคัญอีกประการที่ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อของประเทศ คือการปรับเพิ่มเพดานราคาก๊าซหุงต้มในประเทศ ซึ่งเป็นพลังงานที่สำคัญที่ใช้ในการปรุงอาหาร ไม่ว่าจะเป็นในครัวเรือนเองหรือร้านค้า ทั้งนี้การปรับราคาดังกล่าวจะมีการปรับเพดานราคาให้อิงกับราคาในตลาดโลกมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคสินค้าจำพวกอาหาร และส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในที่สุด

อย่างไรก็ดี การเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานและราคาผลิตผลทางการเกษตรดังกล่าว แม้บางส่วนจะไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตในทันที แต่ก็หลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะต้องเกิดขึ้นไม่ได้ หากพิจารณาจากข้อมูลดัชนีราคาผู้ผลิต โดยแบ่งตามขั้นตอนการผลิตแล้ว พบว่าราคาวัตถุดิบและปัจจัยการผลิตขั้นกลางเพิ่มขึ้นอย่างมากนับจากที่ราคาพลังงานและราคาผลิตผลทางการเกษตรได้ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อราคาสินค้าผู้บริโภคในอนาคตอันใกล้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการในแต่ละส่วนว่า จะสามารถแบกรับภาระที่เพิ่มขึ้นได้มากน้อยเพียงใด



ประเด็นปัญหาอยู่ที่ว่า การเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบต่างๆ เป็นการขึ้นแค่ชั่วคราวหรือขึ้นอย่างถาวร ซึ่งหากเป็นการขึ้นแค่ชั่วคราว ผู้ประกอบการอาจยังพอแบกรับภาระไว้ได้ในระดับหนึ่ง หากแต่การขึ้นราคาวัตถุดิบดังกล่าวเป็นการขึ้นอย่างถาวรแล้ว แม้ทางกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์จะออกนโยบายเพื่อควบคุมราคาสินค้าขายไว้ได้ชั่วเวลาหนึ่งก็ตาม การปรับขึ้นราคาของสินค้าและบริการ ก็เป็นสิ่งที่ยากจะหลีกเลี่ยงได้

หากดูแนวโน้มของราคาสินค้าในตลาดโลก ทั้งราคาน้ำมันและราคาผลิตผลทางการเกษตร จะพบว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2550 ที่มีอัตราเร่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งระดับราคาน้ำมัน ระดับราคาพืชผลทางการเกษตร และระดับราคาปศุสัตว์ ซึ่งเป็นแรงกดดันสำคัญต่อระดับราคาสินค้าในประเทศไทย เนื่องจากสินค้าเกษตรของไทยอิงราคาในตลาดโลกเป็นสำคัญ และในขณะเดียวกัน ไทยยังคงต้องพึ่งพิงน้ำมันดิบในตลาดโลกด้วยเช่นกัน



ในการวิเคราะห์ส่วนของตลาดสินค้าพืชผลการเกษตร ในปี 2549 เทียบกับปี 2543 พบว่าปริมาณอุปสงค์และอุปทานของสินค้าประเภทธัญพืชในตลาดโลกขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งสองด้าน โดยอุปสงค์ในปี 2549 ปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 8 จากปี 2543 แต่ราคากลับปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่า เมื่อพิจารณาในรายละเอียดแล้ว จะพบว่า อุปทานของธัญพืชในตลาดโลกมีความยืดหยุ่นต่ำมาก ทำให้การปรับตัวของด้านอุปทานเกิดขึ้นไม่มากนัก แม้ระดับราคาจะปรับเพิ่มขึ้นมาก ทั้งนี้ เป็นเพราะการผลิตสินค้าธัญพืช หรือแม้แต่สินค้าทางการเกษตรอื่นๆ ล้วนมีข้อจำกัดหลายๆด้าน ทั้งในเรื่องพื้นที่การทำการเกษตรที่เพิ่มจำนวนไม่ได้ในระยะเวลาอันสั้น อีกทั้งสภาพภูมิอากาศซึ่งเป็นความเสี่ยงที่เกษตรกรหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะที่การเพิ่มขึ้นทางด้านอุปสงค์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าอุปทานอย่างเห็นได้ชัด สาเหตุที่สำคัญมาจากการเข้าสู่ตลาดโลกของจีนและอินเดีย ซึ่งเป็นผู้ผลักดันอุปสงค์รายใหญ่ของโลก อีกทั้งการบริโภคสินค้าเกษตรในทางอื่น เช่น การทำไบโอดีเซล อันเนื่องมาจากระดับราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน ส่งผลให้ความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างมาก



จากราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน และทำให้ผู้ส่งออกไทยได้รับผลประโยชน์ค่อนข้างมาก แต่ในมุมกลับกัน สินค้าจำพวกผลิตผลทางการเกษตรยังคงเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต หากพิจารณาข้อมูลตลาดโลกแล้ว สินค้าเพื่อการบริโภค จำพวกธัญพืช เนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์นม หรือผักผลไม้ เป็นสินค้าจำเป็นต่อประเทศที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นของประเทศที่มีรายได้น้อย จะส่งผลให้การบริโภคเพิ่มขึ้นมาก ตรงข้ามกับประเทศที่มีรายได้มาก ซึ่งรายได้ที่เปลี่ยนแปลง ไม่ส่งผลต่อการปริโภคสินค้าดังกล่าวมากนัก ซึ่งหากมองอีกด้านหนึ่ง ย่อมหมายความได้ว่า หากราคาสินค้าดังกล่าวเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในทางที่เพิ่มขึ้นแล้ว ย่อมส่งผลกระทบต่อประเทศดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้



เมื่อมองย้อนกลับมาที่ประเทศไทยแล้ว การเพิ่มขึ้นของทั้งราคาพลังงานจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และการเพิ่มขึ้นของราคาผลิตผลทางการเกษตรจากอุปสงค์ในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นแล้ว ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะประชาชนผู้ยากจนที่จะได้รับผลกระทบมากกว่าประชาชนผู้มีอันจะกิน เฉกเช่นเดียวกับผลกระทบที่มีต่อประเทศที่มีรายได้น้อย แม้ในปัจจุบันรัฐบาลจะมีโครงการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ เช่น โครงการธงฟ้า-ราคาประหยัด เพื่อลดภาระค่าครองชีพและเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนผู้บริโภคได้เลือกซื้อสินค้าและบริการ แต่ในทางกลับกัน กลับเป็นต้นทุนค่าเสียโอกาสของผู้ประกอบการรายอื่นที่ได้ประกอบอาชีพโดยสุจริตอยู่แล้ว ซึ่งในความเป็นจริง ผู้ประกอบการไม่มีทางค้าขายแข่งกับรัฐบาลได้อยู่แล้ว ดังนั้น โครงการดังกล่าวควรเป็นโครงการระยะสั้นเพื่อบรรเทาภาระประชาชนเท่านั้น แต่ในระยะยาว รัฐบาลควรต้องหาแนวทางหรือเพิ่มมาตรการอื่นในการดำเนินการ เช่น นโยบายส่งเสริมด้านการผลิต แม้จะเป็นโครงการระยะยาว แต่เป็นสิ่งที่ควรกระทำ อีกทั้งยังช่วงส่งเสริมขีดความสามารถของประเทศในอีกทางหนึ่งด้วย


Create Date : 28 มกราคม 2551
Last Update : 28 มกราคม 2551 16:09:47 น. 0 comments
Counter : 2387 Pageviews.

TheShadow
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 25 คน [?]




ข่าวเศรษฐกิจไทย
ข่าวต่างประเทศ


ข้อมูลเศรษฐกิจในประเทศ
ข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศ
ค้นคว้าข้อมูลทั่วไป
แหล่งเชื่อมโยงอื่นๆที่น่าสนใจ
Friends' blogs
[Add TheShadow's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.