เหรียญมีสองด้าน แล้วแต่คุณจะเลือกมองด้านไหน
Group Blog
 
<<
เมษายน 2550
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
21 เมษายน 2550
 
All Blogs
 
พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน (เม.ย.50)

ปัจจุบัน เครื่องมือนโยบายการเงินที่ธปท.ใช้เพื่อรักษาดุลยภาพในระบบเศรษฐกิจ มี 3 ประเภท คือ การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ (Reserve Requirement) การตั้งหน้าต่างรับ (Standing Facilities) และการดำเนินการผ่านตลาดเงิน (Open Market Operation) ซึ่งประเภทสุดท้ายเป็นการดำเนินการที่ธปท.ดำเนินการมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นธุรกรรมการซื้อคืนพันธบัตร ธุรกรรมซื้อขายขาดหลักทรัพย์รัฐบาล การออกพันธบัตรธปท. และการสวอปเงินตราต่างประเทศ ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะการออกพันธบัตรธปท. ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ธปท.ดำเนินนโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบัน

การดำเนินนโยบายการเงินด้วยการออกพันธบัตรของธปท.จะช่วยรักษาดุลยภาพให้แก่ระบบการเงินได้ผ่านกลไก และขั้นตอนดังนี้ ในกรณีที่เงินเฟ้อสูง การออกพันธบัตรธปท.เข้าสู่ระบบการเงิน สามารถช่วยดูดซับเงินบาทอยู่ที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจได้ ซึ่งจะช่วยให้อุปสงค์ของเงินบาทเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับอุปทานของเงินบาท ทำให้เงินเฟ้อภายในประเทศลดลง ในอีกทางหนึ่งก็ช่วยให้ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินสกุลต่างประเทศแข็งค่าขึ้น ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่ธปท.ใช้ควบคุมเงินเฟ้อในช่วงเวลาที่ผ่านมา ซึ่งสถานการณ์ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2550 พบว่า ยอดหนี้คงค้างพันธบัตรธปท.มีมูลค่ารวมเท่ากับ 1,038,711 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นภาระอัตราดอกเบี้ยจ่ายเฉลี่ยประมาณ 5 หมื่นล้านบาทต่อปี ในขณะเดียวกันการดำเนินการในแนวทางตรงกันข้ามก็จะสามารถรักษาดุลยภาพจากกรณีที่เงินฝืดได้



เมื่อดูในรายละเอียดของประเภทพันธบัตรแล้วจะพบว่าในอดีต พันธบัตรธปท.จะมีอายุ 1 ปีเป็นหลัก ขณะที่พันธบัตรที่มีอายุไถ่ถอนอื่นๆจะมีออกมาไม่มากนัก โดยส่วนใหญ่ก็จะเป็นพันธบัตรระยะยาว อย่างไรก็ดี ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2549 เป็นครั้งแรกที่ธปท.ออกพันธบัตรระยะสั้นน้อยกว่า 14 วันออกมา โดยพันธบัตรดังกล่าวมีอายุไถ่ถอนเพียง 7 วัน และนับจากวันนั้นก็มีพันธบัตรระยะสั้นทยอยออกมา โดยมีมูลค่ารวมถึง 305,000 ล้านบาท ภายในช่วงระยะเวลา 2 เดือน หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 30 ของยอดคงค้างพันธบัตรธปท.ทั้งปี 2549 นอกจากนี้ ล่าสุดในวันที่ 31 มีนาคม 2550 ยอดพันธบัตรธปท.ระยะสั้นมีสูงถึง 790,000 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 75 ของยอดพันธบัตรคงค้างในขณะนั้น



เมื่อพิจารณากำหนดไถ่ถอนของพันธบัตรธปท.แล้ว พบว่าในเดือนเมษายน 2550 พันธบัตรที่ครบกำหนดไถ่ถอนมีมูลค่าสูงถึง 173,000 ล้านบาท หรือกล่าวได้ว่า เป็นปริมาณเงินที่กำลังจะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในเดือนนี้ อย่างไรก็ดี ทางธปท.ได้มีกำหนดการออกพันธบัตรในเดือนเมษายน 2550 จำนวน 205,000 ล้านบาท เพื่อรักษาเสถียรภาพในระบบการเงิน โดยประเภทของพันธบัตรที่จะออกนั้น เป็นพันธบัตรระยะสั้นมีมูลค่า 105,000 ล้านบาท ทำให้โดยสุทธิแล้ว ยังคงมีเงินไหลเข้าตลาดเงินอยู่ถึง 73,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่า จะส่งผลให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในระดับหนึ่ง และค่าเงินบาทอ่อนค่าลงในระดับหนึ่งเช่นกัน





การปรับเปลี่ยนกำหนดไถ่ถอนของพันธบัตรธปท.ที่ออกเพื่อเป็นเครื่องมือนโยบายการเงินจากระยะยาวมาเป็นระยะสั้น มีสาเหตุที่สำคัญ ส่วนหนึ่งจากการที่ปริมาณเงินตราต่างประเทศไหลเข้ามาในระบบการเงินของไทยเป็นจำนวนมากในช่วงปลายปี ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุการเกินดุลการค้าระหว่างประเทศของไทย การลงทุนจากต่างประเทศในไทย หรือแม้แต่การที่นักลงทุนต่างประเทศนำเงินเข้ามาเก็งกำไรก็ตาม นอกจากนี้ วิกฤตการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อระดับราคาสินค้าและบริการภายในประเทศ ยังส่งผลให้ธปท.จำเป็นต้องออกพันธบัตรเพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาภายในประเทศไม่ให้สูงเกินกว่ากรอบนโยบายเงินเฟ้อ (Inflation Targeting) ที่ธปท.ได้กำหนดไว้ รวมถึงการใช้มาตรการสำรองเงินตราร้อยละ 30 เพื่อควบคุมเงินตราต่างประเทศไม่ให้ไหลเข้ามากเกินไปอันจะส่งผลต่อปริมาณเงินของประเทศในอีกทาง อย่างไรก็ดี การดำเนินนโยบายการเงินดังกล่าว หากใช้พันธบัตรระยะยาวเป็นเครื่องมือแต่เพียงอย่างเดียว จะทำให้ธปท.มีต้นทุนในการออกพันธบัตรค่อนข้างสูง โดยเฉพาะภาระดอกเบี้ยจ่าย ซึ่งในปัจจุบัน แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของไทยอยู่ในช่วงขาลง การกำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่เป็นระยะเวลานาน จะทำให้ต้นทุนของธปท.อยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ยังทำให้ช่องทางในการดำเนินนโยบายการเงินลดลงไป โดยเฉพาะในการเพิ่มปริมาณเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ยกตัวอย่างเช่น หากธปท.ต้องการเพิ่มปริมาณเงินในระบบ เพื่อลดแรงกดดันที่มีต่อค่าเงินบาท โดยมุ่งหวังให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ก็ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว เนื่องจากการเพิ่มปริมาณเงินในระบบนั้น ทางหนึ่งมาจากการไถ่ถอนพันธบัตรที่ครบกำหนด

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ปัจจุบัน ธปท.จึงได้ทำการออกพันธบัตรระยะสั้น ซึ่งเป็นเครื่องมือที่มีความเสี่ยงต่ออัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาลงน้อยกว่าพันธบัตรระยะยาว อีกทั้งยังมีสภาพคล่องสูงกว่า เพื่อใช้ดำเนินนโยบายการเงินในกรณีจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อภาวะทางการเงินในตลาดโลกมีความผันผวน ธปท.ต้องเตรียมพร้อมรับมือความผันผวนที่จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ในฐานะผู้ดำเนินนโยบายการเงินของประเทศ


Create Date : 21 เมษายน 2550
Last Update : 21 เมษายน 2550 21:46:50 น. 0 comments
Counter : 2580 Pageviews.

TheShadow
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 25 คน [?]




ข่าวเศรษฐกิจไทย
ข่าวต่างประเทศ


ข้อมูลเศรษฐกิจในประเทศ
ข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศ
ค้นคว้าข้อมูลทั่วไป
แหล่งเชื่อมโยงอื่นๆที่น่าสนใจ
Friends' blogs
[Add TheShadow's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.