<<
ตุลาคม 2553
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
10 ตุลาคม 2553

ลิขิตพุทธทาสถึงน้องชายโดยธรรม





มีโอกาสไปฟังเสวนาดีๆที่สวนโมกข์ กรุงเทพ
ใกล้ๆสวนรถไฟ ข้างตึก ปตท.
เมื่อบ่ายวันเสาร์ ฟ้าฝนขรึมเทา แต่ยังมีแดดอ่อนทอเรือง

นับตั้งแต่ร่วมฟังเสวนาการก่อตั้งสวนโมกข์ กรุงเทพเมื่อสองสามปีก่อน
ยังไม่เคยได้มาย่างกรายสถานที่นี้เป็นเรื่องเป็นราว
ครานี้ได้โอกาสเหมาะ เลยสัมผัสทุกตารางนิ้วของสวนโมกข์ กรุงเทพฯ เต็มที่

นอกเหนือจากหัวใจของกิจกรรมวันนี้คือ การเสวนาแล้ว
ยังมีเวลาชมนิทรรศการ นิพพานลิ้มลอง (ก็คือการเตรียมตัวตายก่อนตาย)
และ งานศิลปะทางปริศนาธรรมของ 2 นักปราชญ์คือ
ท่านพุทธทาสและ ติช นัท ฮันห์
(ท่านหลังกำลังจะมาเยือนประเทศไทยและร่วมกิจกรรมทางพุทธปัญญาในอาทิตย์หน้า)

สวนโมกข์ กรุงเทพ จำลองรูปแบบจากสวนโมกข์ ไชยา
ด้วยเนื้อที่ที่จำกัดกว่าและอยู่ในใจกลางเมือง
เลยออกแบบเป็นสถาปัตยกรรมทรงโมเดิร์น
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาสูงสุด
มีทั้งหอหนังสือที่รวบรวมผลงานทางพุทธปรัชญาเพื่อจำหน่าย
มีมุมให้อ่านเล่นก่อนด้วย
ห้องนิทรรศการ ห้องเสวนาทางความคิด และลานกว้างอเนกประสงค์
เพื่อจัดเวทีเสวนา สัมมนาอย่างไม่เป็นทางการ
(มีเก้าอี้นั่งทรงโมเดิร์นของบริษัทเฟอร์นิเจอร์ชื่อเดียวกัน)
บรรยากาศโปร่งโล่ง ด้านซ้ายคือทะเลสาบใหญ่เคียงข้าง
ตอนฝนโปรยเห็นลายละเอียดของลูกน้ำกระเพื่อมเป็นริ้วเหมือนถักพรม

มาถึงหัวข้อเสวนาชื่อเต็ม
“ลิขิตพุทธทาสถึงน้องชายโดยธรรม กรุณา กุศลาสัย”
สำหรับท่านพุทธทาส พวกเราคงรู้จักบรมครูทางพุทธปรัชญาเป็นอย่างดี
แต่อาจารย์กรุณา กุศลาสัย
หากไม่ใช่ผู้ที่สนใจภารตะวิทยา อาจจะไม่ค่อยคุ้นเคย
เลยขอเล่าประวัติเล็กๆน้อยๆพร้อมผลงานให้รับรู้

อาจารย์กรุณา กุศลาสัย มีกำเนิดชาติที่ยากลำบาก กำพร้าตั้งแต่เด็กๆ
ต้องทำงานหนักเพื่อเลี้ยงตัวให้อยู่รอด
แต่ด้วยความมุ่งมั่นและปัญญา ท่านบวชเรียนหนังสือตั้งแต่เด็ก
และมีโอกาสไปศึกษาต่อที่ประเทศอินเดีย
ตั้งใจจะเข้าเรียนต่อที่ ศานตินิเกตัน มหาวิทยาลัยสงฆ์ของอินเดีย
ซึ่งก่อตั้งโดยนักปรัชญารางวัลโนเบล ระพินทร์นารถ ตะกอร์
แต่เพราะเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง
ทำให้ต้องสละครองสภาวะสามเณรเป็นสามัญชน
มิหนำซ้ำยังถูกจับเป็นเชลยศึก (อินเดียอยู่ฝ่ายสัมพันธมิตร-อังกฤษ)
จนสงครามสิ้นสุด ท่านถูกส่งกลับทางเรือในสภาพที่สิ้นไร้ไม้ตรอก
หากสิ่งเดียวที่หลงเหลืออยู่ก็คือ ภูมิปัญญาของภารตะวิทยา
ซึ่งได้ถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานชิ้นเอกให้อนุชนรุ่นหลังได้ซึมซาบ
ผลงานเด่นๆก็คือ การแปลกวีนิพนธ์ของ ระพินทร์นารถ ตะกอร์ "คีตาญชลี"
(ภายหลังมีวงดนตรีเพื่อชีวิตเอาชื่อนี้ไปตั้ง)
งานแปลของมหาตมะคานธี"เมื่อข้าพเจ้าทดลองความจริง"
และนายกรัฐมนตรีเนห์รู "พบถิ่นอินเดีย" เป็นต้น

อาจารย์กรุณาเสียชีวิตด้วยวัย 89 ปี เมื่อเดือนสิงหาคม ปีที่แล้วเอง
เพื่อนๆสามารถอ่านประวัติเพิ่มเติมของท่านได้ที่ น้าวิกี้ เพียงพิมพ์ชื่อท่านลงไป
หรือหากต้องการรู้รายละเอียดเกี่ยวกับชีวประวัติของอาจารย์กรุณา
ก็สามารถอ่านได้ในบันทึกท่านเขียนเอง "ชีวิตที่เลือกไม่ได้"


ที่นี้มาดูที่กิจกรรมการเสวนา
ที่มาของชื่อหัวข้อนี้ ก็สืบเนื่องจากทางมูลนิธิโกมล คีมทองและหอจดหมายเหตุพุทธทาส
ได้ร่วมกันจัดพิมพ์หนังสือ “ลิขิตพุทธทาสถึงน้องชายโดยธรรม กรุณา กุศลาสัย”
(แจกเป็นอภินันทนาการแก่ผู้ร่วมเสวนาทุกคน ดีใจมากๆเลย)
เพื่อเป็นรำลึกถึงคุณงามความดีของบุคคลทั้งสอง
รูปแบบของหนังสือคือเป็นการรวบรวมจดหมายจำนวน 15 ฉบับ
ที่ท่านพุทธทาสขณะนั้นยังหนุ่มแน่นวัยประมาณ 30 ปี
เขียนถึงอาจารย์กรุณา ในสถานะสามเณรน้อยในวัย 18 ปีซึ่งบวชเรียนอยู่ที่อินเดีย
โดยเป็นการเขียนจากท่านผู้อาวุโสฝ่ายเดียว
เนื่องจากยังหาจดหมายโต้ตอบจากสามเณรถึงท่านพุทธทาสไม่พบ

หากเป็นจดหมายจากพี่ถึงน้องชายคนรู้จักเห็นหน้ากันก็คงจะไม่แปลกใจ
แต่ความอัศจรรย์เกิดขึ้นเมื่อทราบว่าพี่น้องคู่นี้ไม่ใช่พี่น้องโดยสายเลือด
อีกทั้งไม่เคยแม้แต่จะเจอหน้ากันเลย (ในขณะนั้น)
จึงเป็นการเขียนด้วยความนับถือทางสติปัญญา
ท่านพุทธทาสขึ้นต้นจดหมายว่า “กรุณา น้องชายที่รักโดยธรรม” แทบทุกครั้ง
บางทีก็ "กรุณา น้องชายที่รักใคร่"

เนื้อหาของจดหมาย กูรูยังไม่ได้อ่านละเอียด
จากเท่าที่ฟังในวงเสวนาของบรรดาผู้รู้คือ
จดหมายที่เขียนด้วยถ้อยคำ ภาษาสละสลวย กลั่นกรอง
เพื่อเตือนสติ ให้ข้อคิดแก่สามเณรน้อยพร้อมกำลังใจ
ให้เล่าเรียนจนจบเพื่อกลับมาปฎิบัติหน้าที่เผยแพร่พุทธธรรมในบ้านเกิด
อย่าหลงกระแสของศาสนาหรือศาสดาที่เห่อกันเป็นพักๆ
(ถึงตอนนี้ มีเนื้อหาระบุถึง กฤษณมูรติ นักปราชญ์อินเดียอีกท่าน
ที่ปลุกกระแสคนหนุ่มสาวให้ตื่นตัวในการปลดปล่อยเสรีภาพของตัวตนออกมา
เดี๋ยวต้องขอไปค้นเพิ่มเติมว่ามีต้นสายปลายเหตุอย่างไร)

เราได้เห็นตัวตนอีกมิติหนึ่งของท่านพุทธทาสในฐานะพี่ชายโดยธรรมต่อบุรุษอีกคน

โดยเฉพาะฉบับสุดท้าย (ฉบับที่ 15) ที่ท่านได้แสดงออกความรู้สึกเหนื่อยล้า
และหมดหวังนิดๆกับภาระหน้าที่การงาน
อีกทั้งกระแสสังคมในขณะนั้นที่มองสำนักสงฆ์ของท่านอย่างคลางแคลงใจ

“บางคราวผมรู้สึกว่ามันอ่อนเพลียทางใจ ไม่สดชื่นเรียบร้อยเช่นเคย
ต้องปลอบตัวเองและคำนึงถึงการสละเพื่อธรรมที่เคยตั้งปณิธานไว้แล้ว
และเคยเล่าสู่กันฟังเมื่อแล้วมา ดูเหมือนเป็นยาที่ดีมาก
ความรู้ทางประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาบาลี เหล่านี้
ผมมีไม่พอใช้ทั้งนั้น ต้องเรียนโดยตนเองอยู่เสมอ
ความอึดอัดในเรื่องนี้ค่อยเบาบางลง แต่ก็ยังเหลืออยู่น้อย"


ถึงกระนั้นท่านพุทธทาสในวัยที่เข้มแข็งด้วยกำลังวังชาก็ยังฮึดสู้

"พวกเราเป็นออปติมิสตเสมอ แต่บางทีก็มากจนทำให้เฉื่อยชาในการงานได้เหมือนกัน
มันมีทั้งคุณและโทษ แต่ดูเหมือนว่าเป็นการปลอดภัยอย่างหนึ่ง
ในการที่จะดำเนินงานทั้งที่แล้วมาและสืบไป
เราติดขัดการเงินแต่ก็พยายามทำจนได้
โดยให้งานนั้นเลี้ยงตัวเองไปเรื่อยๆ แม้จะช้ามาก
มันก็ไปข้างหน้าเหมือนกัน
งานหนักที่ก่อชึ้นใหม่ในเวลานี้
ก็คือเราจะตั้งโรงเรียนแบบมิชชั่นนารีขึ้นให้ได้ด้วยเรี่ยวแรง
แม้จะยังไม่มีใครช่วยเหลือในเวลานี้
การเสียสละเรี่ยวแรง ทำให้งานเป็นผลดี
จนเป็นที่สนใจของผู้อื่นและไว้ใจในอะไรทุกๆอย่างที่เกี่ยวกับเรา

เพราะฉะนั้นผมคิดว่าเราจะมีอะไรรวยมากเกินไปอยู่แล้ว
ในการที่เรามีนิ้วมือถึง 10 นิ้วและมีมันสมองหนักตั้งปอนด์หนึ่ง"


ภาคผนวกของหนังสือยังมีบทความ
"พระคุณที่อินเดียมีต่อไทย" ซึ่งเป็นอาสาฬหบูชาเทศนาปี 2533
ท่านพุทธทาสเองก็เคยไปอินเดียมาแล้ว
และมีบันทึกเรื่องราวเป็นผลงานเขียนเช่นเดียวกัน

ลิขิตพุทธทาสฯ น่าจะมีการจำหน่ายในไม่ช้าตามร้านหนังสือทั่วไป
ยังไม่ทราบเหมือนกันว่าจะราคาเท่าไร

หลังเสวนาจบ มีโอกาสไปกราบอาจารย์เรืองอุไร กุศลาสัย
คู่ชีวิตของท่าน ผู้ร่วมผจญทุกข์-สุขกับสามีมาตลอด
ในวัยชราขณะนี้ อาจารย์เรืองอุไร สายตาไม่ปกติเหมือนเดิม
ท่านไม่อาจเปิดตารับรู้ว่าใครคือใคร ต้องสัมผัสมือและส่งเสียงบอกแทน

เดินออกจากสวนโมกข์ กรุงเทพ ใจกอดหนังสือที่ได้มา
แดดอ่อนโรยตัวลง
เมฆฝนก่อตัวเบื้องหน้าพร้อมจะทำหน้าที่เทตัวอย่างชุ่มฉ่ำอีกครั้ง




 

Create Date : 10 ตุลาคม 2553
7 comments
Last Update : 10 ตุลาคม 2553 19:29:36 น.
Counter : 1371 Pageviews.

 

อิอิ สวัสดียามเที่ยงๆคร้าฟ


วันนี้วันหยุด ไปเที่ยวไหนป่าววเอยยย



 

โดย: boyalonejang 10 ตุลาคม 2553 11:15:05 น.  

 

ไม่ไปอินเดีย

ชีวิตก็เลือกได้แล้ว

 

โดย: jejeeppe 10 ตุลาคม 2553 15:57:12 น.  

 

Photobucket

ให้ข้อคิดมากเลยค่ะ

 

โดย: Cheria (SwantiJareeCheri ) 12 ตุลาคม 2553 15:51:30 น.  

 

ทำไมเราอ่านหนังสือคล้ายๆกัน

"?????????? "

Photobucket

 

โดย: Charia (SwantiJareeCheri ) 16 ตุลาคม 2553 17:42:09 น.  

 

Photobucket

 

โดย: Cheria (SwantiJareeCheri ) 30 ตุลาคม 2553 22:29:44 น.  

 

เป็น blog ที่มีเนื้อหาดีๆน่าอ่านมากๆเลยครับ ขอบคุณมากๆนะครับผม

 

โดย: noooon010 1 ธันวาคม 2553 17:33:37 น.  

 

สวัสดีครับ พี่กูรู

ผมมีโอกาสไปสวนโมกข์กรุงเทพมาแล้ว ห้องนิพพานชิมลองน่าจะเป็นส่วนที่ดีที่สุด สองสามนาทีที่อยู่ในนั้น เหมือนทำให้จิตใจหยุดนิ่งอยู่กับที่ได้

T

 

โดย: Khun T IP: 58.11.72.203 3 มกราคม 2554 11:16:01 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


รุ้งพลบ
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




ใช้ชีวิตแสวงหามาหลายปี ปัจจุบันก็ยังแสวงหาไม่รู้จักเสร็จ
บางอารมณ์เหนื่อยๆ ก็หยุดพัก แล้วตรองนิ่งเขียนบันทึกในสิ่งที่พบเห็น

บางอารมณ์ที่โมแรนติค ชอบดูสายรุ้งตอนโพล้เพล้
New Comments
[Add รุ้งพลบ's blog to your web]