<<
มิถุนายน 2552
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
4 มิถุนายน 2552

รัสเซียรำลึก : รักเลียบเคร็มลิน




Swan Lake Ballet - Tchaikovsky

อ่านเรื่องสั้นของคุณปิยะรักษ์เกี่ยวกับนักประพันธ์ กวีรัสเซียในกระทู้นี้
//www.pantip.com/cafe/writer/topic/W7920774/W7920774.html

อู๊ย ทำไมต่อม "From Russia with Love" พุ่งปรี๊ดเชียวแหละ
หรือว่าชาติที่แล้วเคยเดินลัดเลาะอยู่แถวไซบีเรียก็ไม่รู้
ไม่ค่อยรู้สึกรู้หนาวกับอากาศหน้าหนาวบ้านเราเล้ย

จะว่าไปไทยกับรัสเซียก็ไม่ได้มีความสัมพันธ์ลึกซึ้ง
ทางเชื้อชาติ ภาษา ศาสนาหรือวัฒนธรรม
อีกทั้งการติดต่อทางการทูตก็ปิดสนิทไปตั้งเนิ่นนาน
ทำไม้ ทำไม วรรณกรรมรัสเซียถึงถูกถ่ายทอดบนถนนหนังสือมากมาย

เริ่มตั้งแต่ บรมคลาสสิกชั้นครูใหญ่อย่าง
ลีโอ ตอลสตอย "สงครามและสันติภาพ"
"แอนนา คาเร็นนินา" " เพลงสังหาร" (Kreuzer Sonata)

ครูใหญ่ตัวพ่ออีกท่านก็คือ ดอสโตเยฟสกี้ " พี่น้องคารามาซอฟ"
" อาชญากรรมและการลงทัณฑ์" " รักของผู้ยากไร้ "

ครูใหญ่ตัวพี่คนโต อย่าง แม็กซิม กอร์กี้ "แม่" "ริมฝั่งแม่น้ำโวลก้า"และเรื่องสั้นอีกเยอะแยะ

ครูใหญ่ตัวพี่คนรอง อย่าง นิโคไล ออสโตรฟสกี "เบ้าหลอมนักปฏิวัติ"
( How the steel was templed)

หรือครูใหญ่ตัวพี่เล็ก อย่างเชคอฟ โกโกล และอีกสารพัดครู

ความจริงครูแต่ละท่านยิ่งใหญ่ไม่แพ้กันหรอก
แต่จัดลำดับงานเข้าและความป๊อพปูลาร์ที่รู้จัก

วรรณกรรมรัสเซียเหล่านี้ เริ่มแปลและเผยแพร่ช่วงยุคประชาติปไตยเบ่งบาน หลัง 2516 เป็นต้นมา
แม้บางเล่มจะมีการแปลเป้นสำนวนไทยก่อนหน้านี้มานานแล้ว
แต่ได้ฤกษ์ตีพิมพ์ยุคหลังๆนี้เอง
โดยเฉพาะวรรณกรรมแนวสะท้อนความคิดสังคมนิยม
มวลชนทั้งผองคือพี่น้องกัน เคียวฆ้อนสอดประสาน
บางเล่มถึงกับมีคนแปลสองสำนวน เลือกอ่านตามชอบใจ

อ้อ ยังมีอีกเล่ม เล็กๆบางๆทว่าจำจับใจ ผุดขึ้นมาในบัดดล
นั่นก็คือเรื่อง "เธอคือชีวิต" จากบทประพันธ์ของ นิโคไล ชูคอฟสกี
เรื่องของเด็กผู้หญิงที่ตกอยู่ในภาวะกองกำลังล้อมเมือง
ผู้ต่อสู้ อดทน ทระนงกับบททดสอบอันร้ายกาจของสงครามจนถึงวินาทีสุดท้าย


อ้าว แล้วกูรูมานั่งรำลึกถึงอะไรล่ะนี่

อ้อ..นึกย้อนกลับบ้าง
มีวรรณกรรมไทยที่เขียนเกี่ยวรัสเซียมั้ยเนี่ย
เอาให้เจาะจง หานิยายไทยที่เกี่ยวกับรัสเซีย

เอ...ถ้ามีก็คงต้องแอบเกาะติดระบำปลายเท้าของบรรดานางหงส์ Swan Lake
ไปโผล่เหนือจตุรัสแดงน่ะซิ
เพราะตอนนั้นยังไม่อนุญาตให้เดินทางโดยเสรี
ตรงจากประเทศไทยไปรัสเซีย

กลับค้นตู้หนังสือรกๆกุกๆกักๆ
วรรณกรรมไทยที่เฉี่ยวๆรัสเซียก็พอมีบ้างนะ
อย่าง"ปักกิ่ง นครแห่งความหลัง" ของ สด กูรมะโรหิต
แต่เนื้อเรื่องส่วนใหญ่อยู่ในประเทศจีนนี่นา(ตามชือเรื่อง)
นางเอกของเรื่องคือรัสเซียขาวที่หลบหนีเงื้อมมือตามล่าของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ขณะนั้น

และแล้ว กูรูก็ใช้นิ้วมือกดปลายประสาทให้หมุน หมุน หมุน
อ้า อย่างน้อยก็เจอแล้วเล่มหนึ่งที่เขียนถ่ายทอดโดยตรง
จากรัสเซียด้วยความรักและระลึกถึง





Create Date : 04 มิถุนายน 2552
Last Update : 4 มิถุนายน 2552 14:17:10 น. 9 comments
Counter : 1393 Pageviews.  

 


"รักเลียบเคร็มลิน"
หนึ่งในนวนิยายน้อยเล่มของคุณสุภัทร สวัสดิรักษ์
อดีตบรรณาธิการผู้ยืนยงกับนิตยสารสกุลไทยจวบวาระสุดท้าย

ทำไมถึงว่าเป็นหนึ่งในน้อยเล่ม
เพราะคุณสุภัทรมีผลงานส่วนใหญ่เป็นงานเขียนสารคดีต่างแดน
ตามที่หน่วยงาน องค์กรประเทศนั้นออกปากเชื้อชวน
เธอมักจะบันทึกเรื่องราวการเดินทางกับเพื่อนคู่หูอย่าง "อมราวดี"*
อาทิเช่น ประตูตะวันตก แผ่นดินคะรินยา ราชินีแปซิฟิก เจ้าพระยากับสวอน
แลยอดยุโรป โรมันรัญจวน ดินแดนแห่งความสงบยามเช้า ฯลฯ

บันเทิงเริงรสสนุกสนานจนอยากจะเป็นแมลงตัวนิดๆเกาะติดในกระเป๋าเดินทางของคนทั้งคู่
ยังนึกอยู่เลยว่า โตขึ้น (ตอนนั้นกูรูยังเล็กๆอยู่)
ต้องหางานแบบที่คุณป้าทั้งสองทำงาน จะได้เที่ยวเยอะๆ
ถึงตอนนี้ทั้งโตจวนแก่แล้ว ก็ยังไม่ค่อยได้ไปไหนทางกายภาพ
นอกจากอ่านและฝันเอา

ครั้งหนึ่งคุณสุภัทรได้รับเชิญจากสหภาพโซเวียตให้ไปเยือนใจกลางมอสควา
โอ้โฮ เรื่องใหญ่เชียวแหละ เพราะสัมพันธภาพทางการทูตที่ห่างเหินไปนาน
ก็ใช่ว่าจะกลับมาลมหวลอย่างรวดเร็วราบรื่นเสียเมื่อไหร่
โดยเฉพาะบ้านเมืองขณะนั้น ไม่ถึงขนาดเล่นกีฬาสีแบบตอนนี้
ก็เล่นวอลเล่ย์บอลคนละข้างแหละ
เมื่อประชาธิปไตยเบ่งบานก็มีกระบวนการ ขวาพิฆาตซ้ายเกิดขึ้น
ฉะนั้นการเดินทางไปมาหาสู่กับเจ้าของลัทธิคอมมิวนิสต์ตัวแม่อย่างรัสเซีย
ก็ต้องถูกทางการจับตามองเป็นพิเศษ

อาศัยอาชีพของคนทำหนังสือ มักจะมีเสรีภาพและอภิสิทธ์พิเศษนิดหน่อย
ด้วยข้ออ้างของการเจริญสัมพันธไมตรีทางด้านวรรณกรรม(ไม่มีเล้ย การเมืองน่ะ)
คุณสุภัทรเลยเดินทางไปเลียบเคร็มลินได้อย่างที่ตั้งใจ
เมื่อกลับมา ก็มีบันทึกการเดินทางมาฝากผู้อ่านเช่นเคย

หากเหนือจากนั้นที่คิดไม่ถึงก็คือ นวนิยายเรื่องนี้

มีแรงบันดาลใจอะไรที่คุณสุภัทร บรรณาธิการหนังสือสกุลไทย สมัยนั้น
หอบลมหนาวจากเคร็มลินในวันที่มอสควาเยือกเย็น
มาทาบไล้ไอแดดทองของแผ่นดินสยามจนอุ่น นุ่ม..ละมุน

ต้องไม่ธรรมดาซิน่า
งั้นจะขอพาเพื่อนๆ ไปเดิน เลียบ ลัด เลาะ นวนิยายเรื่องนี้กัน
เดินลึกเข้าไปมากที่สุดเท่าที่ความทรงจำจะอำนวยให้


โดย: กูรูขอบสนาม วันที่: 4 มิถุนายน 2552 เวลา:11:40:36 น.  

 


ในที่สุด ...หัวใจต่างสีสันของคนทั้งสองก็พบกัน

เขา...ยูรี ชาวรัสเซียร่างสูง ผิวขาวเหลืองอมชมพู อายุประมาณ 35 ปี
ผู้ฝ่าลมหนาวคอยต้อนรับแขกผู้มาเยือนคนไทย
เพียงแต่สบตาแรก หัวใจหมีขาวก็กระตุกเสียแล้ว...ววว
อาชีพของยูรีน่ะรึ เจ้าตัวออกตนว่า
เป็นพนักงานประชาสัมพันธ์หน่วยงานเล็กๆเกี่ยวกับวัฒนธรรมสักตำแหน่ง
แต่ถ้าสืบลึกๆลงไป แล้ว(คนอ่านจะแอบ)สรุปว่าเป็น เคจีบี ก็ไม่น่าแปลกใจ

เธอ...รัชนียาหรือในชื่อรัสเซียแสนอ่อนหวานว่า รยาบีน่า(ดอกไม้พื้นเมืองชนิดหนึ่ง)
หญิงสาวจากเมืองสยามผิวคล้ำนิดๆ วัย 25 ปี
นักเขียนอิสระผู้ได้รับมอบหมายจากหนังสือนิตยสารฉบับหนึ่ง
ให้เป็นตัวแทนร่วมสัมมนา วรรณกรรมสร้างสันติภาพ ครั้งนี้

นี่คือตัวละครหลักสองตัวในความรักที่แสนจะลางเลือน
ทั้งม่านหมอกยะเยือกกายและม่านเหล็กของสามัญสำนึก
ถึงฝ่ายแรกจะเดินหน้า เยื้องย่าง กรายเข้าหาอย่างสุภาพ
ฝ่ายหลังก็ต้องหลีกลี้ เบี่ยงหลบความรู้สึกของหัวใจตัวเอง
เพราะมีซี่กรงในนามของ ลัทธิคอมมิวนิสต์ ขวางกั้นเต็มลมหายใจ

ฉะนั้นหากใครเห็นปก ชื่อเรื่องอันแสนโรแมนซ์เช่นนี้
คงอดไม่ได้ที่จะวาดหวังจินตนาการของความรักชายหนุ่ม หญิงสาว
เดินกระซิกกระซี้ในอ้อมกอดกันและกันด้วยหัวใจอบอุ่น
พรอดรักคำหวาน ป้อนน้ำตาลแห่งมธุรส
แผ่ซ่านไปถึงเลือดเนื้อ วิญญาณจนเป็นสีชมพู...อู้หู

เปล่าเลย
"รักเลียบเคร็มลิน"
แม้ชื่อเรื่องจะหวานแหววแต่เนื้อหาข้างในกลับตรงกันข้าม
มีบ้างเหมือนกันกับบทจำนรรจาฉาบน้ำผึ้ง
ทว่าความหวานก็แปรเป็นความขมปร่า
เพราะทุกถ้อยคำล้วนขมวดปมมาถึง
ความแตกต่างแห่งทัศนะคติ ลัทธิ และอุดมการณ์
ถนนสายที่ไม่มีวันโค้งเข้าหากันเลย

ตลอดระยะเวลาเกือบอาทิตย์ที่รัชนียาย่างกรายในดินแดนรยาบีน่าบานสะพรั่ง
นอกเหนือจากการหอบกระเป๋าเปลี่ยนที่พักแรมในสถานที่แปลกตา
ทั้งในเมืองหลวงที่ทุกอย่างเป็นระเบียบเคร่งครัดอย่างมอสควา
และบ้านนอกที่ผ่อนคลายอย่างนครมิ้นสก์ สาธารณรัฐเบโลรุสเซีย
รวมไปถึงการลัดเลาะพระราชวังเคร็มลินอันแสนสง่า
อันเป็นพำนักสถานสุดท้ายของกษัตริย์ราชวงศ์โรมานอฟก่อนจะถูกสังหารโหด

เธอได้มีโอกาสให้สัมภาษณ์ กล่าวปาฐกถา
ประกาศเจตน์จำนงของผู้หญิงจากประเทศเล็กๆที่ต่างลัทธิการปกครอง
เหมือนหลุดออกมาจากอีกมุมโลก
รัชนียา หรือรยาบีน่าหอบเอาความเชื่อมั่นบนอุดมคติของคนไทย
ที่ยึดเรื่องกฏแห่งกรรม ทางสายพุทธ
เพื่อถกเถียง แย้งกลับ ขับประเด็นกับเจ้าภาพและนักเขียน นักหนังสือพิมพ์คอมมิวนิสต์คนอื่นๆ
ที่ยึดกฏแห่งการทำลายชนชั้นและเชิดชูมวลพลังกรรมาชีพ

ไม่มีใครแพ้ ใครชนะ
เพราะหญิงสาวชื่อเหมือนดอกชบา เอ๊ยรยาบีน่าไม่ใช่คนไทยที่ชอบฟันธง
" คนเรามีที่เลือกอยูเพียงสองอย่าง คือแพ้กับชนะเท่านั้นหรือคะ" ฉันถามเขาอีก
"ทางสายกลางระหว่างแพ้กับชนะจะมีขึ้นมาบ้างไม่ได้หรือ
กลาง ที่จะทำให้คำว่าแพ้และชน เข้าหากัน ให้คู่กันไปให้ได้
เข่นเดียวกับคำว่าทุนนิยมกับสังคมนิยม
หรือทุนนิยมกับคอมมิวนิสต์....
ถ้าจะนำมาเปรียบกับทุนนิยม สังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ก็เช่นเดียวกัน
เราจะเผยแพร่เพื่อขจัดกวาดล้างให้เหลือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดแต่ฝ่ายเดียวไม่ได้
โลกต้องอาศัยทุกฝ่าย ต้องมีการถ่วงและมีการดุลเหมือนกับตราชั่ง
โลกยังมีความหวังเห็นสันติสุขได้จากทางสายกลาง
ระหว่างทุนนิยมกับสังคมนิยมคอมมิวนิสต์" (น. 115-116)


โดย: กูรูขอบสนาม วันที่: 4 มิถุนายน 2552 เวลา:11:41:57 น.  

 


แล้วผู้หญิงไทยคนเดียวกันนี้ก็เสนอทางออกให้กับความขัดแย้งทั้งมวล
นั่นก็คือแนวความคิดเรื่องสหกรณ์ รัฐเป็นผู้จัดการพื้นที่และทรัพยากร
ประชาชนเป็นผู้ลงแรง รายได้แบ่งกันตามสัดส่วน
"สหกรณ์ค่ะ...ระบบสหกรณ์ หมายถึงการรวมกันระหว่างผู้ลงทุน
หรือเจ้าของที่ดินกับผู้ใช้แรงงานและผู้ปฏิบัติงาน
รวมกันในกิจการทุกอย่างทั้งด้านการอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม
แทนที่จะริบให้กิจการทุกประเภทเป็นของรัฐ ดำเนินการโดยรัฐ
กลับให้เป็นสหกรณ์ ดำเนินงานกันเอง
และแบ่งผลประโยชน์กันไปตามสัดส่วนด้วยความเป็นธรรม
ฉันเห็นว่าระบบสหกรณ์นี่เท่านั้นแหละ
ที่จะช่วยให้ประชาชนผู้ยากจนในประเทศทุนนิยมให้หายหิวและลืมตาอ้าปากได้
และช่วยให้ประชาชนในประเทศคอมมิวนิสต์มีเสรีภาพขึ้นกว่าเดิมได้" (น. 116 )

ก็ไม่ทราบว่าผู้เขียนมีแรงบันดาลใจจากแนวความคิดของนักเขียนอาวุโสอีกท่านหรือไม่
คุณสด กูรมะโรหิต ผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงปลุกแนวคิดสหกรณ์ขึ้นมา
หรือไม่ก็มีโอกาสดูงานสหกรณ์ชนบททั้งหลายจากนานาประเทศ(อิสราเอล)

ตอนที่กูรูอ่านครั้งแรกก็ยังไม่ค่อยรู้เรื่องเศรษฐศาสตร์มากมายนัก
แค่รับฟังความคิดเห็นของคนโน้นคนนี้
แต่มาถึงตอนนี้ก็พอจะสรุปได้ว่า
สหกรณ์อาจจะไม่ได้เป็นโมเดลเศรษฐกิจที่เหมาะสมกับโลกปัจจุบันอีกต่อไป
เพราะไม่สามารถแข่งขันเชิงพาณิชย์ได้
ยกตัวอย่างรูปแบบสหกรณ์ใกล้ตัวที่รู้จักดีกว่า
ร้านค้าสหกรณ์ที่เคยมีอยู่ในอดีตก็ล้มหายตายจากไปเยอะ
เพราะไม่สามารถแข็งขืนกับร้านค้าโมเดิร์นเทรดที่มาจากองค์ความรู้ค้าปลีกแบบใหม่
การเป็นประเทศเปิดเสรี มิอาจกั้นกระแสการแข็งขันและผู้ท้าชิงในตลาดได้
ตัวรัฐเองก็มิควรจะเข้าไปยุ่มย่ามหรือลงมือปฏิบัติงานเอง
หน้าที่ของรัฐควรจำกัดแค่เป็นผู้ออกกฏ ควบคุมและอำนวยความสะดวกมากกว่า
(Regulator & Facilitator)

ตัวอย่างที่เห็นชัดๆอีกกรณีศึกษาหนึ่งก็คืองนารายณ์ถัณฑ์
ห้างค้าปลีกที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมงานฝีมือชาวบ้าน
โดยการสนับสนุน(เงิน)จากกระทรวงอุตสาหกรรม
ทุกวันนี้หายไปไหนแล้ว

และเมื่อเทียบกับร้านขายผลิตภัณฑ์ชิ้นงานผ้าอย่าง "นารายา"
ซึ่งก่อนนั้นก็เป็นเพียงซอกเล็กๆอยู่ใต้ถุนอับๆของตึกนารายณ์ภัณฑ์นั่นเอง
วันนี้ นารายา ก้าวไกลไปต่างแดน
ด้วยฝีมือตัดเย็บ ประกอบงานฝีมือผ้าจากคนต่างจังหวัดเหมือนกัน
ภายใต้โมเดลธุรกิจเดียวกัน หากดำเนินจัดการต่างกัน
ผลลัพธ์ก็ย่อมต่างกันฉะนี้แล

นอกเรื่องไปเยอะ เดี๋ยวจะเป็นทฤษฎีโมเดลธุรกิจ
กลับไปเลียบหัวใจในเคร็มลินดีกว่า



โดย: กูรูขอบสนาม วันที่: 4 มิถุนายน 2552 เวลา:11:44:08 น.  

 


รัชนียา ผู้บันทึกถ่ายทอดความรัก(อันไม่สมหวังเห็นๆ)ครั้งนี้
ก็คือการแสดงจุดยืน ทัศนะคติของผู้เขียนที่มีต่อโลกทัศน์ภายนอก
บนความแปรปรวนของกระแสคลื่นความคิดลูกใหม่ๆว่าด้วยความขัดแย้ง
ระหว่างทุนนิยม จักรวรรดินิยมและสังคมนิยม

โปรดอย่าลืมว่า ช่วงขณะเวลาที่"รักเลียบเคร็มลิน"บันทึกเรื่องราว 2518
ประเทศจีน อดีตมหามิตรเคียงข้าง
กำลังเล่นการเมืองแบบเต้นรำสแควร์ดานซ์
มือหนึ่งยังจับ(หมิ่นๆ)กับพี่หมีใหญ่
แต่อีกมือผายเต็มที่กับมิตรใหม่ชาติตะวันตก
ประตูเมืองจีนที่ปิดตายมาหลายร้อยปี
กำลังรับการมาเยือนของผู้นำคนสำคัญ
โดยเฉพาะพี่ใหญ่คือสหรัฐอเมริกา

ฉะนั้นประเทศอันน่าสงสารเล็กๆอย่างบ้านเราจะทำอย่างไรล่ะ
"ด้วยเหตุนี้แหละ ฉันจึงเห็นด้วยกับคนบางคนที่ว่า
เมื่อเรายังจำเป็นต้องคบหากับสหรัฐอมเริกา
เราก็จำเป็นต้องคบหากับสหภาพโซเวียต
ตัองผูกไมตรีกับจีนแดง
และเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับเวียดนามเหนือและกัมพูชา
โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้" (น.89)

(ถ้าเปรียบมโนภาพในภาษาของกูรูก็คือ
เราต้องเป็นโคโยตี้ตัวแม่เลยล่ะ
เราควรจะเต้นรำได้หลายจังหวะ
สโลว์ซบออดอ้อนกับหมีขาว วอลท์ซแสนสง่ากับยุโรป
เต้นเอลวิสจนเอวคิดกับพี่กัน ไทเก็กกับจีน (แดง ตอนนั้น)
รำวงกับผองพี่น้องลาวและกัมพูชา
แล้วแทงโก้กับ...ใครดีนะ คาสโตรดีมั้ย)

แต่จังหวะเต้นรำก็สะดุดได้
แค่เจอประโยคคำถามดุจบริภาษ
ถึงการยินยอมให้สหรัฐใช้อาณาเขตบ้านเราเป็นฐานทัพอากาศ
เพื่อส่งกำลังอาวุธไปปราบเวียตกง

"เรื่องการจะให้ทหารอเมริกันออกไปจากประเทศไทยนั้นเป็นเรื่องซึ่งจะต้องเกิดขึ้นแน่นอน"
ฉันกล่าวกับนักข่าวเวียดนามเหนืออย่างระมัดระวัง
"แต่ฉันไม่เข้าใจว่า ขณะที่ทุกคนทุกประเทศในโลกนี้ร่ำร้องหาสันติภาพและความสงบสุขให้เกิดขึ้นให้ได้นั้น
ทำไมเล่า จึงต้องใช้วิธีการรุนแรง เช่น เคียดแค้น เข่นฆ่าและโจมตีทำลายกัน
ไม่มีวิธีอื่นที่ดีกว่านั้นอีกแล้วรึ เปรียบดูง่ายๆก็แล้วกันว่า ผลบวกที่เราต้องการให้ได้เป็นสี่นั้น
ย่อมไม่ใช่จะได้มาด้วยวิธีสองบวกกับสองเสมอไป
อาจจะใช้วิธีสามบวกหนึ่ง หรือสี่บวกสูญ หรือสี่ลบสูญก็ได้นี่คะ"(น. 33)

(กูรูพิมพ์ตามคำเขียนในหนังสือ ไม่รู้ว่าคนเขียนตั้งใจสะกดคำว่า ศูนย์เป็นสูญ หรือเปล่า)

แล้วดอกรยาบีน่าสีคล้ำจากแดนสยาม
ก็ประกาศจุดยืนตัวเองต่อแนวทางดำเนินชีวิต
"พระพุทธเจ้าสอนชาวพุทธไว้ว่า
การดำเนินชีวิตของคนเราไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติเรื่องใด
ถ้าใช้วิธี ตึง เกินไปหรือ หย่อน เกินไป
จะไม่ได้รับความสำเร็จเท่าที่ควร
แต่ต้องหา สายกลาง
การเดินสายกลาง คือการอลุ้มอะล่วย การผ่อนปรน การประสมประสาน
ฉันเห็นว่าลัทธิเลนินนั้นก็มีความคิดดังนี้
ปรากฏอยู่ในบทที่ว่าด้วยสูตรของการปฏิบัติงาน" (น.141-142)


โดย: กูรูขอบสนาม วันที่: 4 มิถุนายน 2552 เวลา:11:45:58 น.  

 


บันทึกของหัวใจหล่นหายที่เคร็มลินคงจะแล้งรักสิ้นดี
ถ้าไม่มีเรื่องราวความนัยของตัวละครเอกทั้งสอง
(ในชั่วระยะเวลาสั้นๆนี่นะ)
แต่นั่นแหละ ด้วยขนบ ประเพณีและข้อบังคับต่างๆ
คนอ่านก็รู้แต่ต้นแล้วว่า เรื่องนี้ต้องจบด้วยการจาก
(ก้อตั๋วเครื่องบินฝ่ายหญิงระบุวันกลับเรียบร้อยแล้วนี่)
คนแต่งจึงเบี่ยงประเด็นเรื่อง รัก ที่ไม่ข้องติดกับรูปรสกายสัมผัส

แก่นของเรื่อง รักเลียบเคร็มลิน จึงไม่ใช่ความรักที่จำกัดแค่หัวใจสองดวง
แต่เป็นการประกาศความรักของตนที่มีต่อโลกและหวังจะเปลี่ยนโลกในวิถีตัวเอง
เปลี่ยนด้วยสันติ เปลี่ยนด้วยความรุนแรง
เปลี่ยนด้วยการทำลายล้างให้หมดสิ้น
หรือเปลี่ยนด้วยการใช้เงินงบประมาณทุ่มลงไป
แล้วโลกที่รักของแต่ละคนก็จะเป็นไปตามนั้น (หรือเปล่า)

"อะไรจะทารุณเท่ามนุษย์เราถูกบังคับให้ต้องเหินห่างจากกัน
ทั้งๆที่มิได้โกรธหรือเกลียดชังกันเลย
และเมื่อคิดอย่างนี้
ฉันก็ได้ตระหนักชัดอีกอย่างหนึ่งว่า
อะไรจะร้ายกาจเท่ามนุษย์เรา ถูกบังคับให้ต่อสู้เป็นศัตรูกันทั้งๆที่ไม่ร้จัก
ไม่เคยโกรธหรือเกลียดชังกันมาก่อน
มือที่จับปืนและลูกระเบิดจู่โจมเข้าใส่กันอย่างดุเดือดบ้าคลั่งนั้น
เป็นมือที่เคยก่อความเป็นอริต่อกันมาก่อนหรือ ก็เปล่าเลย
แล้วทำไมจึงเป็นเช่นนี้นเล่า
อะไรคืออำนาจลึกลับที่บงการให้มนุษย์ต้องรับความรู้สึกที่มี
ทั้งความทรมาน ความทารุณและความร้ายกาจอย่างนี้
ฉันอยากจะกล่าวโทษว่า
เพราะโลกขาดความรักอันบริสุทธิ์ต่อกันนั่นเอง
ความรักซึ่งหมายถึงน้ำใจอันดีงามที่มนุษยชาติจะพึงเผื่อแผ่ถึงกันนี่แหละ" (น.153 )


ถึงเรื่องจะหนักด้วยบทสนทนาถกประเด็นการเมืองตั้งแต่ต้นจนจบ
กระนั้นก็ตามมีฉากสุดท้ายที่สะเทือนใจเล็กๆสำหรับคนหัวใจอ่อนไหว
นั่นก็คือ หนุ่มรัสเซียเพียรมาส่งสาวไทยกลับบ้าน
สู้อุตส่าห์เก็บดอกรยาบีน่ามาฝาก เหลือดอกหนึ่งเหน็บแนบกระเป๋าอิงไว้
ด้วยหวังจะจับจ้องให้เต็มสายตาก่อนลับปีกเครืองบิน
ยูรีพยายามวิ่งออกจากเขตกั้นผู้โดยสารเพื่อกล่าวลากับ รัชนียา รยาบีน่าของเขา

แล้วเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น
ตำรวจในเครื่องแบบวิ่งกรูเข้ามากระชากยูรีกลับแล้วรุมซ้อมจนทรุด
ด้วยเข้าใจว่า หนุ่มรัสเซียคนนี้กำลังจะหาทางหนีออกนอกประเทศ
ด้วยการแอบลักลอบขึ้นเครื่องบินไป

ดอกรยาบีน่าร่วงลงมา
ถูกฝีเท้านับสิบขยี้จนแหลกราญ

นั่นคือภาพสุดท้ายที่ติดตารัชนียา ก่อนลาลับเคร็มลิน


โดย: กูรูขอบสนาม วันที่: 4 มิถุนายน 2552 เวลา:11:47:37 น.  

 



กูรูอ่านและท่องไปใน "รักเลียบเคร็มลิน" ก็เพลินๆหนักๆหัวดี
ไม่มีพล็อตอะไรพิศดาร
แค่บันทึกการเดินของหัวใจกับความคิดของผู้หญิงคนหนึ่งในต่างแดน
ถ้าไม่ติดว่า วิธีการเขียน การเล่าเรื่องหรือสื่อความรู้สึกออกมา
น่าจะมาจากการกลั่นกรองของผู้หญิงวัยกลางคนที่ผ่านโลกมานับสิบๆปี
มากกว่าเด็กสาวรัชนียา อายุแค่ 25 ปี เพิ่งเรียนจบและเป็นนักเขียนหน้าใหม่

แต่มีบางประเด็นที่น่าสนใจมากกว่าแค่ตัวนวนิยาย
นั่นก็คือ กระแสลมการเมืองที่มาพร้อมกับวรรณกรรมว่าด้วยลัทธิการเมือง

จะว่าไป ณ กาลเวลาขณะนั้น (ยุคดอกประชาธิปไตยเบ่งบาน หลัง 14 ตุลาคม2516)
นิยายการเมืองหรือกึ่งการเมือง สะท้อนการเมืองจริงๆ
ไม่ค่อยปรากฏมากนักบนหิ้งหนังสือ
(ยกเว้นประเภท ลับ ลวง พรางหรือแฉทั้งหลาย)
และยิ่งนับเล่มได้ หากมาจากฝีมือจาระไนของนักเขียนหญิง
ที่เคยอ่านและจับใจก็มีเพียง
นวนิยายที่สะท้อนพฤติกรรมฉ้อฉลหรือโกงกิน
ในหมู่ขุนน้ำขุนนาง ข้าราชการระดับสูง
หรือไม่ก็แสดงตัวละครอิ่มทิพย์ด้วยอุดมคติ
ไม่ยอมลดราวาศอกกับความอยุติธรรม
ยกตัวอย่าง งานเขียนของ"สีฟ้า" หลายๆเรื่อง เช่น นายอำเภอที่รัก
เมืองแก้ว วงเวียนชีวิต
ยกเว้นอยู่เรื่องเดียวคือ "ทำไม" ของ สีฟ้า
ที่นับเป็นนิยายการเมืองโดยแท้ (หาซื้อไม่มีอีกแล้ว)

มาเจอนวนิยายที่พูดถึงลัทธิการเมืองจากนักเขียนที่เป็นบรรณาธิการ
ในนิตยสารที่แสนจะอนุรักษ์นิยมแบบสกุลไทยนี่ล่ะนะ ใครจะเชื่อ

คงไม่มีอะไรเกิดขึ้นหรอก
ถ้าลมการเมืองในปีต่อๆมาไม่ได้เปลี่ยนทิศ 180 องศา

6 ตุลาคม 2519

ทางสายกลางของรัชนียา ก็สูญสิ้น
การเปลี่ยนแปลงอย่างสันติ ทีละน้อยๆก็เช่นกัน
ไม่มีวันจะได้เห็นอีกต่อไปแล้วในสังคมไทย

เพราะทุกกิจกรรมดำเนินการจากผลพวงการนองเลือดครั้งนั้น
ก็เพื่อการทำลายล้างแนวคิดสังคมนิยมให้สิ้นซาก
หนังสือแนวก้าวหน้าหรือมีทีท่าว่าจะเปลี่ยนแนวมาก้าวหน้า
ถูกกวาดล้าง เผา และกำจัดจนหมด

นิตยสารสกุลไทย ซึ่งยุคก่อนหน้านั้นได้เปิดกว้างมากขึ้น
ถึงแนวคิดใหม่ๆทางทฤษฎีวรรณกรรม ทั้งเรื่องสั้น กวีนิพนธ์ วงเสวนา
(บางฉบับถึงกับลงวรรณกรรมเพื่อชีวิตจะจะ)
ก็ไม่อาจต้านกระแสลมแรงกระชากลากทึ้งนี้ด้วยเหมือนกัน

คุณสุภัทรต้องหลบลี้ทิศทางลมพายุใหญ่
โดยว่างเว้นละจากตำแหน่งบรรณาธิการคู่ใจ
ปล่อยให้บรรดาผู้อ่านถามไถ่ก็ได้ตำอบจากกองบรรณาธิการคลุมๆเครือๆ
เธอเปิดตัวนิตยสารอีกฉบับที่มีแนวทางนำเสนอวรรณกรรมคล้ายคลึงกัน
นั่นก็คือนิตยสารชื่อไทยๆ "สายใจ"
หากวางแผงออกตัวได้ไม่กี่ฉบับก็ต้องหยุดด้วยปัญหาธุรกิจ

อีกไม่กี่ปีต่อมา
เมื่อลมการเมืองเปลี่ยนทิศอีกหน
พร้อมเสียงเรียกร้องของผู้อ่านแฟนพันธุ์แท้
เธอก็ได้กลับมาตำแหน่งเดิมที่สูงขึ้นอีกนิดด้วยคำเรียกชื่อ
"บรรณาธิการอาวุโส"
และคงอยู่จนวันสุดท้าย

เช่นเดียวกับ ความรักในมนุษยภาพของรัชนียา
ที่ฝังเลียบรั้วพระราชวังเคร็มลิน
ก็ตราตรึงอยู่ตรงนั้น ชั่วนาน


โดย: กูรูขอบสนาม วันที่: 4 มิถุนายน 2552 เวลา:11:52:19 น.  

 


ต้นรยาบีน่า ผลฉ่ำเหมือนลูกเบอรี่


โดย: กูรูขอบสนาม วันที่: 4 มิถุนายน 2552 เวลา:20:42:46 น.  

 
ขอบคุณมากๆค่ะที่เขียนถึงรักเลียบเครมลินเล่มนี้..เป็นเล่มบางๆที่หายากจริงๆ และก็เป็นผลงานนิยายไม่กี่เล่มของคุณป้าสุภัทรที่เราเคารพรักมากที่สุด

ขอบคุณที่เขียนบทความที่ดีมากๆแบบนี้ให้ได้อ่านกันค่ะ


โดย: ดุจจันทร์ IP: 125.27.90.30 วันที่: 10 มิถุนายน 2552 เวลา:19:10:39 น.  

 
มาแวะอ่าน เพราะชื่นชอบเรื่องนี้มากเรื่องหนึ่ง...

รัชนียาสาวน้อยแสนสวย แต่ความคิดอ่านเป็นผู้ใหญ่ ถอดความน่ารักเรียบร้อยมาจากคุณสุภัทรนั่นแหละค่ะ

สะเทือนใจกับกระดิ่ง เมืองเคียพ ที่ระรัวทุก 1 นาที เพื่อรำลึกถึงผู้ตาย..สะเทือนใจค่ะ

เพราะเป็นเมืองหนาว..ยูรี จึงใส่ชุดซ้ำกับวันวาน...
อ่านมานานมากแล้วยังจำได้อยูเลยค่ะ

ขอบคุณที่นำมาเล่าให้ฟังค่ะ


สิริสวัสดิ์จันทรวาร-กมลมานเปรมปรีดิ์ค่ะ


โดย: sirivinit วันที่: 24 สิงหาคม 2552 เวลา:21:06:53 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

รุ้งพลบ
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




ใช้ชีวิตแสวงหามาหลายปี ปัจจุบันก็ยังแสวงหาไม่รู้จักเสร็จ
บางอารมณ์เหนื่อยๆ ก็หยุดพัก แล้วตรองนิ่งเขียนบันทึกในสิ่งที่พบเห็น

บางอารมณ์ที่โมแรนติค ชอบดูสายรุ้งตอนโพล้เพล้
New Comments
[Add รุ้งพลบ's blog to your web]