MY LIFE, MY OPINIONS
<<
พฤษภาคม 2553
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
18 พฤษภาคม 2553

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : สื่อไทยในสถานการณ์ความขัดแย้ง

สื่อไทยในสถานการณ์ความขัดแย้ง


โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์


ในการสนทนากับนักข่าวทีวีช่องหนึ่ง ผมถามเธอว่า เคยสังเกตบ้างไหมว่า เมื่อครั้งที่เสื้อแดง "บุก" รัฐสภา ภาพถ่ายที่ลงในหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ จะเป็นภาพที่ถ่ายจากกองกำลังฝ่ายรัฐซึ่งตั้งอยู่หลังประตู ไม่มีภาพที่ถ่ายจากมุมของฝ่ายเสื้อแดงเลย

เธอตอบว่า ก็รู้สึกน่ากลัวที่จะยืนอยู่ฝ่ายเสื้อแดง ผมถามว่ากลัวอะไร เธอตอบว่าไม่รู้เหมือนกัน แต่รู้สึกน่ากลัว

อันที่จริงคำถามของผมเพียงแต่ต้องการชี้ให้เห็นอย่างง่ายๆ ว่าการทำข่าวการชุมนุมของสื่อไทยนั้นให้น้ำหนักแก่ข่าวความขัดแย้งอย่างไม่สมดุลเท่านั้น ภาพถ่ายที่มองจากมุมเดียวของเหตุการณ์ "บุก" สภานั้น อาจอธิบายทางเทคนิคได้ว่า เพราะฝ่ายเสื้อแดงเป็น "ผู้กระทำ" (actor) จึงเป็นธรรมดาที่กอง บ.ก.ย่อมเลือกภาพที่มองเห็น "ผู้กระทำ" มากกว่า "ผู้ถูกกระทำ" ในความเป็นจริงแล้ว นักข่าวอาจส่งภาพจากทั้งสองฝั่งมาจำนวนมากก็ได้

แต่แม้ตอบอย่างนั้น ก็ยังมีคำถามตามมาอีกว่า เราจะวินิจฉัยคนในข่าวความขัดแย้งว่า ใครคือ "ผู้กระทำ" และใครคือ "ผู้ถูกกระทำ" ได้จากปรากฏการณ์เฉพาะหน้าที่เห็นเท่านั้นหรือ ถ้าสื่อไทยตอบว่าใช่ ก็ถือว่าเป็นคำอธิบายความไม่สมดุลของการทำข่าวได้หมดจดแล้ว ไม่มีเรื่องจะคุยกันต่อไป

อย่างไรก็ตาม คำตอบของนักข่าวหญิงท่านนั้นน่าสนใจ เพราะหลังจากนั้นก็เกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมวันที่ 10 เมษายน สิ่งที่น่าสนใจก็คือ หลายแง่หลายมุมของเหตุการณ์นั้นถูกเปิดเผยขึ้นจากนักข่าวต่างประเทศ (และสำนักข่าวของไทยแห่งหนึ่ง อันเป็นสำนักข่าวใหม่) จนทำให้ฝ่ายรัฐต้องสร้างคำอธิบายใหม่ให้แก่เหตุการณ์หลายครั้ง จนมาลงเอยที่คนชุดดำ และการก่อการร้าย

หากไม่นับสำนักข่าวไทยแห่งใหม่นั้นแล้ว ในข่าวที่ใหญ่และมีความสำคัญต่อทั้งปัจจุบันและอนาคตของไทยขนาดนั้น สื่อไทยได้ฝากฝีมืออะไรไว้บ้าง? และทั้งหมดนี้อธิบายได้ด้วยความกลัวเท่านั้นหรือ?

จนถึงทุกวันนี้ สังคมไทยก็ไม่รู้ว่าได้เกิดอะไรขึ้นจริงๆ ในวันที่ 10 เมษายน สื่อไทยได้แต่ตามสัมภาษณ์บุคคลในเหตุการณ์ที่เข้าถึงได้ง่าย เช่นผู้บาดเจ็บทั้งสองฝ่ายในโรงพยาบาล เหตุการณ์ "สังหารหมู่" (ไม่ว่าใครเป็นผู้ทำ) ในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของไทยครั้งนี้ จึงมีแต่เรื่องราวของผู้คนที่บาดเจ็บล้มตายโดยตัวเขาเองก็จับต้นชนปลายไม่ถูก และสังคมไทยเองก็จับต้นชนปลายไม่ถูกเท่ากัน

และก็คงจะเช่นเดียวกับการ "สังหารหมู่" ครั้งอื่น ไม่ว่าจะเป็น 14 ตุลา, 6 ตุลา, หรือพฤษภาทมิฬ สื่อไทยไม่เคยทำการสืบสวนในเชิงข่าว เพื่อให้เห็นภาพของความสลับซับซ้อนเบื้องหลังเหตุการณ์ แก่นเรื่องของเหตุการณ์กลายเป็นการต่อสู้ระหว่างวีรชนและทรราช ส่วนใครจะเป็นวีรชนหรือใครจะเป็นทรราชนั้น ขึ้นอยู่กับว่าเขามีโอกาสพูดถึงวีรกรรมของเขาได้มากน้อยเพียงไรหลังเหตุการณ์ แน่นอนว่าฝ่ายชนะย่อมมีโอกาสมากกว่า

และนี่หรือมิใช่ คือเหตุผลหลักที่สื่อไทยยังพูดถึงการสังหารหมู่ครั้งนี้ไม่ได้ เพราะยังไม่มีใครแพ้ชนะอย่างเด็ดขาด แก่นเรื่องที่สื่อถนัดจึงยังไม่โผล่ออกมา

โดยปราศจากความรู้ความเข้าใจการสังหารหมู่ทางการเมือง ท่ามกลางสื่อที่ไร้สมรรถภาพเช่นนี้ จึงเป็นที่แน่นอนว่าสังคมไทยย่อมจะเผชิญการสังหารหมู่ทางการเมืองต่อไปอีกหลายครั้งในอนาคต

แน่นอนว่า ความสามารถที่จะวิเคราะห์เหตุการณ์ใหญ่ๆ ที่มีความสลับซับซ้อนอย่างมากนั้น เกิดขึ้นได้ก็เพราะมีข้อมูลที่ได้ถูกพิสูจน์แล้ว (verified) จำนวนมากพอ แต่สื่อไทยไม่ถนัดในการพิสูจน์ข้อมูล ที่ทำกันเป็นปกติก็คือ หยิบข้อกล่าวหาของฝ่ายหนึ่งไป "พิสูจน์" โดยนำไปถามผู้ถูกกล่าวหา อย่างที่เรียกกันว่าการทำข่าวแบบปิงปอง

แท้จริงแล้ว การพิสูจน์ความจริง (verification) เป็นหัวใจสำคัญของการทำข่าวคู่กันไปกับการ "อธิบาย" (ซึ่งจะพูดถึงข้างหน้า) และการพิสูจน์ความจริงเป็นเทคนิควิธีที่จะต้องฝึกปรือ (ทั้งจากสถานศึกษาและจากประสบการณ์การทำงานจริง) เจนจัดที่จะรู้ว่าจะตรวจสอบข้อมูลหนึ่งๆ ที่แหล่งใด ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบโดยตรงหรือโดยอ้อม

แต่ความสามารถของนักข่าวไทยในการทำงานที่มีความสำคัญระดับพื้นฐานเช่นนี้อ่อนด้อยอย่างยิ่ง เนื่องจากการฝึกที่ไม่เพียงพอ ทั้งจากสถานศึกษาและที่ทำงาน ในสถานการณ์ความขัดแย้งเช่นนี้ สื่อไทยจึงได้แต่หยิบฉวยข้อมูลใกล้มือไปใช้ โดยไม่ได้มีการพิสูจน์ความจริงเลย คู่ขัดแย้งเพียงแต่พยายามทำให้ข้อมูลของฝ่ายตนอยู่ "ใกล้มือ" นักข่าวที่สุดเท่านั้น

คำถามที่นักข่าวป้อนให้แก่แกนนำ นปช.ก็ตาม ผู้อำนวยการ ศอฉ.ก็ตาม จึงตื้นเขินและแสดงถึงการไม่ทำ "การบ้าน" อย่างชัดเจน ที่จริงแล้วนักข่าวจะทำ "การบ้าน" ได้ดี ก็ต่อเมื่อต้องมีข้อมูลที่ถูกพิสูจน์แล้วจำนวนมากในกระเป๋าด้วย ถ้ากระเป๋าว่างเปล่า ถึงจะขยันเท่าไร ก็เท่ากันกับไม่ได้ทำ "การบ้าน" อยู่นั่นเอง

เขาป้อนอะไรมา นักข่าวก็ได้แต่เอ๋อ ที่ถามต่อ ก็เป็นเพียงต้องการความชัดเจน เพื่อส่งต่อให้โรงพิมพ์ได้สะดวก

เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการ "เลือกข้าง" ไม่ว่าสื่อจะเลือกข้างใดในความขัดแย้ง สื่อก็ยังมีหน้าที่พิสูจน์ความจริงของข้อมูลอยู่นั่นเอง เพราะนั่นคือสาระของสินค้าที่สื่อผลิตขายผู้บริโภค นักข่าวหรือ บ.ก.จะสวมเสื้อหลากสี หรือได้สัมปทานทีวีของรัฐเท่าไรก็เป็นเรื่องของบุคคล แต่พวกท่านทั้งหลายเก็บสตางค์จากผู้อ่านด้วยเหตุผลว่า ท่านจะขายข่าวที่ได้พิสูจน์ความจริงจนสุดความสามารถของท่านแล้ว... ทั้งนี้ ถ้าสื่อไม่ใช่แก๊งต้มตุ๋น

อีกด้านหนึ่งของการทำข่าว นอกจากการพิสูจน์ความจริงของข้อมูล ก็คือการอธิบาย หรือการเล่า (narration)

คนเราไม่สามารถ "เล่า" อะไรได้ ไม่ว่าจะมีข้อมูลที่พิสูจน์แล้วมากสักเพียงใด จนกว่าจะได้สร้างโครงเรื่องขึ้นก่อน ฉะนั้นทุกๆ การเล่า จึงมีคำอธิบายอยู่ในนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และโครงสร้างของเรื่องราวนี่แหละที่อาจมีอคติส่วนตน, ผลประโยชน์ทางอุดมการณ์, อิทธิพลของนาย ฯลฯ แทรกเข้ามาได้ โดยอุดมคติแล้ว สื่อควรป้องกันมิให้สิ่งเหล่านี้เข้ามากำกับการเล่าข่าวของตนจนสุดความสามารถที่มนุษย์จะทำได้

แต่ในปัจจุบัน คนทำข่าวบางคนถึงกับอ้างสื่อฝรั่งมังค่าว่า การ "เลือกข้าง" เป็นสิ่งปกติและสื่อควรทำ (โดยไม่ดูผลกระทบต่อสังคมฝรั่งว่า เมื่อสื่อ "เลือกข้าง" แล้วเกิดอะไรขึ้นแก่สังคมการเมืองฝรั่งบ้าง) สื่อก็ควรได้รับคำเตือนด้วยว่า หาก "เลือกข้าง" จริง ก็ช่วยประกาศออกมาเลยว่าได้ "เลือกข้าง" ไหนไปแล้ว ผู้บริโภคควรมีสิทธิในการปกป้องตนเองด้วยวิจารณญาณมากขึ้น อย่าเสนอตัวประหนึ่งเป็นสื่อที่มุ่งประกอบอาชีวปฏิญาณอย่างบริสุทธิ์ (ดังนั้น โดยส่วนตัวของผู้เขียนแล้ว ไม่รู้สึกว่าทีวีช่องหอยม่วงน่ารังเกียจเท่ากับช่องทีวีไทย แม้ทั้งสองช่องใช้เงินของผู้บริโภคดำเนินการทั้งคู่ก็ตาม)

คำเตือนอีกข้อหนึ่งก็คือ ถึงจะ "เลือกข้าง" อย่างไร โครงสร้างของเรื่องราวที่เสนอ ต้องไม่ละทิ้ง, กลบเกลื่อน, ปิดบัง, บิดเบือน ฯลฯ ข้อมูลที่ได้พิสูจน์ความจริงแล้ว หากข้อมูลเหล่านั้นยังสามารถรองรับโครงสร้างของเรื่องราวได้อยู่โดยไม่ติดขัด หรือโดยไม่แย้งกันในตัวเอง การ "เลือกข้าง" ของสื่อก็ดูจะมีผลกระทบต่อการเสนอข่าวตามอาชีวปฏิญาณไม่มากนัก

อย่างไรก็ตาม ตราบเท่าที่สื่อไทยไม่ให้ความสำคัญแก่การพิสูจน์ความจริงของข่าว การ "เลือกข้าง" จึงทำให้โครงสร้างของเรื่องราวที่สื่อสร้างขึ้นเต็มไปด้วยอคติได้ง่าย โดยสื่อไม่เคยเตือนผู้อ่านเลยว่า ตนได้เลือกข้างไหนไปแล้ว

หลายคนพูดตรงกันว่า ในสถานการณ์ความขัดแย้งที่สังคมไทยเผชิญอยู่ สื่อไทยเลือกจะเซ็นเซอร์ตัวเอง เหตุใดจึงต้องเซ็นเซอร์ตัวเองเป็นเรื่องเข้าใจยาก รัฐไทยในปัจจุบัน แม้มีอำนาจเด็ดขาดจากกฎหมายความมั่นคงและสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง แต่ทุกคนก็รู้ว่า ในความเป็นจริงรัฐไม่มีอำนาจจริงที่จะกำกับควบคุมสื่อเอกชนได้ หากความพยายามจะลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารข้อมูลของรัฐถูกแฉแก่สาธารณชน รัฐจะตกในฐานะลำบากยิ่งขึ้นไปอีก

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เพียงแต่สื่อขยับตัวเท่านั้น ไม่ต้องลุกขึ้นสู้ด้วยซ้ำ รัฐก็ต้องถอย แต่สื่อกลับเลือกจะโอนอ่อนให้แก่แรงกดดันของรัฐ ทั้งนี้ หมายรวมถึงสื่อทุกชนิด รวมทั้งทีวีด้วย

แรงกดดันจากทุนอาจมีความสำคัญกว่ารัฐ เหตุใดทุนจึง "เลือกข้าง" คำตอบหนึ่งที่พูดกันอยู่เสมอคือผลประโยชน์ทางธุรกิจ เช่นนายทุนทีวีต้องการต่อสัมปทานเป็นต้น แต่น่าสงสัยว่าคำอธิบายนี้ไม่เพียงพอ ผลประโยชน์ของนายทุนทีวีนั้นสลับซับซ้อนหลายแง่หลายเงื่อน ผูกพันเชื่อมโยงไปถึงทุนอีกหลายกลุ่ม การจะได้หรือไม่ได้สัมปทานจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับการทำตัวน่ารักแก่รัฐบาลที่ครองอำนาจอยู่เท่านั้น (ซึ่งก็ถูกเปลี่ยนไปได้อย่างรวดเร็ว) ความเชื่อมโยงกับทุนหลากหลายกลุ่มที่มีอำนาจกำกับการเมืองอยู่ต่างหาก ที่ทำให้สัมปทานจากรัฐมีความมั่นคง

สิ่งที่ผูกพันทุนไว้กับ "ระเบียบ, ความสงบเรียบร้อย, นิติรัฐ, ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ ฯลฯ" นั้นมีสองอย่าง อำนาจต่อรองทางการเมืองที่สูงสำหรับรักษาผลประโยชน์ทางธุรกิจของทุน "ฝ่ายกู" นั้นอย่างหนึ่ง และอคติทางวัฒนธรรมอีกอย่างหนึ่ง อย่างที่สองนี้แหละที่อธิบายการเซ็นเซอร์ตัวเองของทุนสื่อเอกชน ที่ไม่ต้องขอสัมปทานจากรัฐได้ ก็โตและรวยมาท่ามกลาง "ระเบียบ, ความสงบเรียบร้อย, นิติรัฐ, ผลิตภัณฑ์มวลรวม ฯลฯ" อย่างนี้นี่หว่า จะปล่อยให้พวกบ้านนอกขอกตื้อมาละเลงจนเละไปได้อย่างไร

ศัตรูของเสรีภาพสื่อไทยนั้นไม่ใช่รัฐมานานแล้ว แต่คือทุน ถ้าเราไม่ตระหนักเรื่องนี้ให้ดี เราก็จะไม่ช่วยกันสร้างกลไกทางกฎหมาย, สังคม, และวัฒนธรรม ที่แข็งแกร่งพอจะปกป้องเสรีภาพของสื่อได้เลย

ถ้าสังคมไทยมีข้อมูลรอบด้าน มองเห็นทั้งข้ออ่อนข้อแข็งของแต่ละฝ่ายที่ร่วมอยู่ในความขัดแย้ง การใช้ความรุนแรงกับความจริงจะทำได้ยากขึ้น เพราะจะถูกสื่อตรวจสอบอย่างรวดเร็วและหนักแน่น ทุกฝ่ายจะต้องระมัดระวัง ไม่ใช้ความเท็จเป็นเครื่องมือต่อสู้ เพราะจะทำให้เสียความชอบธรรมจนเพลี่ยงพล้ำ โอกาสของการใช้ความรุนแรงของทั้งสองฝ่ายก็จะลดลงอย่างมาก แม้แต่ทางออกจากความขัดแย้งเฉพาะหน้าก็อาจเห็นได้ชัดขึ้น

แต่ในสถานการณ์ความขัดแย้งซึ่งหลายคนมองเห็นว่า สื่อไทยไม่ "เป็นกลาง" นั้น ไม่จำเป็นต้องตีโวหารอะไรให้มากหรอก คุณไม่มีกึ๋นจะ "เป็นกลาง" ได้ ก็เท่านั้นเอง

ที่มา : //www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1274177091&grpid=&catid=02


Create Date : 18 พฤษภาคม 2553
Last Update : 18 พฤษภาคม 2553 23:08:30 น. 2 comments
Counter : 613 Pageviews.  

 
มหาลัยเที่ยงคืน เป็นไงบ้าง อุดมการณ์ ของพวกคุณ
ก้อแค่อยากเห็นสังคมใหม่ใน อุดมคติ แบบ ลาว เวียดนาม
หรือ ประเทศคอมมิวนิส อื่น ๆ เอาอย่างนี้ดีไม๊ครับ
พวกผมจะออกเงินค่าเครื่องบิน ค่าที่พัก ค่าอาหาร ให้คุณ นิธิ ไปอยู่ประเทศเหล่านั้น จนถึงวันตาย กล้าไปไม๊ครับ
อย่าหลอกตัวเองอีกเลย คุณ นิธิ ที่พวกคุณต่อสู้ ถึงทุกวันนี้ และไม่มีวันชนะได้ เพราะคุณกำลังต่อสู้กับความดีที่ยิ่งใหญ่ ถ้าไม่เข้าใจว่าความดีคืออะไร กรุณา ไปห้องสมุดที่มี พจนานุกรมไทย ถ้าอยู่แต่ใน มหาลัยเที่ยงคืน ผมว่า มันเปลืองกาแฟนะ อีกอย่างสมองคุณ จะเป็นเมือก ซะเปล่าๆ ลดทิฐิ ซะบ้างนะครับ ด้วยความหวังดี


โดย: นิธิ เอ๋ย IP: 183.89.28.200 วันที่: 24 พฤษภาคม 2553 เวลา:22:27:34 น.  

 
แล้วคุณเอง ทราบรึป่าวค่ะ ว่า "ความดี" คืออะไร....คำนี้มันเป็นคำใหญ่มากน่ะค่ะ... ขนาดนักปรัชญาที่เราคิดว่าเก่งยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนเลยว่าดีมันคืออะไร หากแต่ต้องพูดว่า ดี ในบริบทของใครมากกว่า ...ตัวคุณเองหรือส่วนรวม ?


โดย: ss IP: 202.28.27.3 วันที่: 13 กรกฎาคม 2553 เวลา:15:19:54 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

popcorn2519
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




หวัดดีครับ สำหรับ คนที่หลงเข้ามาใน blog นี้ ^^ ตอนนี้ผมได้ทำการ แบ่ง blog ออกเป็น 3 กลุ่มนะครับ

กลุ่มแรก คือ My Blog ก็จะเป็นเรื่องต่างๆ ที่อยากจะเขียน ทั้งหนังที่ชอบ เรื่องที่อ่านมาแล้วโดน หรือ อาจจะสิ่งต่างๆในชีวิตประจำวัน ที่อยากจะระบาย

กลุ่มที่ 2 คือ 2,900 ไมล์ ไกลบ้าน เป็นบล็อคที่สร้างมาเพื่อเขียนเรื่องราวช่วงหนึ่งของชีวิตที่จะต้องไปใช้ชีวิตในต่างแดนครับ ซึ่งสิ่งที่ผมประสบมาและถ่ายถอดอาจจะไม่เหมือนกับคนอื่นๆ ก็ได้ อันนี้อาจเกิดได้จากความอ่อนแอทางภาษาซึ่งอาจจะทำให้เกิดผมเกิดความเข้าใจผิดได้ หรือเหตุการณ์และช่วงเวลาที่ตัวเองได้สัมผัส หรือสังคมที่ผมได้เข้าไปคลุกคลีด้วย แต่ข้อมูลทั้งหมดที่เขียนก็คือสิ่งที่ผมเข้าใจอย่างนั้นจริงๆครับ

และกลุ่มที่ 3 สังคม-การเมือง-การปกครอง ซึ่งเป็นกลุ่มใหม่เนื่องจากช่วงหลัง มีการนำข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องการเมือง สังคม การปกครอง มาใส่เยอะ ก็เลยคิดว่าน่าจะแยกกลุ่มไปจากเรื่องส่วนตัวดีกว่า

ข้อความทุกข้อความทั้งที่นำมาจากที่อื่น และที่เขียนเอง ทั้งหมดเป็นความคิด ความรู้สึกส่วนตัว และความชอบของผมเองนะครับ ไม่ได้แปลว่าต้องถูกต้องเสมอไป ฉะนั้นกรุณาใช้วิจารณญาณในการอ่านล่ะกัน ทุกคนสามารถโต้แย้งได้ครับ

ขอบคุณทุกคนที่เข้ามาเยี่ยมชม และคอมเมนต์ ครับ
POP
New Comments
[Add popcorn2519's blog to your web]