MY LIFE, MY OPINIONS
<<
กันยายน 2551
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
29 กันยายน 2551

'ประชาชาติธุรกิจ' สนทนาพิเศษกับ 'ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์'

u ถึงชั่วโมงนี้อาจารย์มองเห็นทางออกความขัดแย้งในสังคมไทยหรือยัง

ผมยังมองไม่เห็นทางออก (ครับ) เพราะตอนนี้สังคมไทยไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของเหตุผล และผมเข้าใจว่าตอนนี้กลุ่มคู่ขัดแย้งกันทางการเมืองถือเหตุผลคนละชุด หลักการคนละเรื่อง ต่างฝ่ายต่างก็อ้างอิงว่าหลักการฝ่ายตัวเองเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ก็เลยอาจจะยาก แล้วผมก็ไม่คิดว่าจะมีการสมานฉันท์เกิดขึ้นได้

จริงๆ เรื่องสมานฉันท์อาจไม่ใช่สิ่งถูกเท่าไร เพราะว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติธรรมดาอยู่แล้วในระบอบประชาธิปไตย แต่ว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในบ้านเราเป็นความขัดแย้งระดับรากฐาน ในทางความคิดเลยทีเดียว เมื่อฐานความคิดมองกันคนละมุมให้น้ำหนักกับปัญหาคนละอย่าง มันจึงไม่มีทางที่จะทำให้ลงตัวได้หรือเกิดการสู้กันอย่างสมดุลในระบบได้


u การเปิดประตูไปสู่การปฏิรูปการเมืองรอบใหม่ เป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน

ผมคิดว่าในบรรยากาศอย่างนี้ก็เป็นไปไม่ได้ ฝ่ายซึ่งไม่ได้อำนาจรัฐยื่นข้อเสนอที่ค่อนข้างแข็งและตึงมาก เป็นข้อเสนอที่การเปลี่ยนระบอบการปกครอง ข้อเสนอ 70 : 30 เป็นข้อเสนอที่ตึงมากก็จะหาจุดไม่ได้ เพราะอีกทางหนึ่งก็จะไม่ยอมถอยเป็นผม ผมก็ไม่ถอย นี่พูดตรงๆ (นะ) เพราะมันไปไกลจากระบบ


u นักวิชาการบางคนเห็นว่า ระบบเลือกตั้งในปัจจุบันไม่ตอบโจทย์ ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาและวิกฤต

ผมไม่แน่ใจสมมติฐานของบ้านเรา คือ...ถ้ามองในเชิงพัฒนาการทางประชาธิปไตยบ้านเรา ผมคิดว่าเรายังมีปัญหาในทางหลักการอยู่สูงมาก จริงๆ ก่อนหน้านี้ผมก็ไม่ได้คิดประเด็นนี้อย่างจริงจัง จนกระทั่ง 2-3 ปีที่ผ่านมาผมนั่งคิดเรื่องนี้อย่างจริงจังมากขึ้นว่า สมมติฐานของบ้านเราหรือความเข้าใจของเราที่ว่า ปัญหาในทางประชาธิปไตยของเราอยู่ที่นักการเมืองเป็นหลักมันจริงหรือเปล่า... นี่คือประเด็น

เพราะส่วนใหญ่เวลาเราคิดถึงปัญหาในทางประชาธิปไตยเรามักจะโฟกัสไปที่นักการเมืองเป็นสำคัญ เมื่อปัญหาอย่างนี้เราก็พยายามไปแก้ที่ตัวนักการเมือง พยายามสร้างระบบขึ้นมาใหม่ สร้างองค์กรอิสระขึ้นมาโดยเอาคนที่เป็นข้าราชการระดับสูงเข้าไป

อยู่ในองค์กรเหล่านั้น แล้วก็กลายเป็นการสร้างอำนาจขึ้นมาใหม่เพื่อพยายามมาคานนักการเมือง คือไปเพิ่มอำนาจอีกทางหนึ่ง แล้วมันเพิ่มเป็นจำนวนมากในเวลานี้ กระทั่งอำนาจอย่างนี้กลายเป็นอำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้อีกแล้ว เป็นอำนาจซึ่งผมไม่แน่ใจว่าจะดีกว่าอำนาจของนักการเมืองหรือเปล่า

ฉะนั้น เวลาเราพูดถึงการเมืองวันนี้เราเคยพูดถึงเรื่องการปฏิรูปการเมือง เรื่องการมี 'statesman'(รัฐบุรุษ) ผมคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้ เป็นสิ่งที่เราเพ้อฝันมาก เกินไปแล้วผมไม่คิดเรามองปัญหาการเมืองครบกันทุกด้าน เพราะมันเป็นเรื่องของผลประโยชน์ของกลุ่มคนทุกกลุ่ม

ถ้าเรามองว่าการเมืองเรื่องผลประโยชน์ของกลุ่มคนทุกกลุ่ม นักการเมืองก็เป็นกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มหนึ่ง อาจจะใหญ่หน่อย อาจจะมีปัญหาหน่อย แต่ว่าเราเคยวิเคราะห์กันจริงๆ มั้ยถึงรากของสังคมไทยเราว่าที่เป็นอย่างนี้เป็นเพราะอะไรกันแน่ เป็นเพราะนักการเมืองอย่างเดียวหรือเปล่า

ความไม่มั่นคงทางการเมือง เป็นเพราะนักการเมืองอย่างเดียวหรือเปล่า หรือมีปัจจัยอื่นๆ อีก ซึ่งเราไม่ได้พูดกันอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นตัวที่ทำให้การออกแบบทางการเมืองเราเป็นปัญหาตลอดเวลาเราหนีจากนักการเมืองไปหาองค์กรอิสระ บัดนี้เราเกิดปัญหาใหม่ในองค์กรอิสระ เราเพิ่มอำนาจให้กับฝ่ายข้าราชการประจำ เพิ่มอำนาจให้กับตุลาการ บัดนี้เริ่มเกิดปัญหาบางอย่างแล้วในวงการตุลาการ

ซึ่งผมคิดว่า แน่นอน...เรื่องของนักการเมืองที่ชี้กันให้เห็นมาตลอด เราปฏิเสธการมีอยู่จริงของปัญหานี้ไม่ได้ แต่ปัญหาอย่างนี้ผมยังเชื่อว่าสามารถที่จะแก้ไขไปได้โดยระบบ แน่นอน...การวางกลไกเป็นสิ่งซึ่งจะต้องทำ แต่ถ้าเราคิดว่าปัญหาทุกอย่างอยู่ที่นักการเมือง แล้วทุ่มทุกอย่างไปจัดการกับนักการเมือง แล้วก็สร้างหลักการแปลกๆ ใหม่ๆ ขึ้นมา ทำผิดคนเดียว ยุบทั้งพรรค แบบเนี่ย...ก็จะไปกันใหญ่ ก็จะยิ่งหาทาง ออกไม่เจอ

เราทำรัฐธรรมนูญซึ่งมีปัญหาในทางหลักการขึ้นมาอย่างมาก บัดนี้เรามาบอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ห้ามแก้ ถ้าแก้จะเป็นการแก้เพื่อผลประโยชน์ของพรรคการเมือง เราวนอยู่ในวงจร ปัญหาแบบนี้ละครับ แล้วจะหาทางออกยังไง ผมแปลกใจมากที่มีคนบอกว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ห้ามแก้ แล้วพอผมบอกว่าต้องแก้ ผมก็กลายเป็นกลุ่มพรรคพลังประชาชน ทั้งที่จริงๆ ในเชิงหลักการมันเป็นไปไม่ได้ในระบบแบบนี้


u อาจารย์เห็นว่า หลักการบ้านเรา มันเพี้ยนไปหมดแล้ว

ใช่ (ครับ) ผมเห็นเป็นอย่างนั้นในหลายเรื่อง แล้วเวลาเราพูด เราไม่พูดถึงมาตรฐานอันเดียวกัน เรากลายเป็นทวิมาตรฐาน เป็น 2 มาตรฐานไปในหลายๆ เรื่อง เราเพียงแต่ว่าชอบหรือไม่ชอบคนใดคนหนึ่งหรือคนบางคนเท่านั้นเอง


u หลักการที่เพี้ยน อาจจะสะท้อนจากคำวินิจฉัยของศาลในช่วงหลังด้วยหรือเปล่า

ผมคิดว่าคำวินิจฉัยของศาลในช่วงหลังก็มีปัญหาหลายเรื่อง แล้วบางเรื่องก็อธิบายในเกณฑ์มาตรฐานเดียวกันไม่ได้ วันนี้ สังคมไทยชอบพูดเรื่องจริยธรรมคุณธรรมเป็นหลัก เราพยายามเอาคุณธรรม และจริยธรรมเข้ามาเป็นเกณฑ์หรือเป็นมาตรฐานในการวินิจฉัยเรื่องต่างๆ ในนามของกฎหมาย

เหมือนเราลืมกันไปว่า บรรทัดฐานในทางสังคมที่ควบคุมความประพฤติของบุคคล ซึ่งมีลักษณะเป็นศีลธรรมก็ดี จริยธรรมก็ดี คุณธรรมก็ดี หรือจารีตธรรมเนียมก็ดีกับเป็นกฎหมายนั้น มีเกณฑ์ในการตรวจวัดความประพฤติที่มีความแตกต่างกันอยู่

ยกตัวอย่างเช่น กฎหมายเราเรียกร้องความเสมอภาคเบื้องหน้ากฎหมายอันนี้เป็นหลัก แต่ว่ากฎหมายไม่ดูหน้าคนว่าคนที่มาอยู่เบื้องหน้ากฎหมายเป็นใคร ปฏิบัติต่อคนเสมอกัน นี่คือคุณค่าของทางกฎหมาย แต่จริยธรรมหรือคุณธรรมอาจจะไม่ได้เน้นไปที่ตรงนี้ จริยธรรม คุณธรรม เน้นเรื่องคนดี คนไม่ดี คือไปตัดสินคนจากความดีความไม่ดีของคน ถ้าคุณเป็นคนดีอาจจะได้รับยกเว้นทำอะไรบางอย่างได้ ถ้าคุณเป็นคน ไม่ดีคุณก็อาจจะทำอะไร บางอย่างไม่ได้ ไปมองกันจากตรงนั้น ซึ่งผมก็ไม่ได้บอกว่า จริยธรรมหรือคุณธรรมนั้นเป็นสิ่งไม่ดี แต่ว่าเวลาเราใช้กฎหมาย เราจะเอาตรงนั้นเข้ามาเป็นเกณฑ์ในการวัดไม่ได้ เพราะจะทำให้เกิดความไม่เสมอภาคตามมา

ยกตัวอย่างคดีคุณสมัคร (สุนทรเวช) เรื่องลูกจ้าง ผมว่าถ้าคุณวินิจฉัยนะครับว่า ลูกจ้างมีความหมายแบบนี้ คุณต้องใช้เกณฑ์นี้กับทุกคน (นะ) ไม่ใช่เฉพาะคุณสมัครนี่คือหลักในทางกฎหมายครับ รวมทั้งกับตัวคนที่วินิจฉัยด้วย บางทีเราอาจจะต้องมานั่งคิดว่า ตอนที่เรานั่งวินิจฉัยคดี ก่อนที่เราจะไปชี้ว่าลูกจ้างหมายความว่ายังไง เราต้องถามตัวเราเองก่อนหรือเปล่าว่า ตกลงวินิจฉัยไปแล้ว แล้วเราเป็นลูกจ้างในความหมายรัฐธรรมนูญหรือเปล่า

สิ่งที่ผมกำลังจะบอกคือ ทำไมคุณไม่ใช้เกณฑ์มาตรฐานเดียวกัน ทำไมเกณฑ์นี้ใช้กับคนอื่นได้ แต่ทำไมกับตัวเองถึงเป็นข้อยกเว้น นี่คือปัญหา และเรื่องที่น่าเศร้า คือมีคนพยายามออกมาอธิบายไปจากหลักการในทางกฎหมายที่ควรจะเป็น แล้วยังอ้างอธิบายกฎหมายอยู่ คุณอธิบายเรื่องเสรีภาพทางวิชาการซึ่งไม่เกี่ยวกัน มันคนละประเด็น คุณไม่เอาประเด็นต่อประเด็นมาว่ากันตรงๆ นี่คือปัญหาของการใช้กฎหมายที่เกิดขึ้นในเวลานี้


u ดูเหมือนอาจารย์จะเห็นด้านลบของตุลาการภิวัตน์ค่อนข้างชัด

ผมเห็นว่าเรื่องตุลาการภิวัตน์ที่ถูกนำเสนอมาในช่วงที่มีการต่อสู้ทางการเมืองมันก็ผิดพลาด คือไปเอาสิ่งซึ่งเกินไปกว่าอำนาจอันเป็นปกติธรรมดาขององค์กรนี้มาใช้ ที่ผมพูดก็ด้วยความเป็นห่วงระบบศาล ระบบตุลาการ (ครับ) ว่าที่สุดเมื่อเข้ามาพัวพันกับการเมืองมากเข้า คนก็จะมองว่าเป็นฝักเป็นฝ่ายในทางการเมือง

ผมถึงแปลกใจมากเลยว่า ในที่สุดเวลาศาลอ่านคำพิพากษาในคดีคุณหญิงพจมาน (ชินวัตร) ก่อนอ่านคำพิพากษา ศาลบอกว่า ศาลไม่เข้าข้างฝ่ายไหน (นะ) ศาลไม่พัวพันทางการเมือง ศาลต้องออกตัวก่อน (ครับ) แปลว่าเกิดอะไรขึ้นในเชิงระบบ แปลว่าศาลเองก็ต้องรู้แล้วใช่มั้ยว่าเริ่มมีปัญหาความเคลือบแคลงใจของคน

ผมจะไปบอกว่าแก้ได้หรือไม่ได้ ก็อาจจะฟันธงชัดเจนคงไม่ได้ แต่ผมเห็นว่าความ ขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเวลานี้ ลึกลงไปถึงรากฐานแล้วในทางความคิดของคน ความแตกแยกในสังคมมากเกินกว่าที่นายกรัฐมนตรีคนหนึ่งจะเข้ามาแก้ไขได้คู่ของความขัดแย้งจะยังมีอยู่ต่อไป

ฉะนั้น การปะทะกันในทางความคิด ย่อมต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น ผมถึงบอกว่ารัฐธรรมนูญปี'50 ตั้งแต่ตอนที่เปลี่ยนรัฐธรรมนูญแล้วว่า รัฐธรรมนูญ ฉบับนี้จะนำประเทศไปสู่ทางตันข้างหน้าโดยตัวการออกแบบของมัน ผมถึงบอกให้ไม่รับรัฐธรรมนูญตั้งแต่คราวนั้น แล้วก็ไปทำ สร้างระบบที่ประสานกันได้ตั้งแต่คราวนั้น แต่บัดนี้เลยมาเป็นเวลายาวนานแล้ว ความแตกแยกก็ยังร้าวลึกลงไปในสังคม


u อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอการเมืองใหม่ก็ได้รับการขานรับบางระดับ เช่นเดียวกับเสียงไม่เห็นด้วยก็มีไม่ใช่น้อย

ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ปะทะกันครับ ไม่มีใครเขายอมคุณหรอก คนอีกครึ่งหนึ่ง อย่างน้อย (นะ) ผมคิดว่าเขาไม่ยอม หมายความว่า การเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯจะมีน้ำหนักและมีพลังมากถ้าคุณได้เสียง 80-90 เปอร์เซ็นต์ของคนในประเทศนี้ แต่ผมจะบอกว่า โดยข้อเสนอที่เสนอมานั้นไม่นำไปสู่อะไรเลย ผมเห็นข้อเสนอพันธมิตรฯแล้วผมก็หัวเราะ คุณเสนออะไรขึ้นมา 70 : 30 แล้วคุณบอกว่า คุณเสนอมาเป็นตุ๊กตา

ตัวคุณเองยังไม่ชัดกระจ่างในความคิดของคุณเลยว่า คุณต้องการอะไร คุณก็โยนขึ้นมา แล้วคุณก็ไม่มีทิศทางจะนำคนไปในทิศทางไหน ทิศทางของคุณมีอย่างเดียวคือ ขจัดศัตรูทางการเมืองของคุณเป็นหลัก ซึ่งบัดนี้ยังขจัดไม่ได้เพราะยังสืบต่อกันมา เพราะในระบบเลือกตั้งคนเขายังเลือกอยู่

ฉะนั้น คุณก็ต้องทำยังไง ให้ทำลายตัวระบบการเลือกตั้ง นี่พูดง่ายๆ ประเด็นอยู่ตรงนี้ แล้วผมเห็นว่าปัญหาประชาธิปไตยของไทยในเวลานี้ ผมสรุปก็ได้เลยนะว่า ไม่ได้อยู่ที่การซื้อเสียงเป็นปัญหาหลัก แต่อยู่ที่การไม่ยอมรับคะแนนเสียงของคนเป็น ด้านหลัก เราพยายามจะดึงกงล้อในทางประวัติศาสตร์ให้หมุนกลับไป ซึ่งมันหมุนกลับไปไม่ได้ มันต้องมีแต่หมุนไปข้างหน้า


u ทำไมอาจารย์ไม่ลุกขึ้นวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาในเรื่องการเมืองใหม่ 70 : 30 เพื่อให้การศึกษากับคนในสังคม

จริงๆ ใครมาถามผมเรื่องนี้ ผมก็มองว่าเป็นเรื่องไร้สาระมากเกินไป แต่เราก็ไม่รู้นะว่าข้อเสนอบางอย่างซึ่งไร้สาระกลับกลายเป็นสิ่งซึ่งคนเอามาพูดกันจนเป็นเรื่องเป็นราว ตอนเราเห็น สนช.ระบบสรรหา 100 เปอร์เซ็นต์ คุณเห็นมั้ยว่า สนช.เป็นอย่างไร ทำงานกันอย่างไร ไม่ครบองค์ประชุมกันกี่ฉบับ คุณเคยวิจารณ์กันบ้างมั้ย เคยติดตามดู สนช.ตอนออกกฎหมายหรือเปล่า

กฎหมายบางเรื่องผมก็ยอมรับว่าเป็นประโยชน์ (ครับ) แต่กฎหมายที่เป็นประโยชน์เฉพาะกลุ่ม เฉพาะบางกลุ่ม บางหน่วยบางองค์กร มีกี่ฉบับ เราได้มีการตามไปวิเคราะห์ตรงนั้นบ้างมั้ย เพื่อจะดูคุณภาพของกรณีที่เรียกว่ามาจากการสรรหา

จริงๆ ข้อเสนอของพันธมิตรฯก็มีข้อดีอย่างหนึ่ง (นะ) ข้อดีคือสะท้อนให้เห็นเลยว่า ปัญหาในทางประชาธิปไตยของเราที่ตกค้างมาตั้งแต่ปี 2475 ยังดำรงอยู่จนถึงวันนี้70 กว่าปีผ่านไปเราไม่ไปไหน น่าตกใจ อย่างน้อยในทางประชาธิปไตยเรายังไม่ไปไหนเลย เรายังไม่เห็นโทษของการทำรัฐประหารตัดตอนเพียงเพราะเรากลัวว่านักการเมืองจะมีผลประโยชน์มากมายมหาศาล และจับกุมนักการเมืองไม่ได้ บางทีผมก็คิดว่า เอ๊ ! เราอาจจะกลัวอะไรมากไปมั้ย

แต่ในที่สุดก็ทำให้เราลดทอนคุณค่าของประชาธิปไตยลงไปเรื่อยๆ ทุกวัน จนเราก็รู้สึกว่าประชาธิปไตยนั้นไม่มีความหมายอะไรอีก เราไม่เคยปลูกฝังในทางความหมายเรื่องคะแนนเสียง ลงไปคุยกับชาวบ้านดูซิครับ คนขายลูกชิ้นปิ้ง คนขับแท็กซี่ คนขายก๋วยเตี๋ยว นักการภารโรงต่างๆ คนเหล่านี้เมื่อก่อนเขาก็ไปเลือกตั้งแบบแกนๆ แต่บัดนี้เขารู้สึกว่าเขาเลือกตั้งไปมีความหมาย (นะ) จะผิดจะถูกเรื่องหนึ่ง แต่ตรงนี้ไม่ใช่หรือครับที่เป็นความหมายสำคัญของประชาธิปไตย

...การต่อสู้ของพันธมิตรฯเป็นการทำร้ายคนอื่น ผมไม่ได้หมายถึงการทำร้ายโดยใช้กำลัง (นะ) แต่การใช้ความรุนแรงในทางวาจา คุณว่าทุกคนที่ไม่เห็นด้วยกับคุณ จะเป็นประชาภิวัตน์ไปได้ยังไง คุณกลายเป็นสิ่งซึ่งมีความศักดิ์สิทธิ์ในหมู่ของแกนนำว่า ถ้าพูดอะไรมาต้องเชื่อตามคุณ ถ้าคุณชี้ว่าคนนี้เลวก็ต้องเลว คุณกำลังสร้างความคิดอย่างหนึ่งที่ปรากฏในบทประพันธ์ของชาติ กอบจิตติ เรื่องคำพิพากษา

คุณกำลังทำให้คนในสังคมต้องเชื่อทุกอย่างที่คุณพูด และคุณก็ชี้ไปว่าไอ้ฟักมันเลว และนี่คือไอ้ฟัก ผมเริ่มรู้สึกว่ามันเกิดสภาพแบบนี้ขึ้นแล้ว เพราะว่าคุณลดทอนพลังเหตุผลลง คุณเหลือเฉพาะให้เป็นเหตุผลของคุณเท่านั้น

คุณไม่เคยคิดเลยว่าคนอื่นเขาก็มีความหวังดีต่อชาติบ้านเมืองเหมือนกับคุณเหมือนกันนะ แต่อาจจะมีวิธีการคนละอย่างพูดง่ายๆ คุณใจไม่กว้าง แล้วคุณจะเป็นประชาภิวัตน์ได้ยังไง ไม่มีทางเป็นไปได้


u ในสถานการณ์อย่างนี้ อาจารย์ผิดหวังใครมากที่สุด

ในความเห็นผม (นะ) คือนักวิชาการกับสื่อเป็นกลุ่มที่ผมคิดว่าขาดความเป็นมืออาชีพ จริงๆ มีสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งที่มีความเป็นมืออาชีพสูง ก็มีคนอย่างนี้อยู่ในทุกวงการ แต่ผมไม่คิดว่าเขาเป็นข้างมากในวงการสื่อ แน่นอนสื่อมวลชนก็เหมือนกับกลุ่มคนอื่นๆ เหมือนกับนักวิชาการ คือมีผลประโยชน์ของตัว

นักวิชาการก็มีผลประโยชน์ของตัวผลประโยชน์อาจจะมาในหลายลักษณะหลายรูปแบบ ทั้งชื่อเสียง เงินทอง ตำแหน่ง สื่อก็มีผลประโยชน์ของเขาให้ตัวเองอยู่ได้ แน่นอนสื่อจำนวนหนึ่งอาจจะต้องการมีเสียงดัง เป็นคนชี้ทิศทาง มีอิทธิพลในทางความคิดต่อคนจำนวนมาก

แต่ไม่ว่าคุณจะมีผลประโยชน์อย่างไรก็ตาม เมื่อคุณเข้าสู่วิชาชีพ คุณต้องมีความเป็นมืออาชีพ ความเป็นมืออาชีพของนักวิชาการก็คือ ในสาขาของตัวต้องพูดหรือวิพากษ์วิจารณ์ไปตามหลักการที่ถูกต้องตามหลักวิชา ความรู้สึกในการมีอคตินั้น ซึ่งคุณแสดงออกไป คุณแสดงออกไปได้ แต่ว่าไม่ควรจะไปในนามของความเป็นวิชาการ

รวมทั้งสื่อมวลชนด้วย (นะ) ที่คุณเข้าไปรับนับตำแหน่งหลังจากเป็น สนช.แล้ว บางส่วนก็กลายมาเป็น ส.ว.สรรหาอีก มันใช่เหรอ มันถูกหรือไม่ ทำไมไม่มีการตั้งคำถามแบบนี้กัน การที่เราไปตรวจสอบแต่นักการเมืองอย่างเดียว โยนทุกอย่างให้กับนักการเมือง เราละเลยกลุ่มผลประโยชน์อื่นๆ ในสังคม และที่สำคัญบางทีคนเหล่านี้อาจจะสวมเสื้อคลุมคุณธรรมออกมาให้เราเห็น แต่ภายใต้หลังเสื้อคลุมคุณธรรมนั้นซ่อนอะไรไว้บ้าง เราก็ไม่รู้ ประชาชนไม่เห็น

เพราะบัดนี้ถูกปิดเสียแล้ว โดยเสื้อคลุมคุณธรรม แต่นักการเมืองไม่มีเสื้อคลุมตรงนี้ เราก็เห็นแจ้งๆ เลย แล้วในทุกค่ายของทางการเมืองด้วย แต่ที่ผมกำลังจะบอกคือ เราทำแค่นี้ไม่ได้ สื่อมวลชนทำแค่นี้ไม่ได้ สื่อต้องกล้าที่จะทำ กล้าที่จะตรวจสอบให้เสมอหน้ากันด้วย ทุกวันนี้ไม่มีการตั้งคำถามจำนวนหนึ่ง เพราะคนพูดเป็นคนคนหนึ่ง คนบางคนอาจจะมีเกียรติประวัติที่ดีงามมาตลอดชีวิต แต่ไม่ได้เป็นเครื่องประกันครับว่า ในวันหนึ่งเขายังถูกต้องอยู่หรือไม่


u ทุกวันนี้เวลาพูดความจริง พูดเรื่อง หลักการ กลัวไหมว่าจะถูกด่า

ผมว่าวันนี้ผมมีภูมิต้านทานมากพอแล้วที่ผมไม่จำเป็นต้องกลัวแบบนั้น ผมคิดว่าเวลาก็ได้พิสูจน์ตัวผมในระดับหนึ่งแล้ว แล้วผมก็บอกให้ดูผมต่อไปเรื่อยๆ วันนี้คุณจะพูดอะไร จะใส่ความอะไร...เชิญครับ แต่ว่าความพยายามที่จะดิสเครดิตมันก็มีการทำกันอยู่เรื่อยๆ แต่ผมคิดว่าผมจะไปสนใจเสียงแบบนั้น แล้วทำให้ไม่พูดอะไร คงทำไม่ได้ ถึงเวลาที่เราคิดว่าเราควรจะต้องพูดและต้องทำก็ต้องทำ ถึงเวลาที่เราต้องปะทะ พูดง่ายๆ คือต้องขัดแย้งกับใคร แม้อาจจะเป็นคนในทางส่วนตัวเราเคารพและนับถือก็ต้องปะทะ ก็ต้องแยกออกว่าทางส่วนตัวเป็น อันหนึ่ง แต่ในทางหลักการก็เป็นอีกอันหนึ่งหลักการก็คือหลักการ หลักการไม่คำนึงถึงหน้าใคร



Create Date : 29 กันยายน 2551
Last Update : 30 กันยายน 2551 0:12:49 น. 0 comments
Counter : 709 Pageviews.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

popcorn2519
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




หวัดดีครับ สำหรับ คนที่หลงเข้ามาใน blog นี้ ^^ ตอนนี้ผมได้ทำการ แบ่ง blog ออกเป็น 3 กลุ่มนะครับ

กลุ่มแรก คือ My Blog ก็จะเป็นเรื่องต่างๆ ที่อยากจะเขียน ทั้งหนังที่ชอบ เรื่องที่อ่านมาแล้วโดน หรือ อาจจะสิ่งต่างๆในชีวิตประจำวัน ที่อยากจะระบาย

กลุ่มที่ 2 คือ 2,900 ไมล์ ไกลบ้าน เป็นบล็อคที่สร้างมาเพื่อเขียนเรื่องราวช่วงหนึ่งของชีวิตที่จะต้องไปใช้ชีวิตในต่างแดนครับ ซึ่งสิ่งที่ผมประสบมาและถ่ายถอดอาจจะไม่เหมือนกับคนอื่นๆ ก็ได้ อันนี้อาจเกิดได้จากความอ่อนแอทางภาษาซึ่งอาจจะทำให้เกิดผมเกิดความเข้าใจผิดได้ หรือเหตุการณ์และช่วงเวลาที่ตัวเองได้สัมผัส หรือสังคมที่ผมได้เข้าไปคลุกคลีด้วย แต่ข้อมูลทั้งหมดที่เขียนก็คือสิ่งที่ผมเข้าใจอย่างนั้นจริงๆครับ

และกลุ่มที่ 3 สังคม-การเมือง-การปกครอง ซึ่งเป็นกลุ่มใหม่เนื่องจากช่วงหลัง มีการนำข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องการเมือง สังคม การปกครอง มาใส่เยอะ ก็เลยคิดว่าน่าจะแยกกลุ่มไปจากเรื่องส่วนตัวดีกว่า

ข้อความทุกข้อความทั้งที่นำมาจากที่อื่น และที่เขียนเอง ทั้งหมดเป็นความคิด ความรู้สึกส่วนตัว และความชอบของผมเองนะครับ ไม่ได้แปลว่าต้องถูกต้องเสมอไป ฉะนั้นกรุณาใช้วิจารณญาณในการอ่านล่ะกัน ทุกคนสามารถโต้แย้งได้ครับ

ขอบคุณทุกคนที่เข้ามาเยี่ยมชม และคอมเมนต์ ครับ
POP
New Comments
[Add popcorn2519's blog to your web]