MY LIFE, MY OPINIONS
<<
พฤษภาคม 2553
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
2 พฤษภาคม 2553

อภิชาต สถิตนิรามัย : ชำแหละ"คนเสื้อแดง"ม็อบเติมเงิน หรือ เสรีชนผู้ตื่นตัวทางการเมือง?

... ประโยคทำนองว่า "เมื่อสิ่งใหม่กำลังจะเกิดขึ้น แต่สิ่งเก่าไม่ยอมที่จะตาย สิ่งที่จะปรากฏขึ้นก็คือ อสุรกาย" ของอันโตนีโอ กรัมชี่ นักคิดฝ่ายซ้ายลือนามของอิตาลี น่าจะเหมาะสมกับความขัดแย้งทางการเมืองในรอบห้าปีที่ผ่านมา และจะขัดแย้งกันต่อไปอีกหลายปีข้างหน้า

ประเด็นหลักของสังคมก็คือ จะทำอย่างไรไม่ให้อสุรกายแห่งความรุนแรงปรากฏตัวขึ้นมากไปกว่าที่ได้เกิดขึ้นแล้วในช่วงการเปลี่ยนผ่านของดุลกำลังทางชนชั้นนี้

สิ่งหนึ่งที่จะช่วยได้ในทรรศนะของผมคือ สังคมการเมืองจะต้องยอมรับความจริงว่า "คนเสื้อแดง" นั้นมีอยู่จริง และเขาเป็น "เสรีชน" มีความตื่นตัวทางการเมือง เฉกเช่นเดียวกับชนชั้นกลางรุ่นเก่าที่ยุคหนึ่งเป็นพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงของเดือนตุลาคม 2516

ไม่ว่าเราจะชอบ เห็นด้วย หรือไม่ชอบและต่อต้านความคิดของคนเสื้อแดงก็ตาม เราต้องเข้าใจและยอมรับว่า เขาเป็นกลุ่มพลังทางการเมืองที่ดำรงอยู่จริง และจะไม่ยอมอยู่เฉย ๆ โดยไม่ต่อสู้อีกต่อไป ก็เฉกเช่นเดียวกับเมื่อก่อนเดือนตุลาคม 2516 ที่รัฐบาลสามทรราชปฏิเสธการมีอยู่จริงของพลังชนชั้นกลางในเวลานั้น ซึ่งมีขบวนการนักศึกษา-ปัญญาชนเป็นกองหน้า

รัฐบาลสามทรราชและชนชั้นนำทางอำนาจในขณะนั้นไม่มองกลุ่มพลังชนชั้นกลางว่าเป็นเสรีชน มีความคิด มีผลประโยชน์และมีข้อเรียกร้องของชนชั้น แต่กลับมองว่าเป็นกลุ่มที่ถูกปั่นหัว ถูกหลอก ฯลฯ พูดอีกแบบคือ ชนชั้นนำในยุคนั้นก็ไม่ยอมรับความจริงว่า ชนชั้นกลางในขณะนั้นได้กลายเป็นเสรีชน ผู้มีความตื่นตัวทางการเมืองแล้ว และเรียกร้องต้องการส่วนแบ่งทางอำนาจ/การมีส่วนร่วมทางการเมืองจากชนชั้นนำ

เช่นเดียวกับการก่อตัวทางเศรษฐกิจและสังคมของชนชั้นกลางเก่า ซึ่งเติบโตขึ้นมากทั้งในทางปริมาณและเชิงคุณภาพ นับตั้งแต่การเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจยุคจอมพลสฤษดิ์ ความเติบโตทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนผ่านของโครงสร้างเศรษฐกิจจากเกษตรกรรมเป็นอุตสาหกรรมในรอบยี่สิบปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะช้าลง แต่ก็พอเพียงที่จะให้กำเนิดแก่ "ชนชั้นกลางใหม่" ซึ่งเป็นฐานพลังของคนเสื้อแดง

ในแง่นี้ผมเห็นว่า คนเสื้อแดงนั้นไม่ใช่กลุ่มคนที่ยากจนที่สุดของสังคม ในภาษาเศรษฐศาสตร์ หากเราแบ่งคนทั้งประเทศออกเป็นห้าชนชั้นตามรายได้ และเรียงลำดับตั้งแต่จนที่สุดไปรวยที่สุดแล้ว คนเสื้อแดงน่าจะเป็นคนตั้งแต่บนสุดของชั้นที่หนึ่งไปจนกระทั่งด้านล่างสุดของชั้นที่สาม

ดังนั้นในแง่อาชีพส่วนใหญ่ของคนเสื้อแดงน่าจะเป็นผู้ประกอบการอิสระรายย่อยตั้งแต่แม่ค้าแผงลอย-ตลาดนัด แท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง (หรือ informal sector ทั้งหมด) เกษตรกรที่ผลิตเพื่อตลาด แรงงานในโรงงาน หรือแรงงานระดับคอปกน้ำเงิน ฯลฯ

ลักษณะร่วมของคนกลุ่มนี้คือ มีเงินออมน้อย หรือไม่พอเพียง ดังนั้นความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจมหภาคจะมีผลโดยตรง หรือเกือบจะทันทีต่อความอยู่ดีกินดีของเขา กล่าวอีกแบบคือ เป็นกลุ่มคนที่อ่อนไหวต่อความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจ หรือพูดได้ว่าชีวิตขาดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยที่นโยบาย "ประชานิยม" ของรัฐบาลทักษิณโดยเฉพาะอย่างยิ่ง 30 บาทรักษาโรค เบี้ยคนชรา กองทุนหมู่บ้าน การรับจำนำพืชผล จะโดนใจคนเสื้อแดงเต็ม ๆ เนื่องจากมันสอดรับกับความต้องการทางเศรษฐกิจของเขา

อาจพูดได้ว่า เกษตกรหรือคนชนบทเป็นฐานกำลังหลักของคนเสื้อแดงในแง่จำนวนคน สิ่งนี้ทำให้คนชั้นกลางเก่า "หลงผิด" อยู่กับภาพเก่า ๆ ของชนบทว่า ไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากยุคก่อนรัฐบาลชาติชายเลย

แต่บทความหนึ่งของ "อัมมาร สยามวาลา" ชี้ว่า ครอบครัวในชนบทที่มีสัดส่วนของรายได้จากภาคเกษตรมากกว่า 50% ลดลงจาก 44.4% เหลือ 29.1% ของครอบครัวชนบททั้งหมดในช่วงปี 2533-2537 อย่าลืมว่าตัวเลข 29.1% หรือไม่ถึงหนึ่งในสามของครอบครัวชนบทนี้เป็นตัวเลขในปี 2537

ตัวเลขนี้ย่อมต้องน้อยลงไปอีกมากในปัจจุบัน

การที่มากกว่าสองในสามของครอบครัวชนบทมีแหล่งรายได้หลักอยู่นอกภาคเกษตรนั้นมีนัยว่า ความสัมพันธ์ทางสังคมที่รองรับวิถีชีวิตของชาวชนบทต้องเปลี่ยนตามไปด้วย สิ่งสำคัญคือสิ่งที่เรียกกันว่า "ระบบอุปภัมถ์"

คำ ๆ นี้นักเศรษฐศาสตร์ใช้ในความหมายว่า มันเป็นความสัมพันธ์ระยะยาวที่ผูกพันกันในหลายมิติของคนสองฝ่าย

ตัวอย่างเช่น ความสัมพันธ์ระหว่างชาวไร่-ชาวนากับพ่อค้ารับซื้อผลผลิต พ่อค้านอกจากจะรับซื้อผลผลิตแล้ว ยังทำตัวเป็นผู้อุปถัมภ์ในแง่อื่นด้วย เช่น ให้ชาวไร่เอายา ปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ไปใช้ก่อน แล้วจึงหักเงินคืนเมื่อตอนชาวไร่เอาผลผลิตมาขาย เมื่อชาวบ้านต้องใช้เงินสดก็มากู้ได้ หรือเมื่อถูกตำรวจจับไพ่ก็ให้ช่วยประกันตัว ฯลฯ

หากฝ่ายใด "โกง" ก่อน ความสัมพันธ์นี้ก็จะยุติลงและทั้งสองฝ่ายก็จะเสียประโยชน์จากการแลกเปลี่ยนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งมักจะไม่คุ้ม

นักวิจัยมักจะแปลกใจมากเมื่อพบว่าชาวไร่ยอมเสียเปรียบในรูปของการขายผลผลิตให้ในราคาต่ำกว่าตลาด หรือยอมรับอัตราดอกเบี้ยที่แพงโดยไม่โกงเงินกู้ โดยลืมไปว่า สิ่งที่ชาวไร่ต้องการจากพ่อค้านั้น รวมเอาบริการ "การประกันภัย (insurance)" ความไม่แน่นอนจากความผันผวนทางเศรษฐกิจไว้ด้วย

เช่น เงินกู้ หรือความช่วยเหลืออื่น ๆ เมื่อเดือดร้อน เครือข่ายความสัมพันธ์ในรูปแบบนี้จึงถูกใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งพ่วงไปด้วย หากพ่อค้า (หรือผู้อุปถัมภ์ในรูปแบบอื่น ๆ) ทำหน้าที่เป็นหัวคะแนน ไม่ว่าจะมีการแจกเงินด้วยหรือไม่ก็ตาม

ในอดีตชาวบ้านอาจจะเลือกตามหัวคะแนนด้วยสองเหตุผลคือ หนึ่ง กลัวเสียการอุปถัมภ์ในภายหน้าจากหัวคะแนน สอง เลือกพรรคการเมืองไหน หรือ ส.ส.คนไหนก็ไม่มีผลต่อชีวิตของตนอยู่ดี เพราะไม่เคยมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งก่อนหน้าพรรคไทยรักไทยที่ผลิตนโยบายรับใช้ชนบท

เมื่อเงินได้ส่วนใหญ่มาจากนอกภาคเกษตร สิ่งนี้อย่างน้อยก็หมายความว่า แหล่งเงินได้ของชาวชนบทมีหลายแหล่งมากขึ้น รวมทั้งแหล่งเงินกู้ในระบบ เช่น กองทุนหมู่บ้าน กลุ่มออมทรัพย์ ธ.ก.ส. ก็เพิ่มขึ้นด้วย

ดังนั้นชาวชนบทจึงมีความจำเป็นที่จะต้องพึงพิงผู้อุปถัมภ์ในภาคการเกษตรน้อยลงด้วย ในอีกด้านหนึ่ง นโยบายประชานิยมหลายแบบก็ทำให้ชาวชนบทไม่จำต้องพึ่งพิงผู้อุปถัมภ์ท้องถิ่นอีกต่อไป พูดอีกแบบคือ นโยบายประชานิยมทำหน้าที่แทนผู้อุปถัมภ์ดั้งเดิม

ในแง่นี้ ชาวชนบทส่วนใหญ่จึงกลายเป็นเสรีชนที่หลุดออกจากเครือข่ายอุปถัมภ์แบบเดิม ๆ แล้ว เขาไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องเชื่อฟังหัวคะแนนอีกต่อไป

ถ้าภาพข้างต้นเป็นจริง คำถามคือ คนเสื้อแดงเข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยเหตุผลใด ชนชั้นกลางเก่าและสื่อของเขามักไม่รอช้าที่จะประณามว่า คนเสื้อแดงเป็นแค่ม็อบเติมเงิน หรือถูกหลอกให้หลงผิดสู้เพื่อทักษิณเท่านั้น

แต่อย่าลืมว่า รัฐบาลทักษิณเป็นรัฐบาลแรกที่สร้างนโยบายที่กินได้ให้แก่เขา เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งที่คะแนนเสียงของเขามีความหมายในทางการเมือง การรัฐประหาร 19 กันยายนและรัฐธรรมนูญ 2550 จึงเป็นการตัดสิทธิทางการเมืองของคนเสื้อแดงโดยตรง

เมื่อถูกซ้ำเติมด้วยการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรตั้งแต่การชุมนุมยืดเยื้อ การยึดทำเนียบรัฐบาล การยึดสนามบิน นายกฯสมัครถูกปลดเพราะทำกับข้าวโชว์ พรรคทักษิณถูกยุบรอบสอง การปราบม็อบเสื้อแดงเมื่อเมษายนปีที่แล้ว ไม่แปลกเลยที่เหตุการณ์เหล่านี้จะทำให้คนเสื้อแดงสู้ไม่ถอย

พูดให้ถึงที่สุดแล้ว การต่อสู้ของคนเสื้อแดงในปัจจุบันจึงเป็นการสู้เพื่อรักษาสิทธิ-เสียงทางการเมืองของเขา

แต่เผอิญว่าสิทธิ-เสียงของเขาผูกพันโดยตรงกับพรรคของทักษิณเท่านั้นเอง

คงมีคนไม่มากนักที่จะยอมสู้ตายเพื่อคนอื่น โดยที่ตนไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลย และแกนนำเสื้อแดงคงจะไม่เก่งพอที่จะชักจูง ซื้อ หรือหลอกคนจำนวนมหาศาลมาเสี่ยงชีวิตกับอาวุธสงครามได้จนทุกวันนี้ หากเขาไม่มีจิตใจที่พร้อมจะเข้าร่วมการต่อสู้เอง ในแง่นี้คนเสื้อแดงจึงเป็นเสรีชนในแบบเดียวกับคนชั้นกลางเก่านั่นเอง

ผมได้แต่หวังว่า คนชั้นกลางเก่าจะพยายามเข้าใจคนเสื้อแดงในด้านที่เขาเป็นเสรีชนเช่นเดียวกับชนชั้นกลางเก่าให้มากขึ้น

การยอมรับวาทกรรมว่า คนเสื้อแดงถูกหลอก ถูกซื้อให้สู้เพื่อทักษิณเท่านั้น โดยไม่มีเจตจำนงที่เป็นอิสระของตัวเองเลย จะเป็นการทำลายความชอบธรรมทางการเมืองของคนเสื้อแดงมากขึ้น และอสุรกายแห่งความรุนแรงจะยิ่งมีอำนาจมากขึ้น


ที่มา : //www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1272791799&grpid=00&catid=no


Create Date : 02 พฤษภาคม 2553
Last Update : 2 พฤษภาคม 2553 23:43:08 น. 3 comments
Counter : 983 Pageviews.  

 
บทความถูกใจมากค่ะ


โดย: นิยายฝันหวาน วันที่: 5 พฤษภาคม 2553 เวลา:5:45:52 น.  

 
+++จริงเรื่องจริง ที่คนต่างฝั่งรับไม่ได้

...............................


โดย: yutcemsign วันที่: 27 พฤษภาคม 2553 เวลา:22:10:32 น.  

 
มองโลกบริสุทธิ์ไปหน่อย เพราะเสื้อแดงบางส่วนไม่ได้ต้องการอะไรนอกจากเงินค่าจ้าง และโอกาสแสดงความกร่างที่ตำรวจไม่กล้าจับ ถ้าเผาบ้านเผาเมืองได้ก็จะได้ตามน้ำเข้าไปขโมยของ เป็นคนละเรื่องกับการสมานฉันท์


โดย: สังคมที่ด้อยพัฒนา IP: 58.136.17.207 วันที่: 6 กันยายน 2553 เวลา:17:17:51 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

popcorn2519
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




หวัดดีครับ สำหรับ คนที่หลงเข้ามาใน blog นี้ ^^ ตอนนี้ผมได้ทำการ แบ่ง blog ออกเป็น 3 กลุ่มนะครับ

กลุ่มแรก คือ My Blog ก็จะเป็นเรื่องต่างๆ ที่อยากจะเขียน ทั้งหนังที่ชอบ เรื่องที่อ่านมาแล้วโดน หรือ อาจจะสิ่งต่างๆในชีวิตประจำวัน ที่อยากจะระบาย

กลุ่มที่ 2 คือ 2,900 ไมล์ ไกลบ้าน เป็นบล็อคที่สร้างมาเพื่อเขียนเรื่องราวช่วงหนึ่งของชีวิตที่จะต้องไปใช้ชีวิตในต่างแดนครับ ซึ่งสิ่งที่ผมประสบมาและถ่ายถอดอาจจะไม่เหมือนกับคนอื่นๆ ก็ได้ อันนี้อาจเกิดได้จากความอ่อนแอทางภาษาซึ่งอาจจะทำให้เกิดผมเกิดความเข้าใจผิดได้ หรือเหตุการณ์และช่วงเวลาที่ตัวเองได้สัมผัส หรือสังคมที่ผมได้เข้าไปคลุกคลีด้วย แต่ข้อมูลทั้งหมดที่เขียนก็คือสิ่งที่ผมเข้าใจอย่างนั้นจริงๆครับ

และกลุ่มที่ 3 สังคม-การเมือง-การปกครอง ซึ่งเป็นกลุ่มใหม่เนื่องจากช่วงหลัง มีการนำข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องการเมือง สังคม การปกครอง มาใส่เยอะ ก็เลยคิดว่าน่าจะแยกกลุ่มไปจากเรื่องส่วนตัวดีกว่า

ข้อความทุกข้อความทั้งที่นำมาจากที่อื่น และที่เขียนเอง ทั้งหมดเป็นความคิด ความรู้สึกส่วนตัว และความชอบของผมเองนะครับ ไม่ได้แปลว่าต้องถูกต้องเสมอไป ฉะนั้นกรุณาใช้วิจารณญาณในการอ่านล่ะกัน ทุกคนสามารถโต้แย้งได้ครับ

ขอบคุณทุกคนที่เข้ามาเยี่ยมชม และคอมเมนต์ ครับ
POP
New Comments
[Add popcorn2519's blog to your web]