MY LIFE, MY OPINIONS
<<
พฤษภาคม 2553
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
12 พฤษภาคม 2553

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ : คลี่คลายความคลุมเครือ "โรดแมป อภิสิทธิ์"

คลี่คลายความคลุมเครือ "โรดแมป อภิสิทธิ์"
โดย"พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์"
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สัมภาษณ์พิเศษ โดย
"อริน เจียจันทร์พงษ์" โต๊ะการเมือง มติชนรายวัน

--------------------------------------

“การประกาศโรดแมปแบบนี้ของนายกฯ จังหวะที่สำคัญคือ กระบวนการนี้จะมาถึงได้อย่างไร และกระบวนการนี้จะดำเนินต่อไปได้อย่างไรโดยไม่มีการหักหลังกัน ความไว้เนื้อเชื่อใจของสองฝ่ายจะมีหรือเปล่าเพราะมันอีกตั้งหลายเดือนกว่าจะถึงเลือกตั้ง”

โรดแมป 5 ข้อ ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประกาศผ่านจอโทรทัศน์ เมื่อค่ำวันที่ 3 พฤษภาคม 2553 ได้แก่ 1.การปกป้องสถาบัน 2.การปฏิรูปประเทศ 3.เสรีภาพของสื่อมวลชน 4.กรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริง และ 5.กฎกติกาที่เกี่ยวกับนักการเมืองซึ่งไม่เป็นธรรม จุดสำคัญที่สุดอยู่ที่ช่วงท้ายที่นายกฯ ประกาศว่า ถ้าทุกฝ่ายช่วยกันทำได้ทั้งหมดก็จะให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้ในวันเลือกตั้งวันที่ 14 พฤศจิกายน 2553 ซึ่งถือเป็นข้อเสนอที่จับต้องได้จนทำให้บรรยากาศทาการเมืองผ่อนคลายขึ้น

อย่างไรก็ดี เมื่อไปดูรายละเอียดใน 5 ข้อเหล่านั้นก่อนที่จะไปถึงวันเลือกตั้ง ที่นายกฯระบุว่า “ถ้าทุกฝ่ายช่วยกันทำได้ทั้งหมด” ทั้ง 5 ข้อยังเป็นเพียงองค์ประกอบ และขาดความชัดเจนในแนวทางการปฏิบัติ นำมาสู่คำถามสำคัญที่ว่า จะทำให้กระบวนการนี้เดินไปได้อย่างไร

“มติชน” มีโอกาสสนทนากับ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันศุกร์ที่ 7 พฤษภาคม ในการคลี่คลายความคลุมเครือ “โรดแมปอภิสิทธิ์” รวมถึงการค้นหากติกาสำคัญๆในการอยู่ร่วมกันเพื่อนำไปสู่เป้าหมายการเลือกตั้งครั้งใหม่ บนข้อจำกัดเรื่องสถานการณ์ที่เปลี่ยนวันต่อวัน ซึ่งอาจจะทำให้เงื่อนไขบางอย่างเปลี่ยนไปทั้งในด้านบวกและลบ

**ภาพรวมของโร้ดแมป ที่ค่อนข้างจะยอมรับกันคือ การตรวจสอบข้อเท็จจริงและวันเลือกตั้งใหม่ที่เร็วขึ้น แต่เมื่อไล่ดูข้ออื่นๆไม่ชัดเจนเลย จึงยากที่จะรับกันง่ายๆ

ก่อนอื่น ผมคิดว่า โรดแมปของคุณอภิสิทธิ์ มีหน้าที่หลัก 2 อย่าง คือ 1.รวบอำนาจเข้าสู่ตัวคุณอภิสิทธิ์เองอีกครั้ง 2.ทำหน้าที่ระหว่างตัวคุณอภิสิทธิ์ กับนปช.นั่นคือการเจรจา แต่ข้อเสนอในโรดแมปเองมันก็ยังไม่ได้มีการปฏิบัติโดยทันที เพราะตอนที่คุณอภิสิทธิ์ แถลง ไม่ได้มีภาวะความเป็นผู้นำ (Leadership) ที่เพียงพอ เนื่องจาก 1 เดือนที่ผ่านมา ภาวะความเป็นผู้นำของคุณอภิสิทธิ์ ตกต่ำที่สุดแล้วแบบที่ไม่เคยมีนายกฯคนไหนเป็น ทั้งจากกรณีการขอพื้นที่คืน 10 เมษายน และการสั่งฝ่ายทหารไม่ได้ในภาพรวมในแง่ของการสลายการชุมนุม โรดแมปจึงทำหน้าที่รวบอำนาจและสร้างภาวะผู้นำเข้าสู่ตัวคุณอภิสิทธิ์ อีกครั้งด้วย เพราะคุณอภิสิทธิ์ ไม่ได้ขึ้นมาจากการมีอำนาจจริงในวันที่เขาขึ้นสู่อำนาจ คุณอภิสิทธิ์เลยเป็นนักการเมืองที่ต้องเดินเกมบนสื่อตลอดเวลาเพราะไม่ได้มีฐานอื่นจริงๆ ไม่ว่าพรรค หรือ ทหาร

นปช.ไม่ได้รีบกระโดดรับเพราะรู้ตรงนี้ จะเห็นได้ว่า วันแรกที่ประกาศโรดแมปออกมา คนในพรรคประชาธิปัตย์ยังออกมาโวยวายอยู่เลย นปช.จึงบอกว่า ให้ไปเคลียร์กับในพรรคให้หมดก่อน เพราะถ้าคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ คุณชวน หลีกภัย ไม่เอาด้วย ยุ่ง เพราะตอนนี้มันเกิดปัญหาจริงๆว่า การประกาศวันเลือกตั้งใหม่ อาจมีผลทำให้เสียภาพลักษณ์และขวัญกำลังใจของพรรคในการสู้คดีเรื่องยุบพรรคหรือเปล่า ประมาณว่า ...เฮ้ย คุณรู้แล้วว่าจะยุบพรรคแล้วมานิรโทษกรรมหรือเปล่า นอกจากนี้ ยังต้องคุยกับพรรคร่วมฯและฝ่ายทหารอีก เพราะคุณอภิสิทธิ์ สั่งทหารไม่ได้แน่นอน สถานการณ์แบบนี้คนที่มีอำนาจคือทหาร เพราะได้ปล่อยอำนาจไปในตัวพ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว นอกจากนี้การนิรโทษกรรมจะรวมไปถึงการนิรโทษกรรมต่อการสั่งการขอพื้นที่คืนของคุณอภิสิทธิ์หรือไม่

**ไล่ดูแต่ละข้อโดยเฉพาะข้อ 2 เรื่องการปฏิรูปประเทศ ดูแล้วเป็นไปไม่ได้เลย และน่าจะเป็นเรื่องการเสนอนโยบายแข่งกันตอนเลือกตั้งมากกว่า

โรดแมปมีความชัดเจนในระดับหนึ่งเรื่องวันเลือกตั้ง แม้ไม่บอกว่าจะยุบสภาวันไหนก็ตาม คนก็แซวกัน แต่อย่างน้อยเมื่อคุณอภิสิทธิ์ ทำออกมาแล้ว ก็ควรชื่นชมว่า อย่างน้อยมีความกล้าที่จะทำ ข้อที่ชัดเจนที่ดีคือ มีกรรมการกลางทุกฝ่ายเข้ามาดูแลเรื่องการใช้ความรุนแรงที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องระวังที่สุดใน 5 ข้อ คือ เห็นด้วยว่าเป็นข้อ 2 เรื่องการปฏิรูปประเทศ เพราะเป็นเรื่องนโยบาย เพราะถ้าคุณไม่มีความชอบธรรมแล้ว คุณก็แก้ปัญหาไม่ได้ เพราะอีกฝ่ายเขาไม่เอาคุณอยู่แล้ว

การที่นายกฯ บอกว่า จะเอาองค์กรภาคส่วนต่างๆ รวมทั้งภาคประชาชนเข้ามา ต้องเข้าใจว่า หน้าที่ภาคสังคมโดยรากก็คือการกำกับตรวจสอบทุกฝ่าย และเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายมีโอกาส แต่ภาคประชาสังคมของไทยมี 2 แบบ คือแบบที่มองเห็นว่า ตัวเองมีหน้าที่กำกับตรวจสอบ กับแบบที่ฉวยโอกาส ซึ่งแบบหลังนี่มีเยอะมาก ที่ไม่สนว่า จะเป็นประชาธิปไตยหรือเผด็จการ เขาสนใจว่า ฝ่ายไหนฟังเขา เขาก็ทำงานด้วยได้ เรียกว่าเป็นแกนนำกลุ่มผลประโยชน์จะตรงกว่า ส่วนแบบแรก คือ ที่รู้ว่าตัวเองไม่ได้มีหน้าที่ผลักดันนโยบายแบบง่ายๆอย่างล็อบบี้ยิสต์ แต่ทำหน้าที่สำคัญคือ กำกับตรวจสอบเพื่อสร้างสมดุล พยายามส่งเสริมอำนาจประชาชน และยินดีจะไปร่วมกระบวนการในฐานะกำกับตรวจสอบหรือทำให้สองฝ่ายคู่ความขัดแย้ง มีโอกาสในการปกป้องตัวเอง และปกป้องพื้นที่ไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งล้ำเส้น

**นายกฯกำหนดวันเชิญตัวแทนองค์กรต่างๆมาคุยกันเพื่อให้ได้ข้อสรุปเรื่องการตั้งสมัชชาปฏิรูปประเทศแล้ว

นี่ไง มันไม่เกี่ยวเลย ผมคิดว่า มันควรเป็นประเด็นจากการเลือกตั้ง และไม่ได้เกิดจากวันนี้ ไม่เช่นนั้น แผนการปรองดองคือการปฏิวัติตัวเองของนายกฯ เพราะใช้โอกาสเฮือกสุดท้ายในการบริหารประเทศโดยยึดทุกอย่างแล้วสร้างพันธมิตรใหม่ เพราะถ้าคุณเป็นนักการเมือง คุณต้องรายงานตัวเองต่อพรรคได้ เจรจาพรรคร่วมได้ สามารถต่อสู้กับคนที่ไม่เห็นด้วยกับคุณได้ในระบอบประชาธิปไตย แต่คุณทำไม่ได้ก็ต้องปฏิวัติตัวเอง สร้างกลไกใหม่ๆ รวบอำนาจเข้ามาจากทุกฝ่ายให้รายงานตัวโดยตรงกับคุณ แต่คุณอภิสิทธิ์ ไม่มีกลไกที่จะทำได้หรอก สมมติเดือนหน้ามีตัดสินคดียุบพรรคอีก คุณอภิสิทธิ์ จะเหลืออะไรที่มีความเป็นผู้นำที่จะกระทำข้อนี้ไปจนถึงวันเลือกตั้งได้ ...แต่เอาล่ะ คุณอภิสิทธิ์เขาก็มีสิทธิ์จะเสนอและทำเนื่องจากเขาถูกอุ้มขึ้นมา เขาไม่มีอำนาจจริง ขณะเดียวกัน เราก็ต้องกำกับตรวจสอบ อะไรที่เกินเลยไปก็ต้องไม่ยินยอม แต่มันยากเพราะประชาสังคมไทยมีนิสัยที่พร้อมจะเข้าสู่ใครก็ได้ที่มีอำนาจ อยากเป็นรัฐ ไม่ได้กำกับรัฐ หลักการประชาสังคมคือการกำกับรัฐ แต่คุณอยากเป็นรัฐด้วยวิธีลัด กลไกบางอย่างมันเอื้อด้วย โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ 50 เช่น ให้กลุ่มเสนอคนมาเป็นส.ว. หรือสมัยหลังรัฐประหารก็ได้รับเชิญไปเป็นรัฐมนตรี

**ข้อ 3 เรื่องเสรีภาพสื่อ เป็นจุดอ่อนที่สุดในการปฏิบัติที่ผ่านมา เพราะใช้กฎหมายพิเศษปฏิบัติการณ์ปิดสื่อที่เห็นตรงข้ามกับรัฐบาล

ใช่ เพราะเรื่องนี้ไม่ได้เป็นเรื่องสื่อเฉยๆ แต่ผูกพันกับการมีพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งต่างกับการปิดสื่อทั่วไป สภาพสังคมมันพัฒนามาถึงวันนี้แล้ว การปิดสื่อกระทำได้ต่อเมื่อมีการรัฐประหารสังคมในระดับหนึ่ง เรื่องนี้ในทางกฎหมายยังเถียงกันอยู่เลยว่า ใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ปิดสื่อได้หรือไม่ เพราะการใช้อำนาจรัฐในการปิดสื่อ กระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชน และขัดกับหลักและเจตจำนงของรัฐธรรมนูญ

อีกด้านหนึ่งคือ จะเอาอย่างไรกับกฎหมายตัวนี้ จะคิดในอนาคตกันหรือไม่ว่า ระบบการปิดสื่อแบบนี้มันเป็นธรรมหรือเปล่า ความคลุมเครือที่สุดในแผนคือ จะเอาอย่างไรกับพ.ร.ก.ฉุกเฉิน และการเซ็นเซอร์สื่อ โดยเฉพาะสื่อที่ไม่ใช่ของเสื้อแดง แต่เป็นสื่อที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ที่ถูกนับรวมไปเป็นส่วนหนึ่งของศัตรูของรัฐ เรื่องนี้ประเด็นสำคัญคือ เรื่องเสรีภาพ กับ กฎหมายภาวะฉุกเฉิน ซึ่งมันไม่ใช่แค่เรื่องเสื้อแดงกับรัฐบาล แต่สังคมถูกกระทบจากความขัดแย้งคู่นี้ด้วย โอเคล่ะ ด้านหนึ่งเทคโนโลยี มันทำให้ประชาชนปกป้องสื่อยากขึ้นเพราะไม่ต้องบุกไปล่ามแท่นพิมพ์ แต่อีกด้านคนทำก็สู้ได้ง่ายขึ้นเหมือนกัน เพราะปิดไม่ได้ทำได้เบ็ดเสร็จ ยังมีทางเล็ดลอดไปได้มากขึ้น แต่ก็ที่พูดนี้ไม่ได้บอกว่าเป็นการสู้อย่างเท่าเทียมนะ

สุดท้ายแล้วเรื่องนี้ คงต้องกดดันให้เปิดสื่อ เช่นว่า เป็นหนึ่งในเงื่อนไข ถ้าคุณไม่เปิดสื่อแดง ก็ต้องชุมนุมต่อไป เพราะมันต้องแลก ถ้าเกิดคุณเปิดสื่อแดง หมายความว่า คุณยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทางฝ่ายเสื้อแดงก็จะถอยกลับในสามวัน เป็นต้น เพราะต้องมีการเตรียมตัวในการส่งคนกลับให้ปลอดภัย และการทำพื้นที่ให้กลับมาเป็นปกติ แต่ต้องย้ำว่า การเปิดสื่อและเสรีภาพสื่อนั้นก็จะต้องถูกกำกับโดยกฏหมายที่ให้ความเป็นธรรมในการสู้คดี ไม่ใช่ถูกกำกับโดยกฏหมายความมั่นคงที่กล่าวหาและปิดเขาฝ่ายเดียวแบบที่เป็นอยู่ขณะนี้

**ข้อ 1 เรื่องการปกป้องสถาบัน ยังดูแล้วฝ่ายรัฐบาลมีท่าทีผูกขาดความจงรักภักดี เพราะมือหนึ่งเล่นหน้าเชิญชวน อีกมือหนึ่งเล่นหน้ากล่าวหา

เห็นด้วยครับ เพราะคุณอภิสิทธิ์ พูดเสร็จ ก็ยังมีกลไกของเขาไปโจมตีกล่าวหาเรื่องล้มเจ้ากับอีกฝ่ายอยู่ ซึ่งไม่เป็นธรรมกับฝ่ายที่ถูกโจมตี โดยไปเอาหลักฐานโยงใยอะไรมา คือถ้าอ่านดีๆตั้งแต่แรก เรื่องนี้เป็นความล้มเหลวของคุณอภิสิทธิ์เองด้วย เพราะเป็นนโยบายหลักข้อแรกๆของรัฐบาลที่แถลงต่อสภา เมื่อคุณอภิสิทธิ์ ล้มเหลว ก็อาจจะโยนว่า หนึ่ง สร้างความสมานฉันท์ไม่ได้ เพราะคนอื่นทำให้เขาสร้างไม่ได้ แต่ข้อสองคือ ทำไมเพิ่งมาอ้างตอนนี้ล่ะ สาม เมื่ออ้างเสร็จแล้ว ยังมีกลไกประณามคนอื่น เช่น ศอฉ. หรือทีมงานโฆษกหลายกลุ่ม และกองเชียร์ ประเด็นคือ จะมีวิธีการไม่พูดเรื่องเจ้าในพื้นที่เหล่านี้อย่างไรทั้งสองฝ่าย

ผมคิดว่า แกนนำที่โดนกล่าวหาก็ต้องฟ้องกันไป แต่ประเด็นเรื่องนี้น่าสนใจอยู่อย่างหนึ่ง การต่อสู้ที่ผ่านมานั้นทำให้เกิดวาทกรรมใหม่ 3 คำ คือ ไพร่ อำมาตย์ และ เจ้า ฝ่ายแดงก็บอกตัวเองเป็นไพร่ ไพร่มีใครบ้าง เป็นคนที่ถูกพรากสิทธิ์หรือเปล่า ส่วนอำมาตย์ ขอบเขตก็ต่างกันไปในแต่ละวัน บางวันไปถึงคนสนิทของเชื้อพระวงศ์ บางวันแค่พล.อ.เปรม บางวันคือทหารตำรวจ บางวันคือผู้หลักผู้ใหญ่อดีตข้าราชการ มันเลื่อนไหลไปมา อีกอย่างคือ วาทกรรมล้มเจ้า ตกลงการล้มเจ้าคืออะไรกันแน่ คือการวิพากษ์วิจารณ์สถาบัน การล้มระบบการปกครองทั้งหมด หรือการวิพากษ์วิจารณ์บทบาทสาธารณะของสถาบัน หรือเฉพาะตัวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สรุปคือไม่มีความชัดเจนเลย เป็นวาทกรรมอีกอันที่สร้างกันขึ้นมา

**แบบนี้มาตีเส้นกันให้ชัดหรือ
ไม่ใช่ตีเส้นให้ชัด แต่ความคลุมเครือของ 3 คำนี้มันมีอยู่ไง ที่เอามาต่อสู้กัน มันไม่มีการกำหนดนิยามเบ็ดเสร็จโดยฝ่ายเดียว มันไม่มีความยินยอมในนิยามนั้นจากฝ่ายเดียว เพียงแต่คำว่าล้มเจ้า มันมีมิติที่ต่างกับวาทกรรมไพร่กับอำมาตย์ เพราะมันลากไปเกี่ยวข้องกับกฎหมายและความไม่เป็นธรรมในกระบวนการกฎหมาย เช่น การล้มเจ้ามันต่างกับการหมิ่นฯอย่างไร เพราะยิ่งฟ้องกันยิ่งไปแตะต้องสถาบัน หมายความว่า ในกระบวนการกล่าวหาและดำเนินคดีต้องแสดงให้ผู้พิพากษาเชื่อให้ได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหามีเจตนาไม่ดี และสุดท้ายกลับกลายเป็นทำให้สถาบันเองต้องมาอภัยโทษ เพราะสถาบันฟ้องเองไม่ได้ จึงกลายเป็นกระบวนการเครื่องมือทางการเมืองไป มันเป็นเรื่องยุ่ง

**ข้อ 5 เรื่องการแก้กติกาที่เกี่ยวกับนักการเมืองในส่วนที่ไม่เป็นธรรม เช่นการคืนสิทธิ์เลือกตั้งถูกมองว่า เป็นเกมการเมืองโดยแท้

ผมยังไม่มองในแง่นั้นดีกว่า แต่ในแง่การคืนสิทธ์ต้องแยกให้ออก เพราะมันไปสัมพันธ์กับอนาคตพรรคประชาธิปัตย์หรือเปล่าว่าจะโดนยุบและกรรมการบริหารพรรคจะถูกเพิกถอนสิทธิ์และการคืนสิทธิ์หรือไม่ ผมว่า ถ้าจะคืนสิทธิ์ ก็ต้องคืนในส่วนกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย เพราะกฎหมายที่ใช้ตัดสินออกมาภายหลัง แต่กรณีพลังประชาชน ชาติไทย มัชฌิมา ประชาธิปัตย์ มันเป็นกฎหมายปกติใช้อยู่แล้ว ทุกฝ่ายยอมรับกฎหมายนี้ตอนเลือกตั้งไม่ใช่หรือ

**ตกลงมั่นใจอะไรไม่ได้เลยหรือไม่กับโรดแมป 5 ข้อ

การประกาศแบบนี้ จังหวะที่สำคัญคือ กระบวนการนี้จะมาถึงได้อย่างไร และกระบวนการนี้จะดำเนินต่อไปได้อย่างไรโดยไม่มีการหักหลังกัน ความไว้เนื้อเชื่อใจของสองฝ่ายจะมีหรือเปล่าเพราะมันอีกตั้งหลายเดือน เพราะโรดแมปบางอย่างมันไม่เป็นไปตามนั้น เช่น โรดแมปพม่า ประกาศแล้วก็ไม่ได้จบ มันยังมีการต่อสู้บนโรดแมปเป็นระยะ กลุ่มเสื้อแดงเองเขาไม่มีหลักประกันว่า ข้อเสนอของคุณอภิสิทธิ์ จะชัดเจนเป็นจริงไหม คุณอภิสิทธิ์ เองก็ไม่สามารถบอกได้ว่า หลังจากนี้ไปถึงวันยุบสภา เสื้อแดงจะมาร่วมเกี่ยวข้องในกระบวนการอย่างไร ใครจะกำกับดูแลเป็นไปตามกระบวนการปรองดอง

ส่วนเรื่องมั่นใจหรือไม่มั่นใจนั้น ต้องมองแยก 2 ส่วนคือ การไม่มั่นใจ ไม่ได้แปลว่า คุณอภิสิทธิ์จงใจหมกเม็ด เพราะมันอาจจะมีเงื่อนไขอีกจำนวนมากที่เกิดขึ้นหลายทาง เราไม่ควรมองคุณอภิสิทธิ์แง่ลบตลอด มันไม่ใช่ทางออกที่ดีในการมองการเมือง คือสมมติคุณอภิสิทธิ์ตั้งใจดี คำถามคือ แล้วเราจะช่วยทำให้กระบวนการนี้เดินไปได้อย่างไร เพราะอย่างน้อยคุณอภิสิทธิ์ มีอีกหลายออพชั่น แต่เมื่อเขาเลือกวิธีนี้ แล้วเราจะทำยังไงให้ความมุ่งหมายของคุณอภิสิทธิ์และเสื้อแดงมันไปด้วยกันได้ในระยะต่อไป แต่มันยากเพราะภาวะผู้นำของคุณอภิสิทธิ์ขึ้นลงผกผันเร็วมาก เพราะเงื่อนไขอยู่ที่ปัจจัยที่โอบอุ้มคุณอภิสิทธิ์เอง มากกว่าตัวคุณอภิสิทธิ์ ตรงนี้สังคมก็ต้องคอยช่วยหันจับตามอง กระบวนการจากวันนี้ถึงวันเลือกตั้ง อะไรล้ำเส้นบ้าง และสังคมได้ประโยชน์จริงไหม

คนเสื้อแดงเองก็ต้องช่วยให้ไปถึงวันนั้น โดยติดตามตรวจสอบสิ่งที่คุณอภิสิทธิ์ พูดและตั้งสติไม่หลงเชื่อง่ายๆ อยู่ๆไปเขาอาจจะยอมรับคุณอภิสิทธิ์มากขึ้นก็ได้ โอเค ไม่มีปัญหา แต่ไม่ได้หมายความว่า เราต้องรักกัน กอดกันตลอดเวลา แต่เราควรอยู่กันอย่างมีสติ มีเงื่อนไขคือไม่ใช้ความรุนแรง เพราะการเลือกตั้งมันเร็วขึ้นแล้ว ขณะเดียวกัน ถ้ารู้สึกว่า บางสิ่งที่คุณอภิสิทธิ์ ทำ เรารับไม่ได้ เช่นการนำเสนอนโยบายที่ควรจะว่ากันหลังเลือกตั้งต่างหาก ก็ติดตามตรวจสอบเขาสิ คือ มันไม่ได้หมายความว่า จากวันนี้ เช่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะได้เป็นผบ.ทบ. ถ้าสังคมกดดันตรวจสอบเปิดโปง มันก็มีการเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อกลับมาสู่การเปิดทีวีแดงอีกครั้ง ก็มีกระบวนการติดตามตรวจสอบ ยึดเงื่อนไขให้ถูกต้อง วันเลือกตั้งใกล้เข้ามาเสื้อแดงก็ต้องปรับตัว แต่อย่าไปมองว่า สิ่งที่คุณอภิสิทธิ์พูดเป็นเกมหมดเลย ต่อให้เป็นเกม เราก็ต้องเข้ามาเล่นในเกม ขนาดการเลือกตั้งมันสุ่มเสี่ยงแค่ไหน จากวันนี้ไปถึงวันนั้นเรายังกล้าเล่น มันไม่ได้เสียหายขนาดนั้น แต่ทุกอย่างมันก็ต้องกดดันภายในกรอบกติกา

**การเดินไปให้ถึงวันเลือกตั้ง กติกาในการอยู่ร่วมกันที่จะช่วยให้เดินให้ถึงอย่างน้อยมีอะไรบ้าง

อย่างน้อยๆ 2 ข้อ คือ 1.ยกเลิกกฎหมายฉุกเฉิน คืนเสรีภาพการสื่อสารให้มีการตรวจสอบได้ในสังคมปกติเพื่อทำให้กฎหมายที่เป็นธรรมกับทุกฝ่ายทำงาน 2. การส่งเสริมกระบวนการให้มีเงื่อนไขสำคัญในการทำให้เกิดโรดแมป เช่น แต่ละเดือนต้องให้มีการตรวจสอบได้จริง มีกรรมการตรวจสอบทุกฝ่าย จากสภา เสื้อแดง รัฐบาล กลุ่มอื่นๆ เข้ามาตรวจสอบ มันแฟร์ทุกฝ่าย เพราะคุณมีสื่อตรวจสอบซึ่งกันและกันอยู่แล้ว ทำให้กระบวนการยุติธรรมมันแข็งแรง ถ้าอะไรเกินเลยกว่ากฎหมายก็ฟ้องร้องกัน แต่ไม่จำเป็นต้องใช้กฎหมายพิเศษ สู้กันไปในระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช้ความรุนแรง ไม่สร้างเหตุผลที่นำไปสู่การใช้ความรุนแรงได้อย่างชอบธรรม

**โรดแมป 5 ข้อ เป็นโรดแมปรัฐบาลเพื่อออกจากปัญหาระยะสั้น แล้วโรดแมปสังคมระยะยาวในความคิดอาจารย์เป็นอย่างไร

สังคมไทยเผชิญปัญหา 5 ข้อสำคัญ ถ้าเราจะไปสู่ประชาธิปไตย มันต้องประกอบด้วย
1. ตอบคำถามให้ได้ว่า ความเป็นตัวแทนของประชาชนอยู่ที่ไหน หมายความว่า การเลือกตั้งที่นอกจะบริสุทธิ์ยุติธรรม ต้องมีความหมายกับคนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งด้วย การลุกฮือของเสื้อแดงเพราะเขารู้สึกเป็นใบ้ เขาถูกปลดอำนาจหลายรอบ มุมนี้คือหลักคิดเรื่อง อำนาจจากตัวเรา
2. ประชาธิปไตยต้องมีการแก้ปัญหาคอรัปชั่น เรื่องนี้เป็นคุณูปการของกลุ่มเสื้อเหลือง ถามว่า จะให้ทำอย่างไรล่ะ ถ้าอำนาจมากจากประชาชน แต่ถ้าเต็มไปด้วยการปกครองของคนส่วนมากที่เห็นแก่ตัว มันก็ทำให้ทุกคนได้ประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่ได้คิดถึงการจัดการคอรัปชั่น ปล่อยให้ใครบางคนยึดกุมจิตใจได้ ประชาธิปไตยมันก็ต้องมีกลไกตรวจสอบ มุมนี้คือหลักคิดเรื่องความเป็นส่วนรวม
3. ปากท้องและเศรษฐกิจ หมายความว่า ประชาธิปไตยมันเกี่ยวพันกับชีวิตของทุกคน ไม่ใช่อ้างประชาธิปไตยว่าไม่มีคอรัปชั่น มาจากเสียงข้างมาก แต่ประชาชนไม่มีกิน
4. การใช้กฎหมายในระบอบประชาธิปไตย หลักนิติธรรม คือ ประชาชนเคารพกฎหมายเพราะกฎหมายมาจากประชาชนและปกป้องประชาชน ไม่ใช่กฎหมายซึ่งเป็นคำสั่งของรัฐ ซึ่งไม่ต่อติดกับเราในแง่การเคารพและให้อำนาจเราในฐานะที่เราเป็นที่มาและเจ้าของอำนาจอธิปไตย กฎหมายเป็นกฎหมายที่บังคับเราแต่เราเปลี่ยนกฎหมายได้ เราสามารถท้าทายกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมได้ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกฎหมาย ขณะเดียวกัน เราเคารพกฎหมายเพราะเราเคารพตัวเราและเราเคารพคนอื่นซึ่งมีความเท่าเทียมกับเรา
5.ความสัมพันธ์ของประชาธิปไตยกับสถาบันเก่าในสังคม เพราะความเป็นตัวตนของเราถูกกำหนดโดยประเพณีเงื่อนไขเดิมๆในสังคม ซึ่งไม่ได้แปลว่าล้าหลังเสมอไป โดยเฉพาะในกรณีเมื่อมันไม่มีกรอบกฎหมายบางอย่างกำหนดไว้ ประเพณีเดิมๆที่มันใช้อยู่ สถาบันเดิมๆที่มันจะช่วยการันตีความยุติธรรมมันต้องเข้ามาเกี่ยวพัน มันต้องใช้ แต่เราต้องตอบคำถามว่า มีเพื่อให้ประชาธิปไตยมันยั่งยืนอย่างไร


รวมแล้ว 5 ข้อ จะสัมพันธ์กันอย่างไร หลักนี้จะถอดมาเป็นรัฐธรรมนูญอย่างไร นี่คือโรดแมปของสังคมที่จะใช้กำกับกันภายหลังเลือกตั้ง ซึ่งไกลกว่าโรดแมปของรัฐบาล ตอนนี้ แม้ทุกฝ่าย จะเข้าใจแต่ละข้อไม่ตรงกันเลยก็ไม่เป็นไร ก็มาคุยกัน คือที่ผมพูด 5 ข้อนี้ไม่ใช่ว่ารัฐบาลต้องมาทำนะ และไม่ใช่เพื่อเป็นคำตอบ แต่เสนอให้เข้าใจคนอื่นมากขึ้นซักนิด แทนที่จะกล่าวหาการมองของอีกฝ่ายว่าเป็นผู้ร้ายแล้วทำลาย แต่ดูว่า เขามีจุดเด่นอะไร เขาให้ความหมายกับสิ่งไหนมากกว่าสิ่งไหน ถ้าเราจะมีจุดยืนข้อใดข้อหนึ่งใหญ่สุด แล้วเราจะตอบอีก 4 ข้อยังไง เป็นเรื่องที่ละฝ่ายก็จะสู้กันในทางการเมือง

แต่ทั้ง 5 ข้อ มันควรอยู่ด้วยกันให้ได้ ตกลงอย่างสันติ ตกลงผ่านการเลือกตั้ง การถกเถียง ไม่ใช่จากการใช้กำลังยึดอำนาจ คิดบนฐานนี้ก็จะมีมุมมองต่อเสื้อแดง เสื้อเหลือง ผู้ที่บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้าอกเข้าใจ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะต้อง โอโห กอดกันรักกันหมด แต่มันคือ agree to disagree คือ ตกลงที่จะไม่เห็นด้วย และเข้าใจจุดยืน ทำงานร่วมกันเชิงระนาบ ไม่ใช่เชิงดิ่ง เชิงดิ่งคือ ทุกคนอยู่ภายใต้อะไรบางอย่างที่ทำให้คุณไม่มีเสรีภาพหรือใช้อันนั้นเป็นเครื่องมือในการจัดการกัน แต่เชิงระนาบคือ ร่วมมือในการทำงานในฐานะที่คุณกับเขาเท่ากัน ไม่เช่นนั้น พรรคเดโมแครต กับรีพับลีกัน หรือพรรคอนุรักษ์นิยมกับพรรคแรงงาน จะอยู่ในสังคมเขาได้อย่างไร เพราะเขาก็รู้ว่า อีกฝ่ายคิดไม่ตรงกับเขา แต่ไม่ใช่ว่า เฮ้ย ฆ่ามันให้หมดมันคิดแบบนั้นมันผิด แต่มันต้องมีความเป็นอารยะ


ที่มา : //www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1273647990&grpid=01&catid=




 

Create Date : 12 พฤษภาคม 2553
1 comments
Last Update : 12 พฤษภาคม 2553 16:53:13 น.
Counter : 696 Pageviews.

 

 

โดย: หาแฟนตัวเป็นเกลียว 12 พฤษภาคม 2553 17:03:26 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


popcorn2519
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




หวัดดีครับ สำหรับ คนที่หลงเข้ามาใน blog นี้ ^^ ตอนนี้ผมได้ทำการ แบ่ง blog ออกเป็น 3 กลุ่มนะครับ

กลุ่มแรก คือ My Blog ก็จะเป็นเรื่องต่างๆ ที่อยากจะเขียน ทั้งหนังที่ชอบ เรื่องที่อ่านมาแล้วโดน หรือ อาจจะสิ่งต่างๆในชีวิตประจำวัน ที่อยากจะระบาย

กลุ่มที่ 2 คือ 2,900 ไมล์ ไกลบ้าน เป็นบล็อคที่สร้างมาเพื่อเขียนเรื่องราวช่วงหนึ่งของชีวิตที่จะต้องไปใช้ชีวิตในต่างแดนครับ ซึ่งสิ่งที่ผมประสบมาและถ่ายถอดอาจจะไม่เหมือนกับคนอื่นๆ ก็ได้ อันนี้อาจเกิดได้จากความอ่อนแอทางภาษาซึ่งอาจจะทำให้เกิดผมเกิดความเข้าใจผิดได้ หรือเหตุการณ์และช่วงเวลาที่ตัวเองได้สัมผัส หรือสังคมที่ผมได้เข้าไปคลุกคลีด้วย แต่ข้อมูลทั้งหมดที่เขียนก็คือสิ่งที่ผมเข้าใจอย่างนั้นจริงๆครับ

และกลุ่มที่ 3 สังคม-การเมือง-การปกครอง ซึ่งเป็นกลุ่มใหม่เนื่องจากช่วงหลัง มีการนำข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องการเมือง สังคม การปกครอง มาใส่เยอะ ก็เลยคิดว่าน่าจะแยกกลุ่มไปจากเรื่องส่วนตัวดีกว่า

ข้อความทุกข้อความทั้งที่นำมาจากที่อื่น และที่เขียนเอง ทั้งหมดเป็นความคิด ความรู้สึกส่วนตัว และความชอบของผมเองนะครับ ไม่ได้แปลว่าต้องถูกต้องเสมอไป ฉะนั้นกรุณาใช้วิจารณญาณในการอ่านล่ะกัน ทุกคนสามารถโต้แย้งได้ครับ

ขอบคุณทุกคนที่เข้ามาเยี่ยมชม และคอมเมนต์ ครับ
POP
New Comments
[Add popcorn2519's blog to your web]