Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2566
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
10 กรกฏาคม 2566
 
All Blogs
 
ธรรมปราบกิเลส

               

            กิเลสมีเพียง ๓ ตัวเท่านั้นเอง แต่ครอบหัวใจของสัตว์โลกไว้ได้หมด คนเป็นหลายพันล้านคนที่อยู่ในโลกนี้ ก็อยู่ใต้อำนาจของกิเลส ๓ ตัวนี้กันทั้งนั้น คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง กิเลสสู้ไม่ได้อย่างเดียวเท่านั้น คือ ธรรมของพระพุทธเจ้า อย่างอื่นกิเลสชนะหมด มีธรรมของพระพุทธเจ้าเท่านั้นที่ ปราบกิเลส ๓ ตัวนี้ได้ มีพระพุทธเจ้าเป็นองค์แรก แล้วก็ปรากฏเป็นกองทัพธรรมตามมา หลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้วก็ประกาศสอนพระธรรม ก็มีผู้มีสติปัญญานำเอาไปปฏิบัติ เอาไปทำลายกิเลสโลภโกรธหลง ที่มีอยู่ในจิตให้หมดไปได้ กลายเป็นพระอรหันตสาวกขึ้นมา มีเป็นจำนวนมาก เพียงชั่วระยะ ๗ เดือนแรกของการประกาศพระศาสนา ก็มีพระอรหันต์ปรากฏขึ้นมาอย่างน้อยก็ ๑๒๕๐ รูป ทรงตรัสรู้วันเพ็ญเดือน ๖ แล้วทรงประกาศสอนพระธรรมครั้งแรกในวันเพ็ญเดือน ๘ พออีก ๗ เดือนต่อมาคือวันเพ็ญเดือน ๓ ก็เป็นวันมาฆบูชา วันที่มีพระอรหันตสาวก ๑๒๕๐ รูป มาจากทิศทางต่างๆโดยไม่ได้นัดหมายกันมาก่อน มากราบพระพุทธเจ้า เป็นครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนา เข้าใจว่าในแต่ละพุทธสมัยจะมีวันอย่างนี้ปรากฏขึ้นครั้งเดียว มีจำนวนพระอรหันต์มากน้อยต่างกัน ขึ้นอยู่กับพระบารมีของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ บางพุทธสมัยก็มีมากกว่า ๑๒๕๐ รูป บางสมัยก็มีน้อยกว่า เพราะบารมีของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ในการเผยแผ่พระศาสนามีไม่เท่ากัน ช่วงว่างระหว่างพุทธสมัยก็ห่างกันมาก เป็นกัปเป็นกัลป์กว่าจะมีพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ปรากฏขึ้นมา มาตรัสรู้ มาสั่งสอนสัตว์โลก คำว่ากัปว่ากัลป์นี้เป็นระยะเวลาที่ยาวนาน ที่ไม่สามารถใช้ตัวเลขนับกันได้ ท่านเปรียบเทียบเอาไว้ว่า เหมือนกับทุกๆ ๑๐๐ ปีให้เอาผ้าไปลูบภูเขาหิมาลัย ๑ ครั้ง ให้ทำอย่างนี้ทุกๆ ๑๐๐ ปีจนกว่าภูเขาหิมาลัยจะสึกหายไปหมด ก็คิดดูว่าจะใช้เวลานานขนาดไหน ขนาดนั่งลูบอยู่ทุกวันๆ ยังไม่สึกเลย แล้วทุกๆ ๑๐๐ ปีมาลูบสักครั้งหนึ่ง ก็ต้องใช้เวลาอันยาวนาน
 
การเกิดเป็นมนุษย์ ได้มาเจอพระพุทธศาสนาในชาตินี้ ต้องถือว่าเป็นโชควาสนา เป็นโอกาสที่ดีมาก จะไม่มีอีกอย่างง่ายๆ เพราะการเกิดเป็นมนุษย์แต่ละครั้งก็ไม่ใช่ของง่าย ตายไปแล้วยา่กที่จะได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก ถ้าไม่ได้บำเพ็ญบุญบารมีไว้ ถึงแม้จะได้บำเพ็ญบุญบารมี บางทีก็ไปเกิดเป็นเทวดาเสียก่อน ก็อาจจะหมดเวลาไปอีกหลายพันปี กว่าจะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก พระพุทธศาสนาก็หายไปจากโลกแล้ว ถ้าไม่มีปัญญาพอที่จะสอนตนให้หลุดพ้น ก็ต้องหมุนไปกับกระแสของโลก เขานิยมชื่นชมอะไรก็จะนิยมชื่นชมตาม ยกเว้นถ้าจิตได้บรรลุพระอริยธรรม เป็นพระอริยบุคคลขั้นแรก คือพระโสดาบันแล้ว คำว่าโสดานี้ท่านแปลว่ากระแส โสดาบันเป็นผู้ที่ได้เข้าสู่กระแสแห่งพระนิพพาน ถ้าได้เข้าสู่กระแสแล้วก็ไม่ต้องมีใครมาสอนก็ได้ สามารถว่ายไปตามกระแสได้ สามารถปฏิบัติด้วยสติปัญญาของตน มีต้นทุนแล้ว มีสติปัญญาพอที่จะพัฒนาไปได้ด้วยตนเอง ไม่มีครู ไม่มีอาจารย์ ไม่เจอพระพุทธศาสนา ก็ไม่เป็นปัญหาอะไร สามารถปฏิบัติขยับขึ้นไปจนบรรลุภายใน ๗ ชาติ นี่เป็นฐานะของพระโสดาบัน ทั้ง ๗ ชาตินี้ก็จะเกิดในแดนสุคติ เกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นเทพ ถ้าพัฒนาขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ได้เป็นพระสกิทาคามี ก็จะเหลือเพียงชาติเดียว ที่จะต้องกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ แล้วก็จะบรรลุเป็นพระอานาคามีและพระอรหันต์ตามลำดับ ถ้าได้เป็นพระอนาคามี ก็จะไม่ต้องกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกต่อไป จะเกิดบนสวรรค์ชั้นพรหม มีอยู่ ๕ ชั้นด้วยกัน เป็นที่เกิดของพระอนาคามี เรียกว่าสุทธาวาส แล้วก็จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ต่อไป ไม่ต้องมีร่างกาย เพราะได้ปล่อยวางร่างกายแล้ว
 
ไม่หลงไม่ยึดไม่ติด ไม่ต้องมีร่างกายเป็นเครื่องมืออีกต่อไป ปัญหาที่อยู่กับร่างกายก็หมดไป คือราคะตัณหา รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ที่ทำให้หลงใหลให้เคลิบเคลิ้มให้ยินดี ก็หมดปัญหาไป พระอนาคามีจะเห็นว่าร่างกายไม่สวยไม่งาม มีอาการ ๓๒ เป็นปฏิกูล มีอวัยวะที่ไม่สวยงามต่างๆ ซ้อนเร้นอยู่ใต้ผิวหนัง มีกลิ่นออกมาตลอดเวลา น่ารังเกียจ จะไม่ยินดีกับการมีคู่ครอง ถ้าได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ก็ไม่ต้องกลับมาเกิดอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นในสมัยพุทธกาลก็ดี ในสมัยปัจจุบันก็ดี ถ้าปฏิบัติ รักษาศีล บำเพ็ญภาวนา เจริญสมาธิ เจริญปัญญา จิตก็จะได้พบกับความบริสุทธิ์ในที่สุด ได้ชำระความโลภความโกรธความหลงจนหมดสิ้นไป หลุดพ้นจากอำนาจของกิเลสตัณหา ที่สั่งให้ไปเวียนว่ายตายเกิด ไปแสวงหาความสุขจากสิ่งต่างๆ หาความสุขจากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ทั้งที่เป็นส่วนหยาบและละเอียด ส่วนหยาบก็เป็นของมนุษย์ ส่วนละเอียดก็เป็นของพวกกายทิพย์ เช่นรูปทิพย์เสียงทิพย์กลิ่นทิพย์เป็นต้น เหมือนกับตอนที่นอนหลับฝันดี เห็นสิ่งนั้นเห็นสิ่งนี้ แล้วก็มีความสุข ได้เสพสิ่งนั้นได้เสพสิ่งนี้ในความฝัน ไม่ต้องมีตาหูจมูกลิ้นกาย กายนอนหลับแล้วก็มีสิ่งต่างๆปรากฏขึ้นมาในใจ จิตตอนนั้นก็เป็นกายทิพย์ไป ไปอยู่สวรรค์ชั่วคราว ๖ ชั่วโมง ๘ ชั่วโมง ในขณะที่นอนหลับฝันดี ถ้าฝันร้าย ฝันว่าถูกปองร้าย มีปัญหาต่างๆ มีความเครียด ก็เหมือนกับตกนรกในขณะนั้น เพราะจิตกำลังเสวยความทุกข์ ความจริงเราตกนรกขึ้นสวรรค์กันตลอดเวลา จะมากจะน้อยก็ขึ้นอยู่กับบุญบารมีวิืบากกรรมที่ทำไว้ ทำบาปทำกรรมไว้ จิตใจจะว้าวุ่นขุ่นมัว ทั้งในขณะที่ตื่นและหลับ ตอนนั้นก็เหมือนกับตกนรก
 
ถ้าจิตมีความโลภความอยาก เห็นคนอื่นมีสิ่งนั้นสิ่งนี้ ก็อยากจะได้อยากจะมีเหมือนเขา ทั้งๆที่ไม่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพ ปัจจัย ๔ ก็มีพอเพียงแล้ว แต่อยากจะมีมากๆ ก็เกิดความโลภ ก็จะเป็นนิสัยของเปรต ร่างกายเป็นมนุษย์แต่จิตเป็นเปรต หรือถ้ามีความหวาดกลัวมากๆกลัวเรื่องนั้นกลัวเรื่องนี้ กลัวจะอดอยากขาดแคลน กลัวสงคราม กลัวความร้อน กลัวไฟจะดับ แอร์ไม่ทำงาน ตู้เย็นไม่ทำงาน อาหารที่แช่เก็บไว้จะเน่าเสีย เมื่อมีคนมากขึ้น ก็จะใช้ไฟกันมากขึ้น แต่ไม่มีปัญญาสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้น สักวันหนึ่งไฟก็ต้องดับ จะวุ่นวายกัน โทรทัศน์ก็ไม่ได้ดู วิทยุก็ไม่ได้ฟัง คอมพิวเตอร์ก็เปิดไม่ได้ อินเตอร์เน็ตก็ต่อไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้สักอย่างเดียว แต่สิ่งที่ทำได้กลับไม่ทำกัน ภาวนาแสนจะสบาย จะไปสวรรค์ชั้นไหนก็ได้ ไปนรกขุมไหนก็ได้ นี่คืออำนาจของกิเลส ๓ ตัว โลภโกรธหลง ครอบงำจิตใจของสัตว์โลกไว้หมด มนุษย์ก็หลายพันล้านคนแล้ว สัตว์เล็กสัตว์น้อยอีก นับจำนวนไม่ถ้วน มดแมลงตัวหนอน สัตว์เลื้อยคลานต่างๆ ปลาในทะเลมหาสมุทร ครอบงำไว้หมดเลย ควบคุมไว้หมดเลย มีพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์เท่านั้นที่ควบคุมไม่ได้ พระอริยเจ้าขั้นต่ำลงมาก็ยังควบคุมได้ มีพระอรหันต์กับพระพุทธเจ้าเท่านั้น ที่หลุดพ้นจากอำนาจของความโลภความโกรธความหลง พระโสดาบันยังถูกอำนาจของราคะตัณหาควบคุมอยู่ ยังยินดีกับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ยินดีในคู่ครอง ยังปรารถนาความสุขจากการมีคู่ครอง ส่วนพระอนาคามีก็ยังหลงยึดติดในตัวตน เป็นความหลงที่ละเอียด ยังติดอยู่กับความสุขอันละเอียด ของรูปฌานและอรูปฌาน มีพระพุทธเจ้ากับพระอรหันต์เท่านั้น ที่สามารถสลัดความหลงต่างๆให้หมดไปจากจิตจากใจได้ ไม่ต้องมีอะไรมาให้ความสุข เพราะจิตเป็นปรมังสุขัง จิตที่ปราศจากความโลภความโกรธความหลง จะไม่มีความทุกข์หลงเหลืออยู่เลย เป็นจิตที่สะอาดบริสุทธิ์เต็มที่ เปี่ยมไปด้วย ปรมังสุขัง เป็นความสุขสุดยอด ที่ให้ความอิ่มให้ความพอ อยู่เฉยๆก็สบาย ไม่ต้องมีอะไรมาเพิ่มเติม
 
ไม่เหมือนกับความสุขจากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ที่ต้องเติมอยู่เรื่อยๆ ดูหนังเรื่องนี้แล้วก็อยากดูอีกเรื่อง ดูละครเรื่องนี้แล้วก็อยากจะดูอีก รับประทานอาหารร้านนี้แล้วก็อยากไปรับประทานอีก ไม่มีสิ้นสุด ความอยากทางโลก ทางรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ไม่มีสิ้นสุด ความสุขที่ได้จากการมีตำแหน่ง ก็เหมือนกัน เป็นร้อยตรีก็อยากเป็นร้อยโทร้อยเอกจนถึงพลเอก ได้พลเอกแล้วก็อยากจะเป็นผู้บังคับบัญชาการ นี่คือความสุขทางโลก ที่เกิดจากความอยากมีอยากเป็น อยากสัมผัสกับสิ่งต่างๆ ต่อให้ได้มากเพียงไร ก็ไม่ได้ให้ความอิ่มความพอกับใจ เพราะไม่ใช่อาหารของใจถ้าเป็นร่างกายก็เหมือนกับรับประทานแต่ลม ก็ต้องหิวตลอดเวลา ต่อให้เอาลมใส่เข้าไปในร่างกายมากเพียงไรก็ไม่อิ่ม ต้องรับประทานอาหารดื่มน้ำถึงจะอิ่ม ใจก็เช่นเดียวกัน สิ่งที่จะทำให้ใจอิ่มก็คือธรรมะ ธรรมะที่เกิดจากการปฏิบัติทางกายวาจาใจ พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้อยู่ ๘ ประการ เรียกว่ามรรค ๘ ที่จะทำให้จิตใจอิ่มพอ ได้แก่ ๑. สัมมาทิฐิความเห็นชอบ เมื่อมีความเห็นชอบก็จะพาไปสู่ ๒. การดำริชอบสัมมาสังกัปโป เห็นอย่างไรจะคิดไปตามความเห็นนั้น ถ้าเห็นว่าการเสพสุรายาเมานำความสุขมาให้ ก็จะคิดหาสุรามาดื่มกัน ถ้าคิดว่าการภาวนาทำให้จิตใจมีความสุข ก็จะคิดไปวัดกัน ธรรมที่สำคัญที่สุดก็คือทิฐิความเห็น สัมมาทิฐิความเห็นชอบหรือมิจฉาทิฐิความเห็นผิดเป็นชอบ ถ้ามีความเห็นชอบก็จะดำริชอบ คิดในสิ่งที่ถูกต้อง คิดในสิ่งที่จะทำให้จิตได้พบกับความสุขความอิ่มความพอ คือการเข้าหาธรรมะ การปฏิบัติธรรม ทำบุญให้ทานรักษาศีลภาวนา
 
จากดำริชอบสัมมาสังกัปโป ก็จะไปสู่ ๓. สัมมากัมมันโตการกระทำชอบ คือการกระทำที่ไม่เบียดเบียนผู้อื่น เช่นละเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี แล้วก็ไปสู่ ๔. สัมมาวาจาวาจาชอบ คำพูดที่ถูก ที่ไม่สร้างความทุกข์ความเดือดร้อนให้กับตนหรือผู้อื่น คือพูดความจริง ละเว้นจากการพูดปด พูดเพ้อเจ้อ นินทากาเล เรื่องไร้สาระต่างๆ เรื่องที่เป็นสาระก็เรื่องธรรมะ เรื่องศีล เรื่องภาวนา เรื่องปัญญา เรื่องการหลุดพ้น เรื่องญาณทัศนะที่เกิดจากการหลุดพ้น เรื่องการประกอบความพากเพียร มักน้อยสันโดษ สถานที่สงบสงัดวิเวก เพราะพูดแล้วจะเกิดคุณเกิดประโยชน์ ทำให้จิตใจใฝ่หาสิ่งเหล่านี้ ถ้าพูดเรื่องลาภยศสรรเสริญ เรื่องแฟชั่น เรื่องสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ก็จะทำให้คิดถึงเรื่องเหล่านี้ ก็อยากจะออกไปสัมผัส จึงต้องพูดในกรอบของสัมมาวาจา ที่จะช่วยส่งเสริมพัฒนาจิตใจให้ไปสู่การหลุดพ้น อย่าพูดเรื่องที่จะทำให้จิตใจติดอยู่กับการเวียนว่ายตายเกิด จึงต้องพูดเรื่องธรรมะเป็นหลัก เช่นอาทิตย์นี้จะไปทำบุญที่ไหนดี จะไปภาวนาที่ไหนดี แทนที่จะไปเที่ยวที่ไหนดี ไปกินที่ไหนดี
 
แล้วก็ละเว้นจากการพูดคำหยาบ ที่เป็นเหมือนกับขยะทางอากาศ ทำให้หูของคนฟังสกปรกตามไปด้วย เวลาเห็นขยะเราก็รู้ว่าเหม็นไม่น่าดู ไม่อยากจะเข้าใกล้ เวลาพูดคำหยาบก็ไม่น่าฟัง ไม่อยากจะเข้าใกล้ ไม่ส่งเสริมความสงบสุข ฟังแล้วทำให้รุ่มร้อนใจ คำหยาบส่วนใหญ่มักจะเกิด ในขณะที่จิตถูกความโกรธความโลภครอบงำ โลภแล้วไม่ได้ก็โกรธ ก็จะระบายออกมาทางวาจา คนที่ขัดขวางก็ต้องโดนเป็นด่านแรก ด่าพ่อแม่ บรรพบุรุษทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย อวัยวะต่างๆ นี่คือคำหยาบที่ไม่ควรพูด เพราะไม่ส่งเสริมให้จิตสงบ จากนั้นก็ละเว้นจากการพูดส่อเสียด ที่ไม่ได้หมายความว่าเสียดสี พูดกระทบกระทั่งกัน นี่ไม่ใช่ความหมายของส่อเสียด ส่อเสียดหมายถึงการพูดยุยงให้แตกสามัคคี ให้เกลียดชังกัน ขาดความเมตตา ต้องพูดตรงกันข้าม เวลาใครโกรธแล้วมาระบายกับเรา อย่าไปยุ ลุยมันเลย ฆ่ามันเลย อย่างนี้เรียกว่าส่อเสียด ต้องพูดว่าอย่าไปถือโทษโกรธเคืองเลย เรามีหนี้มีกรรมกันมา ตอนนี้ก็ใช้หนี้ใช้กรรมกันไป ถ้าระงับความโกรธได้ ไม่ไปทำอะไร ให้อภัยได้ เรื่องก็จบ ต่างคนก็ต่างอยู่อย่างสบาย แต่ถ้าไปยุให้ไปทำร้ายเขาเพราะเราก็เกลียดเขาอยู่แล้ว ก็ต้องเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา ไปทำเขาแล้วก็ต้องหลบหนีหลบซ่อนตัว เพราะกลัวจะถูกจับไปลงโทษ นี่คือสัมมาวาจา ไม่พูดในสิ่งที่ไม่ดี พูดความจริง พูดคำสุภาพ พูดด้วยความเมตตา พูดให้เกิดประโยชน์ เวลาถ่ายรูปพระนั่งสนทนากันลงในหนังสือ จะเขียนว่ากำลังสนทนาธรรมกัน เพราะพระพูดเรื่องอื่นไม่ได้ จะผิดศีล นี่ก็คือสัมมาวาจา
 
๕. สัมมาอาชีโว ทำมาหากินเลี้ยงชีพเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ด้วยสัมมาอาชีพ ไม่ไปเบียดเบียนผู้อื่น ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ฆ่าปลา ฆ่านก ฆ่าไก่ ฆ่าเป็ด ฆ่าหมู ถึงแม้จะเป็นอาหารก็รอให้ตายก่อน ถึงค่อยเอามาเป็นรับประทาน อย่าไปชี้ว่าต้องการปลาตัวนี้ ที่กำลังว่ายอยู่ในถัง ไม่ค้าขายสิ่งที่เป็นพิษเป็นภัยกับชีวิตของผู้อื่น เช่นศาสตราวุธ กับดักสัตว์ต่างๆ ที่จะเอาไปฆ่าผู้อื่น เอากับไปดักสัตว์ เอาปืนไปฆ่าผู้อื่น หรือสารพิษต่างๆ ยาฆ่ามดแมลง ก็ไม่ควร หรือพวกสุรายาเสพติด ที่เป็นโทษไม่เป็นคุณ เสพเข้าไปแล้วทำให้ขาดสติ ไม่สามารถยับยั้งความคิดที่ไม่ดีกระทำที่ไม่ดีได้ เพราะสติเป็นเหมือนเบรกที่จะคอยเบรกใจไว้ ถ้าไม่มีสติแล้วก็จะทำอะไรตามอารมณ์ ถ้าโกรธก็จะพูดคำหยาบ จะทุบทำลายสิ่งของต่างๆ ถ้าโลภก็จะไปลักขโมย ไปประพฤติผิดประเวณี ให้ทำอาชีพที่สุจริต ที่ไม่เกิดโทษกับผู้อื่น เป็นหมอเป็นพยาบาลเป็นพระอย่างนี้ เป็นอาชีพที่ดี พระก็มีอาชีพเหมือนกัน คือการบิณฑบาต พระพุทธเจ้าทรงให้สอนตั้งแต่วันบวชเลยว่า ให้หาเลี้ยงชีพด้วยลำแข้งของตน จะมีแต่ความเจริญโดยถ่ายเดียว ให้บิณฑบาตไปตลอดชีวิตเลย จนกว่าร่างกายไม่สามารถทำได้ แต่สมัยปัจจุบันนี้ญาติโยมกลับเห็นว่า ไม่ให้พระบิณฑบาตเป็นการทำบุญ อยากให้พระสบาย ก็เลยนิมนต์ให้อยู่วัด แล้วนำอาหารมาถวายที่วัด อย่างนี้ไม่ใช่สัมมาอาชีพ เป็นบุญสำหรับญาติโยม แต่พระจะเกียจคร้าน นอนสบายไม่ต้องตื่นเช้า นอนถึง ๘ โมง ๙ โมงก็ได้ เดี๋ยวเพลญาติโยมก็เอากับข้าวกับปลามาถวายที่วัด ตอนเช้าก็ชงโอวัลตินกินกับขนมปังปิ้งไปก่อน ก็จะไม่มีความเพียร มีแต่ความเกียจคร้าน เวลาจะเดินจงกรมก็ก้าวไม่ออก เวลานั่งสมาธิก็สัปหงก สัมมาอาชีพของนักบวชคือการบิณฑบาตไปตลอดชีวิต
 
พระพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญมาก จึงได้กำหนดไว้ในธุดงควัตรด้วย แต่ไม่ได้กำหนดไว้ในศีล ๒๒๗ ข้อ เพราะทรงเห็นว่าอาจจะมีความจำเป็นในบางเวลา เจ็บไข้ได้ป่วยหรือพิกลพิการ จะไม่สามารถออกบิณฑบาตได้ หรืออยู่ในยุคข้าวยากหมากแพง ไม่มีใครใส่บาตร หรืออยู่ในดินแดนที่ไม่อนุญาตให้บิณฑบาต เช่นในต่างประเทศถือเป็นการขอทาน ผิดกฎหมาย สมัยที่ท่านอาจารย์ชาไปโปรดญาติโยมที่ประเทศอังกฤษ ก็บิณฑบาตไปตามถนนไม่ได้ เพราะผิดกฎหมาย นอกจากจะบิณฑบาตในบริเวณวัด ถ้าปล่อยให้ทำก็จะมีขอทานเต็มไปหมด แต่เมืองไทยเป็นเมืองพุทธ ผู้ที่ออกกฎหมายเข้าใจถึงหลักของพระพุทธศาสนา จึงยกเว้นเรื่องการบิณฑบาต ไม่ถือว่าเป็นการขอทาน แต่การบิณฑบาตก็ต้องอยู่ในกรอบของความพอดี ให้บิณฑบาตอาหารมา ไม่ให้ถือบาตรไปเรี่ยไรเอาเงินทอง นี่ไม่ใช่เป็นการบิณฑบาต เป็นการขอทาน การบิณฑบาตต้องไม่เคาะประตูบ้าน ไม่ขอ ให้เป็นไปตามศรัทธา มีศรัทธาอยากจะใส่ก็เตรียมอาหารไว้ นี่คือหลักของการบิณฑบาต มีคุณมีประโยชน์กับพระหลายประการ ให้มีความเพียร ให้สำนึกถึงฐานะของตนว่าต้องอาศัยการให้ของผู้อื่น เป็นเหมือนขอทาน จึงควรพอใจกับอาหารที่ได้รับมา ไม่จู้จี้จุกจิก อยากจะรับประทานสิ่งนั้นสิ่งนี้ตามอารมณ์ของกิเลส เป็นการปราบกิเลสไปในตัว เป็นความมักน้อยสันโดษ ที่จะช่วยกำจัดกิเลส คือความโลภจู้จี้จุกจิก อยากจะกินสิ่งนั้นสิ่งนี้ ไปโดยปริยาย ทางสายพระปฏิบัติถือว่า ถ้าไม่บิณฑบาตก็ไม่ฉัน ถ้าฉันก็ต้องบิณฑบาต บางองค์บางท่านถึงแม้จะเจ็บไข้ได้ป่วย ถ้าไม่ได้บิณฑบาตก็จะไม่ฉัน ไม่ให้จัดสำรับมาส่งที่กุฏิ ถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ภาวนา
 
ถ้าจิตไม่ยึดไม่ติดกับร่างกายแล้ว ถึงแม้ร่างกายจะขาดอาหาร จะเจ็บไข้ได้ป่วย ก็จะไม่กระทบกระเทือนกับจิตใจ ถ้ายังติดอยู่ก็จะได้โอกาสภาวนาเพื่อปล่อยวาง มักจะปล่อยได้ในช่วงที่มีทุกขเวทนา ที่เกิดจากการเจ็บไข้ได้ป่วย หรือเกิดจากการขาดแคลนอาหาร ต้องกำราบความโลภความต้องการ ด้วยการภาวนา ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา ก็จะปล่อยวางได้ จึงถือเป็นโอกาสที่ดี เป็นการพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส คนเราเวลาอยู่ดีกินดีสุขสบาย มักจะไม่สนใจกับการแก้ปัญหาทางด้านจิตใจ เพราะไม่มีปัญหาจะแก้ เพราะจิตใจไม่ได้รุ่มร้อนไม่ได้ทุกข์ ดังที่กล่าวกันว่าปัญญาจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อมีความทุกข์ นี่คือสัมมาชีพของนักบวช คือการออกบิณฑบาต ของญาติโยมก็ละเว้นจากอาชีพที่เบียดเบียน สร้างความทุกข์ความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น ถ้าสังคมไทยไม่มีการเสพสุรายาเมา ปัญหาต่างๆจะน้อยลงไปมาก ปัญหาทางครอบครัว ปัญหาการทุบตีทำร้ายกันก็จะมีน้อยลงไป ปัญหาสุขภาพก็จะน้อยลงไป เห็นกันอยู่ชัดๆ แต่อำนาจของกิเลสมันแรง มันต่อต้าน พยายามออกกฎหมายก็ยังออกไม่ได้ เพราะผลประโยชน์มันเยอะ กิเลสต้องการผลประโยชน์จากการค้าสุรายาเมา ไม่คิดถึงความเดือดร้อนที่จะเกิดขึ้นกับคนในสังคม นี่คือส่วนหนึ่งของมรรค ๘  สัมมาอาชีโว สัมมาอาชีพ
 
๖. สัมมาวายาโม ความพากเพียรชอบ ท่านสอนให้เพียรอยู่ใน ๔ สถาน คือ  ๑. เพียรสร้างความดีที่ยังไม่มีให้เกิดขึ้น  ๒. เพียรรักษาความดีที่มีอยู่ให้คงไว้  ๓. เพียรกำจัดความไม่ดีให้หมดไป  ๔. เพียรป้องกันไม่ให้ความไม่ดีที่ได้กำจัดไปแล้วฟื้นกลับคืนมาอีก การภาวนาก็เป็นความดี เช่นเดียวกับการทำบุญให้ทาน เสียสละ ช่วยเหลือผู้อื่น รับใช้ผู้อื่น ถ้าทำอยู่แล้วก็พยายามทำต่อไป ถ้าทำยังไม่เต็มที่ ก็ทำให้มากขึ้นไป เป็นการทำความดีที่ยังไม่มีให้เกิดขึ้น รักษาความดีที่มีอยู่แล้วให้คงไว้ ความชั่วก็คือการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี พูดปดมดเท็จ เสพสุรายาเมา อบายมุขต่างๆ เป็นสิ่งที่ไม่ดี ไม่เป็นคุณไม่เป็นประโยชน์มีแต่จะเป็นโทษกับจิตใจ ต้องพยายามละมันกำจัดมัน ส่วนไหนที่กำจัดได้แล้วก็อย่าไปทำอีก ถ้าเลิกดื่มสุราได้แล้วก็อย่าหวนกลับไปดื่มอีก ถ้าเลิกซื้อของฟุ่มเฟือยได้แล้วก็อย่ากลับไปซื้ออีก จะซื้ออะไรก็ให้ใช้เหตุผล ถ้ามีความจำเป็นก็ซื้อมา ถ้าไม่มีความจำเป็นก็อย่าซื้อ นี่คือความเพียรใน ๔ สถาน สัมมาวายาโม
 
๗. สัมมาสติ สติที่ถูก คือตั้งสติอยู่ที่กายเวทนาจิตธรรม เฝ้าดูกายดูเวทนาดูจิตดูธรรม อย่าไปดูอย่างอื่น อย่าไปดูรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ตามจอโทรทัศน์ ตามสถานที่ต่างๆ เพราะไม่ทำให้จิตใจสงบ แต่จะทำให้ฟุ้งซ่าน เกิดความใคร่ความอยาก เวลาเปิดดูหนังสือพิมพ์ เปิดดูโทรทัศน์ จะมีโฆษณามาล่อมาแหย่กิเลส เป็นเหมือนเหยื่อที่ติดอยู่ปลายเบ็ด พอไปงับเข้าปั๊บก็จะถูกเบ็ดเกี่ยว พอไปซื้อสิ่งที่เขาโฆษณาด้วยบัตรเครดิต ก็จะต้องทุกข์ใจ ที่จะต้องหาเงินมาใช้หนี้ ไม่มีความสุข ความสุขที่ได้จากสิ่งที่ซื้อมาไม่คุ้มกับความทุกข์ที่ตามมา สู้อดใจไว้ดีกว่า ถ้ายังไม่มีเงินพอก็อย่าเพิ่งซื้ออะไรมา ถึงแม้มีเงินพอ ถ้าไม่ทำให้จิตใจสงบร่มเย็นเป็นสุขก็อย่าไปซื้อมา เอาเงินไปทำบุญถวายครูบาอาจารย์จะดีกว่า จะทำให้มีความสุขมีความอิ่ม ควรตั้งสติอยู่ที่กายเวทนาจิตธรรม เพื่อดึงใจไว้ ไม่ให้ไปเพ่นพ่าน เวลาทำสมาธิจิตจะสงบง่ายและเร็ว ไม่ฟุ้งซ่านกับเรื่องต่างๆ ถ้าปล่อยให้จิตคิดไปเรื่อยๆ ก็จะคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่มีความผูกพันมาก ก็จะทำให้คิดมาก ถ้าเป็นปัญหาก็จะทำให้ฟุ้งซ่านมาก ถ้าไม่รู้จักแก้ปัญหา ก็ยิ่งฟุ้งซ่านใหญ่ อาจจะฆ่ายกครัวได้ เพราะไม่มีสติ ปล่อยให้คิดไปกับปัญหาต่างๆ แล้วก็แก้ปัญหาด้วยวิธีที่ไม่ถูก ก็เลยมีข่าวคราวอยู่เรื่อยๆ นี่ก็คือตัวอย่างของการไม่มีสติ ถ้ามีสติแล้วจะรู้ว่าขณะนี้อยู่ที่ไหน เรากำลังทำอะไรอยู่ ให้เฝ้าดูร่างกายเหมือนยามเฝ้าดูนักโทษ สติเป็นเหมือนยาม เวลานักโทษจะเข้าห้องน้ำยามก็ต้องเข้าไปด้วย ไม่อยู่ข้างนอก ถ้าเข้าห้องน้ำแล้วไปนึกถึงเรื่องต่างๆ ก็เหมือนกับไม่มียามอยู่ในห้องด้วย ปล่อยให้นักโทษหนีไป คือปล่อยให้จิตไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้
 
ถ้าตั้งสติอยู่ที่เวทนา ก็ให้รู้ว่ามีเวทนาชนิดใด สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรือไม่สุขไม่ทุกขเวทนา พิจารณาด้วยปัญญาว่า เวทนาชนิดต่างๆไม่เที่ยง ไม่ต้องไปจัดการ ให้ปล่อยไปตามเรื่อง เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอยู่ตลอดเวลา เดี๋่ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวไม่สุขไม่ทุกข์ สลับกันไป ก็จะทำใจให้เป็นอุเบกขาได้ เป็นสมาธิขึ้นมา เช่นเดียวกับร่างกาย เจ็บไข้ได้ป่วย ก็รู้ว่าเป็นธรรมดา มียารักษาก็กินไป หายก็หาย ไม่หายก็ตาย เพราะความตายก็เป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย ถ้ามีปัญญาพิจารณาควบคู่ไปกับสติ ใจจะไม่ฟุ้งซ่าน ไม่วุ่นวาย จะปล่อยวางได้ จะเป็นอุเบกขา เช่นเดียวกับจิตก็คืออารมณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนไปอยู่เรื่อยๆ เดี๋ยวก็โลภ เดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวดีใจ เดี๋ยวเสียใจ เวลาคิดถึงเรื่องดีก็ดีอกดีใจ เรื่องไม่ดีก็เศร้าสร้อยหงอยเหงา เกิดความทุกข์ความหวาดกลัว พิจารณาด้วยปัญญาว่ามันเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ถ้าปล่อยให้คิดก็จะมีผลอย่างนี้ตามมา ถ้าเราไม่อยากจะให้มีผล ก็บริกรรมพุทโธๆไปอย่างเดียว จิตก็จะว่างจากอารมณ์ต่างๆ หรือกำหนดดูลมหายใจเข้าออกอย่างเดียว ไม่ไปคิดเรื่องอะไร หรือสวดมนต์ไป ไม่ไปคิดเรื่องอะไร จิตก็จะไม่มีอารมณ์ขุ่นมัว จะผ่องใส มีความสงบสุขใจเย็น
 
การตั้งสติอยู่ที่ธรรมก็คือการพิจารณาธรรมต่างๆ เช่นขันธ์ ๕ มรรค ๘ เป็นการตั้งสติอยู่ที่ธรรม อย่างตอนนี้กำลังฟังเทศน์ฟังธรรมฟังเรื่องมรรค ๘ ก็ถือว่ามีสติอยู่กับธรรม การฟังธรรมด้วยสติจึงเป็นการตั้งสติอยู่กับธรรม ให้จิตอยู่กับธรรม เพราะมีคุณมีประโยชน์ ไม่มีโทษ ส่งเสริมให้จิตใจพัฒนาสูงขึ้น ให้มีความสุขความอิ่มเอิบใจมากขึ้น ระลึกถึงธรรมะได้มากเพียงไรก็เหมือนกับได้เงินได้ทองมากเพียงนั้น ทำให้ใกล้ความหลุดพ้นเข้าไปเรื่อยๆ ใกล้กับปรมังสุขังเข้าไปเรื่อยๆ ถ้าตั้งสติอยู่ที่ธรรม พิจารณาธรรมอย่างเดียว นี่ก็คือการเจริญสติเรียกว่าสัมมาสติ ถ้าไปอยู่ที่อื่นก็จะไม่เป็นสัมมาสติ เช่นอยู่ที่ตลาดหุ้น อยู่ที่ตัวเลขในธนาคาร อย่างนี้ไม่ใช่สัมมาสติ เพราะจะสร้างความเครียดขึ้นมา พอดอกเบี้ยตก ใจก็วูบตาม พอดอกเบี้ยขึ้น ก็ดีอกดีใจ จะเอาเงินไปใช้อะไรดี ก็เป็นเรื่องของกิเลส ไม่ได้ทำให้จิตสงบ ทำให้จิตต้องทำงานมากขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ถ้าอยู่กับกายเวทนาจิตธรรมแล้ว จิตจะสงบตั้งมั่น ก็จะเป็นสมาธิขึ้นมา มีอยู่ ๒ ชนิด สัมมาสมาธิกับมิจฉาสมาธิ
 
๘. สัมมาสมาธิ คือการทำจิตให้สงบนิ่งรวมเป็นหนึ่ง เป็นเอกัคตารมณ์ เป็นอุเบกขา มีความสุขมีความเย็น มีความอิ่มมีความพอ ไม่ออกไปรับรู้เรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องในอดีตก็ดีเรื่องในอนาคตก็ดี เรื่องของใครก็ดี จิตบางดวงเวลาสงบแล้วจะไม่อยู่กับที่ จะถอยออกมาหน่อยแล้วก็ออกไปรู้เรื่องต่างๆ บางคนถนัดระลึกชาติ บางคนมีตาทิพย์ ก็จะไปเห็นพวกกายทิพย์ บางคนมีฤทธิ์มีเดช อ่านจิตอ่านใจของคนนั้นคนนี้ได้ ถ้าไปทางนั้นก็จะไปไม่ถึงมรรคผลนิพพาน เพราะเป็นคนละทางกัน สมาธิแบบนี้ยังอยู่ในขั้นโลกียะ ถึงแม้จะได้ฌาน ๘ ก็ยังถือว่าเป็นโลกียะ ไม่ทำให้จิตหลุดพ้นได้ พระอาจารย์ ๒ รูปของพระพุทธเจ้าก็ได้บรรลุฌานกัน ตายไปก็ไปแค่สวรรค์ชั้นพรหม แล้วก็เสื่อมลงมาเมื่อพลังของสมาธิหมดไป ก็จะกลับลงมาเกิดเป็นมนุษย์ มาสร้างบุญบารมีใหม่ แต่ถ้าได้เข้าสู่ขั้นอริยมรรคอริยผลแล้ว จะไม่เสื่อมลงมาสู่จิตปุถุชนอีกต่อไป ถ้าเป็นโสดาบันแล้ว ก็จะไม่ต่ำกว่าโสดาบัน มีแต่จะขึ้นอย่างเดียว ไม่มีลง ไม่เกิน ๗ ชาติก็จะได้บรรลุถึงพระนิพพาน พระสกิทาคามีก็เพียงชาติเดียว พระอนาคามีไม่ต้องกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก บรรลุในสวรรค์ชั้นพรหมโลก พระอรหันต์ก็หยุดการเวียนว่ายตายเกิดได้ในชาตินี้เลย
 
ต้องมีสัมมาสมาธิ คือจิตต้องสงบนิ่งเป็นหนึ่ง เป็นอุเบกขา เพราะในการเจริญปัญญาเจริญวิปัสสนา จิตต้องมีความมั่นคง มีความสงบ มีความเย็น มีความอิ่ม จึงจะสามารถเจริญวิปัสสนาพิจารณาไตรลักษณ์ได้ ถ้าไม่เช่นนั้นแล้วจิตจะหิวโหยกับอารมณ์ต่างๆ ถ้าได้สมาธิแบบที่ออกไปรู้ไปเห็นอะไรต่างๆ พอออกจากสมาธิจิตจะไม่มีกำลัง เหมือนกับคนที่นอนหลับไม่สนิท ตื่นขึ้นมาแล้วยังรู้สึกว่าเหนื่อย เหมือนกับไม่ได้หลับ ถ้าหลับสนิทไม่ฝันอะไรเลย พอตื่นขึ้นมาก็จะสดชื่นเบิกบานทั้งกายและใจ พร้อมที่จะไปทำภารกิจต่างๆ ถ้าเป็นภารกิจทางธรรม ก็ต้องให้จิตรวมลงเป็นหนึ่ง สงบนิ่ง อยู่ได้นานเท่าไหร่ก็ให้อยู่ไป อย่าไปดึงออกมา ขณะนั้นไม่ใช่เวลาที่จะเจริญปัญญา ต้องรอให้จิตถอนออกมาคิดปรุงก่อน แล้วค่อยเจริญปัญญา ไม่ปล่อยให้จิตไปคิดเรื่อยเปื่อยเหมือนเมื่อก่อน ไปเที่ยวที่ไหนดี ไปซื้อข้าวของอะไรดี ให้พุ่งไปที่ร่างกายเป็นเป้าแรก เพราะขันธ์ ๕ มีร่างกายเป็นด่านแรก เป็นส่วนหยาบที่สุดของขันธ์ ๕ เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณป็นส่วนละเอียด ถ้ายังไม่ผ่านร่างกายก็จะไม่สามารถพิจารณาส่วนละเอียดนี้ได้ ต้องพิจารณาร่างกายในลักษณะต่างๆก่อน อนิจจังไม่เที่ยง เกิดแก่เจ็บตาย อนัตตาไม่ใช่ตัวตน เป็นดินน้ำลมไฟ อสุภะไม่สวยไม่งาม มีโครงกระดูก มีอวัยวะต่างๆ ปฏิกูลสกปรก มีสิ่งสกปรกไหลออกมาอยู่ตลอดเวลา พิจารณาเพื่อคลายความกำหนัดยินดี คลายความยึดติดในร่างกาย ถ้าพิจารณาได้อย่างรอบคอบแล้ว ก็จะปล่อยวางร่างกายได้ จะแก่จะเจ็บจะตาย ก็จะรู้สึกเฉยๆ ไม่เห็นว่าสวยว่างาม น่ายินดีน่ารักใคร่แต่อย่างใด จิตก็จะหลุดพ้นจากความยึดติดกับร่างกายไป
 
จากนั้นก็ขยับขึ้นสู่นามธรรม พิจารณาเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ที่เกิดขึ้นพร้อมๆกัน เพราะเกี่ยวข้องกัน เกิดจากสังขารความคิดปรุง พอคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ก็เกิดเวทนาตามมา สุขทุกข์ไม่สุขไม่ทุกข์ เกิดจากความคิดปรุงเป็นหลัก ถ้าคิดเรื่องที่ไม่ดีก็เกิดความทุกข์ ถ้าคิดเรื่องที่ดีก็เกิดความสุข ถ้าคิดเรื่องที่ไม่ดีไม่ร้ายก็จะไม่สุขไม่ทุกข์ จะเฉยๆ ถ้าควบคุมสังขารความคิดปรุงได้ ก็จะควบคุมเวทนาที่เกิดจากความคิดปรุงได้ เวลาที่นั่งแล้วเจ็บปวดนี้ เกิดทุกขเวทนาขึ้นมา ๒ ส่วน ทุกข์กายนี้เป็นธรรมดาอยู่แล้ว แก้ไม่ได้ นั่งนานๆก็ต้องเจ็บเป็นธรรมดา แต่ที่เจ็บกว่านั้นอีกหลายเท่าก็คือทุกข์ใจ ที่เกิดจากความคิดปรุงของใจ ที่อยากจะให้ทุกข์กายหายไป อยากจะหนีจากทุกข์กายไป จิตจะคิดปรุงอย่างเดียวว่า ไปดีกว่า ลุกขึ้นดีกว่า เปลี่ยนอิริยาบถดีกว่า นั่งไม่ไหวแล้ว ทรมานเจ็บปวด ถ้าคิดอย่างนี้ความทุกข์ทางใจก็จะเพิ่มมากขึ้น แต่ถ้าไม่ปล่อยให้สังขารคิดปรุง เอามาบริกรรมพุทโธๆอย่างเดียว จะเจ็บที่ร่างกายขนาดไหนก็ปล่อยให้เจ็บไป ไม่ไปคิดถึงความเจ็บที่ร่างกาย บริกรรมพุทโธๆไปอย่างเดียว สังขารก็จะไม่มีโอกาสคิดถึงความเจ็บของร่างกาย ไม่มีโอกาสอยากให้ความเจ็บหายไป ตัณหาคือต้นเหตุของความทุกข์ใจก็จะไม่สามารถทำงานได้ ทุกข์ใจก็ไม่ปรากฏขึ้นมา ทุกข์กายก็จะรู้สึกไม่รุนแรง สามารถรับได้ เหมือนเวลาที่เพลิดเพลินกับการทำอะไร นั่งได้เป็นเวลายาวนาน ไม่รู้สึกเจ็บเลย เพราะมีสิ่งที่สนใจดึงใจไว้ ไม่ให้ไปคิดถึงความเจ็บของร่างกาย
 
เวลานั่งสมาธิพอเจ็บนิดเจ็บหน่อยขึ้นมาก็จะพาล จะหนี จะเลิก ถ้ามีอะไรให้จิตทำ เช่นบริกรรมพุทโธไปเรื่อยๆ จิตก็จะเพลินอยู่กับพุทโธ ก็จะไม่รู้สึกเจ็บ หรือสวดมนต์ไปเรื่อยๆ ก็จะไม่รู้สึกเจ็บปวด แต่ทำได้ในระดับหนึ่ง ถ้าความทุกข์ความเจ็บทางร่างกายมีมาก จนไม่สามารถบริกรรมพุทโธๆต่อไปได้ ก็ต้องใช้อุบายของปัญญา ต้องพิจารณาว่าเวทนาทางร่างกาย จะมีมากมีน้อยเพียงไร จิตรับรู้ได้ ไม่ต้องไปทำอะไรกับมันก็ได้ ปล่อยให้เป็นไปตามเรื่องของมัน ถ้าแยกใจออกจากกายออกจากเวทนาได้ ว่าเป็นคนละส่วนกัน ปล่อยให้เวทนาแสดงอาการของเขาไป ร่างกายก็ปล่อยให้นั่งไป ใจเป็นผู้รับรู้ก็รับรู้ไป ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ของตน ใจก็รับรู้เวทนา รับรู้เรื่องของกาย เวทนาก็แสดงไป เขาไม่รู้ว่าเขาเป็นเวทนา กายก็ไม่รู้ว่าเขาเป็นร่างกาย เป็นธาตุ ๔ เหมือนเก้าอี้เหมือนสิ่งของต่างๆ เขาก็ไม่รู้ว่าเขาเป็นอะไร ตั้งเขาไว้ตรงไหน ไม่ไปขยับเขา ก็ไม่บ่นไม่ว่าอะไร ร่างกายก็เหมือนกัน มันไม่รู้อะไรทั้งสิ้น ผู้ที่รู้คือใจ แล้วก็มีโมหะความหลงเข้ามาแยกแยะ ว่าดีว่าชั่ว น่ายินดีน่ารังเกียจ ถ้า น่ายินดีก็อยากให้อยู่ไปนานๆ ถ้าน่ารังเกียจก็อยากจะหนีให้พ้น อยากให้หายไปเร็วๆ ถ้าไม่หายก็ทุกข์ทรมานใจ ถ้าระงับความอยากได้ ยอมรับกับสภาพความจริง ก็จะไม่ทุกข์  หรือจะใช้วิธีย้อนศร เคยเกลียดก็หันมารัก มาชอบทุกขเวทนา ชอบความเจ็บปวด เหมือนพวกซาดิสต์ ชอบความเจ็บปวด พอชอบแล้วก็ไม่เจ็บ เอาของแหลมทิ่มเข้าไปในลิ้น ทิ่มเข้าไปในแก้ม ก็ไม่รู้สึกเจ็บ เหมือนกับเด็กถูกฉีดยา ถ้าพร้อมจะฉีดก็จะไม่ร้องไห้ ถ้าไม่อยากฉีด ก็จะร้องไห้และดิ้นจนฉีดไม่ได้ เพราะจิตปฏิเสธ ไม่ยอมรับ ก็จะทุกข์ทรมานใจมาก
 
นี่คือการต่อสู้กับทุกขเวทนาด้วยปัญญา ต้องยอมรับว่าหนีจากเวทนาทั้ง ๓ ไปไม่ได้ จึงอย่าเลือกเอาแต่สุขเวทนาอย่างเดียว ปัญหาของโลกเราทุกวันนี้ ก็เพราะจะเลือกเอาแต่สุขเวทนา วิ่งหนีทุกขเวทนากัน จึงต้องสร้างสิ่งต่างๆมาดับทุกขเวทนากัน สร้างเครื่องปั่นไฟฟ้า พัดลม เครื่องปรับอากาศ เพื่อดับทุกขเวทนาทางกาย ถ้าปฏิบัติอย่างพระ ก็อยู่ตามมีตามเกิด ทุกข์ได้เดี๋ยวก็หายได้ ร้อนได้เดี๋ยวก็เย็นได้ สลับผลัดเปลี่ยนไปตามเหตุตามปัจจัย เป็นอยู่อย่างนี้มาตลอด ถ้าใจสบายแล้วความทุกข์ทางกายจะไม่หนักหนาสาหัส ถ้าใจไม่สบาย ถึงแม้จะอยู่ในห้องแอร์ ก็จะไปทุกข์กับเรื่องอื่นแทน ไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ อยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ เมื่อไม่ได้ดังใจก็ทุกข์ ทั้งๆที่อยู่ในห้องแอร์ที่แสนจะเย็นแสนจะสบาย แต่ใจกลับรุ่มร้อน เพราะแก้ผิดที่ ไปแก้ที่กาย ความร้อนที่แสนสาหัสไม่ได้อยู่ที่กาย แต่อยู่ที่ใจ พระพุทธเจ้าทรงสอนให้แก้ที่ใจ ดับความร้อนที่ใจได้โดยสิ้นเชิง ด้วยปัญญา ด้วยสัมมาสมาธิ ทำใจให้นิ่ง ไม่ไปรับรู้เรื่องราวต่างๆ ถ้าออกไปก็ต้องดึงกลับเข้ามา ด้วยพุทโธๆ ด้วยการดูลมหายใจ ใจก็จะกลับเข้ามา จะมีความหนักแน่นเหมือนกับหิน พิจารณาอะไรก็จะเชื่อฟัง จะเป็นอุเบกขา จะปล่อยวางได้ ทุกขเวทนาจะหนักหนาขนาดไหน ก็จะปล่อยวางได้ ถ้าไม่มีความอยากให้หายแล้ว ความทุกข์ที่รุนแรงในจิตใจจะไม่เกิดขึ้น ความทุกข์ทางกายเมื่อเปรียบกับทุกข์ทางใจแล้ว เป็นเหมือนฟ้ากับดิน นี่คือมรรค ๘  สัมมาทิฐิความเห็นชอบ สัมมาสังกัปโปความดำริชอบ สัมมากัมมันโตการกระทำชอบ สัมมาวาจาการพูดชอบ สัมมาอาชีโวอาชีพชอบ สัมมาวายาโมความเพียรชอบ สัมมาสติระลึกชอบ และสัมมาสมาธิความสงบนิ่ง เป็นธรรมที่จะปราบกิเลส ๓ ตัวนี้ได้ คือโลภโกรธหลง ที่เป็นเจ้านายของสัตว์โลกทั้งหลาย อย่างอื่นปราบไม่ได้ ก็ขอให้พยายามเดินไปตามทางนี้ เพราะจะพาไปสู่การหลุดพ้น สิ้นสุดของการเวียนว่ายตายเกิด สิ้นสุดของความทุกข์ทั้งปวง



 
......................................................



ขอขอบคุณที่มาจาก : 
 เว็บ พระธรรมเทศนา
 
ภาพประกอบจาก : วัดพระธาตุช่อแฮ



Create Date : 10 กรกฎาคม 2566
Last Update : 10 กรกฎาคม 2566 8:40:11 น. 18 comments
Counter : 751 Pageviews.

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณฟ้าใสวันใหม่, คุณหอมกร, คุณLittleMissLuna, คุณปรศุราม, คุณโอน่าจอมซ่าส์, คุณนายแว่นขยันเที่ยว, คุณทนายอ้วน, คุณเนินน้ำ, คุณThe Kop Civil, คุณสองแผ่นดิน, คุณhaiku, คุณtoor36, คุณSweet_pills, คุณeternalyrs, คุณอาจารย์สุวิมล, คุณกะว่าก๋า, คุณแมวเซาผู้น่าสงสาร, คุณtuk-tuk@korat, คุณเริงฤดีนะ, คุณดอยสะเก็ด, คุณkae+aoe, คุณEmmy Journey พากิน พาเที่ยว, คุณโฮมสเตย์ริมน้ำ, คุณไวน์กับสายน้ำ, คุณเจ้าหญิงไอดิน, คุณร่มไม้เย็น, คุณJohnV, คุณปัญญา Dh, คุณNENE77, คุณมาช้ายังดีกว่าไม่มา


 
อนุโมทนาบุญวันพระจ้า



โดย: หอมกร วันที่: 10 กรกฎาคม 2566 เวลา:9:20:31 น.  

 
ขอบคุณธรรมะดี ๆ เช่นเคยค่ะ ขอบคุณสำหรับกำลังใจและการโหวตด้วยนะคะ


โดย: LittleMissLuna วันที่: 10 กรกฎาคม 2566 เวลา:10:31:59 น.  

 
สวัสดีวันศีลครับ


โดย: ทนายอ้วน วันที่: 10 กรกฎาคม 2566 เวลา:13:44:12 น.  

 
ขอบคุณที่แบ่งปันนะคะ
พระพุทธรูปงดงามมากค่ะ


โดย: เนินน้ำ วันที่: 10 กรกฎาคม 2566 เวลา:13:53:11 น.  

 


โดย: The Kop Civil วันที่: 10 กรกฎาคม 2566 เวลา:14:48:04 น.  

 
ผมได้ยินในชื่อของ สัมมาอาชีวะ มากกว่า

ปราบกิเลส ยากเหมือนกันนะ อาจจะปราบไม่ได้แต่ถ้ารู้ทันมันก็ช่วยได้มาก


โดย: คุณต่อ (toor36 ) วันที่: 10 กรกฎาคม 2566 เวลา:22:37:23 น.  

 
ธรรมของพระพุทธเจ้าเท่านั้นที่ปราบกิเลส
ความโลภ ความโกรธ ความหลงได้

สาธุค่ะ





โดย: Sweet_pills วันที่: 10 กรกฎาคม 2566 เวลา:23:58:39 น.  

 
สวัสดี จ้ะ น้องเอ็ม

มาอ่านธรรมะ ข้อคิด จากบล็อกของเอ็ม จ้ะ
อกุศลกรรมบถ ที่พระพุทธองค์ทรงสอนให้ดับนั้น
คือ ความโลภ โกรธ หลง ซึ่งเป็นตัวกิเลส ที่ก่อ
ให้เกิดความทุกข์อย่างใหญ่หลวงในชีวิต ถ้าเรา
ปฏิบัติตามคำสอน ตามธรรมะ ของพระพุทธองค์
ได้ เราก็จะรอดพ้นจากความทุกข์ได้อย่าง
แน่นอน จ้ะ
โหวดหมวด ข้อคิดและธรรมะ


โดย: อาจารย์สุวิมล วันที่: 11 กรกฎาคม 2566 เวลา:12:26:24 น.  

 
กิเลส
ทำให้เรารู้ธรรมได้จริงๆครับ



โดย: กะว่าก๋า วันที่: 11 กรกฎาคม 2566 เวลา:13:25:58 น.  

 
แยกสางออกมาแล้วมันเยอะมากจริง ๆ ค่ะ
พระเพื่อนสอนอย่างเดียวให้ดูลมหายใจ ก็ค่อยยังชั่วหน่อย


โดย: tuk-tuk@korat วันที่: 11 กรกฎาคม 2566 เวลา:15:36:41 น.  

 
ธรรมะสวัสดี


โดย: เริงฤดีนะ วันที่: 11 กรกฎาคม 2566 เวลา:17:33:30 น.  

 

อรุณสวัสดิ์ครับ



โดย: กะว่าก๋า วันที่: 12 กรกฎาคม 2566 เวลา:5:24:13 น.  

 
กิเลศแค่ 3 ตัว.. แต่พระพุทธองค์แยกแยะออก
เพื่อหาทางดับ.. สำหรับคนอื่นดีเลยครับ สาธุ ๆ ๆ
ที่นำมาเผยแพร่


โดย: ไวน์กับสายน้ำ วันที่: 12 กรกฎาคม 2566 เวลา:13:57:16 น.  

 
สาธุค่ะ


โดย: เจ้าหญิงไอดิน วันที่: 12 กรกฎาคม 2566 เวลา:18:52:10 น.  

 
สวัสดีครับ


โดย: ปัญญา Dh วันที่: 13 กรกฎาคม 2566 เวลา:15:14:22 น.  

 


โดย: NENE77 วันที่: 13 กรกฎาคม 2566 เวลา:16:02:33 น.  

 


ขอบคุณคุณพีสำหรับกำลังใจค่ะ


โดย: Sweet_pills วันที่: 14 กรกฎาคม 2566 เวลา:0:09:37 น.  

 
สวัสดียามเช้าครับ

ขอบคุณสำหรับกำลังใจนะครับ


โดย: มาช้ายังดีกว่าไม่มา วันที่: 14 กรกฎาคม 2566 เวลา:9:57:09 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

**mp5**
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 88 คน [?]




สวัสดีครับ

ขอส่งความสุขให้กับทุกคน




New Comments
Friends' blogs
[Add **mp5**'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.