Group Blog
 
<<
เมษายน 2566
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
13 เมษายน 2566
 
All Blogs
 
สมถะ วิปัสสนา

               

          เวลาฟังธรรมให้ตั้งจิตอยู่เฉพาะหน้า ไม่ต้องส่งจิตไปหาผู้แสดง ให้ตั้งรับเหมือนกับผู้รักษาประตู ให้อยู่แถวหน้าประตูรอรับลูกฟุตบอล อย่าวิ่งออกไปไล่จับลูกฟุตบอล ไม่เช่นนั้นจะถูกยิงเสียประตูได้ง่าย เพราะไม่ได้เฝ้าอยู่ตรงหน้าประตู ฉันใดเวลาฟังธรรมก็ต้องตั้งจิตไว้ที่ใจ เพราะเป็นจุดที่รับความรู้ต่างๆ เสียงที่มาสัมผัสกับหูก็ต้องเข้ามาที่ใจ เวลาฟังธรรมก็ฟังได้ ๒ ลักษณะคือ ๑. ฟังให้เกิดปัญญา ๒. ฟังให้เกิดความสงบ การฟังเพื่อให้เกิดความสงบก็คือให้จิตเกาะติดอยู่กับเสียงธรรม เกาะติดอยู่กับกระแสธรรมที่ผ่านเข้ามาทางหู จะเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้างก็ฟังไป ให้เกาะติดอยู่กับเสียง เพื่อไม่ให้จิตไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆ เหมือนกับการบริกรรมพุทโธๆ แต่การฟังธรรมจะสบายกว่า ไม่ต้องบริกรรมให้เหนื่อย เพียงอาศัยเสียงธรรมะเป็นตัวผูกใจไว้ อย่าปล่อยให้ใจไปคิดเรื่องอื่นก็แล้วกัน ฟังไปเรื่อยๆ ถ้าเกาะติดอยู่กับกระแสธรรมได้อย่างต่อเนื่อง จิตก็จะค่อยๆสงบตัวลงจนเป็นสมถะเป็นสมาธิไป ถ้าฟังให้เกิดปัญญา ก็ต้องพิจารณาตามธรรมที่แสดงด้วยเหตุด้วยผล ว่าเป็นอย่างนี้ เพราะอย่างนี้ ก็พิจารณาตามไป พอเข้าใจก็จะร้องอ๋อ เข้าใจแล้วรู้แล้ว ว่าจะต้องตัดอย่างไรปล่อยอย่างไร นักปฏิบัติส่วนใหญ่จะไม่ค่อยเข้าใจเรื่องปัญญากัน คิดว่าสมถะกับวิปัสสนาเป็นเรื่องเดียวกัน คิดว่าให้กำหนดรู้เฉยๆ ซึ่งเป็นการเจริญสติเท่านั้นเอง คือให้มีสติสัมปชัญญะรู้อยู่กับสิ่งต่างๆที่มาสัมผัสผ่านทางตาหูจมูกลิ้นกายเข้ามาสู่ใจ ให้มีสติรับรู้อยู่ในอิริยาบถ ๔ เดินก็ดี ยืนก็ดี นั่งก็ดี นอนก็ดี ทำอะไรก็ดี ให้มีสติตามรู้อยู่เสมอๆ แต่นี้เป็นเพียงการสร้างสติเรียกว่าสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการทำจิตให้สงบ ให้เป็นสมถะ เป็นสมาธิ เป็นบาทเป็นฐานของการเจริญปัญญา เพื่อให้รู้แจ้งเห็นจริง ที่เรียกว่าวิปัสสนา
 
การภาวนาจึงแยกออกเป็น ๒ ภาค ๒ เวลา คือ ๑. สมถะ  ๒. วิปัสสนา เวลาเจริญสมถภาวนาเพื่อความสงบก็ไม่ต้องพิจารณา ภาวนาเพื่อให้จิตนิ่งไม่ให้คิดเรื่องอะไรทั้งสิ้น นอกจากมีนิสัยชอบคิด หยุดคิดไม่ได้ ก็ต้องบังคับให้คิดไปทางปัญญา เพื่อเป็นแนวแห่งปัญญาอบรมสมาธิ คิดด้วยเหตุด้วยผลเพื่อกล่อมจิตใจให้เข้าสู่ความสงบ ให้เป็นสมาธิ แต่ถ้าไม่ชอบคิดก็บังคับจิตให้อยู่กับพุทโธๆ  หรืออยู่กับลมหายใจเข้าออก ก็กำหนดรู้ไปจนจิตสงบตัวลงรวมเป็นเอกัคคตารมณ์ ตั้งมั่นอยู่ในความสงบ ตอนนั้นการบริกรรมหรือการกำหนดดูลมหายใจก็หยุดไปโดยปริยาย เพราะได้ถึงจุดหมายปลายทางที่ต้องการแล้ว การดูลมหายใจเข้าออกหรือการบริกรรมเป็นเพียงทางเดินเท่านั้น เป็นตัวพาไปสู่จุดหมายปลายทาง เหมือนกับรถยนต์ที่นั่งมาเพื่อให้มาถึงสถานที่นี้ พอมาถึงก็ลงจากรถแล้วก็ขึ้นมานั่งอยู่ที่ศาลานี้ รถยนต์ก็จอดทิ้งไว้   ฉันใดการภาวนาเมื่อจิตรวมลงเข้าสู่ความสงบจนนิ่งเฉยแล้ว การบริกรรมพุทโธๆ ก็จะหยุดไปโดยปริยาย การกำหนดดูลมหายใจเข้าออกก็จะหยุดไปโดยปริยาย อย่างนี้เรียกว่าเป็นการบำเพ็ญเพื่อความสงบ ขณะที่จิตรวมอยู่นั้น จะนานหรือไม่นาน ก็ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ อย่าไปดึงอย่าไปถอนจิตออกมา เหมือนกับการทอดสมอเรือ พอสมอติดดินแล้ว เราก็ไม่ถอนมันขึ้นมา ถ้าถอนเรือก็จะไม่จอดนิ่ง
 
จิตที่รวมอยู่ในความสงบก็เช่นเดียวกัน ควรปล่อยให้นิ่งจนกว่าจะถอนออกมาเอง เพราะนี่คือเป้าหมายของการทำสมถภาวนา ทำเพื่อให้จิตนิ่งสงบ จะสงบนิ่งได้นานเท่าไหร่ยิ่งดี เพราะจะเสริมสร้างกำลังให้กับจิตไว้ต่อสู้กับกิเลสตัณหาต่างๆ ยิ่งสงบนิ่งได้นานเท่าไหร่ ก็จะมีกำลังต่อสู้กับกิเลสตัณหาได้มากขึ้นตามลำดับ ในเบื้องต้นจึงต้องสร้างฐานของสมาธิคือความสงบให้มีให้มาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องทำแต่สมถภาวนาเพียงอย่างเดียว ก็ยังสามารถเจริญวิปัสสนาไปได้ด้วย สลับกันไป เมื่อออกจากสมาธิความสงบแล้ว ถ้าปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ไม่มีภารกิจการงานอย่างอื่นหรือมีก็ตาม ก็ควรเจริญปัญญาต่อ ด้วยการพิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตาในสังขารร่างกาย เช่นเป็นพระก็ต้องออกไปบิณฑบาต ก็สามารถเจริญธรรมขั้นวิปัสสนาได้ ด้วยการพิจารณาร่างกายในขณะที่ทำกิจกรรมต่างๆ พิจารณาดูอาการ ๓๒ ของร่างกายไปก็ได้ พิจารณาดูความแก่ความเจ็บความตายว่าเป็นเรื่องธรรมดา ก็พิจารณาไปได้เรื่อยๆอย่างนี้ถึงจะเรียกว่าวิปัสสนา ถ้าตามรู้นามรูปรู้ว่าเกิดขึ้นแล้วก็ดับ แต่ไม่ควบคุม ไม่ดับมัน ก็จะไม่ทันการณ์  เช่นเวลาเกิดกิเลสขึ้นมา แล้วดูเฉยๆ รอให้มันดับเอง แต่มันไม่ดับ เช่นเวลาโกรธก็จะโกรธไปเรื่อยๆ เกลียดก็เกลียดไปเรื่อยๆจนวันตาย ถ้าจะให้มันดับก็ต้องใช้ปัญญาใช้วิปัสสนาเข้าไปดับมัน
 
เช่นใช้ความเมตตา เวลาโกรธก็ต้องเห็นว่าความโกรธนี่เป็นเหมือนไฟเผาจิตใจ คนที่ถูกโกรธไม่รู้เรื่องหรอก เขาสบาย แต่คนที่โกรธจะตายเอา เพราะความรุ่มร้อนของจิตใจ กินไม่ได้นอนไม่หลับ อาฆาตพยาบาท ก็เพราะความโกรธกำลังเผาผลาญใจ กำลังสร้างความทุกข์ให้กับใจ จึงต้องพิจารณาให้เห็นโทษของความโกรธ พอเห็นปั๊บก็จะดับความโกรธได้ เอ๊ะเรากำลังบ้า ไปโกรธเขาทำไม โกรธแล้วเหมือนเอาฆ้อนมาทุบศีรษะเรา ไม่เกิดประโยชน์อะไร นี้คือวิปัสสนา ต้องพิจารณาดับมันให้ได้ ไม่ใช่รอให้มันดับเอง พิจารณาดูนามรูปว่า มันเกิดแล้วเดี๋ยวมันดับ เกิดแล้วเดี๋ยวมันดับ แล้วถ้าเกิดมันไม่ดับจะทำอย่างไร บางสิ่งบางอย่างเราดับมันได้ถ้ารู้เหตุว่าเกิดจากอะไร เช่นความทุกข์ใจนี่มีเหตุทำให้มันเกิดขึ้นมา เหตุของความทุกข์ใจก็คือตัณหา ที่ท่านแสดงไว้ในอริยสัจสี่ มี กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ตัณหาทั้ง ๓ นี้เกิดจากอะไร ก็เกิดจากความหลง เห็นอะไรแล้วก็อยากได้ แต่ไม่รู้ว่าสิ่งที่อยากได้นั้นเป็นความทุกข์ คิดว่าเป็นความสุข เหมือนกับคิดว่างูพิษเป็นปลาไหล เพราะมีรูปร่างเหมือนกัน ปลาไหลกับงูพิษ ถ้าดูไม่เป็นก็จะคิดว่างูพิษเป็นปลาไหลไป ก็อยากจะจับมากิน โดยไม่รู้จักวิธีจับที่ถูกต้อง ก็จะถูกงูกัดตายได้ ฉันใดความทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจ ที่เกิดจากตัณหาทั้ง ๓ ที่มีโมหะความหลงมีอวิชชาความไม่รู้เป็นผู้ผลักดัน ทำให้ไม่เห็นว่าสิ่งที่อยากได้อยากสัมผัสนั้นเป็นโทษ ก็เป็นเช่นเดียวกัน
 
เหมือนกับยาเสพติด ถ้าไม่รู้ก็คิดว่าเป็นสิ่งที่วิเศษ เสพแล้วทำให้ขึ้นสวรรค์ แต่ไม่คิดถึงเวลาที่ไม่ได้เสพ ว่าจะทุกข์ทรมานขนาดไหน จึงต้องพิจารณาสอนใจให้รู้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ล้วนเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตาทั้งนั้น สัพเพสังขาราอนิจจา สัพเพสังขาราทุกขา สัพเพธัมมาอนัตตา นี่คือวิปัสสนา ต้องเห็นอนิจจังทุกขังอนัตตาในสิ่งต่างๆ ที่อยากได้อยากสัมผัสอยากมีไว้เป็นสมบัติ ถ้าดูเฉยๆรู้เฉยๆก็จะไม่สามารถดับความอยากได้ เมื่อดับความอยากไม่ได้ ก็ดับความทุกข์ไม่ได้ จึงต้องสอนใจให้เกิดปัญญา ให้เห็นว่าทุกสิ่งในโลกนี้ที่อยากจะได้กัน อยากจะมีกัน อยากจะเสพ อยากจะสัมผัสกันนั้น ล้วนเป็นทุกข์ทั้งนั้น สัพเพสังขาราทุกขา เพราะเป็นอนิจจา เป็นของไม่เที่ยง เวลาได้อะไรมาใหม่ๆก็ดีอกดีใจ แล้วอีกสักพักหนึ่งก็เบื่อ ของยังไม่ทันเปลี่ยนไปเลย แต่อารมณ์เราเปลี่ยนไปก่อนแล้ว ถ้าเราไม่เปลี่ยนต่อไปมันก็เปลี่ยน จากของใหม่เป็นของเก่าไป ก็ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย ความสุขก็หายไป ความทุกข์ก็มาแทนที่ นี่คือการเจริญวิปัสสนา เพื่อให้เข้าใจ ให้เห็นไตรลักษณ์  เห็นอนิจจังทุกขังอนัตตาในสภาวธรรมทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นร่างกายของเราหรือร่างกายของคนอื่น หรือนามขันธ์ที่อยู่ในจิต ได้แก่เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ก็เป็นไตรลักษณ์เหมือนกัน
 
เวทนาก็เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เดี๋ยวสุขเดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวไม่สุขไม่ทุกข์ วนไปเวียนมา เหมือนกับฝนตกแดดออกที่สลับกันไป ถ้าเข้าใจแล้วก็จะไม่ยึดไม่ติด จะได้ไม่เดือดร้อน แต่เราถูกความหลงครอบงำจึงไม่รู้กัน จึงยึดติดกับสุขเวทนา ส่วนทุกขเวทนากับไม่สุขไม่ทุกขเวทนาจะไม่อยากเจอเลย ทุกขเวทนาเป็นตัวที่เราเกลียดมากที่สุด รองลงมาก็คือไม่สุขไม่ทุกขเวทนา คือเฉยๆ ที่ทำให้เบื่อทำให้เซ็ง เพราะอยากจะให้สุขตลอดเวลา จึงอยากสัมผัสอยากได้ยินได้ฟังสิ่งที่ทำให้เกิดสุขเวทนา แต่เราไม่สามารถบังคับสิ่งต่างๆในโลกนี้ ที่หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาได้ เราจึงต้องสัมผัสกับเวทนาทั้ง ๓ นี้อยู่เสมอ สัมผัสทุกข์บ้าง สัมผัสสุขบ้าง สัมผัสไม่สุขไม่ทุกข์บ้าง ปัญหาของเราจึงอยู่ตรงที่ต้องทำใจให้รับกับเวทนาทั้ง ๓ นี้ให้ได้ คืออย่าไปจงเกลียดจงชังทุกขเวทนา อย่าไปจงเกลียดจงชังไม่ทุกข์ไม่สุขเวทนา อย่าไปรักษาอย่าไปยินดีแต่กับสุขเวทนา ต้องทำใจให้เป็นอุเบกขา ด้วยการเจริญสมาธิทำจิตให้สงบให้เป็นอุเบกขา เพราะหลังจากนั้นแล้วจะสัมผัสกับอะไรก็ได้ทั้งนั้น ร้อนก็ได้เย็นก็ได้ สุขก็ได้ทุกข์ก็ได้ ไม่เดือดร้อนอะไร เพราะตัวที่สร้างความอยาก สร้างความรัก สร้างความชังนี้ ถูกกำลังของสมาธิกดไว้ เพราะเวลาจิตสงบกิเลสก็ต้องสงบตามไปด้วย จะออกมาเพ่นพ่านแสดงอาการต่างๆไม่ได้
 
ถ้าสามารถเจริญสมถภาวนาได้ตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง จนจิตสงบนิ่งอยู่ตลอดเวลาในอิริยาบถทั้ง ๔ แล้ว กิเลสตัณหาต่างๆจะไม่ออกมาเพ่นพ่านเหมือนตอนที่จิตยังไม่สงบ จะออกมาบ้างก็เป็นช่วงๆ ในเวลาที่ได้สัมผัสกับบางสิ่งบางอย่างบางเหตุการณ์ กิเลสตัณหาก็จะผุดขึ้นมาเหมือนภูเขาไฟระเบิด จะแสดงอาการให้เห็นอย่างชัดเจน เช่นเกิดความไม่พอใจก็จะเกิดความร้อนใจขึ้นมาทันที ตอนนั้นเป็นเวลาที่ต้องใช้วิปัสสนาเข้าไปดับ พอโกรธขึ้นมาปั๊บก็ต้องรีบดับทันที ต้องรู้ว่าจะต้องทำอย่างไร ถ้าไม่รู้ก็จะโกรธไปเรื่อยๆจนกว่าจะหมดแรงไปเอง จะทดสอบการปฏิบัติกันก็ทดสอบกันตรงนี้ เวลาที่กิเลสเกิดขึ้นมา ว่าจะดับมันได้หรือไม่ จะดับได้ช้าหรือเร็ว เพราะกิเลสไม่ได้ตายด้วยอำนาจของสมาธิ เพียงแต่ถูกกดไว้ ไม่ให้ออกมาเพ่นพ่านเหมือนในขณะที่ไม่มีสมาธิ คนที่ไม่มีสมาธิจะแสดงความโลภโมโทสันออกมามากกว่าคนที่มีสมาธิ คนที่มีสมาธิจะเป็นคนสมถะสงบเสงี่ยมเจียมตัว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสิ้นกิเลสแล้ว เพียงแต่กิเลสไม่ออกมาเพ่นพ่านเหมือนเมื่อก่อนนี้ จะออกมาก็ต่อเมื่อมีอะไรไปกระตุ้น เช่นไปเห็นอะไรที่รักจริงๆอยากได้จริงๆ ถึงจะโผล่ออกมา หรือโกรธจริงๆ เกลียดจริงๆ ถึงจะโผล่ออกมา เวลาโผล่ออกมาก็เหมือนกับบอกให้รู้ว่าฉันยังไม่ตายนะ ฉันยังอยู่ บางทีผู้ปฏิบัติเองก็ไม่รู้ คิดว่าสิ้นกิเลสแล้ว ถึงต้องไปหาคนเก่งๆอย่างหลวงตาคอยช่วยกระทุ้งให้ กิเลสมีเท่าไหร่เดี๋ยวก็ออกมาหมด
 
เพราะท่านรู้วิธีกระทุ้งกิเลส ท่านมีเทคนิคมีอุบายมีลีลาต่างๆเยอะแยะไปหมด มีทั้งลูกล่อลูกไล่ การไปอยู่กับครูบาอาจารย์ที่ผ่านกิเลสมาอย่างโชกโชนแล้วจะมีประโยชน์มาก เพราะท่านจะช่วยทดสอบจิตใจของเรา ให้รู้ว่าสิ้นกิเลสหรือยัง หรือมีแต่ตัวโลภโกรธหลงชนิดหยาบๆที่ได้ถูกทำลายลงไปแล้ว แต่ตัวขนาดกลางและขนาดละเอียดยังหลบซ่อนอยู่ เวลาเจริญปัญญาใหม่ๆจะพบกับกิเลสได้อย่างง่ายดายเพราะมีเต็มไปหมด ไม่ต้องไปตามหา เพราะกิเลสเพ่นพ่านอยู่ตลอดเวลา แต่พอพวกกิเลสส่วนหยาบถูกทำลายไปหมดแล้ว ขั้นต่อไปก็ต้องขุดคุ้ยหากิเลส เพราะจะหลบซ่อน ไม่ออกมาเพ่นพ่านเหมือนกิเลสหยาบๆทั้งหลาย การปฏิบัติก็จะเป็นขั้นๆไป จากรูปขันธ์ก็ขยับเข้าไปสู่นามขันธ์ ในเบื้องต้นก็พิจารณารูปขันธ์ก่อน พิจาณาร่างกายให้เข้าอกเข้าใจอย่างถ่องแท้เลยว่าเป็นอย่างไร ก็มีอยู่สองสามลักษณะด้วยกันคือ ๑. อนิจจัง เห็นว่าร่างกายต้องแก่เจ็บตาย ทั้งของเราและของผู้อื่น ต้องมีการพลัดพลาดจากกันเป็นธรรมดา ต้องพิจารณาจนปล่อยวางร่างกายได้ จะแก่ก็ไม่เดือดร้อน จะเจ็บไข้ได้ป่วยก็ไม่เดือดร้อน จะตายก็ไม่เดือดร้อน จะพลัดพรากจากกันก็ไม่เดือดร้อนอะไร จะรู้สึกเฉยๆ เป็นเรื่องธรรมดา ๒. พิจารณาดูความเป็นธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ ให้เห็นว่าร่างกายประกอบขึ้นมาจากดินน้ำลมไฟ ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน มีการไหลเข้าออกของดินน้ำลมไฟอย่างต่อเนื่อง
 
ได้แก่อาหารชนิดต่างๆ อาหารก็มาจากดินน้ำลมไฟ ข้าวก็ต้องออกมาจากดิน ผักก็ต้องออกมาจากดิน สัตว์ก็ต้องกินผักกินหญ้า ก็มาจากดินน้ำลมไฟ เมื่อเข้าสู่ร่างกายก็แปลงจากผักจากข้าวจากเนื้อสัตว์ มาเป็นผม เป็นขน เป็นเล็บ เป็นฟัน เป็นหนัง เป็นเอ็น เป็นกระดูก เป็นอวัยวะต่างๆ เมื่อร่างกายแตกสลายดับไป ก็กลับคืนสู่ดินน้ำลมไฟ ไม่ได้ไปไหน ต้องพิจารณาอยู่เรื่อยๆ พิจารณาจนช่ำชอง คิดถึงปั๊บก็รู้เลย จนปล่อยวางได้เหมือนกับถือก้อนดินไว้ก้อนหนึ่ง จะเสียดายทำไม จะคิดว่าเป็นของเราได้อย่างไร เมื่อรู้ว่าเป็นดิน ถ้าเอามาใช้ประโยชน์ได้ก็ใช้ไป  เอามาปั้นเป็นลูกเล็กๆไว้ใช้กับหนังสติ๊ก ไว้ยิงสัตว์ที่มารบกวน ก็ใช้ไป แต่ไม่ยึด ไม่ติด ไม่คิดว่าเป็นเรา เป็นของเรา ร่างกายก็เป็นเหมือนก้อนดินก้อนหนึ่ง เมื่อถึงเวลาที่จะกลับคืนสู่สภาพเดิม ก็ต้องกลับคืนไป นี่คือการพิจารณาให้เกิดปัญญาในส่วนของร่างกาย เพื่อกำจัดกิเลสชนิดต่างๆให้หมดสิ้นไป ๓. การพิจารณาอสุภะความไม่สวยงาม เพราะถ้าไม่พิจารณา ก็จะเห็นแต่ความสวยงาม ทำให้เกิดราคะตัณหาความกำหนัดยินดีในกาม ก็ต้องพิจารณาจนเห็นว่าไม่สวยไม่งาม เพราะถูกซ่อนอยู่ใต้ผิวหนัง ถ้ามีตาเอ็กซเรย์ก็สามารถมองทะลุเข้าไปได้ ก็จะเห็นอาการต่างๆ เช่นโครงกระดูก ตับไตไส้พุงต่างๆ เป็นส่วนที่ไม่สวยงามเลย เหมือนกับตับไตไส้พุงของหมูของวัวที่ขายในตลาด
 
แต่ถูกหุ้มห่อไว้ด้วยหนัง จึงมองไม่เห็นความไม่สวยไม่งามนี้ จึงต้องใช้ปัญญาพิจารณาดูอยู่เรื่อยๆ จนติดตาติดใจ หรือจะพิจารณาดูตอนที่ตายไปแล้วว่าเป็นอย่างไรก็ได้ เวลาขึ้นอืดเป็นอย่างไร เช่นเวลาไปงานศพควรไปปลงอนิจจังกัน คือความตาย ความไม่เที่ยงแท้แน่นอน ควรพิจารณาอสุภะกัน ว่าร่างกายนี้ไม่สวยไม่งามเลย ต้องพิจารณาจนกำจัดราคะตัณหาความกำหนัดยินดีให้หมดไป เมื่อหมดไปแล้วการพิจารณาร่างกายก็ไม่ต้องทำอีกต่อไป เพราะไม่มีปัญหาแล้ว กลัวตายก็ไม่กลัวแล้ว กลัวแก่ก็ไม่กลัวแล้ว กลัวเจ็บไข้ได้ป่วยก็ไม่กลัวแล้ว ไม่ยึดไม่ติดแล้ว รู้แล้วว่าเป็นเีพียงดินน้ำลมไฟเท่านั้นเอง จะไปหลงไปชอบ ว่าสวยว่างามได้อย่างไร การพิจารณาร่างกายก็จบลงโดยปริยาย เพราะไม่เป็นปัญหากับจิตใจอีกต่อไป ต่อจากนั้นก็มีงานที่ละเอียดกว่านั้นอีกที่ต้องทำต่อ คือการพิจารณานามขันธ์ที่อยู่ในจิต ได้แก่เวทนา  สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่จิตยังหลงยึดติดอยู่ ยังติดอยู่กับสังขารความคิดปรุงแต่ง ยังชอบคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ คิดแล้วก็มีความสุขบ้างมีความทุกข์บ้าง แต่พอมีความทุกข์ก็ไม่รู้จักระงับดับมัน เพราะติดสังขาร ไม่รู้จักหยุดคิด จึงต้องพิจารณาแยกจิตผู้รู้ออกจากสังขารความคิดปรุง แยกจิตออกจากเวทนา แยกจิตออกจากสัญญา แยกจิตออกจากวิญญาณ ให้เห็นว่าจิตกับขันธ์เป็นคนละส่วนกัน ขันธ์ออกมาจากจิต เป็นอาการของจิต เหมือนกับฟองน้ำกับคลื่นที่ต้องอาศัยน้ำทำให้เกิดขึ้นมา เช่นเดียวกับเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ต้องมีจิตถึงจะเกิดขึ้นมาได้
 
ท่านจึงเรียกว่าอาการของจิต แต่ไม่ใช่ตัวจิต ตัวจิตเป็นตัวที่ถาวร ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ตายไม่เกิดไม่แก่ไม่เจ็บ แต่ตัวขันธ์มีการเกิดดับๆอยู่เสมอ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ ดังที่ได้แสดงไว้ เช่นเวทนาก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ จากสุขเป็นทุกข์ จากทุกข์เป็นสุข เป็นไม่สุขไม่ทุกข์ วิญญาณที่รับรู้เรื่องต่างๆ ที่ผ่านมาทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกาย ก็รับรู้ไปแล้วก็ดับไป เกิดดับๆตลอดเวลา เห็นรูปนี้แล้วก็รับรู้ พอรูปนี้ดับไปความรับรู้รูปนี้ก็ดับไปด้วย เช่นเห็นรูปของนาย ก. พอนาย ก. เดินผ่านไป ความรับรู้รูปของนาย ก. ก็หายไป พอเห็นนาย ข. ก็รับรู้นาย ข. ต่อ ก็เกิดดับๆ รับรู้อยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ เปลี่ยนไปตามสิ่งที่มาสัมผัสกับตาหูจมูกลิ้นกาย เรียกว่าวิญญาณผู้รับรู้รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ต่อจากนั้นสัญญาก็ทำงานต่อ รูปนี้เป็นใครหนอ อ๋อเป็นคุณนั่นคุณนี่ เรียกว่าสัญญาความจำได้หมายรู้ รู้ว่าคนนี้น่ารักไม่น่าชังเพราะเคยให้เงินให้ทอง จึงน่ารัก ก็ดีอกดีใจ แต่คนนี้เคยมาทวงหนี้ทวงสิน ก็น่าเบื่อน่ารังเกียจ เรียกว่าสัญญาความจำได้หมายรู้ แล้วก็ทำให้เกิดเวทนาตามมา เวลาเห็นภาพที่ถูกใจก็เกิดสุขเวทนา เห็นภาพที่ไม่ถูกใจก็เกิดทุกขเวทนา เห็นภาพที่เฉยๆก็เกิดไม่สุขไม่ทุกขเวทนาขึ้นมา ต่อจากนั้นก็เกิดสังขารความคิดปรุงแต่งตามมา ว่าจะทำอย่างไรดี
 
ถ้าเห็นคนน่ารักน่ายินดีก็ต้อนรับขับสู้ เป็นอย่างไร สบายดีหรือ เป็นการทำงานของสังขารความคิดปรุงแต่ง ถ้าเจอเจ้าหนี้ก็เตรียมทางหนีทีไล่มองซ้ายมองขวา เป็นการทำงานของสังขารความคิดปรุงแต่ง คิดว่าจะไปทางไหนดี ถ้าหลบไม่ได้หลีกไม่ได้ก็ทำใจดีสู้เสือ เป็นหน้าที่ของสังขาร แล้วก็ทำให้เกิดทุกข์สุขขึ้นมา ถ้ามีปัญญาสังขารก็จะอยู่ในกระแสของธรรม ของเหตุของผล โดยคิดไปว่าเกิดมาแล้วก็ต้องใช้กรรมที่สร้างเอาไว้ เมื่อผลปรากฏขึ้นมาก็ไม่ต้องไปกลัวมัน เจ้าหนี้มาทวงหนี้ก็คุยกันไป มีอะไรให้เขาได้ก็ให้เขาไป ไม่มีอะไรก็ให้เขาด่าให้เขาบ่นไป หรือจะจับเข้าคุกเข้าตะรางก็ยอมให้จับไป ไม่หนี ไม่หวั่นไหว พร้อมที่จะชดใช้กรรม นี้คือคิดด้วยธรรมะ คิดไม่ให้เกิดกิเลสตัณหา คือความอยากจะหนี วิภวตัณหาคือความไม่อยากเจอคนนี้ อยากจะหนีจากคนนี้ไป หรือเวลาเกิดเจ็บไข้ได้ป่วย หมอก็บอกว่ามีเวลาอยู่ได้อีกหกเดือนเท่านั้น ถ้าคิดไปทางธรรมะ ก็จะยอมรับความจริง จะไม่กลัว อะไรจะเกิดก็เกิด หนีไม่พ้น เกิดมาก็ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายด้วยกันทุกคน แต่ถ้าไม่มีธรรมะเลย พอหมอบอกว่าอยู่ได้อีกหกเดือน หัวใจก็หล่นลงไปอยู่ที่เท้าเลย หมดกำลังใจที่จะอยู่ต่อไป ไม่รู้จะทำอย่างไรดี นี่คือสังขารความคิดปรุงแต่ง การที่เรามาเจริญวิปัสสนาภาวนากันนี้ ก็เพื่อสร้างสังขารให้คิดปรุงแต่งไปในทางธรรมะ เพื่อรับกับการทำงานของเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ เวลาสัมผัสกับเหตุการณ์ต่างๆ
 
เวลาไปอยู่ต่างประเทศ ถ้าไม่รู้ภาษาที่เขาพูดกัน เราก็จะไม่รู้เรื่อง เพราะสัญญาไม่สามารถสื่อความหมายได้ ถ้าหมอบอกว่าคุณจะตายภายในหกเดือน ฟังแล้วก็ไม่รู้เรื่อง ก็จะรู้สึกเฉยๆ ไม่ตื่นเต้น นี่คือการทำหน้าที่ของสัญญา เราสามารถปรับเปลี่ยนสัญญาได้ ถ้าเราถูกสอนมาให้เห็นผิดเป็นชอบ เช่นสอนว่าร่างกายนี้เป็นเรา ถูกสอนมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ถูกอวิชชาโมหะสอนมาตั้งแต่ก่อนเราเกิดแล้ว ว่าร่างกายนี้เป็นตัวเรา เป็นของเรา นี่ก็เป็นสัญญาที่ไม่ถูก การฟังเทศน์ฟังธรรมก็เป็นการแก้สัญญาที่ผิดให้ถูก แก้อวิชชาที่เป็นสัญญาที่ผิด ให้เป็นธรรมะที่เป็นสัญญาที่ถูกตรงตามความเป็นจริง เรียกว่าวิปัสสนา รู้ตามความเป็นจริง รู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริง ถ้ารู้ตามอวิชชาก็จะหลงผิด ไม่เห็นตามความเป็นจริง แต่เห็นตรงกันข้ามกับความเป็นจริง เห็นกลับตาลปัตร เห็นตัวตนในสิ่งที่ไม่มีตัวตน เห็นความถาวรในสิ่งที่ไม่ถาวร เห็นความสุขในสิ่งที่เป็นความทุกข์ นี่คืออวิชชาความไม่รู้จริง โมหะความหลง ซึ่งมีอยู่ในใจของเราทุกคน เพราะยังวิ่งเข้าหาความทุกข์อยู่ตลอดเวลาโดยไม่รู้สึกตัว เหมือนกับแมลงเม่าที่บินเข้ากองไฟ ไม่รู้ว่าไฟมันร้อน เห็นแสงสว่างก็คิดว่ามันสวยงาม น่าจะสนุกเพลิดเพลินดี พอได้มาแล้วก็ได้ความทุกข์มาแบกด้วย พอได้สามีได้ภรรยามา ก็ต้องแบกความทุกข์กับสามีกับภรรยา พอได้ลูกมาก็ต้องแบกเพิ่มขึ้นไปอีก เพราะถูกโมหะอวิชชาหลอกให้แบก
 
เราจึงต้องเข้าวัดฟังเทศน์ฟังธรรมกัน เพื่อให้เกิดปัญญา แล้วก็ต้องเอาไปปฏิบัติ มันยากตรงที่ต้องปฏิบัติ เวลาฟังมันง่าย เหมือนคนติดยาเสพติด ที่รู้ว่ายาเสพติดมีโทษมากกว่ามีคุณ แต่ก็เลิกไม่ได้ พอถึงเวลาเสพใจจะสั่น ต้องมีความกล้าหาญ ต้องกล้าทิ้งมันไป หนีมันไป ถ้าอยู่ใกล้จะเลิกไม่ได้ ถ้ารู้ว่ากำลังติดอะไรอยู่ ก็ต้องตัดใจเลิกให้ได้ เช่นพระพุทธเจ้าทรงรู้ว่ายังทรงติดในพระราชฐานอยู่ ได้ทรงประทับอยู่จนถึงอายุ ๒๙ พรรษา ทั้งๆที่รู้อยู่ว่ามันไม่ใช่เป็นความสุขที่แท้จริง แล้วในที่สุดก็ได้โอกาส เมื่อเกิดมีบ่วงเพิ่มขึ้นมาอีกอันหนึ่ง ตอนนั้นจึงต้องตัดสินพระทัยแล้ว เมื่อก่อนนี้ความทุกข์แค่ ๑ เท่า ตอนนี้มันเพิ่มเป็น ๒ เท่าแล้ว  ตอนนั้นทรงมีพระทัยที่เด็ดเดี่ยว จึงทรงเสด็จหนีออกจากวังไปได้  
 
เพราะไปมันลำบากนะ การที่จะตัดเพศฆราวาสไปได้ ไม่ใช่ของง่าย อาตมาก็ผ่านมาก็รู้อยู่ หลวงตาท่านก็พูดอยู่ว่า เวลาจะไปบวชนี่ เหมือนจะไปตายอย่างนั้นนะ แต่ท่านก็บอกว่า ถ้าจะตายเพราะการบวชก็ยอมตายว่ะ พอดีได้อ่านประวัติของท่านโดยสังเขป ท่านก็เล่าถึงตอนที่ท่านจะออกบวช ถ้าจะตายเพราะการบวชก็ยอมตาย ยอมเสียสละเพื่อทดแทนพระคุณของบิดามารดา การสละการตัดสิ่งต่างๆ จึงไม่ใช่เป็นของง่ายๆ ไม่ใช่ของเล่น แต่ก็เป็นคุณเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง จึงไม่ควรมองว่าเป็นเรื่องเล็ก ควรคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญ เป็นสิ่งที่ควรพยายามทำให้ได้ ไม่สุดวิสัยของพวกเรา เพียงแต่ว่าเรากล้าจะทำหรือไม่ ถ้ายังไม่มีกำลังพอก็พยายามบ่มไปก่อน พยายามสะสมกำลังไปเรื่อยๆ สะสมบุญบารมีให้พอเพียง ตอนนี้ยังไม่แก่กล้าพอ เหมือนกับผลไม้ที่ยังไม่สุกเต็มที่ ก็ยังไม่หลุดออกจากขั้ว จนกว่าจะสุกเต็มที่แล้ว ก็จะหลุดออกมาเอง พวกเราก็เป็นเหมือนผลไม้ การที่จะให้สุกเต็มที่ ก็ต้องหมั่นสะสมบุญบารมีต่างๆ เช่นทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมะบารมี ปัญญาบารมี เมตตาบารมี วิริยะบารมี ขันติบารมี อธิษฐานบารมีความตั้งใจ อย่างที่พวกเราตั้งใจกันทำบุญทุกๆเดือนๆละ ๑ ครั้ง เรียกว่าอธิษฐานบารมี ควรจะเพิ่ิ่มให้มากขึ้นเป็นเดือนละ ๒ ครั้ง เดือนละ ๓ ครั้งก็ยิ่งดีใหญ่ ควรทำให้มากขึ้น แต่ไม่ต้องเป็นรูปแบบนี้ก็ได้ เดือนหนึ่งมาแบบนี้ แต่อีกช่วงหนึ่งก็ไปฉายเดียวบ้าง ไม่ต้องเกาะกลุ่มกันมาอย่างนี้ ว่างวันไหนก็ไปวัด ไปอยู่วัด ไปบำเพ็ญ ถ้าทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆไม่ช้าก็เร็ว ก็จะได้ออกบวชอย่างแน่นอน อุบาสกและอุบาสิกาที่ได้ออกบวชกัน ก็ทำอย่างนี้กัน ค่อยๆขยับไปทีละก้าว ไม่ได้ทำอย่างทันทีทันใด ยกเว้นบางท่านที่ได้สะสมบุญบารมีมามากพอแล้ว
 
อย่างคุณแม่แก้วรู้สึกว่าท่านมีบุญบารมีเดิมอยู่มาก นั่งสมาธิครั้งแรกภาวนาครั้งแรกจิตก็รวมลง ท่านก็ไม่รู้ว่าเป็นจิตรวมลง คิดว่านอนหลับฝันไป พอสงบแล้วจิตของท่านไม่อยู่นิ่งเฉยๆ แต่ออกไปรับรู้เรื่องราวต่างๆ ก็โชคดีที่ตอนนั้นมีหลวงปู่มั่นคอยแนะสั่งสอนอยู่ หลวงปู่เห็นว่าจิตของคุณแม่แก้วเป็นจิตที่ผาดโผน เวลาสงบแล้วไม่อยู่นิ่งเฉยๆ จะออกไปรับรู้เรื่องราวต่างๆ ซึ่งเป็นทั้งคุณและโทษ ถ้าไม่รู้จักวิธีปฏิบัติต่อมัน เปรียบเหมือนงูพิษ ถ้ารู้จักวิธีจับมัน ก็จับมารีดพิษไปทำเป็นยาได้ แต่ถ้าจับไม่เป็นก็จะถูกงูกัดตายได้ เวลาจิตสงบแล้วออกไปรับรู้เรื่องราวต่างๆที่เรียกว่านิมิตนั้น ต้องรู้จักวิธีปฏิบัติต่อนิมิตต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดโทษตามมา คุณแม่แก้วส่วนใหญ่จะเจอนิมิตเกี่ยวคนตายหรือสัตว์ที่ตายไปแล้ว จะมาปรากฏแล้วเล่าเรื่องราวต่างๆให้ฟัง อย่างตอนที่หลวงปู่มั่นมรณภาพ คุณแม่แก้วก็รู้ก่อนที่ข่าวจะมาถึงหมู่บ้าน เพราะวันนั้นก็เตรียมตัวจะไปกราบหลวงปู่มั่นพอดี คืนนั้นก่อนจะออกเดินทาง หลวงปู่มั่นก็มาปรากฏในนิมิต มาบอกคุณแม่แก้วว่าไม่ต้องไปแล้ว เพราะเราได้ตายไปแล้ว พอตื่นขึ้นมาก็ร้องห่มร้องไห้อยู่คนเดียว แม่ชีรูปอื่นก็ไม่เข้าใจ ท่านก็เล่าให้ฟังว่า เมื่อคืนนี้หลวงปู่มั่นได้มาบอกว่าท่านได้มรณภาพไปแล้ว พอสายๆคนทางอำเภอก็มาแจ้งข่าวให้ทราบ แต่นิมิตเหล่านี้ไม่เป็นมรรค ไม่เป็นปัญญา ที่จะกำจัดความโลภความโกรธความหลงให้หมดสิ้นไป ถ้าไปยุ่งเกี่ยวแล้ว เวลานั่งสมาธิก็อยากจะเห็นอีก ก็เหมือนกับดูละครโทรทัศน์ พอหมดเรื่องนี้ก็อยากดูเรื่องอื่นต่อ ก็จะไปไม่ถึงไหน ไม่เกิดปัญญาเพื่อการดับทุกข์  ถ้าไปติดนิมิตต่างๆ นั่งทีไรก็อยากจะรู้อยากจะเห็นทุกครั้งไป ไม่สนใจที่จะพิจารณาอสุภะอสุภัง  พิจารณาเกิดแก่เจ็บตาย ก็จะไม่ได้ละอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕  ความทุกข์ก็จะไม่มีทางหมดสิ้นไปได้ เวลาแก่ เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย เวลาจะตาย จิตใจจะสับสนวุ่นวาย ถึงแม้จะมีสมาธิ ก็ทำให้จิตสงบได้เป็นครั้งเป็นคราว ในขณะที่จิตไม่สงบ ก็จะคิดฟุ้งซ่าน สร้างความทุกข์ขึ้นมา
 
คนที่มีจิตแบบนี้ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์คอยสอนก็อาจจะหลงทางได้ เพราะจะไม่ออกไปทางปัญญา เหมือนไปถึงหน้าร้านแล้ว แทนที่จะเข้าไปในร้านซื้อข้าวของที่จำเป็นมาใช้สอย กลับไปดูไปเล่นของเล่นที่วางขายอยู่ที่หน้าร้าน ไม่เข้าไปในร้านซื้อข้าวของที่จำเป็นมาใช้ พอตายไปแล้วกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่ ก็อาจจะไม่ได้เจอศาสนาพุทธก็ได้ อย่างพระอาจารย์ทั้ง ๒ รูปของพระพุทธเจ้า ที่ได้ตายไปก่อนที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้ ถ้ายังอยู่แล้วได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ได้ยินได้ฟังวิปัสสนา ก็จะได้บรรลุถึงการสิ้นสุดแห่งการเวียนว่ายตายเกิด จึงเป็นบุญของพระปัญจวัคคีย์ที่ยังไม่ตาย ถึงแม้จะหนีจากพระพุทธเจ้าไป แต่ก็ยังทรงมีความเมตตา มีเยื่อใย ไม่โกรธไม่เกลียดที่หนีจากไป ถ้าเป็นปุถุชนคนธรรมดา ถ้าลูกน้องหนีจากไป ก็คงไม่กลับไปหาลูกน้องแน่ แต่ทรงเห็นว่าธรรมที่ได้ตรัสรู้เห็นนั้น มีคุณประโยชน์มาก ทำให้หลุดพ้นจากความทุกข์ได้อย่างสิ้นเชิง จึงทรงสั่งสอนให้ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด ถ้าพระพุทธเจ้าทรงประสูติในสมัยที่มีพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าองค์อื่นอยู่ ก็คงจะไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้า คงจะบรรลุเป็นอรหันตสาวกไป เพราะการจะเป็นพระพุทธเจ้าจะต้องใช้เวลาบำเพ็ญบารมีมาก ส่วนผลคือความบริสุทธิ์ก็เท่ากัน เป็นพระอรหันต์จิตก็บริสุทธิ์เท่ากับจิตของพระพุทธเจ้า
 
เหมือนกับหลวงปู่มั่น ท่านก็มีความปรารถนาในพุทธภูมิ แต่เมื่อได้พบพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็คิดว่าเรื่องอะไรที่จะต้องเสียเวลาไปค้นหาทางเอง เมื่อมีทางเดินอยู่แล้ว ท่านจึงตัดความปรารถนาในพุทธภูมิไป พอตัดได้แล้วก็บำเพ็ญไป ไม่นานก็ได้บรรลุถึงความบริสุทธิ์ของจิตใจ จะเป็นของพระพุทธเจ้าหรือของพระอรหันตสาวก ก็บริสุทธิ์เหมือนกัน ไม่แตกต่างกัน เหมือนเสื้อ ๒ ตัวที่เอาไปซักในเครื่องเดียวกัน เวลาเอาออกมาก็สะอาดเหมือนกัน แต่ในทางโลกคำว่าเป็นพระพุทธเจ้าคงจะขลังกว่าเป็นพระอรหันตสาวก ที่เป็นเพียงลูกศิษย์เท่านั้นเอง แต่เรียนจบปริญญาเอกเหมือนกัน เพียงแต่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ด้วยตนเอง ไม่มีใครสอน ส่วนพระอรหันตสาวกต้องมีพระพุทธเจ้าเป็นผู้สั่งสอนถึงจะรู้ได้ ต้องมีโรงเรียนคือต้องมีพระพุทธศาสนา มีพระธรรมคำสอน พวกเราก็โชคดีที่ได้มาพบโรงเรียนที่สอนถึงระดับปริญญาเอกแล้ว จะเรียนหรือไม่ อยู่ที่ตัวเรา ขอให้เราศึกษาไปตามกำลังของเราก็แล้วกัน อย่ามองสูงกว่าที่เอื้อมได้ เพราะจะทำให้ท้อแท้ เอาแค่ที่เอื้อมได้ก่อน ตอนนี้ทำอะไรได้ก็ทำไป แล้วก็พยายามเอื้อมให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ ขยับขึ้นไปเรื่อยๆ ถ้าเอื้อมไปเรื่อยๆแล้ว ก็จะก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อยๆ
 
อย่าพอใจกับระดับที่ปฏิบัติอยู่ ต้องพยายามขยับขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง ถ้ายังไม่เคยรักษาศีล ๕ เลย ก็ลองรักษาดูบ้าง ถ้ารักษาได้บ้างแล้วแต่ไม่ครบทุกวัน ก็พยายามรักษาให้ครบทุกวัน พยายามเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ถ้าเคยทำบุญครั้งละ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ต่อไปก็เพิ่มเป็น ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ของทรัพย์สินของเรา อย่างนี้ถึงจะไปได้ ไม่อย่างนั้นก็ยังอยู่กับที่ แต่ก็ยังดีกว่าไม่ทำเลย เพราะเหมือนกับเดินถอยหลัง ถ้าทำเท่าที่เคยทำได้ก็เท่ากับรักษาฐานไว้ รักษาสถานภาพเอาไว้ แต่ถ้าอยากจะเลื่อนชั้นขึ้นไปก็ต้องเพิ่มให้มากขึ้น ให้ทานมากขึ้น รักษาศีลมากขึ้น ภาวนามากขึ้น ตัดสิ่งไม่จำเป็นทั้งหลายให้น้อยลง ของฟุ่มเฟือยทั้งหลายก็ตัดไป กามสุขในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะก็ตัดไป โทรทัศน์เคยดูหลายๆเรื่องก็ลดลงไป ต้องทำทั้ง ๒ อย่างควบคู่กันไป ทั้งเสริมสร้างทั้งลดละ ถ้าทำอย่างนี้แล้ว จะก้าวหน้าไปได้เรื่อยๆ พอเริ่มเห็นผล เริ่มสัมผัสกับความสุขในใจ จะรู้สึกสบายใจขึ้น เมื่อก่อนนี้ติดโน่นติดนี่รุงรังไปหมด เดี๋ยวนี้แสนจะสบาย ถึงเวลาไม่ได้ดูละครก็ไม่เดือดร้อนอะไร อ่านหนังสือธรรมะฟังเทศน์ครูบาอาจารย์กลับมีความสุขกว่า มีกำลังจิตกำลังใจที่จะไปในทางธรรมมากขึ้น 

      
......................................................


ขอขอบคุณที่มาจาก : 
 เว็บ พระธรรมเทศนา
 
ภาพประกอบจาก : วัดภุมรินทร์ราชปักษี



Create Date : 13 เมษายน 2566
Last Update : 13 เมษายน 2566 8:33:45 น. 32 comments
Counter : 718 Pageviews.

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณหอมกร, คุณโอน่าจอมซ่าส์, คุณฟ้าใสวันใหม่, คุณtoor36, คุณมาช้ายังดีกว่าไม่มา, คุณปัญญา Dh, คุณสายหมอกและก้อนเมฆ, คุณทนายอ้วน, คุณอาจารย์สุวิมล, คุณThe Kop Civil, คุณแมวเซาผู้น่าสงสาร, คุณปรศุราม, คุณhaiku, คุณสองแผ่นดิน, คุณนายแว่นขยันเที่ยว, คุณRain_sk, คุณกะว่าก๋า, คุณดาวริมทะเล, คุณSweet_pills, คุณเจ้าหญิงไอดิน, คุณJohnV, คุณร่มไม้เย็น, คุณกิ่งฟ้า, คุณkae+aoe


 
วิปัสสนาแปลว่าการเห็นอันวิเศษ
มีสมถะเป็นฐานจ้าแยกกันไม่ออกนะ
อนุโมทนาบุญวันพระจ้า




โดย: หอมกร วันที่: 13 เมษายน 2566 เวลา:8:51:22 น.  

 


โดย: โอน่าจอมซ่าส์ วันที่: 13 เมษายน 2566 เวลา:9:10:32 น.  

 
สาธุธรรมค่ะ
สุขสันต์วันสงกรานต์ด้วยนะคะ



โดย: ฟ้าใสวันใหม่ วันที่: 13 เมษายน 2566 เวลา:9:29:19 น.  

 
หลายๆ คนฟังแล้วก็ไม่เกิดปัญญาก็มีเหมือนกัน

สุขสันต์วันสงกรานต์


โดย: คุณต่อ (toor36 ) วันที่: 13 เมษายน 2566 เวลา:10:24:48 น.  

 
สวัสดีวันพระ

มารับธรรมะวันสงกรานต์ครับ


โดย: มาช้ายังดีกว่าไม่มา วันที่: 13 เมษายน 2566 เวลา:10:35:01 น.  

 
สวัสดีและสุขสันต์วันสงกรานต์ค่ะ คุณ**mp5**


โดย: โฮมสเตย์ริมน้ำ วันที่: 13 เมษายน 2566 เวลา:10:40:01 น.  

 
สวัสดีครับ

สุขสันต์วันสงกรานต์ครับ


โดย: ปัญญา Dh วันที่: 13 เมษายน 2566 เวลา:10:46:34 น.  

 
สุขสันต์วันสงกรานต์ครับ



โดย: กะว่าก๋า วันที่: 13 เมษายน 2566 เวลา:13:16:48 น.  

 
สุขสันต์วันสงกรานต์ เช่นกัน จ้ะ

สาธุ สาธุ จ้ะ

โหวดหมวด ข้อคิดและคติธรรม


โดย: อาจารย์สุวิมล วันที่: 13 เมษายน 2566 เวลา:14:36:10 น.  

 
สาธุ สาธุ


โดย: โลกคู่ขนาน (สมาชิกหมายเลข 7115969 ) วันที่: 13 เมษายน 2566 เวลา:20:56:24 น.  

 
สุขสันต์ สวัสดีวันปีใหม่ไทยครับ

สาธุ


โดย: สองแผ่นดิน วันที่: 13 เมษายน 2566 เวลา:23:14:44 น.  

 
สวัสดีวันสงกรานต์ค่ะคุณพี มาฟังธรรมะที่ดีๆค่ะ

วันนี้โหวตหมดแลวไว้มาใหม่นะคะ

สุขสันต์วันสงกรานต์ค่ะ





โดย: กิ่งฟ้า วันที่: 13 เมษายน 2566 เวลา:23:37:18 น.  

 

สวัสดียามเช้าครับ



โดย: กะว่าก๋า วันที่: 14 เมษายน 2566 เวลา:6:10:41 น.  

 
สุขสันต์วันสงกรานต์


โดย: โลกคู่ขนาน (สมาชิกหมายเลข 7115969 ) วันที่: 14 เมษายน 2566 เวลา:20:25:47 น.  

 
แวะมาสวัสดีวันครอบครัวค่ะ



โดย: ดาวริมทะเล วันที่: 14 เมษายน 2566 เวลา:20:39:37 น.  

 


สาธุค่ะ

สวัสดีวันครอบครัวค่ะคุณพี


โดย: Sweet_pills วันที่: 15 เมษายน 2566 เวลา:0:03:20 น.  

 
สาธุ สาธุ สาธุ


โดย: เจ้าหญิงไอดิน วันที่: 15 เมษายน 2566 เวลา:6:09:13 น.  

 
แซยิดแล้วซินะพรุ่งนี้


โดย: โอน่าจอมซ่าส์ วันที่: 15 เมษายน 2566 เวลา:18:39:39 น.  

 
"15 เมษายน พญาวันเป็นวันดี ที่ยิ่งใหญ่วันปีใหม่ เถลิงศก แห่งราศี
ขอให้สุข สมใจหวัง ดังฤดี โชคลาภมี เงินไหลกอง ทองไหลมา"

ขอบคุณสำหรับคำอวยพรค่ะ
ขอให้คุณพีได้รับพรดี ๆ ย้อนกลับด้วยเช่นกันนะคะ
เจริญในธรรมค่ะ


โดย: ฟ้าใสวันใหม่ วันที่: 15 เมษายน 2566 เวลา:19:54:14 น.  

 
ขอบคุณที่ไปอวยพรที่บล็อกครับ
ขอให้คุณ**mp5**ได้รับพรอันประเสริฐด้วยเช่นกันนะครับ


โดย: มาช้ายังดีกว่าไม่มา วันที่: 15 เมษายน 2566 เวลา:21:45:22 น.  

 
สุขสันต์วันสงกรานต์ครับ



โดย: กะว่าก๋า วันที่: 15 เมษายน 2566 เวลา:21:51:41 น.  

 
ขอบคุณคุณพีสำหรับคำอวยพรและกำลังใจค่ะ
ขอให้คุณพีได้รับพรนี้กลับเป็นเท่าทวีนะคะ



โดย: Sweet_pills วันที่: 16 เมษายน 2566 เวลา:0:18:56 น.  

 
สุขสันต์วันเกิดครับ คุณ mp5

ขอให้มีความสุข มีสุภาพแข็งแรง
ประสบผลสำเร็จในตนเอง หน้าที่และการงานนะครับ


โดย: ปัญญา Dh วันที่: 16 เมษายน 2566 เวลา:5:50:13 น.  

 

สวัสดียามเช้าครับ



โดย: กะว่าก๋า วันที่: 16 เมษายน 2566 เวลา:6:37:44 น.  

 
สุขสันต์วันเกิดครับ


โดย: The Kop Civil วันที่: 16 เมษายน 2566 เวลา:13:25:14 น.  

 
สุขสันต์วันคล้ายวันเกิดนะคะ
มีความสุขมาก ๆ สุขภาพแข็งแรงค่ะ


โดย: เนินน้ำ วันที่: 16 เมษายน 2566 เวลา:21:33:58 น.  

 
สุขสันต์วันปากปีค่ะ

สาธุขออนุโมทนาบุญที่เผยแพร่ธรรมมะนะคะ

Dharma Blog

หลับฝันดีค่ะ



โดย: กิ่งฟ้า วันที่: 16 เมษายน 2566 เวลา:23:55:33 น.  

 
สาธุ


โดย: kae+aoe วันที่: 18 เมษายน 2566 เวลา:5:42:54 น.  

 
ขอบคุณมากครับ



โดย: กะว่าก๋า วันที่: 18 เมษายน 2566 เวลา:14:49:17 น.  

 
สวัสดีครับ

ขอบคุณสำหรับกำลังใจด้วยครับ


โดย: มาช้ายังดีกว่าไม่มา วันที่: 18 เมษายน 2566 เวลา:21:20:12 น.  

 
สวัสดีค่ะคุณพี ขอบคุณที่ไปให้กำลังใจบล็อกน้ำมะยงชิดนะคะ

ร้อนๆแบบนี้ได้ดื่มสักแก้วช่นใจคลายร้อนเลยค่ะ

หลับฝันดีนะคะ



โดย: กิ่งฟ้า วันที่: 18 เมษายน 2566 เวลา:23:43:23 น.  

 

อรุณสวัสดิ์ครับ



โดย: กะว่าก๋า วันที่: 19 เมษายน 2566 เวลา:5:22:24 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

**mp5**
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 88 คน [?]




สวัสดีครับ

ขอส่งความสุขให้กับทุกคน




New Comments
Friends' blogs
[Add **mp5**'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.