Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2566
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728 
 
13 กุมภาพันธ์ 2566
 
All Blogs
 
ใจไม่ดับ

               

                 เรื่องเกิดแก่เจ็บตายนั้น ต้องเป็นด้วยกันทุกๆคน จึงไม่ควรลืม ควรพิจารณาอยู่เรื่อยๆ จะได้มีธรรมโอสถไว้ดูแลรักษาจิตใจ ถ้าไม่พิจารณาอยู่เรื่อยๆ พอเกิดขึ้นมาใจก็จะป่วย ป่วยกายแล้วไม่พอ ยังป่วยใจด้วย แต่ถ้าได้พิจารณาอยู่เรื่อยๆ ก็เหมือนมีธรรมโอสถ จะรู้สึกเฉยๆ รู้ว่าเป็นเรื่องธรรมดา รู้ว่าใจไม่ได้ป่วยไปกับกาย สิ่งที่ป่วยก็ต้องเป็นไปตามสภาพของเขา ไม่มีใครอยู่เหนือสภาพนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นปุถุชนธรรมดาหรือพระพุทธเจ้า พระอรหันตสาวก ครูบาอาจารย์ทั้งหลายที่เรากราบไหว้บูชา ก็ต้องตกอยู่ในสภาพเดียวกัน ต่างกันที่จิตใจ ของท่านมีเกราะคุ้มกัน มีธรรมโอสถรักษาใจ ทำให้ใจไม่สะทกสะท้าน ไม่หวาดกลัว เพราะใจไม่ได้เป็นไปกับร่างกาย แต่ถ้าไม่ได้พิจารณาอยู่เรื่อยๆ ความหลงก็จะหลอกให้ใจไปหลงคิดว่าเป็นกาย เวลากายเป็นอะไรใจก็เดือดร้อนไปด้วย คิดว่าใจเป็นไปกับร่างกาย เพราะใจอาศัยร่างกายเป็นเครื่องมือหาความสุข เวลาร่างกายป่วย ชำรุดทรุดโทรม ไม่สามารถไปหาความสุขได้ ก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา แต่ถ้าได้พิจารณาอยู่เรื่อยๆว่า ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ก็จะไม่ยึดไม่ติด ไม่หวังพึ่งอาศัยร่างกายเป็นเครื่องมือหาความสุข เพราะหาความสุขที่ไม่ต้องใช้ร่างกายก็ได้ ก็คือความสุขภายในใจที่มีรออยู่แล้ว เป็นเหมือนสมบัติที่ถูกโมหะอวิชชา ความหลงกลบฝังไว้ หน้าที่ของเราจึงต้องพยายามขุดเอาอวิชชาเอาโมหะความหลงให้ออกไปจากใจ เพื่อจะได้พบกับความสุขที่แท้จริง คือความสงบใจ
 
ถ้าพิจารณาอยู่เรื่อยๆ เรื่องความแก่ ความเจ็บ ความตายจนจิตรับความจริงได้ ความสงบก็จะปรากฏขึ้นมา จะไม่รู้สึกอิดหนาระอาใจหรือท้อแท้ หรือไม่มีกำลังจิตกำลังใจที่จะอยู่ต่อไป เพราะการพิจารณาเป็นการทำสมาธิไปในตัว แทนที่จิตจะฟุ้งซ่าน กลับจะสงบ ในเบื้องต้นอาจจะลำบากหน่อย เพราะมีกิเลสคอยต่อต้านอยู่ เวลาคิดถึงความแก่ ความเจ็บ ความตาย จะรู้สึกไม่สดใสเลย คิดถึงเวลาที่จะต้องเจ็บไข้ได้ป่วยทำอะไรไม่ได้ แล้วก็ต้องตายไปในที่สุด ถ้ายังมีกิเลส มีอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่างๆอยู่ ก็จะรู้สึกสูญเสีย ทำให้ไม่อยากคิด พยายามหลีกเลี่ยงไม่ไปคิดมัน เพราะคิดแล้วทำให้เกิดอารมณ์ไม่ดีขึ้นมา ถ้าคิดแบบนี้แล้วแทนที่จะเกิดประโยชน์กลับเกิดโทษขึ้นมา เพราะจิตจะยิ่งถูกความหลง ความไม่รู้ครอบงำมากยิ่งขึ้นไป เพราะคนเราทุกคนควรจะรู้ความจริงของชีวิตเราว่าเป็นอย่างไร พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้พระอริยสัจ ๔ คือความจริงของชีวิตเรานั่นเอง ถ้ารู้ความจริงทั้ง ๔ ประการนี้แล้ว รู้จักวิธีปฏิบัติต่อความจริงนี้แล้ว สักวันหนึ่งไม่ช้าก็เร็วเราก็จะไปถึงที่เดียวกันกับที่พระพุทธเจ้า และพระสาวกทั้งหลายได้ไปถึง นั่นก็คือนิโรธความดับของทุกข์ ทุกข์เกิดขึ้นก็เพราะใจหลง ใจไม่ยอมรับความจริง
 
ถ้าพิจารณาอยู่เรื่อยๆจนเห็นว่าไม่มีใครในโลกนี้ ทั้งตัวเราและผู้อื่น จะต้องตกอยู่ในสภาพเหมือนกัน เป็นธรรมดาของร่างกายที่จะต้องเป็นไป จิตใจก็เกิดความกล้าหาญขึ้นมา กล้าสู้และเผชิญกับความจริง จะไม่หวาดกลัว เมื่อไม่หวาดกลัวความทุกข์ก็ไม่มี คนเราที่กลัวกันก็กลัวความตาย กลัวความเจ็บกัน แต่ถ้าไม่กลัวเสียอย่างแล้ว ใจก็จะไม่หวั่นไหว  จะตั้งอยู่ในความสงบของสมาธิ มีความแข็งแกร่งเหมือนกับก้อนหินก้อนใหญ่ๆ ที่สามารถรับพายุที่จะพัดโหมกระหน่ำมา ไม่ว่าจะมีกำลังแรงมากน้อยเพียงไร ก็ไม่สามารถขยับหินก้อนนั้นได้ จิตใจที่มีความสงบ มีความนิ่งด้วยปัญญา จะไม่หวั่นไหวกับสภาพต่างๆ จะเผชิญกับมันได้ ไม่มีปัญหาอะไร อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด อะไรจะดับก็ต้องดับ อะไรไม่ดับก็ไม่ดับ แต่เราไม่รู้ว่าอะไรดับ อะไรไม่ดับกัน เพราะใจเราหลง คิดว่าร่างกายดับแล้วทุกอย่างดับหมด ชีวิตเราดับหมด ทุกสิ่งทุกอย่างในตัวเราดับไปหมด แต่ยังมีตัวหนึ่งที่ยังไม่ดับ ก็คือใจนี้แหละ ใจไม่ดับ ร่างกายจะดับก็ดับไป แต่ใจก็ยังเป็นอกาลิโกอยู่ เป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้นอยู่ เป็นธาตุรู้ เป็นผู้รู้ แต่ขาดปัญญา ไม่สามารถแยกแยะตนเองออกจากสิ่งที่คลุกเคล้าด้วย เมื่อไปคลุกเคล้ากับสิ่งที่มีเกิดมีดับ ก็เลยคิดว่าตนเองเกิดดับไปด้วย
 
ถ้าได้พบคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วนำไปปฏิบัติ พิจารณาความแก่ ความเจ็บ ความตายอยู่เรื่อยๆ ก็จะมีธรรมะมีอาวุธที่จะแยกแยะใจให้ออกจากสิ่งที่ใจไปคลุกเคล้าด้วย เมื่อแยกออกมาได้แล้ว ก็จะรู้ว่าใจไม่ได้เป็นอะไรตามไปด้วย ร่างกายจะเป็นอย่างไร จะดีหรือไม่อย่างไร ใจก็ไม่ได้เป็นตามร่างกาย แต่ใจมักจะหลง เหมือนคนดูฟุตบอล ชอบเชียร์ ทั้งๆที่ไม่รู้จักคนเล่นด้วยซ้ำไป ถ้าฝ่ายที่เชียร์ชนะก็ดีอกดีใจตามไปด้วย ถ้าแพ้ก็เสียอกเสียใจ ทั้งๆที่ไม่ได้อะไรจากการแพ้การชนะเลย แต่ใจชอบไปยุ่งกับเรื่องต่างๆแล้วก็ไปยึดติด เวลาชอบใครก็เชียร์เขา อยากให้เขาได้ดิบได้ดี มีความสุขมีความเจริญ ถ้าไม่ชอบก็สาปแช่งให้เขาเป็นไป นี่คือเรื่องของใจที่หลง ไม่รู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้มีทั้งเจริญและเสื่อมอยู่ควบคู่กันไป เวลาสิ่งที่เราเชียร์เสื่อมลงไปก็เสียใจ เวลาสิ่งที่เราไม่ชอบมีความเจริญก็ไม่พอใจ เพราะลืมไปว่าความเจริญก็มีขอบเขต เมื่อเจริญแล้วสักวันหนึ่งก็ต้องเสื่อมไป ไม่ต้องไปสาปแช่งเดี๋ยวก็เสื่อมไปเอง
 
นี่คือปัญหาของพวกเรา คือไม่ค่อยพิจารณาความเสื่อมกัน ส่วนใหญ่จะมองแต่ความเจริญกัน ได้อะไรมาก็อยากจะให้มันเจริญ เปิดร้านเปิดบริษัทก็อยากจะให้เจริญอย่างเดียว ไม่คิดว่าจะต้องเสื่อมบ้าง ไม่ว่าบริษัทจะใหญ่โตขนาดไหนสักวันหนึ่งก็ต้องปิดตัวลง จะมีตำแหน่งสูงขนาดไหนสักวันหนึ่งก็ต้องหมดไปเพราะกิเลสจะคอยกีดกันไม่ให้เราคิดถึงความเสื่อม เมื่อไม่ได้พิจารณาธรรมะ ก็เหมือนกับไม่มีอาวุธไว้ต่อสู้ เวลาความเสื่อมปรากฏขึ้นมาคืบคลานเข้ามา ความทุกข์ก็จะรุมทำร้ายจิตใจ ให้เศร้าโศกเสียใจ แต่ถ้าได้พิจารณาอยู่เรื่อยๆว่า ชีวิตของคนเรามีทั้งขึ้นมีทั้งลง มีทั้งสูงมีทั้งต่ำ แล้วก็เตรียมตัวรับกับสภาพที่จะเกิดขึ้น ก็จะไม่ทุกข์ ไม่เศร้าโศกเสียใจ เหมือนกับทหารที่ต้องซ้อมรบอยู่เรื่อยๆ เพราะรู้ว่าสักวันหนึ่งจะต้องมีสงครามเกิดขึ้น ถ้าไม่เตรียมตัวไว้ เวลาเกิดสงครามขึ้นมา ก็จะสู้เขาไม่ได้ ใจของเราก็เช่นเดียวกัน ถ้าไม่ได้พิจารณาความเสื่อมอยู่เรื่อยๆ เวลาพบกับความเสื่อมก็จะไม่รู้ว่าต้องทำใจอย่างไร
 
ใจมักจะถูกความอยากรุมเร้าอยู่ตลอดเวลา เมื่อไม่สามารถทำตามความอยากได้ ก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้พิจารณาอริยสัจข้อแรก คือทุกขสัจ เกิดมาแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายเป็นธรรมดา มีการพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา ถ้าพิจารณาอย่างนี้อยู่เรื่อยๆแล้ว จะได้เตรียมตัวเตรียมใจรับกับสภาพ จิตใจจะได้ไม่หวั่นไหวหวาดกลัวแต่อย่างใด จะอยู่อย่างสบายอกสบายใจ ไม่ยึดติดกับอะไร เพราะรู้ว่าสิ่งต่างๆต้องจากเราไป หรือเราจะต้องจากมันไป การไปยึดไปติดเป็นเหตุของความทุกข์ ความไม่สบายใจ สังเกตดูสิ่งหนึ่งสิ่งใดบุคคลหนึ่งบุคคลใด ที่เราไม่มีความผูกพันด้วย ไม่เกี่ยวข้องด้วย ไม่ยึดติด เวลาเป็นอะไรไป ก็ไม่กระทบกับเรา แต่ถ้ามีความผูกพัน มีความยึดติด เวลาสิ่งนั้นสิ่งนี้ บุคคลนั้นบุคคลนี้ มีอันเป็นไป เราก็วุ่นวายใจ เศร้าโศกเสียใจ คนที่ไม่มีธรรมะอยู่ในใจเลย จะไม่อยากอยู่ต่อไปเวลาสูญเสียสิ่งที่ตนรักไป เช่นเสียคู่ครองที่เคยอยู่ด้วยกันมาตลอด เมื่อเสียไปแล้วก็รู้สึกว่าชีวิตของตนก็หมดไปด้วย เคยสังเกตเห็นอยู่เรื่อย คู่สามีภรรยาที่อยู่ด้วยกันมาเป็นเวลายาวนาน พอคนใดคนหนึ่งเสียไป อีกคนหนึ่งก็จะเสียตามไปด้วยในเวลาไม่นาน เพราะความผูกพัน ความยึดติด เหมือนกินอาหารที่เคยเติมเครื่องปรุงต่างๆ พอวันไหนไม่มีเครื่องปรุงก็ไม่อยากจะกินเลย เพราะติดกับรสชาติ อย่างคนที่เป็นเบาหวานก็รู้อยู่ว่ากินของหวานมากไม่ได้ แต่ก็อดไม่ได้ เพราะความเคยชิน
 
จิตนี่เวลาทำอะไรแล้วจะติดนิสัย เคยทำอะไรก็จะทำอย่างนั้น ถ้าไม่เคยทำก็ไม่ทำ เคยดื่มกาแฟตอนเช้าก็ต้องหากาแฟมาดื่มทุกเช้า คนที่ไม่ดื่มก็ไม่เดือดร้อนอะไร ตื่นขึ้นมาก็ไม่ต้องหามาดื่ม ก็ไม่เห็นเป็นอะไร ถ้าไม่อยากจะมีความทุกข์ใจ แต่อยากมีความสุขใจที่แท้จริง ก็ต้องตัดความผูกพันกับทุกสิ่งทุกอย่าง เช่นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะต่างๆ รูปต่างๆ ที่พวกเรามีความผูกพันอยู่ตลอดเวลา แทบจะอยู่ห่างไกลจากมันไม่ได้เลย จึงเข้าวัดกันไม่ค่อยได้ เวลาไปอยู่ถือศีลตามวัดป่าวัดเขาที่ไกลจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็เหมือนไปตกนรก ไปไม่ได้เพราะเหมือนขาดลมหายใจ ขาดอาหารใจ ต้องมีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่เคยสัมผัสอยู่เป็นประจำ มาคอยหล่อเลี้ยงอยู่ตลอดเวลา เมื่อเป็นเช่นนั้นก็เลยกลายเป็นทาส  มีความสุขเล็กๆน้อยๆจากการที่ได้เสพ ได้สัมผัสกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเหล่านี้ แต่ในขณะเดียวกันก็กลายเป็นทาส เหมือนคนที่ติดยาเสพติด ถ้าไม่มีให้เสพก็ไม่มีความสุขใจ ทั้งที่โดยธรรมชาติของใจนั้น ไม่ต้องมีอะไรก็มีความสุขได้ จึงต้องตัดความผูกพัน ความยึดติดกับสิ่งต่างๆให้ได้
 
หน้าที่ของเราก็คือการปลดเปลื้องความผูกพันต่างๆเหล่านี้ ให้ออกไปจากจิตจากใจ เปลี่ยนนิสัยใหม่ เคยติดเคยชอบ เคยดื่มเคยสัมผัสอะไร ก็ควรตัดไปเสีย หัดอยู่แบบไม่ต้องมีอะไร แบบพระทั้งหลายที่มีเพียงสิ่งที่จำเป็นต่อการดูแลรักษาชีวิตร่างกายเท่านั้น สิ่งที่เป็นส่วนเกิน ที่ไม่จำเป็นก็ตัดมันไป พระที่มีความเคร่งครัดในการปฏิบัติจะฉันมื้อเดียว หลังจากฉันแล้วก็ไม่ฉันอะไรอีกนอกจากน้ำเปล่า เพราะกินเพื่ออยู่จริงๆไม่ได้อยู่เพื่อกิน พอให้ร่างกายมีอาหารหล่อเลี้ยงให้อยู่ได้ เพื่อจะได้เอาร่างกายมาทำหน้าที่เจริญธรรมะ พิจารณาธรรมะ ทำจิตใจให้สงบ เพื่อจะได้มีอาวุธมีเครื่องมือไว้ปราบกิเลส ความยึดมั่นถือมั่นต่างๆให้หมดสิ้นไปจากจิตจากใจ เมื่อไม่มีการติดอยู่กับอะไรแล้ว สิ่งต่างๆที่เคยติดอยู่ก็หมดความหมายไป เคยติดบุหรี่แล้วเลิกบุหรี่ได้ บุหรี่ก็หมดความหมายไป สุราก็เช่นเดียวกัน กาแฟหรือของรับประทานต่างๆที่ไม่จำเป็น ถ้าจะรับประทานก็รับประทานพร้อมกับอาหารไปเลย พอผ่านไปแล้วก็จบ เป็นการควบคุมไม่ให้จิตใจไปยึดไปติดกับสิ่งที่ไม่จำเป็น บุคคลต่างๆก็ไม่จำเป็นไปยึดไปติด อยู่คนเดียวได้ดีกว่าอยู่ ๒ คน อยู่คนเดียวไม่มีปัญหา อยู่ ๒ คนแล้วปัญหาเกิด ทะเลาะกัน ขัดใจกัน ห่วงใยกัน ถ้ารักกันก็ห่วงใยกัน ถ้าทะเลาะกันก็เบื่อกัน มีแต่ปัญหาทั้ง ๒ ด้าน แต่ถ้าอยู่คนเดียวได้ก็ไม่มีปัญหากับใคร ที่อยู่ไม่ได้ก็เพราะใจยังยึดติดอยู่นั่นเอง
 
เราจึงต้องต่อสู้ด้วยการปฏิบัติธรรม สร้างความสุขภายในใจ ด้วยการขุดเอากิเลสความโลภ ความโกรธ ความหลง อวิชชา ตัณหาต่างๆ ที่บดบังความสุขใจให้หมดไป ถ้าไม่ปฏิบัติเราก็จะไม่ได้พบความสุขที่แท้จริง จะพบแต่ความสุขแบบสุกๆดิบๆ สุขแล้วเดี๋ยวก็ทุกข์ ไปเที่ยว ไปกิน ไปดู ไปฟังอะไรมา ก็มีความสุข พอกลับมาบ้านแล้วก็ผ่านไป วันต่อไปก็จะหิว จะอยาก จะต้องการอีก แต่ถ้าได้สัมผัสความสุขที่เกิดจากความสงบแล้วจะไม่หิว เพราะจะอยู่กับเราไปเรื่อยๆ จึงไม่จำเป็นต้องไปพึ่งพาอาศัยสิ่งต่างๆภายนอกมาให้ความสุข ที่มีมากน้อยเพียงไรก็ต้องคอยเปลี่ยนอยู่เรื่อย เพราะไม่เที่ยง ไม่จีรังถาวรนั่นเอง ได้อะไรมาก็ใช้ไปสักระยะหนึ่งก็เสียก็พัง ก็ต้องไปหามาใหม่ จะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เคยเป็นอย่างนี้มานานแล้ว ตั้งแต่ก่อนที่เรามาเกิดก็เคยทำอย่างนี้มาก่อน  เพราะเป็นใจเดียวกัน กิเลสตัณหาความอยากอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นต่างๆ ก็ตัวเดียวกัน ที่อยู่ในใจของเรา ไปเกิดที่ไหน เป็นอะไร เป็นเทพ เป็นมนุษย์ เป็นเดรัจฉานก็มีกิเลสตัวเดียวกัน มีความผูกพันที่เหมือนกัน
 
ถ้าต้องการความสุขที่แท้จริง ก็ต้องมีความเด็ดเดี่ยว มีความกล้าหาญ กล้าที่จะตัดความสุขเล็กๆน้อยๆที่มีอยู่ แล้วบากบั่นต่อสู้สร้างความสุขใจขึ้นมา ที่ยากก็เพราะไม่เคยทำ ไม่ชำนาญ เวลาต้องทำอะไรที่ไม่เคยทำ จะไม่ถนัด แต่พอฝึกทำไปเรื่อยๆแล้วต่อไปก็จะถนัด แล้วก็จะกลายเป็นของง่ายไป เหมือนกับถนัดมือขวาแล้วต้องมาใช้มือซ้าย จะรู้สึกลำบากไม่ค่อยถนัด แต่ถ้าจำเป็น สมมุติว่ามือขวาเสียไปใช้ไม่ได้ เหลือแต่มือซ้าย ก็ต้องหัดใช้จนได้ การหาความสุขภายในจิตใจ ทำจิตใจให้สงบก็เป็นแบบเดียวกัน พวกเราถนัดสร้างความฟุ้งซ่าน สร้างความวุ่นวายยู่ตลอดเวลา ชีวิตของเราจึงมีแต่ความฟุ้งซ่าน มีแต่ความวุ่นวายอยู่เรื่อยๆ แต่ไม่รู้ว่าเราเป็นผู้สร้างมันขึ้นมา ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาเราไม่เคยหยุดคิดดูเลยว่าใจของเราเป็นอย่างไร อะไรทำให้สุข อะไรทำให้ทุกข์  ให้ฟุ้งซ่าน ให้วุ่นวาย มีแต่ปล่อยให้เหตุการณ์ต่างๆฉุดลากเราไป ให้ความอยากต่างๆพาไป ใจจึงกลิ้งเหมือนกับลูกฟุตบอลที่ถูกนักเตะฟุตบอล ๒ ฝ่าย คอยแย่งเตะกัน เตะไปเตะมา ไม่ให้อยู่นิ่งเฉย
 
เหตุการณ์ต่างๆในชีวิตของเราก็คอยเตะใจให้ไปทำโน่นทำนี่ ไปเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ทำมาหากิน ดูแลคนนั้นคนนี้ พอไม่มีอะไรต้องทำก็อยู่เฉยๆไม่ได้ ก็หาเรื่องทำอีก ไปดูหนังไปเที่ยว ไปที่นั่นมาที่นี่ ใจจึงไม่มีเวลาที่จะหยุดนิ่ง เหมือนกับลูกฟุตบอลที่ไม่เคยอยู่นิ่ง ถูกฝ่ายนั้นเตะ แล้วก็ถูกฝ่ายนี้เตะ เตะไปเตะมาอยู่เรื่อยๆ เพราะไม่กำหนดเป้าหมายชีวิตของเรา ว่าจะไปทางไหน ปล่อยไปตามยถากรรม มีแต่หวังให้ดีขึ้นเจริญขึ้น แต่จะดีขนาดไหนเจริญขนาดไหน ในที่สุดก็ต้องจบอยู่ดี เพราะเป็นอนิจจัง มีเกิดมีดับ มีเจริญแล้วก็มีเสื่อม ไม่ว่าจะเป็นลาภ ยศ สรรเสริญ สุขชนิดใดก็ตาม ได้มามากน้อยเพียงไรสักวันหนึ่งก็ต้องหมดไป จากเราไป หรือเราจากมันไป ถ้าไม่ได้มาเจอพระพุทธศาสนาเราจะไม่รู้เรื่องของเราเลย จึงเป็นบุญวาสนาของเราที่ได้มาเจอศาสนา มีบุญเก่าคอยผลักให้มาทางนี้กัน ถึงแม้จะไม่ถนัด ถึงแม้จะลำบากตามความรู้สึกของจิตใจ แต่อย่างน้อยก็รู้ว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ และควรทำให้มากยิ่งขึ้นไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติธรรม ที่จะทำให้ศรัทธาแก่กล้า ให้มีกำลังที่จะกล้าตัด กล้าสละสิ่งต่างๆ ความสุขต่างๆที่มีอยู่ เพื่อแลกกับความสุขที่ดีกว่า
 
การทำบุญทำทาน การรักษาศีลนี้ก็ดี แต่ไม่พอ ต้องปฏิบัติธรรมด้วย เมื่อได้ฝึกทำสมาธิจนจิตรวมลงสู่ความสงบ แม้จะสงบเพียงชั่วขณะเดียวก็ตาม จะเห็นเลยว่า ความสุขที่ได้จากการปฏิบัติกับความสุขที่เคยมีอยู่นั้นเทียบกันไม่ได้เลย เหมือนฟ้ากับดิน จะทำให้มีกำลังจิตกำลังใจ มีความกล้าหาญที่จะตัดสิ่งต่างๆที่ให้ความสุขกับเรา เพราะรู้แล้วว่าสู้สิ่งที่จะได้มาไม่ได้ ถ้าได้ปฏิบัติจนเห็นผลแล้ว แม้เพียงชั่วขณะเดียว ก็จะจุดประกายแห่งความศรัทธาความเพียรให้แก่กล้า ที่จะทำในสิ่งที่ไม่เคยคิดว่ากล้าทำมาก่อน กล้าตัดกล้าละ กล้าอยู่แบบขอทาน กล้าอยู่แบบไม่มีอะไร อยู่ที่ไหนก็ได้ นอนที่ไหนก็ได้ กินอะไรก็ได้ สิ่งเหล่านี้จะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป ตอนนี้พวกเรายังไม่ได้พบกับความสุขแบบนั้น ยังติดอยู่กับความสุขเล็กๆน้อยๆ กับการกินการอยู่ พอไปอยู่วัด อยู่แบบเรียบๆง่ายๆ กินตามมีตามเกิด จึงไม่ดูดดื่มใจ ไม่มีอะไรดึงดูดให้ไป เพราะยังไม่ได้สัมผัสกับความสุขที่มีอยู่ภายในใจ จึงอยากจะให้มุ่งสู่ความสุขใจนี้ พยายามนั่งทำสมาธิให้ได้ มีเวลาว่างก็พยายามนั่งอยู่เรื่อยๆ เวลาทำอะไรก็ให้มีสติกำกับอยู่เสมอ พยายามดึงจิตไว้ อย่าให้ไปคิดเรื่องราวต่างๆที่ไม่จำเป็น ขณะนี้กำลังทำอะไรอยู่ ก็ให้อยู่กับเรื่องที่กำลังทำก็พอ ให้รู้อยู่กับเรื่องที่กำลังทำ เรื่องที่ผ่านไปแล้วเมื่อวานนี้หรือเมื่อสักครู่นี้ ก็อย่าไปคิด เรื่องที่จะตามมาต่อไปข้างหน้า เมื่อยังไม่ถึงเวลาก็อย่าไปคิด ให้อยู่กับปัจจุบัน ถ้าทำอย่างนี้แล้วจะมีเครื่องมือคอยดึงจิตไว้
 
ถ้ามีสติแล้วเวลาทำสมาธิก็จะสงบง่าย ถ้าไม่มีสติก็เหมือนกับบังคับให้ลิงนั่งเฉยๆ บังคับอย่างไร พูดอย่างไร บอกอย่างไร มันก็ไม่ฟัง แต่ถ้าเอาเชือกมาผูกมันไว้กับเสา ฟังหรือไม่ฟังมันก็ไปไหนไม่ได้ นอกจากเชือกเส้นมันเล็ก แล้วแรงของลิงมีมากกว่า เดี๋ยวมันก็ดึงเชือกให้ขาดได้ เชือกก็เปรียบเหมือนกับสติที่จะคอยดึงจิตไว้ จิตก็เป็นเหมือนลิง เวลาฝึกใหม่ๆยังเป็นเชือกกล้วยอยู่ พอจิตกระตุกปั๊บหนึ่งก็ขาดแล้ว พอให้อยู่กับพุทโธๆได้พักเดียว ก็คิดเรื่องนั้นคิดเรื่องนี้แล้ว แสดงว่าสติขาดไปแล้ว เชือกขาดไปแล้ว ก็ไม่เป็นไร ก็ดึงกลับมาใหม่ พอรู้ว่าไม่ได้อยู่กับพุทโธแล้ว ยังคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็กลับมาหาพุทโธใหม่ ถ้าไม่ชินกับพุทโธใหม่ๆจะรู้สึกว่าเหนื่อย เพราะต้องบริกรรมไปคำเดียว ถ้าชอบสวดมนต์ก็สวดมนต์ไปก่อนก็ได้ ให้มีสติอยู่กับบทสวดมนต์ แต่ไม่ต้องสวดออกเสียง ไม่ต้องนั่งพนมมือ ไม่ต้องนั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิไป แทนที่จะใช้พุทโธก็ใช้บทสวดมนต์แทน สวดไปภายในใจ สวดไปเรื่อยๆจนรู้สึกอยากจะหยุด ก็บริกรรมพุทโธต่อ หรือดูลมหายใจเข้าออกก็ได้ บางทีสวดๆไปแล้วก็วูบนิ่งไปเลยก็มี ถ้าจิตไม่ไปคิดเรื่องอื่น อยู่กับการสวดมนต์อย่างเดียว
 
สิ่งสำคัญที่สุดก็คือต้องตั้งสติอยู่เรื่อยๆ ถ้าจะรอตั้งสติตอนที่นั่งสมาธิก็จะไม่พอ เราต้องตั้งสติตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นจนหลับเลย ให้สติเป็นเหมือนยามเฝ้านักโทษ คอยเฝ้าดูไม่ให้คลาดสายตาไป ให้สติอยู่กับร่างกายตลอดเวลา ไม่ว่าจะทำอะไรก็ให้อยู่ตรงนั้น ถ้าทำอย่างนี้ได้แล้วจะมีสติ มีกำลังที่จะต่อสู้กับความเผลอได้ ให้อยู่กับพุทโธ อยู่กับลมหายใจ ก็จะอยู่ ถึงแม้จะเผลอไปบ้าง พอรู้ตัวก็ดึงกลับมาได้เลย ต่อไปก็จะอยู่อย่างต่อเนื่อง แล้วก็จะสงบลงไป เมื่อจิตคิดปรุงน้อยลงไป ความสงบก็จะมีมากขึ้น ที่ไม่สงบก็เพราะจิตไม่หยุดคิด คิดเรื่องนู้นคิดเรื่องนี้ไปเรื่อย แต่ถ้าคิดแบบสวดมนต์อย่างนี้ไม่เป็นไร คำสวดมนต์หรือพุทโธเป็นความคิดที่จะทำให้จิตสงบ ความคิดมี ๒ ลักษณะ คิดแล้วให้เกิดความฟุ้งซ่านและคิดแล้วให้เกิดความสงบ คิดพุทโธ คิดบทสวดมนต์ คิดถึงความแก่ ความเจ็บ ความตาย เกิดแล้วต้องแก่เจ็บตายเป็นธรรมดา คิดไปเรื่อยๆ เราก็ตาย คนนั้นก็ตาย คนนี้ก็แก่ คนนี้ก็เจ็บ คนนั้นก็ตายพิจารณาไปตรงไหน ก็จะเห็นว่ามีอยู่กับทุกๆคน ถ้าพิจารณาแบบนี้ คิดแบบนี้ เรียกว่าเป็นมรรค ก็จะทำให้จิตสงบ ดังที่หลวงตาเขียนในหนังสือว่า ปัญญาอบรมสมาธิ คือคิดในทางไตรลักษณ์นี้เอง คิดไปในทางอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็จะทำให้จิตสงบได้ เอาความคิดทางด้านปัญญามาทำจิตให้สงบ ถ้าไม่ถนัดกับการบริกรรมพุทโธ ไม่ถนัดกับการสวดมนต์ หรือดูลมหายใจเข้าออก ก็พิจารณาดูความไม่เที่ยงแท้แน่นอน แล้วจิตมันก็จะคลายความกังวล คลายความห่วงใย เมื่อไม่มีความกังวลความห่วงใย ก็จะสงบตัวลง
 
นี่คือวิธีทำจิตให้สงบ ต้องมีสติเป็นพื้นฐานคอยกำกับจิต ให้อยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง ถ้าจะคิดก็คิดในทางธรรมะ คิดเรื่องไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วรับรองได้ว่า ไม่ช้าก็เร็วจิตจะต้องสงบลง เมื่อสงบแล้วก็จะมีกำลังจิตกำลังใจ เพราะความสงบเป็นความมหัศจรรย์ใจอย่างยิ่ง เหมือนกับเวลาแบกของหนักๆไว้บนไหล่ แล้วเอาวางลง ได้พักได้กินน้ำแล้ว จะรู้สึกเบาอกเบาใจ ชื่นอกชื่นใจ ทุกวันนี้เรายังหนักใจอยู่ตลอดเวลา ไม่เรื่องนั้นก็เรื่องนี้ ถ้าไม่มีเรื่องก็ไปหาเรื่องมาแบกกันเพราะอยู่เฉยๆไม่ได้ ต้องหาเรื่องอยู่เรื่อยๆ จิตถ้าไม่ได้คิดแล้วจะรู้สึกว่าขาดอะไรไป หยุดไม่เป็น จึงต้องมาฝึกทำจิตให้สงบ เมื่อนิ่งแล้วก็จะรู้ว่าความสุขอยู่ที่ไหน จะเข้าใจความหมายที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า สุขที่เหนือกว่าความสงบนั้นไม่มี ความสุขที่แท้จริงอยู่ตรงนี้ เป็นความสุขที่อยู่กับเราตลอดเวลา ไม่ต้องไปหาอะไรมาให้ความสุขกับเรา เพราะหาอะไรมาก็เท่ากับหาความทุกข์มาด้วย เพราะเป็นเหรียญสองด้าน ด้านหนึ่งก็เป็นความสุข อีกด้านหนึ่งก็เป็นความทุกข์ เพราะด้านหนึ่งเจริญ อีกด้านหนึ่งก็เสื่อม มาคู่กัน
 
นอกจากการทำบุญให้ทาน การรักษาศีลแล้ว ก็ควรฝึกทำสมาธิ ฝึกตั้งสติอยู่เรื่อยๆ มีโอกาสก็ไปอยู่วัดปฏิบัติ วัดที่มีความสงบเงียบ แล้วก็หัดอยู่ตามลำพัง เพราะการฝึกสตินี้ ถ้าอยู่ด้วยกันหลายๆคนแล้วจะทำไม่ได้ เพราะจิตจะต้องไปอยู่ที่คนนั้นคนนี้ เรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่ถ้าอยู่คนเดียวแล้วก็ไม่มีที่จะไป ไม่มีอะไรมาดึงจิตไป นอกจากความคิดในใจ บางทีไปอยู่ในป่าในเขาแล้ว ก็ยังอดที่จะคิดถึงบ้านไม่ได้ คิดถึงลูก คิดถึงสามี คิดถึงภรรยาไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็ยังพอดึงไว้ได้ ต่อสู้ได้ แต่ถ้ามีคนอยู่ร่วมกันนี้ เดี๋ยวก็ชวนกันคุย ทำสิ่งนั้นทำสิ่งนี้ ก็จะดึงความสนใจไปจากตัวเรา ทำให้ขาดสติไป จึงต้องพยายามหาที่สงบสงัดวิเวกอยู่คนเดียว เมื่อได้ฝึกทำแล้ว จะมีนิสัยมาทางนี้ ต่อไปเวลาอยู่กับใครก็ยังดึงใจเราไว้ได้ ไม่ลอยตามเขาไป ถ้าลอยไปบ้างก็แค่ชั่วขณะหนึ่ง เพื่อให้รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้น มีอะไรจำเป็นจะต้องรู้ เมื่อรู้แล้วก็กลับมาอยู่ที่เดิม แต่ในเบื้องต้นพอไปรับรู้เรื่องแล้วก็จะไหลไปเลย เป็นลูกโซ่ไปเลย เห็นคนนั้นปั๊บก็คิดถึงเรื่องของเขา ปัญหาของเขา สามีของเขา ภรรยาของเขา ลูกของเขา ต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ไปเลย แต่ถ้าได้ฝึกทำสติจนเป็นแล้ว ต่อไปเวลาเห็นใครพอรู้ว่าเป็นใครก็จบ  แล้วก็ดึงกลับมาอยู่ที่ตัวเรา นอกจากมีความจำเป็น มีธุระที่จะต้องคิดหรือพูดคุยอะไรกัน ก็ทำไป แต่เมื่อเสร็จแล้วก็เหมือนกับปิดสวิตช์ไฟ เวลาเข้าห้องน้ำก็เปิดไฟ พอเสร็จธุระแล้วออกจากห้องน้ำก็ดับไฟ ไม่เปิดไฟทิ้งไว้
 
จิตก็เป็นอย่างนั้น ถ้าไม่เคยฝึกมาก่อนก็จะไหลไปกับเรื่องต่างๆตลอดเวลา แต่ถ้าได้ตั้งสติอยู่เรื่อยๆแล้ว ต่อไปจะไม่ไหลไปตามกระแสของเรื่องต่างๆที่มากระทบมาสัมผัสกับใจ ใจจะไม่แกว่งไปมาก จะไม่ฟุ้งซ่าน เวลาจะทำให้สงบก็จะง่าย เพราะได้ทำไว้ครึ่งหนึ่งแล้วในขณะที่ยังไม่ได้นั่งสมาธิ ในขณะที่ทำกิจกรรมต่างๆ ก็มีสติอยู่กับกิจกรรมที่ทำอยู่ อย่างนี้ก็ถือว่ากำลังทำสมาธิแบบหลวมๆ เป็นรองพื้นไว้ก่อน พอมีเวลามีโอกาสอยู่ตามลำพัง ก็กำหนดจิตให้อยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง จิตก็จะไม่ไปไหน จะอยู่กับอารมณ์นั้น ไม่นานก็สงบ จะสงบมากสงบน้อยก็ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติมามาก ปฏิบัติอย่างช่ำชอง ก็จะสงบมากสงบนาน ก็เหมือนกับการรับประทานอาหาร ถ้ารับประทานน้อยก็อิ่มน้อย ถ้ารับประทานมากก็อิ่มมาก ถ้าปฏิบัติมากๆและปฏิบัติถูก คือมีสติอยู่กับอารมณ์ที่กำหนดไว้อย่างต่อเนื่อง ก็จะสงบได้ง่ายและนาน นี่คือตัวสำคัญที่จะจุดประกายแห่งศรัทธาความเพียรให้เกิดขึ้นมา เพราะรู้แล้วว่า รางวัลที่จะได้รับจากการปฏิบัติ ที่ลำบากยากเย็นนี้มันคุ้มค่า เหมือนกับซื้อล็อตเตอรี่ ถึงจะไม่เคยถูกเลย แต่ก็รู้ว่าถ้าถูกเพียงครั้งเดียวก็คุ้มค่า ซื้อทีละร้อยสองร้อย แต่ถูกทีได้เป็นล้าน ทำให้มีกำลังใจที่จะซื้ออยู่เรื่อยๆ บางทีซื้อมาตั้งยี่สิบปีสามสิบปีก็ยังไม่เคยถูก แต่ก็ไม่ถอย เพราะยังมีความหวังอยู่
 
ฉันใดการบำเพ็ญสมาธิก็เป็นอย่างนี้เหมือนกัน การทำจิตใจให้สงบมีคุณค่ามาก เพียงแต่เราไม่เห็นเท่านั้นเอง ก็เลยทำให้ไม่มีกำลังจิตกำลังใจ แต่ถ้าได้เห็นผลแม้แต่ครั้งเดียวแล้ว ต่อไปไม่ต้องมีใครมาชวน ไม่ต้องมีใครมาบังคับ จิตจะเรียกร้องของมันเอง อยากจะทำ มีฉันทะ มีวิริยะตามมา จึงต้องพยายามทำให้ได้ เมื่อทำได้แล้วต่อไปก็จะสบาย จะมีความสุข มีความรื่นเริงใจ ไม่มีอะไรจะสุขเท่ากับการปฏิบัติธรรม ถ้าปฏิบัติได้แล้วมีแต่จะทำให้ใจเบา มีความสุขเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ความทุกข์ความกังวลใจ ความเดือดเนื้อร้อนใจต่างๆจะถอยออกไปจากจิตจากใจ ไม่เหมือนกับสิ่งอื่นๆในโลกนี้ ต่อให้ได้มามากเท่าไหร่ ความทุกข์ความกังวลใจก็ไม่ได้น้อยถอยลงไป มีแต่เพิ่มขึ้นตามสิ่งที่มีนั่นแหละ มีอะไรก็ต้องกังวล ต้องห่วงต้องหวง แต่มีความสงบมากน้อยเท่าไร ความกังวลความห่วงความหวงก็น้อยลงไปเรื่อยๆ จนไม่หลงเหลืออยู่เลย จึงขอให้ท่านทั้งหลายจงมีความมั่นใจในการบำเพ็ญ สิ่งที่ทำมานี้ก็ถูกแล้ว การให้ทานก็ถูกแล้ว ไม่ควรเสียดายข้าวของเงินทองที่มีเหลือใช้ ไม่ควรเอาไปใช้ในทางที่จะส่งเสริมให้เกิด ความโลภ ความโกรธ ความหลง ควรจะใช้ไปในทางที่สกัดกั้น คือการทำบุญให้ทาน ส่วนการรักษาศีลก็เป็นสิ่งที่จำเป็น ถ้าต้องการรักษาให้ใจไม่ให้ไปมีเรื่องมีปัญหา เวลาทำอะไรผิดศีลผิดธรรมแล้วใจจะวุ่นวาย มีความรุมร้อน จึงต้องรักษาศีลไป ทำทานไป แล้วก็ควรจะภาวนา ฝึกทำสมาธิ ฝึกตั้งสติอยู่เรื่อยๆ ถ้าทำอย่างนี้ได้แล้วไม่ช้าก็เร็วสักวันหนึ่ง ก็จะได้สัมผัสกับความสงบที่เกิดจากการปฏิบัติ แล้วต่อไปก็จะสบาย จะปฏิบัติไปได้เรื่อยๆ เวลาประสบกับความทุกข์ต่างๆ เช่นความแก่ ความเจ็บ ความตาย ก็จะไม่สร้างความวุ่นวายให้กับจิตใจ จิตจะนิ่ง เป็นเหมือนก้อนหิน ไม่มีอะไรสามารถทำให้หวั่นไหวได้ ก็อยากจะชวนเชิญให้พยายามปฏิบัติตามทางนี้ เป็นทางเดียวที่จะพาไปสู่ความร่มเย็นเป็นสุข ความเจริญอย่างแท้จริง จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้

         
......................................................


ขอขอบคุณที่มาจาก : 
 เว็บ พระธรรมเทศนา
 
ภาพประกอบจาก : พระพุทธตรีโลกเชฏฐ์
พระประธานในพระอุโบสถวัดสุทัศน์



Create Date : 13 กุมภาพันธ์ 2566
Last Update : 13 กุมภาพันธ์ 2566 8:40:21 น. 21 comments
Counter : 606 Pageviews.

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณหอมกร, คุณฟ้าใสวันใหม่, คุณThe Kop Civil, คุณโอน่าจอมซ่าส์, คุณโฮมสเตย์ริมน้ำ, คุณtoor36, คุณปรศุราม, คุณอุ้มสี, คุณทนายอ้วน, คุณRain_sk, คุณสายหมอกและก้อนเมฆ, คุณTui Laksi, คุณปัญญา Dh, คุณมาช้ายังดีกว่าไม่มา, คุณเนินน้ำ, คุณSleepless Sea, คุณสองแผ่นดิน, คุณhaiku, คุณแมวเซาผู้น่าสงสาร, คุณอาจารย์สุวิมล, คุณร่มไม้เย็น, คุณSweet_pills, คุณกะว่าก๋า, คุณkae+aoe, คุณEmmy Journey พากิน พาเที่ยว, คุณtuk-tuk@korat, คุณกาปอมซ่า, คุณนายแว่นขยันเที่ยว, คุณJohnV, คุณข้าน้อยคาราวะ


 
อนุโมทนาบุญวันพระแรม 8 ค่ำจ้า



โดย: หอมกร วันที่: 13 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา:9:34:02 น.  

 
สาธุธรรมค่ะ


โดย: ฟ้าใสวันใหม่ วันที่: 13 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา:10:02:47 น.  

 


โดย: The Kop Civil วันที่: 13 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา:10:07:05 น.  

 
พบกันทุกวันพระ..ธรรมมะสวัสดิ์ค่ะพี่พี


โดย: โอน่าจอมซ่าส์ วันที่: 13 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา:10:21:20 น.  

 
หลายๆ อย่างทำอาจไม่เห็น แต่ก็ใช่ว่าจะหมายถึง ไม่ได้ทำ มันมีค่าในการกระทำครับ


โดย: คุณต่อ (toor36 ) วันที่: 13 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา:11:09:07 น.  

 
สาธุ สาธุ สาธุ


โดย: อุ้มสี วันที่: 13 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา:12:07:33 น.  

 


โดย: ทนายอ้วน วันที่: 13 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา:12:28:20 น.  

 
ธรรมะ สวัสดีค่ะ สาธุค่ะ


โดย: Tui Laksi วันที่: 13 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา:15:22:16 น.  

 
สาธุครับ

ขอบคุณกำลังใจด้วยครับ


โดย: ปัญญา Dh วันที่: 13 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา:15:46:03 น.  

 
ขอบคุณที่แบ่งปันค่ะ


โดย: เนินน้ำ วันที่: 13 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา:19:01:38 น.  

 
สาธุ


โดย: สองแผ่นดิน วันที่: 13 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา:22:35:37 น.  

 
สวัสดีวันแห่งความรักค่ะ คุณ **mp5**


โดย: โฮมสเตย์ริมน้ำ วันที่: 14 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา:14:28:00 น.  

 
สวัสดี จ้ะ น้อง เอ็ม

อนุโมทนา สาธุ ด้วยจ้ะ เรื่องของ เกิด แก่
เจ็บ ตาย เป็นสัจธรรม ไม่มีใครสามารถหลีกหนี
ได้อย่างแน่นอน ถ้ามีการเตรียมพร้อมอยู่เสมอ
ถึงเวลา จะได้ไปอย่างสงบ เนาะ
โหวดหมวด ข้อคิดและธรรมะ


โดย: อาจารย์สุวิมล วันที่: 14 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา:17:12:01 น.  

 
ใจไม่ดับ
เป็นคำที่น่าสนใจเลยครับ



โดย: กะว่าก๋า วันที่: 14 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา:20:59:00 น.  

 
สวัสดีครับ
.
ขอบคุณที่แวะไปเยี่ยมบล็อกและส่งกำลังใจเช่นกันนะครับ
.


โดย: มาช้ายังดีกว่าไม่มา วันที่: 14 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา:21:28:13 น.  

 


โดย: Sweet_pills วันที่: 15 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา:0:50:56 น.  

 

อรุณสวัสดิ์ครับ



โดย: กะว่าก๋า วันที่: 15 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา:5:26:40 น.  

 
สาธุ


โดย: kae+aoe วันที่: 15 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา:8:11:26 น.  

 
ปอมก็หมั่นพิจารณาเสมอ

อะไรที่อยากทำปอมรีบทำ โดยเฉพาะทำเรื่องดีๆกับคนรอบตัว จะได้ไม่เสียใจว่ารูัอย่างนี้ควรรีบทำเสียนานแล้ว


โดย: กาปอมซ่า วันที่: 16 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา:20:38:07 น.  

 
ขอบคุณคุณพีมากค่ะสำหรับกำลังใจ


โดย: Sweet_pills วันที่: 16 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา:22:47:40 น.  

 
สวัสดีครับคุณ**mp5**
.
ขอบคุณที่ไปส่งกำลังใจให้นะครับ
.


โดย: มาช้ายังดีกว่าไม่มา วันที่: 18 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา:22:45:59 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

**mp5**
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 88 คน [?]




สวัสดีครับ

ขอส่งความสุขให้กับทุกคน




New Comments
Friends' blogs
[Add **mp5**'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.