Group Blog
 
<<
มีนาคม 2562
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
12 มีนาคม 2562
 
All Blogs
 
12 มีค 62 My first trip to Lord Buddha's Place Day1; 28 Jan 2019 ต้นไทรที่นางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาส




                   เขียนบันทึกต่อ  ก่อนที่จะลืมเลือนไป  ความจริงก็คือ  สังเวชนียสถานซากปรักหักพังเหล่านี้   มองดูคล้ายๆกัน  บ้านเมืองก็คล้ายๆกัน    นอกจากสถานที่ชอบหรือมีจุดเด่นมากๆก็จะจำได้แม่นหน่อยไม่ต้องรื้อฟื้นนานนักว่าไปวันไหนนั่งรถไปยังไง    ส่วนความรู้จากแต่ละสถานที่นั้น  ไกด์อินเดียแกก็พยายามจะอธิบายละนะ  แต่ว่านิสัยเสียอย่างหนึ่งของเราก็คือ ไม่ค่อยชอบฟังไกด์สักเท่าไหร่  เจอสถานที่ก็กระโดดเข้าใส่เข้าไปถ่ายภาพ  ฟังหูซ้ายออกหูขวา  และอีกอย่างไกด์แกก็เป็นฮินดูความรู้พุทธศาสนาคงไม่ลึกซึ้งมากนัก   

                    ก่อนที่จะไปทัวร์ ทางบริษัทแนะนำให้ มีพระสงฆ์ที่อินเดียร่วมขบวนไปบรรยายธรรมให้อย่างละเอียดด้วย  ค่าใช้จ่ายของพระไม่สูงเท่าฆราวาสอย่างพวกเราเพราะบริษัทก็เหมือนได้ทำบุญไปด้วย   แต่ไม่เอาดีกว่าไปกับพระสงฆ์ไม่ค่อยสะดวก   ธรรมเนียมไทยต้องดูแลอุปัฏฐากจะไปเป็นภาระอีก   อยากนั่งเงียบๆใช้ใจเราสัมผัสว่าจะอะไรยังไง 

 
  
                   หลังจากชมสถานที่ที่เคยเป็นบ้านนางสุชาดา   ขับรถไปไม่ไกล  ไปยังต้นไทร  ที่นางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาสแด่พระพุทธองค์      สิ่งก่อสร้างคล้ายเจดีย์ขาวๆนั่นเป็นของศาสนาฮินดู 

  


ณ หมู่บ้านอันตั้งอยู่ในตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ยังมีธิดาของเศรษฐีผู้หนี่งนามว่า สุชาดาในวัยสาวนางเคยอธิษฐานต่อเทวดาอันสิงสถิตอยู่ ณ ต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่งว่า 
    
     “ถ้าข้าพเจ้าได้สามีอันมีฐานะและชาติตระกูลเสมอกันกับได้บุตรคนแรกเป็นผู้ชาย
      จะกระทำบวงสรวงต่อรุกขเทวดา” 

เมื่อนางได้สมความประสงค์ทุกประการในเวลาต่อมา จึงปรารถนาที่จะกระทำพลีกรรม คือบวงสรวงตามปฏิญาณหรือคำสัตย์ที่ตั้งไว้

ประวัติ นางสุชาดา (มารดาพระมหาสาวก ยสะ)
เอตทัคคผู้ถึงสรณะก่อน

นางสุชาดาเป็นธิดาของเสนียะ(เสนานิกุฏุมพี) ผู้มีทรัพย์ซึ่งเป็นนายใหญ่แห่งชาวบ้านเสนานิคม ตำบลอุรุเวลา และเป็นมารดาของพระยสมหาสาวก.

ในอดีตกาล ครั้งพระพุทธเจ้านามว่า ปทุมุตตระ ได้มาตรัสรู้ในกรุงหังสวดี ในครั้งนั้นนางสุชาดาได้ไปฟังธรรมกถาของพระศาสดา เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาอุบาสิกาผู้หนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าพวกอุบาสิกาผู้ถึงสรณะ(พระพุทธ,พระธรรม,พระสงฆ์) ก่อนอุบาสิกาทั้งปวง เมื่อนางเห็นอุบาสิกานั้นได้รับการยกย่องนางจึงปรารถนาตำแหน่งนั้น จึงทำกุศลให้ยิ่งยวดขึ้นไป เพื่อให้สมปรารถนาในตำแหน่งนั้น

นางเวียนว่ายอยู่ในภพเทวดาและมนุษย์ถึงแสนกัป บังเกิดในครอบครัวของกุฎุมพีชื่อเสนียะ ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ก่อนพระศาสดาของเราบังเกิด เจริญวัยแล้วได้ทำความปรารถนาไว้ ณ ต้นไทรต้นหนึ่งว่า

     “ถ้าข้าพเจ้าได้สามีอันมีฐานะและชาติตระกูลเสมอกันกับได้บุตรคนแรก
     เป็นผู้ชายจะกระทำบวงสรวงต่อรุกขเทวดา” 


เมื่อนางได้สมความประสงค์ทุกประการในเวลาต่อมา จึงปรารถนาที่จะกระทำพลีกรรม คือบวงสรวงตามปฏิญาณหรือคำสัตย์ที่ตั้งไว้ #องฺ.อ. ๑/๒/๘๓-๘๖; วินย. ๔/๒๗-๒๙; อป.อ. ๘/๑/๑๓๗-๑๔๐

"นางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาส"


ครั้นถึงเช้าวันเพ็ญวิสาขะ พระองค์ทรงทำทุกรกิริยาครบปีที่ ๖ ในวันวิสาขปุณณมีหรือ วันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖ อันเป็นวันครบรอบพระชันษา ๓๕ พรรษาของพระบรมโพธิสัตว์มหาบุรุษ 

ซึ่งในครั้งนี้นางสุชาดามีความประสงค์จะทำพลีกรรมในวันเพ็ญเดือน ๖ นางจึงได้สั่งให้บ่าวไพร่ช่วยกันจัดแจงหุงข้าว มธุปายาส คือ หุงข้าวด้วยนมโค โดยวิธีการเตรียมทำข้าวมธุปายาสของนางมีดังนี้ นางให้เลี้ยงแม่วัวนมไว้ในป่าชะเอมจำนวน ๑,๐๐๐ ตัว แล้วให้แม่วัวนม ๕๐๐ ตัว ดูดกินน้ำนมของแม่วัวนม ๑,๐๐๐ ตัวนั้น แล้วให้แม่วัวนม ๒๕๐ ตัว ดื่มกินน้ำนมของแม่วัวนม ๕๐๐ ตัวนั้น แล้วให้แม่วัวนม ๑๒๕ ตัว ดูดกินน้ำนมของแม่วัวนม ๒๕๐ ตัวนั้น แล้วให้แม่วัวนม ๖๓ ตัว ดูดกินน้ำนมของแม่วัวนม ๑๒๕ ตัวนั้น แล้วให้แม่วัวนม ๓๒ ตัว ดูดกินน้ำนมของแม่วัวนม ๖๓ ตัวนั้น แล้วให้แม่วัวนม ๑๖ ตัว ดูดกินน้ำนมของแม่วัวนม ๓๒ ตัวนั้น และในท้ายที่สุดนางให้แม่วัวนม ๘ ตัว ดื่มกินน้ำนมของแม่วัวนม ๑๖ ตัวนั้น หลังจากนั้นนางก็จะนำแม่วัวนมทั้ง ๘ ตัว มารีดเอาน้ำนม และนำน้ำนมมาเคี่ยวจนข้นเป็นนมข้นหวาน ทำให้มีรสอร่อยมาก เรียกว่า "ขีรปริวรรต" และในวันที่นางให้รีดนมนั้น ลูกวัวไม่กล้าเข้าใกล้แม่วัวเหล่านั้นเลย พอนางสุชาดาน้อมภาชนะเข้าไปรองใต้ท้องแม่โคเท่านั้น น้ำนมก็หลั่งออกมาจากเต้านมของแม่วัวเอง นางเห็นความอัศจรรยดังนั้นก็เกิดความปิติยินดีอย่างยิ่ง จึงตักน้ำนมด้วยมือของตนเองใส่ลงในภาชนะใหม่ แล้วรีบก่อไฟด้วยมือของตนเอง

เมื่อนางกำลังหุงข้าวปายาสนั้นอยู่ ฟองใหญ่ ๆ ผุดขึ้นไหลวนเป็นทักษิณาวัฏ น้ำนมแม้จะแตกออกจากกัน แม้สักหยาดเดียว ก็ไม่กระเด็นออกไปข้างนอก ควันไฟแม้มีประมาณน้อยก็ไม่ตั้งขึ้นจากเตาไฟ

ในยามนั้น ท้าวจตุโลกบาลมาถือการอารักขาที่เตาไฟ ท้าวมหาพรหมกั้นฉัตร ท้าวสักกะทรงนำดุ้นฟืนมาใส่ไฟให้ลุกโพลงอยู่ เทวดาทั้งหลายรวบรวมเอาโอชะที่สำเร็จแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายในทวีปใหญ่ทั้ง ๔ มีทวีปน้อยสองพันเป็นบริวารมาใส่ลงในข้าวปายาสนั้น ด้วยเทวานุภาพของตน ๆ เสมือนคั้นรวงผึ้งซึ่งติดอยู่ที่ท่อนไม้ถือเอาต้นน้ำหวานฉะนั้น จริงอยู่ ในเวลาอื่น ๆ เทวดาทั้งหลายใส่โอชะในทุก ๆ คำข้าว แต่ในวันบรรลุพระสัมโพธิญาณ และวันปรินิพพานได้ใส่ลงในหม้อเลยทีเดียว

นางสุชาดาได้เห็นความอัศจรรย์มิใช่น้อย ซึ่งปรากฏแก่ตน ณ ที่นั้น ในวันเดียวเท่านั้น จึงเรียกนางปุณณาทาสีมาพูดว่า

     "นี่แน่ะแม่ปุณณา วันนี้เทวดาของพวกเราน่าเลื่อมใส่ยิ่งนัก เพราะว่าเราไม่เคยเห็น
       ความอัศจรรย์เห็นปานนี้ ในเวลามีประมาณเท่านี้ เธอจงรีบไปปัดกวาดเทวสถาน
      โดยเร็ว นางปุณณาทาสีรับคำของนางแล้วรีบด่วนไปยังโคนไม้

ในตอนกลางคืนวันนั้น แม้พระโพธิสัตว์ก็ได้ทรงเห็นมหาสุบินนิมิตร ๕ ประการ เมื่อทรงใคร่ครวญดู จึงทรงกระทำสันนิษฐานว่า วันนี้ เราจักได้เป็นพระพุทธเจ้าโดยไม่ต้องสงสัย เมื่อราตรีนั้นล่วงไป จึงทรงกระทำการปฏิบัติพระสรีระ ทรงคอยเวลาภิกขาจาร

พอเช้าตรู่ จึงเสด็จมาประทับนั่งที่โคนไม้นั้น ยังโคนไม้ทั้งสิ้นให้สว่างไสวด้วยพระรัศมีของพระองค์

ลำดับนั้น นางปุณณาทาสีนั้นมาได้เห็นพระโพธิสัตว์ประทับนั่งที่โคนไม้ มองดูโลกธาตุด้านทิศตะวันออกอยู่ และต้นไม้ทั้งสิ้นมีวรรณดุจทองคำ เพราะพระรัศมีอันซ่านออกจากพระสรีระของพระองค์ นางปุณณาทาสีนั้นได้เห็นแล้วจึงมีความคิดดังนี้ว่า วันนี้ เทวดาของเราเห็นจะลงจากต้นไม้มานั่งเพื่อคอยรับพลีกรรมด้วยมือของตนเอง จึงเป็นผู้มีความตื่นเต้น รีบมาบอกเนื้อความนั้นแก่สุชาดา

นางสุชาดาได้ฟังคำของนางปุณณาทาสีนั้นแล้วมีใจยินดีพูดว่า ตั้งแต่วันนี้ไป เจ้าจงตั้งอยู่ในฐานะเป็นธิดาคนโตของเรา แล้วได้ให้เครื่องอลังการทั้งปวงอันสมควรแก่ธิดา

และก็เพราะเหตุปัจจัยของพระองค์ท่านที่ในวันจะได้บรรลุความเป็นพระพุทธเจ้า ควรจะได้ถาดทองใบหนึ่งซึ่งมีราคาหนึ่งแสน ด้วยเหตุปัจจัยนั้นจึงทำให้นางสุชาดาทำความคิดให้เกิดขึ้นว่า เราจักใส่ข้าวปายาสในถาดทองนางมีความประสงค์จะให้นำถาดทองราคาหนึ่งแสนมา เพื่อใส่ข้าวปายาสในถาดทองนั้น จึงรำพึงถึงโภชนะที่สุกแล้ว ข้าวปายาสทั้งหมดได้กลิ้งมาตั้งอยู่เฉพาะในถาด เหมือนน้ำกลิ้งมาจากใบปทุมฉะนั้น ข้าวปายาสนั้นได้มีปริมาณเต็มถาดหนึ่งพอดี นางจึงเอาถาดใบอื่นครอบถาดใบนั้นแล้วเอาผ้าขาวพันห่อไว้ ส่วนตนประดับประดาร่างกายด้วยเครื่องประดับทุกอย่างเสร็จแล้ว ทูนถาดนั้นบนศีรษะของตนไปยังโคนต้นไทรด้วยอานุภาพใหญ่ เห็นพระโพธิสัตว์แล้วเกิดความโสมนัสเป็นกำลัง สำคัญว่าเป็นรุกขเทวดา จึงโน้มตัวเดินไปตั้งแต่ที่ที่ได้เห็น ปลงถาดลงจากศีรษะแล้วเปิด (ผ้าคลุม) ออก เอาสุวรรณภิงคาร คนโทน้ำทองคำ ตักน้ำที่อบด้วยดอกไม้หอมแล้วได้เข้าไปหาพระโพธิสัตว์ยืนอยู่.

บาตรดินที่ฆฏิการมหาพรหมถวาย ไม่ได้ห่างพระโพธิสัตว์มาตลอดกาลมีประมาณเท่านี้ ขณะนั้นได้หายไปพระโพธิสัตว์ไม่ทรงเห็นบาตร จึงเหยียดพระหัตถ์ขวาออกรับน้ำ นางสุชาดาจึงวางข้าวปายาสพร้อมทั้งถาดลงบนพระหัตถ์ของพระมหาบุรุษ พระองค์ทรงแลดูนางสุชาดา กำหนดพระอาการ นางจึงได้ทูลว่า

     "ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ดิฉันบริจาคแก่ท่านแล้ว 
       ท่านจงถือเอาถาดนั้นไปกระทำตามความชอบใจเถิด ถวายบังคมแล้วทูลว่า

     "มโนรถของดิฉันสำเร็จแล้ว ฉันใด แม้มโนรถของท่านก็จงสำเร็จ ฉันนั้น 
       นางบริจาคถาดทองซึ่งมีราคาตั้งหนึ่งแสน เหมือนบริจาคใบไม้เก่าไม่เสียดายเลย
       แล้วหลีกไป"

ข้าวมธุปายาสของนางสุชาดา ถือเป็น  ภัตตาหารมื้อแรก หรือ การถวายอันสำคัญก่อนที่พระบรมโพธิสัตว์จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 

เมื่อนางสุชาดาทูลลากลับไปแล้ว พระบรมโพธิสัตว์จึงเสด็จจากร่มนิโครธพฤกษ์  ทรงถือถาดมธุปายาสนั้นเสด็จสู่ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เมื่อทรงพระวรกายแล้วจึงประทับนั่งริมฝั่งแม่น้ำนั้น บ่ายพระพักตร์สู่ถิ่นบรูพา คือตะวันออก ทรงปั้นข้าวมธุปายาสเป็นปั้น ๆ ได้ ๔๙ ปั้น แล้วเสวยจนหมด ซึ่งถือเป็นอาหารทิพย์อันจะคุ้มได้ถึง ๗ สัปดาห์ หรือ ๔๙ วัน ในการเสวยวิมุตติสุขภายหลังการตรัสรู้
(องฺ.อ. ๑/๒/๘๓-๘๖; วินย. ๔/๒๗-๒๙; อป.อ. ๘/๑/๑๓๗-๑๔๐)




กลุ่มคนขอทานที่พบเห็นได้ทุกที่ทั่วไป  ทุกคนพร้อมจะเปลี่ยนเป็นผู้ขอ
และหาเหตุผลควรแก่การให้ มาเล่าให้ฟัง






แม่น้ำเนรัญชราในปัจจุบันแห้งผาก  

 ในรุ่งเช้าของวันที่จะตรัสรู้ นางสุชาดาธิดาของคหบดีในอุรุเวลาเสนานิคม ได้นำข้าวปายาสใส่ลงใน ถาดทองมาถวายพระโพธิสัตว์ หลังจากที่พระองค์ทรงเสวยข้าวปายาสอันประณีตของนางสุชาดาแล้ว ทรง นำถาดทองมาลอยในแม่น้ำและทรงอธิษฐานจิตว่า “ ถ้าเราจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในวันนี้ ขอถาดทองใบ นี้จงลอยทวนกระแสน้ำไป” ถาดนั้นก็ลอยทวนกระแสน้ำไป เมื่อพระองค์เห็นเหตุการณ์เช่นนี้ ก็ทรงมีความ มั่นใจว่า จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าได้อย่างแน่นอน จึงได้เสด็จไปประทับยังป่าสาลวัน จนกระทั่งเวลาเย็น จึงได้เสด็จกลับมาที่ต้นโพธิ์ ระหว่างทางได้พบกับโสตถิยพราหมณ์ และได้รับหญ้าคาจำนวน 8 กำ จาก โสตถิยพราหมณ์นำมาปูลาดเป็นที่ประทับนั่งใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ และทรงประทับนั่งอธิษฐานจิตว่า เนื้อและเลือดในสรีระจะแห้งเหือดไปหมดสิ้น จะเหลือแต่หนัง เอ็น และกระดูก ก็ตามทีถ้าเรายังไม่บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ จักไม่ทำลายบัลลังก์นี้1) เทวดาในหมื่นจักรวาลต่างแซ่ซ้องสาธุการกล่าวสรรเสริญพระโพธิสัตว์



หญ้ากุศะ ตามริมฝั่งแม่น้ำ ที่โสตถิยพราหมณ์ถวายแด่พระพุทธองค์





แม่น้ำเนรัญชรา  ที่ปัจจุบันแห้งผาก  เห็นตำแหน่งพุทธคยา สถานที่ตรัสรู้อยู่อีกฝั่งแม่น้ำ  


 

หญ้ากุศะ (ชื่อวิทยาศาสตร์ Desmostachya bipinnata) เป็นหญ้าในวงศ์ Gramineae (Poaceae) มีถิ่นกำเนิดที่ประเทศอินเดียและเนปาล ชอบขึ้นในที่แห้งแล้งริมฝั่งแม่น้ำ โดยจะขึ้นเป็นกอเหง้าใหญ่ ใบอวบรูปยาวเหมือนหอก ขอบใบคม ดอกเป็นช่อรูปพีระมิด หรือเป็นแท่งตั้งตรง แข็ง สีน้ำตาลอ่อน ออกดอกตลอดฤดูฝน ขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ด และแยกกอ

หญ้ากุศะเป็นหญ้าชนิดหนึ่งซึ่งถือกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์มาก เนื่องจากเป็นหญ้าที่ปรากฏในพุทธประวัติว่า ในวันก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ เจ้าชายสิทธัตถะได้รับถวายหญ้าชนิดนี้จำนวน 8 กำมือจากพราหมณ์โสตถิยะ และเจ้าชายสิทธัตถะได้นำหญ้ากุศะไปปูรองนั่งเป็นพุทธบัลลังก์ในวันที่พระองค์ตรัสรู้ ทำให้ชาวพุทธถือว่าหญ้านี้มีความสำคัญมาก และจัดให้หญ้านี้เป็นต้นไม้สำคัญชนิดหนึ่งในพุทธประวัติ

ชาวฮินดูนับถือว่าหญ้านี้มีความศักดิ์สิทธิ์เช่นกัน โดยนำหญ้านี้มาประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ในวันแรม 15 ค่ำ​เดือน 9 หรือที่เรียกว่า กุโศตปาฎนีอมาวสยา เพื่อเป็นการบูชาพระกฤษณะ เทพเจ้าองค์หนึ่งของศาสนาฮินดู[1]

หญ้ากุศะยังมีสรรพคุณทางยาสมุนไพร คือ ใช้ทั้งต้นเป็นยาฝาดสมาน​ขับปัสสาวะ ขับเสมหะ รากมีรสหวาน เป็นยาเย็น แก้อาการกระหายน้ำได้อีกด้วย[2]

 

 
 
 



Create Date : 12 มีนาคม 2562
Last Update : 12 มีนาคม 2562 20:22:47 น. 28 comments
Counter : 2056 Pageviews.

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณโอน่าจอมซ่าส์, คุณฟ้าใสวันใหม่, คุณtuk-tuk@korat, คุณJinnyTent, คุณซองขาวเบอร์ 9, คุณสองแผ่นดิน, คุณSai Eeuu, คุณtoor36, คุณกะว่าก๋า, คุณหอมกร, คุณSweet_pills, คุณตะลีกีปัส, คุณสายหมอกและก้อนเมฆ, คุณเนินน้ำ, คุณสันตะวาใบข้าว, คุณไวน์กับสายน้ำ, คุณภาวิดา คนบ้านป่า, คุณhaiku


 
เป็นประสบการณ์อีกรูปแบบนึงนะคะ


โดย: โอน่าจอมซ่าส์ วันที่: 12 มีนาคม 2562 เวลา:20:46:15 น.  

 
สาธุค่ะ และแล้วสิ่งมหัศจรรย์ของโลกก็อุบัติขึ้น
เหมือนได้ทบทวนพุทธประวัติไปด้วยนะคะ




โดย: ฟ้าใสวันใหม่ วันที่: 12 มีนาคม 2562 เวลา:21:01:47 น.  

 
ท้องแม่น้ำตื้นมากนะคะ


โดย: tuk-tuk@korat วันที่: 12 มีนาคม 2562 เวลา:21:22:19 น.  

 
คุณเย็นขา
วันนี้ขอเสียมารยาทแวะมาโหวตให้ก่อนนะคะ
จะได้ไม่เสียแต้มโหวตวันนี้

จินมีเหตุจำเป็นต้องรีบนิดหนึ่งค่ะ
ไว้ค่อยมาแอ่วกับคุณเย็นใหม่พรุ่งนี้น๊ะ
วันนี้ยังไม่ได้ละเลียดบล็อกของคุณเย็นค่ะ
พรุ่งนี้ไว้แวะมาใหม่ค่า


โดย: JinnyTent วันที่: 12 มีนาคม 2562 เวลา:21:31:31 น.  

 
เป็นประเทศที่เที่ยวยากมากสำหรับตัวเอง ถ้าไม่ได้ไปกับทัวร์


โดย: Sai Eeuu วันที่: 12 มีนาคม 2562 เวลา:21:51:00 น.  

 
ไปถึงก็ต้องไปที่สำคัญล่ะ และแน่นอนขอทานตรึม ผมเห้นทุกคนมองมาทางเราหมดเลย มันรู้สึกน่ากลัวเหมือนกันนะ

แม่น้ำเนรัญชรา ดูไม่ออกจริงๆ ครับว่าเคยเป็นแม่น้ำแห้งจริงๆ ดียังไม่ถึงขั้นดินแตก ขยะเยอะเหมือนกัน



โดย: คุณต่อ (toor36 ) วันที่: 12 มีนาคม 2562 เวลา:23:51:12 น.  

 
สาธุ
ตามมาเที่ยวอินเดียด้วยค่ะ
ได้ความรู้เยอะเลย


โดย: อุ้มสี วันที่: 13 มีนาคม 2562 เวลา:0:56:11 น.  

 
ขอบคุณที่แบ่งปัน


โดย: Kavanich96 วันที่: 13 มีนาคม 2562 เวลา:3:28:09 น.  

 


สวัสดียามเช้าครับคุณเย็น

อ่านจบ ดูภาพ
ทั้งสองจุดเป็นจุดที่ผมก็ได้ไปสัมผัสมาแล้วเช่นกัน
แต่ตอนที่ผมไปไม่มีขอทานเลยครับ
ไปเจอเยอะที่สุดที่พุทธคยา

ขอทานเป็นครูที่สอนอะไรให้ผมได้เยอะมากเลยครับ




โดย: กะว่าก๋า วันที่: 13 มีนาคม 2562 เวลา:6:32:39 น.  

 
mcayenne94 Travel Blog ดู Blog
ธงฉัพพรรณรังสีเนี่ยสัญลักษณ์ศาสนาพุทธสากล
ของไทยเราคุ้นแต่ธงธรรมจักร เราชอบทำอะไรแบบ
ไม่เป็นสากลเท่าไหร่ แปลกดีนะคะบ้านเราเนี่ย
นึกถึงคำว่าประชาธิปไตยแบบไทยๆ ช่วงใกล้เลือกตั้ง




โดย: หอมกร วันที่: 13 มีนาคม 2562 เวลา:8:26:51 น.  

 
สวัสดีค่ะคุณเย็น

ต้นไทรที่นางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาส
แม่น้ำเนรัญชรา หญ้ากุศะ และพุทธคยาที่ตั้งอยู่อีกฝั่งแม่น้ำ
ไม่ได้เห็นด้วยตนเองแต่รู้สึกอิ่มใจที่ได้ชมภาพสถานที่สำคัญทางพุทธประวัตินี้
ได้ความรู้เพิ่มขึ้นจากบล็อกคุณเย็น
ขอบคุณมากค่ะ




โดย: Sweet_pills วันที่: 13 มีนาคม 2562 เวลา:8:46:44 น.  

 
สวัสดีมีสุขค่ะ

เห็นความเป็นไปและผู้คนต่างชาติต่างถิ่น
อดเอามาเทียบกับบ้านเมืองเราไม่ได้
ดีที่เกิดมาในประเทศไทย
ข้าวเม็ดแกงช้อน น้ำหยด ก็ยังมีตกถึงท้อง
ขอทานเป็นอาชีพง่ายที่สุด ไม่ต้องลงทุนเลย
จะเพราะเหตุผลใดก็ตาม บางทีก็ให้ค่ะ
หญ้ากุศะ คงเหมือนหญ้าคาบ้านเรานะคะ มีสรรพคุณทางยา

ตามติดไปเที่ยวต่อค่ะคุณเย็น


โดย: ตะลีกีปัส วันที่: 13 มีนาคม 2562 เวลา:10:58:14 น.  

 
ขอบคุณสำหรับคะแนนโหวตครับ

เห็นด้วยกับเม้นท์ของคุณฌย็นที่บล็อกผมเลยครับ



โดย: กะว่าก๋า วันที่: 13 มีนาคม 2562 เวลา:15:55:44 น.  

 
ชอบตรงนี้ค่ะ นิสัยเสียอย่างหนึ่งของเราก็คือ ไม่ค่อยชอบฟังไกด์สักเท่าไหร่ เจอสถานที่ก็กระโดดเข้าใส่เข้าไปถ่ายภาพ ฟังหูซ้ายออกหูขวา เป็นแบบนี้เหมือนกัน สังเกตได้เลยค่ะ รูปเยอะมาก เพราะไม่ได้ตั้งใจฟังไกด์มากนัก

ภาพแม่น้ำเนรัญชราแห้ง เห็นพุทธคยาอีกฝั่งของแม่น้ำ หืม...ชัดเลยค่ะ


โดย: สายหมอกและก้อนเมฆ วันที่: 13 มีนาคม 2562 เวลา:16:35:39 น.  

 
ต๊ะเอ๋ วันนี้มาอ่านบันทึกการเดินทางของคุณเย็นแล้วค่ะ
จินเองก็อยากจะไปแดนพุทธภูมิสักครั้งในชีวิตค่ะ
ไม่รู้จะมีโอกาสไปเมื่อไหร่
ช่วงนี้สุขภาพไม่เหมาะที่จะเดินทางไกล
คนที่บ้านเคยไปแล้ว บอกว่าถ้าจินไปลำบากมากแน่ 55

จินทั้งอ่านทั้งฟังซีดีธรรมนิยายชุดสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
ของหลวงพ่อจรัญ วัดอัมพวัน ตอนความหลงในสงสาร
ได้พูดบรรยายถึงตอนที่หลวงพ่อได้ไปประเทศอินเดีย
แล้วไปชมสังเวชนียสถานหลายที่
ได้บรรยายประวัติความเป็นมา ความสำคัญที่มีต่อพระพุทธศาสนา
ทำให้ได้ความรู้มากมาย ทั้งสถานที่ เรื่องราวในพระไตรปิฎก

เสียดายแม่น้ำเนรัญชรานะคะ น้ำแห้งกลายเป็นทุ่งกว้าง
นี่ก็แสดงไตรลักษณ์อีกอย่างหนึ่ง ไม่มีอะไรยั่งยืนอย่างนั้นตลอดไป

ขอบคุณคุณเย็นที่นำเรื่องราวที่มีประโยชน์มาฝากกัน
ทำให้ได้เห็นภาพสถานที่จริงค่ะ

ไว้แวะมาคุยกันใหม่ค่า




โดย: JinnyTent วันที่: 13 มีนาคม 2562 เวลา:19:39:38 น.  

 
สวัสดียามเช้าครับคุณเย็น



โดย: กะว่าก๋า วันที่: 14 มีนาคม 2562 เวลา:6:37:02 น.  

 
ตามมาเที่ยวแล้วก็ได้ความรู้ด้วยค่ะ
แซนวิชทอดไม่แข็งนะคะ กรอบแบบนุ่มค่ะ ไม่ได้ทานตอนร้อนจัดเหมือนข้าวต้มไม่น่าถึงกับทำให้เหงือกถลอกได้น๊า...


โดย: เนินน้ำ วันที่: 14 มีนาคม 2562 เวลา:9:34:27 น.  

 
ได้ความรู้เยอะเลยค่ะ...^^


โดย: สันตะวาใบข้าว วันที่: 14 มีนาคม 2562 เวลา:11:16:13 น.  

 
ผมคิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้สำคัญมาก
และท้าทายความคิดของประเทศมากๆ
ว่าต้องการกำหนดทิศทางของประเทศไปในทางใด

ไม่ใช่เพื่อผม
แต่เป็นหนทางที่ทอดยาวไปสำหรับคนรุ่นต่อไปครับ




โดย: กะว่าก๋า วันที่: 14 มีนาคม 2562 เวลา:19:18:02 น.  

 
แวะมาขอบคุณแล้วก็แอบส่องบล็อกใหม่ด้วยค่ะ



โดย: ฟ้าใสวันใหม่ วันที่: 14 มีนาคม 2562 เวลา:20:16:57 น.  

 
ของผมเอง
บล็อกไม่มีปัญหาครับ
แต่มีปัญหาในเรื่องระบบของ Si net
ล่มมาสามวันแล้วครับ



โดย: กะว่าก๋า วันที่: 14 มีนาคม 2562 เวลา:20:50:09 น.  

 
ขอบคุณคุณเย็นสำหรับกำลังใจนะคะ
ราตรีสวัสดิ์ ฝันดีคืนนี้ค่ะ



โดย: Sweet_pills วันที่: 14 มีนาคม 2562 เวลา:23:37:50 น.  

 
เห็นพื้นที่ แม่น้ำที่แห้ง กับ ผู้คนแล้ว ยังไงไม่รู้ซิครับ

ดูเขาหงอย ๆ

ของไทยดีกว่าเยอะ อีกทั้งเรานำพระพุทธเจ้ามาเป็นที่บูชา และ
ปฏิบัติตามที่พระองค์แนะนำไว้


โดย: ไวน์กับสายน้ำ วันที่: 15 มีนาคม 2562 เวลา:5:26:08 น.  

 

สวัสดียามเช้าครับคุณเย็น




โดย: กะว่าก๋า วันที่: 15 มีนาคม 2562 เวลา:7:31:48 น.  

 
เข้ามาทบทวนความรู้ที่ลืมไปเกือบหมดแล้ว
เก็บกลับไปแล้วจะจำได้อีกสักเท่าไรก็ไม่รู้อีกค่ะ

พี่บอกลูกปูแล้วว่า ไม่ไปอินเดียค่ะ
จะเป็นภาระแก่เค้ามาก ก็รู้ว่าถ้าเค้าเต็มใจพาไป
ก็จะเป็นบุญกุศลแก่เค้ามาก แต่ไม่อยากไปแล้ว



โดย: ภาวิดา คนบ้านป่า วันที่: 15 มีนาคม 2562 เวลา:14:11:47 น.  

 
ขอบคุณสำหรับคะแนนโหวตครับคุณเย็น


ภาพชุดนี้ผมถ่ายมาจากสวนทวีชล
ต้นไม้ กล้วยไม้เค้ามีเยอะมากจริงๆ
เดินถ่ายภาพเพลินทั้งวันเลยครับ



โดย: กะว่าก๋า วันที่: 15 มีนาคม 2562 เวลา:14:35:29 น.  

 

สวัสดียามเช้าครับคุณเย็น



โดย: กะว่าก๋า วันที่: 16 มีนาคม 2562 เวลา:6:39:33 น.  

 
ขอบคุณสำหรับคะแนนโหวตครับคุณเย็น

คำพูดทำร้ายคนได้มากกว่าที่คิด
รวมถึงทำร้ายคนพูดด้วยนะครับ
หากพูดโดยไม่รู้จักคิดหรือยับยิ้งชั่งใจ




โดย: กะว่าก๋า วันที่: 16 มีนาคม 2562 เวลา:11:18:27 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

mcayenne94
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 36 คน [?]




Bangkok

Kyoto

Sydney

Mcayenne94's Diary มีวัตถุประสงค์เพื่อบันทึกเรื่องราวของเจ้าของบ้านและสิ่งแวดล้อม ไม่มีวัตถุประสงค์ เพื่อการ จัดจำหน่าย ต้นไม้ดอกไม้ หรือสิ่งใด อนุญาตให้นำภาพถ่าย พร้อมชื่อMcayenneผู้ถ่ายภาพไปใช้ประโยชน์ได้ และสงวนสิทธิ์ไม่อนุญาตให้นำภาพถ่าย Mcayenne ไปใช้ โดยการดัดแปลงตัดต่อหรือลบชื่อภายในภาพ
Friends' blogs
[Add mcayenne94's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.