สวัสดีค่ะ ภาระหน้าที่ทำให้ต้องเดินทางไกลมาถึงบัวโนสไอเรส แต่ยังคิดถึงเพื่อนบล็อกทุกคนนะค่ะ
ต้นจำปีสิรินธร

“จำปีสิรินธร” พันธุ์ไม้ชนิดใหม่ หนึ่งเดียวในโลก
กับโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ลพบุรี





โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ก่อเกิดขึ้นตามกระแสพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงมีสายพระเนตรที่ยาวไกล ทรงเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช โดยทรงเริ่มดำเนินงานพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 เป็นต้นมา โดยมีพระราชดำริให้ดำเนินการสำรวจรวบรวมปลูกและดูแลรักษาพรรณพืชต่างๆ ที่หายากและกำลังจะหมดไป


ต่อมาในปี พ.ศ.2535 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงสานพระราชปณิธานต่อโดยมีพระราชดำริกับ นายแก้วขวัญ วัชโรทัย เลขาธิการพระราชวังให้ดำเนินการอนุรักษ์พืชพรรณของประเทศ โดยพระราชทานให้โครงการส่วนพระองค์ฯ สวนจิตรลดา เป็นผู้ดำเนินการ จัดสร้างธนาคารพืชพรรณขึ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ.236 เป็นต้นมา


การดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ในระยะที่ผ่านมาถึงปัจจุบันมีหน่วยงานต่างๆ ร่วมสนองพระราชดำริเพิ่มมากขึ้น ทำให้พื้นที่และกิจกรรมดำเนินงานของโครงการกระจายออกไปในภูมิภาคต่างๆ และมีการดำเนินงานที่หลากหลาย ซึ่งจังหวัดลพบุรีได้มีการค้นพบจำปีชนิดใหม่ของโลก(New species) ชื่อว่า “จำปีสิรินธร” และเพื่อเป็นการสนองพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กรมป่าไม้จึงได้จัดตั้งโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดลพบุรี ขึ้นในปีงบประมาณ 2549 (ธันวาคม 2548)


โดยมี คุณกานดิษฐ์ สิงหากัน นักวิชาการป่าไม้ 6ว. เป็นหัวหน้าโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดลพบุรี ทั้งนี้คุณกานดิษฐ์ได้ให้ข้อมูลว่า พื้นที่โครงการฯ ตั้งอยู่ในท้องที่หมู่ 1 ต.ซับจำปาทอง อ.ท่าหลวง จ.ลพบุรี มีพื้นที่ประมาณ 100 ไร่ มีสภาพป่าเป็นป่าพรุนน้ำจืดเกิดจากน้ำซับ (น้ำผุด) ขึ้นจากพื้นดิน และได้จากบริเวณรอบนอกพื้นที่บางส่วน ทำให้เกิดสังคมพืชที่แตกต่างไปจากสังคมพืชอื่น สภาพป่าเป็นป่าดิบ มีความหนาแน่นของต้นไม้สูง ประกอบด้วยพรรณไม้หลากหลายชนิดที่สำคัญ ได้แก่ ไม้จำปีสิรินธร (Magnolia sirindhorniae Noot. & Chalemglin) ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ชนิดใหม่ (New species) ค้นพบโดยเจ้าหน้าที่ของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตีพิมพ์ในหนังสือ BLUMEA 45 (2000) หน้า 245-247


จำปีสิรินธร เป็นพืชเฉพาะถิ่นของไทย (Endemic to Thailand) คือมีขึ้นอยู่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น และมีขึ้นอยู่เฉพาะพื้นที่ชุ่มน้ำหรือในป่าพรุน้ำจืดที่มีน้ำพุไหลผ่านตลอดเวลา สำรวจพบครั้งแรกในป่าพรุน้ำจืดของบ้านซับจำปา ต.ซับจำปา อ.ท่าหลวง จ.ลพบุรี มีพื้นที่รวมกันประมาณ 80 ไร่ ในระดับความสูงประมาณ 50 เมตร พื้นที่โดยรอบห่างออกไปประมาณ 10 กิโลเมตร เป็นเขาหินปูน เมื่อมีฝนตกแล้วน้ำจากเขาหินปูนนี้จะซึมลงใต้ดินและไหลรวมเป็นน้ำใต้ดิน มาพุขึ้นในป่าบ้านซับจำปา น้ำในบริเวณนี้จึงมีความเป็นด่างสูงกว่าในพื้นที่อื่น


ต่อมาสำรวจพบในป่าพรุน้ำจืดของบ้านน้ำสวย ต.น้ำสวย อ.เมือง จ.เลย ซึ่งมีพื้นที่รวมกันประมาณ 30 ไร่ ในระดับความสูงประมาณ 165 เมตร ซึ่งมีขนาดใหญ่สูง 30 เมตร และเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 เมตร อยู่มากกว่า 30 ต้น





ลักษณะทางพฤษศาสตร์ของจำปีสิรินธร

ต้น ไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 20-30 เมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้นที่ระดับอก 50-200 เซนติเมตร เปลือกโคนต้นสีน้ำตาล หนา 0.5 - 1 เซนติเมตร มีกลิ่นฉุนเฉพาะตัว เปลือกแตกเป็นร่องลึกตามยาว ลำต้นเปลาตรง กิ่งที่อยู่ในระดับสูงมีเปลือกสีขาว กิ่งอ่อนมีสีเขียวอมน้ำตาล มีช่องอากาศเป็นจุดหรือขีดนูนกระจาย ทรงพุ่มกลมโปร่ง เนื้อไม่และกิ่งเหนียว


ใบ รูปรี กว้าง 7-10 เซนติเมตร ยาว 14-20 เซนติเมตร โคนใบมนกลม หรือรูปลิ่ม ปลายใบมนทู่ถึงแหลม ผิวใบด้านบนมีขนเล็กน้อย สีเขียวอมเหลือง มีเส้นกลางใบนูนเล็กน้อย และมีเส้นแขนงใบเป็นร่อง ผิวใบด้านล่างสีอ่อนกว่าและมีขน มีเส้นเส้นกลางใบและเส้นแขนงใบนูนเด่น เนื้อใบหนา แข็งกรอบ ขอบใบเรียบ เส้นแขนงใบมี 10-12 คู่ ก้านใบยาว 2.5-4.5 เซนติเมตร รอยแผลเป็นของหูใบแนบโคนก้านใบยาวสองในสาม ของความยาวของก้านใบ

ดอก ออกเดี่ยวที่ซอกใบใกล้ปลายยอด ดอกตูมรูปกระสวย มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-1.5 เซนติเมตร ยาว 2.5-3.5 เซนติเมตร กาบหุ้มดอกมี 1 แผ่น สีเขียวอ่อนและมีขนอ่อนๆ คลุมอยู่ กาบฉีกออกและหลุดไปเมื่อกลีบดอกเริ่มแย้ม ก้านดอกยาว 1.8 เซนติเมตร ดอกบานตั้งขึ้น สีขาวนวล กลีบดอกมี 12-15 กลีบ เรียงเป็นชั้นๆ ละ 3 กลีบ กลีบชั้นนอกรูปหอกแกมขอบขนาน กว้าง 1.2-1.5 เซนติเมตร ยาว 4.5-5 เซนติเมตร ปลายกลีบมนกลม เมื่อเริ่มแย้มโคนกลีบดอกด้านนอกมีสีเขียวอ่อน กลีบดอกชั้นในมีขนาดแคบและสั้นกว่าเล็กน้อย เริ่มแย้มและส่งกลิ่นหอมตั้งแต่พลบค่ำ ดอกบานอยู่ได้ 2 วัน เมื่อใกล้โรยเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเล็กน้อย

ผล ผลเป็นช่อยาว 4-6 เซนติเมตร ก้านช่อผลยาว 4 เซนติเมตร มีผลย่อย 15-25 ผล แต่ละผลเรียงติดอยู่บนแกนกลางผลและไม่มีก้านผลย่อย ผลรูปกลมมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-1.5 เซนติเมตร ผิวของผลมีช่องอากาศเป็นจุดๆ สีขาว ผลอ่อนสีเขียว เมื่อแก่แล้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน ผลย่อยแตกตามแนวยาว แต่ละผลมี 1-6 เมล็ด เมล็ดสีแดงเข้มรูปกลมรี ยาว 4-6 มิลลิเมตร

ช่วงการออกดอกและติดผล ออกดอกบาน ระหว่างเดือนมิถุนายน ถึง กรกฎาคม ผลแก่ระหว่างเดือนตุลาคม ถึงเดือนพฤศจิกายน


การปลูกและบำรุงรักษา

ก่อนอื่น ควรตรวจสอบให้ดีเสียก่อนว่า ต้นกล้าจำปีสิรินธรที่จะปลูกนั้นมีการขยายพันธุ์มาอย่างไร เป็นต้นกล้าที่มาจากการเพาะเมล็ด ปักชำ หรือการตอนกิ่ง หรือมาจากการขยายพันธุ์โดยวิธีการทาบกิ่ง เสียบยอด ติดตา แล้ววิธีการขยายพันธุ์ มากเกี่ยวข้องกับการปลูกและบำรุงรักษาอย่างไร ?

คำตอบก็คือ มีความเกี่ยวข้องเป็นอย่างมากและสำคัญมากด้วย เนื่องจากจำปีสิรินธรเป็นจำปีเพียงชนิดเดียวในโลกที่มีถิ่นกำเนิดและเจริญเติบโตอยู่ในป่าพรุน้ำจืด ชอบสภาพของสิ่งแวดล้อมที่ชื้นแฉะ ในช่วงฤดูฝนโคนต้นและรากจะแช่อยู่ในน้ำเป็นเวลามากกว่า 5 เดือนของแต่ละปี ดังนั้นรากของจำปีสิรินธรจึงมีความคุ้นเคยกับสภาพดินที่ชื้นแฉะ หรือดินในที่ลุ่มซึ่งมีความชื้นมาก

หากท่านปลูกต้นกล้าที่มาจากการเพาะเมล็ด หรือการปักชำ หรือการตอนกิ่ง รากของต้นกล้าที่แตกออกมานั้นก็จะเป็นรากที่แท้จริงของจำปีสิรินธร ซึ่งชอบสภาพของดินปลูกที่แฉะ หรือดินชื้นมากๆ ดังนั้นพื้นที่ที่เหมาะสมก็คือ พื้นที่ลุ่มต่ำ หรือพื้นที่ใกล้แหล่งน้ำ เช่น ตามริมหนอง คลอง บึง หรือตามริมลำธาร ริมแม่น้ำ ริมบ่อน้ำ หรืออาจเป็นพื้นที่ที่มีน้ำหลากในช่วงฤดูฝน หรือน้ำท่วมขังในระยะเวลาสั้นๆ ได้ แต่ถ้าไม่สามารถหาพื้นที่ดังกล่าวได้ ก็ยังสามารถปลูกได้โดยจะต้องรดน้ำโคนต้นจำปีสิรินธรให้มีความชื้นอยู่ตลอดเวลา คือรดน้ำบ่อยๆ รดให้มากกว่าจำปีหรือจำปาอื่นๆ

และถ้าท่านปลูกต้นกล้าจำปีสิรินธรที่มีการขยายพันธุ์โดยวิธีการทาบกิ่ง เสียบยอด หรือติดตา มีการใช้ต้นตอที่เป็นจำปา หรือจำปี หรือจำปีป่า ส่วนของจำปีสิรินธรจึงเป็นส่วนที่อยู่ข้างบนพื้นดิน คือเป็นส่วนที่เราเห็นอยู่ แต่ส่วนที่อยู่ใต้ดิน เป็นส่วนของรากนั้นจะเป็นของชนิดที่เราใช้มาเป็นต้นตอ ไม่ว่าจะเป็นจำปา จำปี หรือจำปีป่า ซึ่งเป็นพืชที่ชอบอยู่ในที่ดอน มีสภาพเป็นดินร่วน ระบายน้ำได้ดี ไม่ชอบน้ำแฉะหรือน้ำท่วมขัง

สรุปก็จะต้องดูว่าต้นกล้าจำปีสิรินธรที่ท่านจะปลูกนั้น ขยายพันธุ์มาโดยวิธีการใด ถ้ามาจากการเพาะเมล็ด ก็จะต้องปลูกในพื้นที่ลุ่ม ดินชื้น แต่ถ้าขยายพันธุ์มาโดยการทาบกิ่ง เสียบยอด หรือติดตา ก็จะต้องปลูกในที่ดอน ดินมีการระบายน้ำดี

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ คือ ทำไมปลูกจำปีสิรินธรแล้วไม่ออกดอก? เป็นคำถามที่มักจะได้ยินบ่อยครั้ง โดยคุณกานดิษฐ์อธิบายว่า ก่อนอื่นท่านต้องถามตัวเองว่า ท่านปลูกต้นจำปีสิรินธรที่ขยายพันธุ์มาโดยวิธีการใด เพราะโดยธรรมชาติแล้ว จำปีสิรินธรเป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ มีเส้นผ่าศูนย์กลางของโคนต้นได้ถึง 2 เมตร และมีความสูงถึง 35 เมตร เจริญเติบโตอยู่ในสภาพชื้นแฉะ

ถ้าปลูกจากต้นเพาะเมล็ด ก็ต้องปลูกอยู่ในสภาพพื้นที่แฉะ เป็นเวลาอย่างน้อย 7 ปี หรือมีความสูงมากกว่า 10 เมตร จึงออกดอก ปลูกจากต้นปักชำ ก็ต้องปลูกในสภาพที่แฉะ เป็นเวลาอย่างน้อย 2-3 ปี หรือมีความสูงมากกว่า 2-3 เมตร จึงจะออกดอก ปลูกจากการทาบกิ่ง เสียบยอด หรือติดตา ก็ต้องปลูกในสภาพที่ดอน ดินระบายน้ำดี เป็นเวลาอย่างน้อย 2-3 ปี หรือมีความสูงมากว่า 2-3 เมตร จึงจะออกดอก

แต่ปัญหาที่เป็นอยู่ในปัจจุบันคือ ไม่มีผู้ขยายพันธุ์รายใด ปักชำกิ่งจำปีสิรินธรจากกิ่งของต้นใหญ่หรือต้นแม่พันธุ์ที่เคยออกดอกแล้ว และในเวลาเดียวกันก็ไม่มีผู้ขยายพันธุ์รายใด ทำการทาบกิ่ง เสียบยอด หรือติดตาจากกิ่งของต้นใหญ่หรือต้นแม่พันธุ์ที่เคยออกดอกแล้ว ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก็คือ มีการปักชำกิ่ง หรือมีการทาบกิ่ง เสียบยอด ติดตามาจากต้นกล้าเพาะเมล็ดขนาดเล็กที่มีความสูงเพียง 1-2 เมตร ดังนั้น ไม่ว่าท่านจะปลูกอย่างไร จำปีสิรินธรก็จะไม่ออกดอก จนกว่าจะมีอายุเกิน 7 ปี หรือมีความสูงมากกว่า 10 เมตร


การแก้ไขให้ออกดอกเร็ว

ถ้ามีการปักชำ หรือทาบกิ่ง เสียบยอด หรือติดตาจากต้นแม่พันธุ์ที่ออกดอกแล้ว เมื่อนำมาปลูกก็จะออกดอกได้เร็วขึ้น แต่ถ้าไม่สามารถขยายพันธุ์จากต้นแม่พันธุ์ที่ออกดอกแล้ว ก็จะต้องรอจนกว่าจะมีอายุเกิน 7 ปี หรือมีความสูงมากกว่า 10 เมตร หรืออาจใช้ฮอร์โมนเร่งดอกเข้าช่วย

คุณกานดิษฐ์ยังบอกอีกว่า เนื่องจากมีการสื่อสารและให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง จึงทำให้มีความเข้าใจในเรื่องของลักษณะประจำพันธุ์และแนวทางการปลูกเลี้ยงผิดเพี้ยนออกไปจากความเป็นจริง โดยสรุปแล้วก็คือ จำปีสิรินธร มีลำต้นขนาดใหญ่ ชอบพื้นที่ค่อนข้างแฉะ แต่ถ้าปลูกจากิ่งทาบ ติดตา หรือเสียบยอด ต้องคำนึงถึงลักษณะเฉพาะของต้นตอเป็นสำคัญ แต่ต้องปลูกอยู่ในพื้นที่กว้างขวาง มีดอกสีขาวใส และมีฤดูออกดอกปีละ 2 เดือน คือ เดือนมิถุนายน ถึง เดือนกรกฎาคม

หากท่านใดที่สนใจเยี่ยมชมโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดลพบุรี เพื่อชื่นชมความงามความธรรมชาติที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่ง และเรียนรู้ระบบนิเวศทางธรรมชาติ สามารถติดต่อได้ที่
คุณกานดิษฐ์ สิงหากัน หัวหน้าโครงการฯ โทร.08-9500-7351




ขอบคุณข้อมูลจาก//www.rspg.org/jumpeesirin/jpsirin.htm
//www.nakaintermedia.com/triplesystems/modules.php?name=News&file=print&sid=10


Create Date : 04 ตุลาคม 2552
Last Update : 4 ตุลาคม 2552 8:47:38 น. 2 comments
Counter : 2490 Pageviews.

 
แวะมาทักทายคะ อุ้ยดีใจจังได้เจิมblog ด้วย ดอกจำปีเป็นดอกไม้ที่จอยชอบแล้วก็คิดจะหามาปลูกไว้ที่บ้านตจว.เหมือนกันคะ


โดย: joy@putchanok วันที่: 6 ตุลาคม 2552 เวลา:19:30:46 น.  

 
ไม่เคยเห็นดอกจริงๆของเค้าเสียทีครับต้นนี้


โดย: endless man วันที่: 8 ตุลาคม 2552 เวลา:17:49:42 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

kobnon
Location :
นนทบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 92 คน [?]




.
สาระน่ารู้ประจำวัน
1.โรคข้อสันหลังอักเสบติดยึด
2. บุหรี่ ทำนมยาน หูตึง
3. Upside down pineapple cake


music
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2552
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
4 ตุลาคม 2552
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add kobnon's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.