15 ร้านอาหารอร่อย ลำปาง 2019 ห้ามพลาดในชาตินี้ สายกินไม่ควรพลาด ต้องร้องโออิชิ หิวเมื่อไหร่ก็แวะมา
ใครผ่านมาภาคเหนือก็ต้องแวะเที่ยวลำปางกันก่อน ลองมาดู15 ร้านอาหารดัง ที่ผู้เขียนคัดสรรมาจะมีร้านใดกันบ้าง จะถูกใจกันมั้ยเอ่ย ลองมาติดตามกันเลยครับ .. ( ผู้เขียนชอบบทความสไตล์แนวDocumentary แบบสารคดีค้นหาความจริง อันจะส่งผลให้ บทความนี้ เป็นแนวไม่เหมือนใครสักหน่อย แต่เชิญชวนให้ติดตามกันครับ)
 
1 ] ข้าวซอยลุงจ่า เกาะคา ตรงข้าม ร้านส้มตำแยกน้ำเกาะคา อันโด่งดังลือลั่นปฐพี

มีข้าวซอยที่ไหน แสดงว่ามีพม่าเคยอยู่ที่นั่น ข้อสันนิษฐานนี้ น่าจะจริงครับ เพราะผู้เขียนเคยไปเที่ยวอำเภอแม่ทะ ปรากฏว่าที่นั่นไม่มีข้าวซอยขายครับ เพราะในประวัติศาสตร์ ทัพพม่าไม่ผ่านเข้าไปถึงยังตัวอำเภอแม่ทะเลย ซึ่งต่างจากเกาะคา ซึ่งเคยเป็นเมืองหลวงนครลำปางในอดีต กองทัพพม่ามาตั้งถิ่นฐาน อยู่ที่นี่หลายร้อยปี จนสืบเชื้อสายมากันจนถึงทุกวันนี้ ข้าวซอย จึงเป็นร่องรอยอารยธรรม ถูกทิ้งไว้จากอดีต 

เป็นข้อถกเถียงกัน ว่าข้าวซอยแบบภาคเหนือไทยเรา กับ Laksa ของมาเลเซีย สิงค์โปร์  นั้นทำไมมันลักษณะคล้ายมากเหลือเกิน ใครก็อปปี้ใครกันแน่ .. อันดับแรกผู้เขียนขอลำดับความก่อนว่า Laksa เป็นวัฒนธรรมผสมผสาน ฟีเจอริ่งกันระหว่าง วัฒนธรรมมลายู-จีน แบบ มาเลย์ผสมจีนอพยพ เป็นบะหมี่ผสมน้ำแกงกะทิแบบอินเดีย ซึ่งในอดีต ช่วงคาบสมุทรมลายู มาเลเซีย ,  สิงคโปร์มีความเจริญมากเนื่องเป็นเมืองท่าเรือส่งออกสินค้าสำคัญของอังกฤษ  ส่งผลทำให้มีผู้อยู่ใต้อาณัติปกครองของอังกฤษ มีอยู่จำนวนมากหลากหลายเชื้อชาติ รวมทั้งชาวพม่าด้วย......
ต่อมาภาคเหนือไทยเราได้มีการยกสัมปทานป่าไม้ ให้บริษัทอังกฤษในหลายจังหวัด  ส่งผลทำให้ ผู้ถูกปกครองในอาณัติของอังกฤษได้เข้ามาอาศัยตั้งถิ่นฐานรกราก หลักๆนั่นคือชาวพม่า ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมป่าไม้ ที่อังกฤษจะขาดมิได้ เข้ามาตั้งถิ่นฐานในภาคเหนือของเรา  พร้อมกับอาหารเลิศรสจากสิงคโปร์ซึ่งแพร่หลายไปมากมายหลายประเทศทั้ง สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย นั่นก็คือ Laksa ( คือ บะหมี กับ น้ำเครื่องแกงกะทิ )  พบว่ากลุ่มชนชาติที่มาประกอบอาชีพขายข้าวซอยกลุ่มแรกในภาคเหนือ ก็ล้วนเป็นชาวพม่าทั้งสิ้น   และในพม่าเองก็ไม่พบอาหารชนิดนี้ รวมทั้ง อาหารเหนือไม่มีกะทิเป็นส่วนผสมเลย แม้แต่ชนิดเดียว   จึงเป็นข้อสันนิษฐานสำคัญว่า ข้าวซอยนั้นเป็นอาหารที่ถูกประยุกต์จาก Laksa อาหารมลายู-จีน ซึ่งปัจจุบันเป็นอาหารประจำชาติของสิงคโปร์ไปแล้ว


ข้าวซอยลุงจ่า โด่งดังมานานแล้ว คู่กับ ส้มตำแยกน้ำเกาะคา เพราะร้านอยู่ตรงข้ามกันพอดี ด้านหลังร้านจะมีระเบียง ชมวิวติดแม่น้ำวัง สวยงามมาก หากท่านแวะไปสักการะองค์พระธาตุเสร็จแล้ว อย่าลืมแวะหาทานส้มตำแยกน้ำ สูตรออริจินัลแท้ๆได้  พร้อมกับข้าวซอยสูตรเกาะคา ร้านลุงจ่า
 
2 ] ข้าวมันไก่ทิพย์ช้าง ลำปาง  เจอแล้วร้านข้าวมันไก่ระดับตำนาน สูตรอบข้าวจนร่วนแห้ง ปักหมุดรอเช็คอินไว้เลย

ว่ากันว่าชาวจีนไหหลำรุ่นแรกอพยพมาเมืองลำปาง เพื่อมาค้าขาย แถวบริเวณตลาดจีน หรือ กาดกองต้าในปัจจุบัน ได้นำองค์พระเจ้าแม่ทับทิม ลงเรือมาด้วย 3 องค์์ มี2องค์ได้ตั้งประดิษฐาน อยู่ศาลเจ้าที่กรุงเทพ ส่วนอีกองค์แยกมาตั้งที่ศาลเจ้าแม่ทับทิม ถนนทิพย์ช้าง ในปัจจุบัน เป็นศูนย์รวมยึดเหนี่ยวจิตใจ แก่ชาวจีนอพยพ มาหลายชั่วอายุคนแล้ว

ข้าวมันไก่ ก็เป็นของคู่กับชาวไหหลำ ไม่ว่าไปตั้งรกรากที่ไหน ก็ต้องมีข้าวมันไก่ขายเสมอ ร้านข้าวมันไก่ทิพย์ช้างนี้ตั้งอยู่ติดกับศาลเจ้าแม่ทับทิมเลย ใครมากราบไหว้องค์เจ้าแม่เสร็จ ก็ต้องแวะทานข้าวมันไก่ร้านนี้เป็นประจำ ในสมัยก่อนสินค้าส่งออกลำปาง ยอดฮิตติดอันดับ คือ ไม้สักทอง นี่แหล่ะครับ ทำให้ลำปาง เป็นเมืองเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของภาคเหนือ ว่ากันว่า ไม้สักทองเมืองลำปาง ถูกส่งออกไปไกลถึงเกาะอังกฤษ เพื่อก่อสร้างอาคารในสมัยนั้น  .. หลักฐานสำคัญว่าเมืองลำปางมีความเจริญเป็นอย่างมากในสมัยก่อน ก็คือ ธนาคารสยามกัมมาจล สาขาที่ 3 มาเปิดทำการที่ลำปาง บ่งบอกว่าธุรกิจในลำปางเฟื่องฟูกันมาก ปัจจุบันที่ทำการนั้นยังอยู่ และกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ธนาคารโบราณไปแล้ว อยู่ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาลำปาง ตรงข้ามห้างนิยมพานิช นั่นแหล่ะครับ ไปชมได้ในเวลาทำการ

จุดหักเหของเศรษฐกิจเมืองลำปาง มี 3 ประการ ก็คือ 1) การเจาะทะลุอุโมงค์ขุนตานได้สำเร็จ ทำให้เชื่อมต่อทางรถไฟไปยังเมืองลำพูน เชียงใหม่ และ 2) การหมดยุคทองการค้าไม้สักทอง เพราะเริ่มมีการใช้ปูนซีเมนต์ อิฐ เหล็ก เข้ามาก่อสร้างอาคารบ้านเรือนแทน และ 3) ผู้มีอำนาจบริหารเมืองลำปางในยุคนั้น เลือกสถานีโทรทัศน์ช่อง8 มาลงที่ลำปาง เพื่อมาถ่ายทอดสดกีฬามวยไทยโดยเฉพาะ  แทน
ที่จะเลือกมหาวิทยาลัย  ส่งผลให้รัฐบาลสมัยนั้น จำต้องตัดสินใจไปตั้งมหาวิทยาลัยที่เมืองเชียงใหม่แทน  .... ความพิเศษของข้าวมันไก่ไหหลำเจ้านี้ คือ ข้าวมัน ที่ผ่านการอบให้แห้ง ไม่มันจนแฉะ  แต่แห้ง ร่วน มัน หาทานได้ยากครับ สูตรนี้จะเห็นอีกเจ้า ก็อยู่ในกรุงเทพโน่น ที่จะอบข้าวแบบนี้เหมือนกัน ส่วนเนื้อไก่ก็จะนุ่มแน่น มีน้ำจิ้มให้เลือก 2 แบบครับ แล้วแต่คนชอบ ส่วนผู้เขียนชอบกินผสมกันทั้งสองเลย
 
3 ] ข้าวราดแกง แม่ยอดเรือน หน้าโรงเรียนเทศบาล4 อยากกินอาหารไทยรสชาติแท้ๆ ต้องมาร้านนี้

เมืองลำปาง จะมีร้านอาหาร ขายแกงแบบไทย ที่รสชาติจะถึง ครบรสจริงๆ หายากนะครับ เวลาผู้เขียนอยากทาน ต้องมาร้านนี้เท่านั้น ร้านแม่ยอดเรือน เมนูสุดโปรด มาทานประจำคือ ต้มข่าไก่ ที่น้ำซุป หวานมัน เปรี้ยวเค็ม ถึงรสต้มข่าขนานแท้

ข้าวราดแกง กับเมืองลำปาง เป็นภาพที่หาดูได้ยาก เพราะมีไม่กี่ร้าน ไม่เหมือนในจังหวัดภาคกลาง หรือ กรุงเทพ ที่จะบริโภคข้าวแกงกันทั้งวัน เป็นอาหารหลัก ก็ไม่แปลก ที่ร้านนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างจังหวัด ลงรถมาทานกันเยอะแยะ ด้วยความที่หาคนทำอาหารไทย รสชาติถึงจริงๆในลำปางไม่ค่อยจะมี

วันนี้ผู้เขียนเลือกสั่ง แบบผสมเมืองกับไทย แกงฮังเล กับ ผัดกะหล่ำดอก ราดข้าวมาทาน .. เคยนึกสงสัยว่าทำไม ชาวเหนือ ต้องเรียกแทนตัวเอง ว่า คนเมือง ทำไมไม่เรียกตนเองว่า คนล้านนา หรือ คนเหนือ ..อาจเป็นเพราะในอดีต จะมีคนที่อาศัยบนพื้นที่ลุ่ม และ บนพื้นที่สูงบนดอย  พวกอยู่บนดอย เรียกเป็นชาวดอย ชาวเขา กันไป  ส่วนพวกที่อาศัยในพื้นที่ลุ่มด้านล่าง เป็นลักษณะเมือง ก็เรียกว่าคนเมือง จนติดปากมาถึงทุกวันนี้
...บรรพบุรุษของคนเมืองก็คือ ชาวลัวะ ผู้อาศัยในดินแดนแถบนี้มายาวนาน ผสมกับชาวโยนกเชียงแสน ที่ถูกเทครัวลงมา ตามหัวเมืองนครต่างๆ หลังจากอาณาจักรโยนกได้ล่มสลาย เป็นที่มาของคนเมืองในระยะเริ่มแรก ก่อนจะมีการเทครัว เอาชาวไทยใหญ่ ชาวไทลื้อ ชาวพม่า ชาวขอมดำละโว้ ชาวจีน มาผสมผสานเพิ่มเติมเข้าไปอีกในระยะหลังๆ เรียกว่า ผสมกันไปเยอะแล้ว

ต่างจากชาวเขาที่อยู่บนดอยสูงนั้น ถือว่าเป็นชาติพันธ์ที่ยังบริสุทธิ์ ไม่ได้ผสมกับใคร ชาวลีซอ อาข่า มูเซอ เย้า กะเหรี่ยง ฯลฯ อพยพหนีภัยสงครามกวาดล้างของกองทัพจีน ตั้งแต่ยุคจิ๋นซีฮ่องเต้ กวาดต้อนไปเป็นทาสใช้แรงงานสร้างกำแพงเมืองจีน ตลอดจนถึงยุค กุบไลข่าน ผู้เกรียงไกร ก็จะเกณฑ์ไปใช้เป็นทหารออกรบ เพื่อจะขยายอาณาจักรไปให้ไกลครึ่งค่อนโลก  ชนกลุ่มน้อยเหล่านี้จึงอพยพย้ายหนีจากที่ราบสูงธิเบต,  มองโกเลีย และ ลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง เพื่อหาที่แหล่งที่อยู่ใหม่ที่ปลอดภัยมั่นคงกว่า (พวกนี้สังเกตุที่ภาษาที่ใช้จะเป็นภาษาตระกูล จีน-ธิเบต)  ได้เลือกอพยพลงมาแถบภาคเหนือของไทย ไปใช้ชีวิตบนที่สูง เนื่องจากสาเหตุ หนีภัยสงคราม และ ไม่มีที่ทำกิน สำหรับการเพาะปลูกทำไร่ทำนา เพราะในที่ราบลุ่มนั้น ถูกคนเมืองจับจองไปหมดแล้ว 
 
4 ] หมี่เกี๊ยว มากองหน้า ลำปาง  แวะกาดกองต้าเมื่อใด อย่าลืมมาชิมหมี่เกี๊ยว แวะหน่อยอร่อยมาก

ร้านนี้อยู่ตรงบริเวณกาดกองต้า หรือ ตลาดจีนเดิมเมื่อร้อยกว่าปีก่อน เป็นชุมชนชาวจีนกวางตุ้งขนาดใหญ่ เดิมทีจะตั้งถิ่นฐานค้าขาย อยู่ตรงบ้านลำปางกลาง เป็นทำเลหลักสำคัญ ค้าขายกันริมแม่น้ำวัง ก่อนจะขยายย้ายมาสู่กาดกองต้าในปัจจุบัน เมื่อมีการสร้างตลาดบริบูรณ์ หรือ กาดมืด เกิดขึ้น

บะหมี่ หรือ หมี่เกี๊ยว เป็นอาหารจีนกวางตุ้ง เมื่อชาวกวางตุ้งอพยพย้ายมาอยู่ลำปาง ก็มาทำขาย เส้นบะหมี่ แผ่นเกี้ยว เส้นก๋วยเตี๋ยว ลูกชิ้น เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวจีนมณฑลนี้ ว่ากันว่า มีก๋วยเตี๋ยวขายในไทย ตั้งแต่สมัยพระนารายณ์กันแล้ว เพราะเริ่มมีชาวจีนเข้ามาค้าขาย และตั้งรกรากในกรุงศรีอยุธยา จนได้แพร่หลายไปเป็นเส้นจันทน์  เส้นหมี่โคราช นั่นแหละครับ
... ว่ากันว่า อาหารการกินและภาษาของชาวโคราช มีความใกล้เคียงกับชาวกรุงศรีอยุธยาสมัยนั้นมากที่สุด เพราะหลังจากเหตุการณ์กรุงศรีอยุธยาถูกกองทัพพม่าตีแตก ชาวบ้านชาวเมืองก็โดนเทครัวไปอยู่เมืองมัณฑะเลย์  เมืองสิเรียม เมืองมะละแหม่ง กลายเป็นชาวไทยโยเดีย จนหมดแล้ว ดังนั้นวัฒนธรรมภาษาและอาหารการกินในสมัยกรุงศรีอยุธยายุคแรกแท้ๆ ได้สูญหายไปหมดแล้ว และเมื่อได้มีการบูรณะซ่อมแซมกรุงศรีอยุธยาขึ้นมาใหม่ หลังประกาศอิสรภาพจากกองทัพพม่า ได้มีการกวาดต้อนชาวมอญจำนวนมาก อพยพมาตั้งรกรากในอยุธยาแทน  หากจะสืบหาวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ อาหารการกิน วัฒนธรรม ภาษาพูดของชาวกรุงศรีอยุธยาดั้งเดิม เอาแบบที่ใกล้เคียงที่สุด ก็คงเป็นวัฒนธรรมและภาษาชาวโคราช เพราะอยู่ร่วมสมัยเดียวกัน

...ชาวโคราช เป็นชาติพันธุ์ขอมโบราณ กลุ่มเดียวกับชาวกรุงศรีอยุธยายุคแรก เช่นเดียวกับชาวพื้นเมืองระยอง,จันทบุรี ตราด สังเกตุสำเนียงจะคล้ายกัน ภาษานี้จะเรียกว่าสำเนียงหลวงอยุธยา ยังมีอีกที่สุโขทัย พิษณุโลก และหลายจังหวัดในภาคกลาง ที่รอดพ้นจากการกวาดต้อนของกองทัพหงสา หรือ พม่า ในตอนนั้น อารยธรรมขอมโบราณเหล่านี้ ส่งผลให้ไทยรับอิทธิพลอาหารขอมโบราณมา เช่น ปลาร้า ปลาเจ่า ปลาจ่อม กะปิ
ร้านหมี่เกี้ยว มากองต้า ก็เป็นร้านเดิมที่ขายอยู่ในกาดมืด แต่ย้ายทำเลมาเปิดที่ใหม่ตรงกาดกองต้า เพียงเพราะสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป คนแห่ไปซื้อของในห้างสรรพสินค้ากันมากขึ้น จนกาดมืดซบเซา เหลือเพียงชื่อเสียงตำนานในอดีตเท่านั้น

5 ]  เกาเหลาเลือดหมู อาแปะ ย่านสบตุ๋ย สถานีรถไฟลำปาง สัมผัสรสชาติ ความเป็นต้มเลือดหมู แบบบ้านๆ อร่อยคุ้มยิ่งกว่าแฟลตปลาทอง

ความจริงร้านนี้ไม่มีชื่อร้าน เป็นร้านขายโจ๊ก และ เกาเหลาเลือดหมู ในตอนเช้า ผู้เขียนแวะมาชิมนานครั้งๆในช่วงวันหยุดพิเศษ เพราะร้านนี้เค้าหยุดเสาร์,อาทิตย์ เลยให้ชื่อว่า ร้านอาแปะ

เลือดหมูก้อน ร้านนี้เค้าทำเองครับ จะนุ่มเหมือนเยลลี่เลย ได้รสชาติเลือดหวานๆนุ่มๆ ไม่แข็งเหมือนเลือดหมูที่ขายกันในตลาด ส่วนเซียงจี้ ตับ และ ปอดหมู  อาแปะจะล้างอย่างดี ไม่มีกลิ่นคาวใดๆเลย
ชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รับอิทธิพลการกินหมู มาจากชาวจีนตั้งแต่โบราณ อย่างเช่น หมูหันของฟิลิปปินส์ หมูสะเต๊ะของอินโดนีเซีย เป็นต้น ชาวจีนล่องเรือมาค้าขายในแหลมมลายู ยุคทวารดีโบราณ สินค้าที่ต้องมากก็คือ พริกไทย อบเชย ก้านพูล มีมากในเกาะโมลุกกะ อินโดนีเซีย ทำให้ภูมิภาคนี้เจริญมั่งคั่งมาก มีชาวจีนและชาวอินเดียมาตั้งรกรากค้าขายกันมากขึ้น เจ้าผู้ปกครองนครต่างๆในยุคทวารดี หรือ อาณาจักรศรีวิชัยในสมัยนั้น ต่างก็ร่ำรวยจากการขายเครื่องเทศให้พ่อค้าจีนและอินเดีย ก่อนจะถึงคราวล่มสลาย เมื่อชาติตะวันตกอย่างสเปน และดัตช์ ต่างเข้ามายึดครอบครองแหล่งปลูกเครื่องเทศเหล่านี้ รวมทั้งการมาแทนที่ของพริกไทยราคาแสนแพง ด้วยพริกเม็ดเรียวยาว จากเทือกเขาแอนดีส ทวีปอเมริกาใต้ ที่ชาวโปรตุเกส นำมาทดลองปลูกและเผยแพร่ในอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อบั่นทอนอำนาจเศรษฐกิจของชาติคู่แข่งด้วยกัน


วิธีการกินต้มเลือดหมู ให้ถูกต้อง เป็นแบบอย่างที่ดี คือ ไม่ต้องปรุงเครื่องลงในชาม เพียงแค่เหยาะซีอิ้วขาว กับ พริกไทย ลงไปเท่านั้น ทางร้านจะมีถ้วยน้ำจิ้มเล็กๆ ไว้ปรุงน้ำจิ้มรสชาติตามใจชอบ เวลากินก็จะได้ซดน้ำซุปโล่งคอ แล้วก็คีบเอาเครื่องในต่างๆจุ่ม กับน้ำจิ้มที่ปรุงไว้ กินกับข้าวสวยร้อนๆ
 
6 ] ของกิ๋นบ้านเฮา แบบเมืองๆ กาดหัวขัว สะพานรัษฎาลำปาง  แมงมันจ่อม แกงกระด้าง เดี๋ยวนี้มีกินทุกฤดูแล้ว

มาที่ของกิน แบบเมืองๆ กันบ้าง ให้มาที่กาดหัวขัว ในยามเช้าๆ แวะเซลฟี่กับสะพานรัษฎาสักหน่อย ก่อนเดินเข้าตลาดหาอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ ทานรีวิวกัน ก็ไปเจอแมงมันจ่อม นี่แหล่ะที่แปลกสุดล่ะ เพราะเดี๋ยวนี้หายาก แล้วก็คนรุ่นใหม่สมัยนี้กินไม่เป็นกัน  มันคือไข่แมงมัน แมลงจำพวกแมงเม่าประมาณนั้น เป็นมดชนิดหนึ่ง ทำรังอยู่ใต้ดิน ต้องขุดลงไปใต้ดิน กว่าจะเจอไข่แมงมัน ด้วยความที่หายาก ราคาจึงแพงไปหลายพันบาทต่อ1 กิโลกรัม เวลาจะทานก็เอามาดองด้วยข้าวเหนียวนึ่งสุก สัก2-3 คืน ให้มีรสเปรี้ยวก่อนนำมาทาน

ส่วนแกงกระด้าง ก็เป็นร่องรอยอารยธรรม ประวัติศาสตร์ ทิ้งไว้ให้อีกอย่างหนึ่ง เพราะจะมีสูตรแบบเชียงใหม่ กับ สูตรเชียงราย  เชียงใหม่จะเป็นแกงกระด้างสีขาว เพราะใช้พริกไทยลงโครกเป็นเครีองแกง เป็นอิทธิพลจากอาหารขอมละโว้ดั้งเดิม ที่จะมีพริกไทยเป็นตัวชูโรง ดั่งจะเห็นได้ในอาหารโบราณเช่น แกงเลียง  ... แต่ทางเชียงราย ลำปาง แพร่ น่าน จะใช้พริกแห้งสีแดงในการปรุง ทำให้มีสีแดง สูตรจะเหมือนแกงกระด้างของชาวไทยใหญ่เลย เพราะเมื่อก่อนจะเป็นอาณาจักรล้านนา ก็จะเป็นนครเล็ก นครน้อย ถูกปกครองแยกกันโดย ลำพูน เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน จะตกอยู่ในอำนาจปกครองกลุ่มขอมดำ จากละโว้ (ทายาทพระนางจามเทวี) ส่วนที่เหลืออย่างเชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ลำปาง จะตกอยู่ในการปกครองของชาวโยนกเชียงแสน สลับกับกลุ่มผู้ปกครองจาก พม่า , ลาว และ สิบสองปันนา ก่อนจะมาถึงยุคควบรวมอาณาจักรและแคว้นต่างๆ ในสมัยพ่อขุนเม็งราย มารวมกันตั้งเป็นอาณาจักรล้านนา เป็นผลทำให้แกงกระด้างมีสีไม่เหมือนกัน จนถึงทุกวันนี้

...นอกจากจะแตกต่างระหว่างสูตรแกงกระด้างแล้ว สำเนียงคำเมืองยังแบ่งได้เป็น 2 แบบครับ คือสำเนียงหริภุญไชยและสำเนียงโยนก
ทางเชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน จะพูดสำเนียงหริภุญไชย จะเป็นสำเนียงภาษาท้องถิ่นประยุกต์กับสำเนียงละโว้ (มอญ โบราณ) พระนางจามเทวี ผู้สร้างนครหริภุญไชย เป็นพระราชธิดาแห่งกรุงละโว้ ส่วน ทางเชียงราย ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา บางส่วนของ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก สืบทอดสำเนียงของชาวโยนกเชียงแสน หรือ ชาวไทยพวน ฟังแล้วคล้ายกับสำเนียงลาวเวียงจันทน์
...ความจริงแกงกระด้างแบบนี้มีหลายที่ เค้าทำกินกันในหน้าหนาว เช่นที่เวียดนาม จีนตอนใต้ ลาว พม่า แต่ละที่ก็จะไม่เหมือนกัน แตกต่างกันไป ส่วนคนไทยภาคกลางและอีสาน จะมีบางพื้นที่ ทำกินกัน เรียกว่า หมูหนาว ขาหมูเย็นบ้าง ฯลฯ นั่นเป็นเพราะว่าได้สืบเชื้อจากชาวไทยพวน หรือ ชาวโยนก ที่ถูกเทครัว มาอยู่ในอดีตกาล เช่นที่ เพชรบูรณ์ อุบลราชธานี สุพรรณบุรี เป็นต้น
 
7 ] ร้านลาบหลู้ ก๋าสะลอง ลำปาง ร้านนี้ลาบควาย รสขมเยี่ยมยอด อร่อยเหาะของแท้ ของกิ๋นเมืองจาดลำแต้ๆ

ลาบกับคนเมืองเหนือ เป็นสิ่งที่ขาดจากกันไม่ได้ ไปอยู่บ้านเมืองไหนก็ตาม ต้องพกน้ำพริกลาบติดตัวไปด้วย วันนี้ขอนำเสนอลาบควาย ร้านลาบหลู้ ก๋าสะลอง อยู่ก่อนถึงม.ราชภัฏลำปาง สัก500 เมตร ขออนุญาตรีวิวเป็นลาบควายขม แบบคั่วแล้วนะครับ พอดีผู้เขียนไม่ทานของดิบมานานแล้ว เวลาไปทานกับเพื่อนฝูง ก็มักจะโดนแซว ว่าอนามัยจัดบ้างล่ะ เป็นธรรมดา เพราะเค้ากินดิบๆกันทั้งบ้านทั้งเมือง ผู้หญิงเค้ายังทานดิบได้เลย แต่ขอเว้นผู้เขียนไว้สักคน  ไม่ค่อยสู้เรื่องทานเนื้อดิบครับ

เมนูประจำร้านนี้ ลาบควายขม เห็นสีแดงๆนั้น เป็นสีน้ำพริกลาบร้านนี้ เอาลาบลงคั่วกับน้ำมัน จะมีน้ำแดงๆออกมา ไม่เผ็ดเท่าไหร่ แต่จะขมเพลี้ยได้ใจ  พูดร้านลาบในอดีต เมืองลำปางจะมีร้านลาบ 4 โมงแลง อยู่แถวหน้า ว.เทคนิคลำปาง ตอนนี้ปิดไปแล้ว หรือว่าย้ายไปตรงไหนไม่รู้ เป็นร้านลาบที่ผู้เขียนทานมานาน ติดใจในรสชาติมาก

วัฒนธรรมการกินลาบ พบได้ในเฉพาะภาคเหนือ อีสาน ลาว รัฐฉานพม่า หรือ สิบสองปันนา ว่าไปแล้วก็คือ กลุ่มไทกะได กลุ่มหนึ่งที่อาศัยในแถบแม่น้ำโขงตอนบน สอดคล้องกับการกินเนื้อควายดิบ ในพิธีเซ่นไหว้ปู่แสะย่าแสะ ของชาวลัวะดั้งเดิม ทำให้เชื่อว่า ลาบน่าจะเป็นอาหารดั้งเดิม ที่กินกันแบบดิบๆ ของคนโบราณแถบนี้มายาวนาน และหลักฐานที่สนับสนุนความเชื่อนี้อีกอย่าง เครื่องเทศใส่ลาบชนิดหนึ่งที่ขึ้นได้เฉพาะบนดอยสูง1,000เมตรขึ้นไปจากระดับน้ำทะเล คือ มะแขว่น  จะพบเครื่องเทศชนิดนี้ในลาบภาคเหนือของไทยเท่านั้น ไม่มีพบในพื้นที่อื่นๆ รสชาติของมะแข่วนจะออกเผ็ด และมีกลิ่นหอม ช่วยดับกลิ่นคาวเลือดได้ดี จึงเชื่อได้ว่า ต้นกำเนิดลาบที่แท้จริง น่าจะอยู่บริเวณแถบภาคเหนือเรานี้แหล่ะ โดยเป็นอาหารมื้อพิเศษในวาระเซ่นไหว้ภูตผีต่างๆ (ความเชื่อดั้งเดิมก่อนจะหันมานับถือศาสนาพุทธ คือ นับถือผี สำหรับชาวลัวะ) ... ลาบนิยมรับประทานในเฉพาะระดับชนชั้นผู้ปกครองเท่านั้น ส่วนชาวบ้านธรรมดาทั่วไป ก็นิยมทานอาหารปรุงง่ายๆ อาทิ ยำหน่อไม้ ส้าผัก ยำผัก เนื้อสัตว์ก็ตามที่จะหาได้พวกปลา กบ เขียด มาแอ๊บ มาปิ้ง สมัยนั้นชาวบ้านไม่นิยมทานสัตว์ใหญ่กัน

8 ] บะหมี่โกจือ  ข้างไปรษณีย์ลำปาง ต้มเลือดหมู ใบจิงจูฉ่าย มรดกวัฒนธรรมชาวจีนกวางตุ้งในลำปาง

ร้านนี้อยู่ด้านข้างไปรษณีย์เมืองลำปาง หาร้านง่าย แต่จะจอดรถยากหน่อย ต้องอาศัยดวงนิดนึง ถ้าไปปุ๊บเจอที่จอดรถเลย ถือว่าทำบุญมามาก เมนูตามป้ายของร้าน จัดแต่งได้สวยงาม ภาพเบ้อเริ่ม ใครสายตาไม่ดี ก็ไม่มีปัญหา เห็นชัดแน่นอน

โลโก้ประจำร้าน เข้าท่าดี เอารูปโกจือมาแปะไว้ข้างชาม กินไปก็มองหน้าโกจือไป แบบว่าเจ้าของร้านอาจจะอยากตอกย้ำแบรนด์ของเค้ามั้ง ให้คนกินได้จดจำ อะไรประมาณนี้ ยุคนี้ขายของกินอย่างเดียวไม่พอ ต้องขายหน้าตาอาหารให้คนถ่ายรูปกันด้วย  หน้าตาต้มเลือดหมู ดูดีมีสกุลอย่างมาก มีใบจิงจูฉ่าย สมุนไพรบำรุงไต ช่วยฟอกเลือดให้ดีขึ้น ส่วนมากจะปลูกบนดอยสูงครับผักชนิดนี้ แถวกรุงเทพ อาจจะหาทานยาก ต้องใช้ผักสลัดแทน .. ร้านบะหมี่โกจือ จะทำเส้นบะหมี่ และ แผ่นเกี้ยว กันเอง ทำให้มีความนุ่มเป็นพิเศษครับ

บะหมี่ของชาวจีน มีประวัติอันยาวนาน มีในบันทึกการเดินทางสำรวจเส้นทางสายไหม ของมาร์โค โปโล นักสำรวจชาวเวนิส ที่เดินทางมาพร้อมพ่อค้าเครื่องเทศชาวอาหรับ มายังแผ่นดินจีนในสมัยจักรพรรดิกุบไลข่าน ผู้ขยายอาณาเขตจักรวรรดิมองโกลไปไกลเกือบครึ่งโลก จุดประสงค์ของมาร์โค โปโล คือเพื่อจะสืบหา แหล่งที่มาของเครีองเทศจำพวก พริกไทย กานพลู อบเชย ฯลฯ เพราะชาวยุโรปต้องซื้อผ่านพ่อค้าคนกลางชาวอาหรับ ในราคาแสนแพง เรียกว่าเครื่องเทศมีค่าเสมือนดั่งทองคำเลยในสมัยนั้น แต่ก็ไม่สามารถสืบหาแหล่งเพาะปลูกบนแผ่นดินจีนได้ เพราะความจริงเครื่องเทศมาจากแถบเกาะชวา และเกาะโมลุกกะ อินโดนีเซีย ... มาร์โค โปโล ได้ใช้ชีวิตในแผ่นดินจีนอยู่หลายสิบปี ก่อนที่จะนำการทำเส้นบะหมี่จีนกลับไปเผยแพร่ในโลกตะวันตก กลายเป็น เส้นพาสต้า สปาเก็ตตี้ มักกะโรนี ในปัจจุบันนี้
 
9] ข้าวราดแกง นิรันดร หน้าโรงพยาบาลลำปาง ถนนป่าขาม ร้านนี้มีทีเด็ด อาหารให้เลือกหลากหลาย อร่อยครบทุกรส

ร้านนี้เปิดมาไม่นาน ยังไม่ขั้นเป็นระดับตำนาน แต่ผู้เขียนไปทานเป็นประจำ เผื่ออาจจะเจอคุณหมอสาวๆสวยๆ ( 555 ) ร้านนี้เป็นขวัญใจมหาชน แห่ง โรงพยาบาลลำปาง กันเลยทีเดียว มาทานกันทั้ง คุณหมอ พยาบาล เภสัชกร และเจ้าหน้าที่ รพ. รวมทั้ง ญาติคนไข้ทั้งหลาย

ทีเด็ดที่ว่าของร้านนี้คือ ต้มข่าไก่ ตักมาแบบถ้วยเล็ก แต่รสชาติและคุณภาพเหลือล้น  ผู้เขียนจะมีเวลาไปทานประจำในช่วงวันเสาร์ เพราะวันอาทิตย์ร้านนี้เค้าปิดพักผ่อนครับ ก็พอเข้าใจ เห็นคนแน่นเต็มร้าน แทบไม่มีที่จะนั่ง ยิ่งช่วงกลางวันพักเที่ยง คนยิ่งเยอะ เจ้าของร้านคงจะเหนื่อยพอสมควร
เห็นลูกค้าพยาบาลสาวมานั่งรับประทานข้าวราดแกง ก็พลันนึกถึงได้ว่าเมืองไทยเราโชคดี ที่เปิดกว้างเรื่องเพศ หญิงกับชายเสมอภาคเกือบเท่าเทียมกัน ประเทศที่สมบูรณ์ทุกด้านแทบจะเป็นประเทศในอุดมคติ อย่าง สวีเดน ฟินแลนด์ นอร์เวย์ เดนมาร์ก ผู้หญิงหรือเพศที่สาม อาจจะมีบทบาทกว่าผู้ชายซะอีก ไทยเรารับอิทธิพลวัฒนธรรมยุควิคตอเรียจากตะวันตก ที่ให้ชายเป็นใหญ่ในสังคม ฝ่ายหญิงต้องรักนวลสงวนตัว เรื่องเพศเป็นเรื่องต้องปกปิด เริ่มตั้งแต่ยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น แต่ในบางประเทศก็มีเรื่องวัฒนธรรมแปลกๆ เช่น สังคมที่ผู้หญิงเป็นใหญ่ อย่างชาวเผ่าเอเด ในเวียดนาม ที่นั่นผู้หญิงต้องเป็นฝ่ายออกบ้านไปทำนาทำไร่ หาเลี้ยงครอบครัว ส่วนฝ่ายชายมีหน้าที่ทำงานบ้านแทน 555 ถ้าเป็นบ้านเราอาจจะถูกตราหน้าได้ หรือ อย่างที่อินเดียตอนเหนือใกล้เทือกเขาหิมาลัย ก็จะมีวัฒนธรรมฮินดูโบราณ มาลัยหลายชาย คือ ให้ฝ่ายหญิงมีสามีได้คราวละหลายคนได้ เพราะ ความนิยมมีบุตรชายมากกว่าบุตรหญิง ทำให้สังคมอินเดีย มีชายมากกว่าหญิงมาตั้งนานแล้ว หรือวัฒนธรรมหลายผัวหลายเมีย ในสังคมตะวันตกปัจจุบัน ชายหญิงชาวยุโรปและอเมริกัน มักจะเป็นโสดมากขึ้น และก็เปลี่ยนคู่นอนไม่ซ้ำหน้าเลย


ราคามาตราฐาน ไม่ได้แพงอะไร ราด2-3 อย่าง ก็คิดราคามา 35- 40 บาท ถ้าเทียบตอนผู้เขียนไปเที่ยวเชียงราย แวะร้านข้าวแกงชื่ิอดัง สั่งราดข้าวมา2อย่าง คิดราคามา โอ้วแม่เจ้า โดนไป 80 บาท เข้าใจว่าขายให้นักท่องเที่ยวชาวจีนเยอะ คงจะคิดราคานักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ผู้เขียนพูดไทยชัดเจน หน้าตาก็คนไทย100% น่าจะคิดราคาแบบคนไทยน่ะ
 
10 ] ลาบกางมุ้ง ร้านลุงบุญ ใกล้ รพ.ศูนย์มะเร็งลำปาง  ร้านนี้ดังที่ ลาบปลาเพลี้ย แต่ทีแปลกคือมีต้องกินในมุ้งด้วย

ผู้เขียนสะดุดตา ตั้งแต่ชื่อร้านแล้ว เป็นร้านลาบแบบเมืองเหนือ ที่กางมุ้งให้ลูกค้าเวลารับประทานอาหาร  อาจจะเป็นการป้องกันพวกแมลงทั้งหลาย เข้าไปก่อกวนลูกค้า ผู้เขียนสั่งเลยครับ เมนูเด็ดของทางร้านลุงบุญ  เป็น ลาบปลาเพลี้ย มีให้เลือกทั้งแบบดิบ และแบบคั่วสุกแล้ว

ผู้เขียนเลือกสั่งแบบคั่วสุกแล้ว มาเสิร์ฟพร้อมผักแกล้มนานาชนิด มีมะเขือ เพกา หรือ คนเหนือ เรียกว่า มะหริดไม้ รสชาติจะขมๆหวานๆ และมีแถมถั่วต้มมาให้อีกโต๊ะละ1จาน มาชิมรสชาติปลาเพลี้ย ไม่ค่อยขมเท่าไหร่ อาจจะเป็นสูตรของทางหมู่บ้านแถวนี้ เค้าทำสูตรแบบนี้ ..ผู้เขียนเคยไปทานร้านในเมืองจะขมทั้งน้ำซุป ขมทั้งในตัวลาบปลาเลย

พูดเรื่องปลาเลย เลยนึกออกว่าอาหารเก่าแก่ที่สุดของชนชาติเอเชียอาคเนย์ก็คือปลานั่นเอง ปลาที่เป็นอาหารในที่นี้ อาจจะเป็นได้ทั้งปลาร้า ปลาเจ่า ปลาจ่อม ปลาย่าง ปลาแห้ง ในการค้นพบแหล่งอารยธรรมโบราณต่างๆในภาคอีสาน จะเจอพวกเครื่องใช้ มีด อาวุธ ถ้วยชามโบราณ และมักจะพบไหใส่ปลาร้าเอาไว้ด้วย จัดว่าปลาร้าเป็นของสูงในอดีตกาล จึงมีการจัดเก็บไว้ดั่งของมีค่ากันเลยทีเดียว ชาวขอมโบราณ เจ้าของต้นตำรับปลาร้า ใช้เกลือสินเธาว์จากแอ่งเกลือที่มีแห่งเดียวในยุคนั้น ก็คือ แอ่งเกลือพันขัน แห่งทุ่งกุลาร้องไห้ จ.ร้อยเอ็ดในปัจจุบัน ชาวขอมนำเกลือที่มีค่าราคาแพงมาใช้หมักปลา เพื่อใช้เป็นสำรับอาหารในยามแห้งแล้งขาดแคลน จะมีรับประทานในชนชั้นเจ้าผู้ครองนครเท่านั้น แอ่งเกลือแห่งนี้ผลิตเกลือสินเธาว์ให้กับนครหลายแห่ง ในลุ่มแม่น้ำโขง ลาว ไปจน กัมพูชา เวียดนามในปัจจุบัน
ชาวขอม ชาวมอญ และ ชาวลัวะ นับเป็นชาติพันธุ์โบราณในดินแดนสุวรรณภูมินี้มายาวนาน นับหลายพันปี ชาวมอญเชื่อกันว่าสืบเชื้อสายจากพวกดราวิเดียน ชาวอินเดียโบราณ นำเอาความเชื่อแบบพราหมณ์ฮินดูเข้ามาด้วย ส่วนชาวลัวะ สืบเชื้อสายมาจากชาวไปเย่ร้อยเผ่า อาศัยทางตอนใต้ของจีน พูดภาษาไทกะไดมานานเช่นเดียวกับชาวจ้วง มีรากเหง้าภาษามาจากเกาะไต้หวัน ฝรั่งสันนิษฐานว่าภาษาไทกะไดเป็นกลุ่มภาษาเดียวกับพวกโพลินีเชียน ชาวเกาะอันไกลโพ้น ส่วนกลุ่มสุดท้าย พวกขอมโบราณสืบเชื้อมาจากกลุ่มคนอพยพตระกูลเดียวกับชาวมันนิ หรือ ซาไก ชาวอูรักราโว้ย และชาวมอร์แกนทางภาคใต้บ้านเรา พวกนี้จัดเป็นประเภทนิโกรลอยด์ อพยพเดินทางออกจากแอฟริกาในยุคน้ำแข็ง
ที่เห็นในภาพ ไม่ได้กินในมุ้งนะครับ พอดีโต๊ะด้านในเต็ม ผู้เขียนเลยขอมานั่งโต๊ะหินอ่อนหน้าร้านแทน ที่ตั้งร้านอยู่ไม่ไกล อยู่บนถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ลำปาง-งาว หมู่บ้านฝายน้อย ใกล้โรงพยาบาลศูนย์มะเร็งลำปาง


11 ] ข้าวมันไก่เจ้าเก่า หน้าโรงแรมคิม ลำปาง  
ร้านนี้มีเชลล์ชวนชิมตัวจริง มาทานด้วยน่ะ ไม่มาชิม ไม่ได้แล้ว

อาหารเช้าเมืองลำปาง ไม่พ้นข้าวมันไก่อีกตามเคย วันนี้ผู้เขียนตะลอนหาร้าน จนมาถึงหน้าโรงแรมคิม แถววัดสวนดอก เจอร้านข้าวมันไก่ บรรยากาศเก่าแก่ เลยเดินเข้าสั่งข้าวมันไก่ มาลองสักจาน ... นึกถึงข้าวมันไก่ทีไร ก็คิดถึงเพลงป็อบของเจมส์ เรืองศักดิ์ เพลงข้าวมันไก่นี้ดังมากในสมัยผู้เขียนยังเป็นวัยรุ่นเอาะๆ นับเป็นแนวเพลงทันสมัยท่ามกลางวัฒนธรรมเพลงลูกทุ่งครองเมือง จนเกิดกระแสอินดี้ ร็อคอัลเทเนทีฟเกิดขึ้น เพราะความเบื่อในแนวดนตรีเก่าๆ วงดนตรีอย่าง โลโซ สไมล์บัฟฟาโร่ ป้างนครินทร์ แบล็คเฮด ฯลฯ (เด็กรุ่นใหม่อาจไม่รู้จัก) จึงดังแบบฉุดไม่อยู่ เป็นเวลาเกือบสองทศวรรษ ที่กระแสเพลงร็อคครองบ้านครองเมือง จนมาถึงจุดหนึ่งก็มีแนวดนตรีแบบใหม่เกิดขึ้นมาแทนที่ เป็นที่นิยมในชาวยุโรปและอเมริกันอย่างมาก ใช้ดนตรีแบบอิเลคทรอนิกส์ในเครื่องคอมพิวเตอร์ มาแทนที่เครื่องดนตรีจริง เรียกว่า EDM ซึ่งจะมาครองกระแสเพลงในบ้านเราในไม่ช้านี้


พอข้าวมันไก่มาเสิร์ฟ ก็จะได้กลิ่นหอมของข้าวมันที่หุงอย่างดี กลิ่นกระเทียมและขิง ใบเตย ลอยมานอกจานเลย ร้านนี้ป้าเค้าใช้ไก่พันธุ์เมือง เนื้อจะแน่น หนังกรุบกรอบดี กินไปก็เหลือบไปเห็น รูปข้างฝาร้านเห็นมีคนดังมาชิมมากมาย จะมีท่านเชลล์ชวนชิมตัวจริงมาทานด้วย แต่เป็นเมื่อหลายสิบปีแล้วครับ

ไม่แปลกใจกับป้ายเชลล์ชวนชิมที่ได้มาการันตี ผู้เขียนกินอร่อยเพลินจนหมดจาน จะต่ออีกจาน คงจะกินไม่ไหวแล้ว ตอนเช้าไม่อยากทานอะไรแน่นท้องมาก
รสชาติข้าวมันจะหอมเครื่องปรุง พวกขิง กระเทียม ใบเตย ส่วนน้ำจิ้มก็จะปรุงรสมานิดนึง มีเค็ม หวาน เปรี้ยว และทางร้านจะมีพริก ขิง ใส่ถ้วยเล็กไว้ให้เติม สำหรับคนชอบทานเผ็ด ... คงจะถูกปากเหล่านักท่องเที่ยวต่างจังหวัดแน่นอน น้ำจิ้มข้าวมันไก่ร้านนี้ จะมีรสชาติหลากหลาย เป็นสูตรที่ประยุกต์เพื่อให้ถูกปากคนภาคกลาง คนกรุงเทพแล้วครับ
 
12 ] ก๋วยเตี๋ยวเนื้อตุ๋น ชอกะเชอ มาเที่ยวลำปางแล้ว ไม่มากินก๋วยเตี๋ยว ถือว่าผิดครับ

ประวัติก๋วยเตี๋ยวลำปางนั้น น่าจะย้อนไปเกือบ 5 ช่วงอายุคนได้ ก๋วยเตี๋ยวลำปางนั้น มาพร้อมๆกับโรงเครื่องปั้นดินขาว โดยชาวจีนสมัยก่อนนั้น ... ผู้เขียนได้มีโอกาสฟังเรื่องเล่าการทำลูกชิ้นปู่โย่ง จากคนเฒ่าคนแก่ท่านหนึ่ง ว่าสมัยก่อนปู่โย่งจะทุบเนื้ออยู่หน้าร้านเลย ทุบไปใส่น้ำแข็งไปด้วย จนเนื้อเละเป็นเนื้อเดียว ไม่มีเครื่องบดนะครับสมัยก่อน ใช้แรงคนถือท่อนไม้ทุบกับเนื้อให้ละเอียด แล้วค่อยนำลูกชิ้นมาปั้น ลงต้มในหม้อ จำได้สมัยก่อน ลูกชิ้นปู่โย่งลูกเกือบเท่าลูกปิงปองเลย

มารีวิวร้านชอกะเชอ แต่พูดถึงปู่โย่งซะยาวเลย เอาล่ะ ร้านนี้อยู่ตรงใกล้ ปั้มน้ำมัน ปตท.ป่าขาม มีทีเด็ดตรงเนื้อตุ๋นครับ ตุ๋นยาจีนจนเปื่อยนุ่ม และยังมีแบบหม้อไฟ ให้เลือกอีกด้วยสำหรับคนชอบทานแบบร้อนๆ เดือดๆ

ผู้เขียนสั่งเป็นเกาเหลาเนื้อตุ๋น รวมทุกอย่าง จะมีตับ สะไบนาง มาด้วย ไว้จิ้มน้ำส้มของทางร้าน เข้ากันดีมากๆ พยายามไม่ปรุงลงในชามนะครับ เอาไว้ซดน้ำซุบตุ๋นยาจีน จะหอมกรุ่นได้รสชาติเนื้อ มีถ้วยน้ำจิ้มไว้ให้ ค่อยมาปรุงพริก น้ำปลา น้ำส้ม ไว้ตักจิ้มแยกเอา
 
13 ]  ข้าวราดแกง ป้าแหม่ม ตลาดราชวงศ์ ลำปาง  ร้านนี้แกงไทยรสชาติเข้มข้น ถูกใจคนทำงานไปรษณีย์เหลิอเกิน

ร้านเปิดวันจันทร์-ศุกร์เท่านั้น เน้นขายคนทำงาน คนมาทำธุระ ในละแวกตลาดราชวงศ์ ไปรษณีย์ลำปาง ห้างเสรี วัดบุญวาทย์วิหาร มาแวะฝากท้องไว้กับร้านป้าแหม่มแกงไทย ร้านนี้กันประจำ...ข้าวราดแกง เป็นวัฒนธรรมอาหารการกินที่ไทยเรารับอิทธิพลมาจากอินเดีย แกงของอินเดีย จะมีการใส่เครื่องเทศจำนวนมาก ยิ่งใส่มาก ยิ่งแสดงถึงความร่ำรวยและฐานันดรที่สูงมาก การแบ่งชั้นวรรณะในสังคมอินเดียมีมาแต่โบราณ สืบเนื่องจากความเชื่อศาสนาฮินดูและพราหมณ์ วรรณะแปลว่าผิวพรรณ อินเดียทางตอนเหนือจะมีผิวขาว แต่คนทางใต้ หรือ ชาวทมิฬ จะมีผิวสีดำ เป็นปัญหาต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้ คนผิวดำในอินเดีย จึงสืบเชื้อสายจากชนชั้นวรรณะต่ำ ไม่มีโอกาสทางสังคม จึงมีชาวอินเดียที่สมองดี ไอคิวสูง จบแพทย์ วิศวะไอทีคอมพิวเตอร์ จำนวนมากอพยพไปตั้งถิ่นฐานในประเทศต่างๆเช่น สหรัฐ ออสเตรเลีย อังกฤษ สิงคโปร์ เพื่อรับโอกาสทางสังคมที่ดีกว่า เช่น ซีอีโอของกูเกิล คนปัจจุบัน ก็เป็นคนวรรณะจัณฑาล ถือว่าต่ำที่สุดในสังคมอินเดีย

ตามชื่อร้านเลยครับ ป้าแหม่มแกงไทย อาหารขึ้นชื่อร้านนี้ก็จะเป็นพวกแกงกะทิแบบภาคกลาง เช่น แกงเขียวหวาน แกงเผ็ดหมู  และยังมีผัดกะเพราเครื่องในไก่ ผัดเผ็ดปลาสวาย ผัดเห็ดฟาง ฯลฯ เวลาผู้เขียนมาทาน จะต้องสั่งใส่ถุงกลับบ้าน ไว้ทานอีกมื้อนึงเลยทีเดียว

ร้านนี้อยู่ตรงศูนย์อาหาร ตลาดราชวงศ์ ตรงข้าม วัดบุญวาทย์วิหาร ไปรษณีย์ลำปาง แกงแบบไทยๆ ต้องคนทำเป็น จะได้รสชาติที่ถึงแท้ๆ เคยไปทานหลายร้านในจังหวัดลำปางแล้ว คนทำไม่เป็นกัน อย่างแกงเขียวหวาน น้ำจะใสมากเลย เกือบเป็นแกงจืดเลย
 
14 ] ก๋วยเตี๋ยวเรือเมย์ น้ำตกรสเข้มข้น ข้าง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
วิทยาเขตลำปาง ไปกินบรรยากาศ ก็อิ่มแล้ว ราคาชามละ15 บาท


ก๋วยเตี๋ยวเรือมาตั้งขายที่ลำปาง เยอะมาก ไม่รู้กี่เจ้า อาจเป็นเพราะ รสนิยม และความต้องการ ของชาวลำปางนั้นเปลี่ยนไปแล้ว จากรสชาติก๋วยเตี๋ยวน้ำใสแบบจีนเดิมๆ ที่กินกันมายาวนาน พอลูกหลานชาวลำปาง ไปเรียนหนังสือ ไปทำงานในเมืองใหญ่ พอกลับมาบ้านลำปาง ก็นำมาด้วยรสนิยมที่เปลี่ยนไป ไปกรุงเทพก็เจอ ก๋วยเตี๋ยวน้ำตกเจ้าดังๆหลายเจ้า นำมาสู่ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือแบบน้ำตกเข้มข้น ที่ลำปางเองไม่เคยเจอมาก่อน

ร้านนี้หาไม่ยาก อยู่ติดกับมหาวิทยาลัยสวนดุสิต วิทยาเขตลำปาง หรือ อยู่ตรงแบงก์ชาติเก่า นั่นแหละ ราคาชามละ 15 บาท ผู้เขียนเลยสั่งมาชิม ทั้งบะหมี่เหลืองน้ำตก และ เส้นใหญ่รวมเนื้อ หน้าตาก๋วยเตี๋ยวน้ำตกดูดีครับ ใส่น้ำตกแบบเข้มข้นมาเลย ผู้เขียนมัวแต่หามุมถ่ายภาพ จนก๋วยเตี๋ยวเย็นหมดแล้ว แถมโต๊ะด้านข้าง กินไปก็สะดุ้งกันไป กลัวเราจะไปถ่ายเค้ามั้ง 555

บรรยากาศในร้าน ตกแต่งแบบคลาสสิคดี ก๋วยเตี๋ยวเรือเมย์ เป็นแฟรนไชส์ เห็นมีสาขาอยู่ในหลายจังหวัด คงจะเจาะกลุ่มเป้าหมายเป็น พวกนักท่องเที่ยวต่างจังหวัดเป็นหลัก เพราะถ้านักท่องเที่ยวเค้าคงไม่ชิน หากมาทานก๋วยเตี๋ยวแบบน้ำใสบ้านเรา ส่วนผู้เขียนเอง ก็ชอบก๋วยเตี๋ยวน้ำตกอยู่แล้ว สมัยไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพ ก็กินประจำ น้ำตกข้นๆแบบนี้เลย ผ่านมาเป็นสิบปี ก็ไม่นึกไม่ฝันว่าจะได้กินก๋วยเตี๋ยวสูตรนี้ที่ลำปาง
แนะนำมาลองทานกันได้ ท่านใดมาธุระแถวย่านสบตุ๋ย หรือ มาเรียนที่ม.ราชภัฏสวนดุสิต .. ขอพูดถึงเรื่องมหาวิทยาลัย เดี๋ยวนี้มหาวิทยาลัยมาเปิดในลำปางเยอะมาก ตั้งแต่ ม.ธรรมศาสตร์ ห้างฉัตร , แพทย์ ม.มหิดล ม.เชียงใหม่ ใน รพ.ศูนย์ลำปาง , ม.เนชั่น , รร.ปัญญาภิวัฒน์ ฯลฯ ก็ดีครับ ลูกหลานชาวลำปางยุค Generation Y ,Z ก็จะได้เรียนกันอยู่บ้านลำปางของเรา ไม่ต้องจากถิ่นฐานไปไหน เรียนอยู่บ้านเราจบแล้ว ก็เอาความรู้ใหม่ๆ ความสามารถใหม่ๆ มาสร้างความเจริญให้บ้านเมืองเราเอง
โลกปัจจุบันนี้เราจำเป็นต้องพัฒนาด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ ด้วยน้ำมือคนรุ่นใหม่ๆ แล้วครับ ...ถึงเวลาให้โอกาสคนหัวก้าวหน้า หัวคิดสมัยใหม่เข้ามามีบทบาทอำนาจในสังคมได้แล้ว
ดูอย่างประเทศจีนเป็นต้นแบบ พัฒนาประเทศโดยใช้นวัตกรรมใหม่ โดยคนรุ่นใหม่ จนใกล้จะแซงหน้าสหรัฐแล้ว มีทั้งใช้หุ่นยนต์เสิร์ฟอาหาร , มือถือหัวเหว่ยสะท้านโลก, อาลีบาบา ของแจ็คหม่า, ปลูกผักในทะเลทราย, ไปเหยียบดวงจันทร์ พี่จีนก็ไปมาแล้ว ส่วนไทยเรายังเถียงกัน เรื่องนั่นถูกกฏหมาย เริ่องนี้ผิดกฏหมาย ก็คงไม่ไปไหนไกลหรอก
 
15 ] ร้านข้าวมันไก่เมืองมินทร์ หน้าโรงพักสบตุ๋ย ชื่อนี้สืบทอดวิชาข้าวมันไก่แบบดั้งเดิม ทำขายกันทั้งตระกูลเลย

เดิมทีสบตุ๋ยเป็นแหล่งที่ตั้งชุมชนชาวจีนอพยพมาค้าขายในอดีต จึงไม่แปลกมากนัก เมื่อผ่านมาย่านสบตุ๋ย ที่เต็มไปด้วยร้านข้าวมันไก่ไหหลำ อาหารหลักเมืองนี้ ไม่พ้นจะเป็นข้าวมันไก่ เรียกได้ว่ากินกันได้ 3 เวลา เช้า กลาง เย็น เลยครับ  วันนี่ผู้ลองสั่งเมนูเด็ดอีกอย่างของทางร้าน คือ ข้าวหมูอบ 

ผู้เขียนจะชอบแอบหลบๆซ่อนๆ อยู่ข้างร้านนี่แหละ ถ่ายรูปไป เก็บภาพบรรยากาศไป ไม่ต้องให้เจ้าของร้านเค้ารู้ตัวหรอก เห็นสื่อเมืองลำปางบางท่านไปชิมที ไปให้เค้ารู้กันทั้งร้านเลย ถ่ายรูปคู่เจ้าของร้านกันเสร็จสรรพ ก็ว่ากันไป สไตล์ใคร สไตล์มัน ตัวผู้เขียนเองชอบไปแบบเงียบๆดีกว่า

รสชาติข้าวมันไก่ร้านเมืองมินทร์นี้ ค่อนข้างจะอนุรักษ์ไว้ซึ่งสูตรเดิมๆไว้มาก  ผู้เขียนเคยทานตอนเป็นเด็ก น้ำจิ้มเต้าเจี๊ยวจะเป็นแบบรสชาติจีนแท้ๆ แล้วก็มีพริก ขิง ซีอิ้วดำ ไว้ให้ปรุงแต่งกันเอง เผื่อใครยังไม่ถูกปาก ทุกวันนี้รสชาติก็ยังคงเดิม ไม่มีเปลี่ยนแปลง หายากครับ ร้านที่จะคงสูตรเดิมไว้ได้ตลอด เพราะธุรกิจร้านอาหาร พอเปลี่ยนมือ มาเป็นรุ่นลูกหลาน สูตรก็เพี้ยนไปหมดแล้ว โดยส่วนมากธุรกิจนี้จะมาเจ๊งรุ่นที่สาม หรือ รุ่นหลาน มากที่สุด
 



Create Date : 05 สิงหาคม 2561
Last Update : 26 พฤษภาคม 2562 18:01:00 น.
Counter : 1799 Pageviews.

0 comments

Lampang Eat and Trip
Location :
ลำปาง  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



กินลำ กินม่วน ลำปางหนา บ้านเฮาเน้อ
Group Blog
สิงหาคม 2561

 
 
 
1
2
3
4
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
 
All Blog