Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2550
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
 
26 มิถุนายน 2550
 
All Blogs
 

มติครม. 12 มิ.ย. ปิดเขื่อนปากมูนถาวรเพื่ออะไร?

มติครม. 12 มิ.ย. ปิดเขื่อนปากมูนถาวรเพื่ออะไร?
ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ความนำ
การเคลื่อนไหวคัดค้านเขื่อนปากมูนของชาวบ้าน แม้จะไม่สามารถหยุดการสร้างเขื่อน แต่ก็ได้ทำให้รัฐยอมจ่ายค่าชดเชยผลกระทบที่ไม่สามารถทำประมงได้ในช่วงการก่อสร้างเขื่อนเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยมีข้อตกลงว่า หลังการเปิดใช้เขื่อน จะมีการประเมินผลกระทบต่ออาชีพ และข้อพิสูจน์ว่าบันไดปลาโจนจะทำให้ปลาอพยพขึ้นได้ดังปกติหรือไม่

หลังการเปิดเขื่อนปากมูน ชาวบ้านซึ่งพบว่า ตนได้รับผลกระทบจากการใช้เขื่อนต่อการทำอาชีพประมงจึงได้เคลื่อนไหวให้รัฐบาลเปิดเขื่อนปากมูน อย่างไรก็ดี ข้อถกเถียงระหว่างชาวบ้านกับราชการว่า มีผลกระทบจริงหรือไม่ ก็เป็นเรื่องราวที่ต่อสู้กันมายาวนาน ชาวบ้านเคยยึดหัวเขื่อนและตั้งหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืนกว่า 2 ปี ในช่วงรัฐบาลชวนหลีกภัย และได้เคลื่อนมาล้อมทำเนียบ โดยมีชาวบ้านจำนวน 225 คน ปีนทำเนียบรัฐบาลและถูกจับ

ผลของการเคลื่อนไหวครั้งนั้น ได้นำมาสู่การตั้งคณะกรรมการกลางแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจน ซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการ 10 คน มติคณะกรรมการกลางฯ ได้เสนอให้มีสถาบันทางวิชาการเข้ามาศึกษาผลกระทบหลังการเปิดเขื่อน

ในขณะที่ทางสภาพัฒน์ฯ พยายามผลักดันเสนอให้มีการศึกษาในทำนองเดียวกันโดยเป็นผู้จัดจ้างเอง แต่ได้รับการคัดค้าน เพราะหลักการประเมินผลกระทบไม่ควรให้เจ้าของโครงการเป็นผู้ดำเนินการฝ่ายเดียว (กล่าวได้ว่า ปัญหาปากมูนเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญแห่งหนึ่ง ที่ทำให้ข้อถกเถียงเช่นนี้นำไปสู่ประเด็นเรื่ององค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ในรัฐธรรมนูญ 2540 ม. 56 วรรค2)
(มาตรา 56 วรรค 2: การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมจะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมทั้งได้ให้องค์กรอิสระ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและผู้แทนสถาบันศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ)

ข้อเสนอของคณะกรรมการกลางฯ ได้นำมาสู่การศึกษาผลกระทบ และแนวทางแก้ไขโดยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และผลการศึกษาดังกล่าวนี้ได้นำมาสู่ข้อเสนอให้เปิดเขื่อนแบบถาวร และรัฐบาลทักษิณมีมติครม. 14 มกราคม 2546 ให้เปิดเขื่อนโดยยกประตูระบายน้ำทั้ง 8 บานเป็นเวลา 4 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม (ต่อมามีมติครม. วันที่ 8 มิถุนายน 2547 ขยับมาให้เปิดวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี) เพื่อให้ปลาได้อพยพขึ้นมาวางไข่

นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรียังแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาทรัพยากรและวิถีชีวิตชุมชนลุ่มน้ำมูน ซึ่งมีลักษณะภาคี โดยประกอบไปด้วยผู้แทนหน่วยราชการ นักวิชาการ และตัวแทนชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ (ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิชย์ อดีตประธานบอร์ด กฟผ. เคยเป็นประธาน และปัจจุบันประธานคณะกรรมการคือ ปลัดกระทรวงพลังงานฯ) เพื่อพิจารณาการเปิดประตูระบายน้ำ และดำเนินการจัดทำแผนฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวบ้าน แม้ผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้สรุปว่า เขื่อนปากมูนได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมธรรมชาติและวิถีชีวิตชุมชนและเสนอให้เลิกใช้เขื่อน แต่ชาวบ้านยอมรับเงื่อนไขการเปิดประตูระบายน้ำ 4 เดือน ปิด 8 เดือน ตามการตัดสินใจของคณะรัฐมนตรีในยุครัฐบาลทักษิณ

ดังนั้น พัฒนาการของการแก้ไขกรณีปัญหาเขื่อนปากมูน แม้จะลุ่มๆ ดอนๆ ฝ่ายชาวบ้านเองก็ไม่ได้ตามข้อเรียกร้องทั้งหมด แต่กระบวนการแก้ปัญหาได้นำมาสู่การถกเถียงบนหลักการธรรมาภิบาล การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งตัดสินใจที่อาศัยฐานข้อมูล ข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณา

"รัฐทหาร" กับการแก้ปัญหาเขื่อนปากมูน
หลังการรัฐประหาร มติ ครม.ให้เปิดเขื่อนปากมูน 4 เดือน และคณะกรรมการพัฒนาทรัพยากรและวิถีชีวิตชุมชนลุ่มน้ำมูน ยังเป็นกลไกการแก้ไขปัญหาสำคัญ แต่เกิดกลไกด้านความมั่นคงขึ้นซ้อนทับขึ้นมา กล่าวคือ รัฐบาลระบอบรัฐประหาร ได้มีการยุบเลิกศูนย์ต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจน(ศตจ.) และเปลี่ยนเป็น "ศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนภายใต้แนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.)"

ที่สำคัญก็คือ ได้นำ ศจพ. มาอยู่ภายใต้การกำกับ ดูแลโดย กองอำนวยการร่วมรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.) ซึ่งมี ผบ.ทบ. เป็นผู้อำนวยการฯ ดังที่จะเห็นได้ว่า ระบอบรัฐประหารได้ฟื้นฟู กอ.รมน. และเข้ามามีบทบาทอย่างมาก (เช่น เรื่องการตั้งรองผู้ว่าราชการจังหวัดฝ่ายความมั่นคง และเสนอร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคง เพื่อเพิ่มเติมกำหนดภารกิจให้ กอ.รมน.มีอำนาจและบทบาทเพิ่มมากยิ่งขึ้น ฯลฯ)

ภายใต้ระบอบรัฐประหาร ปัญหาคนจน ความยากจน จึงอยู่ภายใต้แนวคิดเรื่องความมั่นคงใหม่ คนจนถูกมองว่า เป็นเหยื่อของนักการเมือง เหยื่อประชานิยมของทักษิณ และอยู่ภายใต้กลไกการควบคุมกำกับโดย กอ.รมน. ปัญหาของพี่น้องปากมูนจึงอยู่ภายใต้บริบทดังกล่าวนี้

การเปิดเขื่อนในรัฐบาลชุดปัจจุบันตามมติ ครม.ที่มีอยู่เดิม ชาวบ้านจึงได้เสียงร่ำลือและเค้าลางว่า มีนายทหารเข้ามาเคลื่อนไหวไม่ให้เปิดเขื่อนปากมูน. วันที่ 23 เมษายน 2550 ชาวบ้านจึงได้พยายามพบนายกรัฐมนตรีที่จังหวัดอุบลราชธานี และนายกฯ ได้รับปากกับชาวบ้านว่า จะเปิดเขื่อนปากมูนตามมติ ครม.ที่มีอยู่เดิม ซึ่งก็คือ มติ ครม. 14 มกราคม 2546 ให้เปิดเขื่อนโดยยกประตูระบายน้ำทั้ง 8 บานเป็นเวลา 4 เดือน

ซึ่งการดำเนินการเปิดประตูระบายก็ล่าช้าเพราะกลไกด้านความมั่นคงที่เข้ามาทับซ้อน อย่างไรก็ตาม ต่อมาเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี ยังมีมติยืนยันว่าปีนี้เขื่อนปากมูนจะเริ่มระบายน้ำในวันที่ 7 มิถุนายน เพื่อเปิดประตูทั้ง 8 บาน โดยได้เห็นชอบแนวทางดำเนินงานของกระทรวงพลังงานในการกำหนดวันเปิดบานประตูเขื่อนปากมูล ตามที่กระทรวงพลังงานฯ เสนอด้วยเหตุผลว่า

1. ปัจจุบันกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและพื้นที่ใกล้เคียง มีเพียงพอใช้จ่ายให้กับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้อย่างทั่วถึง แม้ไม่มีการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนปากมูล ดังนั้น ความสำคัญของเขื่อนปากมูลจึงควรมุ่งเน้นด้านชลประทานและประมงเป็นหลัก ส่วนการผลิตไฟฟ้าควรพิจารณาเป็นผลพลอยได้

2. โดยที่ข้อเสนอกำหนดการปิด-เปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลของประชาชนทั้ง 2 กลุ่มข้างต้นมีความแตกต่างกันในช่วงระยะเวลา 15 วัน คือระหว่างวันที่ 1 - 15 มิถุนายน 2550 ประกอบกับจากการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่า ในขณะนี้ฝนเริ่มตกในพื้นที่ต้นน้ำมูลแล้ว ประกอบกับปริมาณน้ำมีมากกว่าปี 2549 และคาดว่าจะทำให้ปริมาณน้ำบริเวณเหนือเขื่อนปากมูลเพิ่มมากขึ้นในช่วงหลังจากสัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายน 2550 ซึ่งจะทำให้ลำน้ำมีปริมาณน้ำเพียงพอให้ปลาสามารถอพยพขึ้นไปวางไข่บริเวณต้นน้ำเหนือเขื่อนปากมูลได้ และเพียงพอสำหรับการเตรียมกล้าและเตรียมพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกร ดังนั้นเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนทั้ง 2 กลุ่ม จึงเห็นควรเริ่มเปิดประตูเขื่อนปากมูลในวันที่ 7 มิถุนายน 2550 และเปิดยกบานขึ้นสูงสุดในวันที่ 17 มิถุนายน 2550

3. กระทรวงพลังงานจะประสานกับกรมชลประทานในการปรับปรุงสถานีสูบน้ำ จำนวน 6 แห่ง ที่ก่อสร้างขึ้นใหม่ให้สามารถสูบน้ำได้เมื่อระดับน้ำในลำน้ำมูลลดลง หลังจากการเปิดประตูน้ำเขื่อนปากมูล เพื่อให้สามารถสูบน้ำสนับสนุนการเพาะปลูกของเกษตรกรได้โดยเฉพาะในช่วงภาวะฝนทิ้งช่วง (//www.thaigov.go.th/Download/560_29%2005%2050.doc)

รัฐซ้อนรัฐ และสภาวะ "สองรัฐ หนึ่งสังคม"
แต่การตัดสินใจของรัฐบาลตามมติคณะรัฐมนตรี 29 พฤษภาคม ซึ่งดำเนินผ่านช่องทางความรับผิดชอบของกลไกปกติคือ คณะกรรมการพัฒนาทรัพยากรฯ และกระทรวงพลังงานฯ ก็เกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งกับกลไก กอ.รมน. ซึ่งอ้างว่า งานด้านการแก้ไขความยากจนเป็นความรับผิดชอบของ ศจพ.ที่มีท่านประธาน คมช.เป็นผู้อำนวยการ

เค้าลางที่ชาวบ้านเริ่มรับรู้ว่า ทหารจะปิดเขื่อนปากมูนเริ่มชัดเจนเมื่อ พลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดิน (ภายใต้ ศจพ.) ได้เข้ามามีบทบาทในการออกหนังสือให้คณะกรรมการพัฒนาทรัพยากรฯ งดการประชุมเพื่อพิจารณาการเปิดประตูระบายน้ำ (ตามการนัดหมายการประชุมในวันที่ 18 พฤษภาคม)

ชาวบ้านล่ำลือกันว่า นายทหารที่เข้ามามีบทบาทได้อ้างว่า ได้รับอำนาจมาจาก คมช. ซึ่งในโครงสร้างการบังคับบัญชาก็เป็นจริงเช่นนั้น เพราะหนังสือฉบับต่างๆ ได้ระบุว่า ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (พลเอกสนธิ บุญรัตกลิน) ในฐานะศูนย์อำนวยการ ศจพ.ได้มอบหมายอำนาจให้อนุกรรมการชุดนี้เป็นผู้ดำเนินการ

"ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (พลเอกสนธิ บุญรัตกลิน) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการขจัดความยากจน และพัฒนาชนบทตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ได้มอบหมายให้อนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินศูนย์อำนวยการขจัดความยากจน และพัฒนาชนบทตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เชิญหน่วยงานตลอดจนองค์กรที่เกี่ยวข้องมาประชุมหารือเพื่อให้ได้ข้อยุติก่อนที่จะกราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป" (หนังสือ ที่ นร. 5100.26 /สจพ.ทด/15)

ปัญหาปากมูนภายใต้กลไก กอ.รมน. ได้มีการประชุมที่เป็นทางการ 2 ครั้ง คือ ในวันที่ 18 พฤษภาคม และวันที่ 4 มิถุนายน และข้อเสนอได้นำไปสู่การพิจารณาในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน เพื่อเปลี่ยนมติคณะรัฐมนตรี 29 พฤษภาคม

อย่างไรก็ดี แม้เรื่องราวจะผ่านมาจนถึงวันที่ 17 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันที่ กฟผ.จะต้องยกประตูระบายน้ำสูงสุดทั้ง 8 บาน ก็ยังไม่มีใครได้เห็นมติ ครม.ดังกล่าวนี้ ชาวบ้านในพื้นที่ทราบข่าวว่า ฝ่ายต่อต้านการเปิดเขื่อนได้เฉลิมฉลองชัยชนะที่ทำให้รัฐบาลปิดประตูระบายน้ำได้ ซึ่งน่าสนใจว่า ติครม.ดังกล่าวนี้ไม่มีในข่าวทำเนียบ และโฆษกฯ ก็ไม่ได้แถลง ชาวบ้านพยายามสอบถามรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องก็ไม่มีใครบอกได้

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ตัวแทนชาวบ้านสมัชชาคนจนได้พบนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล จึงได้รับทราบจากปากท่านนายกฯ ว่า คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายนที่ผ่านมา เห็นชอบให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ รักษาระดับน้ำเขื่อนปากมูลไว้ที่ระดับ ๑๐๖ - ๑๐๘ ม.รทก.

ซึ่งต้องเข้าใจว่า ระดับน้ำที่ ๑๐๘ ม.รทก. คือระดับเก็บกักน้ำปรกติของเขื่อนปากมูล และเมื่อเขื่อนปล่อยน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าระดับน้ำก็จะเหลืออยู่ที่ประมาณ ๑๐๖ ม.รทก เขื่อนปากมูลจึงไม่มีการเปิด นั่นก็หมายความว่า เขื่อนปากมูลยังใช้งานตามปรกติ การรักษาระดับน้ำไว้ที่ระดับ ๑๐๖ - ๑๐๘ ม.รทก. เป็นเพียงการเลี่ยงบาลี
ความหมายก็คือ นับแต่นี้ต่อไปหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงมติคณะรัฐมนตรีเป็นอย่างอื่น ก็จะไม่มีการเปิดประตูน้ำ เพื่อให้ปลาอพยพจากแม่น้ำโขงเข้าสู่แม่น้ำมูนอีกต่อไป มติครม. 12 มิถุนายน จึงเป็นการปิดเขื่อนปากมูนถาวร

น่าสนใจว่า เหตุผลที่ใช้สนับสนุนการปิดเขื่อนถาวรนี้มีอย่างน้อย 2 ประการที่สำคัญคือ ประการแรก ข้ออ้างเรื่องการใช้น้ำเพื่อการเกษตรกรรม ดังที่นายกรัฐมนตรีกล่าวแก่ชาวบ้านสมัชชาคนจนว่า

"สิ่งที่ทางเจ้าหน้าที่ได้รายงานมา (อีกครั้ง-ผู้เขียน) นั้นก็เป็นเรื่องที่เราพูดกันอยู่ว่า ในเรื่องที่จะใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำของแม่น้ำมูนว่า จะสามารถให้ประโยชน์ได้มากแค่ไหน ในระดับน้ำแค่ไหน ซึ่งได้ข้อยุติตรงที่กรมชลประทานบอกว่าที่ระดับ 106 ม.รทก. จะเป็นประโยชน์ในการใช้น้ำได้ในลักษณะที่ทั้งเป็นประโยชน์ในด้านการเกษตร ต่อผู้ที่มีพื้นที่อยู่เหนือน้ำแล้ว ก็จะสามารถที่จะระบายน้ำในช่วงเวลาที่เรากำหนดไว้ได้ตามนั้นด้วย"

ชาวบ้านสมัชชาคนจนซึ่งได้พบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ในวันที่ 15 มิถุนายน เล่าว่า ท่านรัฐมนตรีก็เห็นดีงามกับการมีน้ำเพื่อการเกษตรกรรม เพราะจะได้นำน้ำมาใช้ในการผลิตภายใต้แนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แต่ท่านไม่ทราบว่า ระดับการเก็บกักน้ำที่ 106-108 ม.รทก. ความหมายก็คือการปิดเขื่อน
ข้ออ้างดังกล่าวนี้ ชาวบ้านผู้เดือดร้อนได้รับฟังจากปากของพลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง ที่รัฐสภาว่า งานวิจัยเหล่านี้เชื่อถือไม่ได้ ผู้เขียนจะไม่ถกเถียงในที่นี้ เพราะมีผู้คน สถาบันทางวิชาการ คณะวิจัยต่างๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย คงจะได้มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางต่อไป ผู้คนเหล่านี้คงไม่ยินยอมให้งานวิชาการถูกโยนทิ้งอย่างง่ายๆ ด้วยกำลังอำนาจดิบๆ

เหตุผลอีกประการหนึ่งก็คือ การอ้างว่า มีผู้ลงชื่อสนับสนุนให้ปิดเขื่อนถาวร ร้อยละ 98 และนายทหารท่านหนึ่งอ้างว่า นี่แหละประชาธิปไตยที่แท้จริง เพราะเป็นการตัดสินโดยประชามติของเสียงส่วนใหญ่

ชาวบ้านสมัชชาคนจนพยายามสะท้อนว่า กระบวนการได้มาซึ่งรายชื่อแฝงไปด้วยเล่ห์กลต่างๆ แต่ฐานคิดและความเข้าใจเรื่อง ธรรมาภิบาล และหลักการพื้นฐานประชาธิปไตย กระบวนการของประชามติเช่นนี้ ก็น่าจะเป็นเรื่องเศร้าใจสำหรับสังคมไทยมากพอแล้ว

ข้อสังเกตเบื้องต้น
การปิดเขื่อนปากมูนจะนำมาสู่ความเดือดร้อนของชาวบ้าน ซึ่งได้เตรียมเครื่องมือหาปลากันเอาไว้ และส่วนใหญ่ต้องกู้หนี้ยืมสินเขามาก่อน หลายครอบครัวหยิบยืมเงินมาให้ลูกๆ ใช้จ่ายในช่วงโรงเรียนเปิด โดยหวังว่า เมื่อเปิดเขื่อนจะได้หาปลาเอามาใช้หนี้เขา

สำหรับการตัดสินใจกลับไปกลับมาของครม. ชาวบ้านก็ตั้งคำถามว่า นายทหารบางคนเกี่ยวข้องกับ กฟผ. แต่เหตุใดจึงมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของการบริหารประเทศขนาดนี้ นี่ไม่ใช่ผลประโยชน์ทับซ้อนดอกหรือ สิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านปากมูนจะช่วยให้เราหูตามสว่าง และเห็นว่า เหตุใด ร่างพ.ร.บ. สภาองค์กรชุมชน จึงถูกต่อต้านจากหน่วยงานด้านความมั่นคง และมหาดไทย เพราะพวกเขาวิธีคิดการพัฒนาประชาธิปไตยที่ต้องการเอาอำนาจไปไว้ที่ประชาชน แต่ต้องเป็นประชาธิปไตยโดยการกำกับ (ดังมหาดไทยที่กำลังดำเนินโครงการพัฒนาประชาธิปไตยร่วมกับทหาร พวกเขากำลังเร่งอบรม "วิทยากรแม่ไก่" เพื่อให้ผู้คนได้เห็นความเลวร้ายของระบอบทักษิณ และลากพาคนมาลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ)

การดาหน้าออกมาคัดค้าน ร่างพ.ร.บ.สภาชุมชนโดยหยิบอ้างปัญหาเทคนิค ความซ้ำซ้อน ฯลฯ เหล่านี้ล้วนมีวาระซ่อนเร้นทั้งสิ้น เพราะสิ่งที่ทหารและมหาดไทยกำลังผลักดันกันอยู่ก็คือ การเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.ปกครองท้องที่ 2457 เพื่อฟื้นคณะกรรมการพัฒนาหมู่บ้าน และกวาดเอาองค์กรชุมชน กลุ่มก้อนต่างๆ ไว้ภายใต้การกำกับของมหาดไทย

สิ่งที่มหาดไทยและทหารต้องการสร้างคือ ประชาธิปไตยและองค์กรมวลชนแบบกำกับโดยรัฐ (state corporatism) ไม่ใช่การขยายไปสู่ประชาธิปไตยทางตรงหรือประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม

วิธีคิด กลไกการการแก้ปัญหาปากมูนเช่นนี้ยังช่วยทำให้เราตั้งคำถามว่า สังคมจะสร้างวัฒนธรรมการการแก้ปัญหาโดยใช้เกณฑ์การตัดสินกันด้วยการเมืองของจำนวน การระดมมวลชน การควบคุมกำกับผู้คนในสังคม ฯลฯ มากกว่าการตัดสินกันด้วยข้อมูล เหตุผล และกระบวนการมีส่วนร่วม กระนั้นหรือ

ความเดือดร้อนของชาวบ้านคงจะช่วยเตือนสติสังคมไทยให้ตั้งคำถามว่า ในบริบทรัฐทหารเช่นนี้เราจะสร้างและจรรโลงประชาธิปไตย และหลักธรรมาธิบาลให้ลงหลักปักฐานในสังคมไทยได้หรือไม่


ที่มา //www.midnightuniv.org/




 

Create Date : 26 มิถุนายน 2550
0 comments
Last Update : 26 มิถุนายน 2550 15:25:31 น.
Counter : 630 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


Darksingha
Location :
สมุทรสงคราม Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]





Click for use Graphics comment


Darksingha ที่แสดงถึงอำนาจและความมืดมัว ผมให้แทนคำว่า Age of Doubt หรือยุคแห่งความสงสัยก็แล้วกัน ดังนั้นBlogนี้จึงเป็นแดนสนธยาที่เต็มไปด้วยหมอกควันแห่งคำถาม และการละเล่น เพื่อแสวงหา ?


TV3 Live CH5 Live CH7 Live Modernine TV Live NBT LIVE - CH11 TPBS - Public Channel ASTV1 New11 - Online News 24 hours Nation Channel DMC.TV - Buddhistic Television ASTV5 - Suvarnbhumi ASTV7 - Buddhistic Television  True New 24 Channel  skynew  cnnibn Channel  cnn Channel  bbcnews_island Channel  cctv  Channel  bfmtv  Channel  ntv  Channel  fox8 Channel  foxnews5 Channel  cspan  Channel  france24 Channel  world_explorer Channel  discovery_channel Channel  nasa  Channel kimeng-channel dmc-channel ebr-channel research-channel utv-channel michigan-channel at-florida-channel islam-channel peace-usa-channel bbc-panorama-channel CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live

music is life

ชุมทางเพลงเพื่อชีวิต

Friends' blogs
[Add Darksingha's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.