Group Blog
 
<<
กันยายน 2550
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
23 กันยายน 2550
 
All Blogs
 
ข้อเท็จจริง (รอบโลก) และมายาคติ เรื่อง ‘กฎอัยการศึก’



ข้อเท็จจริงแบบกว้างๆ ที่คนส่วนใหญ่รับรู้เกี่ยวกับ ‘กฎอัยการศึก’ ก็คือ กฎหมายเก่าแก่ที่ทั่วโลกมีไว้ใช้ในกรณีที่เกิดศึกสงคราม ภัยพิบัติ จลาจล หรือการปฏิวัติรัฐประหารยึดอำนาจ โดยที่ประเทศมากมายในโลกนี้ล้วนเคยผ่านช่วงเวลาที่มีการบังคับใช้กฎอัยการศึกมาแล้วทั้งสิ้น


นอกจากนี้ เหตุความไม่สงบอย่างต่อเนื่องในเขตจังหวัดชายแดนใต้และการลอบวางระเบิดคืนส่งท้ายปี 2549 ในกรุงเทพและปริมณฑล (ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่ได้รับการคลี่คลายคดีแต่ประการใด) ยังสร้างความหวาดกลัวเสียจนทำให้คนจำนวนมากเชื่อว่า การประกาศกฎอัยการศึกในประเทศไทยมีความชอบธรรม และเป็นสิ่งที่จะทำให้ประเทศสงบเรียบร้อย เืพื่อมุ่งหน้าไปสู่การเลือกตั้งรัฐบาลใหม่ในระบอบ ‘ประชาธิปไตย’ เหมือนอย่างที่ ‘คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ’ หรือ คมช.ประกาศออกมาตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของการขึ้นสู่อำนาจ



ความเชื่อที่ว่า ‘กฎอัยการศึก’ หรือ Martial Law มีความเป็นสากล และนานาประเทศหยิบมาใช้ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยหรือสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงความไม่สงบที่เกิดขึ้นโดยไม่สามารถหาตัวผู้ก่อเหตุมาลงโทษได้ รวมทั้งเหตุผลด้านการเมืองหลายประการ ทำให้การบังคับใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่มากกว่าครึ่งของประเทศไทย กลายเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยจะมีใครคัดค้านเท่าไรนักหลังจากเกิดรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา





‘มายาคติ’ เรื่องกฎอัยการศึก – กรณีศึกษาจากนานาประเทศ

นอกเหนือจากสถานะความเป็นกฎหมายเก่าแก่ที่ใช้ในภาวะฉุกเฉิน กฎอัยการศึกยังเป็นการ ‘เปิดไฟเขียว’ ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย รวมถึงการปราบปราม ป้องกัน และระงับการเคลื่อนไหวใดๆ ที่ฝ่ายทหารเห็นว่า ‘เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ’ และบางกรณีศาลทหารยังมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาบางอย่างที่ประกาศระบุไว้แทนศาลพลเรือนด้วย



แต่การมอบอำนาจให้กับฝ่ายทหาร หรือฝ่ายที่มีกองกำลังอยู่ในความควบคุม อาจเป็นดาบสองคมที่ปล่อยให้คนบางกลุ่มมีอำนาจมากเกินความจำเป็น



ในความเป็นจริง การประกาศกฎอัยการศึกจะนำไปสู่กระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยได้หรือไม่ ยังเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายสงสัยและไม่มีคำตอบที่ชัดเจน คำกล่าวอ้างต่างๆ นานาเกี่ยวกับกฎอัยการศึกจึงถูกหยิบยกมาตั้งประเด็น และเสียงคัดค้านของผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการประกาศกฎอัยการศึกก็ดังขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมไทย





กฎอัยการศึก ‘จำเป็น’ ต่อการรักษาความสงบภายในประเทศ

...ความจำเป็นของใคร?



การรักษาความสงบภายในประเทศต่างๆ ด้วยการประกาศกฎอัยการศึก มักเกิดขึ้นเมื่อมีการจลาจล หรือมีเหตุการณ์ปะทะกันรุนแรงจนเจ้าหน้าที่ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ การประกาศใช้ กฎอัยการศึกครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ.1804 (พ.ศ.2347) ที่ ออสเตรเลีย ซึ่งขณะนั้นยังมีสถานะเป็นเพียงที่คุมขังนักโทษในจักรวรรดิอังกฤษ



เหตุการณ์ที่เหล่านักโทษลุกขึ้นมาต่อต้านและต่อสู้กับผู้คุมครั้งนั้น ถูกจารึกในประวัติศาสตร์ว่าเป็น การจลาจลของเหล่านักโทษคาสเซิลฮิลล์ (Castle Hill Convict Rebellion) และมีการประกาศกฎอัยการศึกในออสเตรเลีย หลังจาก เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว เพื่อเปิดโอกาสให้เ้จ้าหน้าที่จักรวรรดิอังกฤษควบคุมตัวผู้ก่อความไม่สงบไปลงโทษ



การใช้กฎอัยการศึกเพื่อรักษาความสงบภายในประเทศ จึงเป็นได้ทั้งการป้องกันเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิด หรืออาจเป็นการระงับเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นแล้ว แต่ถ้าจะกล่าวว่า กฎอัยการศึก ‘จำเป็น’ ต่อการรักษาความสงบ ก็อาจไม่ถูกต้องเสียทั้งหมด



ในการทำสงครามแต่ละครั้ง ฝ่ายทหารจะมีระดับความรุนแรงของการต่อสู้เป็นตัวชี้วัดว่า การปะทะที่เกิดขึ้นควรเรียกว่าอะไร (สงครามกองโจร, สงครามกลางเมือง, สงครามฆ่าล้างเผ่าพันธ์ ฯลฯ) เพื่อนำไปสู่ยุทธวิธีตั้งรับที่เหมาะสม และปัจจัยที่ใช้ในการชี้วัดก็มีหลักชัดเจน แต่สำหรับคำว่า ‘ความไม่สงบ’ หรือ ‘การกระทำที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ’ ดูจะเป็นเรื่องยากหากจะชี้วัดระดับความรุนแรงและไม่เคยมีคำจำกัดความที่เฉพาะเจาะจง



อีกหนึ่งกรณีตัวอย่างเรื่อง ‘ความจำเป็น’ ของกฎอัยการศึก ดูได้จาก พม่า ประเทศเพื่อนบ้านของไทย หลังเหตุการณ์ 8888 (วันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ.1988) ซึ่งนักศึกษา ประชาชน พระสงฆ์ และนักสิทธิมนุษยชน รวมตัวประท้วงรัฐบาลที่ล้มเหลวเรื่องการบริหารประเทศ ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำและสินค้าอุปโภคบริโภคมีราคาสูงเกินกว่าค่าครองชีพ แต่เจ้าหน้าที่กลับใช้กำัลังเข้าปราบปราม จับกุม กวาดล้าง และสังหารผู้ชุมนุมนับพันราย ตามมาด้วยการที่รัฐบาลทหารพม่า (SLORC) ประกาศใช้กฎอัยการศึกช่วงต้นปี ค.ศ.1989 (พ.ศ.2532)



ตลอดระยะเวลาที่พม่าใช้กฎอัยการศึก เจ้าหน้าที่รัฐและฝ่ายทหารจับกุมผู้ที่เห็นต่างจากรัฐบาล โดยให้เหตุผลว่าผู้ถูกจับกุม ‘เป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งชาติ’ หรือไม่ก็เป็น ‘ผู้ก่อความไม่สงบ’ และการให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ัรัฐภายใต้กฎอัยการศึกก็เป็นเกราะ้ป้องกันชั้นดีที่ป้องกันไม่ให้องค์กรหรือหน่วยงานซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของรัฐสามารถเข้าไปเกี่ยวข้องกับคดีต่างๆ ที่เจ้าหน้าที่จับกุมตัวประชาชนสักคนหนึ่งไป โดยไม่ได้รับโอกาสที่จะปกป้องตัวเองหรือเข้าถึงกระบวนการต่อสู้ทางกฎหมายใดๆ



แม้จะมีการเลือกตั้งในพม่า เมื่อ พ.ศ.2533 และผลปรากฎว่าพรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD: National League for Democracy จะได้รับคะแนนนำอย่างท่วมท้น แต่ัรัฐบาลทหารพม่าก็ไม่ได้เคารพในการตัดสินใจของประชาชน ปล่อยให้การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นเพียงเหตุการณ์ที่ผ่านไป แต่ไร้ผลที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงไปยังระบอบประชาธิปไตย เช่นเดียวกับโรดแมป หรือ แนวทางสร้างประชาธิปไตย ซึ่งรัฐบาลพม่าพยายามผลักดันก็มีความก้าวหน้าในอัตราเทียบเท่ากับเต่าคลาน เพราะเวลาผ่านไปนานหลายปี ความชัดเจนในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของชาวพม่า ก็ยังไม่ปรากฎออกมาให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม



เหตุการณ์ล่าสุด ที่ถูกรายงานข่าวไปทั่วโลกคือกรณีที่นักศึกษา พระสงฆ์ และประชาชนทั่วไป ชุมนุมโดยสงบเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทหารรับผิดชอบต่อกรณีเชื้อเพลิงขึ้นราคาและสินค้าราคาแพง ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เพราะในขณะที่รัฐบาลเพิ่มงบประมาณในการสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่และสั่งซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์เป็นจำนวนมากนั้น ระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน รวมถึงปัญหาการว่างงานของประชาชนกลับไม่ได้รับความสนใจที่จะแก้ไข



เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2550 กลุ่มพระสงฆ์ที่ร่วมชุมนุมกับนักศึกษาและประชาชน ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมฐานก่อความไม่สงบ หลังจากกักตัวไว้นานหลายชั่วโมง เจ้าหน้าที่ก็ปล่อยตัวพระสงฆ์เหล่านั้นออกมา แต่ความไม่ิพอใจของประชาชนและภิกษุสงฆ์ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายบริหารประเทศ ทำให้ฝ่ายต่อต้านประกาศงดสังฆกรรมกับฝ่ายรัฐบาล โดยกลุ่มพระสงฆ์จำนวนมากประกาศว่าจะไม่รับนิมนต์ ไม่อวยชัยให้พร รวมถึงงดทำพิธีกรรมทางศาสนาให้แก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐบาล เพื่อไม่ให้กลุ่มอำนาจรัฐได้มีโอกาสทำบุญตามประเพณีความเชื่อในศาสนาพุทธ



จนถึงวันนี้ (22 ก.ย.2550) การชุมนุมก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดแต่อย่างใด...



การตอบโต้ของประชาชนพม่าครั้งนี้เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งซึ่งชี้ให้เห็นว่า การใช้กฎอัยการศึกอาจเป็นเครื่องมือที่ทรงอานุภาพของผู้คุมอำนาจเบ็ดเสร็จของประเทศ และ ‘ความจำเป็น’ ในการใช้กฎอัยการศึกไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อความมั่นคงปลอดภัยของประชาชนโดยรวม แต่มาจากความต้องการควบคุมหรือจำกัดใ้ห้สถานการณ์ต่างๆ ดำเนินไปตามแต่ที่ฝ่ายผู้กุมอำนาจอยากให้เป็น





แม้แต่สหรัฐอเมริกายังประกาศใช้กฎอัยการศึก!

ในฐานะที่สหรัฐอเมริกายังถูกกล่าวขวัญในฐานะ ‘ดินแดนแห่งเสรีภาพ’ การกล่าวว่า “แม้แต่อเมริกายังเคยใช้กฎอัยการศึก” ย่อมเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า แม้แต่ประเทศที่ใครๆ พยายามจะใช้เป็นแบบอย่างทางการวางรากฐานประชาธิปไตย ก็ยังหนีไม่พ้นการใช้กฎหมายที่ได้รับคำอธิบายว่า ‘ละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน’ แต่หากมองในแง่ของ ‘เหตุผล’ หรือ ‘ความจำเป็น’ ในการประกาศใช้ ดูเหมือนอเมริกาจะมีเหตุผลที่ยอมรับได้มากกว่าบางประเทศ



การประกาศใช้กฎอัยการศึกของสหรัฐอเมริกา เกิดขึ้นในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ตั้งแต่ ค.ศ.1941-1945 กองทัพญี่ปุ่นส่งเครื่องบินรบไประเบิดอ่าวเพิร์ลฮาร์เบอร์ โดยที่อเมริกาและญี่ปุ่นต่างยืนอยู่คนละข้างของการต่อสู้ในสงครามดังกล่าว การประกาศกฎอัยการศึกทีฮาวายจึงเกิดขึ้นด้วยเหตุผลเพื่อ ‘ความมั่นคงทางการทหาร’ และการป้องกันประเทศจาก ‘การรุกรานภายนอก’ จนเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง กฎอัยการศึกก็ถูกยกเลิกไปด้วย



แม้แต่ ปี 2548 ซึ่งเกิดเหตุการณ์พายุเฮอริเคน ‘คัทริน่า’ ถล่มรัฐนิวออร์ลีนส์ จนได้รับความเสียหายมหาศาล ใครหลายคนเข้าใจว่า รัฐบาลกลางของสหรัฐฯ ประกาศกฎอัยการศึกในช่วงนั้น เื่พื่อป้องกันการสวมรอยโจรกรรมและแอบอ้างผลประโยชน์จากผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ความจริงมีเพียงการประกาศใช้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน (National State of Emergency) เท่านั้น



การกล่าวอ้างว่า ประเทศที่เป็นเสรีประชาธิปไตยอย่างสหรัฐอเมริกาก็ยัง ‘เคย’ ใช้กฎอัยการศึก จึงไม่สามารถนำไปใช้ในการเปรียบเทียบหรือสร้างความชอบธรรมใดๆ ได้อย่างเต็มปากเต็มคำ และในเวลาที่สหรัฐฯ ประกาศ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินก็มีประชาชนจำนวนมากออกมาคัดค้านเรื่องนี้ เมื่อสภาวะฉุกเฉินจบสิ้นลงจึงต้องประกาศเลิกใช้ พ.ร.ก.ดังกล่าวไป





การประกาศกฎอัยการศึกไม่เกี่ยวกับเรื่องทางการเมือง

(จริงหรือ?)

ประเทศที่ใช้กฎอัยการศึกในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่วนมากจะเป็นประเทศในแถบเอเชีย เช่น ฟิลิปปินส์, พม่า, ไทย และประเทศที่ใช้กฎอัยการศึกยาวนานถึง 38 ปี คือ สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยพื้นที่ที่ตกอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก คือเขตปกครองพิเศษของจีนที่เรารู้จักกันดีในนาม ‘ไต้หวัน’



เมื่อครั้งที่เจียงไคเช็คและพรรคชาตินิยม ‘กั๊วะมินตั๋ง’ อพยพไปยังเกาะฟอร์โมซา หรือไ้ต้หวัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจีน มีสาเหตุจากความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เพราะขณะนั้นพรรคคอมมิวนิสต์จีนสามารถยึดอำนาจและครอบครองพื้นที่ทางการเมืองในจีนแผ่นดินใหญ่ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแล้ว



การอพยพไปยังเกาะฟอร์โมซาของเจียงไคเช็คและกองกำลังพรรคกั๊วะมินตั๋ง (KMT) ทำให้ประชาชนดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในเกาะได้รับผลกระทบอย่างใหญ่หลวง เพราะเจียงไคเ็ช็คประกาศกฎอัยการศึกทันทีที่ไปถึงไต้หวัน (พ.ศ.2492) เพื่อจำกัดและควบคุมการเคลื่อนไหวของประชาชนในเกาะ โดยห้ามไม่ให้ติดต่อกับผู้ที่อยู่ในเขตจีนแผ่นดินใหญ่ แม้แต่การติดต่อญาติพี่น้องก็ไม่อนุญาต และการเดินทางไปมาหาสู่กันระหว่างชาวจีนบนเกาะและจีนแผ่นดินใหญ่ก็ถูกสั่งห้ามเด็ดขาด หากใครฝ่าฝืนจะโดนจับกุม คุมขัง และพบกับบทลงโทษที่ไม่มีใครสามารถคัดค้านได้



เจียงไคเช็คและพรรคกั๊วะมินตั๋งปกครองไต้หวันด้วยระบอบเผด็จการ โดยจัดตั้งรัฐบาลที่มีเพียงพรรคเดียว กุมอำนาจบริหารในทุกๆ ด้าน และพยายามยกระดับไต้หวันให้มีความทัดเทียมกับจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งความพยายามดังกล่าวทำให้ไต้หวันมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่โดดเด่น และประชาชนชาวไต้หวันได้รับการศึกษาและมีคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเทียบกับชาวจีนแผ่นดินใหญ่ในยุคที่ยังไม่เปิดประเทศ แต่ถึงกระนั้น พรรคกั๊วะมินตั๋งก็ยังอาศัยกฎอัยการศึกรองรับความชอบธรรมในการควบคุมและปราบปรามผู้ที่เห็นต่างจากฝ่ายเจ้าหน้าที่โดยใช้มาตรการที่รุนแรงและละเมิดสิทธิมนุษยชน นักเคลื่อนไหวทางการเมืองในไต้หวันหลายคนถูกจับ ผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวพันกับจีนแผ่นดินใหญ่จึงหายสาบสูญไปเป็นจำนวนมาก และผู้คนเหล่านี้ถูกกล่าวหาว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงและก่อความไม่สงบให้กับไต้หวัน



จนกระทั่ง พ.ศ.2530 (ค.ศ.1987) รัฐบาลภายใต้การนำของเจียงจิงกั๋ว บุตรชายของเจียงไคเช็ค ได้ประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกและอนุญาตให้มีการตั้งพรรคการเมืองอีกพรรคหนึ่งขึ้นมา โดยใช้ชื่อว่า “พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า” หรือ DPP - Democratic Progressive Party) เพื่อถ่วงดุลอำนาจของรัฐบาลพรรคเดียว และพยายามผลักดันให้ไต้หวันกลายเป็นประเทศที่มีเอกราช แต่คดีที่บรรดาประชาชนสูญหายไประหว่างการประกาศใช้กฎอัยการศึกก็ยังไม่ได้รับการสะสางหรือคลี่คลายให้โปร่งใสแต่อย่างใด



ทุกวันนี้ ญาติมิตรและครอบครัวของผู้ที่สูญหายในช่วงเวลาดังกล่าว ยังคงเคลื่อนไหวและเรียกร้องให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่แสดงความรับผิดชอบที่เหมาะสมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แ่ต่ก็เป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญ เพราะหลักฐานต่างๆ รวมถึงผู้มีอำนาจในอดีตล้วนสูญหายตายจากไปแล้ว



การที่ผู้มีอำนาจในประเทศใดประเทศหนึ่งระบุว่า “กฎอัยการศึกไม่เกี่ยวข้องกับเหตุผลทางการเมือง” จึงเป็นเรื่องบิดเบือนข้อเท็จจริงอย่างหนึ่ง เพราะผู้เห็นต่างจากฝ่ายยึดครองอำนาจที่ถูกจัดการหรือถูกกำจัดอย่างไม่เป็นธรรม ล้วนมีเหตุผลหลักๆ มาจากพยายามรักษาอำนาจทางเมืองการปกครองทั้งสิ้น



ย้อนกลับมามองสถานการณ์ในประเทศไทยกันบ้าง...

ถ้ายังจำกันได้ หลังจากที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปค.) รัฐประหารยึดอำนาจ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 พล.อ.สนธิ บุญรัตนกลิน ในฐานะประธานคณะมนตรีความมั่นคง หรือ คมช.ได้ออกมาให้คำมั่นสัญญาว่า จะยกเลิกกฎอัยการศึก ภายในเร็ววัน และขณะนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังเห็นใจว่าการบังคับใช้กฎอัยการศึกคือ ‘เรื่องจำเป็น’ ที่ต้องกระทำ เพื่อ ‘รักษาความสงบ’ และ ‘สมานฉันท์’ ในประเทศ เสียงคัดค้านใดๆ ที่สืบเนื่องจากกฎอัยการศึกจึงมีอยู่เพียงเบาบาง - จนหลายๆ คนในสังคมแทบไม่ได้ยิน



เวลาผ่านไป 1 ปี กฎอัยการศึกยังครอบคลุมพื้นที่ประเทศไทยกว่าครึ่ง แม้ว่า 17 กันยายนที่ผ่านมา พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก คมช.จะออกมาแถลงว่า ที่ประชุม คมช.มีมติเอกฉันท์ให้ยกเลิกกฎอัยการศึกใน 11 จังหวัด จากที่มีการประกาศใช้ 35 จังหวัด โดยจังหวัดที่ถูกยกเลิกไม่มีแนวเขตติดชายแดน คือ ชัยภูมิ,กำแพงเพชร, หนองบัวลำภู, อุดรธานี, ขอนแก่น, นครราชสีมา, ร้อยเอ็ด, มหาสารคาม, เพชรบุรี, ราชบุรี และประจวบคีรีขันธ์ แต่ขณะเดียวก็มีพื้นที่ประกาศกฎอัยการศึกเพิ่มอีก 3 จังหวัด คือ นครพนม, หนองคาย และมุกดาหาร ซึ่งเป็นพื้นที่ซึ่งมีนัยยะสำคัญที่มีอัตราการ ‘ไม่รับ’ ร่างรัฐธรรมนูญฯ เมื่อครั้งที่มีการลงประชามติในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาสูงกว่าอัตราผู้รับร่างฯ (ดู ภาพเปรียบเทียบ เพิ่มเติม)



เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เมื่อ พล.อ.สนธิ บุญรัตนกลิน ประธาน คมช.ออกมาให้สัมภาษณ์เรื่อง การคงไว้ซึ่งกฎอัยการศึกในพื้นที่หลายจังหวัดทางภาคเหนือและภาคอีสาน (นอกเหนือจากเขตจังหวัดชายแดนใต้ที่เป็นพื้นที่ประกาศฎอัยการศึกเดิมตั้งแต่รัฐบาลที่แล้วด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง) และกล่าวว่านี่ไม่ใช่เรื่อง ‘น่าเป็นห่วง’ เพราะ “คนดีไม่ต้องกลัว” ประชาชนหลายฝ่ายที่สนับสนุนจึงมองไม่เห็นว่าการใช้กฎอัยการศึกส่งผลกระทบกระเทือนต่อชีวิตและสิทธิเสรีภาพของพวกเขาแต่อย่างใด



ถึงกระนั้นก็ตามที กลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยกับการประกาศกฎอัยการศึกได้ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการคงไว้ซึ่งกฎดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มพลเมืองภิวัตน์ เครือข่าย 19 กันยาฯ ต้านรัฐประหาร รวมถึงนักสิทธิมนุษยชนชาวไทยและต่างประเทศ ทว่า เสียงของผู้ที่คัดค้านกฎอัยการศึกกลับถูก ‘แปะฉลาก’ โดยตัวแทนรัฐบาลและสื่อมวลชนหลายสำนักว่าเป็น ‘กลุ่มอำนาจเก่า’ ซึ่งพยายามจะรื้อฟื้นอำนาจเดิมกลับมา



หากการเลือกตั้งซึ่งจะนำไปสู่เส้นทางการเมืองสายประชาธิปไตยถูกตัดสินไปแล้วว่ากลุ่มคนที่เห็นต่างจากรัฐบาลล้วน ‘เป็นภัย’ ต่อความมั่นคงของชาติ และกระบวนการต่างๆ ถูกควบคุม สอดส่อง และจำกัดอาณาบริเวณโดยกลุ่มคนที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเพียงกลุ่มเดียว ก็ไม่มีทางที่ใครจะแน่ใจได้เลยว่า สิ่งที่ได้มาหลังจากนี้จะเรียกได้ว่าเป็นผลลัพธ์ที่ ‘บริสุทธิ์’ และ ‘โปร่งใส’



คำถามว่า ‘ทำไมต้องยกเลิกกฎอัยการศึก’ ณ ห้วงเวลาปัจจุบัน จึงถูกแทนที่ด้วยคำถามว่า ‘ทำไมต้องคงไว้ซึ่งกฎอัยการศึก’ และคำถามนี้ก็ส่งเสียงดังมากขึ้นทุกที...


ที่มา : ประชาไท วันที่ : 23/9/2550




Create Date : 23 กันยายน 2550
Last Update : 23 กันยายน 2550 16:33:53 น. 0 comments
Counter : 562 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Darksingha
Location :
สมุทรสงคราม Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]





Click for use Graphics comment


Darksingha ที่แสดงถึงอำนาจและความมืดมัว ผมให้แทนคำว่า Age of Doubt หรือยุคแห่งความสงสัยก็แล้วกัน ดังนั้นBlogนี้จึงเป็นแดนสนธยาที่เต็มไปด้วยหมอกควันแห่งคำถาม และการละเล่น เพื่อแสวงหา ?


TV3 Live CH5 Live CH7 Live Modernine TV Live NBT LIVE - CH11 TPBS - Public Channel ASTV1 New11 - Online News 24 hours Nation Channel DMC.TV - Buddhistic Television ASTV5 - Suvarnbhumi ASTV7 - Buddhistic Television  True New 24 Channel  skynew  cnnibn Channel  cnn Channel  bbcnews_island Channel  cctv  Channel  bfmtv  Channel  ntv  Channel  fox8 Channel  foxnews5 Channel  cspan  Channel  france24 Channel  world_explorer Channel  discovery_channel Channel  nasa  Channel kimeng-channel dmc-channel ebr-channel research-channel utv-channel michigan-channel at-florida-channel islam-channel peace-usa-channel bbc-panorama-channel CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live

music is life

ชุมทางเพลงเพื่อชีวิต

Friends' blogs
[Add Darksingha's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.