Group Blog
พฤษภาคม 2558

 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
29
30
31
 
 
All Blog
Ultron: Lucifer and Creature from Frankenstein อัลตรอน: ลูซิเฟอร์และ"อสุรกาย"จากเรื่องเฟรงเกนสไตน์



เอามาจาก Wordpress ที่เขียนเมื่อ 2 อาทิตย์ก่อนค่ะ x


ตอนนี้ผู้เขียนเป็นไทจากการศึกษาชั่วคราวแล้วล่ะค่ะ หลังจากเพิ่งสอบปลายภาคเสร็จไปหมาดๆ ก็เป็นธรรมดานะคะที่ต้องมีการคลายเครียดหลังสอบกันเสียหน่อย ตามสไตล์ของการเป็นมาร์เวลแฟนเกิร์ลพอสมควร (ทั้งๆที่จริงๆ วัยเด็กของผู้เขียนไม่เค๊ย ไม่เคยจะชอบพวกซุปเปอร์ฮีโร่กับเขาเลย จนกระทั่งได้สัมผัสกับ The Dark Knight Trilogy ของ Nolan เนี่ยแหละค่ะ) ผู้เขียนกับเพื่อนก็เลยจัดไป…กับ Avengers: Age of Ultron ในระบบ I-max 3D ถึงสองรอบด้วยกัน ภาพและระบบเสียงใน Imax สุดยอดมากๆเลยล่ะค่ะ

ขอกระซิบบอกเล็กน้อยนะคะ ว่าสำหรับผู้ใดก็ตามที่เลือกชม Age of Ultron ที่พารากอน (ไม่มั่นใจว่าที่อื่นมีหรือไม่) สามารถแจ้งความประสงค์ขอรับโปสเตอร์ที่เคาน์เตอร์จำหน่ายตัวได้เลยนะคะ มีแจ้งฟรีให้คนละใบเลยแหละค่ะ แต่พนักงานจะไม่มอบโปสเตอร์ให้ทันทีเลยนะคะ เราต้องแสดงเจตจำนงค่ะ ไม่งั้นก็อดไป (โชคดีของตัวผู้เขียนที่คนข้างหน้าเขาขอโปสเตอร์พอดี ก็เลยทราบเรื่อง)



โปสเตอร์ I-max ของ Age of Ultron ตอนนี้ผู้เขียนมี 3 แบบค่ะ ขาดแต่เพียง แบบที่สอง ที่จะว่าไป คิดว่าเป็นอันที่สวยที่สุด…

Avengers ในภาคนี้ หลังจากต้องใช้ความพยายามอย่างมหาศาลในการหลบเลี่ยงสปอยล์จากที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นใน Facebook , Tumblr หรือ Pantip ก็สำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง แต่กระนั้น หลังจากดูจบและเต็มอิ่มกับ Action-pack ที่มีอย่างต่อเนื่องชนิดที่ว่าไม่ปล่อยให้พักเลยภาคนี้ สิ่งที่ประทับใจมากที่สุด นอกเหนือไปจากบท พัฒนาการของตัวละคร การแสดงของ Aaron ในบทของ Pietro Maximoff คือ ตัวผู้ร้ายในเรื่องนี้ อย่าง Ultron ค่ะ



ภาพจาก google ค่ะ

หลายๆคนที่ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยด้วย ไม่ชอบบท Ultron เท่าไรนัก โดยให้ความเห็นว่าเป็นตัวละครที่อ่อนเกินไป ไม่มีความชัดเจน และไม่ค่อยสมจริง แต่ในความคิดของผู้เขียน Ultron เป็นตัวละครที่ถูกเขียนออกมาได้ดีทีเดียว และจุดทั้งหลายที่คนอื่นไม่ชอบนั้น กลับเป็นจุดที่ผู้เขียนชอบมากที่สุด Ultron เป็นตัวละครที่น่าสนใจและน่าสงสาร

Ultron ทำให้ผู้เขียนหวนนึกถึงตัวละครหลายๆตัวในวรรณกรรมหรือวรรณคดีที่มีมาก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็น The Creature ใน Frankenstein: The Modern Prometheus ของ Mary Shelley (ที่พวกเราชอบเรียกกันว่า Frankenstein นั่นแหละค่ะ แต่ความจริงแล้ว ผู้สร้างเขาในเรื่องมีชื่อว่า Doctor Viktor Frankenstein ดังนั้น ชื่อนี้จึงหมายถึงตัว Doctor ไม่ได้หมายความถึงตัวสิ่งที่เขาสร้างขึ้นแต่อย่างใด) หรือแม้แต่ เทวทูมตตกสวรรค์อย่าง ซาตาน ที่ John Milton นำาเขียนใน Paradise Lost ทั้งสองเรื่องนี้ ล้วนแต่เป็นเรื่องของ สิ่งที่ถูกสร้าง กับ ผู้สร้าง (Creature vs. Creator) ซึ่งก็ต่างจบลงด้วย การที่ผู้สร้างมองว่าผลงานของตนนั้นเป็นสิ่งที่ผิดพลาด ชั่วร้ายและสมควรต่อการถูกทำลายด้วยกันทั้งนั้น





แก่นเรื่องของการสร้าง Artificial Intelligence หรือ ปัญญาประดิษฐ์ ไม่ใช่เรื่องใหม่ค่ะ เราก็ต่างเคยเห็นกันมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Terminator Series, I-Robot, AI: Artificial Intelligence หรือในเกม อย่างเช่น Mass Effect Trilogy แต่สำหรับตัวผู้เขียน Ultron แตกต่างจากบรรดา AI ทั้งหลายที่พวกเรามักจะเห็นบนจอภาพยนตร์กันบ่อยๆก็คือ Ultron เป็นหุ่นยนต์ที่นอกจากจะคิดได้แล้ว ยังมีอารมณ์และความรู้สึกไม่ต่างอะไรจากมนุษย์คนหนึ่ง ตอนแรกผู้เขียนตกใจมากทีเดียว เมื่อเห็นว่า Ultron มีอารมณ์ขันมากมายขนาดนั้น แต่เมื่อลองมาพิจารณาดู ก็พบว่า ค่อนข้างเข้ากับบุคลิกและจุดประสงค์ในการไม่ใช่ให้ Ultron เป็นแค่สิ่งที่สามารถคิดวิเคราะห์ได้เป็นอย่างเดียว อันที่จริงก็เรียกได้ว่า Ultron เป็นตัวละครที่สะท้อนแนวคิดของยุค Romantic ว่า มนุษย์นั้นมีได้มีแค่เหตุผลอย่างเดียว แต่ย่อมมีอารมณ์ควบคู่ไปกับเหตุผลได้ดีทีเดียว ความสับสนหรือแปรปรวนของ Ultron นั้น ผู้เขียนมองว่าก็สะท้อนแนวคิดของวัยเด็กที่มักจะมีเอาแน่เอานอนไม่ได้ ผู้เขียนมองว่าฉากที่ Ultron ไม่พอใจที่ Ulysses บอกว่าตนเป็นเหมือน Tony Stark ผู้สร้าง แล้วพลั้งมือตัดแขน Ulysses ทิ้งนั้น แสดงอารมณ์ ความรู้สึกของมนุษย์ได้อย่างชัดเจน Ultron โกรธ เป็น


ตลกร้ายและสิ่งที่น่าสนใจมากในภาพยนตร์เรื่องนี้คือแนวคิดว่าด้วยเรื่องการปกป้องโลกและมนุษยชน ใน Marvel Phrase II ภาพยนตร์ที่ผู้เขียนชอบมากที่สุด คือ Iron Man 3 เพราะ มันแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการตัวละครของ Tony Stark หลังจากเหตุการณ์ใน Avengers ว่าเขาได้รับผลกระทบ มีแผลทางจิตใจมากเพียงใด และเขาคิดจะวางแผนเพื่อรับมือหรือป้องกันเหตุการณ์ต่างๆไม่ให้เกิดขึ้นอย่างไรบ้าง “Peace in our time” สันติสุขในยุคของเรา คือสิ่งที่ Tony วาดหวังให้ Ultron เป็น เพื่อทำหน้าที่ปกป้องโลกแทนตน ซึ่งก็สะท้อนความจริงว่า Tony ไม่ได้อยากเป็นซุปเปอร์ฮีโร่ไปตลอดทั้งชีวิตและเขารักโลกใบนี้มากเกินกว่าจะยอมสูญเสียมันไป ในขณะที่ Steve มองโลกด้วยความหวาดระแวง และให้ความสำคัญกับการลงแรงปกป้องโลกด้วยตนเองที่ถึงแม้ว่า เราจะพ่ายแพ้ ต้องสละชีพเพื่อโลกได้ก็จงทำ



Ultron ถือกำเนิดมาด้วยความสับสน หากจะพูดไป ก็จริงตามที่ Ultron พูดกับ Vision ในตอนท้ายว่า ทั้งคู่ต่างมิได้เป็นสิ่งที่ Tony คิดไว้ตอนที่สร้างขึ้น ในความคิดของผู้เขียน Tony ไม่ได้เตรียมพร้อมที่จะรับมือกับ AI ที่นอกจากสามารถประมวลผลตามแบบของคอมพิวเตอร์ เช่น คำนวนภัยร้ายที่เกิดขึ้น เปอร์เซ็นต์ต่างๆ พร้อมกับลงมือจัดการตอบสนองต่อเหตุร้ายดังกล่าว ยังสามารถคิดวิเคราะห์และตัดสินใจตามที่เห็นสมควรและมีอารมณ์ความรู้สึกเหมือนมนุษย์อีกด้วย ดังนั้น เมื่อ Ultron เข้าสู่ระบบอินเทอร์เน็ต เห็นสิ่งที่มนุษย์โลกล้วนกระทำและนำมาประมวลผลกับภารกิจที่ได้รับมอบหมาย Ultron จึงได้ข้อสรุปว่า หากต้องการให้สันติสุขจงบังเกิดในโลกนั้น สิ่งที่ควรทำคือ ทำลาย Avengers ทั้งหลาย ที่ก็ต่างครอบครองพลังพิเศษที่สามารถสร้างความเสียหายและเป็นภัยต่อมวลมนุษย์คนอื่น แนวคิดของ Ultron นั้นอาจจะเรียกได้ว่า ไม่ต่างอะไรจากแนวคิดของ Valentine ใน The Kingsman หรือแนวคิดที่ AI อื่นๆมักจะได้ข้อสรุป ในบรรดาภาพยนตร์ทั้งหลาย ดังนั้น Ultron จึงหลุดพ้นโดยสิ้นเชิงจากการเป็นเพียงสิ่งประดิษฐ์ที่จะทำตามจุดประสงค์ของ Tony ฉากเปิดตัว Ultron ในงานเลี้ยงนั้นเป็นฉากโปรดฉากหนึ่งของผู้เขียน เนื่องด้วยแสดงให้เห็นทั้งด้านความเป็นมนุษย์ของ Ultron เมื่อพูดถึงสิ่งที่ตนได้ทำกับ Jarvis และความตั้งใจจะทำให้เกิดสันติสุขขึ้นในโลกนี้ ซึ่ง Ultron ตัดสินว่าจะเกิดขึ้นเมื่อ Avengers ทั้งหลายหมดไป อาจจะเรียกได้ว่า เปรียบเสมือน ตอนที่ Satan ก่อกบฎต่อพระเจ้า หรือตอนที่ Creature ถือกำเนิดขึ้นและทำให้ Viktor หลบหนีด้วยความกลัวในสิ่งที่ตนได้สร้างขึ้น

อันที่จริง Ultron ได้กล่าวอ้างอิงถึงเหตุการณ์หรือยกคำพูดในไบเบิ้ลมามากพอสมดูทีเดียว ที่ยิ่งช่วยส่งเสริมแนวคิดของผูเขียนที่ว่า Ultron นั้นเหมือนเป็นซาตาน ที่สุดท้ายก็พยายามทำตัวให้เทียบเคียงกับพระเจ้า เมื่อได้แร่ไวเบรเนียมจากUlysses Ultron กล่าวว่า “upon this rock I will build My church” คำพูดเดียวกับที่พระเยซูพูดต่อปีเตอร์ อัครสาวกของพระองค์ ที่จะเป็นรากฐานของศาสนาคริสต์ต่อไป ในขณะที่รากฐานของ Ultron นั้นคือ ร่างที่สุดท้ายจะกลายมาเป็น Vision จะเห็นได้ว่า Ultron นั้นก็มีความผูกพันหรือยึดโยงกับรูปลักษณ์ภายนอกของตน อันเป็นคุณลักษณะของแนวคิดที่เป็นมนุษย์มากทีเดียว ในเรื่องของการแสดงออกถึงความเป็นปัจเจก Ultron กล่าวว่า “I was meant to be beautiful. The world would have looked to the sky and seen hope.” ประโยคนี้ สะท้อนภาพความเป็นซาตานสำหรับผู้เขียน เพราะก่อนที่ซาตานจะตกสวรรค์นั้น อัครทูตสวรรค์ลูซิเฟอร์เป็นเทวดาที่งดงามที่สุด ลูซิเฟอร์ แต่เดิมแปลว่า อรุณรุ่ง ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งความหวัง ในตอนท้ายแล้ว Ultron เห็นว่าทั้งโลกนั้นเน่าเฟะเกินจะเหลือรับ ดังนั้นจึงจะทำลายมวลมนุษย์และสรรพสิ่งทิ้งเสียและสร้างทุกอย่างขึ้นมาใหม่แทน ในคัมภีร์ไบเบิ้ล พระเจ้าส่งน้ำท่วมมาเพื่อล้างบางโลก มอบหมายให้ Noah สร้างเรืออาร์คเพื่อบรรจุลูกหลานและสัตว์ทั้งหลายเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งเท่านั้น ซึ่งก็เป็นสิ่งเดียวกับที่ Ultron พูดกับ Wanda เมื่อฝ่ายหลังสามารถอ่านจิตใจและทราบถึงแผนการของ Ultron “Ask Noah” หรือแม้แต่ การใช้ Sokovia เป็นอุกกาบาตทำลายโลก โดยกล่าวว่าเป็น “My swift and terrible sword” ก็เป็นการกล่าวถึง The Wrath of God ตามแบบของไบเบิ้ลเช่นกัน แม้แต่ Vision เองก็อ้างอิงถึงไบเบิ้ลในลักษณะของการเป็นสิ่งที่เหนือกว่า หรือพระเจ้า ในตอนที่ Vision เกิดใหม่และถูกถามว่า ตนคืออะไรนั้น คำตอบของ Vision คือ “I am…I am” อันเป็นประโยคเดียวกับที่พระเจ้ากล่าวกับ Moses ซึ่งก็แสดงถึงสถานะที่เหนือกว่าของ Vision และสุดท้ายแล้วการที่ Vision ทำลาย Ultron ก็ไม่ต่างอะไรกับการที่พระเจ้าหรือผู้สร้างทำลายล้างผลงานของพระองค์ ถึงแม้จะไม่อยากทำก็ตาม “I don’t want to kill Ultron. He’s unique… and he’s in pain”



“Everyone creates the thing they dread. Men of peace create engines of war, invaders create avengers.”

ถ้าจะพูดกันเรื่องสิ่งที่ถูกสร้าง จะว่าไป นี่อาจจะเป็นเหตุผลที่ผู้เขียนชอบและมองว่า Ultron เป็นตัวละครที่น่าสงสารตัวหนึ่ง เพราะ แน่นอนว่าผู้สร้างก็ย่อมคิดว่าตนเองมีสิทธิ์ตัดสินใจเรื่องการดำรงอยู่ของสิ่งที่ตนเองสร้าง อีกทั้งการสร้างสรรค์ก็ย่อมมีการลองผิดลองถูกทำให้สิ่งที่ถูกสร้างขึ้นเป็นครั้งแรกๆนั้นมักจะต้องถูกทิ้งขว้างเสมอ แม้แต่ในความเชื่อเรื่องการเกิดของมวลมนุษย์ของชาวญี่ปุ่นเอง ลูกหลานที่เกิดขึ้นจากเทพครั้งแรกนั้นก็ไม่สมบูรณ์แบบและสุดท้ายก็ถูกลอยแพ หวังจะกำจัดและกลายเป็นบรรพบุรุษของคนทั่วไป ในขณะที่ลูกหลานในครั้งต่อๆมา กลายเป็นชาวญี่ปุ่นที่สมบูรณ์แบบในที่สุด สำหรับตัวผู้เขียนเอง นอกจาก Ultron จะรู้สึกว่าตนเองนั้นเกลียดชังผู้สร้างอยู่มาก เนื่องจากตนเองไม่เป็นไปตามจุดประสงค์ที่ผู้สร้างของตนต้องการ แต่ Ultron ก็ยังมีความผูกพันกับคนที่ตนเองมองว่า ประสบกับชะตากรรมเช่นเดียวกับตนอย่าง Maximoff Twins ไม่ว่าจะเป็นตอนที่ฟัง Pietro เล่าเรื่องอดีตของครอบครัว หรือความผิดหวังเมื่อ ทั้งสองทอดทิ้งตนไปที่เกาหลี Ultron ในความคิดของตัวผู้เขียนเป็นตัวละครที่เสมือนเด็กแรกเกิดคือค่อนข้างจะสับสนในเรื่องอุดมการณ์และความคิดของตน อีกทั้งยังรู้สึกโดดเดี่ยวอีกด้วย “I wanted to show you. I… don’t have anyone else.” ประโยคตอนที่พูดกับ Natasha นั่นดูจะแสดงออกให้เห็นถึงความเศร้าของ Ultron ได้ชัดเจน หรือในตอนท้ายที่ Ultron เป็นห่วง Wanda ที่ยังไม่ยอมละทิ้ง Sokovia ที่ลอยอยู่บนฟ้า ด้วยความกังวลว่า Wanda จะจบชีวิตแบบตน


ภาพจาก google

สุดท้ายนี้ คงเป็นการยากนะคะที่จะตัดสินไปเลยว่าระหว่างแนวคิดของ Tony กับแนวคิดของ Steve แนวคิดใดเป็นแนวคิดที่ถูกต้อง อันที่จริง ผู้เขียนเองก็เคยอ่านที่มีคนเคยวิเคราะห์ไว้ใน Tumblr ว่า ทั้งสองคนเสมือนเป็นตัวแทนของยุคที่ต่างกัน เนื่องจากทั้งสองเจอสงครามมาคนละแบบ Steve เกิดในยุคที่แนวคิด “Dulce et decorum est pro patria mori” หรือ ช่างเป็นเกียรติและดีงามยิ่งนัก หากได้สละชีพเพื่อประเทศของตน ทหารมากมายทีเดียวในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ในอเมริกา อาสาสมัครไปร่วมรบเพื่อต่อสู้เพื่อสันติภาพในแดนยุโรป Steve ยังคงเป็นนักอุดมการณ์ที่มุ่งเน้นไปที่ความเสียสละ ดังที่เห็นในการปะทะคารมกันระหว่าง 2 คนนี้ใน Avengers ภาคแรก แต่ Tony ไม่ใช่แบบนั้น สิ่งที่ Tony เห็นและเผชิญคือ สงครามเวียดนาม และสงครามที่อัฟกานิสถาน Tony ไม่ได้โตมากับภาพของการกระทำของวีรบุรุษ แต่เขาโตมาในยุคที่เด็กหนุ่มทั้งหลายถูกเกณฑ์ไปรบในสงครามที่ไม่ใช่ของตนและสูญเสียชีวิตในดินแดนที่ห่างไกลจากบ้าน Tony และอเมริกามิได้มองโลกในแบบเดียวกับในยุคสมัยของ Steve อีกต่อไปแล้ว แต่เป็นความต้องการให้สงครามจบลง การล้มตายทั้งหลายจบลง เพื่อที่ได้ไม่ต้องมีใครมาเสียสละอีก แนวคิดและผลลัพธ์จากการตัดสินใจของ Tony ทำให้ ผู้เขียนนึกถึงบทกวีอีกชิ้นหนึ่งในยุค Romantic ของ William Blake ที่เรียกกันว่า “I Heard an Angel”

I Heard an Angel ยินเสียงเทวดา
I heard an Angel singing ยินเสียงเทวดาขับขาน
When the day was springing ยามเริ่มเบิกฟ้าวันใหม่
Mercy Pity Peace ว่า เมตตา เวทนา และสันติสุข
Is the world’s release จะนำพาความสงบมาสู่โลก
Thus he sung all day เทวดาขับร้องอยู่ทั้งวัน
Over the new mown hay นั่งอยู่บนสุมกองฟาง
Till the sun went down จนกระทั้งตะวันตกดิน
And haycocks looked brown และสีฟางเปลี่ยนเป็นน้ำตาล
I heard a Devil curse ฉันได้ยินเสียงปีศาจสาปส่ง
Over the heath & the furze จากข้างเตาผิงและพุ่มไม้
Mercy could be no more กล่าวว่าเมตตามิอาจดำรง
If there was nobody poor อาจเราไร้ซึ่งคนยากจน
And pity no more could be เวทนามิอาจมี
If all were as happy as we หากทุกคนสุขล้นทั่วกัน
At his curse the sun went down เมื่อกล่าวจบ พระอาทิตย์ก็ตกดิน
And the heavens gave a frown เหล่าสวรรค์ได้แต่ทำหน้าบึ้ง
Down pour’d the heavy rain สายฝนหนักตกลงมา
Over the new reap’d grain สาดทั่วผลผลิตที่ได้มาในวันนี้
And Miseries increase และความเศร้าที่เพิ่มขึ้นทุกวัน
Is Mercy Pity Peace ก็คือ เมตตา เวทนา สันติสุข



Create Date : 28 พฤษภาคม 2558
Last Update : 28 พฤษภาคม 2558 14:26:16 น.
Counter : 1422 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

What I want I cannot have
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]