The Founding of a Republic : มังกรสร้างภาพ



เป็นธรรมดาที่การบอกเล่าประวัติศาสตร์ด้วยปากคำของคนในชาติมักถูกบิดเบือนด้วยความรู้สึกฉันทาคติ (ลำเอียงเพราะรัก) และแม้ว่าจะเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ด้วยเหตุผลของการสร้างอารมณ์ร่วมของคนในชาติให้เป็นหนึ่งเดียว แต่การทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ในแง่วิชาการเพื่อค้นหาความจริงก็เป็นสิ่งที่ไม่อาจถูกมองข้าม อุทาหรณ์จากความผิดพลาดหรือความพ่ายแพ้ในอดีตอาจเป็นปัจจัยในการสร้างจิตสำนึกร่วมทางสังคมที่มีประสิทธิภาพยิ่งกว่าการโฆษณาชวนเชื่อถึงความยิ่งใหญ่แห่งชนชาติตน



The Founding of a Republic คือหนังโฆษณาเรื่องยาวของรัฐบาลจีนที่แม้ไม่ได้มุ่งขายผลิตภัณฑ์แต่ก็เพื่อขายภาพประวัติศาสตร์ใหม่ให้เยาวชนในชาติและสังคมโลกได้ร่วมเรียนรู้จดจำ เหมือนการปล่อยน้ำดีเพื่อไล่ของเสียที่เกรอะกรังอยู่ในความคิดดั้งเดิมให้หมดไป และเท่าที่ผมจำได้ น้ำดีระลอกแรกมาในรูปของภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์เรื่อง Hero ของจางอี้โหมวที่ให้ภาพจิ๋นซีฮ่องเต้ในแง่บวกโดยการนำผู้ชมไปทำความเข้าใจถึงเจตนารมณ์อันลึกซึ้งในการรวมชาติสมัยรณยุค ก่อนที่จะมาถึงน้ำดีระลอกนี้ที่มุ่งชำระภาพของประธานเหมาเจ๋อตงที่เราเคยรู้จักให้กลายเป็นอีกคนหนึ่งที่เพียบพร้อมไปด้วยเสน่ห์ ความอบอุ่นและบางแง่มุมในชีวิตที่น่ารัก



แต่ไม่ว่าข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์จะเป็นอย่างไร ข้อความคิดหนึ่งที่กลายเป็นจุดร่วมให้พบเห็นอยู่เสมอในหนังของรัฐบาลจีน นั่นคือการให้ความสำคัญกับพลังสามัคคีของเพื่อนร่วมเชื้อชาติและยกย่องคุณค่าของสันติภาพหรือความสงบ ฉากแว่นตาหล่นกระทบพื้นจนเห็นรอยแตกอยู่ภายในกรอบของนักเรียกร้องประชาธิปไตยคนหนึ่งตอนต้นเรื่อง แสดงให้เห็นถึงความแตกแยกของคนในชาติเพียงเพราะมีมุมมองหรือทัศนคติทางการเมืองที่แตกต่าง ความขัดแย้งที่ลุกลามบานปลายนี้ได้กลายเป็นความสูญเสียมหาศาลของประเทศชาติในที่สุด



ประธานเหมาใน The Founding of a Republic ถูกสร้างขึ้นด้วยนิยามใหม่ (แม้จะอิงข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์เป็นพื้นฐาน) ด้วยภาวะความเป็นผู้นำแบบติดดินที่ได้ใจบริวารและประชาชน (หนังเปรียบเทียบกับเจียงไคเช็คซึ่งมีบุคลิกสง่างามแบบผู้ดีตะวันตก ทว่าให้ความรู้สึกที่ห่างเหินและยากแก่การเข้าถึงแม้แต่กับลูกชายของตนเอง ) ความกินง่าย อยู่ง่ายและเป็นกันเองทั้งกับเพื่อนพ้องและบุคคลที่แวดล้อม อารมณ์สบายๆ ที่ระเรื่ออยู่บนใบหน้าไม่ว่าจะประสบสถานการณ์ที่ตึงเครียดเพียงใด (หรืออาจเพราะความตึงเครียดเหล่านั้นถูกถ่ายเทให้ตกอยู่กับเพื่อนคู่คิดอย่าง “โจวเอินไหล” จนหมดสิ้น) ฉากหนึ่งในหนังที่สร้างความรู้สึกร่วมอย่างได้ผลและสื่อนัยยะน่าสนใจ นั่นคือการแสดงความกตัญญูที่ประธานเหมามีต่อพ่อครัวของตน ในพิธีฝังศพที่เป็นไปอย่างเรียบง่ายแต่แฝงความน่ารักแบบผู้ชาย อย่างการปักบุหรี่สามมวนแทนธูปสามดอกหน้าหลุมศพ ด้วยเพราะก่อนนั้นพ่อครัวไม่ยอมสูบบุหรี่ที่ประธานเหมามอบให้เพราะจะเก็บไว้เป็นที่ระลึก นอกจากเหตุผลในการสร้างอารมณ์ดราม่า ฉากนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงอุดมการณ์ของชายที่กำลังจะก้าวขึ้นสู่จุดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต นั่นคือเจตนารมณ์ที่จะให้เกียรติและเคารพชนชั้นต่ำสุดในสังคมอย่างชาวนาและผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการผลิตอาหารเลี้ยงดูปากท้องของแผ่นดิน



ประธานเหมาในหนังเรื่องนี้เป็นคนอบอุ่นทั้งในฐานะมิตรแท้และในมุมมองของเด็กๆ ความใฝ่ฝันอันแน่วแน่ของประธานเหมาถูกสะท้อนผ่านฉากหนึ่งที่เค้าพริ้มหลับเพราะฤทธิ์เหล้าแต่ยังคงแย้มยิ้มอย่างเป็นสุข สื่อถึงความฝันอันงดงามที่ยังคงโชติแสงแจ่มชัดเพื่อที่จะสร้างชาติจีนใหม่ให้รุ่งเรืองหลังการปฏิวัติรัฐบาลเจียงไคเช็ค เด็กหญิงสองคนมองลอดหน้าต่างเข้ามาทำหน้าฉงนเพราะไม่เข้าใจในภาพที่แลเห็น ความรู้สึกนี้คงไม่ต่างไปจากประชาชนผู้ไร้เดียงสาที่ยังอาจมองไม่เห็นภาพฝันเดียวกันนั้นของผู้ที่กำลังจะก้าวขึ้นเป็นผู้นำประเทศ

ในฉากที่ประธานเหมาเดินเตร่ในเมืองเพื่อหาซื้อบุหรี่แต่ไม่มีร้านไหนเปิดขาย การแสดงทัศนะของเค้าในฉากนี้สื่อให้เห็นถึงอุดมการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์ที่ไม่ได้เป็นปฏิปักษ์ต่อการค้าในระบบเสรี การเปิดตลาดค้าขายโดยเอกชนถือเป็นสิ่งจำเป็นเพราะพรรคไม่มีความเชี่ยวชาญพอที่จะเข้ามาจัดการกับเรื่องในทางเศรษฐกิจ การนำเสนอข้อความคิดในฉากนี้ถือเป็นทัศนคติของจีนในสังคมใหม่ (และดูจะล้ำยุคเกินไปสำหรับสมัยนั้น) ที่พยายามผสานระบบการปกครองและระบบเศรษฐกิจซึ่งต่างกันสุดขั้วให้สามารถร่วมทางกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ



ข้อความคิดหนึ่งที่โดดเด่นมากในหนังเรื่องนี้คือจิตสำนึกประชาธิปไตยที่แทรกซึมอยู่ในบทภาพยนตร์ ทั้งการตัดสินใจของประธานเหมาที่อิงมติพรรคอยู่เสมอ การรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านและการแสดงทัศนะอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะในฉากการเลือกธงชาติและเพลงชาติของจีนยุคใหม่ (ฉากนี้ยังแสดงถึงความประนีประนอมที่รัฐบาลจีนในอดีตเคยเป็นปฏิปักษ์กับเหล่าศิลปินหัวก้าวหน้า) และที่ขับเน้นจนเห็นชัดถึงความจงใจคือการชูบทบาทของเพศหญิงให้มีสถานะทัดเทียมกับชายในทุกด้านเหมือนจะเป็นอีกหนึ่งความพยายามเพื่อลบภาพขนบของสังคมจีนโบราณที่สุดโต่งเรื่องระบอบปิตาธิปไตย (สังคมที่ชายเป็นใหญ่) สื่อผ่านบทบาทของภริยาเจียงไคเช็คซึ่งประคับประคองรัฐบาลของสามีตนด้วยการประสานขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลอเมริกา บทบาทภริยาของ ดร.ซุนยัดเซ็นซึ่งถือเป็นตัวแปรสำคัญในการตั้งรัฐบาล ภริยาของโจวเอินไหลซึ่งมีความสามารถในการเจรจา รวมไปถึงตัวละครหญิงอื่นๆ ในเรื่องซึ่งล้วนแต่ได้รับการปฏิบัติอย่างให้เกียรติ มีโอกาสได้แสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างเป็นตัวของตัวเองและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจครั้งสำคัญของชาติ ไม่ต่างไปจากการมีชีวิตอยู่บนแผ่นดินเสรีประชาธิปไตยอย่างอเมริกา



แม้ The Founding of a Republic จะประสบปัญหาเดียวกันกับหนังประวัติศาสตร์เรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะการบรรจุเรื่องราวที่เต็มไปด้วยรายละเอียดและตัวละครที่มากมายเกินความสามารถในการจดจำ (ข้อติงอีกจุดหนึ่งคือเสียงพากษ์เชิงอรรถเพื่อแนะนำตัวละครที่ทับซ้อนกับเสียงสนทนาจนฟังไม่ได้ศัพท์ทั้งคู่) แต่สิ่งหนึ่งที่หนังเรื่องนี้บริหารจัดการได้ดี นั่นคือการให้ความสำคัญกับตัวละครหลักอย่างเหมาเจ๋อตงที่ทำได้อย่างโดดเด่น เสมือนดาวห้าแฉกดวงใหญ่บนผืนธงชาติจีนที่ได้รับการคัดเลือก



คงถือเป็นเรื่องธรรมดาที่มนุษย์เราจะมีประสบการณ์ในชีวิตทั้งที่น่าจดจำและอยากลืมเลือน แต่การให้ภาพมนุษย์ผู้หนึ่งด้วยมิติเพียงด้านเดียวไม่ว่าจะเป็นแง่ดีหรือเลวร้ายย่อมทำให้เค้าผู้นั้นห่างเหินออกไปจากความเป็นมนุษย์ สู่สถานะของความเป็นเทพหรือปีศาจ ประชาชนในฐานะที่ต้องเสพภาพอย่างบิดเบือนย่อมขาดโอกาสในการเรียนรู้เพื่อสร้างความเติบโตทางความคิด การสร้างภาพเพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริงย่อมให้ผลเป็นการมอมเมาหรือกล่อมสมองให้หลงรักหรือหลงเกลียดซึ่งมีผลร้ายในระดับที่รุนแรงพอกัน โดยเฉพาะต่อผู้รับสารที่ขาดวิจารณญาณและอ่อนวินิจฉัย การจำกัดมายาคติในสังคมคงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก แต่สิ่งหนึ่งที่เราอาจทำได้ในฐานะของผู้เสพสื่ออย่างรู้เท่าทัน นั่นคือการย่อยสารที่ได้รับมาอย่างระมัดระวังตามหลักกาลามสูตรของพระพุทธองค์



The Founding of a Republic ประกาศศักดาให้โลกได้รับรู้ถึงชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์ที่มีต่อรัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋งของเจียงไคเช็คและนัยยะบางประการที่สื่อถึงอเมริกาในปัจจุบัน แต่ก็เช่นเดียวกับศิลปะการตัดต่อ มังกรสร้างชาติละการกล่าวถึงประวัติศาสตร์อันเลวร้ายหลังจากนั้นโดยเฉพาะช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม ภาพที่ขาดหายไปอาจเติมเต็มได้จากหนังของกลุ่มผู้กำกับหัวก้าวหน้า อย่าง To Live ของจางอี้โหมวหรือ Farewell My Concubine ของเฉินข่ายเก๋อ

แต่ก็อีกนั่นแหละ การบอกเล่าประวัติศาสตร์ด้วยปากคำของผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นขบถสังคมก็อาจถูกบิดเบือนด้วยความรู้สึกที่เรียกว่าโทสะคติ (ลำเอียงเพราะโกรธ) ได้เช่นกัน




 

Create Date : 08 มกราคม 2553
7 comments
Last Update : 22 มกราคม 2553 14:40:08 น.
Counter : 4645 Pageviews.

 

ไว้ได้ชมแล้วจะมาอ่านนะครับ

 

โดย: navagan 9 มกราคม 2553 2:35:52 น.  

 

ชมแล้วค่ะ,ร้องไห้เลย ขอคาระท่านผู้นำ เหมาเจ๋อ ตุงผู้ล่วงลับ

 

โดย: jingg.shan IP: 203.131.208.115 9 มกราคม 2553 17:34:12 น.  

 

+ มีหลายๆ เหตุผล ที่ตอนที่หนังเรื่องนี้เข้าโรงแล้วผมตัดสินใจที่จะไม่ดู ตั้งแต่ กลัวว่ามันจะเป็นหนังโฆษณาชวนเชื่อ (อ่านที่คุณเบียร์เขียน แล้วก็คงมีอารมณ์นั้นนิดๆ), ผมชอบดูหนังประวัติศาสตร์นะ แต่ไม่ถนัดประวัติศาสตร์จีนเอาเสียเลย คงจะไม่อินเท่าไหร่, ตัวละครเยอะเกินไป ผมคงจะจำได้ไม่หมด แล้วก็ถ้าหนังทำออกมาออกแนวอารมณ์สารคดีหรือตำราเรียนประวัติศาสตร์มากเกินไป อาจทำให้ผมหลับคาเก้าอี้ในโรงได้ ... ก็คาดว่าถ้ามีโอกาสได้ดูจากสื่ออื่น เช่นแผ่นหรือเคเบิล อาจต้องกลับมาอ่านเอนทรี่นี้ของคุณเบียร์อีกครั้งเพื่อเก็บรายละเอียด ขอบคุณที่เขียนให้อ่าน (เพราะยังไม่เห็นมีใครเขียนถึงหนังเรื่องนี้เลย) นะครับผม

 

โดย: บลูยอชท์ 20 มกราคม 2553 10:12:49 น.  

 

+ ลืมบอกไปว่าผมชอบหัวบล็อกอันใหม่นี่นะครับ คอตรเซ็งเลยที่ Where the wild things are โดนเลื่อนๆๆ มาหลายรอบ แล้วสุดท้ายก็ถอดออกจากโปรแกรมฉายในโรงเฉยเลย (ชะตากรรมเดียวกับอีก 1 อนิเมชั่นน้ำดีอย่าง The Fantastic Mr.Fox) จริงๆ เอาเข้าฉายแบบจำกัดโรง หรือโรงเครืออินดี้อย่าง Apex / House ก็ได้นี่นา

 

โดย: บลูยอชท์ 20 มกราคม 2553 10:15:46 น.  

 

+ เรื่อง 6th sense ก็ติดอันดับผมนะครับ แต่ได้จัดไว้ในทศวรรษที่แล้ว (เอนทรี่ก่อนหน้าอันปัจจุบัน) ถือเป็นหนังผีเรื่องแรกๆ ที่เปิดประสบการณ์เกี่ยวกับผีบนจอหนังด้วยความรู้สึกใหม่ๆ ที่น่าหวาดผวาจริงๆ สำหรับผม ... จนทำให้จุดหักมุมของหนัง ที่ถึงแม้จะดูเท่ห์ และเป็นเหตุเป็นผลกับหนังที่ดำเนินมาทั้งเรื่อง แต่ผมชอบภาพรวมของหนังทั้งหมดเลยต่างหาก ที่คนกำกับ - เขียนบท คิดงานออกมาได้เป็นอย่างดี สุดยอดมากๆ ครับพี่มาโนช

+ ของผมหนัง real นี่ดูแล้วเครียดๆ แฮะ ชอบเหมือนกันแต่ต้องมีอารมณ์ดราม่าแฝงอยู่ด้วย (แต่ถ้าเป็นทีเล่นทีจริง ผมกลับไม่ค่อยชอบเท่าไหร่) คือแบบพอดราม่าแล้ว มันจะพาความรู้สึกผมไปได้ไกลกว่าอ่ะครับ

+ ยิ่งอ่านที่คุณเบียร์บรรยาย Wild things ให้ฟัง ยิ่งอยากดูใหญ่เลยแฮะ สงสัยคงต้องใช้กำลังภายใน (แผงผีแถบๆ ที่เดินผ่าน) หน่อยแล้ว ฮึบๆ

 

โดย: บลูยอชท์ 22 มกราคม 2553 14:47:42 น.  

 

ตัวละครเยอะจนงง คิดเล่นๆ ว่าหากใครที่อยู่ช่วงนั้นแล้วไม่มีในหนัง เขาจะรู้สึกอย่างไรนะ

 

โดย: คนขับช้า 11 มีนาคม 2553 23:54:33 น.  

 

ภาพยนต์ค่อนข้างเอนเอียงอย่างเเรงไปทางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ส่วนทางก๊กมินตั๋งถูกทําออกมาเจ้าเล่ห์ เเละไม่อาจทําตามเจตนารมณ์ของดร. ซุนได้ อันมาจากปัจจัยหลายๆอย่างที่ทําให้พรรคก๊กมินตั๋งต้องพ่ายเเพ้ ไม่เกี่ยวกับที่ว่าพรรคคอมมิวนิสต์จะวิเศษเทวดามาเเบบในภาพยนต์ มาปลดปล่อยประเทศ จริงๆเเล้วก็เเค่ฉวยโอกาสปล้นอํานาจการปกครองเท่านั้นเเล

 

โดย: ก๊กมินตั๋ง IP: 171.6.5.207 2 พฤษภาคม 2556 14:26:04 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


beerled
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




New Comments
Group Blog
 
<<
มกราคม 2553
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
8 มกราคม 2553
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add beerled's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.