๑๒๗ ชม. : ความบ้าพลังของมนุษย์ (เปิดเผยเนื้อหาสำคัญ)



๑๒๗ ชม. เรียกความสนใจได้ทันทีจากหนังตัวอย่าง ทั้งเครดิตที่วางใจได้ของ Danny Boyle และเรื่องราวน่าสนใจ แม้ผู้ชมจะทราบดีถึงข้อจำกัดในการนำเสนอซึ่งพระเอกต้องติดแหง็กอยู่ในซอกหินเป็นเวลาตามชื่อเรื่อง (และเป็นเวลาส่วนใหญ่ของหนังทั้งเรื่อง) แต่ข้อจำกัดที่ว่ากลับท้าทายทั้งผู้สร้างและผู้ชม ให้ร่วมกันค้นหามุมมองหรือแง่งามใหม่ๆ ที่จะได้จากทรัพยากรอันน้อยนิดนี้

หนังสร้างจากเหตุการณ์จริงที่เล่าให้จบได้ภายในหนึ่งประโยค แต่ ๑๒๗ ชม. ได้ขยายมิติเรื่องออกไปอย่างกว้างขวางและลึกซึ้ง แต่งเติมประสบการณ์ที่เป็นส่วนตัวมากๆ นี้ยกระดับขึ้นเป็นประเด็นสากลได้อย่างสร้างสรรค์

หนังใช้เวลาอย่างรู้ค่าตั้งแต่วินาทีแรก เปิดเรื่องเร็วด้วยภาพแบ่งจอเป็น ๓ ส่วนที่ดูแน่นและอึดอัด นำเสนอความแออัดและเร่งรีบของสังคม ดนตรีประกอบที่แม้จะฟังสนุกสนาน แต่ก็ช่วยเพิ่มความเอะอะอึกทึกของภาพอย่างได้ผล สัมพัทธ์กับฉากถัดมาที่แสดงถึงวิธีคิดของพระเอก ผู้มีแนวโน้มปฏิเสธสังคมและทะนงตนว่าสามารถอยู่รอดได้โดยไม่ต้องอาศัยความสัมพันธ์ (แนวคิดคล้ายพระเอกเรื่อง Into The Wild)

ในฉากสั้นๆ ที่พระเอกเตรียมตัวผจญภัยวันหยุด หนังปูเนื้อหาที่สำคัญต่อเรื่องได้มากมายอย่างน่าทึ่ง ทั้งการใช้ชีวิตสันโดษที่สะท้อนความมั่นใจในตัวเอง การเมินเฉยความสัมพันธ์ในครอบครัว (เก็บข้าวของโดยไม่ใส่ใจฟังเสียงฝากข้อความ) รวมถึงพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ ที่สะท้อนทัศนคติเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ (เปิดน้ำล้นขวดและปิดก๊อกไม่สนิท)

ภาพโคลสอัพหยดน้ำที่ร่วงติ๋งๆ ตัดฉับสู่ท้องถนนยามค่ำคืนที่สว่างไสวท้าทายแสงอาทิตย์ หนังเก็บภาพป้ายโฆษณารายทางที่โชว์แสงสีสดใส สื่อถึงกระแสทุนนิยมที่ท่วมท้นและเข้าถึงแบบไม่จำกัดเวลา การดำเนินไปของสังคมที่ใช้พลังงานอย่างฟุ่มเฟือยและการเดินทางของพระเอกที่ใช้ชีวิตอย่างบ้าพลัง สะท้อนยอกย้อนกันไปมาอย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะเมื่อบททดสอบได้เริ่มต้นขึ้น

ในระหว่างที่กอบโกยความสุขจากชีวิตอย่างไม่คิดชีวิต เกิดอุบัติเหตุซึ่งมือข้างหนึ่งของพระเอกต้องติดอยู่ในซอกหิน ความพยายามครั้งแล้วครั้งเล่าด้วยวิธีการต่างๆ เท่าที่จะนึกคิดได้ดูจะไร้ผลอย่างสิ้นเชิง พระเอกประคองชีวิตภายใต้ข้อจำกัดและฝันลมๆ แล้งๆ ถึงปาฏิหาริย์บางอย่างที่จะมาช่วยฉุดเขาออกจากซอกหินนี้

เหมือนนักโทษขังเดี่ยวไร้กิจกรรม แต่ด้วยจิตวิญญาณนักผจญภัย พระเอกเริ่มต้นสำรวจดินแดนแห่งใหม่ในจิตใจตัวเอง แสงแดดอุ่นๆ ยามเช้าเตือนให้เขาระลึกถึงความอบอุ่นเมื่ออยู่กับพ่อตอนเป็นเด็ก (หนังใช้เสียงกีต้าร์ที่ทุ้มละมุนหูประกอบอารมณ์ในฉากนี้) การถอดคอนแทคเลนส์ที่ทำให้เขามองเห็นความห่วงใยที่สม่ำเสมอของแม่ได้ชัดขึ้น ความผูกพันกับน้องสาวที่จืดจางลง อาการถวิลหาหญิงคนรัก รวมถึงมิตรภาพในหมู่เพื่อน ในช่วงเวลาของการสูญเสีย พระเอกซาบซึ้งและตระหนักถึงคุณค่าของทุกความสัมพันธ์ที่เขาเคยมองข้าม

ในมิติที่กว้างขึ้น ผมรู้สึกว่าพฤติกรรมฮีโร่บ้าพลังของพระเอกและการมองตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล คล้ายวิธีคิดของชาติอเมริกา ความรู้สึกนี้ชัดเจนขึ้นเมื่อพระเอกกล่าวถึงจีนในแง่ลบ (มีดราคาถูกที่ใช้งานไม่ได้) ความทะนงตนของชาติมหาอำนาจอาจถูกสั่งสอนด้วยบทเรียนราคาแพงในวันหนึ่ง ให้รู้จักลดอัตตาและถนอมความสัมพันธ์กับสมาชิกในสังคมโลกให้มากกว่าที่เป็นอยู่

ส่วนประเด็นรองที่หนังแฝงไว้เนียนตาอย่างวิกฤติพลังงาน ก็ถูกนำเสนออย่างลื่นไหลและลงตัว ผ่านชีวิตที่ยากลำบากของพระเอก หนังโฟกัสกระป๋องน้ำอย่างให้ความสำคัญ ทำนองเดียวกับความสัมพันธ์อื่นๆ ที่กล่าวมา เมื่อน้ำดื่มมีจำกัด พระเอกต้องวางแผนการใช้น้ำอย่างรัดกุม ส่งผลถึงฉากน้ำหกที่แม้จะเล็กน้อยแต่ก็มหาศาลในความรู้สึก (คล้ายการสูญเสีย “วิลสัน” ของพระเอกในเรื่อง Cast Away) การดื่มฉี่ตัวเอง (อาจนัยยะถึงการรีไซเคิล) ความต้องการน้ำอย่างรุนแรงของพระเอก ก่อเกิดภาพหลอนเป็นโฆษณาเครื่องดื่ม การดื่มในงานปาร์ตี้และความฝันถึงฝนที่ตกหนัก

อีกจุดหนึ่งที่หนังนำเสนอได้เนียนและน่าสนใจ คือสัญลักษณ์ของพลังงานที่ค่อยๆ หมดลงเป็นระยะ ผ่านระดับแบตเตอรี่ในกล้องวีดีโอ

บางส่วนในตัวพระเอกเชื่อมโยงถึงผู้ชมทั่วไปได้ (แม้จะไม่ได้บ้าบิ่นเหมือนเขา) เช่น การให้ความสำคัญที่น้อยเกินไปกับคนที่รักและเป็นห่วงเรา ความทะนงในพลังแห่งวัยที่ยั่วเย้าให้เราเต็มที่กับชีวิต จนประมาทในการสร้างอนาคตที่มั่นคง รวมถึงความฟุ่มเฟือยในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสำคัญผิด ว่าสิ่งเหล่านั้นไม่มีวันหมด

เหมือนเช่นทุกคนที่เคยติดแหง็กอยู่ในปัญหาใหญ่ซึ่งมองผิวเผินเหมือนจะไม่มีทางออก ในความริบหรี่จวนจะมืดมิด กำลังใจคือพลังงานที่ทรงพลังที่สุด พระเอกค้นเค้นขุมพลังงานนี้จนเจอและเอาชีวิตรอดมาได้โดยต้องตัดแขนไปข้างหนึ่ง

ด้วยบทเรียนหลักสูตรเร่งรัดในเวลา ๑๒๗ ชม. มอบมุมมองใหม่ให้พระเอกเห็นคุณค่าของสิ่งที่เคยมองข้าม มือข้างหนึ่งที่เสียไปให้กับความทะนงตน เทียบไม่ได้กับมืออีกมากมายที่เข้ามาสานสัมพันธ์ใหม่ในชีวิต

หนังจบเรื่องได้สวยงามและสมบูรณ์ ฉากว่ายน้ำธรรมดาๆ ดูทรงพลังและสดชื่นอย่างไม่น่าเชื่อ พระเอกมีความสุขท่ามกลางหมู่มิตรมากมาย โดยเฉพาะกับครอบครัวใหม่ที่เขาสร้างขึ้น พระเอกค้นพบจุดสมดุลระหว่างอิสรภาพและการบริหารความสัมพันธ์ สะท้อนอยู่ในฉากปีนเขาหิมะโดยมีสายนิรภัยยึดโยงอยู่ด้านหลัง

ในความเวิ้งว้างเหมือนฉากหลังของพล็อตเรื่อง Danny Boyle สร้างสรรค์รายละเอียดในการนำเสนอได้น่าสนใจ งานด้านภาพดูท้าทายแม้จะถูกจำกัดอยู่ในพื้นที่แคบ ดนตรีประกอบเสริมส่งอารมณ์หนังเป็นอย่างดี โดยเฉพาะเพลง If I Rise โดย Dido และ A.R. Rahman ที่มาในแนว New Age หรือ World Music ให้ความรู้สึกโดดเดี่ยว ศักดิ์สิทธิ์และทรงพลังในเวลาเดียวกัน

หากสังเกตนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ Danny Boyle กล่าวถึงวิกฤติพลังงานโลก เพราะใน Sunshine หนังปี ๒๐๐๗ เขาก็เคยนำเสนอเป็นประเด็นหลักมาแล้ว ว่าด้วยช่วงเวลาใกล้ดับของดวงอาทิตย์ และความพยายามในการแก้ไขวิกฤตินี้ของสมาชิกชาติต่างๆ ในโลก (สื่อผ่านตัวละครที่หลากหลายสัญชาติ)

แม้ ๑๒๗ ชม. จะจำลองสถานการณ์ความขัดสนพลังงานได้อย่างเห็นภาพและชวนมีอารมณ์ร่วม แต่ในความเห็นส่วนตัวที่ออกจะแง่ร้ายหน่อย หากยังไม่เกิดความสูญเสียเหมือนที่พระเอกพบเจอ ความซาบซึ้งในคุณค่าก็คงไม่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง และเราก็จะยังคงบ้าพลังกันต่อไป



Create Date : 20 มีนาคม 2554
Last Update : 21 มีนาคม 2554 1:13:14 น. 2 comments
Counter : 1413 Pageviews.

 
ชอบ ผกก.หนังเรื่องนี้
หากเราติดแบบนั้นจริงๆ จะรอดไหมหนอ?


โดย: คนขับช้า วันที่: 30 มีนาคม 2554 เวลา:23:06:29 น.  

 
ไม่ได้ผ่านเข้ามาเยี่ยมชมเป้นเวลานานแสนนาน

แต่ก็ยังเขียนได้ยอดเยี่ยมเหมือนเดิมนะครับ


โดย: Swallowtail วันที่: 15 เมษายน 2554 เวลา:1:18:47 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

beerled
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




New Comments
Group Blog
 
<<
มีนาคม 2554
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
20 มีนาคม 2554
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add beerled's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.