ฉากประทับใจ และหนังแห่งปี 2551





ถึงสิ้นปีได้เวลาทบทวน “ฉากประทับใจ” จากหนังที่ได้ชมในรอบปีอีกครั้ง และเช่นเคย...เป็นการคัดเลือก 5 ฉากประทับใจจากหนังเฉพาะที่ได้เผยแพร่อย่างเป็นทางการในไทยตลอดปี 2551 ทั้งเข้าโรงฉายและตรงลงแผ่น เพื่อไม่ให้กว้างเกินไป




ภาพสะท้อนอันเจ็บปวด
Atonement

ร็อบบี้ (เจมส์ แม็คอาวอย) ทหารหนุ่มผู้บาดเจ็บทั้งกาย-ใจโซซัดโซเซมาถึงชายหาดที่เต็มไปด้วยพวกพ้องทหารอังกฤษ เขาเดินผ่านความเป็น-ความตาย ความชุลมุนวุ่นวาย ทั้งแว่วเพลงสวดสรรเสริญพระเจ้า ราวกับสถานที่แห่งนี้เป็นจุดบรรจบของนรกกับสวรรค์

ฉากประทับใจเริ่มต้นเมื่อทหารหนุ่มพาร่างไร้เรี่ยวแรงเข้าไปในอาคารหลังหนึ่ง ลัดเลาะผ่านเงามืดจนเห็นแสงสว่างจากด้านหลังจอหนังขนาดใหญ่ที่มีภาพหญิงสาวผู้งดงามกำลังกล่าวคำรักและจุมพิตกับชายหนุ่ม ร็อบบี้หลับตา ก้มลงซุกหน้ากับฝ่ามือเหมือนอยากหลีกหนีภาพสะท้อนความจริงอันเจ็บปวดจากการพลัดพรากคนรัก (เคียรา ไนท์ลี่) ด้วยความผิดที่ตนไม่ได้ก่อ

อันที่จริง เรื่อง Atonement มีฉากมหัศจรรย์หลายฉาก ทั้งฉากเปิดเรื่อง ฉากในห้องสมุด รวมทั้งฉากชายทะเลซึ่งเป็นฉากต่อเนื่องความยาว 5 นาที อันน่าตื่นตะลึงและทรงพลัง แต่ฉากสั้นๆ หลังจอหนังที่กำลังฉายเรื่อง Le Quai des brumes หรือ Port of Shadows (หนังปี 1938 เกี่ยวกับทหารหนีทัพพบรักกับหญิงสาวผู้ไร้อิสระ) เป็นฉากที่เศร้ามากๆ แต่ก็สวยงามมากๆ เช่นกัน ทั้งยังสื่ออารมณ์และความหมายได้อย่างยอดเยี่ยม





บทเพลงปลอบโยน
มูอัลลัฟ

หลังจากชีวิตคู่เริ่มต้น สาวไทยพุทธกับหนุ่มมุสลิมอย่างจูนกับเอกได้เริ่มต้นชีวิตบทใหม่ที่ต้องเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และประคับประคองไปด้วยกัน แม้มีความยุ่งยากที่ยังไม่ถึงกับเป็นความยากลำบาก มีความไม่เข้าใจซึ่งห่างไกลกับความขัดแย้ง แต่อย่างไรก็คงรู้สึกเหนื่อยล้า-กังวลด้วยกันทั้งคู่

ฉากหนึ่งซึ่งใส่แทรกเข้ามาระหว่างติดตามเรื่องราวของจูนกับเอก เป็นฉากที่เอกอยู่ตามลำพัง กล่าวต่อหน้ากล้องถึงเพลงที่ตนเองแต่งเกี่ยวกับผู้หญิงเดินร้องไห้ จากนั้นเขาเล่นกีตาร์ร้องเพลงดังกล่าวให้เราฟัง หรือจริงๆ แล้วอาจเป็นความรู้สึกของเขาที่สื่อไปให้คนใกล้ตัว

เนื่องจากหนังสารคดีเรื่องนี้ให้จูนเป็นหลักในการติดตามเรื่องราวความเป็นไป ภาพการกระทำหรือความคิดความรู้สึกของจูนจึงถูกนำเสนอต่อผู้ชมโดยตรง ขณะที่การเปิดเผยของเอกซึ่งมีไม่มากนักเป็นเพียงการบอกเล่าเรื่องราวทั่วไปและเรื่องทางศาสนา ดังนั้น ฉากเล่นกีตาร์ร้องเพลงจึงเป็นครั้งเดียวที่เอกได้แสดงอารมณ์ความรู้สึกให้ผู้ชมสัมผัส กระทั่งคำพูดและเสียงเพลงในห้องหับมืดสลัวชวนให้รู้สึกถึงความเหนื่อยล้า-กังวลบนความห่วงใยที่เอกมีให้กับจูน





ปมในใจของลาร์ส
Lars and the Real Girl

ลาร์ส (ไรอัน กอสลิ่ง) นั่งอ่านหนังสือให้เบียงกาแฟนสาวซึ่งเป็นตุ๊กตายางฟัง สักพักเขาหันมองเข้าไปในห้องของพี่ชาย เห็นพี่สะใภ้ซึ่งกำลังท้องแก่นั่งอยู่บนเตียง ใช้มือลูบท้องป่องๆ อย่างทะนุถนอม ลาร์สก้มหน้า อ่านหนังสือต่อไปด้วยน้ำเสียงไม่สม่ำเสมอโดยอ่านซ้ำเนื้อหาที่อ่านไปแล้ว ก่อนที่ภาพจะตัดไปยังสุสานซึ่งลาร์สพาเบียงกามาเยี่ยมหลุมศพพ่อกับแม่

ฉากต่อเนื่องสั้นๆ ฉากนี้ดูจะไม่สลักสำคัญนัก แต่เป็นฉากที่สื่อถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับชายผู้น่าสงสารอย่างลาร์ส ทั้งการเกิดที่ก่อความสูญเสีย แม่ผู้เป็นที่รักซึ่งเขาไม่เคยได้ใกล้ชิด และพ่อผู้จากไปซึ่งเขาไม่เคยเข้าถึงได้ กระทั่งเด็กชายลาร์สเติบโตเป็นชายหนุ่มที่มีปมปัญหาในจิตใจ และเกิดมีตุ๊กตายางอย่างเบียงกามาช่วยเยียวยา





สตรอเบอร์รี่แห่งสงคราม
Across the Universe

ระดับความน้อยใจ-หวั่นหวาดของจูด (จิม สเตอร์เจส) เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังจาก ลูซี่ (เอฟแวน เรเชล วูด) ทุ่มเทเวลาให้กับกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล-สงครามเวียดนาม คืนหนึ่งลูซี่กลับบ้านมาพร้อมกับชายหนุ่มหัวหน้ากลุ่มเคลื่อนไหวที่หอบหิ้วโทรทัศน์มาให้ จูดแสดงอาการไม่พอใจแล้วหลบไปอยู่ตามลำพัง

เสียงจากโทรทัศน์แว่วมาเกี่ยวกับการตายของทหารอเมริกันจำนวนมากในเวียดนาม ก่อนที่จูดจะร้องเพลง Strawberry Fields Forever และระบายความอัดอั้นลงกับผลสตรอเบอร์รี่ ทั้งปักติดกำแพง ขว้างปา สาดสีแดงไปทั่ว ขณะที่ลูซี่ซึ่งแอบมองอยู่กลับเบือนหน้าหนีไปยังภาพข่าวในโทรทัศน์ เพลง Strawberry Fields Forever สำหรับเธอคือความร้ายกาจของสงครามซึ่งหนึ่งในเหยื่อของมันคือพี่ชายของเธอ กระทั่งสงครามเวียดนามกับสงครามในใจของจูดผสานเป็นภาพเดียวกัน ระเบิดมือและระเบิดที่ถูกทิ้งจากเครื่องบินถูกแทนที่ด้วยผลสตรอเบอร์รี่ สีแดงผสมเป็นหนึ่งเดียวกับเลือดแดงฉาน

แม้หนังจะมีฉากเพลงเดอะ บีทเทิลส์ ดีๆ หลายฉาก แต่นี่คือฉากเพลงที่มีเรื่องราว อารมณ์ ความหมาย มากกว่าหนึ่ง ทั้งยังออกแบบภาพได้เลิศสุดสุด





ปลายทางที่จุดเริ่มต้น
My Blueberry Nights

คืนสุดท้ายที่เอลิซาเบธ (นอรา โจนส์) แวะมาที่ร้านอาหารของเจเรมี (จูด ลอว์) เธอกินพายบลูเบอร์รี่กับไอศกรีมเช่นเคย ก่อนจะฟุบหลับตรงเคาน์เตอร์บาร์ ดวงตาปิดสนิท ไร้ร่องรอยกังวลบนใบหน้า แต่ร่องรอยของไอศกรีมยังหลงเหลืออยู่บนริมฝีปากอวบอิ่ม เจเรมีก้มหน้าลงไปแนบชิดเอลิซาเบธกระทั่งร่องรอยนั้นลบหายไปและคล้ายจะมีรอยยิ้มมาแทนที่

หลังจากคืนนั้นเอลิซาเบธเลือกเดินทางไกลไปหยุดพักยังสถานที่ต่างๆ ได้พบเจอเรื่องราว-ผู้คนมากมาย ขณะที่เจเรมียังคงหยุดนิ่งอยู่ที่ร้านเดิม จนกระทั่งการเดินทางของหญิงสาววนกลับมาที่จุดเริ่มต้น พร้อมการเดินทางของรสสัมผัสบนริมฝีปากที่ต่างหยิบยื่นให้กันอย่างเต็มใจในที่สุด

เป็นฉากจบอันงดงามที่เต็มอิ่มในความรู้สึกอย่างยิ่ง





ฉากประทับใจรองๆ ลงไป + ฉากประทับใจจากหนังที่ไม่ได้เผยแพร่ในไทย




ฉากต่อเนื่องในบ้านผู้หญิงจนถึงเหตุการณ์รถชน ใน No Country for Old Men




ฉากจบของ There Will Be Blood




ซีเควนซ์โรงพยาบาลใน The Dark Knight




ว่ายว้างกลางสระ Summer Palace




Brad during calling - Burn After Reading




ฉากจบของ Offside




ฉาก long take ใน La Vie en Rose




ฉากชายทะเลและฉากอำลาชายชรา ใน Into the Wild




ภาพคั่นฉากมากมายใน The Assassination of Jesse James by the Coward Robert Ford




เพลง Fix You ใน Young @ Heart




คาเฟ่ริมถนน In the City of Sylvia




การปรากฏตัวของ สการ์เลตต์ โยฮานส์สัน ใน Gomorra



Flashback ฉากประทับใจของปีก่อนๆ ที่นี่





ด้วยความโดดเด่นเฉพาะตัว และด้วยเหตุผลหลากหลาย หนังต่อไปนี้จึงเป็น...
หนังแห่งปี 2551


Released (ทั้งเข้าโรงฉายและตรงลงแผ่น)



กอด (2551) หนังไทยคอมเมอร์เชียลที่ดีและชอบที่สุดในรอบหลายปี

The Assassination of Jesse James by the Coward Robert Ford (2007)

Atonement (2007) มีแง่มุมให้คิดค้น-ทำความเข้าใจเยอะมากกกกกกก

Burn After Reading (2008)

The Dark Knight (2008)

Lars and the Real Girl (2007)

No Country for Old Men (2007) ออสการ์ "น่าถก" ที่สุด

Summer Palace (2006) หนัง "ปัญญาชนหัวตะวันตก" ที่ไม่มีความเป็นจีนอยู่เลย

Persepolis (2007) ไม่ชอบทัศนคติของผู้สร้าง แต่หนังทำได้เจ๋งดี




Unreleased (รวมหนังเทศกาล)



24 City (2008)

Death at a Funeral (2007)

Ghosts of Cite Soleil (2006)

Heima (2007)

Into the Wild (2007)

Mange, ceci est mon corps (Eat, For This Is My Body, 2007)

Pora umierac (Time to Die, 2007)

Stesti (Something Like Happiness, 2005)

Tropa de Elite (2007)

Üç maymun (Three Monkeys, 2008)

Young @ Heart (2007)





 

Create Date : 30 ธันวาคม 2551
11 comments
Last Update : 31 ธันวาคม 2551 23:41:59 น.
Counter : 1510 Pageviews.

 

Atonement มีฉากเยี่ยมๆ หลายฉากจริงๆ ครับ แต่ผมชอบ long take ระดับเทพฉากนั้นที่สุดนะ

และเช่นกัน long take ใน La Vie en Rose นั่น มาริยง โกติญ่าต์ให้การแสดงที่ไม่มีวันลืมลงจริงๆ

In the City of Sylvia ชอบฉากนางเอกโบกมือลานะ จี๊ดสุดๆ และหัวใจสลายทันที

 

โดย: เอกเช้า IP: 124.120.193.107 30 ธันวาคม 2551 11:46:09 น.  

 


เพิ่มเติม

นักแสดงชายแห่งปี

ฮีธ เลดเจอร์ (The Dark Knight)
แบรด พิตต์ (Burn After Reading)
แดเนียล เดย์-ลูว์อิส (There Will Be Blood)
ทอมมี่ ลี โจนส์ (In the Valley of Elah)
ทอม ครูซ (Tropic Thunder)
ไรอัน กอสลิ่ง (Lars and the Real Girl)
ฟิลิป ซีมัวร์ ฮอฟฟ์แมน (The Savages)
ฮัล ฮอลบรู๊ค (Into the Wild)



นักแสดงหญิงแห่งปี

ชอนโดยอน (Secret Sunshine)
นอรา โจนส์ (My Blueberry Nights)
มาริสา โทเม (Before the Devil Knows You're Dead)
เบเลน รวยด้า (The Orphanage)
มาริยง โกติลลาด์ (La Vie en Rose)
เอมิลี่ มอร์ติเมอร์ (Transsiberian)
ลอร่า ลินนีย์ (The Savages)
จูลี่ คริสตี้ (Away from Her)
ดานูตา ซาฟลาร์สกา (Pora umierac)



หนังยอดแย่แห่งปี

ช็อคโกแลต
Indiana Jones and the Kingdom of the Crystal Skull

(คงมีหนังแย่กว่านี้ แต่ก็เป็นหนังที่ไม่คิดจะดูอยู่แล้ว)



 

โดย: แค่เพียงรู้สึกสุขใจ 30 ธันวาคม 2551 11:53:16 น.  

 

เบเลน รวยด้า (The Orphanage)

.
.
นามสกุลสมเกียรติจริงๆ อ่านอย่างงี้เลยคะ 55555555

แต่จะว่าไปแล้ว เธอคนนี้และที่กระชากใจฉันสุดๆ

 

โดย: initial A IP: 161.200.255.162 30 ธันวาคม 2551 13:44:27 น.  

 

My Blueberry Night นี่เป็น Guilty Pleasure of the Year ของผมเลย คือเวลาบอกว่าชอบ ตะถูกคนอื่นทำสายตาเหยียดหยามใส่ ฮ่าๆ แต่ก็ขำๆ ล่ะนะ

 

โดย: merveillesxx 30 ธันวาคม 2551 14:29:43 น.  

 


ตอบ เอกเช้า
ฉาก long take ใน La Vie en Rose ยอดเยี่ยมที่สุด
อยากเลือกไว้ใน 5 อันดับ เสียดายไม่เข้าเกณฑ์ที่วางไว้

ตอบ initial A
ผมถอดตามหลักทับศัพท์ของราชบัณฑิตฯครับ
ไม่แน่ใจว่าถูกต้องหรือเปล่า

ตอบ merveillesxx
เพราะหว่องกลายเป็นชื่อที่ "ป๊อป" ไปแล้วมั้ง
แถมยังไปทำงานในฮอลลีวู้ดอีก
อาการ "รับไม่ได้" เลยมีกันบ้าง


 

โดย: แค่เพียงรู้สึกสุขใจ 30 ธันวาคม 2551 14:52:38 น.  

 

Healthy for you , gal & guy


Always be kind


Peace in your mind


Pass the word "hi"


Year's passing by




New splendid sunshine


Eyes open wide


Walk the line




Your love will be fine


Earn life Sa-Buy


A care and mild


Rise yourself up high


สวัสดีปีใหม่ครับ

ขอให้สุขภาพกายใจแข็งแรง ร่ำรวยเงินทอง มีพลังสร้างสรรค์บทความดีๆแบบนี้ตลอดศกและตลอดไปนะครับ

ปล.สำหรับผมฉากแห่งปีคือ Long take ใน Atonement , ฉากที่แอนทอน ซิเกอร์คุยกับลุงในร้านขายของชำ , ฉากโจ๊กเกอร์ห้อยหัวคุยกับแบทแมนตอนท้าย และตอนจบในโรงโบว์ลิ่งของ There will be blood เหมือนกันครับ

 

โดย: jonykeano 1 มกราคม 2552 10:13:41 น.  

 

มี สการ์เลตต์ ด้วยเหรอเนี่ย Gomorrah
น่าดูขึ้นอีก 50%

ส่วน Belen Rueda น่าจะอ่านแบบนั้นแหละครับ
ตามเท่าที่ผมเรียนภาษาสเปนมาแบบงูๆปลา่ๆอย่างถึงที่สุด

ฉากลองเทคใน La Vie en Rose ผมก็ชอบมาก
คือนอกจากการแสดงของ Marion Cotillard อีกสิ่งที่ยกระดับหนังเรื่องนี้ก็คือฉากนี้ (ส่วนตัวไม่รู้สึกอะไรกับตัวหนังมาก เพราะเป็นหนังชีวประวัติธรรมดาๆ ไม่ถึงกับมีอะไรแปลกใหม่)

ส่วน Atonement ผมชอบฉากของ Vanessa Redgrave มากกว่า

 

โดย: ืnanoguy IP: 125.24.119.38 1 มกราคม 2552 22:04:12 น.  

 


The Dark Knight : ชอบฉาก โจ๊กเกอร์เล่นกล ดินสอหาย และชอบทุกฉากที่โจ๊กเกอร์ออกมาค่ะ

Heima : สุดยอดของบรรยากาศ เพลง และใบปิด

In the City of Sylvia : จี๊ดฉากที่พระเอกตามขึ้นรถไฟแล้วเธอบอกว่าไม่ใช่ ...

Into the Wild : จี๊ดฉากตัวเอกเขียนประโยคจากความในใจด้วยเฮือกสุดท้าย

 

โดย: renton_renton 2 มกราคม 2552 1:23:14 น.  

 

ชอบ Lars and the Real Girl มากๆครับ

 

โดย: McMurphy 3 มกราคม 2552 14:26:03 น.  

 

อิจฉาคุณจริงๆ ได้ดูหนังเยอะขนาดนี้ เมื่อไหร่หนอผมจะมีเวลาเสพสุขประมาณนี้บ้าง (จะดูมาราธอนกันให้เปรมทีเดียว) หนังนอกกระแสนี่ผมต้องเช่าหรือเดินหาซื้อจากร้านประจำ (โหลดบิตไม่เป็น ว่างๆแวะมาสอนบ้างนะครับ)
ตอนนี้อยากกวาดดูหนังล่ารางวัลทั้งหลายแทบใจจะขาด หมาสลัมก็อยาก และอื่นๆอีกเพียบ(คาดว่าความอยากของผมคงถูกกระตุ้นเพราะอ่านหนังสือหนังมากไปหน่อย) พูดถึงฉากที่ชอบของคุณแล้ว ตรงใจเลยหลายเรื่องครับอย่างOffside นี่ก็ล่ะ ตอนจบนี่ถือว่าเสิร์ฟมาแค่ไม่กี่วิเล่นเอาอิ่มแปร้ไปทั้งเรื่อง ส่วนตัวผมรู้สึกว่าฉากนี้เหมือนดวงตาที่สุกสว่างขึ้น ณ ชั่วขณะหนึ่งของสังคม นาทีแห่งความเท่าเทียม นาทีแห่งการมองเห็นครั้งแรกของตาที่ถูกปิดมาโดยตลอด
ฉากจบของ There Will Be Blood อีกเรื่องที่โดนสุดๆ ถ้าวัดกันกับตอนจบของหนังพี่น้องโคเอ็น ผมว่า "น้ำมันเลือด" ชนะขาด ทั้งเท่ห์ ทั้งน่าคิด เป็นภาพที่ผลิออกมาตอนจบซึ่งตีความออกได้หลากหลายแง่มุม ทั้งเรื่องของเส้นขนาน วาระสุดท้ายของความไร้สาระที่วิ่งมาจนถึงจุดแตกหัก (ลูกโบว์ลิ่งที่เอามาคว้างใส่กัน) เจ็บดีครับฉากนี้
ที่ขาดไม่ได้เลยคืออีกฉากใน My Blueberry Nights ประทับจิตผมไปหลายวัน ช่างคิดจริงนะคนที่ออกแบบฉากนี้ ส่วนตัวผมคิดว่ามันเป็นความรักของสองขั้วตรงข้าม ที่เผอิญลงตัวกันอย่างพอดิบพอดี เป็นภาพสัญลักษณ์ประมาณหยินหยางได้เลยนะนั่น (คุณว่าไหม๊)
เดี๋ยวว่างๆจะแวะมาคุยใหม่น่ะครับ


 

โดย: beerled IP: 203.154.188.177 5 มกราคม 2552 18:03:56 น.  

 


^
^
โอ้ว...หยินหยาง

น่าสนใจมากครับ ผมไม่เคยคิดมาก่อน



 

โดย: แค่เพียงรู้สึกสุขใจ 5 มกราคม 2552 21:07:33 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549

..............................








พญาอินทรี




ศราทร @ wordpress
Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2551
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
30 ธันวาคม 2551
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แค่เพียงรู้สึกสุขใจ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.